ดิว ไปด้วยกันนะ: ถอดรหัสความรักของขบถ เราจะไปด้วยกันได้ถึงไหน

หลังจากที่ภาพยนตร์ลาโรงไปสักพักด้วยกระแสตอบรับที่อาจจะมีทั้งติและชม และค่อยๆ จางไป แต่กระแสของ ดิว ไปด้วยกันนะ ก็เกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ Netflix นำกลับมาฉาย ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของตัวละคร ‘ภพ’ และ ‘ดิว’ จึงเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง บทความนี้จึงอยากเจาะลึกเรื่องของความรักความสัมพันธ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้น พัฒนาการ จุดจบว่ามีประเด็นหรือสัญญะอะไรให้ตีความหรือถอดรหัส รวมถึงคำถามต่อนิยามของความรักอันหนักอึ้งที่ผู้สร้างโยนไว้ให้กับสังคม

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์

ภพกับความแปลกแยกอันแสนพิเศษ และจิตวิญญาณความขบถ

‘ภพ’ คือตัวละครหลักที่ดำเนินเรื่องทั้งหมด เป็นเด็กผู้ชายพื้นฐานครอบครัวคนจีนที่เราก็รู้กันดีว่ายึดถือค่านิยมชายเป็นใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าจะมาพร้อมกับการแบกรับแรงกดดันทางเพศแต่กำเนิด แต่ตัวตนของภพกลับเด่นชัดขึ้นในพื้นที่โรงเรียน เราจะเห็นว่าภพไม่ได้ดูเป็นเด็กผู้ชายตามขนบที่จะต้องอยู่กับแก๊งเด็กผู้ชาย เตะบอล เกเร ชกต่อย แต่จริงๆ ตัวละครภพดูออกจะเปล่าเปลี่ยว พูดน้อย โลกส่วนตัวสูงด้วยซ้ำ เป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่คนทั่วๆ ไปจะเข้าถึงได้

ตัวตนของภพจึงเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ ไม่ได้ถูกแทรกซึมหรือถูกบงการซะทีเดียว แต่เป็นพื้นที่ว่างๆ ที่รอการเติมเต็ม แฝงด้วยความขบถเล็กๆ ที่ไม่ได้ศิโรราบและถูกกลืนไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคมรายล้อม ที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (หรือพูดได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสังคมชายเป็นใหญ่)

ความขบถนี้ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงที่สุดในฉากที่เขายอมไปรับการบำบัด (สำหรับผู้เบี่ยงเบนทางเพศ) แทนดิว และถูกที่บ้านจับได้จนมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับพ่อตัวเอง ในตอนแรกเราจะเห็นว่าภพเป็นคนในปกครองของพ่ออย่างชัดเจน ออกแนวกลัวจนหัวหดด้วยซ้ำ การลุกขึ้นมาต่อสู้และชกหน้า ‘พ่อ’ ที่เป็นเสาหลักแห่งอำนาจชายเป็นใหญ่ จึงเป็นการต่อต้านอำนาจสูงสุดที่ปกครองตัวภพ การก้าวเดินออกจากบ้านที่เป็นเสมือนปริมณฑลแห่งอำนาจจึงเป็นการปฏิเสธการอยู่ภายใต้การปกครอง และยิ่งกว่านั้น ภพทำในสิ่งที่สั่นคลอนอำนาจชายเป็นใหญ่ที่สุด คือการตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่กับแฟนผู้ชายของตน ถือเป็นการยืนยัน ‘อำนาจ’ ของตนเองและจิตวิญญาณขบถอย่างถึงขีดสุด

ภพกับแรงขับและการเรียนรู้เรื่องเพศผ่านมอเตอร์ไซค์ของเขา

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่อยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าซับซ้อนหรือ complicated มาสักพัก ดิวเปรียบเสมือนบทเรียนว่าด้วยการเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึก ที่ทำให้ภพเกิดคำถามในใจถึงเพศวิถีของตัวเอง

ภาพโดยผิวเผินที่ผู้ชมเห็นและคาดเดาได้คือ ภพน่าจะเป็นฝ่ายรุก แต่เราไม่อาจจะสรุปได้ง่ายขนาดนั้นเพราะสมมุติฐานแรกของเราคือภพมีจิตวิญญาณความเป็นขบถที่รอการเติมเต็มของตัวตน การเต็มเติมนั้นต้องการการเรียนรู้ และมอเตอร์ไซค์อาจเป็นตัวบอกใบ้ถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ตามเนื้อเรื่อง อาจจะมองได้ว่ามอเตอร์ไซค์เครื่องมือพิสูจน์ว่าดิวตัดสินใจเลือกภพแทนที่จะเลือกอยู่กับแม่ เพราะสุดท้ายดิวก็ขับมอเตอร์ไซค์ไปหาภพที่สถานีรถไฟ ทั้งที่ขับไม่แข็งหรืออาจจะเรียกว่าขับไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ

แต่นอกจากนั้น มอเตอร์ไซค์ก็ทำหน้าที่สำคัญในการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีของภพ เช่นฉากที่ภพสอนดิวขับมอเตอร์ไซค์ เหตุผลจากคำพูดของตัวละครคือ ภพอยากให้ดิวขับไปหาอะไรกินตอนกลางคืนด้วยตัวเอง แต่หากตีความในเชิงจิตวิทยา มอเตอร์ไซค์อาจเป็นสัญญะของแรงขับทางเพศ ด้วยรูปทรงและฟังก์ชั่นการใช้งาน ที่ผ่านมาภพเป็นผู้ขับให้ดิวนั่งเสมอ แต่คราวนี้ภพบอกให้ดิว “ลองขับดู”

มันอีโรติกตั้งแต่ตอนเริ่มสตาร์ทรถด้วยคำพูดให้กำลังใจของภพที่ว่า “เอาอีก ต้องแรงกว่านี้อีกนิดนึง เออ แรงอีก แรงอีกนิด อีกครั้ง” แต่ดิวก็ทำไม่สำเร็จซักที จนในที่สุดตัวภพเองต้องเป็นคนสตาร์ทให้ แต่ดิว ‘ขับ’ ไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ล้มไม่เป็นท่า แถมยังตีโพยตีพายว่าตัวเอง ‘ขับไม่ได้’ และบอก “ปกติภพขับก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องให้ดิวขับ”

บทสนทนานี้ส่อนัยยะหรือตีความไปในเรื่องเพศทั้งสิ้น เราอาจเรียกได้ว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์ผ่านสัญญะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวภพเองก็เรียนรู้เพศวิถีที่ซับซ้อน เกินกว่าจะตีความเพียงว่าเขาเป็นผู้ชายที่อาจจะชอบผู้ชายได้ เป็นไบ หรือเป็น ‘รุกแท้’ แต่อยู่ในระหว่างการเรียนรู้รสนิยมทางเพศของตัวเอง และแบ่งปันการเรียนรู้นั้นให้ดิว คนรักของเขาด้วย

แต่เมื่อความสัมพันธ์เดินมาถึงจุดที่สังคมเรียกร้องความถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง และอุดมการณ์ที่กระทำผ่านสถาบันการศึกษาที่นิยามคนรักเพศเดียวกันว่าเป็นอาการป่วยที่ต้องการการรักษา หรือแม้กระทั่งครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ที่เรียกร้องความเป็นปกติจากทั้งสองตัวละคร รวมถึงบรรทัดฐานของคนในสังคมโดยรอบ การหนีไปจากที่แห่งนี้จึงเป็นทางออกเดียวของเด็กชายทั้งคู่ แม้ว่าสุดท้ายมันจะเป็นการหนีที่พากลับมาที่เดิมก็ตาม

เมื่อความทรงจำท้าทายต่อบรรทัดฐานว่าด้วยศีลธรรมอันดีของสังคม

ภพมีเหตุให้ต้องกลับมายังที่แห่งความทรงจำวัยเด็กอีกครั้ง และพบว่าคนรักของตัวเองกลับชาติมาเกิดในร่างของเด็กผู้หญิงที่เป็นนักเรียนในชั้นเรียนของตัวเอง

ความท้าทายต่อบรรทัดฐานทางสังคมรูปแบบใหม่และจิตวิญญาณความเป็นขบถของเขาถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง ซึ่งดีกรีความท้าทายมันรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะดูเหมือนว่าความเป็นไปได้แทบจะเท่ากับศูนย์

รวมถึงช่วงท้ายเรื่อง ‘ครูรัชนี’ ที่เป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่เห็นพัฒนาการของดิว ตั้งแต่ชาติที่แล้วยันชาติปัจจุบัน กล่าวกับภพในประโยคที่หนังวางไว้เป็นประโยคหลักของเรื่องเลยก็ว่าได้ “อย่าให้บาดแผลในอดีต มันมาฉุดรั้งเราไม่ให้เป็นผู้ใหญ่เลยนะ”

หลังจากนั้นครูกับศิษย์ก็สวมกอดกันจนน้ำตาท่วมจอ คำพูดของครูรัชนีนี้ดูสวยงาม แต่เคยได้ยินไหมว่า “Don’t grow up. It’s a trap” (อย่าโต มันเป็นกับดัก)

ถ้ามองให้ลึก คำว่า ‘เป็นผู้ใหญ่’ ในที่นี้ ถูกพูดในนามของอำนาจรัฐสมัยใหม่ ซึ่งนัยหนึ่งเป็นอุบายที่ลวงให้คนที่กำลังหลุดกรอบศีลธรรมความดีงามทางสังคมให้กลับเข้ามาในร่องในรอย

และแน่นอนว่าหนังเรื่องนี้แสดงว่าตัวผู้สร้างเองไม่ยอมศิโรราบต่ออำนาจนั้น เพราะสุดท้ายภพก็เลือกที่จะไม่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ และปล่อยให้พื้นที่แห่งความทรงจำและจิตวิญญาณขบถยึดอธิปไตยของตัวตนตลอดไป

ภพและดิว (หลิว) กับการหนีครั้งสุดท้าย (?)

ตอนท้ายเรื่อง ทั้งคู่ตัดสินใจไปกระโดดบันจี้จัมพ์ร่วมกัน ก่อนกระโดด หลิวเอาตะขอเกี่ยวเชือกออกและกระโดดลงไปพร้อมกัน เราอาจจะมองว่ามันคือฉากการฆ่าตัวตายที่เป็นโศกนาฏกกรมตอนจบก็ได้ แต่สะดุดกับคำพูดสุดท้ายที่หลิวบอกกับภพคือ “มันจะมีทางไปต่อ”

คำถามคือ ทางนั้นนำไปสู่อะไร?

หลังจากกระโดดลงไปในน้ำ ภาพสุดท้ายของเรื่องคือภพกับหลิวล่องลอยอยู่ในน้ำที่เป็นสีฟ้าคล้ายกับท้องฟ้า มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์สาดลงมาเป็นวง ทั้งสองว่ายขึ้นไปยังแสงสว่างนั้น ชุดสีขาวของทั้งคู่ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของพระเยซูที่เดินทางกลับสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งเสรีภาพหลังจากชดใช้บาปให้มนุษยชาติเรียบร้อยแล้ว

ในโลกแห่งเรื่องแต่งมันอาจจะเป็นทางหนีทางเดียวที่ทั้งคู่จะรอดพ้นจากสังคม โลกที่คุณค่าทางศีลธรรมคอยแต่จะเรียกร้อง ขู่เข็ญ ปอกลอกเอาผลประโยชน์จากเรา

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครตอบได้ว่าทางออกแบบนี้มันจะเวิร์คจริงหรือไม่ หรือจะดีกว่าไหมถ้าสังคมนี้มีทางเลือกให้แก่ความรักนอกรีตรูปแบบต่างๆ มากกว่านี้

แต่ก็อีกนั่นแหละ เส้นขอบฟ้าของเสรีภาพจะขยายขอบข่ายไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั้งโลกจะยังคงถกเถียงต่อไป

สุดท้ายแม้ว่าคุณมะเดี่ยวอาจจะเคยให้สัมภาษณ์ว่า ภาพยนตร์ของเขาไม่มีนัยยะในเชิงสังคม เป็นเพียงเอนเตอร์เทนเมนท์ให้แก่ผู้ชมเท่านั้น แต่ประเด็นของหนังเรื่องนี้มันหนักอึ้งเหลือเกิน เกินกว่าจะดูเพื่อความบันเทิง เพราะสิ่งที่คุณมะเดี่ยวทำ ไม่ได้เล่นกับแค่เรื่องความรักของคนเพศเดียวกัน ที่แทบจะเป็นมาตรฐานใหม่ของสังคมไปแล้วเท่านั้น

แต่หนังเรื่องนี้กำลังตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นที่ล่อแหลม และสั่นคลอนศีลธรรมอันดีงามของสังคม ในโลกที่ความรักและความสัมพันธ์มีแนวโน้มว่ากำลังเดินหน้าไปสู่เสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ ดิว ไปด้วยกันนะ กำลังจี้ถามคนดูว่า เสรีภาพของคุณมีคำนิยามไปไกลแค่ไหน สิ้นสุดที่จุดไหน และถ้าหากตลอดทั้งเรื่องคุณรู้สึกอึดอัดกับความสัมพันธ์ต้องห้ามที่เกิดขึ้นในเรื่อง คุณก็ตกหลุมพรางของผู้กำกับไปเสียแล้ว

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า