TOP 6 หนังไทยแห่งปี 2019

ปีนี้มีหนังไทยที่เข้าฉายในโรงแบบพาณิชย์มากกว่า 50 เรื่อง ในบรรดาทั้งหมดนี้มีหนังที่ผู้เขียนมองว่าโดดเด่นที่สุด 6 เรื่อง ดังนี้

Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า

ผู้กำกับ: คงเดช จาตุรันต์รัศมี

ด้วยความที่หนังสร้างโดยบริษัท BNK48 Office และมีเหล่าไอดอลจาก BNK48 มาแสดงทั้งบทนำและสมทบ ทำให้หลายคนคาดหวังว่าหนังจะออกมาเป็นหนังวัยรุ่นสุดแมส ขายความน่ารักสดใสของนักแสดง แต่ตัวหนังที่ออกมากลับผิดคาด และทำให้แฟนคลับ BNK48 หลายคนเหวอ เพราะมันเป็นหนังดราม่า coming of age เนื้อหาซีเรียสที่เต็มไปด้วยลายเซ็นของผู้กำกับ/เขียนบทอย่าง คงเดช จาตุรันต์รัศมี (Snap แค่ได้คิดถึง, กอด, เฉิ่ม, สยิว, ตั้งวง, แต่เพียงผู้เดียว) ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศหม่นเศร้าอึมครึม ชวนอึดอัด, การแฝงประเด็นเกี่ยวกับสังคมการเมือง, มุกตลกร้ายที่หัวเราะไม่ออก, มีความแปลกประหลาดเหนือจริงในบางฉาก

กล่าวคือ Where We Belong ไม่ใช่ ‘หนังแบบ BNK48’ แต่เป็น ‘หนังแบบคงเดชที่นำ BNK48 มาแสดง’

ในขณะที่ Snap และ ตั้งวง แสดงภาพเหตุการณ์หรือมีบทสนทนาเกี่ยวกับการเมืองแบบตรงๆ ส่วน Where We Belong นั้นไม่ได้แสดงให้เห็นตรงๆ แต่เหตุการณ์ในหนังสามารถสะท้อนถึงสังคมไทยในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ผ่านตัวละครหลักของหนังซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกอึดอัด-แปลกแยก-ไม่ belong กับสิ่งรอบตัว โดยเธอไม่สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้ตามชอบใจ เธอไม่พอใจชีวิตที่ถูกกำหนดโดยคนรุ่นก่อน ส่วนหนทางในอนาคตก็ดูมืดมน เธอรู้สึกว่าบ้านเกิดไม่ใช่ที่ทางของเธอและอยากหนีไปอยู่ประเทศอื่น แต่ก็ไม่อาจทำได้ เพราะมีหลายสิ่งฉุดรั้งเธอไว้ – ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสิ่งที่คนในประเทศนี้หลายคนกำลังรู้สึก

ด้วยเนื้อหากับประเด็นที่น่าสนใจ บวกกับการนำเสนอที่มีสไตล์เฉพาะตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังจะได้เข้าฉายในเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลก ทำให้มันเป็นหนังที่ไปไกลกว่าหน้าหนังที่ดูเป็น ‘หนังขายไอดอล’ หลายช่วงตัว

กระเบนราหู (Manta Ray)

ผู้กำกับ: พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง

กระเบนราหู เป็นหนังไทยซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากที่สุดในปีนี้ เพราะได้เข้าฉายในเทศกาลหนังทั่วโลกมากกว่า 50 เทศกาล (มากที่สุดในบรรดาหนังไทยนับตั้งแต่ ดาวคะนอง ในปี 2016) โดยคว้ามาได้ 11 รางวัล รวมถึงรางวัลใหญ่อย่างหนังยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti จากเทศกาลหนังเวนิส

ความสำเร็จดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากหนังมีความโดดเด่นทั้ง ‘รูปแบบการนำเสนอ’ และ ‘ประเด็นในหนัง’

สำหรับรูปแบบการนำเสนอนั้น กระเบนราหู มีลักษณะใกล้เคียงกับหนังอาร์ตเฮาส์ของไทยหลายเรื่อง (เช่น หนังของผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) นั่นคือ มีความเรียบนิ่ง, ตัวละครพูดน้อย, มีฉากหลังอยู่ในป่า, แบ่งหนังออกเป็น 2 องก์, ถ่ายทอดแบบ realistic แต่สอดแทรกองค์ประกอบแฟนตาซีที่เหมือนอยู่ในความฝัน (เช่น หินสีในป่า), เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ชวนตีความ, ขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยภาพมากกว่าบทสนทนา, มีการใช้เสียง ambient ฯลฯ ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้มันไม่ใช่หนังที่ทุกคนจะชอบ แต่ด้วยความที่หนังสามารถสร้างโลกเฉพาะจนคนดูหลุดเข้าไปในหนัง บวกกับภาพและเสียงที่โดดเด่น ทำให้มันเป็นหนังที่เหมาะแก่การดูในโรงเพื่อให้ได้รับ cinematic experience อย่างเต็มที่

สำหรับประเด็นในหนังนั้นเป็นสิ่งที่ชาวโลกกำลังให้ความสนใจอย่างชาวโรฮิงญา ซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก หนังเล่าเรื่องราวระหว่างชายชาวโรฮิงญาที่ถูกทิ้งให้บาดเจ็บ กับชาวประมงที่ช่วยเหลือเขาโดยการพาเข้ามาอยู่ในบ้านและนำไปรักษาตัวจนหาย แสดงให้เห็นถึงมนุษยธรรมและมิตรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่ไม่มีพรมแดนหรือความเป็นชาติมากั้นขวาง

ตัวเอกของหนังที่พูดไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในภาพรวมที่ไม่มีปากมีเสียง พวกเขาได้พบเจอกับชะตากรรมโหดร้ายและถูกทิ้งให้รอความตาย ที่น่าสนใจคือหนังไม่ได้พูดถึงโรฮิงญาแบบเฉพาะเจาะจงอย่างเดียว แต่ตัวละครในหนังยังมีความ universal ที่สื่อถึงบุคคลชายขอบอื่นๆ ในสังคมได้ เช่น ชนชั้นแรงงาน, คนไร้รัฐ, ผู้อพยพ นอกจากนั้นผู้ชมบางคนก็ยังสามารถแทนเป็นตัวเองได้ ในฐานะประชาชนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในประเทศนี้

นคร-สวรรค์ (Nakorn – Sawan)

ผู้กำกับ: พวงสร้อย อักษรสว่าง

นคร-สวรรค์  เป็นหนังที่มีความเป็น ‘หนังทดลอง’ และ ‘หนังส่วนตัว’ อยู่สูง จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดี – สำหรับผู้ที่อยากเห็นวงการหนังไทยมีความหลากหลาย – ที่หนังได้เข้าฉายแบบพาณิชย์ในโรงหนังหลายแห่ง (แต่ก็ยังเป็นการฉายแบบจำกัดโรงอยู่) แทนที่จะได้ฉายแค่ในเทศกาลหนังหรือหอศิลป์แบบหนังแนวนี้เรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา

สำหรับการเป็นหนังทดลองนั้น มาจากโครงสร้างของหนังซึ่งตัดสลับกันระหว่างพาร์ท ‘หนังสารคดี’ และ ‘หนังฟิคชั่น (เรื่องแต่ง)’ ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากัน

พาร์ทสารคดีเป็นการบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับและพ่อแม่ของเธอ ในช่วงเวลาที่เธอกำลังเรียนอยู่ที่เยอรมนี และเป็นช่วงก่อนที่แม่ของเธอจะเสียชีวิตด้วยโรคร้าย หนังมีลักษณะแบบโฮมมูฟวี บันทึกการพูดคุยและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา โดยมีภาพถ่ายด้วยกล้องดิจิตอล, กล้องมือถือ และภาพนิ่ง

ส่วนพาร์ทฟิคชั่นนั้นเป็นการถ่ายทำขึ้นมาใหม่โดยนำนักแสดงมาเล่น และมีโปรดักชั่นแบบภาพยนตร์ (ทำให้ภาพในพาร์ทนี้มีความสวยงามประดิดประดอย ต่างจากพาร์ทสารคดี) หนังเล่าเรื่องราวของ เอย-หญิงสาวที่เดินทางจากเยอรมนีกลับมาที่นครสวรรค์บ้านเกิด เพื่อเอาเถ้ากระดูกของแม่ไปลอยอังคารในแม่น้ำ ระหว่างนั้นเธอได้พูดคุยกับสมาชิกครอบครัว รวมถึงคนรักเก่าของเธอ

ทั้งสองพาร์ทนี้หลายช่วงมีเส้นแบ่งที่พร่าเลือน แต่ก็มีการผสมผสานและส่งเสริมกันได้อย่างลงตัว เพราะในขณะที่สารคดีไม่สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์หรือความรู้สึกแก่ผู้ชมได้ทั้งหมด พาร์ทฟิคชั่นก็ได้เสริมส่วนนี้ด้วยการจำลองภาพเหตุการณ์บางส่วนขึ้นมาใหม่ (ซึ่งเราสามารถมองได้ว่ามันคือการสร้าง ‘เรื่องจริง’ ขึ้นมาใหม่ หรือเป็นการสร้าง ‘เรื่องแต่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง’ ก็ได้) รวมถึงมีฉากที่ถ่ายทอดความคิดความรู้สึกของตัวเอก

รูปแบบดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่หนังต้องการเสนอ นั่นคือการเก็บรวบรวมความทรงจำ (ซึ่งนิยามของความทรงจำคือ ‘สิ่งที่พร่าเลือนและกระจัดกระจาย’) ที่มีต่อครอบครัวของผู้กำกับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน, ความสัมพันธ์ทางไกลระหว่างเธอกับครอบครัว, การสำรวจตัวตนและเรื่องราวในอดีตของพ่อแม่เธอ เป็นต้น

ถึงแม้จะมีความเป็นหนังส่วนตัว แต่ด้วยความที่หนังมีประเด็นความสากลอย่างเรื่องความตาย, การข้ามผ่านความเสียใจ, ความทรงจำ ฯลฯ ทำให้ผู้ชมทั่วไปสามารถเชื่อมโยงไปกับหนังได้ไม่ยาก

ดิว ไปด้วยกันนะ (Dew)

ผู้กำกับ: ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

(ย่อหน้านี้มีการเปิดเผยจุดหักมุมของหนัง) หนังเรื่องนี้รีเมคมาจากหนังเกาหลีเรื่อง Bungee Jumping of Their Own (2001) โดยเวอร์ชั่นเกาหลีบอกเล่าเรื่องราวของคู่รักชาย-หญิงซึ่งฝ่ายหญิงกลับมาเกิดใหม่เป็นผู้ชาย แต่เวอร์ชั่นไทยเปลี่ยนเนื้อเรื่องเป็นคู่รักชาย-ชายที่มีคนหนึ่งกลับมาเกิดใหม่เป็นผู้หญิง ซึ่งการที่เวอร์ชั่นไทยเปลี่ยนเพศคู่รักในหนังช่วงหลังเป็นชาย-หญิงทำให้แรงกดดันที่ตัวเอกได้รับจากสังคมอ่อนลงและทำให้การตัดสินใจฆ่าตัวตายในช่วงท้ายไม่ค่อยน่าเชื่อถือ แต่ถึงกระนั้น ด้วยฝีมือของผู้กำกับชูเกียรติก็ทำให้หนังเวอร์ชั่นไทยมีความโดดเด่นในแนวทางของตัวเอง

ไฮไลท์ของหนังอยู่ในช่วงครึ่งแรกซึ่งเป็นแนววัยรุ่นชายรักชายในแบบที่ชูเกียรติถนัดและทำได้ดี (เห็นได้จาก รักแห่งสยาม และ Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ) หนังออกมาโรแมนติกชวนจิกหมอน แต่ก็เป็นธรรมชาติ ไม่เลี่ยน ใส่ความ nostalgia ลงไปได้อย่างลงตัว และมีการสอดแทรกประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอย่างเรื่องอคติที่มีต่อเพศที่สาม โดยหนังแสดงให้เห็นว่าตัวเอกทั้งคู่ต้องเจออคติจากครอบครัวที่ไม่ยอมรับที่ลูกชายเป็นเกย์ รวมถึงอคติจากสังคมโดยหนังแสดงให้เห็นว่าในเมืองปางน้อย (ซึ่งเป็นเมืองสมมุติในหนัง) เชียงใหม่ ช่วงปี 2539 โรงเรียนได้ออกนโยบายเรียกนักเรียนเพศที่สามไปฝึกอบรมจากทหาร ซึ่งอคติดังกล่าวส่งผลต่อความรักและชะตากรรมของตัวเอกที่จบลงด้วยความเศร้า

ครึ่งหลังของหนังดรอปลงกว่าครึ่งแรกอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากเนื้อเรื่องในส่วนนี้มีความเหลือเชื่อ แต่หนังไม่อาจทำให้ผู้ชมเชื่อความเหนือจริงดังกล่าวได้เต็มที่ ที่น่าสนใจคือถึงแม้ตัวเอกจะมีพฤติกรรมที่ไม่เมคเซนส์อย่างการยึดมั่นทุ่มเทเพื่อความรักเมื่อครั้งอดีตแบบไม่ลืมหูลืมตา – ไม่ปล่อยวาง – ไม่สนใจข้อจำกัดทางสังคมที่มีอยู่มากมาย  แต่หนังก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามและเข้าใจในการตัดสินใจของเขาเนื่องมาจากการที่คนทำหนังใส่ความเป็นมนุษย์ที่มีมิติให้กับตัวละครหลัก

แสงกระสือ (Inhuman Kiss)

ผู้กำกับ: สิทธิศิริ มงคลศิริ

ความน่าสนใจของหนังอยู่ที่การนำตำนานผีเก่าแก่ของไทยอย่าง ‘กระสือ’ และ ‘กระหัง’ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นผีที่เชย รูปลักษณ์ประหลาด มีความเกรดบี และง่ายที่จะออกมาตลก – มาทำเป็นหนังที่ออกมาอินเทรนด์ ซึ่งเกิดจากงานโปรดักชั่นและซีจีที่ดูดีเหนือมาตรฐาน, การดีไซน์กระสือกับกระหังที่สวยงามมีเอกลักษณ์, แนวหนังที่ดึงดูดผู้ชมวงกว้างอย่างเรื่องรักสามเส้า (แบบหนัง Twilight) ผสมกับแนววัยรุ่น coming of age และแนวแอ็คชั่น

ด้วยความที่หนังเต็มไปด้วยองค์ประกอบแบบไทยๆ (และได้มีการทริบิวต์ให้กับหนัง/ละคร กระสือ ในหลายส่วน) แต่มีการนำเสนอที่เป็นสากล จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังเรื่องนี้จะถูกคัดเลือกเป็นตัวแทนในการส่งชิงออสการ์สาขาหนังนานาชาติปีนี้

แม้จะเต็มไปด้วยองค์ประกอบฉูดฉาด แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันคือหนังเจาะลึกชีวิตวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยความสับสนท่ามกลางสภาวะบ้านเมืองไม่ปกติ (ทำให้มันมีความเป็น ‘หนังวัยรุ่น’ ที่ใส่กระสือลงไป มากกว่าเป็น ‘หนังผี’)

ในขณะที่หนัง/ละคร กระสือ เวอร์ชั่นก่อนๆ มักจะมีประเด็นเกี่ยวกับกรรมเวร แต่แสงกระสือกลับเน้นไปที่ประเด็นทางสังคมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการล่าแม่มด, การที่สังคมสร้างปีศาจและความหวาดกลัวขึ้นจากสิ่งที่พวกเขาไม่รู้, เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับปีศาจที่พร่าเลือน, ความขัดแย้งและจองล้างจองผลาญกันระหว่างคนต่างสายพันธุ์ (กระสือ – มนุษย์, กระสือ – กระหัง) ซึ่งเป็นประเด็นที่เข้ากันกับฉากหลังอย่างชนบทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เกลียดชัง สูญเสีย และยังเป็นประเด็นที่สะท้อนถึงสังคมไทยในปัจจุบันได้อีกด้วย

ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไร…ไม่ให้เหลือเธอ (Happy Old Year)

ผู้กำกับ: นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

เป็นการกลับมาทำหนังให้ค่ายหนัง GDH (หรือ GTH) อีกครั้งของนวพลหลังจาก ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย…ห้ามพัก…ห้ามรักหมอ ซึ่งตัวหนังที่ออกมานั้นแตกต่างจากหนัง GDH ส่วนใหญ่รวมถึงหนังตลาดทั่วไป ตรงที่หนังมีความ feel bad จบแบบไม่ให้ความหวัง ตัวละครมีความเป็นสีเทา ไม่น่าเอาใจช่วย

หนังยังคงปรากฏสไตล์และลายเซ็นของนวพลอย่างเด่นชัด เช่น เนื้อเรื่องที่มีความไฮคอนเซ็ปต์, นักแสดงหน้าเด้ด, ภาพ long take, การใช้เพลงและดนตรีประกอบ ฯลฯ แต่ ฮาวทูทิ้ง  มีความเปลี่ยนแปลงไปจากหนังเรื่องเก่าๆ ของเขาหลายอย่าง เช่น หนังมีความนิ่งเนิบมากขึ้น และมีหลายฉากที่มีความเงียบเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีการสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ลึกขึ้น และพูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ซับซ้อนขึ้น ฯลฯ

หนังเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ต้องการรีโนเวทบ้านรกๆ ของครอบครัวให้เป็นโฮมออฟฟิศแนวมินิมอล จนต้องทำการเคลียร์สิ่งของที่มีอยู่เต็มบ้านทิ้งไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เธอคิดไว้ตอนแรก เพราะสิ่งของต่างๆ ล้วนมีความทรงจำที่มีต่อบุคคลต่างๆ แฝงอยู่ในนั้น นอกเหนือจากหนังจะพูดถึงการจัดการ ‘สิ่งของ’ ว่าจะทิ้งหรือเก็บแล้ว มันยังพูดถึงเรื่องการจัดการ ‘ความทรงจำ’ และ ‘ความสัมพันธ์’ ที่เรามีกับคนข้างกาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน-ครอบครัว-คนรัก ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถเก็บทุกอย่างไว้กับตัวหรือยึดติดกับอดีตได้ตลอดเวลา ‘การมูฟออน’ (move on) โดยทิ้งบางสิ่งไว้ข้างหลังจึงเป็นเรื่องจำเป็น แม้จะดูเห็นแก่ตัว (ซึ่งการที่นางเอกทิ้งสิ่งเหล่านี้แบบถอนรากถอนโคนสามารถมองได้ว่าเป็นการกระทำของคนไร้หัวใจ) แต่หลายครั้งที่การมูฟออนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอดีตและบาดแผลในใจยังคงฝังลึกในตัวเรา

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว หนังยังพูดประเด็นทางสังคมการเมืองผ่านความขัดแย้งทางความคิดระหว่างแม่-ลูก ตัวเอกที่เป็นวัยรุ่นพูดในหนังว่านี่คือยุคของพวกเรา และต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเก่า ซึ่งตอนนี้ไม่ฟังก์ชั่นกับยุคปัจจุบัน แต่แม่ต้องการให้ยังคงรักษาหลายๆ สิ่งในบ้านให้เหมือนเดิม ซึ่งเราสามารถเปรียบ ‘บ้าน’ เป็น ‘ประเทศ’ และเปรียบ ‘การรีโนเวทบ้าน’ แทน ‘การเปลี่ยนแปลงสังคม’ ซึ่งหลายครั้งที่จบลงด้วยความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันระหว่างคนต่างรุ่น

ทำให้เรามองหนังเรื่องนี้ควบคู่ไปกับ Where We Belong ในฐานะหนังที่สะท้อนชีวิตและมุมมองความคิดของวัยรุ่นในสภาวะสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า