กะเทยทรงเจ้า สส.เกย์ ดอกไม้ ปืน: การต่อสู้ของ LGBTQ+ ในสังคมเมียนมาร์

นัตกะด่อ (နတ်က​တော်) หรือคนทรงเจ้า เป็นกะเทยวัย 53 ปี ชื่อ อูบ้ะสี่ (ဦးဘစီ)  ชื่อในวงการ คือ เดซี่เจน (​ဒေစီဂျိန်း) ตกหลุมรักมินมิน (မင်းမင်း) เด็กหนุ่มอายุ 23 ปี ที่เข้ามาฝึกงานในธุรกิจทรงเจ้าของเขา แต่แล้วก็ถึงคราวต้องแตกหัก เมื่อเด็กหนุ่มคนนั้นหนีหายไปกับหญิงสาวในเทศกาลทรงเจ้าเข้าผีที่จัดขึ้นเป็นเวลา 8 วัน ณ หมู่บ้านทรงเจ้าต่องปโยง (​တောင်ပြုန်းရွာ) ที่อยู่นอกเมืองมัณฑะเลย์

ในเมียนมาร์ มีกลุ่มเพศที่สามหลายคนที่ทำงานเป็นคนทรงเจ้าหรือหมอดู ซึ่งเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าที่ต้องการบูชาเทพหรือ ‘นัต’ เพื่อโชคลาภ สุขภาพ ความเป็นสิริมงคล ฯลฯ พวกเธอมักมีความสามารถในการสื่อผ่านไปยังวิญญาณหรือผีนัต ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่คนบูชานัต และในฐานะร่างทรงนี้เอง ทำให้เกย์หลายคนได้รับการเคารพและมีพื้นที่ของตน แต่คนส่วนใหญ่ก็แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นพวกเขา

เรื่องของเดซี่เจนและมินมินข้างต้น เป็นพล็อตเรื่องในนวนิยายเกย์เล่มแรกของเมียนมาร์ที่มีชื่อว่า Smile as they bow; Laugh as they bow (ပြုံး၍လည်းကန်​တော့ခံ​တော်မူပါ ရယ်၍လည်းကန်​တော့ခံ​တော်မူပါ) โดย นุนุหยี่ (อินวะ) ( နုနုရည် (အင်းဝ) ) เขียนเสร็จในปี 1989 ซึ่งนักเขียนลงภาคสนามเก็บข้อมูล เพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นนวนิยาย แม้ว่าเนื้อหาในนวนิยายจะมุ่งเน้นไปที่ประเพณีท้องถิ่น กระนั้นกองเซ็นเซอร์ก็สั่งห้ามนำออกวางจำหน่าย โดยอ้างว่าเป็นการทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศ 

ร่างทรงที่เป็นชาวเกย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งตรงกับช่วงที่ นายพลเนวิน ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลอูนุที่มาจากการเลือกตั้ง นายพลเนวินล้มล้างรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งสภาปฏิวัติ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่เป็นทหารเกือบทั้งหมด ในเทศกาลทรงเจ้าที่หมู่บ้านธุรกิจทรงเจ้าต่องปโยง เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวเกย์ จนถึงกับเรียกกันว่าเป็นเทศกาลชาวเกย์ท้องถิ่น เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าเชื่อว่าร่างทรงที่เป็นผู้ชายมีพลังมากกว่าร่างทรงผู้หญิง และด้วยวิถีชีวิตของชาวเกย์ที่พิถีพิถันเรื่องความสวยความงาม จึงเหมาะกับการเป็นร่างทรงตามความต้องการของลูกค้า 

ไม่เพียงแค่นั้น ถ้าว่ากันในเชิงภาษาด้วยแล้วก็จะเห็นว่าพวกเธอนี่แหละเหมาะกับการเป็นร่างทรงตามความต้องการของนัต คำว่า นัตกะด่อ (နတ်ကတော်) หรือ ร่างทรง มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ‘women said to be chosen as a consort by a nat spirit’ โดยที่ศัพท์คำว่า กะด่อ (ကတော်) ในภาษาเมียนมาร์เป็นคำยืมจากภาษามอญ (ကန္ဒဝ်) แปลว่า ภริยา (wife of an official or a respected person)

ฝ่ายทหารรู้สึกอับอายเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีนัต อีกทั้งประเด็นรักร่วมเพศในนวนิยายนั้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศนี้ แต่แล้วในที่สุด กองเซ็นเซอร์ก็อนุญาตให้ นุนุหยี่ ตีพิมพ์นวนิยายเล่มดังกล่าวได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องตัดบทสนทนาตอนเข้าด้ายเข้าเข็มระหว่างตัวเอกทั้งสอง และช่วงที่เอ่ยพรรณนาถึงพลังอำนาจลี้ลับของนัตออกทั้งหมด การเซ็นเซอร์อย่างนั้น ยังทำให้แผนการที่จะสร้าง Smile as they bow; Laugh as they bow เป็นภาพยนตร์ ที่มุ่งตีแผ่ชีวิตกลุ่มคนเพศที่สามในเมียนมาร์ต้องล้มเลิกลงไปด้วย นั่นก็เป็นเพราะว่านวนิยายเรื่องนี้เปิดโปงเรื่องที่ควรจะเก็บไว้เป็นความลับออกมามากเกินไป

วัฒนธรรมการกดขี่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศฝังรากลึกในสังคมเมียนมาร์มาตลอดกว่า 50 ปีภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร กลุ่ม LGBTQ+ จำนวนมากไม่สามารถแสดงตัวในที่สาธารณะ เพราะกลัวว่าครอบครัวของเขาจะตกเป็นเป้าของตำรวจ

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 377 ของเมียนมาร์ระบุว่า การมีความสัมพันธ์ทางเพศแบบผิดธรรมชาติเป็นการก่ออาชญากรรม และผู้ที่กระทำความผิดจะถูกลงโทษโดยการจำคุกไม่เกิน 10 ปี

กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตั้งแต่สมัยอาณานิคม เป็นมรดกตกทอดที่บังคับใช้เรื่อยมา ซึ่งเปิดช่องให้มีการจับกุม คุกคาม และข่มขู่บุคคลที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยเหล่านี้

หากถูกตั้งข้อสงสัยจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นกลุ่ม LGBTQ+ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานก็อาจถูกจับกุมได้ เพราะพวกเขามีความเชื่อฝังหัวว่าคนกลุ่มนี้จะขายบริการทางเพศหรือเป็นอาชญากร แค่ถูกกล่าวหาในเบื้องต้นว่าเป็นผู้ค้าบริการหรืออาชญากร ก็จะต้องถูกจำคุกเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้พวกเขาต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษเวลาที่ออกไปไหนมาไหนข้างนอกตั้งแต่ช่วงเวลา 5 ทุ่มเป็นต้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเผด็จการทหาร 

มีรายงานผลการวิจัยพบว่ากลุ่มเกย์ที่จัดอยู่ในประเภท อะพวิ่ง (အဖွင့်) มักตกเป็นเหยื่อของการกดขี่มากที่สุด ซึ่งเป็นการรังควานจากตำรวจและการใช้อำนาจโดยมิชอบในระบบกฎหมาย แต่รัฐก็แทบไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับชีวิตประจำวันของคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่

อะพวิ่ง (အဖွင့်) คือใคร? ในสังคมของ LGBTQ+ เมียนมาร์ มีคำศัพท์ภาษาท้องถิ่นและคำศัพท์ที่ยืมจากภาษาอังกฤษหลายคำ สำหรับใช้บ่งชี้เพศสภาพและการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของอัตบุคคล (subject position) ของชนกลุ่มน้อยทางเพศวิถี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของอัตบุคคลเพศชาย  

  • อะพวิ่ง (အဖွင့်) หรือ คนเปิดเผยตัวตน
  • อะโปง (အပုန်း) หรือ คนซ่อนตัว 
  • โฮโม (homo) หรือ กลุ่มที่ปฏิเสธวัฒนธรรมท้องถิ่นเกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถี         
  • ตะแหง่ (သူငယ်) หรือ ชายแท้ 

‘อะพวิ่ง’ หรือ คนเปิดตัว คือ ชายที่วางตัวและปรากฏตัวในฐานะหญิง สำหรับพวกเขาแล้วการกินฮอร์โมนเพศหญิงที่นำเข้าจากประเทศจีนเป็นพิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่านที่พบได้ทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน พร้อมๆ กับการที่พวกเขามักย้ายออกจากครอบครัวตามเพศดั้งเดิมไปเป็นสมาชิกของชุมชนคนข้ามเพศที่แปลงเพศจากชายเป็นหญิง แม้ตลาดการแพทย์ของเมียนมาร์ยังไม่ค่อยพบว่ามีศัลยกรรมแปลงเพศ แต่คนเปิดเผยตัวตน จำนวนหยิบมือหนึ่งที่มีเงินทุนสามารถเข้าถึงศัลยกรรมแปลงเพศได้ในต่างประเทศ 

คนซ่อนตัว และโฮโม คือ ชายที่ดูภายนอกเหมือนผู้ชายทั่วไป ชายแท้ หรือบางครั้งเรียกกันว่า ‘straight’ ในหมู่ชาวเมียนมาร์ที่พูดภาษาอังกฤษ คือชายที่มีเพศวิถีตามเพศสภาพ และเป็นวัตถุดึงดูดด้านกามารมณ์อันดับแรกสุดในหมู่คนเปิดเผยตัวตน และในระดับที่น้อยลงมาสำหรับคนซ่อนตัว ขณะที่คนซ่อนตัว มีตำแหน่งแห่งที่เชิงภาษาศาสตร์จากการที่ซ่อนตัวตนเพศหญิงภายในไว้ กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘โฮโม’ คือ กลุ่มที่ปฏิเสธวัฒนธรรมท้องถิ่นเกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถีในหลายแง่ รวมทั้งปฏิเสธความคาดหวังว่าชายที่มีความเป็นหญิง จะต้องแสวงหาความสัมพันธ์กับชายแท้ ที่เป็นผู้ชายตามมาตรฐาน โฮโม สามารถมีอัตลักษณ์ได้ทั้งชายหรือหญิง และดึงดูดได้ทั้งโฮโม คนอื่น หรือชายแท้ 

ในขณะที่คนทั่วไปมักเหมารวมเรียกทั้งหมดนี้ว่า เมงมะฉ่า (မိန်းမလျာ) หรือไม่ก็ อะเช่าก์ (အ​​ခြောက်) หรือ กะเทย ซึ่งคำหลังนี้มีนัยยะถึงการเหยียดเพศอยู่ในทีด้วย   

แนวคิดเรื่องเพศที่สามในประเทศเมียนมาร์ยังเป็นแบบอนุรักษนิยมอยู่มาก หลายคนเชื่อว่าการเป็นเกย์ หรือคนข้ามเพศ คือการลงโทษจากบาปกรรมที่เคยทำไว้ในชาติปางก่อน กลุ่ม LGBTQ+ ในเมียนมาร์ จึงถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไร้ศีลธรรม การแก้ไขให้คนเหล่านี้กลับมามีเพศวิถีถูกต้องตามเพศภาวะจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ อย่างเช่นการส่งเกย์ไปบวชในสำนักสงฆ์ 

ขณะที่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ความคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศค่อยๆ พัฒนาสู่ความเป็นเสรีมากขึ้น แต่ในเมียนมาร์ ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมเท่าไหร่นัก และยังถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย เพราะมีกฎหมายห้ามอยู่ อย่างไรก็ตาม ค่านิยมเหล่านี้ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย ด้วยความหวังของกลุ่ม LGBTQ+ ว่าสักวันหนึ่ง พวกเขาจะไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในเงามืดอีกต่อไป

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกสมัยใหม่โอบรับความแตกต่างหลากหลายเพิ่มมากขึ้น กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์พยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 377 อันคร่ำครึ ที่เลือกปฏิบัติทางเพศ  

อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาร์ เคยแสดงจุดยืนที่จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ขณะที่เธอยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเมื่อปี 2013 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้ภายในรัฐสภา หลังจากที่พรรค NLD ของเธอชนะการเลือกตั้งและมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2015 ในตอนนั้น พรรค NLD ออกมาแถลงว่าเหตุผลหนึ่งที่พรรครัฐบาลยังไม่ผลักดันประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าอาจจะถูกพรรคฝ่ายค้านใช้ประเด็นนี้ในการโจมตีรัฐบาล ซึ่งอาจมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนเสรีภาพ ซึ่งคล้ายกับเป็นพรรคที่นิยมกระแสความคิดตะวันตก อย่างไรก็ดี การต่อสู้เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ยังคงเดินหน้าท้าทายอคติเก่าๆ ต่อไป และดูเหมือนว่าจะมีสัญญาณที่ดี  

ที่กล่าวอย่างนั้นเพราะว่าในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 สื่อท้องถิ่นของเมียนมาร์รายงานว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีบรรยากาศของการยอมรับ LGBTQ+ มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก ผิดกับการหาเสียงเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาที่พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับชุมชน LGBTQ+ หรือประเด็นที่มีผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะมีรายงานข่าวว่ามีพรรคการเมืองหน้าใหม่ส่ง สส.เกย์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในเมียนมาร์

มโย มิน ทุน (​မျိုးမင်းထွန်း) วัย 39 ปี เป็นผู้สมัครเลือกตั้งที่แสดงตัวว่าเป็นเกย์อย่างเปิดเผย เขาลงสมัครชิงเก้าอี้สมาชิกสภาภูมิภาคมัณฑะเลย์ในฐานะผู้สมัครจากพรรค People’s Pioneer Party หรือ PPP เพื่อเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งในเมืองมัณฑะเลย์ 

มโย มิน ทุน มีอาชีพจัดดอกไม้และจัดงานแต่งงาน เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า อยากเข้าไปปกป้องสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่มักถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมและถูกยัดเยียดข้อหา รวมทั้งถูกทำร้ายร่างกายจากตำรวจ เขายังบอกอีกด้วยว่า คนที่รู้ดีถึงสถานการณ์และชะตากรรมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ คือ พวกเขากันเอง ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้รับตำแหน่งทางการเมืองในเม

ไม่เพียงแต่พรรค PPP เท่านั้นที่นำประเด็น LGBTQ+ มาหาเสียง พรรคใหญ่อย่าง พรรค NLD และอีกหลายพรรคก็หยิบยกเรื่องนี้มาพูดถึงในการหาเสียงด้วยเช่นกัน พรรค NLD ก็กำหนดนโยบายยุติการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคน LGBTQ+ ในนโยบายหาเสียงของพรรคความยาว 34 หน้า ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนกันยายน 2020  

ขณะที่พรรค Union Solidarity and Development Party หรือ USDP ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดไม่ได้พูดถึงประเด็น LGBTQ+ ในการแถลงนโยบาย แต่โฆษกพรรค แถลงว่า พรรคไม่เลือกปฏิบัติต่อคนตามเพศวิถีหรือเพศสภาพ อีกพรรคหนึ่งที่ออกโรงสนับสนุนประเด็น LGBTQ+ อย่างมาก คือ Myanmar National Congress Party หรือ MNCP ซึ่งก็ชูนโยบายคุ้มครองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนวาดฝันไปไกลถึงการสนับสนุนให้มีการสมรสถูกต้องตามกฎหมาย

อ่อง มโย มิน (​အောင်မျိုးမင်း) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBTQ+ มองว่า พรรคการเมืองเหล่านี้ก็เพียงแค่ให้สัญญาปากเปล่าเพื่อเรียกคะแนนเสียงเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติจริงนั้นยังมีความยากลำบากอยู่มากในสังคมอนุรักษนิยมแห่งนี้ แต่ลึกๆ แล้วเขาก็ยังหวังว่า หากพวกเขาได้รับเลือกตั้ง จะเข้าไปต่อสู้ให้กับ LGBTQ+

ในการต่อสู้ก้าวใหม่นี้มีคำถามและความท้าทายที่ใหญ่มาก นั่นคือสังคมจะยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ในฐานะนักการเมืองได้หรือไม่ เหมือนอย่างที่สังคมนี้ยอมรับและเปิดที่ทางให้กลุ่ม LGBTQ+ ในฐานะร่างทรงผีนัตในธุรกิจทรงเจ้า 

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า