อวสาน เอ็ดดี้ แบลล์เกิล: เมื่อไม่อาจถอด ‘เพศ’ ออกจาก ‘ชนชั้น’ ในสมการแห่งความทุกข์

“ตั้งแต่วัยเด็ก ฉันไม่เคยมีความทรงจำอันแสนสุข ไม่ได้หมายความว่าฉันไม่เคยผ่านประสบการณ์ความสุขหรือความอภิรมย์ใดเลยตลอดหลายปีนั้น มันก็แค่ ความทุกข์ระทมเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ: มันทำลายทุกสิ่งที่ไม่อยู่ใต้อาณัติของมัน”

ประโยคเปิดเรื่องของหนังสือ อวสาน เอ็ดดี้ แบลล์เกิล หรือ En Finir avec Eddy Bellegueule (2014) นวนิยายอัตชีวประวัติเล่มแรกของนักเขียนเกย์ฝรั่งเศสร่วมสมัย เอดูอารด์ หลุยส์ (Édouard Louis) ผู้ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในขณะนี้ อีกทั้งเขายังเป็นหนึ่งในนักคิดฝ่ายซ้ายแถวหน้าผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนม็อบเสื้อกั๊กเหลือง (Mouvement des Gilets jaunes) และต่อต้านนโยบายขยายระยะเวลาการเกษียณอายุของรัฐบาลฝรั่งเศสเมื่อเร็วๆ นี้

‘ความทุกข์’ ที่ว่าในประโยคเปิดเรื่องนั้นอุบัติขึ้นเพราะเขาค้นพบว่าตนไม่อาจเป็น ‘ผู้ชาย’ ได้เหมือนคนอื่นๆ แม้พยายามทุกวิถีทาง เช่น เตะฟุตบอล คบหาเพื่อนผู้ชาย จีบสาว พยายามมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง และสะกดจิตพูดกับตัวเองหน้ากระจกทุกวันว่าเขาเป็นผู้ชาย 

ความล้มเหลวนำพาให้เขาเผชิญกับสายตาเย้ยหยัน คำดูถูก ด่าทอ และการถูกทำร้ายร่างกาย ความรุนแรงเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในโรงเรียนหรือในหมู่บ้าน แต่มันยังปะทุขึ้นบ่อยครั้งในบ้านของเขาเอง มันโหดร้ายเพียงไรที่บ้านไม่อาจเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กคนหนึ่งได้ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่อาจนิยามความทรงจำวัยเด็กเป็นอื่นไปได้ นอกจาก ‘ความทุกข์’ อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่า อวสาน เอ็ดดี้ แบลล์เกิล ไม่ใช่แค่นวนิยายอัตชีวประวัติที่เพียงบอกเล่าเรื่องราวความทุกข์อันเกิดจากความแปลกแยก แต่ผู้แต่งยังอธิบายประสบการณ์ชีวิตของเขาด้วยมุมมองเชิงสังคมวิทยา ซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นความซับซ้อนของเงื่อนไขแห่งการดำรงคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นหลักเรื่องเพศวิถีซึ่งผูกโยงกับมิติทางสังคมอื่นๆ ไว้อย่างแน่นแฟ้น

พื้นที่ทางเพศและการล่วงละเมิด (บทบาท) ทางเพศ

หนังสือย้อนความถึงช่วงทศวรรษ 1990 เอดูอารด์ใช้วัยเด็กที่เมืองซอมม์ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส บ้านของเขาตั้งอยู่ในแหล่งโรงงานอุตสากรรมที่แออัด ตึกรามบ้านช่องที่มีหน้าตาและโครงสร้างเหมือนกันหมดทั้งเมือง สะท้อนความน่าเบื่อ ราบเรียบ ไร้ชีวิตชีวา

ในท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมเช่นนั้น เอดูอารด์มองเห็นการแบ่งพื้นที่ของผู้ชายและผู้หญิงอย่างชัดเจน ซึ่งก็เป็นไปตามภาพแทนดาษดื่น (stereotype) ที่ใครๆ จินตนาการได้ คือ วงจรชีวิตของผู้ชายในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เช่น โรงงาน ร้านเหล้า ฯลฯ ในขณะที่ผู้หญิงจะมีหน้าที่หลักคือดูแลบ้านช่อง ซักเสื้อผ้า เก็บบ้านช่อง ทำกับข้าว (domestic sphere) 

แต่แล้ววันหนึ่ง พ่อของเอดูอาร์ดถูกบีบให้ลาออกจากงาน เนื่องจากเขาประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานใช้แรงงานต่อไปได้ และนี่คือสิ่งที่เขาต้องเผชิญในฐานะผู้ชาย

หลังจากว่างงานมาหลายปี พ่อต้องเผชิญกับเสียงซุบซิบนินทาในหมู่บ้านที่มีต้นตอมาจากพวกผู้หญิงที่หน้าประตูโรงเรียนหรือหน้าร้านขายของชำ ไอ้แจ็คกี้นะเหรอ ก็ไอ้สันหลังยาวตัวนึงนั่นแหละ มันไม่ทำงานทำการสี่ปีแล้วนะ กะอีแค่จะเลี้ยงดูเมียและลูกๆ ของมันก็ยังไม่มีปัญญา (…)

เอดูอารด์เล่าว่า ไม่ใช่พ่อของเขาไม่พยายามหางาน แต่ปัญหาเรื่องอายุและสุขภาพเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงไม่มีใครรับพ่อเข้าทำงาน เขาจึงต้องอยู่แต่ที่บ้าน กิจวัตรประจำวันเหลือเพียงดูทีวีและดื่มเหล้าเพื่อให้วันหนึ่งวันผ่านไป 

  เราไม่อาจรู้ได้ว่าพวกผู้หญิงเหล่านั้นจะรู้ถึงปัญหาเรื่องสุขภาพหรือความพยายามหางานของตัวละครพ่อหรือไม่ แต่สิ่งเหล่านั้นก็คงไม่สำคัญเท่าเสียงซุบซิบซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาททางเพศที่สังคมคาดหวังต่อผู้ชาย กล่าวคือ ผู้ชายต้องอยู่นอกบ้าน ทำงานทำการ เป็นช้างเท้าหน้า หาเลี้ยงดูคนในครอบครัว 

ไม่เพียงแต่พ่อเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับอคติอันเกิดจากบรรทัดฐานทางเพศ ตัวละครแม่เองก็ด้วย

แม่อยากทำงานเมื่อน้องชายและน้องสาวโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ พ่อมองว่านั่นเป็นเรื่องเสื่อมเสีย เหมือนเป็นการท้าทายกับสถานะความเป็นชายของพ่อ ผู้หาเลี้ยงครอบครัวต้องเป็นพ่อ แม่กระตือรือร้นอยากจะทำงาน ไม่แยแสแม้ว่าอาชีพเหล่านั้นจะลำบากลำบน: งานในโรงงาน งานทำความสะอาด หรือพนักงานแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ต แม่ต่อสู้ฟันฝ่า แต่ในอีกด้าน เธอก็ต้องต่อสู้กับตัวเองด้วยเช่นกัน ต่อสู้กับพลังที่จับต้องไม่ได้และไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไรที่ผลักดันให้เธอเชื่อว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสีย หากภรรยาออกไปทำงานในขณะที่สามีถูกบีบให้ตกงาน (…) เมื่อวันหนึ่งแม่หาเงินได้มากกว่าพ่อ พันยูโรนิดๆ ขณะที่พ่อหาได้แทบไม่ถึงเจ็ดร้อยยูโร พ่อสุดจะทนไหวอีกต่อไป เขาบอกกับแม่ว่าการตรากตรำทำงานสารพัดอย่างของแม่ไร้ประโยชน์และแม่ต้องหยุดทำงาน พวกเราไม่จำเป็นต้องมีเงินนั่น เจ็ดร้อยยูโรสำหรับเจ็ดคนก็เพียงพอแล้ว

พ่อและแม่ยอมเสียรายรับของครอบครัวซึ่งเป็นเงินจำนวนพันยูโร เพื่อที่จะไม่ละเมิดต่อบทบาททางเพศที่สังคมกำหนดไว้ เงินที่สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวดีขึ้นได้ กลับไม่สามารถทำให้พ่อและแม่ก้าวข้ามบรรทัดฐานทางเพศได้

สิ่งที่น่าสนใจมากในกรณีของแม่ที่ต่างจากพ่อ คือ ไม่ใช่เพียงเสียงซุบซิบนินทาของชาวบ้านที่ตัดสินพวกเขา แต่เป็น “พลังที่จับต้องไม่ได้และไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร” ที่ทำให้แม่ไม่อาจภูมิใจในเงินที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรงของตน แต่กลับมองว่านั่นเป็นเรื่องเสื่อมเสียและเป็นการข้ามหน้าข้ามตาสามี เราอาจเรียก ‘พลัง’ นั้นว่าเป็น L’habitus ตามแนวคิดของ ปิแยร์ บูร์ดิเออ (Pierre Bourdieu) นักสังคมศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อดังในตำนานได้ 

บูร์ดิเออ อธิบาย L’habitus (แบบง่ายที่สุด) ว่าเป็นสภาวะทางสังคมอันถูกทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่องปกติสามัญ เป็นความจริงแท้ L’habitus มีความสามารถตีกรอบการรับรู้ ความรู้ผิดชอบชั่วดี และพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลในสังคมนั้นๆ ได้ ซึ่งก็คือตรรกะเดียวกันกับที่คนเราชอบคิดว่าเกิดเป็นผู้ชายต้องทำแบบนั้น ผู้หญิงต้องทำแบบนี้ ทั้งที่จริงแล้วอวัยวะเพศ (โดยตัวมันเอง) ไม่ได้มีส่วนในการกำหนดชีวิตปัจเจกบุคคลในสังคมสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่ขนาดนั้น 

ในสถานที่ที่เอดูอารด์มีชีวิตอยู่ เราจะเห็นว่าพื้นที่ทางสังคมถูกแบ่งด้วยบทบาททางเพศอย่างชัดเจน ซึ่งหากพื้นที่นอกบ้านเป็นของผู้ชาย และพื้นที่ในบ้านเป็นของผู้หญิง เราก็คงไม่แปลกใจว่าเหตุใดตุ๊ดเด็กอย่างเอดูอารด์จึงเกิดความรู้สึกว่าไม่มีตำแหน่งแห่งที่ใดเลยในสังคมแห่งนี้ที่เป็นของเขา ตัวตนและพฤติกรรมนอกบรรทัดฐานทำให้เขาตกเป็นเป้าแห่งความสงสัยของคนรอบตัว และความสงสัยนั้นเองที่เปิดทางให้ใครต่อใครเข้ามาล่วงละเมิดเขา

ถอดรื้อความรุนแรง จากเนื้อตัวสู่ตัวตน

ช่วงวัยนั้น เอดูอารด์เข้าเรียนระดับชั้นมัธยมต้น การล่วงละเมิดต่อเขาเกิดขึ้นจากคำถามที่ถูกถามขึ้นที่โถงทางเดินของอาคารเรียน

ในโถงทางเดินนั้น พวกมันถามว่าฉันเป็นใคร ฉันคือ “แบลล์เกิล” ที่ทุกคนพูดถึงใช่ไหม พวกมันถามคำถามที่ฉันเองก็ถามย้ำซ้ำๆ กับตัวเองหลังจากนั้นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เนิ่นนาน นับเดือน นับปี 

“มึงใช่ไหม ที่เป็นตุ๊ด”

ขณะเอ่ยคำถามนั้นออกมา พวกมันได้จารึกคำนั้นลงบนตัวฉันไปตลอดกาล ประหนึ่งตราบาปติดตัว เป็นตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เหล่าชาวกรีกใช้เหล็กร้อนหรือมีดสลักลงบนเนื้อตัวของผู้ที่ผิดแผกแตกต่าง เป็นภัยอันตรายต่อสังคม

คำถามที่ว่า “มึงใช่ไหม ที่เป็นตุ๊ด” ไม่ใช่คำถามที่ผู้ถามต้องการทราบคำตอบ แต่มันเป็นคำถามเพื่อแบ่งแยกเอ็ดดี้ออกจากพื้นที่แห่งความปกติ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของคำด่าอื่นๆ ตามมา เช่น แต๋ว เกย์ กะเทย ตุ้งติ้ง ตุ๊ดตู่ สายเหลือง ประเทือง ลักเพศ ผิดเพศ วิปริต เบี่ยงเบน รักร่วมเพศ เก้ง กวาง 

ในเชิงทฤษฎี หนังสือ Réflexion sur la Question Gay ของนักสังคมวิทยาร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส ดิดิเย่ เออริบง (Didier Eribon) อธิบายหลักการทางภาษาศาสตร์ของ ‘คำด่า’ ที่ใช้เรียกคนรักเพศเดียวกันว่า มันไม่ใช่เพียงคำเพื่อการสื่อสารจากผู้พูดสู่ผู้ฟังเพื่อรับรู้ แต่มันยังสามารถเข้าไปปลดตัวตนของผู้ถูกด่าออกจากความตระหนักรู้ของตัวเขาเอง (dépossession) และทำให้เขาผู้นั้นนิยามตัวเองแตกต่างจากผู้ด่า (ผู้ยึดโยงตัวเองกับความ ‘ปกติ’) คำด่าจึงส่งผลให้ผู้ถูกด่ารู้ตัวว่าการมีอยู่ของตนไม่ใช่จากตน แต่ตนดำรงคงอยู่ได้โดยต่างจากผู้อื่น ซึ่งความต่างทำให้เขาผู้นั้นตกอยู่ในสถานะของคนแปลกประหลาด ป่วย ผิดปกติ 

อีกทั้ง ‘คำด่า’ ไม่ได้ฟังก์ชันอยู่แค่ในระดับของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ด่าและผู้ถูกด่า แต่มันเปลี่ยนสถานะ (ทางสังคม) ของผู้ถูกด่าด้วย ซึ่งนั่นคือใบเบิกทางของความรุนแรงโดยชอบธรรม แบบที่เอ็ดดี้ถูกกระทำ

ที่พวกมันทำได้คือด่า แค่ “อีตุ๊ด” (หรือคำอื่น) ไม่มีใครหันมองรอบๆ ด้วยความสงสัย ฉันเชื่อว่าทุกคนได้ยิน เพราะฉันจำรอยยิ้มสะใจบนใบหน้าของคนอื่นๆ ได้ ทั้งที่อยู่ในสนามและโถงทางเดิน ราวกับพึงพอใจที่ได้เห็นและได้ยินไอ้โย่งหัวแดงกับไอ้แคระหลังค่อมทำสิ่งที่ชอบธรรม พูดสิ่งที่ทุกคนคิดอยู่อย่างเงียบๆ พวกเขากระซิบกระซาบตอนฉันเดินผ่าน เสียงแว่วเข้าหูฉัน “ดูสิ นั่นไง อีตุ๊ดแบลล์เกิล”

ตามด้วยความรุนแรงทางกายภาพ

(…) ไอ้โย่งหัวแดงถ่มเสลด “หน้าอย่างมึงต้องโดนนี่”เสลดไหลบนหน้าฉันช้าๆ สีเหลืองและข้น ราวกับเสมหะเสียงครืดคราดที่ติดคอคนแก่หรือคนป่วย กลิ่นแรงและชวนคลื่นไส้ มันสองตัวหัวเราะเสียงแหลมแสบหู “ดูดิ เลอะเต็มหน้าไอ้เวรนี่เลย”

เสลดที่ไหลอยู่บนใบหน้าของเอดูอารด์เป็นเพียงพื้นผิวของความรุนแรงที่ปรากฏกับเนื้อตัวของเขา แต่หากมองชีวิตของเอดูอารด์ลึกลงไปกว่านั้น เราก็จะพบว่าความรุนแรงนั้นแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเขาตั้งแต่แรก จากคำอธิบายถึงชื่อแรกของเขา ‘เอ็ดดี้ แบลล์เกิล’ (ก่อนเขาจะตั้งชื่อตัวเองใหม่ว่า ‘เอดูอารด์ หลุยส์’ หลังจากที่ย้ายมาเรียนที่ปารีส)

ที่หมู่บ้านไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่ว่าเคยเป็นผู้ชายห่ามๆ มาก่อน แต่ต้องรู้จักทำให้ลูกชายของตนเป็นผู้ชายห่ามๆ ให้ได้ ผู้เป็นพ่อจะเสริมอัตลักษณ์ความเป็นชายของตนด้วยการมีลูกชายที่ตัวเขาจะเป็นผู้ถ่ายทอดคุณค่าความเป็นชายให้ พ่อของฉันก็ทำเช่นนั้น เขาจะต้องทำให้ฉันเป็นผู้ชายห่ามๆ ให้ได้ ซึ่งนั่นเดิมพันด้วยศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย พ่อตัดสินใจเรียกฉันว่าเอ็ดดี้ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครในซีรีส์อเมริกันที่เขาดูจากโทรทัศน์ (โทรทัศน์อีกตามเคย) ตามด้วยนามสกุล ‘แบลล์เกิล’ ที่เขาส่งต่อให้ รวมถึงเรื่องราวในอดีตทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในนามสกุลนี้ ฉันจึงชื่อ เอ็ดดี้ แบลล์เกิล ชื่อของชายห่ามๆ

ชื่อ ‘เอ็ดดี้ แบลล์เกิล’ ไม่ใช่เพียงนามที่ตั้งไว้เพื่อใช้เรียกบุคคล แต่มันบอกถึงสิ่งที่ตัวพ่อ หรือพูดให้ถึงที่สุดคือ ‘สังคม’ เรียกร้องกับเขา รวมถึงยัดเยียดภาระหน้าที่หรือสิ่งที่เราอาจเข้าใจไปเองว่ามันคือ ‘ชะตาชีวิต’ ให้แก่เขาตั้งแต่เกิด หรือก่อนที่เขาจะเกิด (social determinism) เสียด้วยซ้ำ เราอาจตีความได้ว่าความรุนแรงทางเพศดำรงคงอยู่ในระดับของชื่อ ฝังตัวอยู่ในอัตลักษณ์ของเขาจนไม่อาจถอนตัวได้ เอ็ดดี้ใช้เวลาตลอดทั้งช่วงวัยเด็ก หมกมุ่นอยู่กับความเป็นชายที่เขาไม่มีทางทำสำเร็จได้ 

การตั้งชื่อตัวเองโดยตัวเองใหม่ว่า ‘เอดูอารด์ หลุยส์’ และตั้งชื่อหนังสืออัตชีวประวัติเล่มแรกว่า อวสาน เอ็ดดี้ แบลล์เกิล จึงถือเป็นการปฏิเสธอำนาจ (social determinism) โดยสิ้นเชิงและเป็นขบถในระดับของตัวตนอย่างถึงที่สุด

เอดูอารด์ หลุยส์ (Édouard Louis)

ชนชั้นและความเป็นชาย

คำอธิบายถึงชื่อ ‘เอ็ดดี้’ ที่เอดูอารด์เล่าไว้นั้น ไม่ได้มีเพียงมิติเรื่องเพศที่น่าสนใจ แต่ยังชี้ให้เห็นลักษณะเฉพาะ รสนิยม และอุดมคติความเป็นชายแบบชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะคำว่า ‘ชายห่าม’ (un dur) ซึ่งแตกต่างกับความเป็นชายชนชั้นกลางที่เอ็ดดี้มาพบเห็นตอนเขาย้ายมาเรียนในโรงเรียนใหญ่ของเมืองอาเมียงส์อย่างเห็นได้ชัด

พวกเด็กผู้ชายที่นี่จะยื่นแก้มชนกันเป็นการทักทายสวัสดี พวกเขาไม่ได้ใช้การจับมือ

พวกเขาถือกระเป๋าหนัง

ประพฤติปฏิบัติตัวกันแบบนุ่มนวล

ทุกคนอาจถูกปฏิบัติแบบ พวกตุ๊ด ได้ หากเป็นที่โรงเรียนสมัยมัธยมต้นของฉัน

คนชนชั้นกลางใช้ภาษากายที่แตกต่างออกไป

พวกเขานิยามความเป็นชายชาตรีต่างจากพ่อ ต่างจากพวกผู้ชายที่โรงงาน 

(ที่เอกอลนอร์มาล ร่างอรชรของพวกปัญญาชนชนชั้นกลางจะยิ่งมีให้เห็นชัดขึ้นอีก) 

ความเป็นชายแบบชนชั้นกลางทำให้เอ็ดดี้เกิดคำถามถึงเรื่องเพศอีกครั้ง เพราะมันมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับความเป็น ‘ตุ๊ด’ ในชนชั้นเดิมของเขา เฉดแห่งความเป็นชายที่แตกต่างกันนี้นำเขาไปสู่การทำความเข้าใจและตกผลึกทางความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเพศและชนชั้นในภายหลัง ครั้งหนึ่ง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “คุณไม่มีทางเข้าใจเรื่องเพศ หากคุณไม่เข้าใจเรื่องชนชั้นทางสังคม” 

ความคิดนี้ของเอดูอารด์ได้รับอิทธิพลจากบูร์ดิเออ ผู้เคยอธิบายไว้ในหนังสือ La distinction : critique sociale du jugement (1797) ว่าชนชั้นทางสังคมเป็นตัวกำหนดรสนิยม อุดมคติ และเงื่อนไขแห่งการดำรงคงอยู่ แต่ละชนชั้นไม่ได้แยกออกจากกันและถูกจัดลำดับเป็นขั้นบันไดโดยใช้ปัจจัยทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวแบ่งแบบมาร์กซ์ (Carl Marx) ปัจจัยเรื่องอำนาจและอภิสิทธิ์ทางสังคมแบบเวเบอร์ (Max Weber) ที่เราเคยเข้าใจ แต่ (อธิบายให้ซับซ้อนน้อยที่สุด) ชนชั้นแต่ละชนชั้นจะนำความแตกต่างจากชนชั้นอื่นมาสร้างลักษณะเฉพาะตัว นิยามตัวเองจากสิ่งที่ชนชั้นอื่นไม่เป็น และยกสิ่งที่ตน ‘เป็น’ ‘มี’ หรือ ‘เชื่อ’ เหนือกว่าชนชั้นอื่น เราจึงไม่อาจพูดว่าแต่ละชนชั้นแยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่มันสัมพันธ์กันจากความต่าง 

เราจะเข้าใจและเห็นภาพทฤษฎีนี้อย่างชัดเจนผ่านตัวละคร ‘ซีลแวง’ ลูกพี่ลูกน้องของเอ็ดดี้ ผู้ใช้ชีวิตเป็น ‘ผู้ชายห่ามๆ’ ตามอุดมคติของชายชนชั้นแรงงาน คือ กินเหล้า ต่อยตีมีเรื่อง และสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้ผู้อื่นเสมอ 

วันหนึ่ง ซีลแวงถูกตำรวจจับเข้าคุกเนื่องจากหนีคดีเก่า เขาถูกนำตัวไปให้ปากคำกับอัยการถึงเหตุรุนแรงที่เคยก่อ

อัยการถามคำถามที่ถามตามปกติแก่เขา: ทำไมถึงทำเช่นนั้น ทำไมถึงใช้วิธีการนั้น คำถามต่างๆ นานาถึงอดีตของเขา ลูกๆ ของเขา ชีวิตส่วนตัวของเขา และพ่อของคุณที่คุณไม่เคยเห็นหน้าค่าตา แม่ของคุณที่ทอดทิ้งคุณไป คุณคิดว่าทั้งหมดนั้น องค์ประกอบในชีวิตของคุณทั้งหมดนั้นมีส่วนหรือไม่กับการกระทำความผิดของคุณ รวมถึงคำถามอื่นๆ ที่เขาไม่เข้าใจ เนื่องจากภาษาที่ใช้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นภาษาทางกฎหมาย แต่ยังเป็นภาษาที่มาจากโลกของผู้มีการศึกษา คุณยืนยันหรือไม่ว่าการกระทำของคุณไม่ใช่เรื่องของการบีบบังคับจากภายนอก หรือคุณมีความรู้สึกไหมว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ขับเคลื่อนด้วยเจตจำนงเสรีของคุณ ลูกพี่ลูกน้องของฉันบอกตะกุกตะกักว่าเขาไม่เข้าใจคำถาม และขอให้อัยการถามซ้ำ เขาไม่ได้อับอายอะไร ไม่รู้สึกตรงๆ ถึงความรุนแรงที่อัยการกระทำ ความรุนแรงทางชนชั้นที่ขับเขาออกจากโลกการศึกษา และท้ายที่สุด ด้วยเหตุและผลที่เกิดขึ้นต่อๆ กันมา ความรุนแรงนี้ได้นำเขามาที่นั่น ศาลตัดสินแห่งนั้น ตรงกันข้าม ซีลแวงกลับมองว่าอัยการช่างน่าหัวร่อ พูดจาอย่างกับตุ๊ด

ซีลแวงไม่ได้ยึดถือค่านิยมความเป็นชายแบบชนชั้นกลาง เขาจึงไม่อาจเข้าถึงความรุนแรงที่ถูกบรรจุผ่านภาษาของชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาซึ่งกำลังแปะป้ายเขาและสังคมที่เขามีชีวิตอยู่ว่าเป็นเหตุของอาชญากรรม ตรงกันข้าม เขากลับใช้ค่านิยมที่เขายึดถือตัดสินว่าอัยการทำตัวเหมือนตุ๊ดและหัวเราะเยาะเย้ย 

การปะทะกันของความเป็นชายจากสองชนชั้นในฉากนี้ ยืนยันความคิดของเอดูอารด์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศและชนชั้น และยังช่วยให้เราสรุปปัญหาในชีวิตของเอ็ดดี้ได้ ว่ามันไม่ใช่เพียงแค่ความเป็นชายที่กดทับเขา แต่เราเจาะจงไปได้อีกว่ามันคือ ‘ความเป็นชายแบบชนชั้นแรงงาน’ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว มีหลักการเฉพาะตัว และมีนิยามของความเป็นชายเฉพาะตัว (แตกต่างจากความเป็นชายของชนชั้นอื่น)

คำถามที่อาจตามมาคือ แล้วอะไรคือความรุนแรงตามหลักของ ‘ความเป็นชายแบบชนชั้นแรงงาน’ เอดูอารด์ได้บรรยายไว้ว่า

พวกผู้ชายในหมู่บ้านเองก็ไม่เคยเอ่ยคำนั้น (ความรุนแรง) มันไม่เคยออกมาจากปากของพวกเขา สำหรับผู้ชาย ความรุนแรงถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ชัดแจ้ง

ไม่มีคำว่า ‘ความรุนแรง’ เท่ากับไม่มีความรุนแรง และเมื่อไม่รู้จักความรุนแรง ก็ไม่รู้ว่าตนคือผู้ถูกกระทำ/ถูกกดขี่ กับดักแห่งชนชั้นนี้กักขังให้ผู้ถูกกดขี่สยบยอมต่อสภาวะการกดขี่ ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตนไปแบบไม่ลุกขึ้นมาหืออือ… เกิด ใช้ชีวิต และตายไปกับสภาวะที่ตนเชื่อว่า ‘ปกติ’

อีกทั้งเพราะพวกเขาไม่รู้จักความรุนแรง พวกเขาจึงไร้เดียงสากับสิ่งที่ตนกระทำ กับเสลดที่ถมใส่หน้า กับหมัดและตีนที่ซัดเข้าที่หน้าและลำตัว กับคำแปะป้ายต่างๆ นานาที่กีดกันเอ็ดดี้ออกจากจักรวาลของพวกเขา แล้วเอ็ดดี้จะเรียกร้องเอาความยุติธรรมจากใคร หากไม่เรียกเอากับทั้งสังคม

จุดจบที่ไม่จบของเอ็ดดี้ แบลล์เกิล

แม้พยายามที่จะเป็นเหมือนคนอื่นๆ ด้วยวิธีการต่างๆ นานา แต่ปัญหาดูท่าจะซับซ้อนเกินความความพยายามทั้งชีวิตจะก้าวข้ามมันได้ เขาจึงตัดสินใจ ‘หนี’

ก่อนจบระดับชั้น ม.ต้น ครูใหญ่ที่โรงเรียนมองเห็นศักยภาพในด้านการแสดงของเอ็ดดี้ เธอชักชวนให้เขาไปสอบเข้าระดับชั้น ม.ปลาย ที่โรงเรียนใหญ่ในเมืองอาเมียงส์ หนึ่งปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันเขาคือ หากสอบเข้าได้ เขาต้องไปอยู่หอพักที่นั่น เดิมพันครั้งนี้เอ็ดดี้จึงไม่ใช่เพียง ‘จะได้เรียนในสิ่งที่ชอบหรือไม่’ แต่เป็น ‘จะหนีจากที่นี่ได้หรือไม่’

ในช่วงคัดเลือกนี้ ฉันได้ทำความรู้จักกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งชื่อว่าฟาบรีซ เราพูดคุยกันและสัญญากันไว้ว่าเราจะเป็นเพื่อนกันตอนเปิดเทอมหากทั้งคู่สอบติด ตลอดช่วงฤดูร้อน ฉันนึกถึงฟาบรีซไม่หยุดหย่อน ที่จริงแล้วฉันฝันหวานถึงฟาบรีซน้อยกว่าภาพของตัวฉันเองที่อยู่ในวงเพื่อนฝูงที่อาเมียงส์ พวกเพื่อนผู้ชาย ที่เป็นผู้ชายจริงๆ และพอกันทีกับเพื่อนผู้หญิง

เอ็ดดี้ไม่ได้หนีเพื่อที่จะไปเป็นตัวของตัวเอง เขายังคงปฏิเสธความเป็นคนรักเพศเดียวกัน แต่มันเป็นการหนีเพื่อโอกาสครั้งใหม่ในการเป็นเหมือนคนอื่น จึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่านี่คือการหนีบนสำนึกแห่งความขัดขืน ที่เราอาจให้เครดิตว่าเป็นการตระหนักรู้แห่งการมีอยู่ของตัวตนในความหมายเชิงอัตถิภาวะนิยม (existentialism) แต่เป็นการหนีจากความล้มเหลวจากที่หนึ่ง เพื่อเริ่มต้นทำสิ่งเดิมในที่ใหม่ 

ตรงกันข้าม ในเชิงลึก เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการหนีครั้งนี้ดูท่าว่าเป็นการบีบคั้นจากปัจจัยทางสังคมมากกว่า ซึ่งเอดูอารด์ก็ออกมายอมรับในภายหลังว่า สิ่งที่เขาทำอาจไม่ได้เรียกว่าการหนี แต่สังคมต่างหากที่กีดกันเขาออกมา 

“ผมคงไม่ได้เป็นผมเหมือนทุกวันนี้หากผมใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างมีความสุขและไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกัน ผมคงไม่เป็นผมทุกวันนี้หากไร้ความอับอายและความรุนแรงที่ผมรู้สึกได้ในฐานะเกย์เด็กของชนชั้นรากหญ้า ชนชั้นที่ยากต่อการจะเป็นในสิ่งที่ผมเป็น ผมไม่มีทางเลือกอื่นใดเลยนอกจากเปลี่ยนตัวเอง การถูกกีดกันทำให้ผมรอดชีวิต”

แต่จนแล้วจนรอด ชีวิตที่โรงเรียนในเมืองใหญ่ก็ไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น เมื่อเอดูอารด์พบเพื่อนเก่าของเขาที่นั่น

พวกเรารอครูโกติเนท์ที่โถงทางเดินหน้าห้องเรียนหมายเลข 117 

ใครบางคนเดินเข้ามา

ทริสตอง

เขาตะโกนเรียกฉัน

อ้าวเอ็ดดี้ ยังเป็นตุ๊ดอยู่รึเปล่าวะ

คนอื่นๆ หัวเราะ

ฉันก็หัวเราะ

ฉากจบแบบเปิดนี้ชวนให้เราถามต่อว่า แล้วเอ็ดดี้จะทำอย่างไรต่อไป เขาจะยังพยายามเป็นเหมือนคนอื่นต่อไปอีกไหม หรือจะยอมพ่ายแพ้ 

เราสามารถคาดเดาคำตอบนั้นได้ไม่ยาก อย่างน้อยๆ ก็จากชื่อของหนังสือ อวสาน เอ็ดดี้ แบลล์เกิล ซึ่งเฉลยว่าเขาเลือกที่จะละทิ้งชื่ออันเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุนแรงที่ก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ของ ‘เอ็ดดี้’ และเปลี่ยนเป็น ‘เอดูอารด์’ ที่ตัวเองตั้งให้กับตัวเอง เขาอาจจะพ่ายแพ้ต่อความคาดหวังของสังคมที่ปรารถนาจะเห็นเขาเป็น ‘ชายห่าม’ แต่ความพ่ายแพ่นั้นคุ้มค่าเหลือเกิน เพราะมันได้คืนสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง ตระหนักรู้ถึงกลไกแห่งความรุนแรง และผันตัวมาเป็นนักเขียนและนักขับเคลื่อนทางสังคมในท้ายที่สุด

อวสานเอ็ดดี้ แบลล์เกิล ที่เราอาจเรียกมันว่าเป็น ‘อัตชีวประวัติเชิงสังคมวิทยา’ (socio-autobiography) นี้ ช่วยทำให้เราเข้าใจมิติอันซับซ้อนเรื่องเพศที่ไม่ได้ลอยตัวโดดๆ แต่ผูกโยงกับมิติทางสังคมเรื่องอื่นๆ อย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นทางสังคม นั่นคือสาเหตุที่ว่า ทำไมนักเขียนฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสชื่อดังไม่ว่าจะ เอดูอารด์ หลุยส์, ดิดิเย่ เออริบง (Didier Eribon) หรือแม้แต่ อานนี แอร์โนซ์ (Annie Ernaux) นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2022 ถึงไม่เคยละทิ้งประเด็นเรื่องชนชั้นทางสังคม

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้ในภายหลังจากที่หนังสือของเขาได้รับการเผยแพร่และแปลไปหลายภาษา คือ เขาไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดนี้ แต่ยังมีอีกหลายล้านคนที่ต้องเผชิญกับ ‘ความทุกข์’ แบบเดียวกัน และเป็นเช่นนั้นมาตลอดประวัติศาสตร์ 

ฉันเชื่อว่าคุณก็คงเป็นหนึ่งในล้านคนนั้นที่ไม่อาจมองวัยเด็กของตัวเองเป็นอื่นไปได้นอกจาก ‘ความทุกช์’ เหมือนกันกับเอ็ดดี้ และเหมือนกันกับฉัน 

ในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองสิทธิความหลากหลายทางเพศนี้ ฉันไม่อยากให้สังคมหลงลืมว่า ก่อนที่เราจะออกไปเดินขบวนพาเหรด โห่ร้องตะโกน เต้นรำอยู่กลางถนน เราทุกคนเคยร้องไห้อยู่ในมุมหลืบของที่ใดสักที่ เจ็บตัวอยู่ในมุมลับของใดที่สักแห่ง 

สังคมไม่ควรให้ความหมายเดือนนี้เป็นเพียงการเฉลิมฉลอง หรือเพียงสาดสีรุ้งทั่วเมืองโดยไร้ความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม แต่มันควรถูกจดจำในฐานะวิวัฒนาการจาก ‘ความทุกข์’ สู่การมีชีวิตอยู่อย่างชอบธรรมในสังคม

หมดเวลาแล้วที่จะมีเด็กสักคนต้องใช้เวลาตลอดทั้งช่วงวัยเด็กเพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ผิดปกติ 

หมดเวลาแล้วที่จะให้จู๋หรือจิ๋มกำหนดชะตาชีวิตของเรา

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า