เกลียด โกรธ กลัว ความรุนแรงทางเพศแบบออนไลน์

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนองานวิจัยหัวข้อ เกลียด/โกรธ/กลัว : ความรุนแรงทางเพศ /เพศสภาพในพื้นที่ออนไลน์  เป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ ต้องการสร้างความเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศแก่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ คาดหวังให้งานวิจัยสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังเกิดการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นได้ รวมถึงผู้ที่สนใจศึกษาทำการวิจัยอย่างจริงจังเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในบริบทที่แตกต่างต่อไป

เมื่อการคุกคามทางเพศได้ย้ายไปอยู่บนพื้นที่ออนไลน์ ทุกคนอาจจะเริ่มเคลือบแคลงใจ ว่าครั้งหนึ่งฉันเคยตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้กระทำความรุนแรงทางเพศโดยไม่รู้ตัว

กายวิภาคของความรุนแรงบนพื้นที่ออนไลน์

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมองพื้นที่ออนไลน์ในเชิงบวก เพราะพื้นที่ออนไลน์เอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษา ขยายโอกาสในการเรียน ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกประเภท พื้นที่ออนไลน์ถูกใช้เป็นสถานที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นพื้นที่แสดงฉันทามติร่วมกันของผู้คน แต่ในแง่งามของพื้นที่ออนไลน์ก็มีความรุนแรงแฝงอยู่

เพื่อเป็นข้อสนับสนุนและนำไปสู่ข้อเสนอของงานวิจัย เกลียด/โกรธ/กลัว : ความรุนแรงทางเพศ /เพศสภาพในพื้นที่ออนไลน์  รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ยกตัวอย่าง #BlackLiveMatter  ว่าเป็นแฮชแท็กที่มีที่มาจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวสีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

“นำไปสู่การใช้ #BlackLiveMatter แฮทแท็กนี้กลายเป็น Global คนไทยก็ใช้กับเขาด้วย #BlackLiveMatter มีการใช้เพื่อพูดถึงการกระทำความรุนแรงทางเพศ เรื่องของอคติการเหยียดสีผิว ประมาณไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นได้เกิด #WhiteLiveMatter ขึ้นมาประชัน”

#WhiteLiveMatter มีแนวคิดเหยียดเพศ เหยียดสีผิว ผู้ใช้ #WhiteLiveMatter ไม่ได้สื่อสารเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์เท่านั้น แต่ได้มีการกระทำความรุนแรงทางตรงจำนวนมากผ่านการนัดหมายในพื้นที่ออนไลน์ กระทั่งเกิดการแทรกแซงแฮชแท็กนี้โดยติ่งเกาหลี

พวกเขานำเสนอคลิปวิดีโอของวง BTS และวงอื่นๆ มากถึง 20,000 ทวีต โดยติด #WhiteLiveMatter ทำให้ไม่สามารถค้นหาการนัดหมายของกลุ่มเหยียดสีผิวและกลุ่มผิวขาว

“นี่คือความกล้าหาญของ BTS เพราะการลุกขึ้นเผชิญหน้ากลุ่มเหยียดสีผิวของอเมริกา อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ กลุ่ม BTS มีความกล้าจริงๆ ที่กล้าปะทะ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในบรรดาแฟนคลับเป็นกลุ่มสีผิวเยอะ” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว

เกิดเป็นหญิงต้องเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ ถ้าเกิดเป็นผู้ชายต้องมีใจอดทน

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ พยายามชี้ให้เห็นว่า มีการสื่อสารด้วยความเกลียดชัง อคตินานาประการด้วย ความรุนแรงนานาประเภทปรากฎในพื้นที่ออนไลน์ มิหนำซ้ำยังผลกระทบรุนแรงและกว้างขวาง และสร้างบาดแผลและความเจ็บปวด ความรำคาญทางจิตใจให้แก่เหยื่อ ตลอดจนสามารถทำร้ายตัวตนและจิตวิญญาณ ลดทอนคุณค่าของเหยื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เหยื่อ ‘ตาย’ จากสังคม สั่งบังคับให้เหยื่อปิดปากอย่างกลายๆ

“สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ไม่ใช่ความรุนแรงทางตรง ต่างจากการทำร้ายทางร่างกายและทรัพย์สิน เพราะคือการเหยียดหยาม ประณาม ด่าทอ ลดทอนคุณค่าของบุคคลอื่น ทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด เสียใจ สามารถทำร้ายตัวตนและจิตวิญญาณของบุคคลอื่นผ่านโลกออนไลน์ รูปแบบของความรุนแรงเหล่านี้มักจะถูกมองข้าม เพราะไม่ทำให้เกิดบาดแผลทางกาย อีกทั้งการด่าทอและประณามทั้งหลายล้วนแล้วมาจากอคติ ซ่อนความหมายนัยสำคัญไว้หลากหลายประการ และที่พบอย่างแพร่หลาย คือ เพศสภาพและเพศวิถีที่หล่อเลี้ยงความรุนแรงมากขึ้น” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ วิเคราะห์ความหมายและโครงเรื่อง ที่ใช้สื่อสารถึงความรุนแรงอย่างแพร่หลายในระบบที่แบ่งมนุษย์ออกเป็นสองเพศสภาพ ดังนี้

  1. เรือนร่าง ผู้หญิงถูกเชื่อมโยงกับเรื่องความสวยความงาม ความสวยจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่สังคมกำหนด
  2. บทบาทความรับผิดชอบ ที่แต่ละเพศควรจะทำ
  3. พฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม

เพศสภาพถูกหยิบยกมาใช้ในการสร้างความรุนแรงที่ใช้ทิ่มแทงคนที่ขาดตกบกพร่องไปจากบรรทัดฐานที่กำหนด เมื่อไม่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คุณก็ไม่มีสิทธิพูด ไม่มีสิทธินำเสนอประเด็นสู่สาธารณะ

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ สำรวจงานวิจัยที่ศึกษาหัวข้อความรุนแรงทางเพศ พบว่างานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นศึกษาเด็กและวัยรุ่น โดยอาจหลงลืมไปว่าความรุนแรงทางเพศบนพื้นที่ออนไลน์สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และหากมีโอกาสอยากให้ขยายข้อสังเกตไปยังบริบทที่แตกต่าง เพื่อให้เห็นถึงภาพความรุนแรงที่กว้างขวางนี้ได้อย่างชัดเจนขึ้น

นักการเมืองหญิงในระบอบปิตาธิปไตย

“กลุ่มเป้าหมายของการศึกษางานวิจัยนี้ โดยเลือกคนกลุ่มเดียว คือ เพศสภาพหญิงในการเมืองภาครัฐ” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าว เพราะคนกลุ่นนี้ “โดนกระทำความรุนแรงทางเพศเยอะมาก ผู้หญิงที่มีเพศสภาพหญิงพยายามจะเข้าไปมีบทบาทในการเมืองภาครัฐ ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ในฐานะนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมไปถึงผู้ที่ทำงานสื่อมวลชน บุคคลเหล่านี้โดนกระทำความรุนแรงทางเพศสูงมาก ในทุกรูปแบบ ทั้งทำร้ายด้านอารมณ์ ตำหนิ ประจาน การขู่ฆ่า ขู่ทำร้าย ขู่ข่มขื่น เฝ้ามอง เผยแพร่ข้อมูลเรื่องเพศอย่างมากมาย”

เพศหญิงไม่ได้เผชิญความรุนแรงทางเพศทางตรงเท่านั้น ความรุนแรงทางอ้อมเกิดจากการใช้สื่อออนไลน์ในการประณาม และสิ่งเลวร้ายมากกว่านั้นคือผู้ใช้สื่อออนไลน์สร้างความรุนแรง คือ ภาครัฐ ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนหรือลงมือทำ เพื่อทำให้เหยื่อรู้สึกอับอาย เป็นการสั่งให้เหยื่อเงียบทางอ้อม

จากการศึกษา รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ พบว่า ความรุนแรงทางเพศส่วนหนึ่งถูกใช้ในการโจมตีศัตรูทางการเมือง โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1.หยิบยกเรื่องร่างกายในการประเมิน ประจาน ประณาม ประเด็นที่โดนหยิบยกมากที่สุดเป็นเสื้อผ้า เพราะเสื้อผ้าที่เราใส่ สามารถใช้ในการนำเสนอประเด็นได้ และฝ่ายคนที่เป็นนักการเมืองหญิงเล็งเห็นและใช้เสื้อผ้าเพื่อต่อสู้ทางการเมือง และถูกมองเห็นว่าไม่สวย แต่กลับโดนมองว่าผิดกาลเทศะ เชื่อมโยงกับความอ้วน ความสวยหรือไม่สวย ประเมินตามบรรทัดฐานที่ต่างกันออกไป และเชื่อมโยงกับความเป็นผู้หญิง จึงทำให้มองข้ามเรื่องของประเด็นที่พวกเขาต้องการสื่อสาร

“สังคมไทยมักจะประเมินนักการเมืองไทยจากความสวยไม่สวย เรามักจะเห็นการด่าทอนักการเมืองอีกฝ่ายว่า น่าเกลียด แก่ อ้วน และการประเมินสวยไม่สวยมากจาก ความชอบ หากเราชอบฝ่ายใด เราจะมองว่าสวย แต่อีกฝ่ายเราจะมองว่าเขาไม่สวย น่าเกลียด การเลือกฝ่ายทางเมืองมีผลต่อประเมินสวยไม่สวย”

2.หยิบยกประเด็นทางเพศมาด่าทอเช่นเดียวกัน คือ ความสัมพันธ์ซ้อน สถานะเมียน้อย เห็นได้ว่า นักการเมืองหญิงที่มีความเคลื่อนไหวมากๆ ไม่เคยรอดพ้นจากการโดนด่าประณามว่า เป็นเมียน้อย การสถาปนาว่านักการเมืองหญิงเป็นเมียน้อยของนักการเมืองชาย คือ เรื่องปกติของคนไทย

3. การปล่อยคลิป ประณาม และประจาน ด้วยเหตุผลที่ว่านักการเมืองหญิงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพราะคนนี้เป็น sexually being จึงทำให้ไม่มีสิทธิอ้าปากพูดถึงเรื่องการเมือง นับว่า SEX เป็นอาวุธที่ร้ายแรงมากอย่างแท้จริง

4.นักการเมืองชายก็เช่นเดียวกันที่เคยเป็นประเด็นปัญหาภายในครอบครัว ในเชิงการใช้ความรุนแรงขึ้นมา และมีคนไปแสดงความคิดเห็นว่า ควรเชื่อนักการเมืองชาย เพราะเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อ และมีพฤติกรรมดี จึงเป็นการด่วนสรุปการมองปัญหาไวเกินไป และหากการมองปัญหาและตัดสินเช่นนี้ จะทำให้เหยื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม

5.นักการเมืองหญิงถูกโจมตีด้วยความเป็นแม่ และพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมไม่เหมาะสม โดนมองว่าเลวร้าย ไม่กลัวลูกอายหรอทำตัวแบบนี้ ทำตัวแบบนี้ไม่ควรมีลูก ทำตัวแบบนี้ไม่ควรสอนลูกแล้ว

“ความเป็นแม่กลายเป็นเหล็กทิ่มแทงนักการเมืองหญิงเป็นอย่างมาก”

Gender Sexuality ยุทโธปกรณ์ของความรุนแรง

“เหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งเพศสภาพหญิงและชาย เพศสภาพไม่ได้บ่งบอกถึงสถานะ บทบาทของผู้กระทำความรุนแรงทางเพศได้อย่างแท้จริง แต่กลับเล็งเห็นเรื่องเพศ (Gender Sexuality) เป็นอาวุธที่หยิบยกมาทำร้ายกันมากที่สุด”

เพศหญิงมีโอกาสต่อการถูกทำร้ายสูง รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า เราต้องไม่เงียบหากเจอความรุนแรงทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างบนพื้นที่ออนไลน์ และไม่ควรนิ่งเฉยต่อความรุนแรงเหล่านั้นโดยเด็ดขาด เพราะการปล่อยให้ผู้กระทำอยู่ในมุมมืดต่อไป ก็เปรียบเสมือนเปิดช่องโหว่ให้ผู้กระทำความรุนแรงทางเพศทำร้ายผู้อื่นได้อีก

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เสนอทางออกดังนี้

  1. นักการเมืองและนักการเมืองหญิงที่เป็นกรณีศึกษาบางคนเห็นว่าการเงียบเฉยไม่ได้นำมาสู่การแก้ปัญหา แต่เรียกร้องให้มีการโต้เถียงและนำเสนอประเด็นเพื่อให้คนในสังคมเห็นถึงอคติและการแสดงความรุนแรงทางเพศ โดยนักการเมืองควรพูดเรื่องนี้ร่วมกันโดยไม่แบ่งพรรค
  2. พรรคการเมืองในประเทศไทยควรมีแนวทางว่าไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงทางเพศโดยคนในพรรค
  3. สื่อมวลชนและประชาชนในฐานะแนวร่วมควรเสนอประเด็นความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความรุนแรงทางเพศในพื้นที่ออนไลน์ไม่ใช่เรื่องความบังเอิญ แต่สะท้อนแบบแผนความสัมพันธ์เชิงเพศสภาพในสังคมเป็นการกระทำที่มีเป้าหมายเพื่อผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำในระบบสองเพศสภาพ สร้างความเกลียดชังและดูหมิ่นเพศสภาพหญิง การชี้ชวนให้คนในสังคมมองเห็นความรุนแรงรูปแบบนี้ และร่วมตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องความรุนแรงทางเพศ ทั้งพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์มีความสำคัญต่อการจัดการความรุนแรงร่วมกัน

กฎหมายไทยและความรุนแรงทางเพศ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวถึงกฎหมายในปัจจุบันที่สามารถนำมาใช้ได้ คือ มาตรา 326 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ข้อกฎหมายมาตรา 328 ความผิดฐานโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

สำหรับบางกรณีไม่สามารถใช้ข้อกฎหมายตามฐานความหมิ่นประมาทหรือความผิดฐานโฆษณาได้ เพราะจำเป็นต้องพิจารณาต่างบริบทของฐานความผิดด้วย แต่ยังมีข้อกฎหมายอื่นๆ ที่น่าสนใจสามารถเชื่อมโยงเอาผิดฐานคุกคามทางเพศได้อีกด้วย อาทิ

หนึ่ง มาตรา 397 ประมวลกฎหมายอาญา การทำให้ขายหน้าต่อธารกำนัล ซึ่งเป็นการกระทำลามก มีความผิดลหุโทษมีโทษปรับ 5,000 บาท

ถ้าเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล มีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งอาจจะครอบคลุมบางอย่างได้ ที่ไม่อยู่ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือการโฆษณา

สอง มาตรา 392 ความว่า ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อพูดถึงการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องยากที่จะนิยาม เพราะต้องขึ้นอยู่กับบริบท สภาวะแวดล้อมของบทสนทนา จึงเป็นการยากเกินไปในปี 2563 ที่จะกำหนดความผิดฐานคุกคามทางเพศ หากกำหนดข้อกฎหมาย และมีลักษณะที่กว้าง ซึ่งตีความได้หลากหลาย และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพ สุดท้ายแล้วบทลงโทษเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“อีกทั้งข้อกฎหมายในสังคมไทยยังมีความคับแคบอยู่มาก ได้แก่ การริบทรัพย์ ปรับ กักขัง จำคุก และประหารชีวิต และเมื่อผู้ที่กระทำความผิดนั้นติดคุกก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้จริง ส่วนตัวผมคิดว่า การติดคุกอาจจะส่งต่อแค่ความกลัวเท่านั้น อาจจะต้องพิจารณาการแก้ไขเยียวยาอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น อาจจะกล่าวขอโทษ ลบข้อความดังกล่าว หรือชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งสังคมไทยยังไม่นิยมบทลงโทษประเภทอื่นๆ เช่นบำเพ็ญประโยชน์ การแก้ไขเยียวยา ซึ่งในกรณีต่อว่าผู้อื่นบนพื้นที่ออนไลน์ การลบข้อมูลดังกล่าวอาจจะส่งผลดีกว่าการจำคุก และข้อมูลเหล่านั้นยังคงส่งต่อไป ดังนั้นการจะใช้กฎหมายมุ่งเน้นความผิดในบางกรณีคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น”

ความรุนแรงทางเพศและความเสมอภาคทางสังคม

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ระบุถึงหน้าที่ของมูลนิธิฯ ว่าเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรงจะเป็นเพศสภาพใดก็ตาม ทางมูลนิธิมีหน้าที่เสริมพลังเหล่านั้นให้แข็งแกร่งขึ้น โดยมีการพูดคุยกับเขา ถึงขั้นตอนการดำเนินคดี และประสานงาน เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรง

สำหรับกรณีถูกกีดกันจำกัดสิทธิเรื่องเพศ สามารถยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางเพศ อีกทั้งยังมีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นกลไกในการชดเชยและเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และป้องกัน ไม่ให้หญิงข้ามเพศ หรือผู้ชายข้ามเพศถูกกีดกัน และจำกัดสิทธิต่างๆ

หากนักการเมืองถูกคุกคามด้วยวาจา เหยียดเพศ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งในออนไลน์และในออฟไลน์โดยรัฐสภาเองนั้น สามารถร้องเรียนต่อวิสามัญวิทยาลัยการศึกษาการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา และการล่วงละเมิดทางเพศสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเอาผิดต่อผู้กระทำความรุนแรงทางเพศ

และในปัจจุบันได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับคำนิยามข้อกฎหมายและเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิด เพราะในปัจจุบันนิยามข้อกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ อีกทั้งยังมีข้อเสนอถึงวิธีการสอบปากคำ สมควรอนุญาตให้พนักงานสอบสวนหญิงมีส่วนร่วมในการสอบปากคำ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ควรทำงานอย่างจริงจังและเคร่งครัดเพื่อติดตามผลกระทบของผู้ถูกกระทำอย่างตรงไปตรงมา

“ความรุนแรงทางเพศนับว่าเป็นหนึ่งในความรุนแรงที่ดูถูก เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้วนเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ผลกระทบรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การบำบัด หรือผู้ถูกกระทำความรุนแรงถึงขั้นต้องนอนห้องฉุกเฉิน ในโรงพยาบาล อีกทั้งการเสนอนโยบายต่อรัฐบาลยังไม่เพียงพอ และดูเหมือนรัฐบาลเองกลับนิ่งดูดายกับความรุนแรงทางเพศเสียเหลือเกิน คงจะมีผลที่ดีกว่าหากเริ่มจากตัวเราเอง และขยายการรับรู้ถึงความรุนแรงอันแสบสัน เราจำเป็นต้องสนับสนุนให้เพื่อนพ้องที่ถูกละเมิดสิทธิทางเพศเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แม้ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายในเชิงปฏิบัติและความหวังยังดูห่างไกลก็ตาม หากหยิบยกกระบวนการทางสังคมมาต่อสู้ เพื่อให้ผู้กระทำความรุนแรงทางเพศเหล่านั้นได้รับบทลงโทษอย่างถูกต้องและเป็นธรรมอย่างที่สุด”

 

Author

ดวงนฤมล บุญแก้ววรรณ
นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยพะเยา สนใจและติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่บางครั้งก็แอบหนีเข้าป่า และดื่มชาร้อน

Photographer

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า