แค่เพราะคนชิดใกล้ ไม่ใช่ใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรง

เรามักจะเคยชิน กระทั่งเข้าใจว่าความรุนแรงต่างๆ มักเกิดขึ้นจากน้ำมือของคนไม่รู้จัก คนแปลกหน้า แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน ค่านิยมต่างๆ เปลี่ยน ผู้ที่เคยถูกกระทำ และอยู่แต่ในเงามืดของความหวาดกลัว ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโทษตัวเองมาโดยตลอด ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราว เราจึงได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วความรุนแรงส่วนใหญ่นั้น ล้วนเกิดขึ้นจาก ‘คนใกล้ชิด’ – คนที่เราเรียกว่าคนรัก คนที่เราเรียกว่าเพื่อน คนที่เราเรียกว่าครอบครัว…แทบทั้งสิ้น

กลุ่มสตรี T-Talk กลุ่มโรงน้ำชา และกลุ่ม S her ร่วมจัดงานเสวนาในวาระวันสากลแห่งการยุติความรุนแรงต่อสตรี วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ในหัวข้อ ‘คนใกล้ชิด ไม่ใช่ใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรง’ ภายใต้กรอบของการทำความเข้าใจร่วมกันต่อมิติความรุนแรงในปัจจุบันที่ไม่ได้จำกัดแค่ผู้หญิงอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

กระทั่งเพื่อเข้าใจเหตุผลเมื่อใครสักคนถูกกระทำรุนแรงแล้ว เหตุใดเขา/เธอกลับยังยอมทนอยู่ภายใต้ความรุนแรง

เข้าใจเพื่อจะไม่ตัดสิน

 

ภาพจำของความรุนแรง

การแสดงออกของคนคนหนึ่งต่อสาธารณชนไม่ว่าจะด้วยเครื่องมือแบบใดมักจะก่อให้เกิดภาพจำขึ้นในหมู่ผู้ที่ได้เสพผ่านเครื่องมือเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ภาพถ่าย บทความ หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์

เราจดจำความดีของคนคนหนึ่งจากอะไร?

เราจดจำการแสดงออกของคนคนหนึ่งจากเพียงแค่รสนิยมในการดื่มเบียร์หรืออย่างไร?

เราบ่งบอกว่าใครเศร้าไม่เศร้า แค่เพียงเขาไม่ร้องไห้ผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ ใช่ไหม?

เราตีตราว่าเพราะเธอแต่งตัวบ้างล่ะ ยั่วโมโหบ้างล่ะ จึงโดน…ใช่หรือไม่?

คำถามประดามีเหล่านี้มักจะตามมาในทุกๆ ครั้งที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างคนสองคน และมักจะมีผู้ที่ถูกตั้งคำถามอยู่ฝ่ายเดียวเสมอ แต่ในขณะเดียวกัน ภาพจำอีกแบบ คือ ความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมชนชั้นล่าง และมักจะเกิดกับผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย มากกว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

ออกมาสู่แสงไฟ

“มันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่สังคมไทยจะเข้าใจ มันเป็นเรื่องของทั้งวัฒนธรรม ทั้งศาสนา ที่ครอบสังคมไทยมานาน การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะออกมาพูดว่าตนเองถูกข่มขืนหรือถูกกระทำ เราแทบไม่เคยได้ยินในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้หลายคนเห็นว่าปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริงๆ แต่ก็เลือกที่จะไม่พูด” มูฮัมมัดมุนิน มูหนะ จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย บอกเล่าประสบการณ์เอาไว้ว่า ส่วนมากแล้วด้วยกรอบและวัฒนธรรมที่กดทับผู้หญิงไว้ จึงเป็นไปได้น้อยมากที่ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกระทำความรุนแรงแล้วจะออกมาพูดเรื่องราวของตนเองในสังคมที่ตนสังกัด ไม่ต้องพูดไปถึงเรื่องถูกข่มขืนด้วยซ้ำ

เพราะวิธีไกล่เกลี่ยเพื่อรักษาอะไรก็แล้วแต่ไว้ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ คือ ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจะถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่ข่มขืนเธอ ซึ่งในบั้นปลายอาจจะเลิกราหย่าร้างกันไปในที่สุด มิติต่อความเข้าใจของคนในสังคมนั้นจึงถูกจำกัดไว้แต่เพียงในกรอบของสามีภรรยา ไม่ใช่ผู้กระทำความรุนแรงและผู้ถูกกระทำรุนแรง

ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ เมื่อความรุนแรงยักย้ายมายังบุคคลใกล้ชิดที่เป็นญาติพี่น้อง เพื่อน คนรู้จักในหมู่บ้าน จึงยิ่งเป็นการยากมากขึ้นไปอีกที่ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะออกมาบอกเล่า ยังไม่ต้องนับไปถึงกลุ่ม LGBT ต่างๆ ที่ลำพังแค่การเป็น LGBT ก็ยากที่จะแสดงออกให้สังคมรับทราบแล้ว การที่กลุ่มคนเหล่านี้ถูกกระทำความรุนแรงจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เรื่องราวของเขาหรือเธอจะถูกรับรู้

ความรุนแรงผ่านกลไกอำนาจรัฐ

นลัทพร ไกรฤกษ์ นักข่าวและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ thisAble.me กล่าวว่า การที่ผู้ถูกกระทำจะตัดสินใจก้าวออกมาเพื่อพูดถึงประเด็นความรุนแรงต่างๆ ที่ตนถูกกระทำ ด่านแรกที่จะต้องเผชิญ คือ การถูกตีตราจากสังคมในขั้นแรกว่า เพราะพวกคุณทำตัวแบบนี้ไง แต่งตัวแบบนี้ไง พวกคุณถึงโดนแบบนี้

“ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะเผชิญความรุนแรงจากบุคคลในสังคมแล้ว ยังต้องเผชิญความรุนแรงจากคนในครอบครัวอีก ไม่ว่าจะเป็นการบังคับโกนหัว หรือการกักขังให้อยู่แต่ในบ้าน แล้วเราจะมีกลไกอย่างไร?”

คำถามของนลัทพร ถูกส่งต่อไปยัง มณี ขุนภัคดี มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ว่าจะมีกลไกใดบ้างที่จะช่วยเหลือ มีกลไกผ่านหน่วยงานไหนบ้างเพื่อรองรับ มีวิธีใดบ้างที่จะดึงพวกเขาให้กล้าออกมาพูดถึงความรุนแรงที่ตนเองเผชิญ

ในฐานะผู้ทำงานเรื่องความเสมอภาคมาโดยตลอด มณีกล่าวว่า กลไกในการช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐยังเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงหรือผู้ถูกกระทำต่างๆ ไม่อยากที่จะออกมาเรียกร้อง

“ทั้งๆ ที่ผู้หญิงถูกทุบตีแทบตาย หลักฐานก็มี ใบตรวจร่างกายก็มี ใบแจ้งความก็มี พอไปยื่นต่อศาล อยากจะยื่นฉุกเฉิน อยากได้รับการคุ้มครองฉุกเฉิน แต่การคุ้มครองนั้นอยู่ในดุลยพินิจของศาล”

มณียกตัวอย่างกรณีหนึ่ง คู่กรณีเป็นแพทย์ทั้งคู่ โดยกล่าวเสริมแทรกเพื่อตอกย้ำว่าความรุนแรงไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะในกลุ่มชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงานเท่านั้น กรณีของแพทย์นี้ ฝ่ายหญิงได้เลิกรากับฝ่ายชายโดยได้สิทธิ์เลี้ยงลูก แต่แล้ววันหนึ่งฝ่ายชายก็บุกมาที่บ้าน เกิดการโต้เถียง จนสุดท้ายนำไปสู่การทำร้ายจากฝ่ายชาย

“ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ มาคลี่คลาย แต่พอไปที่ศาล ศาลบอกเรื่องนี้ยังไม่ฉุกเฉิน จะฉุกเฉินก็ต่อเมื่อมีผลชันสูตรจากโรงพยาบาลแล้วรีบมาในวันนั้น แต่ถามว่าถ้าเกิดเหตุความรุนแรงในวันเสาร์อาทิตย์ มีใบแจ้งความ มีใบตรวจร่างกายว่าถูกทำร้าย แต่ที่ศาลวันเสาร์อาทิตย์ไม่มีเจ้าหน้าที่ อันนี้ก็คืออุปสรรค”

อีกประเด็นหนึ่งที่มณีได้ประสบมา คือ กรณีของความรุนแรงที่ผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้ได้พบลูกผ่านคำสั่งที่อนุญาตให้เธอสามารถพบลูกได้ แต่ต้องไม่ใช่ที่บ้านสามี (ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องกีดกันแต่แรก) และไม่ระบุว่าเป็นที่ใด เช่นนี้แล้ว ผู้หญิงจึงจำต้องหาสถานที่เพื่อพบลูกเอง ไม่ว่าจะเป็นตามโรงแรม บ้านพัก หรือมาที่มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

มณีมองเรื่องนี้ว่าเป็นความรุนแรงในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การทุบตี หรือทำร้ายร่างกาย แต่เป็นความรุนแรงในเชิงอำนาจการจัดการของรัฐที่กีดกันผู้คน และไม่เพียงแต่ในเรื่องของการจัดการเท่านั้น รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีชุดมายาคติที่มักจะตีตราผู้หญิงก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็น “ไปกับเขาทำไมล่ะ?” “ภาพจากกล้องวงจรปิดเห็นว่าคุณเดินตามเขาไปเอง” “คุณขึ้นรถไปกับเขาเอง” ฯลฯ

“อันนี้เป็นสาเหตุให้ผู้ถูกกระทำถูกตีตราซ้ำอีกครั้งว่า ตัวเขาเองที่เป็นต้นเหตุของความเสี่ยง เพราะไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจนเกิดความรุนแรง”

 

 

ความรุนแรงในนามของความรัก

“หลังจากครั้งแรกที่มันเกิดขึ้น เราก็คิดว่าไม่เอาแล้ว ไม่ทนแล้ว ครั้งนั้นเป็นแผลเยอะมาก เป็นครั้งที่มีแผลเยอะสุด ตรงปาก ตรงนี้ๆๆ เราก็ถ่ายรูปไว้เลย อย่างน้อยเพื่อนต้องรู้ เพื่อนเรา เพื่อนเขา โลกรอบๆ ตัวเราต้องรู้ พอถ่ายรูปเสร็จแล้วก็โพสท์ลงเฟซบุ๊คพร้อมแคปชันภาษาอังกฤษประมาณว่า ‘ไม่ทนอีกแล้ว’ คือเราไม่ได้มีแต่คนชอบ ทุกคนมีทั้งคนรักและคนเกลียด เขาก็เหมือนกัน พอหลังจากเราพูดออกไปปุ๊บ ก็มีคนเข้ามาต่อว่าเลย ว่าแล้วต้องโดน สมน้ำหน้า โง่ ไม่รู้เหรอว่าคนนี้เขาทำมาหลายคน อะไรอย่างนี้ แล้วจู่ๆ เราก็เกิดเป็นห่วงเขาขึ้นมา ว่าเดี๋ยวเขาจะมีปัญหา เราหยุดดีกว่า เลยตัดสินใจซ่อนข้อความนั้นแบบ ‘only me’ ไปเลย ให้เห็นเฉพาะเราคนเดียว กลายเป็นว่า นี่เราทำอะไรลงไปวะ เรากลับรู้สึกผิดที่ทำแบบนั้น”

ในฐานะผู้เคยผ่านพ้นประสบการณ์ความรุนแรง ‘ลูกแก้ว’ – โชติรส นาคสุทธิ์ สื่อมวลชน นักเขียน และคอลัมนิสต์ เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ตลอด 7-8 เดือนแรกของความสัมพันธ์ หลังจากการออกมาบอกเล่าถึงความรุนแรงที่ได้เผชิญนั้น เธอก็เลือกที่จะไม่บอกเล่าตลอดสองปีต่อมา ทั้งด้วยความรู้สึกผิด ทั้งด้วยความรู้สึกว่าตนเองโง่เขลา (เหมือนที่บางคนพูดว่า ไม่รู้หรือไงเขาทำแบบนี้กับหลายคนมาแล้ว) กระทั่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด ด้วยความรู้สึก ‘รัก’

ตลอดสองปีที่ลูกแก้วอยู่กับการถูกกระทำรุนแรง อยู่กับความรู้สึกว่าหรือเป็นเราเองที่ไม่ดี เป็นเราเองที่ผิด เธอเคยคิดกระทั่งว่า หรือเพราะไปโต้เถียงเขา เธอจึงเลือกที่จะเงียบ แต่ผลของความเงียบกลับทำให้ถูกกระทำรุนแรงยิ่งกว่าเดิม หนักกว่าเดิม แต่เธอก็บอกตัวเองว่าเธอจะไม่บอกใครอีกแล้ว ถ้าจะต้องบอกว่าเลิกกับผู้ชายคนนี้ เธอจะบอกในเหตุผลอื่น จนกระทั่งความรุนแรงวนกลับมาอีกครั้ง มาถึงจุดที่เธอได้บอกตัวเองว่า “เรารักเขา และเขาก็รักเรา แต่ถ้าเขายังทำร้ายเราต่อไป เราก็ควรเลือกรักตัวเองมากกว่านี้ ก็เลยเลิกกัน เลิกกันเงียบๆ ไม่มีอะไร แต่เราก็คิดว่าเราอยากพูดเรื่องนี้ เราเชื่อว่าควรออกมาพูดเรื่องนี้”

ความซับซ้อนของความรุนแรง

หลังจากรออยู่ 3-4 เดือน รอให้ความรู้สึกต่างๆ สงบลง จนทบทวนตัวเองถึงเหตุผลในการตัดสินใจออกมาพูด ในที่สุดโชติรสก็เลือกที่จะพูดผ่านเพจมนุษย์กรุงเทพฯ เพจที่นำผู้คนธรรมดามาบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง และถึงแม้จะเตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องถูกสังคมรุมกระหน่ำแน่ๆ ทั้งโดยคนที่รู้จักและไม่รู้จัก หรือคนที่สนิทและรักในตัวฝ่ายชาย ซึ่งเป็นคนที่น่ารักในแง่อื่น ในมิติอื่นที่โชติรสเองก็ไม่ปฏิเสธว่าอดีตคนรักเป็นคนที่ดี กระทั่งไปถึงคำพูดในเชิงดูหมิ่นว่าเธอโง่ หรือคำพูดในเชิงตัดสินว่า ทำไมถึงไม่ออกมาจากความสัมพันธ์ที่รุนแรงแบบนั้น ทำไมยังทนอยู่?

“จริงๆ มันก็ถามได้แหละ แต่ว่ามันมีความซับซ้อนหลายๆ อย่างที่ทำให้เรายังทนอยู่ แต่ที่คุณถามว่าทำไมๆ น่ะ ไม่ใช่คำถามแล้ว มันคือการตีตรา คุณตัดสินไปแล้ว คุณมีคำตอบไปแล้วมากกว่าที่คุณจะถามเรา เราก็เลยปิดเฟซบุ๊คไปช่วงนั้น เราไม่อยากอ่านเลย สุดท้าย ถามว่าคนตื่นตัวกัน แล้วทุกคนก็ลืมอยู่ดีว่าเรื่องมันคืออะไร คนที่เขากระทำ เขาก็ยังมีชีวิตปกติ แต่ถามว่าเราอยากดำเนินคดีกับเขาไหม เราไม่รู้หรอกว่าถูกไม่ถูก แต่ถ้าให้เลือกตอนนี้เราไม่อยากดำเนินคดีกับเขา”

 

จากตอนนั้นถึงตอนนี้

จากครั้งแรกเมื่อสามปีก่อนที่โชติรสตัดสินใจซ่อนสเตตัสที่เล่าภาพตนเองถูกกระทำ พร้อมด้วยแคปชัน ‘ไม่ทนอีกแล้ว’ แต่เธอก็ยังคงทนต่อไป เมื่อความรุนแรงผ่านพ้นไป จนถึงที่สุดที่เธอต้องหันกลับมารักตัวเองแล้วนั้น โชติรสบอกว่า เธอรู้และตระหนักดีว่าการออกมาพูดในวันเวลาปัจจุบัน จะต้องถูกตั้งคำถามอีกครั้ง จะถูกตำหนิอีกครั้ง แต่จุดประสงค์ของเธอไม่ใช่เพราะการเลิกรากันอย่างที่มีคนตั้งคำถาม จุดประสงค์ที่แท้จริงของเธอคือ ต้องการบอกให้สังคมรับรู้ว่ามีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นอยู่จริง จากคนที่ใกล้ตัวคุณ คนที่ใครๆ ก็มองว่าเขาเป็นคนดี และไม่ได้มีเพียงแค่ทำไมถึงต้องทน ทำไมยอมให้เขากระทำซ้ำๆ อยู่ได้เป็นปีๆ ทำไมถึงไม่ออกมาพูดตั้งแต่แรกๆ

“เพราะฉะนั้น เราเลยยอมรับที่จะโดนด่าว่าโง่ แต่เราคิดว่าเราต้องออกมาพูด ออกมาพูดให้สังคมตระหนักว่า มันมีสิ่งนี้อยู่ มันมีอยู่ใกล้ๆ ตัวคุณ มันมีอยู่แม้แต่กับคนที่คุณคิดว่าเขาไม่ทำ หรือมันมีอยู่แม้แต่กับคนที่คุณคิดว่าถ้าคนคนนี้โดน ผู้หญิงคนนี้จะต้องกล้าหาญที่จะออกมาแน่เลย แต่ไม่ มันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เราอยากบอกทุกคนว่า ปัญหานี้มันซับซ้อน มันใกล้ตัว และมันก็มีอยู่จริง เพราะฉะนั้น เราจะโดนด่าว่าอย่างไร เราก็แค่อยากออกมาพูดให้สังคมได้ยิน และสังคมก็ได้ยินแล้วเท่านั้นค่ะ”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า