ความรุนแรงทางเพศ: เรื่องส่วนตัวหรือสาธารณะ?

คำเตือน: มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ

หลายครั้งความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด มีเหตุการณ์น่าสลดใจเกิดขึ้นอย่างพ่อข่มขืนลูก ครูคุกคามทางเพศนักเรียน เจ้านายลวนลามลูกน้องในสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงทางเพศที่เกิดจากความไม่ลงรอยของคู่นอนหรือคู่สมรส เช่น การโน้มน้าวหรือบังคับอีกฝ่ายให้ทำสิ่งที่เขา/เธอไม่ต้องการเพื่อสำเร็จความใคร่ ฯลฯ

เมื่อความรุนแรงทางเพศมีอีกหลายมิติที่คนยังไม่เข้าใจ นำมาสู่การไม่เคารพหรือให้เกียรติกัน อัตราผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิทางเพศจึงเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี งานเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘ความยินยอม ภาษากายและคำพูด แค่ไหน ยังไง เท่าไหร่ ถึงจะเป็นความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) บทลงโทษทางกฎหมายและทางสังคม ต่อผู้ก่อความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งวิธีรับมือกับความรุนแรงทางเพศ’ จัดโดย NitiHub กลุ่มนักกฎหมายจากหลายสถาบัน จึงจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมทางเพศ โดยมีผู้ร่วมพูดคุย ได้แก่ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ดาราณี ทองศิริ ผู้อำนวยการหลักสูตร School of Feminists มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย พริม มณีโชติ

สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศในปัจจุบัน 

เริ่มต้นที่ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิได้บันทึกสถิติผู้ร้องเรียนเรื่องความรุนแรงทางเพศอย่างต่อเนื่อง โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราของผู้ถูกกระทำทางเพศมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี อันดับแรกคือเยาวชนอายุ 11-20 ปี อันดับสองคือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี อันดับสามเป็นกลุ่มคนอายุ 21 ปีขึ้นไป มิติของผู้ถูกกระทำไม่ได้มีแค่ผู้หญิง ปัจจุบันมีผู้ชายถูกกระทำมากขึ้น และกลุ่ม LGBTQ+ ก็ถูกละเมิดทางเพศเป็นจำนวนมากกว่าเดิม เมื่อดูจากผู้กระทำพบว่า เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ตัวเหยื่อ เช่น พ่อเลี้ยง ญาติผู้ใหญ่ บุคลากรในโรงเรียน หรือในสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ยังพบมากในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ขนส่งต่างๆ 

มองความรุนแรงทางเพศในมุมกฎหมาย

ทางด้าน มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อธิบายการจัดระดับของความรุนแรงทางเพศไว้ 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรกคือเหยื่อไม่มีความยินยอม (no consent) ได้แก่ การข่มขืน (rape) อนาจาร (indecent) การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) และกลุ่มที่สองคือ กลุ่มก้ำกึ่งไม่สามารถเรียกว่ายินยอมได้เต็มปาก เช่น การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (sexual exploitation) และการแสวงหาประโยชน์ด้วยการบีบบังคับ (sexual abuse) 

เมื่อหันกลับมามองกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำทางเพศ ในประเทศไทยมีบทลงโทษผู้ที่กระทำแค่ 2 ประเภทคือ การข่มขืนและอนาจาร ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงนิยามการข่มขืนไปถึงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงการตีความทางกฎหมาย ส่วนเรื่องอนาจารยังมีจุดบกพร่องคือ ความกว้างของตัวกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสามารถใช้กับกรณีไหนได้บ้าง ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศมีปรากฏอยู่แค่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และไม่ได้จัดเป็นกฎหมายอาญา แต่เป็นเพียงการลงโทษทางวินัย ดังนั้นการลงโทษจึงไต่ไม่ถึงระดับถูกไล่ออก เป็นแค่การพักงานชั่วคราว ก่อให้เกิดการกระทำผิดซ้ำได้อีก 

ศาลฎีกาเคยมีคำตัดสินคุ้มครองขั้นเด็ดขาดกรณีของเยาวชนที่ถูกหลอกไปเลี้ยงดู หลอกไปร่วมประเวณี แม้ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ถือว่ามีความผิด ขณะเดียวกันพื้นที่สีเทาที่กฎหมายไปไม่ถึงคือ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศที่ยังไม่เคยถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจน หากแต่พบผู้ถูกกระทำมากขึ้น 

“เมื่อมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่ใช่การข่มขืน โดยอีกฝ่ายอ้างว่า เธอยอมฉัน ซึ่งในทางกฎหมายอาญาเขียนไว้ชัดเจนว่า คนที่จะให้ความยินยอมได้ต้องเป็นคนที่มีวุฒิภาวะหรือบรรลุนิติภาวะ แต่การให้ความยินยอมจะต้องเข้าใจในสาระสำคัญว่า เขาต้องยินยอมตั้งแต่เริ่มตกลง และยินยอมจนไปถึงกระทั่งระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ความยินยอมนั้นต้องไม่ขัดกับศีลธรรมอันดี ซึ่งแท้จริงแล้ว เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องของศีลธรรม แต่เป็นเรื่องของเสรีภาพ บางครั้งผู้กระทำอ้างว่าการเอาของบางอย่างสอดใส่เข้าไปถือเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง แต่ความจริงนั้นมันไม่ใช่” 

เช่นเดียวกัน การไม่เข้าใจ การรู้ข้อเท็จจริงไม่หมด ก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางเพศในเวลาต่อมา มาตาลักษณ์ยกกรณีตัวอย่างต่างประเทศ การมีความสัมพันธ์แบบคู่นอนคืนเดียว (one night stand) คือ ความสัมพันธ์แบบยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่ายกับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน หรืออาจรู้จักกันในช่วงสั้นๆ หรืออย่างความสัมพันธ์ทางกายของคนที่เป็นเพื่อนกัน (friends with benefits) สองอย่างนี้หากเป็นการตกลง พูดคุยร่วมกัน ยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย เป็นความสุขที่ยินดีพร้อมจะแบ่งปันร่วมกันก็จะไม่มีปัญหาอะไร ทว่าเมื่อไหร่ที่เกิดการบีบบังคับขึ้น เช่น การพูดคุยกันไม่เข้าใจ หรือการคิดไปเองว่าทำแบบนี้แล้วอีกฝ่ายจะรู้สึกดีด้วย แบบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย 

ทั้งนี้ มุมมองกฎหมายต่างประเทศค่อนข้างชัดเจน เสรีภาพในเรื่องเพศคือ สิทธิในร่างกายของบุคคล แม้กระทั่งการเป็นคู่สมรสก็ต้องทำความเข้าใจและตกลงกันให้ชัดเจน ทั้งเรื่องเวลา สถานที่ โอกาส หรือวิธีการ ซึ่งประเทศไทยมีการต่อสู้ทางกฎหมายมาอย่างยาวนาน ในทางทฤษฎีผู้ที่เป็นภรรยาสามารถฟ้องร้องหรือเอาผิดกับสามีได้หากเกิดความรุนแรงทางเพศ แต่ในทางปฏิบัติยังมีความไม่เข้าใจเกิดขึ้น แม้กระทั่งภรรยาก็ไม่เข้าใจสิทธิของตนเอง ภรรยาหลายคนที่ถูกสามีบังคับขืนใจยังคงก้มหน้าก้มตาอดทน ทั้งที่จริงแล้วในกฎหมายเขียนชัดเจนว่าสามารถเอาผิดกับสามีได้ 

“ประเทศไทยมีความเชื่อที่สะท้อนความคิดหลากหลายรูปแบบ วัฒนธรรมเชิงอำนาจบางอย่างส่งผลกระทบด้านลบกับภรรยาที่ออกมาร้องเรียนหรือเอาผิดกับสามี สิ่งนี้จะทำให้เหยื่อหวาดกลัว ดังนั้นหากแก้ที่ตัวกฎหมายแล้วก็ต้องแก้ค่านิยมผิดๆ ที่ปลูกฝังกันมาช้านานด้วย” มาตาลักษณ์กล่าว

แค่ไหนถึงเรียกว่าความรุนแรงทางเพศ

แม้ว่าตัวกฎหมายจะระบุชัดเจนเกี่ยวกับประเภทของความรุนแรงทางเพศ แต่ในมุมมองของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่าง ดาราณี ทองศิริ ผู้อำนวยการหลักสูตร School of Feminists ซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อ และเป็นคนที่ใกล้ชิดกับเหยื่อ ได้อธิบายเพิ่มเติมบริบทของสถานการณ์และอุปสรรคในการเข้าถึงกฎหมายไว้ว่า 

“เรามักจะดูแค่สิ่งที่จับต้องได้ เช่น ความรุนแรงทางกายภาพ เห็นเลือด เห็นร่องรอยของการทำร้าย การถูกแอบถ่าย ซึ่งความรุนแรงทางเพศยังมีรายละเอียดอีกมาก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การข่มขืนหรือการทำกระทำชำเรา มีหลายเคสที่สังคมไม่ถือเป็นความรุนแรง มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่สองฝ่ายต้องไปจัดการเอง โดยเฉพาะปัญหาในความสัมพันธ์อย่างคู่รัก คู่สมรส หลายคนมักมองว่าเป็นคนรักกันจะเกิดการข่มขืนขึ้นได้อย่างไรในเมื่อยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ แต่จริงๆ แล้วการบีบบังคับ การโน้มน้าว หรือการยกข้ออ้างมาทำให้เกิดการยินยอมทางเพศ ก็ถือว่าเป็นการละเมิด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายทำทุกอย่างเพื่อถอดถุงยางออกขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งตอนแรกมีการตกลงว่าจะใส่ถุงยาง แต่มาแอบถอดหรือโน้มน้าวให้ถอดภายหลัง อย่างนี้ถือว่าเป็นความผิด เพราะอาจจะทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ และอีกกรณีคือ บางคนไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์ในช่องทางอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันเอาไว้ อย่างทวารหนัก แต่เกิดการบีบบังคับ กรณีนี้ก็คือความรุนแรงทางเพศรูปแบบหนึ่ง” 

ดาราณีย้ำว่า สองกรณีที่ยกตัวอย่างไม่ใช่เรื่องน่าตลกขบขัน และไม่ใช่เรื่องที่สามารถปล่อยผ่านได้ เพราะผู้ถูกกระทำไม่ได้ยินยอม ผลกระทบที่ตามมาคือ สภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำจะย่ำแย่ และยังกระทบถึงสภาพทางด้านร่างกาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

“ความรุนแรงทางเพศอีกอย่างหนึ่งคือ การจงใจบิดเบือนหรือปกปิดข้อมูล หากใครคนใดคนหนึ่งมีเชื้อ HIV ในร่างกายและไม่พูดความจริงกับคู่นอน เมื่อคู่นอนมารู้ทีหลังโดยไม่ได้ยินยอมที่จะมีอะไรด้วยก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางเพศเช่นเดียวกัน

“เมื่อสังคมไม่มีความเข้าใจว่าอะไรคือความรุนแรงทางเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเยียวยา การขอความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็จะมีปัญหาตามมา อย่างประเทศอินเดียมีกฎหมายว่าการแซวผู้หญิงตามท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นความผิด การบังคับการแต่งงานกับเด็กก็มีความผิด แต่ประเทศไทยไม่มี ส่งผลให้ผู้ที่กระทำความผิดอาศัยช่องว่างระหว่างกฎหมายเพื่อทำให้ตนเองหลุดพ้นจากความผิด สิ่งที่ตามมาคือ เหยื่อหลายๆ คนไม่กล้าเรียกร้องความยุติธรรม” 

การให้กำลังใจผู้กระทำความผิด เท่ากับสนับสนุนความรุนแรงทางเพศ?

กรณีผู้กระทำผิดออกมาขอโทษและอธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านสื่อโซเชียลหรือช่องทางต่างๆ แต่มีคอมเมนต์เชิงให้กำลังใจ บอกว่าสิ่งที่เขาทำคือการยอมรับผิดแบบลูกผู้ชาย คอมเมนต์ให้กำลังใจเหล่านี้คือการลดทอนความรุนแรงหรือเปล่า ⎯ พริมชวนตั้งคำถาม 

จะเด็จให้ทัศนะเรื่องนี้ไว้ว่า การให้กำลังใจผู้ที่กระทำความผิดคือการสนับสนุนความรุนแรงทางเพศรูปแบบหนึ่ง เพราะปัจจุบันประเทศไทยถูกปลูกฝังเรื่องเพศอย่างระบบปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ มีหลายคนที่ยังมีความคิดแบบนี้อยู่ ยกตัวอย่างกรณีอาจารย์ผู้ชายในสถานศึกษา แม้กระทำความผิดแล้ว แต่ด้วยอำนาจเชิงโครงสร้างปิตาธิปไตย ส่งผลให้อาจารย์คนอื่นๆ เข้าไปให้กำลังใจหรือสนับสนุน ทำให้เกิดการช่วยเหลือกันและไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่กระทำได้ 

“สิ่งเหล่านี้ ยิ่งคุณไปให้กำลังใจ คนที่เขาทำผิดก็ไม่ได้รู้สึกผิด สังคมไทยเป็นระบบของพวกพ้อง เกิดการไกล่เกลี่ย ยัดเงินใส่มือให้ก็จบ เราเห็นครูถูกย้ายไปอีกโรงเรียน แต่ก็ยังทำเหมือนเดิม เพราะเกิดการช่วยเหลือกันระหว่างพรรคพวก ครูหลายคนใช้คำที่รุนแรงเพื่อเหยียดและตำหนิเด็ก ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหลายคนต้องฝ่าด่านความยากเย็นออกมา เด็กบางคนเห็นว่าครูไม่ได้รับบทลงโทษอะไรก็ทำให้เขายิ่งกลัวที่จะเผยความจริง” จะเด็จอธิบาย 

ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นผู้ก่อความรุนแรงทางเพศ และจะรับมืออย่างไร

มาตาลักษณ์ชี้ว่า การอยู่ร่วมกับคนในสังคมไม่ว่าเพศไหนๆ จะต้องมีความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน หากจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับใครสักคนจะต้องทำความเข้าใจและพูดคุยตกลงกันอย่างชัดเจนเรื่องความยินยอม หากกระบวนการทุกอย่างเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเข้าใจตรงกันก็จะไม่เกิดการละเมิดเสรีภาพทางเพศตามมา 

เช่นเดียวกันกับดาราณีที่กล่าวว่า “ถ้าเราไม่อยากเป็นผู้กระทำความรุนแรง เราต้องทำความเข้าใจ ปัจจุบันมีเครื่องมือและข้อมูลเต็มไปหมด อยู่ที่ว่าเราอยากจะทำความเข้าใจมันหรือเปล่า หรือเราสามารถเข้าถึงได้หรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับปัจเจกและโครงสร้างทางสังคม เริ่มที่เรื่องง่ายๆ อย่างที่บ้าน เช่น พ่อแม่มี consent ในการเลี้ยงลูก ไม่นำลูกไปให้คนอื่นหอมแก้มหรือแตะต้องร่างกายได้ง่ายๆ พ่อแม่ต้องเคารพสิทธิทางร่างกายของลูกในส่วนตรงนี้ด้วย 

“การรับมือความรุนแรงทางเพศ สิ่งแรกคือบอกคนใกล้ตัวที่ไว้ใจและสามารถให้คำปรึกษาเราได้ ทนายความหญิงคนหนึ่งเคยแนะนำว่าให้แจ้งความ ตรวจร่างกาย เก็บหลักฐานต่างๆ หลังเข้าสู่กระบวนการกฎหมายก็ต้องกลับมามองสภาพจิตใจของตนเอง หากมีจิตใจที่ย่ำแย่ก็ต้องพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหรือสายด่วนต่างๆ เพื่อเยียวยาให้เรารู้สึกดีขึ้น” ดาราณีเผย

ปัจจุบันมีหลายคนเลือกใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเอง มาตาลักษณ์ชี้ให้เห็นว่า เป็นเพราะกระบวนการของกฎหมายไม่เข้มแข็ง และบางครั้งผู้ที่ถูกกระทำก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงเลือกใช้ช่องทางอื่นเพื่อรักษาสิทธิตนเอง ขณะเดียวกันช่องทางออนไลน์ก็เป็นดาบสองคม

“หลายคนออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเองเพื่อเกิดความแฟร์ แต่สื่อเป็นพื้นที่ที่อันตรายมากๆ ผู้ถูกกระทำต้องเข้าสู่กระบวนการที่ไม่ใช่ช่องทางปกติ เกิดการกระทำซ้ำในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ผลกระทบที่ตามมาอาจจะรุนแรงกว่าเดิม หรืออาจถูกผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้เหยื่อรู้สึกแย่กว่าเดิม” 

มาตาลักษณ์ทิ้งท้ายว่า ในแง่ของกระบวนการยุติธรรม ประเทศไทยต้องพัฒนาและเล็งเห็นความสำคัญถึงปัญหาเรื่องเพศให้มากขึ้น สร้างมาตรฐานที่ชัดเจน สร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม เพื่อลดปัญหาความรุนแรงทางเพศที่จะตามมา 

กัญญาภัค ทิศศรี
เรียนสื่อสารมวลชน โทข่าวและสารคดี ชอบฟังดนตรีสด สนใจสะสมโมเดลจากอนิเมะ

แพรพรรณ หรรษา
นักศึกษาสื่อสารมวลชน ศิลปากร ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ใส่ใจคนรอบข้าง ชอบมองท้องฟ้า ดอกไม้ต้นไม้ แต่ปลูกเองไม่ได้เพราะตายทุกต้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า