ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง: ‘เอดูอารด์ หลุยส์’ เหยื่อคดีข่มขืนและพยายามฆ่าโดย ‘ประวัติศาสตร์’

หากพิจารณาชื่อเรื่อง… ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง (L’Histoire de la Violence) เราอาจเผลอเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้คงไม่ต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนาที่เต็มไปด้วยชุดความรู้และข้อมูลเชิงวิชาการ แต่แท้ที่จริงแล้วหนังสือเล่มนี้คือผลงานวรรณกรรมแนวอัตชีวประวัติเล่มที่สองของนักเขียนฝรั่งเศสรุ่นใหม่ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ และเป็นที่จับตามองมากในขณะนี้… ‘เอดูอารด์ หลุยส์’ (Édouard Louis) 

ในหนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง … เอดูอารด์บอกเล่าความรุนแรงที่ตนประสบ เขาเคยถูกข่มขืนและพยายามฆ่าโดยชายหนุ่มแปลกหน้าตาที่พบกันในคืนวันคริสต์มาส ปี 2012 แต่แล้วทำไมเหตุรุนแรงครั้งนี้จึงมีจุดเชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์ในมุมมองของเอดูอารด์

เรื่องย่อ

ขณะที่เอดูอารด์เดินทางกลับจากงานเลี้ยงฉลองคืนวันคริสต์มาส เขาพบ ‘เรดา’ ที่จัตุรัสสาธารณรัฐ (Place de la République) กรุงปารีส เรดาพยายามตามจีบเอดูอารด์และขอไปนอนด้วย เอดูอารด์ลังเลอยู่นานแต่ก็ไม่อาจต้านทานรูปลักษณ์ คารม และจังหวะจะโคนในบทสนทนาที่ดึงดูดของเรดาได้

มิใช่ความโรแมนติกหรือฉากร้อนรักแต่เพียงเท่านั้นที่เกิดขึ้นในค่ำคืนนั้น แต่เขาทั้งคู่ยังแสดงออกซึ่งความเข้าอกเข้าใจผ่านบทสนทนาถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ในชีวิตของกันและกันในฐานะผู้ประสบภัยจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางสังคม ความสัมพันธ์ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย เขาทั้งคู่พูดคุยกันถึงนัดหมายครั้งถัดไป แต่ทว่า…

โทรศัพท์และแท็บเล็ตของเอดูอารด์หายไปหลังจากที่เขาออกมาจากห้องน้ำ เขาเหลือบไปเห็นมันโผล่ออกมาจากกระเป๋าของเรดา เขาจึงพอจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

เอดูอารด์พยายามคิดหาทางออกให้ละมุนละม่อมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้และคำนึงถึงความรุนแรงที่อาจปะทุขึ้นจากความรู้สึกอับอายของเรดาที่ถูกจับได้ว่าเป็นขโมย

ในช่วงแรก เอดูอารด์แสร้งทำเป็นไม่รู้ว่าเรดาขโมยทรัพย์สินของเขาไปและแกล้งขอให้เรดาช่วยหา โดยเอดูอารด์สร้างกติกาที่ว่าหากใครพบของก่อน คนนั้นจะได้รับเงินไป เอดูอารด์ตั้งใจเปิดช่องให้เรดาแสร้งทำเป็นหาของเจอเพื่อจะคืนของให้แก่เขาและรับเงินไปแทนที่จะต้องเอาของไปขาย… แต่ก็ไม่สำเร็จ

จนในที่สุดเอดูอารด์ตัดสินใจเดินไปหยิบแท็บเล็ตจากกระเป๋าคืนต่อหน้าต่อตาเรดาโดยคาดหวังว่าเรดาจะแสร้งทำเป็นหัวเราะและอ้างว่าเป็นการหยอกล้อเล่น แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เรดาโมโหจนเสียสติ เขาข่มขืนเอดูอารด์และใช้ผ้าพันคอรัดจนแทบจะหายใจไม่ออกก่อนที่จะหลบหนีไป

ต่อมา… เอดูอารด์ตัดสินใจดำเนินคดีและเข้ารับการรักษาตัวหลังจากที่ลังเลใจอยู่นานเพราะรู้ว่าตัวเองต้องเผชิญกับความรุนแรงผ่านกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติจากหน่วยงานรัฐ แบบไม่จบไม่สิ้น

เอดูอารด์ได้เขียนเรื่องราวทั้งหมดที่เขาเผชิญลงในหนังสือเล่มนี้… พลังของการเขียนทำให้เขามองเห็นมิติของความรุนแรงที่ทั้งลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าเหตุแห่งปัจเจกบุคคล แต่หากเป็นเหตุผลเชิงสังคมที่ดำรงอยู่ผ่านประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้น…

เรดาไม่ได้ฆ่า… แล้วใครฆ่า: คำถามจากเหยื่อถึงความเป็นเหยื่อ

เอดูอารด์เคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาเองก็ข้องใจอยู่เหมือนกันว่าเหตุใดสถานการณ์ถึงพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างรวดเร็ว 

เขายืนยันว่าเขาไม่รู้สึกถึงเมล็ดพันธุ์แห่งอาชญากรรมในพฤติกรรมหรือคำพูดของเรดาเลยแม้แต่น้อย ตลอดช่วงข้ามคืนที่เขาทั้งคู่ทำความรู้จักและร่วมรักกัน 

ในเหตุรุนแรงครั้งนี้… นอกเหนือจากการข่มขืนและพยายามฆ่า ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘คำพูด’ ของเรดาหลังจากที่เขาถูกจับได้ว่าเป็นขโมย 

“นายหาว่าฉันเป็นขโมย ฉันไม่ได้ขโมย นายพูดแบบนี้เท่ากับว่านายตำหนิแม่ของฉัน นายไม่เคารพแม่ของฉัน” 

อีกทั้งเรดายังย้ำประโยคที่ว่า “นายตำหนิแม่ของฉัน” หลายต่อหลายครั้ง 

การที่เรดาเชื่อมโยงสถานภาพความเป็นหัวขโมยกับ ‘บรรพสตรี’ ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีถือเป็นพฤติกรรมที่มีนัยสำคัญ อันที่จริงเราอาจจะสรุปแบบตื้นเขินว่าเรดาพยายามเบี่ยงประเด็นเพื่อกลบเกลื่อนความผิดของตัวเอง แต่ปมของปัญหาไม่ได้เรียบง่ายเช่นนั้นเพราะความเชื่อมโยงระหว่างสถานภาพความเป็นหัวขโมยกับบรรพสตรีนั้นกลับมีที่มาที่ไปซึ่งสอดคล้องกับอคติทางสังคมที่ชาวอาหรับ (ชาติพันธุ์ของเรดา) ต้องเผชิญในสังคมฝรั่งเศส

เจ้าหน้าที่ตำรวจ: “เหตุขโมยข้าวของมักจะเกิดจากพวกคนต่างชาติ ส่วนมากก็เป็นพวกอาหรับ” 

และ 

ชาวบ้าน (…) คงจะพูดคุยกันว่า “มัน (เอดูอารด์)โดนฆ่าตายแล้ว และไอ้คนฆ่าก็เป็นคนอาหรับที่บีบคอมัน ไอ้เวรอาหรับนั่นบีบคอมันตาย”  แนวโน้มของเหตุการณ์ประมาณนี้มักจะถูกกล่าวโทษว่าเป็นคนอาหรับไว้ก่อนเสมอ (…)

ผู้อ่านจึงไม่ควรจะสรุปเหตุแห่งอาชญากรรมและความบ้าคลั่งของเรดาที่เกิดขึ้นนั้นว่าเป็นเพียงความเลวทรามและความไร้เหตุผลของปัจเจกบุคคล เพราะมากหรือน้อยก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุแห่งความรุนแรงครั้งนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทางสังคม และคำพูดของเรดาที่ว่า “นายตำหนิแม่ของฉัน” ได้ทำการเปิดโปงอคติทางสังคมนั้นซึ่งถูกบ่มเพาะผ่าน ‘ประวัติศาสตร์’ ที่ทั้งตัวเขา แม่ของเขา และคนชาติพันธุ์อาหรับต้องเผชิญเสมอมา 

อย่างไรก็ตาม การตีความเช่นนี้ก็ดูมีแนวโน้มที่อาจจะด้อยค่าศรัทธาต่อความเป็นมนุษย์และปัจเจกบุคคลที่ยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ เกินไปสักหน่อย 

หรือเป็นไปได้ไหมที่จะอธิบายว่าเรดาฉกฉวยอคติทางชาติพันธุ์มาใช้กลบเกลื่อนความอับอายและสร้างความชอบธรรมให้ตัวเขาสามารถกระทำรุนแรงต่อเอดูอารด์ 

แต่ถึงกระนั้น หากไม่มีเหตุปัจจัยเรื่องของอคติทางสังคม เรดาจะยังสามารถมีข้ออ้างที่นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้หรือไม่ หรือคิดไปให้ไกลกว่านั้น หากเรดามีเงื่อนไขแห่งการมีชีวิตที่ไม่ได้ลำบากยากแค้น ไม่ถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคม มีโอกาสในชีวิตอย่างเสมอหน้ากับพลเมืองอื่นๆ เขายังจะสามารถก่อเหตุรุนแรงเช่นนี้อยู่หรือไม่

และเช่นเดียวกัน… เราไม่ควรสรุปเหตุการณ์ครั้งนี้แบบผิวเผินว่าเรดาคืออาชญากรและเอดูอารด์คือเหยื่อ เพราะเมื่อได้ถกให้ถึงที่สุดแล้ว เรดาเองก็อยู่ในสถานะของเหยื่อแห่งความรุนแรงด้วยเช่นกัน ต่างเพียงตำแหน่งแห่งที่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางอาชญากรรมที่จัดสรรให้เรดาเป็นผู้กระทำและเอดูอารด์เป็นผู้ถูกกระทำ 

เอดูอารด์ หลุยส์ (Édouard Louis) 

ด้วยเหตุนี้เอง เอดูอารด์จึงทบทวนข้อหาที่เขาฟ้องเรดาอีกครั้ง

คดีจบลงในปี 2017 เอดูอารด์ตัดสินใจถอนฟ้องข้อหาพยายามฆ่า ส่วนเรดายังคงต้องรับโทษในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเนื่องจากมีบันทึกผลการตรวจร่างกายเอดูอารด์ไว้หลังจากวันเกิดเหตุ

บทวิเคราะห์ถึงเหตุแห่งความรุนแรงนี้น่าจะไขปริศนาถึงที่มาของชื่อหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง’ ที่ต้องการให้ผู้อ่านมองเห็นความซับซ้อนของปัญหาความรุนแรงที่อาจลึกซึ้งกว่ามิติของปัจเจกบุคคล รวมถึงชวนพิจารณาถึงเหตุปัจจัยในเชิงโครงสร้างสังคมที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางความคิดและเงื่อนไขแห่งการมีชีวิตของเราทุกคน

เราจะเห็นว่าบทบาทของ ‘ภาษา’ มีความสำคัญมากในเนื้อเรื่อง ซึ่งนอกจากภาษาจะอธิบายมิติในเชิงประวัติศาสตร์ของเหตุแห่งความรุนแรงได้แล้ว เอดูอารด์ยังถกกับภาษาในอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ (existence) 

ทฤษฎีแห่งภาษาว่าด้วยการดำรงอยู่ ความจริง ความลวง และความตาย

ฉากการฆาตกรรมเป็นฉากหนึ่งที่ชวนให้ขบคิดไม่น้อย ผ้าพันคอที่รัดคอจนหายใจไม่ออกทำให้เอดูอารด์เข้าถึงสภาวะที่ ‘การรับรู้’ หรือ ‘การตระหนักรู้’ ของเขาหลุดลอยจากกลไกการทำงานของระบบภาษา

“ไม่มีสิ่งใดแวบขึ้นมาในหัวของฉันเลยแม้แต่น้อย ฉันมองไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีแม้ภาพสะท้อนหรือความทรงจำใดๆ ฉันรู้สึกเพียงแค่ว่ามือทั้งสองข้างของฉันกุมผ้าพันคอนั้นไว้แน่น มันคือการฝ่าฝืนความตายผ่านทางกายภาพอย่างบริสุทธิ์ เรามักพูดกันว่ามนุษย์ไม่อาจมีชีวิตนอกระบบภาษา เพราะภาษาคือคุณลักษณะเฉพาะของมนุษย์ มันกำหนดกฎเกณฑ์ทุกสรรพสิ่ง จึงไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่นอกเหนือระบบภาษาได้ เราไม่อาจคิดก่อนแล้วจึงจัดระบบความคิดของเราด้วยภาษา แต่ภาษาต่างหากที่จัดระเบียบความคิดของเรา มันเป็นทั้งเงื่อนไขและสิ่งจำเป็นของเหตุผลและชีวิต

แต่เราจะยังพูดว่าภาษาคือคุณลักษณะเฉพาะของมนุษย์ได้อยู่หรือไม่ในห้วงเวลาเกือบนาทีที่เขาลงมือฆ่าฉัน ความรู้สึก ณ ปัจจุบันของฉันเทียบอะไรไม่ได้เลยกับช่วงเวลานั้น ความหวาดกลัวที่เคยเกิดขึ้นเลือนรางไปและหลงเหลือไว้เพียงภาษา ฉันสามารถพูดว่า “ฉันกลัว” ออกมาได้ แต่คำคำนี้ไม่เคยสื่อความหมายเป็นอื่น นอกจากความล้มเหลวหรือความพยายามอันสิ้นหวังที่จะรู้สึกถึงความจริงแท้แห่งความหวาดกลัวที่เคยเกิดขึ้นได้อีกครั้ง”

เอดูอารด์บรรยายสัมพันธภาพระหว่างภาษาและการดำรงอยู่ที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งก็คงเป็นคำอธิบายอำนาจของภาษาเช่นเดียวกับกลุ่มนักคิดหลังโครงสร้างนิยม (post structuralism) สภาวะที่เขาใกล้ชิดกับความตายนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าภาษามี ‘อำนาจ’ กำหนดการรับรู้และการให้ความหมายต่อโลก และหากไร้ซึ่งภาษา การคงดำรงอยู่ของเราก็คงว่างเปล่า… ไม่ต่างอะไรจากความตาย

ยิ่งไปกว่านั้น เอดูอารด์ยังชี้ให้เห็นว่าภาษากับ ‘ความจริง’ แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งความคิดนี้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานทางภาษาศาสตร์ที่สามารถอธิบายแบบง่ายที่สุดได้ว่า ภาษาคือสิ่งสมมุติที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ความหมายหรือให้คุณค่าแก่สรรพสิ่ง ฉะนั้นโดยแก่นแท้แล้วภาษาและสรรพสิ่งไม่ได้มีแก่นสารสาระใดๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นสำหรับความคิดของเอดูอารด์ ภาษาจึงเป็นเพียง ‘ความล้มเหลว’ หรือ ‘ความพยายามอันสิ้นหวัง’ ที่จะเข้าถึง ‘ความจริง’ ของมนุษย์

ยิ่งไปกว่านั้น เอดูอารด์ยังขับเน้นสุญญากาศแห่งสัมพันธภาพระหว่างภาษากับความจริงในระดับของเทคนิคการเล่าเรื่องของเขาอีกด้วย เขาใช้ ‘คลารา’ พี่สาวของเขา เป็นผู้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเอดูอารด์กับเรดาให้แฟนของเธอฟัง โดยเอดูอารด์เป็นเพียงหนึ่งในตัวละครร่วมฉากที่หลบอยู่หลังประตูของอีกห้อง แต่เขา (เอดูอาร์ดในฐานะผู้เขียน) จะคอยพูดแทรกในบางครั้งคราวเมื่อบางเรื่องที่คลาราเล่าไม่ใช่ ‘ความจริง’ เดียวกันกับที่เขาประสบหรือรู้สึก

“(…) ฉัน (พี่สาว) มั่นใจว่าเขา (เรดา) วางแผนไว้ในหัวอยู่แล้วจึงค่อยลงมือ รวมถึงเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นวันนั้น (…)

(ฉัน (เอดูอารด์) ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น อาจมีเพียงเรื่องขโมยของเท่านั้น เพราะตรงกันข้าม ฉันไม่เชื่อว่าเรดาจะคิดวางแผนท่าทางการแสดงออกที่เขากระทำได้อยู่นานหลายชั่วโมง และในช่วงค่ำคืนนั้น ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเมล็ดพันธ์ุแห่งความรุนแรงหรือภัยอันตรายจนถึงแก่ชีวิตเลยสักนิด เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล บังเอิญ ลังเล ไร้วี่แววของความตั้งใจใดๆ ที่เขาอาจจะคิดมาก่อน เขากระทำราวกับคนคนหนึ่งที่พลิกแพลงไปตามสถานการณ์ที่เกิดอย่างฉับพลัน โดยอิงจากเหตุเบื้องหน้าที่เพิ่งจะเกิดขึ้น (…))”

เทคนิคการเล่าเรื่องของเอดูอารด์ตั้งใจสื่อสารกับผู้อ่านว่า วัตถุภววิสัย (objectivity) ในระดับของการสื่อสารนั้นไม่มีอยู่จริง ไม่ใช่เพียงในฝั่งของผู้รับสารที่จะตีความสารตามประสบการณ์ของตัวเองต่อเรื่องต่างๆ แต่ยังรวมถึงผู้พูดด้วยเช่นกันที่ไม่อาจถ่ายทอดความจริงที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาหนึ่งผ่านภาษาให้แก่อีกคนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ 

แต่ถึงกระนั้น หากจะกล่าวว่าสัมพันธภาพระหว่างภาษากับความจริงนั้นตั้งอยู่ห่างไกลกันอย่างลิบลับในตัวบทของเอดูอารด์ก็คงไม่ถูกต้องสักทีเดียว เพราะในบางครั้ง เอดูอารด์ก็ยอมรับว่าภาษาสามารถนำพาเราเข้าใกล้กับความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

“กระบวนการสืบสวนจะบีบบังคับให้ฉันต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และทุกอย่างจะเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะถูกสลักฝั่งอยู่ในตัวตนของฉัน ในร่างกายของฉัน และในความทรงจำของฉัน (…)

บางครั้งการกระทำที่เราเรียกมันว่า “พูด” นั้นใกล้เคียงกับการทนทรมาน การปิดปากเงียบ หรือการสำรอกมากเสียกว่าเป็นการสื่อความเสียอีก” 

ตัวบทที่ยกมานี้ยังคงตอกย้ำถึงข้อถกเถียงของเอดูอารด์ที่ว่าภาษากับความจริงแยกออกจากกัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาษาสามารถสร้าง ความ ‘จริง’ ได้ และจะ ‘เป็นจริง’ ขึ้นเรื่อยๆ ผ่านกระบวนการทางภาษาที่ถูกผลิตซ้ำ 

ด้วยเหตุนี้เอง เอดูอารด์จึงไม่ประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดีในช่วงแรก เพราะเขากลัวว่ากระบวนการสร้างความเสมือนจริงผ่านภาษานั้นจะพาความรู้สึกของเขาดิ่งลงเหมือนวันที่เกิดเรื่อง 

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ… เมื่อเอดูอารด์เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายและการรักษาตัว เขาต้องทนกับการพูดเรื่องเดิมๆ หลายต่อหลายครั้ง อีกทั้ง เขายังต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบของปฏิบัติการจากภาครัฐ เช่น การถูกตำรวจ ในฐานะตัวแทนศีลธรรมอันดีของรัฐ ตำหนิเรื่องที่ปล่อยให้คนแปลกหน้าขึ้นห้องยามดึก ความยืดเยื้อของกระบวนการสืบสวน ความทรมานในการรอคอยหมอที่ปฏิบัติกับเขาอย่างเย็นชา การถูกตรวจร่างกายเพื่อเป็นหลักฐานว่าเขาถูกข่มขืนจริง การตกอยู่ในสภาพผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดทางจิต ฯลฯ ประหนึ่งว่าขั้นตอนทั้งหมดเป็นการผลิตซ้ำการข่มขืนแบบครบถ้วนสมบูรณ์ นับครั้งไม่ถ้วน

เอดูอารด์จึงตั้งคำถามว่าเหตุใดเหยื่อผู้ถูกกระทำยังคงต้องเป็นผู้ออกมาเรียกร้องหาความชอบธรรมด้วยตัวเขาเอง มิหนำซ้ำ การเรียกร้องโดยเหยื่อมักจะถูกอคติทางสังคมกระทำรุนแรงซ้ำซ้อน (เอดูอารด์เรียกสิ่งนี้ว่า Double-violence) เช่นในกรณีของเอดูอารด์ เขามักจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกตำหนิติเตียนหรือสมน้ำหน้าที่เขา ‘ใจง่าย’ ยอมให้คนแปลกหน้าขึ้นห้องยามวิกาล ซึ่งความคิดดังกล่าวนั้นสอดรับกับภาพแทนดาษดื่นของคนรักเพศเดียวกันที่มักถูกตีตราว่า ‘ง่าย’ กับเรื่องพรรค์นี้ ซึ่งไม่เคยมีใครใส่ใจจะไถ่ถามความรู้สึกของเขาต่อเรื่องที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย 

ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่กระตุ้นให้เอดูอารด์ตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้น แม้ต้องเผชิญกับการตัดสินบนฐานอคติของคนจำนวนไม่น้อย แต่เขายังคงมุ่งมั่นต่อเจตนารมณ์ที่อยากจะ ‘ให้เสียง’ แก่ผู้ถูกกระทำที่ถูกปิดปากเงียบในสังคม 

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าการเขียนสำหรับเขาไม่ใช่เพียงการบอกเล่าถึงความทุกข์ทน แต่เป็นการ ‘ตะโกน’ ให้คนที่ไร้เดียงสาหรือคนที่อาจจะเมินเฉยรับรู้ว่ายังมีคนอื่นๆ ในสังคมอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังทุกข์ร้อน อีกทั้ง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างไม่ควรจะเป็นเรื่องของเหยื่อที่ออกมาเรียกร้อง แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนในฐานะกลไกหนึ่งของสังคมที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจต่อความรุนแรงนั้นโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม 

จากงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติสู่ความเข้าใจ ‘ความไม่จริง’ ของ ‘ความจริง’ ผ่านระบบภาษา รวมถึงการตั้งคำถามต่อการผลิตซ้ำความรุนแรงต่อเหยื่อในนามของรัฐ หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยให้เราระแวดระวังที่จะตัดสินคนอื่นโดยยึดหลักดีชั่วโดยกมลสันดานที่ไม่เคยนำไปสู่เหตุที่มาของปัญหาที่แท้จริง หรืออย่างน้อยๆ ก็ยังมีความละอายแก่ใจอยู่บ้าง ที่ยังยิ้มและหัวเราะอยู่ได้ในวันที่ยังมีอีกหลายชีวิตต้องทุกข์ร้อนแสนสาหัสจนอาจถึงแก่ชีวิต… 

หมายเหตุ

ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง ถูกปรับแต่งเป็นบทละครเรื่อง ณ ศูนย์กลางแห่งความรุนแรง (Au Coeur de la Violence) ในปี 2019 ร่วมกับ Thomas Osterneier และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล International Dublin Literary Award ในปี 2020 

สำนวนแปลตัวบทโดย ผู้เขียนบทความ

อ้างอิง

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า