ชนชั้นสูง ความตาย และการถวายอาลัยในแผ่นดินอุษาคเนย์

ในหนังสือ เสด็จสู่แดนสรวง, ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ ซึ่งมีนักเขียน นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ชั้นนำของไทยร่วมกันเขียนขึ้นมานั้น มีบันทึกหลายประการที่ชวนเรากลับไปทบทวนอดีตกาลอันเกี่ยวเนื่องกับกรณีสวรรคตของกษัตริย์ที่ครองแผ่นดินล้านช้าง กัมพูชา เมียนมาร์ ไทย ตลอดจนวัฒนธรรมความเชื่อของตะวันตกที่มีผลต่อความคิดความอ่านของคนในย่านดินถิ่นนี้

ความตายของชนชั้นสูงมิเพียงทำให้เรารู้คติ ความเชื่อ ประเพณีของผู้ครองอาณาจักรแต่ละยุคสมัยเท่านั้น แต่ยังชวนให้เราเห็นสภาพแวดล้อมของผู้คนที่มีปฏิกิริยาในยามทุกข์โศกของแผ่นดินที่เชื่อมร้อยสัมพันธ์ผ่านบริบทในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย การสวรรคตของกษัตริย์ไม่ได้มีพิธีกรรมตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ถูกโอบล้อมด้วยความคิด ความเชื่อ และกระบวนการไว้อาลัยของพสกนิกรในแผ่นดินนั้น

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเรื่องพิธีกรรมต่างๆ ระหว่างการตั้งพระบรมศพ และการปฏิบัติตนของผู้ที่มีชีวิต ซึ่งหมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และประชาชนเกี่ยวกับการไว้ทุกข์ว่า ในอดีต ชุดไว้ทุกข์คือชุดสีขาว ต่อเมื่ออิทธิพลของตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มจัดระเบียบโดยแบ่งกลุ่มของวัยและสายสัมพันธ์ โดยชุดสีดำใช้สำหรับผู้ใหญ่ สีขาวใช้สำหรับเด็ก ส่วนสีม่วงแก่หรือสีน้ำเงินใช้สำหรับผู้ที่มิได้เป็นญาติกับผู้ตาย ต่อมามีการปรับเปลี่ยนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยเห็นว่าแนวทางดังกล่าวสร้างความยุ่งยากเกินไป จึงเปลี่ยนมาใช้สีดำสำหรับชุดไว้ทุกข์เป็นหลัก

ส่วนการโกนผมไว้ทุกข์นั้นพิพัฒน์อธิบายว่า เป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของผู้คนแถบนี้โดยอาจเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 หรือสมัยอาณาจักรฟูนัน ซึ่งกินดินแดนในประเทศกัมพูชาและเวียดนามในปัจจุบัน ก่อนยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากมองว่าเป็นธรรมเนียมที่ล้าหลังไปแล้ว

ขณะที่อิทธิพลของศาสนาก็มีส่วนในการกำหนดพิธีกรรม ดังเช่นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาซึ่งนำการสวดสดับปกรณ์หรือสวดอภิธรรมทำนองหลวง 7 คัมภีร์เพื่อเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่ด่วงพระวิญญาณ ก็มีมูลเหตุมาจากพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์แล้วประทานเทศนาจากพระธรรม 7 คัมภีร์เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับ การสวดนี้ก็คาดว่าปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

พิธีกงเต๊กหลวงก็ถูกนำมาใช้ร่วมกับการบำเพ็ญพระราชกุศล สาเหตุก็เพราะราชวงศ์จักรีมีเชื้อสายจีน ซึ่งกรณีนี้ปรากฏครั้งแรกใน พ.ศ. 2395 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงจัดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีภิกษุเวียดนามนิกายมหายานเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเป็นหลัก พิธีดังกล่าวได้รับการให้ความสำคัญถึงขั้นที่ว่า แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ยังระบุลงไปในพิธีกรรมว่าให้จัดพิธีกงเต๊กหลวงให้พระองค์หลังสวรรคต

ขณะที่งานมหรสพในช่วงพระราชพิธีก็มีการประโคมย่ำยามและวงปี่พาทย์นางหงส์ทุก 3 ชั่วโมงจาก 6 นาฬิกาถึง 24 นาฬิกา ซึ่งวงสังข์แตรและวงปี่ไฉนกลองชนะจะประโคมสลับต่อเนื่องกัน โดยในวงนี้มีเครื่องดนตรีสำคัญคือกลองมโหระทึก ซึ่งพบครั้งแรกในหมู่บ้านดองเซิน ประเทศเวียดนาม เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว

เรื่องราวเหล่านี้บอกอะไร

คำอธิบายของ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อธิบายให้เห็นถึงความเลื่อนไหลของพิธีกรรม ความเชื่อ และรายละเอียดของพระราชพิธีพระบรมศพที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับเขตแดน หรือเงื่อนเวลาใดเวลาหนึ่ง หากแต่เป็นการหลอมรวมและแลกเปลี่ยนกระบวนการในพระราชพิธีที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะแบบใดแบบหนึ่งอย่างถาวร

กระนั้น น่าสนใจอย่างยิ่งว่าหากเราจับ ‘เงื่อนเวลา’ มาพินิจพิจารณา เราจะเห็นหน้าตาของพระราชพิธีพระบรมศพ ตลอดทั้งการไว้อาลัยในแต่ละแผ่นดินเท่าที่ประวัติศาสตร์จะอนุญาตให้บันทึกไว้อย่างไรบ้าง

คนตายในยุคดึกดำบรรพ์

ในหนังสือเล่มเดียวกันกับที่อ้างอิงไว้ก่อนหน้า

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า ภาพเขียนโบราณ ณ ถ้ำลายแทง อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย น่าจะเป็นงานศพ

มันเป็นภาพเงาทึบและโครงร่างที่ตั้งใจวาดไม่เข้าสัดส่วนคนจริงของยุคนั้นทั้งที่สามารถทำได้ ด้วยเพราะเจตนาแสดงรูปบรรพชนที่ตายไปเป็นผีขวัญสิงสู่อยู่เมืองฟ้า หรืออาจเป็นที่ใดสักแห่งซึ่งอยู่อีกฟากของมหานที

รูปคนแนวนอนอาจหมายถึงคนตาย ส่วนหมาเป็นสัตว์นำทางเพื่อพาผู้ตายไปอยู่ร่วมกับบรรพชน นอกจากนี้ยังมีรูปคนเป่าเขาสัตว์หรือเครื่องมืออะไรสักอย่างที่จะทำให้เกิดเสียง อย่างไรก็ตาม สุจิตต์บอกว่าเขาอาจตีความผิด

ในทางกลับกัน ถ้าหากข้อสันนิษฐานนั้นถูกต้อง พิธีศพนี้ก็อาจเป็นบันทึกแรกๆ เท่าที่แผ่นดินแหลมทองพอจะทิ้งร่องรอยพิธีกรรมและคนตายในยุคดึกดำบรรพ์เอาไว้

ภาพเขียนถ้ำลายแทง
ภาพเขียนโบราณ ณ ถ้ำลายแทง อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

“คนตายเพราะขวัญหาย ต้องทำพิธีเรียกขวัญนานหลายวัน: งานศพปัจจุบันสืบทอดพิธีกรรมหลายพันปีมาแล้ว” ที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้นั้น ระบุว่าแม้จะเป็นยุคเมื่อหลายพันปีมาแล้ว แต่พิธีศพของคนธรรมดาสามัญกับ ‘ผู้นำ’ นั้นมีความแตกต่าง

สำหรับคนทั่วไปไม่พบหลักฐานว่าพิธีแห่งความตายดำเนินไปอย่างไร แต่เข้าใจว่าเมื่อทำพิธีเรียกขวัญคนตายแล้วเสร็จก็ทิ้งศพไว้กลางทุ่งกลางป่าปล่อยให้แร้งกาจิกกินซากศพเท่านั้น ดังเช่นร่องรอยประเพณีที่ม่อนนะแฮ้ง อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง พบว่ามีกองหินเป็นเนินรูปวงกลม ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านเอาศพไปวางบนเนินให้แร้งหรือ ‘แฮ้ง’ ลงมาจิกกินเนื้อหนังให้เหลือแต่ซาก

ขณะที่พิธีศพของเหล่าผู้นำ หัวหน้าเผ่า หรือผู้ปกครองกลับมีแบบแผนชัดเจนกว่า โดยในหลุมศพที่เคยขุดค้นก็พบว่า รายรอบโครงกระดูกนั้นมักมีเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมีวิทยาการก้าวหน้าในยุคนั้นฝังลงไปด้วย

นั่นคือยุคแรกของพิธีศพของชนชั้นนำในยุคดึกดำบรรพ์ กระนั้นเรื่องราวของผี ขวัญ วิญญาณ ก็สืบทอดต่อเนื่องกันยาวนาน กระทั่งมีอิทธิพลต่อพิธีศพถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในแผ่นดินอุษาคเนย์

กลองทองมโหระทึก เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

คนตายเพราะขวัญหาย สิ่งที่ต้องทำคือร้องรำทำเพลงให้อึกทึกที่สุดเพื่อให้ขวัญซึ่งหายไปหนใดสักแห่งกลับคืนสู่ร่าง การใช้เครื่องดนตรีประโคมงานศพเกิดขึ้นในอุษาคเนย์ราว 3,000 ปีมาแล้ว โดยใช้กลองไม้และปี่เป็นหลัก

กระทั่งชั่ว 2,500 ปีที่ผ่านมา ได้ค้นพบโลหะเป็นเครื่องตีเครื่องเป่า เช่น กลองทองมโหระทึก ฆ้อง และแคน

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า งานศพในยุคนั้นนอกจากมีเครื่องประโคมดังที่กล่าวมาแล้ว ในขบวนพิธียังมีรูปจากภาพเขียนในถ้ำตาด้วง ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการร่วมเพศของหญิงชาย ทั้งนี้เพื่อรักษาความสมดุลที่สูญเสียสมาชิกไป การร่วมเพศจึงเป็นการรักษาเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่รวมทั้งสื่อถึงความมั่งคั่งในพืชพันธุ์ธัญญาหารด้วย

ภาพเขียนในถ้ำตาด้วง
ภาพเขียนในถ้ำตาด้วง ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

เสียงกังวานจากกลองทองมโหระทึกเป็นเสียงใหม่ สิ่งใหม่ ศักดิ์สิทธิ์ และมหัศจรรย์ ในช่วง 2,500 ปีที่ผ่านมามันถูกยกขึ้นให้ค่าเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง

แม้แต่ชนชาติจ้วง หรือคนพูดตระกูลภาษาไต-ไท ในมณฑลกวางสี ประเทศจีน ก็มีประเพณีประโคมตีกลองมโหระทึก และมีกลองไม้ขึงหนังตอกหมุดหน้าเดียวคล้ายกลองทัดเป็นประธาน

ตั้งแต่คราวนั้นถึงตอนนี้ กลองมโหระทึกก็ยังคงสถานะเดิมคือเป็นครูใหญ่ของวงปี่พาทย์ทั้งในแผ่นดินไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พุทธศตวรรษที่ 6-8 พระนามหลังสวรรคตของกษัตริย์กัมพูชาโบราณ

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของอุษาคเนย์ แต่ไฟสงครามในช่วงไม่กี่ทศวรรษหลังมานี้ ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชาโดยเฉพาะในแง่มุมของพระราชพิธีนั้นไม่อาจเป็นไปได้ง่ายนัก กระนั้นก็ยังพบว่า บันทึกเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พอจะหาได้ยังพาเราย้อนกลับไปไกลถึงพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งครานั้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ มีแบบแผนมาก่อนแล้วผ่านการรับอิทธิพลทางศาสนาที่ถ่ายทอดมาจากอารยธรรมอินเดียโบราณ

จดหมายเหตุของราชทูตจีนที่เดินทางมายังกัมพูชาในพุทธศตวรรษที่ 8 สมัยก่อนเมืองพระนครบันทึกไว้ว่า พระบรมศพของพระมหากษัตริย์จะได้รับการถวายพระเพลิงหลังจากเสด็จสวรรคต จากนั้นจะเชิญพระบรมอัฐิบรรจุลงในพระโกศทองแล้วนำไปถ่วงในแม่น้ำ ซึ่งโกศบรรจุอัฐินั้นมีการแบ่งลำดับชนชั้น

อัฐิขุนนางหรือข้าราชการทำด้วยโกศเงิน แต่หากเป็นของสามัญชนจะถูกบรรจุลงไปในโกศดิน

การศึกษาของ ซีร็อง เลง นักศึกษากัมพูชา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และ ณัฐพล จันทร์งาม อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ค้นพบข้อมูลจากศิลาจารึกสมัยก่อนเมืองพระนคร เกี่ยวกับธรรมเนียมการเฉลิมพระนามถวายแด่พระมหากษัตริย์ภายหลังเสด็จสวรรคต ดังนี้

พระเจ้าภววรมันที่ 2 ทรงมีพระนามหลังสวรรคตว่า ‘กุรุงฺ ภวปุร’ ซึ่งแปลว่า เทวสถานอันเป็นที่ประทับของพระองค์หลังเสด็จสวรรคต

พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ทรงมีพระนามหลังสวรรคตว่า ‘วฺระ กมฺรตางฺ อญฺ ต เทา ศิวปุร’ ขณะที่จารึกบางหลักใช้คำว่า งวฺระ กมฺรตางฺ อญฺ ต เทา สฺวรฺคฺค ศิวปุรง ซึ่งแปลความหมายได้คล้ายกันคือ เจ้ากู (พระเจ้าแผ่นดินของข้า – ผู้เขียน) ผู้เสด็จไปยังสวรรค์อันเป็นเมืองแห่งพระศิวะ

ขณะที่พระมหาษัตริย์พระองค์อื่นๆ ก็มีความหมายของพระนามในลักษณะเดียวกัน เช่น

พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ธุลีพระบาทธุลีเชิงพระกมรเตงอัญผู้เสด็จไปปรเมศวร

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระกมรเตงอัญผู้เสด็จไปมหาบรมเสาคตบท

พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 พระกรมเตงอัญผู้เสด็จไปบรมศิวโลก

พระเจ้าอิศานวรมันที่ 2 พระบาทศรีศานวรรมเทวะผู้เสด็จไปบรมรุทรโลก

พระบรมปัจฉามรณนาม หรือพระนามหลังเสด็จสวรรคตนั้นยิ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนมากขึ้นว่ามีการปฏิบัติสืบต่อกันไม่น้อยกว่า 20 พระองค์ พระนามดังกล่าวไม่ได้หมายถึงเพียงการยกย่องฐานันดรศักดิ์เท่านั้น แต่เป็นการสื่อถึงความเชื่อเรื่องการกลับสู่สรวงสวรรค์ดุจทวยเทพ

การปฏิบัติดังนี้แสดงถึงพระมหากษัตริย์ได้รับการเคารพบูชาอย่างสูงที่สุด ทั้งขณะดำรงพระชนม์ชีพอยู่และเสด็จสวรรคตแล้ว

หลัง พ.ศ. 1000 ปี่พาทย์ นางหงส์ และสรวงสวรรค์

อินเดียใต้และลังกาเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับบ้านเมืองในอุษาคเนย์ นำเอาเครื่องประโคมอันประกอบด้วยปี่ 1 เลา และกลองรูปร่างต่างกัน 4 ใบ มารวมเป็นปัญจวาทยะ

ปี่ไฉน ปี่ชวา กลองแขก กลองมลายู ที่อยู่ใน ‘กลอง 4 ปี่ 1’ คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรียกคณะประโคมนี้ว่า ‘วงปี่ไฉนกลองชนะ’ คนลุ่มน้ำยมเรียกว่า ‘วงมังคละ’ ภาคใต้เรียก ‘วงกาหลอ’ ถึงจะเรียกผิดแผกกันบ้างแต่รากของมันก็มาจากที่เดียวกัน และเครื่องประโคมเหล่านี้ก็ถูกใช้ทั้งในงานทั่วไปและงานศพ ดังจะเห็นจากการละเล่นกระบี่กระบองหรือมวยก็ใช้ ‘ปี่กลอง’ มาจนถึงปัจจุบัน แต่หากเป็นพิธีเศร้าก็ลด ‘กลอง 4 ปี่ 1’ เหลือเพียงกลอง 2 ใบ ใช้เรียกวงประโคม ‘ปี่พาทย์งานศพ’ หรือ ‘ปี่พาทย์นางหงส์’

โดยสมมุติถึงนางหงส์เป็นผู้ส่งวิญญาณสู่สรวงสรรค์

เครื่องดนตรีเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในพิธีกรรม และผู้ส่งดวงวิญญาณเปลี่ยนจากหมา แร้ง กา สู่นางหงส์ สัตว์ปีกในวรรณคดี

พ.ศ. 1896 งานพระศพของกษัตริย์ล้านช้าง หรือลาวในปัจจุบัน

บันทึกเท่าที่สืบค้นได้อยู่ในพงศาวดารเมืองหลวงพระบาง ระบุไว้เมื่อ พ.ศ. 1896 ขุนยักษ์ฟ้าหรือขุนผีฟ้า พระราชบิดาของพระเจ้าฟ้างุ้ม ซึ่งถือเป็นต้นวงศ์ของอาณาจักรล้านช้างสิ้นพระชนม์

“…ขุนยักษ์ฟ้าเจ็บวัณโรคป่วยลงก็ถึงแก่กรรมไป พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตฟ้างุ้มทรงทราบว่า ขุนยักษ์ฟ้าผู้เป็นพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ จึงทรงสั่งเสนาบดีจัดการเมรุมาศให้สมควรแก่อิสริยยศ แล้วก็ปลงศพพระราชบิดา…”

ธีระวัฒน์ แสนคำ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ให้ความเห็นในบท ‘งานพระศพกษัตริย์ล้านช้างในสมัยรัฐจารีต’ ว่า บันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นการเกิดขึ้นของคติการจัดการเมรุมาศให้กับกษัตริย์ล้านช้างแล้ว อย่างช้าที่สุดก็ในยุคสมัยนั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าได้รับอิทธิพลทางคติดังกล่าวจากอาณาจักรกัมพูชา เนื่องเพราะพระเจ้าฟ้างุ้มทรงมีพระมเหสีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์กรุงอินทปัตถ์ ซึ่งเป็นเมืองพระนครแห่งกัมพูชาสมัยนั้น

ต่อมา พ.ศ. 2023 พระสุวรรณบัลลังก์ ‘ท้าวแท่นคำ’ หรือ ‘ท้าวแท่งคำ’ ปลงศพพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว พระราชบิดาของพระองค์ที่เมืองเชียงคานก็ระบุในพงศาวดารเมืองหลวงพระบางว่า

“…ท้าวแท่งคำที่เป็นพระราชโอรส และเสนาพฤฒามาตย์ราษฎรกรุงศรีสัตนาคนหุต และเมืองเชียงคานก็พร้อมกันปลงพระศพตามสมควรอันเป็นพระเจ้าแผ่นดินเอกเทศ…”

ข้อความสุดท้ายในวรรคตอนดังกล่าวนี้เอง ธีระวัฒน์ แสนคำ ตั้งข้อสังเกตว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินเอกเทศ’ ย่อมแสดงให้เห็นการเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นแก่ผู้ใด ซึ่งการสร้างพระเมรุมาศนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเมืองดั้งเดิมแห่งแผ่นดินอุษาคเนย์

ขณะที่บันทึกในตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ก็ระบุด้วยว่า พ.ศ. 2280 เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ปฐมกษัตริย์แห่งราชสำนักล้านช้างเมืองจำปาศักดิ์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าองค์หลวง พระราชโอรสได้ทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรตามบันทึกว่า

“…พระเจ้าองค์หลวงจึงสั่งให้ท้าวพระยาเกณฑ์ไพร่ทำเมรุขึ้นที่ข้างวัง ครั้งทำเมรุเสร็จแล้วจึงได้ชักศพเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเข้าสู่เมรุทำบุญให้ทาน พระเจ้าองค์หลวงและเจ้านายท้าวพระยาก็เผาศพเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร…”

การสร้างเมรุขึ้นใกล้วังนอกจากจะคล้ายคลึงกับยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในคติเรื่องการสร้างพระเมรุมาศเพื่อจำลองเขาพระเมรุตามความเชื่อ ‘ไตรภูมิ’ ซึ่งหากปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายยุคสมัยเช่นนี้ย่อมเชื่อได้ว่า คติความเชื่อดังกล่าวได้สถาปนาในดินแดนอุษาคเนย์อย่างมั่นคงแล้ว

หลัง พ.ศ. 2000 เรือศักดิ์สิทธิ์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ

“บรรดาพิธีซึ่งต้องทำในการนั้น อันเป็นขนบธรรมเนียมของประเทศนี้คือ ตั้งฟืนกองใหญ่ อันมีไม้จันทน์ ไม้กฤษณา ไม้กระลำพัก และกำยาน แล้วนำพระศพของพระเจ้าแผ่นดินองค์ซึ่งสวรรคตนั้นขึ้นวางเหนือกองฟืนดังกล่าว จุดไฟเผาด้วยวิธีการอันแปลกประหลาด…”

ข้อความดังกล่าวมาจากบันทึกเอกสาร The Travels, Voyages and Adventures of Ferdinand Mendaz Pinto โดย เฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต ชาวโปรตุเกสที่พรรณนางานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งเกิดขึ้นใยุคต้นอยุธยา หรือราว พ.ศ. 2077-2089

ในพระราชพิธีนั้น หลังพระศพเป็นเถ้าถ่าน ก็จะเก็บพระอัฐิไว้ในพระโกศเงิน ก่อนจัดลงเรือซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ตามด้วยขบวนเรือ 40 ลำซึ่งมีพระสงฆ์สมณศักดิ์สูงที่สุดนั่งอยู่เต็มลำเรือ ขบวนเรือนี้จะมุ่งไปที่วัด ก่อนนำพระอัฐิและพระอังคารของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งบรรจุในโกศเงินไปประดิษฐานไว้ จากนั้นจุดไฟเผาบรรดารูปสัตว์จำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งอยู่ในลักษณะยืนในเรือจนสิ้น

(ซ้าย) เรือศักดิ์สิทธิ์ ที่สลักบนไหสำริดใส่กระดูกคนตาย พบที่เวียดนาม (ขวา) เรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ พบบนลายสลักข้างกลองมโหระทึก วัดมัชฌิมาวาส อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า เรือศักดิ์สิทธิ์ลักษณะนี้พบหลักฐานทั้งจากลายสลักบนไหสำริดใส่กระดูกคนตาย อายุราว 2,500 ปี ที่ถูกพบในเวียดนาม และยังพบหลักฐานคล้ายกันจากลายสลักข้างกลองมโหระทึกที่วัดมัชฌิมาวาส ตำบลดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร นอกจากนี้ยังพบภาพวาดลายเส้นฝีมือชาวยุโรปที่แสดงขบวนเรือพระราชพิธีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แม้แต่ภาพเขียนกระบวนเรือเชิญพระบรมศพของกษัตริย์เวียดนามก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันกัน

เรือพระราชพิธียุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์
เรือพระราชพิธียุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป)
การสวรรคตของพระมหากษัตริย์
พิธีเชิญพระบรมศพของกษัตริย์เวียดนามสมัยก่อนด้วยกระบวนเรือ ลายเส้นเขียนเมื่อ พ.ศ. 2325 (ภาพต้นฉบับจากหนังสือ Encyclopedia Hanoi Vietnam, 2000.)

ด้วยความที่ เฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต ชาวโปรตุเกส เดินทางเข้ามาในพระนครศรีอยุธยา และรับใช้ราชการทัพในยุคสมัยนั้น เขาจึงได้อยู่อาศัยบนแผ่นดินนี้กระทั่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต และนั่นทำให้เขาได้เห็นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งความในบันทึกต่อมาเขียนไว้ว่า

“…และพร้อมกันนั้นก็มีเสียงน่ากลัวไม่หยุดหย่อน มีเสียงปืนใหญ่ ปืนครก กลอง ระฆัง แตร และเสียงหนวกหูประเภทอื่นๆ อีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่ได้ยินแล้วจะไม่สั่น

“พิธีนี้สิ้นสุดลงในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เพราะว่ารูปเหล่านี้ทำด้วยวัตถุที่ไหม้ไฟได้ และเรือก็เต็มไปด้วยน้ำมันดินและยางสนหรือชัน น่ากลัวมาก…

“ดังนั้น ในชั่วครู่นั้น บรรดาเรือนั้นๆ และสิ่งทั้งหมดซึ่งอยู่ในเรือเหล่านั้นก็ค่อยๆ หมดไป”

พ.ศ. 2200 การสรงน้ำพระศพพบเมื่อเสียกรุง

ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขียนไว้ในบทการสรงน้ำและประดิษฐานพระบรมศพ โดยอ้างอิงพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งกล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาไว้ 2 เหตุการณ์

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2231 เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้เชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานที่พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์

ครั้งต่อมา พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศสวรรคต มีการประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ และในปีเดียวกันกรมพระเทพามาตย์เสด็จทิวงคต สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์โปรดเชิญพระศพประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งตั้งเคียงกันทั้งสองพระโกศ

การสวรรคตของพระมหากษัตริย์
(ซ้าย) พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (ขวา) พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์

ข้อมูลเท่าที่พบเหล่านี้ถูกอธิบายว่า แม้จะเห็นบันทึกเรื่องการประดิษฐานพระบรมศพแต่ไม่ปรากฏว่ามีการสรงน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่จะต้องทำพิธีอาบน้ำศพให้กับผู้ตาย อันมีการปฏิบัติทั่วไปทั้งในภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ โดยนัยสำคัญนอกจากนับว่าเป็นการอาบน้ำให้กับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว สมุนไพรต่างๆ ที่ใช้ตามแต่ละท้องถิ่นยังมีสรรพคุณพิเศษคือช่วยดับกลิ่นและฆ่าเชื้อโรค นี่เป็นประเพณีที่ปรากฏโดยทั่วไปในอุษาคเนย์

กระทั่งหลักฐานคำให้การของชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปอังวะคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จึงปรากฏขั้นตอนเกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งอธิบายเรื่องการอาบน้ำศพ หรือ ‘ประเพณีสรงสะการพระบรมศพ’ ไว้ดังนี้

“เมื่อสมเด็จพระเจ้ามหาธรรมราชา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาสวรรคต ได้จัดการพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีดังนี้คือ สรงน้ำชำระพระบรมศพสะอาดแล้ว ถวายสุคนธ์สรงน้ำพระบรมศพ แล้วเอาผ้าคลุมบรรทมมีลายริมเงินคลุมพระบรมศพไว้จนถึงเวลา (พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่) สรงน้ำพระบรมศพ ครั้งสรงเสร็จแล้วถวายพระภูษาอาภรณ์ทรงพระบรมศพ แลทรงสังวาลและพระชฎา (เชิญพระบรมศพสู่พระบรมโกฏฐ์) ประดิษฐานไว้ยังพระแท่นในพระมหาปราสาท”

การสรงน้ำพระศพถูกปฏิบัติสืบมาจากกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ กระทั่งพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 9 ก็ยังคงประเพณีนี้ไว้ โดยในพิธีดังกล่าวจะมี ‘มโหระทึก’ อยู่ในชุดเครื่องประโคมที่ต้องบรรเลงระหว่างการสรงน้ำซึ่งมีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ในชั้นพระยศรองลงมาจะถูกตัดทอนเครื่องประโคมลดหลั่น กระทั่ง ‘หม่อมเจ้า’ นั้นจะคงไว้เพียงปี่ และกลองชนะเท่านั้น

พ.ศ. 2421 กษัตริย์พม่า พระเจ้ามินดง ทรงหน่ายโลกมนุษย์

คติเรื่องสมมติเทพถูกสถาปนาอย่างมั่นคงเพียงใดในอุษาคเนย์ สะท้อนได้จากกรณีสวรรคตของพระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่า ซึ่งมีบันทึกในโกงบ่องแซะก์มหายาซาวีงดอจี เล่ม 3 ความว่า

“…ปี 1240 [พ.ศ. 2421] เดือนตุลาคม ข้างขึ้น วันอังคารที่ 6 เวลาเช้า 2 แซะก์ตี ราว 6 โมง ทรงหน่ายมนุษยโลกเสด็จประทับสำราญยังสวรรค์ ในเวลาก่อนสวรรคต ทรงสะกดกลั้นพระเวทนาไว้ให้ถอยทุเลาด้วยไตรลักษณ์ อนุสติสิบ อสุภกรรมฐาน กำหนดไว้ในพระทัยเสมอ ครั้งพระราชทานโอวาทแก่บรรดาผู้ถวายการดูแล… แล้วก็เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบ…”

พระบรมรูปของพระเจ้ามินดงที่วัดกุโสดอ เมืองมัณฑะเลย์

สิทธิพร เนตรนิยม นักปฏิบัติการวิจัย ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเขียนเรื่อง ตีงโจ่ห์ด่อ: งานพระบรมศพของกษัตริย์เมียนม่ามีงตยาจี ตั้งข้อสังเกตว่า บันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นความเชื่ออย่างฝังรากว่า กษัตริย์นั้นแท้จริงเป็นเทพที่จุติมาบนโลกมนุษย์เพียงชั่วครู่คราวเท่านั้น ต่อเมื่อหมดภารกิจ หรือหน่ายโลกมนุษย์ ก็จะเสด็จกลับไปสำราญยังสรวงสวรรค์เช่นเดิม

ความเชื่อพื้นฐานของอุษาคเนย์ที่ยกให้กษัตริย์เป็นสมมติเทพ นำมาซึ่งการจัดงานพระบรมศพอย่างยิ่งใหญ่ตาม คัมภีร์โลกหยุหะ ถึง 17 ขั้นตอน อีกทั้งเต็มไปด้วยรายละเอียดและพิธีกรรมมากมาย แต่นั่นคือกรณีการสวรรคตด้วยเหตุปกติวิสัย ส่วนบางกรณีนั้นมีความซับซ้อนน้อยกว่า โดยเฉพาะกรณีที่กษัตริย์ถูกถอดจากราชสมบัติ และถูกลอบปลงพระชนม์ หรือตายโหง

ธรรมเนียมพม่ายึดถือปฏิบัติกันมาว่า

“…ผู้ตายโหงนั้น, มิให้อาบน้ำ, ไม่ใช้จัดงานศพ, ตายที่ไหนให้จัดการที่นั่น, มิให้นำมาจากที่ตายย้ายเข้าบ้านเข้าเมือง, มิให้ไว้บนบ้าน, ให้แจ้งแล้วเผาในที่ตายนั้น…”

กรณีนี้มิได้มีผลเฉพาะกับสามัญชนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกษัตริย์ผู้ถูกนิยามว่าเป็นสมมติเทพก็ไม่เว้น

ตัวอย่างเช่นกรณีพระเจ้าตะปิ่งชเวที ซึ่งถูกราชองครักษ์บั่นพระเศียรตกลงใต้พระแท่นบรรทม ณ พลับพลาประทับกลางป่า รุ่งเช้าพระบรมศพถูกอัญเชิญไปยังวัดโดยพระอธิการรูปหนึ่งแล้วถวายพระเพลิง หลังจากนั้นอัญเชิญพระบรมอัฐิใส่หม้อทองลงฝัง จบสิ้นพระราชพิธี

หรืออีกกรณีหนึ่งคือพระบรมศพของพระเจ้านันทบุเรง พระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ก็จัดการพระบรมศพในฐานะกษัตริย์ไร้บัลลังก์

เมื่อทราบว่าพระนันทบุเรงถูกลอบปลงพระชนม์ พระเจ้าตองอูทรงไม่สบายพระทัย เนื่องจากประสงค์จัดการพระบรมศพพระเชษฐาให้สมพระเกียรติ แต่เมื่อปรึกษาราชบัณฑิตแล้วผลปรากฏว่า ไม่มีธรรมเนียมการจัดถวายพระบรมศพเอิกเกริกให้กับการสวรรคตอย่างปัจจุบันทันด่วน หรือการตายโหง ทำได้เพียงฝังพระบรมศพ ณ ที่ถูกปลงพระชนม์ แล้วจึงอัญเชิญพระบรมศพทาด้วยน้ำมันจันทร์ ก่อนห่อพระบรมศพด้วยผ้าหลายชั้นแล้วอัญเชิญลงหีบพระบรมศพใต้พื้นดินที่สวรรคต เมื่อถึงครบสัตมวารจึงนิมนต์พระสงฆ์มาฉัน ณ ที่แห่งนั้น แล้วถวายบริขารมีผ้าจีวรอุทิศพระราชกุศล ทำได้เพียงเท่านั้น

พ.ศ. 2453 พระบรมศพรัชกาลที่ 5 ชุดดำ และสามัญชน

แต่เดิมนั้น กำหนดขอบเขตพระราชพิธีพระบรมศพ โดยให้ราษฎรทั่วไปอยู่ได้เพียงพื้นที่จัดงานมหรสพเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปในมณฑลพิธีได้ แต่เมื่อ พ.ศ. 2543 ครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต ผู้คนจำนวนมากพอทราบข่าวก็โศกเศร้าเสียใจ เมื่อเชิญพระบรมศพสู่พระบรมมหาราชวังราษฎรจึงร้องไห้เซ็งแซ่ตลอดสองข้างทาง แม้เจ้าพนักงานห้ามปรามเพียงใดก็ไม่ฟัง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงมีพระมหากรุณาเปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าถวายบังคมพระบรมศพ แม้จะเดือนละไม่กี่วัน แต่นั่นก็นับเป็นครั้งแรกที่สามัญชนได้มีส่วนร่วมในการกราบพระบรมศพถึงพระบรมมหาราชวัง

ในพระราชพิธีเดียวกันนั้นก็มีแง่มุมบางประการอันเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องการไว้ทุกข์ในแผ่นดินนี้

ราษฎรแต่งขาวไว้ทุกข์เข้าถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ที่มา: นนทพร อยู่มั่งมี และ ธัชชัย ยอดพิชัย)

วสิน ทับวงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เขียนในบท ‘ธรรมเนียมตะวันตกในพระราชพิธีพระบรมศพกษัตริย์สยาม’ ว่า ในอดีตเมื่อถึงคราวพระมหากษัตริย์สวรรคต ราชสำนักจะออกประกาศให้ราษฎรทั้งชายและหญิงโกนผมทุกคน เว้นแต่ชาวต่างชาติ พราหมณ์ นักบวชต่างศาสนา และชาวป่าชาวเขา ธรรมเนียมดังกล่าวสร้างความยุ่งยากให้ผู้คนเป็นอย่างมาก กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระชนม์ชีพมีพระราชดำรัสรับสั่งให้ยกเลิกในที่สุด

ต่อมาในงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 มีข้อความปรากฏในจดหมายเหตุว่า

“แต่ผู้ที่จะมากราบถวายพระบรมศพนั้น ควรแต่งตัวให้เรียบร้อยอย่างธรรมเนียมไว้ทุกข์ คือผู้ชายนุ่งขาวสวมเสื้อขาว ผู้หญิงนุ่งขาว สวมเสื้อขาว ห่มขาว ถ้าเป็นชาติที่มีธรรมเนียมไว้ทุกข์ดำ ก็แต่งกายตามลัทธิแห่งตนๆ และถ้ามีดอกไม้ธูปเทียน หรือพวงมาลัยมากระทำการสักการะบูชาด้วยยิ่งดี จะมีเจ้าพนักงานคอยเป็นธุระจัดการให้ผู้ที่มานั้น ได้กราบถวายบังคมพระบรมศพตามความปรารถนา”

ข้อสังเกตจากจดหมายเหตุดังกล่าวพบว่า ธรรมเนียมเดิมของสยามหรือไทยนั้นเป็นการนุ่งขาวห่มขาว ขณะที่การแต่งชุดสีดำนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระวินิจฉัยในสาส์นสมเด็จตอนหนึ่งว่า

“ธรรมเนียมการไว้ทุกข์เราเอาตามอย่างต่างประเทศมาทั้งนั้น ของเราเองไม่มี” 

วสิน ทับวงษ์ อธิบายว่า การแต่งชุดดำไว้ทุกข์นั้นเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ เมื่อครั้งพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงสูญเสียเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามี เมื่อ พ.ศ. 2404 พระนางทรงฉลองไว้ทุกข์สีดำตั้งแต่คราวนั้นตลอดพระชนม์ชีพอีก 40 ปีให้หลัง แม้สิ้นยุคสมัยของพระนางแล้วแต่คนอังกฤษก็ยังยึดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กอปรกับช่วงนั้นเกิดการผลิตเสื้อผ้าด้วยโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้เครื่องแต่งกายมีราคาถูก ประชาชนทั่วไปจึงมีกำลังซื้อเพียงพอที่จะใส่ได้โดยง่าย จากนั้นธรรมเนียมดังกล่าวจึงขยายไปทั่วภาคพื้นยุโรป และเดินทางสู่อีกฟากหนึ่งของโลกตามยุคสมัยของการล่าอาณานิคม

…..

ตัวอย่างที่ยกมาเหล่านี้เป็นการดักจับบางประเด็นจากหนังสือ เสด็จสู่แดนสรวง, ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ มาเรียบเรียงอย่างย่นย่อเท่านั้น แน่นอนว่ายังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง โดยเฉพาะขั้นตอนของพระราชพิธีที่มีรายละเอียดแทบทุกกระเบียดนิ้ว

อย่างไรก็ตาม เราจะพบว่าจากจุดเริ่มต้นที่ประวัติศาสตร์ถูกฉีกขาดด้วยกาลเวลานั้น แม้เพียงร่องรอยเล็กน้อยที่นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบก็จะเห็นว่าผู้คนในอุษาคเนย์มีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับความตายที่สอดรับคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการบูชาสถาบันกษัตริย์ในฐานะสมมติเทพ ขณะที่ส่วนประกอบอื่นของสังคมในศตวรรษก่อนหน้าและตราบเท่าที่มีการบันทึกได้ถึงวันนี้จะพบว่า โดยรากฐานของรัฐสมัยใหม่นั้นล้วนถูกปลูกสร้างและหยิบยืมซึ่งกันและกัน จากอาณาจักรสู่อาณาจักร ทั้งจากแดนไกลถึงบ้านใกล้เรือนเคียง

เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มิวเซียมสยาม คลิกเพื่อดาวน์โหลด
สนับสนุนโดย

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า