หนุ่มสาวเอย หากผิดหวังจากการเมืองไทย ก็จงย้ายไปอยู่ที่อื่นเสียเถิด…

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

คนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยเป็นของคู่กันเสมอ ด้วยวัยที่เบ่งบานด้วยความคิดอ่าน และร้อนวิชาที่เพิ่งได้มาจากในรั้วมหาวิทยาลัย เราจึงเห็นแต่ข่าวคราวการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในประเทศต่างๆ มากมาย ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเรา

ยิ่งในยุคปัจจุบันที่พรรคการเมืองสมัยใหม่เผยแพร่อุดมการณ์แบบออนไลน์ กระจายแนวคิดและนโยบายได้ไม่ต่างกับไวรัส คนรุ่นใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคการเมืองที่สุดโต่งมากขึ้น เพราะเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ไม่รอความเชื่องช้าของนักการเมืองรุ่นเก่า แล้วหากสถานการณ์ไม่เป็นดั่งใจเขาแล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

ย้ายบ้านสิครับ!

ภาวะหนี ‘ความไม่เป็นประชาธิปไตย’ เคยเกิดขึ้นมากมายหลายครั้งทั่วโลก ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือกรณีฮ่องกงที่อังกฤษคืนให้กับจีนในปี 1997 ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่ปีเราจะเห็นแต่ข่าวการเรียกร้องประชาธิปไตยของเหล่านิสิตนักศึกษาฮ่องกง จนมีนักเคลื่อนไหวถูกจำคุกนับร้อยคน สะท้อนให้เห็นบทบาทของรัฐบาลจีนที่เอาจริงกับเกาะเล็กๆ แห่งนี้

ไม่น่าแปลกใจอะไรที่นับจากนั้นเป็นต้นมามีจำนวนคนจีนโยกย้ายถิ่นฐานไปสหรัฐอเมริกามากถึง 1.2 ล้านคน มากกว่าช่วงทศวรรษ 90 ที่มีเพียง 7 แสนคนเท่านั้น จำนวนนี้ปะปนกันทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน ซึ่งนิยมโยกย้ายไปยังอเมริกาและแคนาดามากเป็นพิเศษ

แม้ไม่มีตัวเลขที่ระบุว่าเป็นคนธรรมดาที่ไปแสวงโชคในต่างประเทศหรือเป็นนิสิตนักศึกษาที่หนีการปกครองแบบสังคมนิยมของจีน แต่ก็เดาได้ไม่ยากเพราะหลังจากนั้นในบรรดาเมืองใหญ่ที่เศรษฐกิจกำลังบูมสุดขีดอย่าง ‘ซิลิกอนวัลเลย์’ แคลิฟอร์เนียนั้น ล้วนเต็มไปด้วยคนหน้าเหลืองชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลกันทั้งนั้น

สถิติตัวเลขอย่างเป็นทางการบอกให้เรารู้ว่าคนจีนเหล่านั้นกว่าครึ่งคือ 52 เปอร์เซ็นต์ ทำงานในสายงานด้านบริหาร ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องใช้ทักษะชั้นสูง คือต้องเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำงานด้านการผลิตหรืองานก่อสร้างที่เน้นการใช้แรงงาน

นั่นหมายความว่าอาตี๋อาหมวยที่หลั่งไหลไปเรียนต่อในอเมริกายุคนั้น ไม่ว่าจะหนีระบอบการปกครองที่ตัวเองไม่ชอบ หรือมาด้วยเหตุผลอื่นใดก็ล้วนลงหลักปักฐานและทำมาหากินอยู่ที่นั่นต่อโดยไม่ยอมกลับบ้านกันนับล้านคน

อย่าลืมว่าพรสวรรค์ด้านวิชาการที่ชาวจีนมีติดตัวอยู่แต่กำเนิดทำให้มีโอกาสได้รับทุนการศึกษาและสอบเข้าเรียนในสถาบันชั้นนำของอเมริกา ชนิดที่เจ้าของประเทศได้แต่มองตาปริบๆ เมื่อเรียนจบมาแล้วจึงเป็นที่หมายปองของบริษัทชั้นนำในซิลิกอนวัลเลย์ที่กำลังขยายตัวอยู่

ส่วนประเทศบ้านเกิดที่เศรษฐกิจกำลังดีวันดีคืน แต่ถึงวันหนึ่งก็พบกับทางตันเพราะสมองไหลมานาน คนของตัวเองที่เก่งและมีความรู้ในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ล้วนกระจุกตัวอยู่ในประเทศอื่น รัฐบาลจีนในยุคนั้นจึงยอมผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ และเรียกร้องให้อาตี๋อาหมวยทั้งหลาย “กลับบ้านได้แล้ว” พร้อมแถมเงินอัดฉีดให้อีกต่างหาก จนถึงปี 2014 ก็มีเหล่าคนจีนที่ได้ดิบได้ดีในอเมริกายอมกลับจีนเป็นจำนวนมากถึง 1.4 ล้านคน

แน่นอนว่าด้วยประสบการณ์และความรู้ที่ได้ตักตวงมาจากประเทศต้นกำเนิดเทคโนโลยี การเติบโตของธุรกิจไฮเทคในจีนจึงพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากการเป็นเพียงโรงงานรับจ้างผลิต ก็กลายเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงาน ยา อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ ไปจนถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศ

กล่าวได้ว่าความสำเร็จของจีนในวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากเหล่านักศึกษาในอดีตที่ย้ายหนีระบอบการปกครองที่ไม่ถูกใจ ใฝ่หาเสรีภาพและเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ที่บ้านเกิดตัวเองไม่มีสอนจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ สะสมเงินทองได้มากมาย แล้วตัดสินใจย้ายกลับเมื่อประเทศของตัวเองเริ่มผ่อนปรน และตัวเองก็มองเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่สะสมมานับสิบปี

เมืองใหม่ที่เจริญรอยตามซิลิกอนวัลเลย์อย่างเซินเจิ้นจึงเต็มไปด้วยนักธุรกิจรุ่นใหม่ มีบริษัทใหม่จดทะเบียนกว่า 3 ล้านบริษัท มากเสียจนเฉลี่ยประชากร 4 คนต่อบริษัท 1 แห่ง และบทบาทของเซินเจิ้นก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่โรงงานผลิตของเลียนแบบราคาถูกๆ แต่เป็นเมืองต้นกำเนิดเทคโนโลยีที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีเช่น Huawei, DJI, Tencent

หันมามองบ้านเราในวันนี้ ระบอบการปกครองแบบไทยๆ อาจไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่ พรรคที่ชอบก็อาจไม่ได้บริหารประเทศอย่างที่หวังไว้ ครั้นจะออกมาต่อต้านเหมือนรุ่นปู่รุ่นพ่อก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่โตเกินไป คนเจนเนอเรชั่นใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเก็บงำความคิดของตัวเองเอาไว้ หากสถานการณ์ย่ำแย่กว่าที่คิดการ ‘ย้ายบ้าน’ ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมาก เพราะพ่อแม่ชนชั้นกลางในวันนี้ก็ไม่ได้ปิดกั้นที่ลูกจะไปเรียนและตั้งรกรากทำงานในต่างประเทศ

การแสวงหาโอกาสไปตักตวงความรู้และประสบการณ์จากประเทศอื่นจึงอาจเป็นทางออกของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ คนเป็นพ่อเป็นแม่คงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุนโยบาย ‘กลับบ้านกันเถอะ’ ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยเพื่อหาทางจูงใจเด็กรุ่นนี้ให้กลับมาพัฒนาประเทศต่อไป

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า