การเกิดขึ้นของโควิด-19 ไม่ได้มีผลเฉพาะสุขภาพทางกายเท่านั้น สุขภาพจิตก็เป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กัน
8 ตุลาคมที่ผ่านมา The Lancet วารสารการแพทย์ชื่อดัง เผยแพร่งานศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า (depression) และภาวะวิตกกังวล (anxiety) ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดปี 2020 โดยทำการเปรียบเทียบตัวเลขภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลระหว่างก่อนและหลังการแพร่ระบาด เพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงของภาวะทั้งสองใน 204 ประเทศทั่วโลก และนำมาสร้างดัชนีผลกระทบของโควิด-19 (COVID-19 Impact Index)
ผลการศึกษาพบว่า การแพร่ระบาดทำให้จำนวนผู้มีภาวะซึมเศร้าทั่วโลกดีดตัวสูงถึง 53 ล้านราย (สูงขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์ก่อนการแพร่ระบาด) ส่วนจำนวนผู้มีภาวะวิตกกังวลก็สูงขึ้นถึง 76 ล้านราย (สูงขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ก่อนการแพร่ระบาด) ทั้งนี้ ประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในผู้หญิง
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นจำนวนมาก เกิดจากความรับผิดชอบต่องานบ้านต่างๆ ในช่วงล็อคดาวน์ โดยการสำรวจในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2020 ของสหราชอาณาจักร พบว่า เมื่อเทียบกับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงต้องใช้เวลามากกว่าถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในการจัดการงานบ้าน และต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูเด็กมากกว่าเกือบ 2 เท่า ซึ่งการใช้เวลาไปกับงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทนนี้ เป็นส่วนที่ส่งผลให้เกิดภาวะไม่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาตามมา
ทั้งนี้ งานศึกษาดังกล่าวก็มีข้อจำกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการที่ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากการประเมินอาการโดยตนเอง (self-reported symptom) ไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์โดยตรง หรือการที่ความเจ็บป่วยทางจิตใจอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ ภาวะการกินผิดปกติ (eating disorder) ก็ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วย ตลอดถึงการที่ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมจากกลุ่มประเทศร่ำรวย ทำให้การนำไปประเมินกับกลุ่มประเทศยากจนอาจคลาดเคลื่อนได้ เพราะจากการรายงานของ UNESCO ผลกระทบของการแพร่ระบาดส่งผลให้ผู้หญิงในประเทศยากจนกว่า 11 ล้านคน ไม่ใช่การต้องเผชิญกับภาวะทางจิต แต่กลับเป็นการต้องลาออกจากโรงเรียนโดยที่อาจไม่สามารถกลับไปเรียนดังเดิมได้ อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการถูกบังคับกดขี่หรือต้องแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก
ที่มา
Covid-19 has led to a sharp increase in depression and anxiety