การดีท็อกซ์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการล้างพิษ เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าเราสามารถทำความสะอาดอวัยวะภายในร่างกายได้ด้วยการรับสารบางอย่างเข้าไป ผู้บริโภคเกือบทุกคนคงเคยได้ยินและสนใจเรื่องการดีท็อกซ์กันมาบ้าง แต่ทราบไหมว่า แนวคิดนี้อาจยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือเพียงพอ
เอ็ดซาร์ด เอิร์นส์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ทางเลือก แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ (Exeter University) ประเทศอังกฤษ ให้ข้อมูลว่า การดีท็อกซ์ที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์มีเพียงประเภทเดียว นั่นคือกระบวนการบำบัดผู้ติดยาเสพติด
ส่วนการล้างสารพิษด้วยกรรมวิธีหรือวัตถุประสงค์นอกเหนือจากนี้ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายหยิบยืมคำว่า ดีท็อกซ์ ไปใช้ในแง่การตลาด เพื่อเสริมแนวคิดการล้างสารพิษที่อาจสะสมอยู่ในร่างกาย จนกลายเป็นเรื่องยอดฮิตที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ
เอิร์นส์เสริมว่า หากสารพิษดังกล่าวสะสมอยู่ในร่างกายโดยที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ ก็จะก่อให้เกิดอาการป่วยหรือถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี อุปกรณ์ล้างพิษตามธรรมชาติของพวกเขาก็คือ ไต ตับ ผิวหนัง และปอดของพวกเขานั่นเอง
“ไม่มีทางที่การดีท็อกซ์จะช่วยให้อวัยวะภายในที่ทำงานได้ตามปกติอยู่แล้วทำงานได้ดียิ่งขึ้นไปอีก” เอิร์นส์สรุป
ในปี 2009 Sense about Science เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษ ติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ 15 ตัวที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านขายยาและซูเปอร์มาร์เก็ตที่อ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ล้างพิษ เพื่อขอข้อมูลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สามารถล้างพิษได้จริง โดยทั้ง 15 ตัว มีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไปจนถึงน้ำผลไม้ปั่นและแชมพู
เราสามารถหาซื้อชา มาส์คหน้า เกลืออาบน้ำ แปรงผม แชมพู เจล หรือแม้แต่น้ำยายืดผม ที่มีฉลากระบุว่าเป็นสินค้าสำหรับดีท็อกซ์ได้ไม่ยากตามร้านค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพทั่วไป โยคะและการนวด ก็เชื่อว่าสามารถล้างพิษในร่างกายได้ นอกจากนั้น เรายังสามารถหาคอร์สล้างพิษ 7 วันที่มาพร้อมกับโฆษณาว่าสามารถช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย
อย่างที่ทราบกันดี เมื่อพูดถึง ดีท็อกซ์ สิ่งที่ทุกคนนึกถึง ก็คือการสวนทวารด้วยน้ำดีท็อกซ์ ซึ่งนิยมใช้สูตรที่ผสมกาแฟ เพราะเชื่อว่านอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลำไส้ใหญ่ให้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการล้างสิ่งหมักหมมภายลำไส้ให้สะอาดขึ้นด้วย ขณะที่แพทย์แนะนำว่า การสวนกาแฟอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในลำไส้ได้ง่ายขึ้น
การดีท็อกซ์ที่ แคทเธอรีน คอลลินส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการประจำโรงพยาบาลเซ็นต์จอร์จแนะนำ ก็คือ การดีท็อกซ์แอลกอฮอล หรือพยายามงดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลในช่วงวันหยุด ซึ่งจะช่วยในแง่การปรับพฤติกรรมการดื่ม ขณะที่แนวคิดในการล้างพิษตับด้วยการรับอะไรก็ตามเข้าไปในร่างกายเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้
ปีเตอร์ ไอทอน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาประจำ City University London บอกว่า ผู้คนมักจะอ่อนไหวต่อกิมมิกหรือลูกเล่นทางการตลาดเหล่านี้ เพราะพวกเขารู้ว่าข้อมูลในแต่ละเรื่องนั้นมากมายมหาศาลแค่ไหน พวกเขาจึงสบายใจกว่าหากจะผลักภาระและความรับผิดชอบเรื่องข้อมูลไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ แทน เพราะแม้แต่การจะเข้าใจแชมพูอย่างแท้จริง อย่างน้อยๆ อาจจะต้องจบปริญญาเอกด้านชีวเคมี ฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า ดีท็อกซ์ โดยที่ยังไม่ได้ข้อมูลหรือหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะเข้าร่วมการดีท็อกซ์ต่างๆ ด้วยความสมัครใจ
ที่มา: theguardian.com