สำนักคนเหล็ก ‘ประเวศร์ยิม’

Prawes_mainway89-1

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

รูปภาพของนักเพาะกายระดับโลก สตีฟ รีฟ, บ๊อบ ปารีส และ เจย์ คัตเลอร์ ปรากฏอยู่บนกระดาษถ่ายเอกสารขนาด A4 ที่แปะอยู่บนสะพานลอย เสาไฟฟ้า และผนังตึกบางแห่ง มานาน 40 ปี จั่วหัวกระดาษแผ่นนั้นเขียนว่า ‘ประเวศร์ยิม’

ในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 5 ไม่ไกลจากวงเวียนใหญ่ ไม่ไกลจากความรู้จักของคนในซอย และไม่ได้อยู่นอกเส้นทางของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  ตึกแถวสามคูหาของ ประเวศร์ เตชะอธิก เปิดเป็นยิมระดับตำนาน และมีอายุครบ 40 ปีพอดี

“ผมอยู่ที่นี่ ไม่เคยย้ายเลย เรียกว่าจะทำกันจนเลิกก็เลิกที่นี่ละมั้ง”

ประเวศร์ยิม

ประเวศร์ วัย 66 ปี เริ่มเล่นกล้ามตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ที่ลือชายิม ไม่ไกลจากสี่แยกบ้านแขก เขาเคยลงประกวด ภาพบนผนังประเวศร์ยิมมีภาพถ่ายสมัยครั้งอายุ 18, 19 และ 21 ประดับอยู่ ประสบการณ์ของจริงในยุคนั้นไม่ได้มาจากการสอน แต่มาจากการทดลอง มองดูคนอื่น แล้วทำตาม

“ใช่ๆ ตอนหนุ่มๆ ผมชอบเล่น เราเล่นประกวดไง เริ่มเล่นก็ตอนอายุ 18 – 19 แล้วก็ชอบมาตลอด แต่ความเก่งมันไม่ถึงขั้นนั้น คุณต้องใช้เวลาและประสบการณ์ เหมือนเราได้ขั้นที่ 1 มาแล้ว ก็ขั้นที่ 2 สมัยก่อนผมไปเล่นไม่มีใครสอนนะ ดูเขาเล่น แล้วเราก็ยก เจ็บ ระบมไปทั้งตัว บางทีนอนพลิกตัวไม่ค่อยได้ ตื่นเช้ามาก็ไปเล่นอีก ไปอีก ไปจนมันชินไปเอง”

นี่คือสิ่งที่ชายคนหนึ่งรักที่สุด การสร้างกล้ามเนื้อ จนวันหนึ่ง ขนาดของยิมอื่นก็เล็กเกินไปกว่าความต้องการเสียแล้ว ประเวศร์จึงเปิดยิมขึ้นเพื่อเป็นรวงรังใหม่ของตัวเอง

“สมัยผมเล่นคนมันไม่เยอะ สมัยนี้มีแต่ควันรถ ท่อไอเสีย คนก็ไม่เล่นแล้ว เจอแต่มลภาวะ สมัยผมเล่นที่มันน้อย เล่นไม่สะดวก ก็ไม่รู้ทำไง ก็เลยมาทำเล่นเอง ทำไปทำมาก็เปิดให้เขาเล่น แรกๆ มันก็แค่ชั้นล่าง แล้วคนมันเยอะ ไม่พอเล่น ก็ขยายมาชั้นบน แล้วคนเยอะ ไม่พออีก ก็ทำห้องซ้ายห้องขวา แล้วก็ลามไปสามบ้าน ก็พอแล้วแค่นี้ แค่ทำความสะอาดก็น่วมไปทั้งตัวแล้ว เหนื่อยแล้ว”

ในวัย 66 ปี คนเราผ่านช่วงสูงสุดของการใช้ร่างกายมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสังขารจะต้องหยุดนิ่ง ประเวศร์ที่เคยเล่นเพาะกายเพื่อการประกวดก็ยังคงยกลูกเหล็ก เพียงแต่น้ำหนักและพละกำลังเปลี่ยนไปตามวันวัยที่มากขึ้น

“ตอนนี้เล่นพอประมาณ คนเราอายุมากขึ้น กำลังมันก็ถอยตามวัยนั่นแหละ แต่เรียกว่าเราแข็งแรงกว่าคนธรรมดาที่ไม่ออกกำลังกาย”

ประเวศร์ยิมทั้งสามคูหา แบ่งสัดส่วนออกกำลังเป็นหลายห้องในพื้นที่สามชั้นของอาคาร โดยแบ่ง ‘ความโหด’ จากบนลงล่าง กล้ามขนาดน้อยอยู่ข้างบน ส่วนชั้นล่างเป็นของนักกล้ามชนิดจริงจัง-เปล่าไม่ใช่แค่เหตุผลเรื่องชนชั้น แต่ด้วยโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับของเหล็กหนักๆ เครื่องเล่นที่มีขนาดเบากว่าจะอยู่ชั้นสองและสาม ส่วนพวกที่ต้องการลูกเหล็กมากๆ จะมีพื้นที่ทำการอยู่ชั้นล่าง

“มันมีทุกอย่าง มีแบบมาเล่นออกกำลังกาย มาเล่นต้องการให้มันขึ้นหน่อยหนึ่ง พวกสไตล์นายแบบ หรือจะเล่นให้ขึ้นมากๆ มันมีทุกแบบ คนที่เล่นกันหนักๆ ใส่เหล็กกันเยอะแยะ ไว้ข้างบนกลัวตึกถล่ม พวกตัวใหญ่ๆ เล่นน่ากลัวเลย คนที่เล่นหนักก็เล่นข้างล่าง พวกที่เล่นเบาก็ขึ้นข้างบน”

Prawes_mainway89-3

เล่นจริง เหล็กจริง

ความ ‘เก่า’ ที่หลายคนเรียกว่าถึงขั้น cult ก็คือ เครื่องเล่นทุกอย่างในประเวศร์ยิมเป็นฝีมือการทำของเจ้าของวัย 66 ปีทั้งหมด – หมายความตามตัวอักษร เขาสั่งตัดเหล็กและนำมาลงมือเชื่อมด้วยตัวเอง เป็น homemade gym ที่น่าจะเป็นแห่งเดียวในประเทศ

“ยิมที่เปิดแล้วทำเครื่องมือพวกนี้เองรู้สึกจะมีผมคนเดียวเลย มีน้อยมาก ผมสังเกตว่าพวกทีวี พวกสื่อก็มาที่ผมคนเดียวนะ ไม่เห็นมีเลย บางทีผมดัดแปลงเอาด้วย บางทีเขาใช้ดัดเอา ผมไม่ได้ดัด องศาเราต้องรู้ รู้จากประสบการณ์เรา ไม่งั้นทำไม่ได้ ถ้าเราไม่มีความรู้ตรงนี้ก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างมันอยู่ที่ประสบการณ์ เพราะสรีระของคนไม่เท่ากัน บางคนแขนสั้นแขนยาว ตัวเตี้ยตัวสูง ส่วนแผ่นน้ำหนักพวกนี้หล่อเอาทั้งหมด จ้างโรงหล่อ พวกที่ทำขายเขาก็จ้างหล่อเหมือนกัน”

ไม่ต่างจากหัดเล่นเพาะกาย การเชื่อมเหล็กแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ประเวศร์หาวิชามาประดิษฐ์ชิ้นงานด้วยตัวเอง ทำซ้ำๆ พลาด…ทำใหม่ พลาด…ทำใหม่

“สมัยก่อนผมจ้างตัดเหล็ก แล้วจ้างเขาเชื่อม จ้างคนนู้นจ้างคนนี้ แล้วมันหาช่างถูกใจเราก็ยาก ไปทั่วไปหมด ที่ไหนผมก็ไปทั่วไปหมด ก่อนนี้มีอยู่บ้านหนึ่งแถวนี้เขาเชื่อมเหล็ก ก็ไปให้เขาเชื่อม เชื่อมไปเชื่อมมา ตู้เชื่อมเขาเสีย ก็ไปซื้อตู้เชื่อมมาแล้วกะว่าจะให้เขาใช้ แล้วเวลาทำก็หักค่าตู้มาเรื่อยๆ เผอิญเขาย้ายบ้านไป แล้วตู้อ็อกก็ทิ้งอยู่ที่บ้าน ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยจ้างคนมาต่อไฟ แล้วหลับหูหลับตาซี้ซั้วอ็อก มองไม่เห็นเลย ไม่กล้ามอง มันก็อ็อกไม่ตรง วันหนึ่งห้าแผล ก็อ็อกมันทุกวัน ทำจนได้ ทำจนคล่อง”

เมื่อเป็นยิม เครื่องมือสำหรับคนต้องการยกให้หนักก็ต้องมีน้ำหนักอยู่ในตัว สำหรับอุปกรณ์ที่เป็น homemade gym ก็ต้องแบกรับน้ำหนักได้ และต้องยึดความปลอดภัยเป็นหลัก

“เราต้องคำนวณ ว่าอันนี้ใช้แบบนี้ๆ มันต้องใช้เหล็กหนาขนาดไหน เราต้องรู้ ไปใช้เหล็กบางๆ ไม่ได้ อันตราย บางตัวที่มันกินแรง เราต้องใช้เหล็กที่แข็งแรงเลย เหล็กหนา เราต้องเข้าใจวิธี บางอย่างนี่ (ขาบาร์เบล) ก็ต้องใช้เหล็กตัน ไม่ต้องกลัวว่าจะหัก”

ตัวยิมไม่ได้สวยหรูเหมือนฟิตเนสสมัยใหม่ ไม่ติดแอร์ พื้นที่น้อย เครื่องเล่นวางชิดกัน แต่เมื่อมองการใช้งานนำหน้าความสวยงาม เครื่องเล่นเหล่านี้ใช้การได้ดี และหากย้อนไปสมัยที่การประกวดชายงามยังเป็นที่นิยมเมื่อ 10 – 20 ปีก่อน ลูกค่ายที่นี่ก็เคยคว้ารางวัลไปไม่น้อย

ไม่เจ็บ ไม่จำ

ฟิตเนสในปัจจุบันส่วนมากมักมีเทรนเนอร์ และค่าใช้จ่ายในการออกแบบโปรแกรมการฝึกกล้ามเนื้อแต่ละส่วน ที่ประเวศร์ยิมก็มีหลักการไม่ต่างกัน

“บางคนก็จ้างเทรนเนอร์หลายตังนะ คนมีเงินเขากล้าเสียเงินเขาก็จ้างคนสอน อย่างเรานี่เล่นอย่างพื้นๆ ชาวบ้าน แต่เราเล่นกันของจริงด้วย ใหญ่จริงด้วย”

คำว่าเล่นอย่างชาวบ้าน ไม่ได้แปลตรงตัวว่าไม่มีหลักการ ไม่มีทิศทาง หรือเป็นมวยวัด จากประสบการณ์ของเจ้าของที่เคยเป็นนักเพาะกายรุ่นเก่า หากไม่รู้วิธีที่ถูก คงเปิดกิจการไม่ได้นานถึง 40 ปี

“ผมต้องรู้สิ (หัวเราะ) ผมไม่รู้ไม่ได้เลยนะ คุณมาเป็นเจ้าของยิม คนที่มาเล่นบางคนเป็นเด็กมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ พวกมีความรู้สูงซักเรา ไม่มีความรู้ก็ตอบเขาไม่ได้นะ”

กล้ามไม่ใช่ของที่ได้มาง่ายๆ เมื่ออยากได้ก็ต้องลงแรง ‘No Pain No Gain’ ไม่เจ็บไม่ใหญ่ สำหรับผู้เริ่มต้น บางคนอาจยุติเส้นทางตั้งแต่เริ่มเดิน เพราะความเจ็บปวดที่ว่า แต่การเจ็บให้ได้กล้ามก็ต้องมีศาสตร์ของมัน โดยประเวศร์จะเป็นคนสอน เป็นเทรนเนอร์ ให้กับทุกคนที่หัดเล่นของหนักเป็นครั้งแรก

“ก็เล่นทีละตัว หน้าอกก็มีสามเครื่อง ปีกก็สามสี่เครื่อง ยกยังไง ระบบหายใจยังไง ใช้น้ำหนักประมาณไหน เพราะไม่อย่างนั้นเล่นแล้วกลับไประบมทั้งตัว แนะนำเขาวันเดียวเขาก็เข้าใจ วันอื่นเขาก็เล่นตามที่เราบอก เป็นเดือน ใหม่ๆ จะมาแยกส่วนเล่นมันไม่ไหว เจ็บ ไม่ได้ ต้องเล่นหลายๆ อย่าง แทบทุกส่วน แล้วมันจะตึงๆ ตรงนู้นหน่อย ตรงนี้หน่อย แต่ไม่เป็นไร ถ้าไปเน้นเป็นบางส่วน แย่เลย ระบม

“มันสำคัญที่ว่าเข้ามามันต้องมีคนสอน ไม่ให้เล่นมากเกินไป ให้ร่างกายเขารับได้ คือเจ็บมันมีอยู่แล้ว แต่มันมากน้อยไง พอมาเล่น เล่นเสร็จกลับไปกล้ามเนื้อมันขยาย มันก็ปวด ทีนี้คนที่มาเล่นใหม่ๆ เราต้องสอนเขา อย่าเล่นหนักเกินไป อย่าเล่นเยอะเกินไป แล้วพอกลับไปบ้านก็ตึงๆ นิดหนึ่ง อีกครั้งมาเล่นก็เจ็บหน่อยๆ 5-7 วันก็ปกติแล้ว ร่างกายมันปรับได้ มันก็ไม่เป็นไร ถ้าคนที่เล่นโดยไม่มีความรู้ เล่นเยอะเกินไป หนักเกินไป เสร็จแล้วแขนนี่แย่เลย ตึงไปหมด ถูฟันไม่ได้ ยกไม่ขึ้น มี กว่ากล้ามเนื้อจะคลายได้มันต้องใช้เวลาหลายวัน”

จุดประสงค์ของการยกเหล็กของหลายคนแตกต่างกันไป วิธีการ ‘เล่น’ ของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน คนที่ต้องการเล่นเพื่อสุขภาพอาจเล่นที่น้ำหนักประมาณหนึ่ง กินประมาณหนึ่ง ดูแลตัวเองให้ได้ผลตามที่ต้องการ

“บางคนเล่นนิดหน่อยกลับบ้านก็มี บางคนเล่นชั่วโมงหนึ่ง บางคนไม่ถึงชั่วโมง บางคนสองสามชั่วโมง มีหมด แล้วแต่เวลาแต่ละคน ถ้าคนที่เขาเล่นแบบสุขภาพเขาก็ไม่ต้องไปบำรุงมาเยอะ แรงก็มีประมาณแค่นั้นเขาก็หมดแล้ว คนที่จะเล่นเอากล้ามเนื้อใหญ่ๆ ก็มีทั้งเล่นทั้งบำรุง นั่นกินมาถึงไง สามารถเล่นได้นาน เล่นได้มาก เล่นได้หนัก”

หลักการการเพิ่มกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเล่นที่ไหนร่างกายคนก็พัฒนาได้จากสูตรเดียวกัน เมื่อมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ก็เท่ากับว่ากล้ามเนื้อกำลังขยาย ถ้าเล่นแล้วสบายๆ คงไม่ได้อะไรขึ้นมา คนที่เล่นแบบจริงจังจังเล่นน้ำหนักให้มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับกินอาหารโปรตีน เนื้อ นม ไข่ เข้าไปเพื่อซ่อมแซมและบำรุงกล้ามเนื้อให้ขยายขนาด

“การเจ็บปวดมันทำให้กล้ามเนื้อมันขยาย ถ้าคุณเล่นแล้วเฉยๆ มันไม่ได้ผลหรอก ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย คนที่มันจะเล่นเอาใหญ่ก็เพิ่มน้ำหนักให้หนักขึ้นๆ จะต้านมากขึ้น ออกแรงมากขึ้น มันจะเจ็บจะปวด เสร็จแล้วหลังจากเราเลิกเล่น เรากกลับบ้านไปกินอาหารพวกเนื้อ นม ไข่ โปรตีน มันก็เข้าไปซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่เราเล่น มันก็จะใหญ่ขึ้น แข็งแรงเพิ่มขึ้น วันละนิดวันละหน่อย”

และหากจะเอากล้ามที่ใหญ่ขึ้น อีกด้านของสมการก็มีราคาที่ต้องจ่ายไม่ต่างกัน-อยากได้ใหญ่ นอกจากกินให้ดีก็ต้องเล่นให้หนัก ตามลำดับชั้นของประเวศร์ยิม หากยังไม่พอใจกับขนาดกล้ามบนพื้นที่ชั้นสอง ของที่หนักกว่าบริเวณชั้นล่างคือพัฒนาการขั้นต่อไป

“มันจะเอาก้าวหน้าขึ้นก็ต้องเล่นเพิ่มขึ้น บางคนเล่นอยู่ชั้นบนสองปีแล้ว ใหญ่แล้ว แต่ไม่ลงมาข้างล่าง ก็อยู่แค่นั้นไม่ใหญ่ขึ้นแล้ว ถ้าลงมาข้างล่างมันก็จะใหญ่ขึ้น มันเหมือนกับต้นไม้ ซื้อมากระถางพลาสติกเล็กๆ มันอยู่ของมันแค่นั้น ถ้าเราอยากจะให้มันออกดอก หรืออยากให้มันโตขึ้น เราก็ต้องย้ายกระถางให้ใหญ่ขึ้น ใส่ปุ๋ยมากขึ้น ใส่ดินมากขึ้น มันก็โตขึ้น”

 Prawes_mainway89-2

ยิมในตำนาน

ปัจจุบันแม้ประเวศร์ยิมจะมีสมาชิกไม่ถึงร้อยคน แต่ ‘ลูกค่าย’ ที่เคยผ่านมือ ‘เฮีย’ มีมากกว่า 20,000 คน

“คนนู้นเข้า คนนี้ออก ถ้ามันอยู่กันจนป่านนี้ ตึก 10 ห้องยังไม่พอเล่นเลย (หัวเราะ) 40 ปีแล้ว บางทีพ่อเล่นเสร็จ เดี๋ยวก็รุ่นลูกหลานก็มา”

สามคูหาของประเวศร์ยิม ใช้หูฟังเหมือนกว้าง เมื่อใช้ตาดูกลับตรงกันข้าม พูดให้ตรง ‘แน่น’ คือคำนิยามที่ดูใกล้เคียง ไม่มีพื้นที่ไหนถูกใช้อย่างสูญเปล่า เพราะเครื่องเล่นทุกชิ้นวางติดกันชนิดยากจะเดินสวน จินตนาการไม่ออกว่า เมื่อจับคนตัวใหญ่ไปวางบนเครื่องออกกำลังเหล่านี้แล้ว ความ ‘แน่น’ จะทวีขนาดขึ้นอีกหรือเปล่า

“คนไม่ได้เยอะขนาดที่ว่าหรอก มันคนนู้นไปคนนี้มา คนนู้นมาคนนี้ไป เครื่องที่ติดกันอันหนึ่งไปข้างหน้า อันหนึ่งมาอีกทาง บางทีเขาก็ผลัดกัน มันเล่นได้ ก็ดูสิ ตั้งสามบ้านมันยังไม่มีที่วาง ของผมมันเสียตรงทำเครื่องมือขายไปด้วย พวกนี้มันเลยมีเศษอะไรบ้าง มันก็เลยดูเป็นยิมที่ไม่สมบูรณ์แบบ”

และประเวศร์ก็ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกระดับตัวเองให้เป็นฟิตเนสสมัยใหม่ติดแอร์เย็นๆ

“ไม่เคยคิด (หัวเราะ) คือผมทำเรตนี้ให้คนทั่วไปได้เล่น คนรายได้น้อยเขาก็เล่นได้ คนที่กระเป๋าไม่ถึงก็เล่นไหว เดือนละ 500 ถ้าไปเล่นอย่างนั้นเดือนละหลายตัง สมัยทำแรกๆ เก็บ 30 บาท 50 บาท ก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2518

“มันไม่ร่ำรวยอะไรหรอก เราทำแล้วตัวเราเองได้เล่นด้วย ไม่งั้นใครจะมานั่งทำอย่างนี้ตั้งนมนาน ใช่ไหม”

สถานที่ที่ถูกยกให้เป็น ‘ยิมในตำนาน’ และเป็นเรื่องลึกลับสำหรับหลายคนที่เคยเห็นแค่ใบประกาศรูปนักกล้าม บางคนตั้งคำถาม “ประเวศร์ยิมมีจริงหรือ” และ “คนชื่อประเวศร์มีตัวตนจริงหรือเปล่า” แต่ก็เป็นเพราะใบประกาศโฆษณานี่เองที่ดึงดูดให้สมาชิกเดินทางมาจากหลายทิศทางเพื่อมาเป็น ‘ลูกค่าย’ ประเวศร์ยิมจึงเป็นยิมเล็กที่ชื่อใหญ่และไม่ได้ทำให้เล่นกันแต่เพียงคนในซอย

“คนมาจากไกลๆ พวกใกล้ๆ ไม่เท่าไหร่ ยิ่งทั้งซอยเข้ามานับคนได้ มาจากที่อื่นทั้งนั้น จากบางแค บางพลัด ปิ่นเกล้า มาคนละทิศคนละทาง พระประแดง บางรัก ฝรั่งคนนี้สวีเดน (ชี้ที่รูป)  เขามาเล่นที่นี่ มีแทบทุกชาติเลย หลากหลาย แขก คนดำ มีหมด เดือนที่แล้วก็มีคนดำสามคน”

Prawes_mainway89-6bw

เรื่องราวสีขาวดำ     

ฉากที่เป็นเอกลักษณ์ของประเวศร์ยิมนอกจากเครื่องเล่นเหล็กแท้ที่วางเรียงกันอย่างแน่นหนาแล้ว คือภาพนักกล้ามสมัยเก่าขาว-ดำที่เรียงกันเต็มผนัง เป็นแกลลอรีของสะสมที่หายาก

“พวกรูปพวกนี้โบราณแล้ว รูปเดี๋ยวนี้หาไม่มีแล้วนะ ขาว-ดำนี่นะ มีที่นี่ที่เดียว ผมซื้อมาจากคนรุ่นเก่าที่เขาแก่กว่าผม แล้วเขาเสียไป เมียเขาขายต่อให้”

หนึ่งในรูปขนาดใหญ่ที่เด่นไปกว่ารูปอื่นๆ สตีฟ รีฟ แชมป์ Mr.Universe ในปี 1950 และนักแสดงจากเรื่อง Hercules ในปี 1958 เป็นคนเดียวกับที่เห็นในแผ่นโฆษณาที่หลายคนเคยพบเห็น

“เกือบ 40 ปีแล้ว ตั้งแต่ตอนเริ่มๆ ทำ มันเป็นสื่อที่ทำให้คนรู้จักที่นี่ ถ้าไม่มีอันนี้มันอยู่ในซอยใครจะไปรู้ ทุกวันนี้แปะน้อย มันแก่แล้ว บางทีสมาชิกเขาก็ช่วยติดให้ ไม่มาก สมัยก่อนออกไปติดเอง

“ที่เอารูปพวกนี้มาใช้เพราะมันดึงดูดตา นี่ สตีฟ รีฟ มีอยู่คนเดียวที่แผ่นอกติดกัน จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีใครรูปร่างเหมือนเขาเลย ธรรมชาติสร้างมาสวย พวกหลังๆ มันใหญ่เพราะใช้พวกหยูกยา มันไม่ใช่ธรรมชาติ พวกฉีด พวกกิน อันตราย ผลข้างเคียงมันมี สมัยนี้บางทีมันเล่นกันยอมตายเลย”

แม้หลายคนที่เห็นแผ่นโฆษณา ‘ประเวศร์ยิม’ จะไม่เคยมาสถานที่จริง เห็นด้วยตา จับโครงเหล็กจริงๆ ด้วยสองมือ แต่โปสเตอร์รูปนักกล้ามที่ว่าก็กลายเป็นตำนาน เช่นเดียวกับที่เจ้าของยังยืนยันที่จะทำยิมของเขาต่อไปด้วยใจรัก

“ยิมที่เป็นตำนาน 40 ปีแล้ว คนอื่นเขาเลิกไปแล้ว ของผมยังทนอยู่ อยู่ทน ”

 

 

บางส่วนจากคอลัมน์ Main Way นิตยสาร WAY ฉบับที่ 89 กันยายน 2015

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า