รางวัลปีศาจเกิดขึ้นจากกลุ่มคนไม่กี่คนที่มองเห็นแนวโน้มด้านวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
คำเปิดของ กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี ในงานแถลงข่าว ‘รางวัลปีศาจ’ เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าถึงที่มาของรางวัลที่หยิบยืมจากชื่อนวนิยายชิ้นสำคัญของยุคสมัยที่ผ่านพ้น แต่ ปีศาจ (2500) ยังคงหลอกหลอนข้ามมายังยุคปัจจุบันของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ก่อนจะตั้งคำถามว่า ในอดีตที่ผ่านมา มีรางวัลใดบ้างที่ผู้รับไม่ต้องหมอบราบรับรางวัล และไม่ต้องรู้สึกติดค้างผู้มอบ มีรางวัลใดอีกบ้างที่ผู้มอบเป็นตัวแทนประชาชน และผู้รับสามารถรู้สึกขอบคุณอย่างจริงใจกับรางวัลที่สร้างวรรณกรรมขึ้นมา
“นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราต้องคิดอย่างทบทวนและอย่างจริงจังหลายๆ ครั้งว่าอะไรคือหลักเกณฑ์ที่เราใช้พิจารณาเพื่อตัดสิน ‘รางวัลปีศาจ’ นวนิยายที่สนับสนุนความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ผู้มีอำนาจ เทิดทูนผู้มีกำลังด้วยการอ้างถึงประวัติศาสตร์หรือคุณธรรมสูงส่งที่ไม่มีใครตรวจสอบหรือวิจารณ์ได้ใช่ไหม หรือนวนิยายที่ตอกย้ำว่าโลกหรือสังคมเรามันเป็นเช่นนี้แหละ คุณควรพอใจกับชีวิตเช่นนั้นหรือเปล่า อย่าไปถามหาความหมายอะไรเลย”
กิตติพลกล่าวต่ออีกว่า เกณฑ์ในการพิจารณารางวัลปีศาจคือวรรณกรรมแห่งเรื่องเล่าที่ท้าทายกรอบคิดและจารีตต่างๆ ที่พยายามรักษาความไม่ปกติในสังคม โดยมีกลุ่มคนที่ยินยอมพร้อมใจให้ความร่วมมือให้เกิดขึ้น
‘พื้นที่’ ของการพูดความจริง
นอกจากนี้กิตติพลยังกล่าวว่า รางวัลปีศาจมีจุดมุ่งหมายเปิดพื้นที่ให้กับนักเขียนที่ไม่อาจบอกเล่าสภาวะตามจริงได้ แต่ใช้ศิลปะของวรรณกรรมเป็นเครื่องมือเล่าเรื่อง และไม่เพียงแต่รูปแบบนวนิยายเท่านั้น รางวัลปีศาจยังเปิดพื้นที่ให้วรรณกรรมที่ไม่อาจระบุประเภท ไม่อาจจำแนก หากเพียงเรื่องเล่าอยู่ในโจทย์ของการเล่าความเป็นจริงในฐานะของปีศาจแห่งยุคสมัยเพื่อเปลี่ยนแปลง
เราต้องการปีศาจเพื่อสะท้อนความลวงในความดี
ขณะที่ วริตตา ศรีรัตนา จากภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ‘รางวัลปีศาจ’ เป็นหนึ่งในรางวัลวรรณกรรมที่ควรมีหลากหลาย เป็นหนึ่งในพื้นที่ หนึ่งในสนามและเกมอันหลากหลาย ที่ผู้เล่าสามารถทดลองเล่นส่งบอลกับเรา
“เรามุ่งสร้างความหลากหลาย ไม่ผูกขาด เราสวมกอดและก้าวข้ามการนำเสนอหรือแบรนด์ตัวเองว่าเป็น antithesis หรือขั้วตรงข้ามของรางวัลที่เคยตั้งกันมา ในฐานะกรรมการคนหนึ่ง ยอมรับตั้งแต่ต้นเลยว่ารางวัลนี้ไม่มีทาง objective เป็นปรวิสัย หรือสัมบูรณ์ ไม่รับคำสั่งจากใครนอกจากตัวเอง ในฐานะผู้โหยหางานวรรณกรรมแบบที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนรถยนต์ เรือ หรือรถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือเดินชมเมือง วิ่งมาราธอน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่พาเราเคลื่อนผ่านใบหน้าของมวลชนที่เราเหมือนจะรู้จัก แต่ไม่มีวันรู้จัก แต่ก็อยากจะเขียนหา เขียนถึงด้วยความอยากอันเปี่ยมหวัง”
รางวัลของประชาชน
เช่นเดียวกันกับ อาทิตย์ ศรีจันทร์ จากภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวสอดรับกับวริตตาว่า ‘รางวัลปีศาจ’ ไม่มีทางเป็น objective เนื่องจากต้องผ่านการถกเถียงพูดคุยเพื่อให้ได้วรรณกรรมที่ทรงคุณค่า
“ในฐานะอาจารย์สอนวิชาวรรณกรรม สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามันยากที่สุดในการเลือกหนังสือแต่ละเล่มให้นักศึกษาอ่านคือ เราจะเลือกเล่มไหน และเลือกเพราะอะไร นี่เป็นสิ่งที่ลำบากใจสำหรับคนที่เป็นอาจารย์สอนวรรณกรรม และเป็นกรรมการที่จะต้องตัดสินว่า ทำไมเล่มนี้ถึงดีกว่าเล่มนั้น แต่ในท้ายที่สุด ผมอยากให้คิดว่า ทั้งหมดมันคือกระบวนการของการถกเถียงกัน
สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับนวนิยายเรื่อง ปีศาจ คือชีวิตในตอนที่มันเกิดมามันมีชีวิตค่อนข้างสั้น แต่มันมีชีวิตหลังจากนั้นก็สิบกว่าปีแล้ว มันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนให้ออกมาเปลี่ยนแปลง ออกมาท้าทาย ปกป้องสิ่งที่เขาเชื่อ ซึ่งผมคิดว่ารางวัลวรรณกรรมปีศาจก็เป็นรางวัลที่มีกลิ่นอายหรือมีจิตวิญญาณของนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ และผมก็หวังว่าในอนาคตจะมีโอกาสได้เลือกวรรณกรรมปีศาจไปให้นักศึกษาอ่าน แล้วแนะนำนักศึกษาว่านี่คือวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลปีศาจ รางวัลวรรณกรรมของประชาชนอย่างแท้จริง
วรรณกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลง
ในขณะที่จากฟากฝั่งวิชาการ พิพัฒน์ พสุธารชาติ นักวิชาการอิสระ ออกตัวก่อนว่าตนไม่ใช่ผู้ศึกษาด้านวรรณกรรมอย่างจริงจัง แต่มองว่าวรรณกรรมที่ดีควรมีทั้งความสนุก มีคุณค่าในเชิงการเล่าเรื่องที่ต้องสะท้อนภาพบางอย่างของสังคมได้ อีกทั้งยังกล่าวว่า ในฐานะกรรมการแล้ว แม้รางวัลปีศาจจะเต็มไปด้วยความหลากหลายของตัวคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม กรรมการแต่ละคนจะต้องอธิบายได้ว่า เหตุใดจึงเลือกนวนิยายเล่มนี้ ไม่เลือกนวนิยายเล่มนั้น
“เราคิดว่ารางวัลของเราจะเป็นรางวัลที่เปิดเพดานทางการเขียนให้กับนักเขียน จากที่เขาเคยคิดว่าเขาทำได้แค่นี้ ให้เขาทำได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อให้เขาสร้างทุนทางสัญลักษณ์ต่อไป และเหมือนที่อาจารย์วริตตาได้พูดไป เพื่อจะได้เปิดเกมขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา”
กล่าวได้ว่า รางวัลวรรณกรรมปีศาจ เป็นรางวัลที่มุ่งมาดไปยังการรื้อความลวงของสังคมให้หลุดล่อนลงมาให้เห็นความจริงที่ถูกฉาบปิดไว้ผ่านศิลปะการเล่าเรื่องที่เรียกว่า ‘นวนิยาย’ หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งเช่นกันว่า เป็นการโต้ตอบมิติทางสังคมที่ต้องการตีกรอบหลายสิ่งหลายอย่างให้ตีความได้เพียงความหมายเดียว และไม่ใช่ความหมายที่ประชาชนเป็นผู้ถือครองอย่างเท่าเทียม
ดังนั้น หากยึดตามแถลงการณ์ ‘รางวัลปีศาจ’ ที่มีรากฐานจากวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของประชาชนสามัญ จึงกล่าวได้ว่า ไม่เพียงแต่ต้องการสนับสนุนวรรณกรรม รางวัลปีศาจยังส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย ทั้งในส่วนของเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น และความเท่าเทียมที่ประชาชนควรยึดถือ
ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้