‘นักวิชาการ’ และ ‘นักการเมือง’ ในความหมายของ มักซ์ เวเบอร์

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: Shhhh

สำนักพิมพ์สมมติ และ Black Circle ชักชวนมาตั้งวง Hidden Dialogue #1 ณ ร้านหนังสือสมมติ & the Object ในวาระว่าด้วยผลงานหนังสือ วิชาการในฐานะอาชีพ และ การยึดมั่นในอาชีพทางการเมือง ทั้งสองเล่มเป็นผลงานสำคัญของนักวิชาการผู้เป็นหนึ่งในสามเสาหลักด้านสังคมวิทยาระดับโลก – มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) โดยมี พิพัฒน์ พสุธารชาติ บรรณาธิการเล่ม ‘วิชาการในฐานะอาชีพ’ บดินทร์ สายแสง สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และฐิติกร สังข์แก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มาถกถ้อยสนทนาในบรรยากาศเป็นกันเอง ในหัวข้อที่อาจจะมีวาระซ่อนเร้นที่ค่อนข้างจริงจังระหว่างอาชีพ ‘นักวิชาการ’ และ ‘การเมือง’

 

ทำไมเราจึงต้องอ่านงานของเวเบอร์

ในฐานของบรรณาธิการเล่ม พิพัฒน์เปิดวาระสนทนาด้วยคำถาม ทำไมเราต้องอ่านงานของ มักซ์ เวเบอร์ ก่อนจะให้คำตอบว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาในแวดวงวิชาการ งานของเวเบอร์มีการแปลออกมาเพียงเล่มเดียวโดยอาจารย์ด้านมานุษยวิทยาท่านหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของชนชั้น ถัดมาจึงเป็นสองเล่มนี้ คือ วิชาการในฐานะอาชีพ (Scholarship as a Vocation) และ การยึดมั่นในอาชีพทางการเมือง (Politics as a Vocation) แม้ว่า 5 ปีก่อน ธเนศ วงศ์ยานนาวา จะเคยเขียนเกี่ยวกับผลงานของเวเบอร์ออกมาแล้ว ในชื่อ วิธีของการบำเพ็ญตบะและอาชีพทางการเมือง ซึ่งเป็นหนังสือภาคภาษาไทยไม่กี่เล่มที่กล่าวถึงงานของเวเบอร์ล้วนๆ ก่อนจะอ้างอิงคำพูดของธเนศที่ว่า

“…ถ้าหากคุณเป็นนักวิชาการ อ่านหนังสือตำรารัฐศาสตร์ สังคมวิทยา ถ้าหากคุณอ่านเนี่ย ในหนึ่งอาทิตย์ คุณจะต้องเห็นชื่อเวเบอร์โผล่เข้ามามาก เพราะว่าชื่อของเขามีอิทธิพล”

พิพัฒน์กล่าวต่ออีกว่า เยอรมนีในยุคเวเบอร์นั้น วิชาสังคมวิทยายังไม่มีการสอนในระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่ฝรั่งเศส เอมิล เดอคาร์ม ได้ลงหลักปักฐานวิชาสังคมวิทยาไว้อย่างมั่นคงต่อจาก ออกุสต์ คองต์ ผู้บัญญัติศัพท์คำว่า sociology โดยนำรากศัพท์มาจากภาษาละตินและกรีก ไม่นับข้อเท็จจริงที่อาจชวนขันขื่นอย่างหดหู่ไม่น้อยในฐานะหนึ่งในผู้วางรากฐานทฤษฎีทางสังคมวิทยาสมัยใหม่ พิพัฒน์กล่าวว่า ในยุคสมัยของเวเบอร์เอง งานของเขาไม่ได้เป็นที่โด่งดังมากเท่า มารีแอน เวเบอร์
(Marianne Weber) ผู้เป็นภรรยาและเป็นเจ้าของผลงานวิชาการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของสตรีด้วยซ้ำ จนแม้ในคราวขึ้นบรรยายต่อหน้านักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิค ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือทั้งสองเล่มนี้ ยังต้องมีผู้บอกกล่าวแก่คนที่มาร่วมฟังแล้วไม่รู้จักเวเบอร์ว่า “นั่นคือสามีของมารีแอนไง”

ไม่นับความโด่งดังที่มากกว่าแล้ว คุณูปการที่สำคัญของมารีแอนผู้เป็นภรรยาคือ การรวบรวมผลงานทางวิชาการและบันทึกประวัติของเวเบอร์ออกเผยแพร่แก่สาธารณชนรุ่นหลัง หรือพูดได้อีกอย่างว่า ถ้าไม่มีมารีแอน คงไม่มีการศึกษาผลงานของเวเบอร์ต่อมาจนปัจจุบัน

(จากซ้าย) ฐิติกร สังข์แก้ว, บดินทร์ สายแสง และพิพัฒน์ พสุธารชาติ

ก่อนจะมีเวเบอร์

ก่อนจะเกิดผลงานทั้งสองเล่มนี้ขึ้น พิพัฒน์เล่าย้อนกลับไปว่า เวเบอร์เกิดในยุคสมัยที่บิสมาร์คกำลังรวมชาติเยอรมันให้เป็นหนึ่งเดียว

“บิสมาร์คเป็นคนที่มีอำนาจมาก เขาเป็นอัครมหาเสนาบดีที่มีอำนาจรองจากกษัตริย์ บิสมาร์คเคยขึ้นมาบริหารประเทศช่วงหนึ่ง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่คนเยอรมันนับถือ เพราะเป็นคนที่รวมเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ภายหลังเมื่อพระเจ้าไกเซอร์ตาย และลูกของเขาที่ชื่อวิลเฮล์มที่สองได้ขึ้นมาสืบทอด วิลเฮล์มไม่ชอบบิสมาร์คก็เขี่ยทิ้ง แล้วให้คนอื่นมาบริหารประเทศแทน ซึ่งเวเบอร์ก็เกิดในยุคสมัยนี้เอง”

แม้ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนด้วยกรอบของเวลาที่จำกัด แต่พิพัฒน์ก็บอกให้ผู้ร่วมวงสนทนารับรู้และเข้าใจเอาเองว่า ทั้งด้วยการเกิดขึ้นมาในยุคสมัยที่ประเทศเยอรมันสมัยใหม่กำลังก่อตั้งขึ้น ทั้งด้วยสภาวะภายในของตัวเวเบอร์ที่เติบโตขึ้นมาด้วยความขัดแย้งกับพ่อ (ซึ่งสังคมเยอรมันในยุคนั้นให้ความสำคัญกับความเป็นใหญ่ของพ่อ) ที่ทะเลาะกับแม่ของตน จนนำเวเบอร์ไปสู่มุมมองที่ปรารถนาเห็นเยอรมันไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ดุลยภาพทางสังคม

 

เสียงกู่เรียกจากภายใน

จากหนังสือ Scholarship as a Vocation หรือ วิชาการในฐานะอาชีพ เวเบอร์เขียนไว้ว่า “…ทุกวันนี้ความเชื่อเหล่านี้ได้ไปรับใช้รูปเคารพจำนวนมาก วิหารของรูปเคารพเหล่านี้มีอยู่ทุกหัวมุมถนนและในวารสารทุกเล่ม รูปเคารพเหล่านี้ คือ บุคลิก และ ประสบการณ์”  และ “ประสบการณ์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้คนคนนั้นมี บุคลิก มีแต่การอุทิศตนจากเสียงกู่ร้องจากภายในเท่านั้น ที่จะทำให้นักวิชาการหรือศิลปินผู้นั้นกลายเป็นผู้ที่มี บุคลิก ขึ้นมาได้” (สำนวนแปลของพิพัฒน์)

“งานทั้งสองเล่มนี้จะพูดถึงปัจจัยภายนอกก่อน พูดถึงโลกวิชาการในเยอรมัน พูดถึงคนที่ทำงานเป็นอาจารย์ว่าต้องเป็นอย่างไร ง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าคุณจะเป็นอาจารย์ในเยอรมัน คุณจะต้องมีปริญญาเอกสองใบถึงจะเป็นผู้ช่วยสอนได้ และคุณสอนฟรี หมายความว่าคุณไม่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล แต่คนที่มาเรียนจะจ่ายค่าเรียนให้คุณ คือระบบการศึกษาในเยอรมันแน่นมาก คุณจะต้องจบปริญญาเอกสองใบ แต่คุณก็ยังเป็นได้แค่ผู้ช่วยสอน และไม่มีเงินเดือนประจำ ฉะนั้น จึงเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เวเบอร์บอกว่าคนที่จะเป็นอาจารย์จะต้องเป็นนักวิชาการด้วย คุณจะต้องค้นคว้า เขียนหนังสือ”

พิพัฒน์กล่าวอีกว่า ในทัศนะของเวเบอร์ คนที่จะเป็นอาจารย์และนักวิชาการไปพร้อมกันได้ ไม่ใช่จะมีแต่เพียงความเก่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจต้องยอมรับสิ่งที่เรียกว่าภาระอันหนักหน่วงจนแทบเป็นความสิ้นหวังของการเป็นนักวิชาการที่ปลายทางอาจไม่ใช่เกียรติยศเป็นรางวัล ซึ่งอาจจะหมายความได้ว่า สภาวะของการยอมรับความสิ้นหวังที่รออยู่บั้นปลายในฐานะนักวิชาการ อาจเป็นปัจจัยภายในที่คุณจะต้องยอมรับ และเราในฐานะผู้ฟังส่งเสียงเบาๆ ในใจว่าไม่ใช่แต่เพียงนักวิชาการเท่านั้นหรอก ทุกๆ สาขาอาชีพนั่นแหละล้วนแต่ต้องคำถามตลอดว่าทำ (งาน) ไปทำไม

อาจมียกเว้นแค่บางคนที่กล่าวว่า บริหารประเทศง่ายนิดเดียว

เวเบอร์ในฐานะตัวละครทางประวัติศาสตร์

“สำหรับผม ในฐานะที่เรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ ตั้งแต่ ป.ตรีมาจนถึง ป.โท และอาจจะเรียนรัฐศาสตร์ไปตลอด ซึ่งผมคิดว่าอาจจะคิดผิด” เกริ่นนำเบื้องต้นของบดินทร์เจือด้วยเสียงหัวเราะของเจ้าตัว ก่อนจะกล่าวต่อในฐานะผู้รู้จักเวเบอร์จากชั้นเรียนในวิชารัฐศาสตร์ว่า เวเบอร์กับรัฐศาสตร์การเมืองไทยเป็นอะไรที่เรียกว่าย้อนแย้ง ดังนั้น การทำความเข้าใจเวเบอร์จากมุมมองด้านสังคมวิทยาอาจช่วยให้เข้าใจได้ง่ายกว่า

บดินทร์ยังกล่าวอีกว่า การจะเข้าใจที่มาที่ไปของเวเบอร์จำเป็นต้องกลับไปดูบริบททางประวัติศาสตร์ของเยอรมันแล้วจัดวางเวเบอร์ในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง ก่อนจะทำความเข้าใจสิ่งที่เวเบอร์บรรยายจนนำมาสู่หนังสือ Politics As A Vocation

“เวเบอร์เขียนทั้ง Scholarship as a Vocation และ Politics As A Vacation ทำทั้งสองอย่างเลย คือ พระเจ้าเรียกให้เขาทำทั้งสองอย่างเลยได้ยังไงกัน (หัวเราะ) ผมเน้นเลยว่าเวเบอร์ไม่ได้อยู่แค่ในวงนักวิชาการ อีกด้านหนึ่งเขาก็อยู่ในพรรคการเมือง แล้วเขาก็ไปพูดให้กับคนที่กำลังคลั่งไคล้การปฏิวัติเยอรมันในช่วงนั้น ถ้าจะพูดถึงบริบทของเวเบอร์ คล้ายๆ กับว่าเรากำลังศึกษาคนที่มีความย้อนแย้งในตัวเองสูง อาจจะเก็บกดด้วยซ้ำ คือจะมีสองฝั่งของความคิดที่ตีกันเองอยู่ตลอดเวลา”

 

Paradox as a Vocation

เมื่อพิจารณาเวเบอร์ในฐานะตัวละครทางประวัติศาสตร์เพื่อจะทำความเข้าใจสิ่งที่เวเบอร์บรรยายไว้ใน Politics As A Vocation บดินทร์กล่าวว่า ในความย้อนแย้งของตัวเวเบอร์ที่ด้านหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของวิลเฮล์ม อีกด้านหนึ่งเวเบอร์ก็ไปสมัครเข้าร่วมรบในสงครามเพื่อเยอรมนีในยุคสมัยของวิลเฮล์มเช่นเดียวกัน แม้ว่าต่อมาเวเบอร์จะมองเห็นความเลวร้ายของสงครามจากการสูญเสียทั้งน้องชายและน้องเขยไปในการสู้รบ เวเบอร์ก็ลาออกมาเขียนคอลัมน์เพื่อวิจารณ์ว่าสงครามที่จะนำความยิ่งใหญ่มาสู่เยอรมนีนี้นั้นอาจจะนำความพินาศกลับมาสู่เยอรมันได้ในที่สุด

“สิ่งที่ทำให้ มักซ์ เวเบอร์ เป็นกังวลมาก คือการที่ ไกเซอร์ วิลเฮล์ม ตัดสินใจที่จะทำสงครามเรือดำน้ำ เวเบอร์บอกว่า สิ่งนี้จะทำให้บ้านเมืองวอดวายแน่ๆ มันจะเป็นการดึงอเมริกาให้เข้ามาร่วมสงคราม จะทำให้เยอรมนีเกิดศึกหลายด้าน เขาจึงเริ่มที่จะเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ไปพูดคุยตามเวทีเสวนาต่างๆ เพื่อโน้มน้าวจิตใจคนให้ยุติสงครามเสียที”

 

อิทธิพลของเวเบอร์

ในฐานะผู้ร่วมชั้นเรียนเดียวกัน ฐิติกรกล่าวว่า Politics As A Vocation เป็นหนังสือที่จะเข้าใจอย่างง่ายหรือยากก็ได้ อย่างง่ายคือการอ่านโดยไม่ต้องสนใจบริบท แค่รู้ว่าเวเบอร์เขียนถึงอะไรอย่างไร ในขณะที่อย่างยากคือ การอ่านแบบเดียวกับที่บดินทร์ได้อธิบายไป คือจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อบริบททางประวัติศาสตร์ของเยอรมนีในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

“สิ่งที่ผมจะพูดคือ เราจะมองปาฐกถานี้จากมุมมองในทางการเมืองหรือมุมมองของนักเรียนรัฐศาสตร์อย่างไร เวเบอร์อาจจะเป็นนักสังคมวิทยา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานนี้มีอิทธิพลต่อวิชารัฐศาสตร์สมัยใหม่ด้วย ไม่ว่าจะด้วยคอนเซ็ปท์หลายๆ อย่าง รัฐ อำนาจการเมือง รัฐกับสิทธิอำนาจอันชอบธรรมที่หนุนหลังผู้ถืออำนาจรัฐอยู่ มันก็มีความน่าสนใจ ต่อให้ไม่ได้เรียน ถ้าอ่านอันนี้ก็จะได้กรอบหรือวิธีคิดต่อการเมืองไทยเช่นกัน”

เพื่อจะให้ภาพคร่าวๆ ฐิติกรแบ่งโครงสร้างของ Politics As A Vocation ออกเป็น 4 ส่วน คือ

  1. การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ และอำนาจการเมือง
  2. กำเนิดของนักการเมืองโดยอาชีพจากทัศนะเชิงสังคมวิทยา
  3. การเมืองของพรรคการเมือง
  4. คุณลักษณะของนักการเมืองโดยอาชีพและจริยธรรมในพื้นที่การเมือง

ซึ่งในส่วนที่สี่นี้เองที่ฐิติกรได้กล่าวว่า ตัวเวเบอร์นั้นพูดเพื่อตอบสนองสิ่งที่นักศึกษาได้เชิญมาให้พูดในสถานการณ์ที่กำลังคุกรุ่นด้วยอารมณ์ของการปฏิวัติ โดยใช้สามข้อแรกเป็นการอธิบายในเรื่องที่ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการเชิญก่อนจะเข้าประเด็นในข้อที่สี่ จากนั้นฐิติกรขยายความว่า เวเบอร์ได้อธิบายคุณลักษณะของความเป็นรัฐสมัยใหม่ซึ่งเทียบเคียงได้กับความเป็นมาเฟียที่ถูกกฎหมาย คือ รัฐสามารถเรียกเก็บเงินในรูปแบบภาษีได้โดยที่ประชาชนยินยอม ขณะเดียวกัน รัฐก็มีบทบาทในฐานะหัวหน้าหรือผู้ปกครองที่จะลงโทษผู้ถูกปกครองที่ละเมิดคำสั่งหรือกระทำในสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นภัยต่อรัฐได้ อีกทั้งยังมีหน้าที่ปกป้องคนในรัฐเองด้วย

“การที่เราจะสถาปนารัฐหรือองค์รัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมา เราจำเป็นที่จะต้องให้รัฐผูกขาดสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งสิทธิที่สำคัญที่สำคัญที่สุดคือสิทธิในการฆ่าผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าสู่สังคมของการเป็นรัฐแล้ว จากอดีตที่เราสามารถฆ่าผู้อื่นได้ตามใจปรารถนา เราฆ่าไม่ได้แล้ว เพราะสิทธินี้เราโอนไปให้รัฐแล้ว รัฐเป็นที่ผูกขาดในการที่จะใช้สิทธินี้โดยลำพัง และตราบใดก็ตามที่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นก็เท่ากับว่าองค์รัฏฐาธิปัตย์ได้ล่มสลายลงไปแล้ว”

การเมืองของการจัดสรร

ฐิติกรกล่าวต่อว่า ในทัศนะของเวเบอร์ การเมืองคือการจัดสรรอำนาจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐศาสตร์รับต่อมาในเชิงของการเมืองเท่ากับการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมหนึ่งๆ ว่าใครจะได้รับอะไร เมื่อไหร่ และบนเงื่อนไขอย่างไร

ในทัศนะของเวเบอร์ การเมืองคือการบากบั่นเพื่อมีส่วนร่วมในการแบ่งสรรอำนาจ หรือเพื่อมีอิทธิพลในการจัดสรรอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐกับรัฐด้วยกันเอง หรือระหว่างกลุ่มคนที่อยู่ในรัฐก็ตาม ฐิติกรยังอธิบายอีกแนวคิดหนึ่งของผู้มาทีหลังแต่แนบอิงกับมุมมองปรัชญาคลาสสิกมากกว่า นั่นคือ แนวคิดของ ลีโอ สเตราท์ ที่มองว่า การกระทำทางการเมืองมีเป้าประสงค์ ไม่เพื่อสงวนรักษาก็เพื่อเปลี่ยนแปลง เมื่อคิดอยากจะสงวนรักษาไว้ เราก็หวังจะยับยั้งไม่ให้มันเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่เลวร้ายลงกว่าเดิม และเมื่อคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแล้ว เราก็หวังว่าจะให้บางสิ่งบางอย่างดีขึ้นกว่าเก่า การกระทำทางการเมืองทุกประเภทจึงถูกชี้นำกำกับด้วยการคิดถึงสิ่งที่ดีขึ้น หรือสิ่งที่เลวลงบางอย่างอยู่เสมอ

“เพราะฉะนั้นการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องที่ปลอดคุณค่า เป็นเรื่องที่ Value Judgement แน่นอน เป็นเรื่องของการประเมินคุณค่าว่าอะไรดีกว่า และอะไรเลวกว่า เพราะถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องนี้ว่าอะไรดีกว่า อะไรเลวกว่า เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ากิจกรรมทางการเมืองเราทำไปเพื่อเจตนาอะไร”

แนวคิดของสเตราท์ในส่วนนี้ตรงกันข้ามกับเวเบอร์ที่มองว่า ไม่ควรนำเรื่องคุณค่าหรือการตัดสินทางคุณค่าใดๆ มาเกี่ยวข้องกับทางการเมืองมากนัก แต่ควรเน้นไปยังเรื่องวัตถุวิสัยเท่านั้น อย่างเช่นเรื่องการจัดสรรอำนาจว่าจะใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือเพื่อตอบสนองความหยิ่งผยองในการครอบครองอำนาจนั้นเสียเอง แม้ว่าการนิยามความหมายของการเมืองในแบบนี้ของเวเบอร์จะถูกมองว่าเป็นการนิยามที่ตื้นเขิน ไปจนถึงต่ำเตี้ยเมื่อวัดจากมุมมองของปรัชญาคลาสสิก แต่ด้วยความต่ำเตี้ยนี้เองที่ฐิติกรมองว่า แนวคิดของเวเบอร์จึงถูกต้องเสมอ

 

จริยธรรมทางการเมือง

จากมุมมองในเชิงปรัชญาต่อมา ฐิติกรกล่าวว่า ในอดีตนั้นความหมายของจริยธรรมคือ ต้องมีจริยธรรมในทุกพื้นที่ ทั้งในทางการเมือง ในทางศาสนา ในทางเศรษฐกิจ ในบ้าน ในทางวัฒนธรรม เมื่อมีจริยธรรมเกิดขึ้นเมื่อไหร่ต้องมีเมื่อนั้น เป็นจริยธรรมที่สมบูรณ์ ทว่าในมุมมองของเวเบอร์ การเมือง หรือเศรษฐกิจ หรือพื้นที่ในบ้านและวัฒนธรรมเองถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างค่อนข้างเด็ดขาด ฉะนั้น เมื่อการเมืองเป็นพื้นที่เฉพาะ ก็ต้องการกิจกรรมเฉพาะ เมื่อต้องการกิจกรรมเฉพาะก็ต้องการบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ เมื่อต้องการคนที่มีลักษณะเฉพาะ จึงต้องการสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมในพื้นที่ทางการเมือง

“คุณจะใช้จริยธรรมทางศาสนามาบอกว่าคุณจะให้คนดีมาปกครอง ไม่ได้ เวเบอร์บอกไม่ได้ มันไม่พอ มันดูอ่อนหัดเกินไป หรือคุณจะบอกว่าคุณสามารถใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่มองอะไรทั้งสิ้นเลย เวเบอร์ก็บอกไม่ได้ มันจะต้องลักษณะเฉพาะเจาะจงอะไรบางอย่าง”

 

คุณลักษณะสามประการ

ต่อมา ฐิติกรอธิบายว่าตามทัศนะของเวเบอร์ ก่อนที่คุณจะมีจริยธรรม คุณจะต้องมีลักษณะ 3 ประการของนักการเมืองก่อน

  1. ความรักในอาชีพ (passion)
  2. สำนึกรับผิดชอบ (sense of responsibility)
  3. วิจารณญาณในการอ่านสถานการณ์ (sense of judgment)

นอกจากคุณลักษณะทั้งสามประการ เวเบอร์ยังอธิบายว่านักการเมืองไม่ได้หมายถึงแค่นักการเมืองเพียงอย่างเดียว ยังกล่าวรวมถึงนักปลุกปั่นทางการเมือง นักปฏิวัติ

“ใครที่เป็นนักวิชาการแล้วปลุกปั่นนักศึกษา คุณก็เป็นนักการเมืองเช่นกัน ดังนั้น ใครก็ตามที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแบ่งสรรอำนาจ คุณเป็นนักการเมืองหมด”

 

จริยธรรมที่ควรหลีกเลี่ยง

ประเด็นต่อมาในทัศนะของเวเบอร์ มองจริยธรรมทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยไว้ 2 ข้อ คือ หนึ่ง นักการเมืองจำเป็นต้องมีจริยธรรมในการยึดมั่นต่อหลักการทางการเมือง แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นจริยธรรมที่ตัวเวเบอร์เองไม่เห็นด้วยมากที่สุด เพราะเวเบอร์มองว่าการเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์นั้นง่าย แต่จะเป็นนักการเมืองที่ทั้งมีอุดมการณ์และทำได้จริงด้วยนั้นยากสุด โดยเวเบอร์ยกตัวอย่าง เช่น คำสั่งสอนในเชิงศีลธรรม กฎข้อห้ามที่อ้างอิงอยู่บนพื้นฐานของศาสนา

ส่วนจริยธรรมประการต่อมาที่เวเบอร์ไม่เห็นด้วยเลย คือ นักปฏิวัติที่มีความคิดสุดโต่ง (ต้องไม่ลืมว่าบริบทของเวเบอร์ในห้วงเวลานั้น คือ กระแสการปฏิวัติ) ต้องใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เพราะถ้าหากคุณคิดจะใช้แต่ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว คุณอาจเป็นพวกที่มองโลกในแง่ดีเกินไป กล่าวคือ การที่คุณใช้สิ่งชั่วช้าเพื่อนำไปสู่สิ่งดี แล้วมันจะไม่นำมาสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายต่อไป

“เพราะฉะนั้น พวกนี้มีแนวโน้มที่จะอันตรายมากๆ ต่อคนอื่น แล้วก็มีแนวโน้มที่จะไม่รับผิดชอบต่อผลจากการกระทำของตัวเองมากๆ ฉะนั้น การที่จะลดทอนอันตรายของการมีจริยธรรมยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์ ก็จะถูกลดทอนด้วยจริยธรรมของความรับผิดชอบ”

แม้จริยธรรมทั้งสองประการ จะเป็นสิ่งที่เวเบอร์ไม่เห็นด้วย กระนั้น เวเบอร์เองก็มองว่าในทางการเมืองแล้ว หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักการเมืองจำเป็นต้องมีจริยธรรมในการรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ตนได้เลือกแล้ว แม้ว่าทางเลือกนั้นจะเป็นทางเลือกที่เลวร้าย หากทว่านำไปสู่สิ่งที่ดีงามในท้ายที่สุดก็ตาม คุณก็จำเป็นต้องมีสำนึกทางจริยธรรมในการรับผิดชอบของตัวคุณเอง

แน่นอนในฐานะผู้ร่วมฟังคนหนึ่ง เราอดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าในทางการเมืองที่ไม่ได้จำกัดแค่นักการเมืองโดยอาชีพตามทัศนะของเวเบอร์ กี่มากน้อยของผู้ที่เข้ามาเล่นการเมืองในปัจจุบัน มีสำนึกรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำไป หาใช่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง หรือแต่งกลอน แล้วแก้ไขปัญหาด้วยการโทษรัฐบาลที่แล้วมาไปวันๆ

เราทำได้เท่านี้แหละ ได้ฟังได้อ่านแล้ว ทำได้เพียงบ่นรำพึงเบาๆ ในใจ

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า