‘ธรรมาเทวาธิปไตย’: คุณค่าการเมืองและประชาธิปไตยฉบับ ‘คนดี’

…อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์…

ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครอาจเป็นเพียงคำเปรียบเปรย หรือแค่เพลงเพลงหนึ่งซึ่งเคยโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อนของสองพี่น้องโชติกุล ความเข้าใจที่มีต่อกรุงเทพฯ ทั้งจากตัวคนกรุงเทพฯ จากตัวคนฝั่งธนบุรี และจากคนต่างจังหวัด กรุงเทพฯ คือศูนย์กลางของทุกสิ่ง มีพระราชวังหลวงและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เปรียบประดุจภาพแทนของเมืองที่จำลองมาจากสวรรค์โดยการควบคุมการสร้างโดยพระวิษณุกรรม หนึ่งในเทพองค์สำคัญของศาสนาฮินดู ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะของเทพผู้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ

หากแต่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่วัดวาอารามอันสวยงามบนเกาะรัตนโกสินทร์ และไม่ได้มีแค่อาคารห้างสรรพสินค้าทันสมัยยังใจกลางกรุงเทพมหานครที่สยามสแควร์เท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ซ่อนลึกลงไปภายใต้ภาพวังอันวิจิตร เมืองอันทันสมัย ผู้คนที่สวยงามด้วยเสื้อผ้าและการแต่งองค์ทรงเครื่องไม่ต่างจากเทวดา-เทพธิดาต่างๆ กลายเป็นเบ้าหลอมให้กับคนส่วนหนึ่งที่เกิดในกรุงเทพฯ โตในกรุงเทพฯ มองว่าตนเองมีสถานะอยู่เหนือคนจังหวัดอื่นๆ ถือครองมายาคติของความดีไว้เฉพาะในหมู่พวกพ้องคนกรุงเทพฯ ด้วยกัน กระทั่งขยายไปสู่การนิยามและให้คุณค่าความหมายต่อทุกสิ่ง แม้กระทั่งการเมืองและประชาธิปไตยในนามของ ‘คนดี’

ระบบและการให้คุณค่านี้กลายเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและดึงคนจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่กลับได้รับฉันทามติร่วมกันในการถือครองนิยามความหมายของคนดีทั้งจากคนกรุงเทพฯ และคนในจังหวัดอื่นๆ ก่อเกิดเป็นมวลมหาประชาชนในชื่อของ กปปส. โดยมีศูนย์กลางขับไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ

หนึ่งในหัวข้องานสัมมนาสาธารณะ ‘การเมืองคนดี: ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุนขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย’ ภายใต้ชื่อ ‘ธรรมเทวาธิปไตย: ระบบคุณค่าและประชาธิปไตยฉบับคนดี’ ซึ่งนำเสนองานวิจัยสองชิ้นต่อสาธารณชนภายใต้กรอบแนวคิดดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น ว่าคนกรุงเทพฯ มองตนเองอย่างไร จากการเกิดและเติบโตในเมืองที่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง คนกรุงเทพฯ มองการเมืองประชาธิปไตยอย่างไร ในทัศนะของ ‘คนดี’

โดยงานวิจัยชิ้นแรก วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ ได้นำเสนองานวิจัยจากการพูดคุย ลงพื้นที่สอบถามคนกรุงเทพฯ เพื่อให้ภาพของสิ่งที่เรียกว่าทัศนคติและการให้คุณค่าทางสังคมและการเมืองของคนกรุงเทพฯ โดยวรรณวิภางค์เริ่มต้นกล่าวว่า

…ในส่วนของงานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนกลางของการประมวลผลจากการเก็บแบบสอบถามการวิจัยเชิงลึกโดยเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของ อาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย และ อาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ คำว่ากรุงเทพฯ ในงานวิจัยชิ้นนี้หมายถึงคนที่อยู่ประจำในกรุงเทพฯ อาจไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนอยู่กรุงเทพฯ ภายใต้วัตถุประสงค์สองข้อหลักๆ ก็คือ เพื่อฟังทัศนคติพื้นฐานของคนกรุงเทพฯ ว่าเขามีการให้คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างไร ประเด็นที่สองคือ เราต้องการวัดความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจสังคมของคนกรุงเทพฯ กับการให้คุณค่าทางสังคม วัฒนธรรมและการเมือง โดยลักษณะทางเศรษฐกิจและชนชั้นที่แตกต่างกันจะส่งให้มีการให้คุณค่าทางการเมืองที่ต่างกันไหม

จากวัตถุประสงค์หลักๆ สองข้อ นำไปสู่การตั้งคำถามหลักของงานวิจัยที่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองที่ต่างกันสองขั้วมีการให้คุณค่าทางสังคม วัฒนธรรมทางการเมืองแตกต่างกันในแง่ไหนบ้าง? และปัจจัยอะไรที่มีความสัมพันธ์ในการโอนอ่อนต่ออำนาจเผด็จการ ซึ่งการตั้งคำถามของวรรณวิภางค์ไม่ใช่การเดินเข้าไปถามตรงๆ ว่าคุณเห็นด้วยกับการปกครองในระบอบเผด็จการในประเทศไทยไหม? แต่เป็นการตั้งคำถามถึงขีดเส้นที่คนกรุงเทพฯ จะยอมรับได้ต่ออำนาจการปกครองในรูปแบบเผด็จการ โดยได้รับคำตอบทั้งไม่ยอมรับเลย และยอมรับภายใต้สถานการณ์บางอย่าง

จากการลงพื้นที่วิจัยผ่านแบบสอบถามจำนวน 2,000 ชุดในช่วงปี 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 38 เขตจากจำนวนทั้งหมด 50 เขตภายใต้การกำหนดเขตพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางการเมืองโดยใช้เกณฑ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อปี 2556 มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดความแตกต่างทางการเมืองจากตัวแทนผู้สมัครของสองพรรคการเมืองใหญ่ ผ่านชุดคำถามที่หลากหลายเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะชวนอึดอัดต่อทัศนคติทางการเมืองของผู้ถูกถามด้วยการตั้งคำถามถึงไลฟ์สไตล์การเดินห้างสรรพสินค้า และการเข้าร้านกาแฟราคาแพง ก่อนจะไปสู่คำถามเพื่อตีกรอบให้เข้าสู่ประเด็นการวิจัยมากขึ้น เช่น ระหว่าง ‘หน้าที่’ กับ ‘สิทธิ’ อันไหนสำคัญมากกว่ากัน ระหว่าง ‘ระเบียบวินัย’ กับ ‘เสรีภาพ’ อันไหนสำคัญกว่ากัน หรือการเมืองเชิงศีลธรรม ภายใต้คำถามระหว่าง ‘ผู้นำที่มีบารมี’ กับ ‘ผู้นำที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ’ คุณจะเลือกแบบไหน?

รวมถึงคำถามที่ช่วยสะท้อนคุณค่านิยมแบบเก่ากับแบบใหม่ว่าอย่างไหนดีกว่า เช่น ประชานิยมทำให้คนลุ่มหลงในวัตถุนิยม บริโภคนิยมจนเกินตัว คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จนไปถึงคำถามที่สำคัญ ว่าคุณเคยเข้าร่วมในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเหล่านี้หรือไม่ ทั้ง 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 มาถึงการเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตร กลุ่มนปช., เสื้อแดง, และกลุ่ม กปปส.

“หลังจากได้คำตอบมาแล้ว เราก็นำมาประมวลเพื่อดูว่าผู้ตอบแบบสอบถามเขามีส่วนร่วม หรือเอาใจช่วยแต่ละเหตุการณ์เท่าไหร่นะคะ พอมาประมวลกันก็จะได้คำตอบที่สามารถแบ่งกลุ่มย่อยๆ ออกมาได้หกกลุ่มคือ กลุ่มพันธมิตรเท่านั้น 3.17 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มเสื้อแดงเท่านั้น 4.14 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เคยเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรและมาเข้าร่วมกับ กปปส. ด้วยมี 7 เปอร์เซ็นต์นะคะ และกลุ่มขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเข้าร่วมกลุ่มการเมืองใดๆ มาก่อนจะเข้าร่วมกับ กปปส. มีถึง 10.16 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่เอาใจช่วยทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็เอาใจช่วยทั้งหมดเลยมี 9.33 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าผู้ตอบแบบสอบถามเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือเขากลัวว่าเราจะมาจับผิด ไม่สามารถตีความได้

“และกลุ่มสุดท้ายนะคะ คือกลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วมและไม่เอาใจช่วยกลุ่มใดๆ เลยมี 65.40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อย เราเก็บแบบสอบถามตั้งแต่อายุ 18 ปี ถึง 70 ปี เพราะถ้าหากอายุน้อยกว่านั้นเขาอาจยังไม่คิดถึงเรื่องการเมืองเท่าไหร่ เกิน 70 ปี เขาอาจจะหูไม่ดี และอาจอยู่แต่ในบ้าน ไม่แอ็คทีฟทางการเมืองแล้วนะคะ หรือแม้กระทั่งการเก็บแบบสอบถามจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา กลุ่มที่เคยเข้าร่วมพันธมิตรจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์เสียเยอะ มีเพื่อไทยบ้าง ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงจะเลือกเพื่อไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เลย พันธมิตรและ กปปส. ก็จะเลือกประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่”

นอกจากนี้ผลประมวลยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่ากลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ PAD (People’s Alliance for Democracy) กับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ PDRC (People’s Democratic Reform Committee) จะเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาและข้าราชการประจำ รวมถึงพนักงานเอกชนส่วนใหญ่ มีรูปแบบการใช้ชีวิตในลักษณะชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงมากกว่ากลุ่มที่เข้าร่วมกับ นปช. หรือเสื้อแดง ขณะที่ตัวเลขสะท้อนทัศนคติเรื่องความเท่าเทียมกลับไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม PAD, PDRC และกลุ่มเสื้อแดงแต่อย่างใด

ในทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กลุ่มพันธมิตรและ กปปส. มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการมีผู้นำเป็นคนดีมากกว่ามีระบบที่ดีนะคะ มีการให้ความสำคัญกับความมีบารมีมากกว่าความสามารถของผู้นำ ในขณะที่ทัศนคติเกี่ยวกับการเมือง กลุ่มพันธมิตร กลุ่ม กปปส. และกลุ่มเสื้อแดง เห็นตรงกันว่าประเทศไทยเหมาะกับประชาธิปไตย แต่กลุ่มพันธมิตรและกลุ่ม กปปส. มองว่าภายใต้สถานการณ์บางอย่าง การใช้ระบอบเผด็จการอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามากกว่า

พวกเขาคือใคร?

ในส่วนต่อมาของการนำเสนอโดย รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย และ ผศ.ดร.อรุสรณ์ อุณโณ เพื่อให้ภาพรวมของงานวิจัยทั้งเจ็ดหัวข้อภายใต้การวิจารณ์จากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำกลับไปปรับปรุงเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไปในภายหลัง กล่าวว่า

“ทั้งเจ็ดโครงการ มีเป้าหมายหลักๆ สามคำถาม คำถามที่หนึ่งที่เราอยากรู้ก็คือว่า ผู้สนับสนุนกลุ่มที่เรียกว่าขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยคือใคร ขบวนการเปลี่ยนแปลงในความหมายนี้ พูดง่ายๆ ก็คือตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรเป็นต้นมาจนมาถึง กปปส. นะครับ คำถามที่สองก็คือว่า แล้วเขามีความคิดและจินตนาการทางการเมืองอย่างไร ส่วนคำถามที่สามก็คือ แล้วเขาแปรเป็นแอ็คชั่นทางการเมืองอย่างไร โดยเราจะมาไล่ตอบคำถามตั้งแต่แรกเลยว่า เขาคือใคร”

คำถามต่อผู้สนับสนุนขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากการวิจัยพบว่ามีกลุ่มชนชั้นกลางทั้งบนและล่าง ทั้งชนชั้นกลางระดับบนที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัยของวรรณวิภางค์ และชนชั้นล่างระดับล่างที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัยชื่อ ‘การเมืองเชิงศีลธรรมของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ’ ของ ชลิตา บัณฑุวงศ์ คำถามพวกเขาคือใครนั้นจึงกินความหมายทั้งในเชิงชาติพันธุ์ ความเป็นลูกจีน และความหมายในเชิงภูมิภาคของความเป็นคนใต้ และความเป็นคนใต้ในกรุงเทพฯ ขณะที่อีกหมายในเชิงอุดมการณ์ พวกเขาให้ความหมายต่อตัวพวกเขาเองว่าเป็นมวลชนของพระราชา หรือเป็นมวลชนใต้ร่วมพระบารมี ในอีกทางหนึ่งคือ เขาเป็นคนดี ทั้งหมดนี้คือภาพรวมที่อภิชาตพยายามจะตอบคำถามว่า เขาคือใคร

ในขณะที่ฐานะทางเศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มพันธมิตรและ กปปส. ล้วนมีสถานะทางสังคม เศรษฐกิจที่สูงกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง โดยเป็นทั้งพนักงานเอกชนและข้าราชการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นคนว่างงานสูงกว่า อีกทั้งกลุ่มพันธมิตรและ กปปส. ยังมีระดับการศึกษาสูงกว่าตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงอาจมีเพียงระดับมัธยม ทว่าอภิชาตก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าระดับรายได้จากฐานเงินเดือนของกลุ่มพันธมิตรและ กปปส. ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าพวกเขามีรายได้ที่สูงกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง เพราะคนขับแท็กซี่ก็อาจมีรายได้สูงกว่าพนักงานเอกชนก็ได้ ถ้าพวกเขาขยันทำงานมากกว่า แต่อภิชาตใช้ตัวแปรผ่านรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นตัวชี้วัด ซึ่งสะท้อนออกมาในงานวิจัยว่ากลุ่มพันธมิตรและ กปปส. จะมีรูปแบบใช้ชีวิตที่ค่อนไปทางสูง ตั้งแต่การเดินห้างสรรพสินค้า การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ

มีการอธิบายว่า ช่องว่างความแตกต่างระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างในกรุงเทพฯ นั้นแตกตัวมาตั้งแต่ปลายยุครัฐบาลเปรม มาจนถึงช่วงเศรษฐกิจเติบโต จนช่องว่างนั้นขยายไปเรื่อยๆ ขณะที่ชนชั้นกลางล่างที่มีประมาณ 36 ล้านคน เมื่อเทียบกับชนชั้นกลางบนที่มีประมาณ 14 ล้านคน อาจไม่ได้ให้ภาพในแง่ที่ว่าชนชั้นกลางล่างจะมีแต่เพียงกลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น และชนชั้นกลางบนจะมีแต่พันธมิตรและ กปปส. เพียงอย่างเดียว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าขนาดของความแตกต่างทางชนชั้นนี้เป็นฐานของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน โดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘เสื้อเหลือง’ และ ‘เสื้อแดง’

และด้วยความที่ทั้งสองชนชั้นต่างก็มีกลุ่มการเมืองแตกต่างสังกัด เช่น งานศึกษาของชลิตาเรื่องคนใต้ในกรุงเทพฯ ที่แฟลตคลองจั่น หากวัดด้วยตัวเลขรายได้ คนใต้ในงานศึกษานั้นก็อยู่ในฐานของชนชั้นกลางล่าง แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุน กปปส. หรือฟากฝ่ายสีเหลือง ดังนั้น ในมุมมองของอภิชาต ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาติจึงไม่อาจมองด้วยเงื่อนไขที่จำกัดกลุ่มทางการเมืองด้วยชนชั้นบนและล่างในทำนอง ‘เสื้อแดง=ชนชั้นล่าง’ เสมอไป เพราะทั้งสองชนชั้นต่างก็เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองทั้งสองฟากฝ่ายเหมือนๆ กัน

ในแง่นี้มันก็มีการถกเถียงได้ว่า ถ้ามีการประกอบทั้งชนชั้นกลางบนและชนชั้นกลางล่างที่เชียร์ฝ่ายเสื้อเหลือง ดังนั้นมันจึงไม่ได้บอกถึงความขัดแย้งทางชนชั้นหรือเปล่า เพราะมันก็มีทั้งสองชนชั้นอยู่ใน movement เดียวกัน ถ้าจะพูดว่ามันเป็น cross class movement เราจะต้องยืนยันในเชิงปริมาณด้วยว่าขบวนการนี้มันไม่ได้มีชนชั้นกลางมาปะปนเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ และในอีกแง่หนึ่งเป้าหมายและข้อเรียกร้องของขบวนการในการรื้อระเบียบทางการเมืองแบบช่วงชั้น ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์หากมีการรื้อระเบียบทางช่วงชั้นสำเร็จ คือชนชั้นกลางระดับบนไม่ใช่ชนชั้นกลางระดับล่าง ดังนั้นเราจึงยืนยันจนกว่าเราจะถูกพิสูจน์ด้วยงานศึกษาทั้งในอนาคตข้างหน้าและปัจจุบัน เราก็ยังยืนยันว่าความขัดแย้งระหว่างเหลืองและแดงมีความขัดแย้งระดับชนชั้นแฝงอยู่นะครับ

อัตลักษณ์คนจีน/คนใต้

ขณะที่อนุสรณ์มองประเด็นเรื่อง ‘เขาคือใคร’ ไปที่แง่ของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันสมองยุคสมัย คือระหว่างกลุ่มพันธมิตรและกลุ่ม กปปส. โดยกลุ่มพันธมิตร=กลุ่มคนเชื้อสายจีน ผ่านวาทกรรม ‘เราจะสู้เพื่อในหลวง’ และอาศัยกลุ่มชนทางชาติพันธุ์ผ่านการเรียกผู้ชุมนุมว่าอาซิ้ม อาม่า อาอึ้ม ในฐานะลูกหลานคนจีนด้วยกัน ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มผู้ชุมนุม จนกระทั่งกลายเป็นวาทกรรม ‘ลูกจีนรักชาติ’ ภายใต้การนำของ สนธิ ลิ้มทองกุล นับตั้งแต่ปี 2551 มาในที่สุด

ที่น่าสนใจก็คือ การหยิบวาทกรรมความเป็นลูกจีนขึ้นมานี้มันได้เปลี่ยนแปลงจินตนาการชาติเป็นรัฐไทยโดยสำคัญ สนธิเป็นคนที่ทำให้คอนเซ็ปต์ของคำว่าลูกจีนมีนัยยะทางการเคลื่อนไหวที่สำคัญ สามารถที่จะร้อยรัดและดึงดูดใจของผู้คนให้สามารถที่จะมาเข้าร่วมสนับสนุนได้มากขึ้น แล้วเราก็จะเห็นถึงการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของสถานะความเป็นลูกจีน หรือว่าอัตลักษณ์ลูกจีนในบริบทของการสร้างชาติหรือสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาของฝ่ายพันธมิตร แต่อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจต่อไปก็คือว่า พอในชั้นของ กปปส. แล้ว อัตลักษณ์ของความเป็นลูกจีนค่อนข้างที่จะถดถอยลงไป

อนุสรณ์กล่าวต่ออีกว่า จากสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงเมื่อมีการชุมนุมของ กปปส. เกิดขึ้น บทบาทที่เคยมีมากของคนไทยเชื้อสายจีนกลับกลายเป็นบทบาทของกลุ่มคนภาคใต้ที่มีสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ จากกลุ่มคนที่มาจากต่างจังหวัด 50 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มมวลชนที่เข้าร่วมทั้งหมด ขณะที่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นคนกรุงเทพฯ รวมถึงบทบาทของผู้นำการชุมนุมที่เปลี่ยนจากสนธิในฐานะลูกคนจีนมาเป็น สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะคนใต้ผ่านชุดความคิดที่เชื่อว่าคนใต้ถูกรังแกจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่กดราคายางให้ตกต่ำ

“ที่น่าสนใจต่อไปก็คือว่า จากเดิมที่เรามองกันว่าคนใต้จะเท่ากับท้องถิ่นนิยมซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เรียกว่าชาตินิยม แต่กับกรณี กปปส. ที่คนใต้ขึ้นมาเข้าร่วมการชุมนุมกลายเป็นองครักษ์ที่เข้มแข็งไป ขณะที่เขารู้สึกว่าคนกรุงเทพฯ หรือคนในภาคอื่นๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชาติไม่สามารถจะทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงต้องลุกขึ้นมา ซึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นมา มันเกิดจากการเปลี่ยนความหมายของคนใต้และผนวกรวมอีกความหมายหนึ่งขึ้น ก็คือสิ่งทีเรียกว่า คนใต้รักในหลวง”

ซึ่งในข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ความเป็นคนใต้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา แม้จะถูกหยิบใช้หรือให้นิยาม ก็มักจะเป็นไปในลักษณะของบุคลิกลักษณะ เช่น ความเป็นนักเลง รักพวกพ้อง ยังไม่มีความคิดในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองภายใต้คำว่า ‘ความเป็นคนใต้’ มากนัก จวบจนสองสามปีที่ผ่านมา จากคนใต้ในความหมายของบุคลิกภาพก็กลายเป็นคนใต้รักในหลวงไปในที่สุด

ปรากฏการณ์ที่หายไป

ในทัศนะของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวถึงภาพรวมของงานวิจัยทั้งเจ็ดประเด็นว่าทฤษฎี modernization นำมาใช้กับประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ เพราะรากฐานทางทฤษฎีนั้นมาจากประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้น เวลานักวิเคราะห์พูดถึงระบบการศึกษาของชนชั้นกลางที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยเป็นระบบการศึกษาอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาเลย

“คือจะชี้ให้เห็นว่าคล้ายๆ กับบริบทการเกิดขึ้นของทฤษฎีมันมีความแตกต่างมาก ถ้าเกิดจะเอามาใช้กับประเทศของเรา มันไม่ค่อยจะสอดคล้องกัน”

ประเด็นต่อมา ผาสุกพบว่าปัญหาเล็กน้อยในงานวิจัยชิ้นนี้คือการไม่เห็นบริบทของปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน นอกเสียจากผู้วิจัยจะคร่ำหวอดอยู่กับงานวิจัยนี้ และอยู่ในเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ แต่ถ้าหากเป็นเพียงคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และอาจจะไม่ค่อยได้ศึกษางานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้คนอ่านอาจไม่เข้าใจได้ว่า มันมีความเกี่ยวข้องใดบ้างที่เปลี่ยนแปลงพันธมิตรมาสู่ กปปส. ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

“ที่พูดเช่นนี้เพราะว่าบริบทใหญ่ในภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยเฉพาะการเมืองนะคะ จากจุดเปลี่ยนในปี 1997 มาจนถึงการขึ้นมาของพรรคเพื่อไทย ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองไทยในกรอบของประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง และตรงนี้แหละที่มันขาดหายในบริบทที่จะทำให้คนเข้าใจ เพราะฉะนั้นเวลาจะพูดเรื่องอัตลักษณ์ก็ดี การขึ้นมาของคำว่าคนดี หรือในเรื่องราชาชาตินิยมในความหมายของาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) อะไรต่างๆ เหล่านี้ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ที่จริงมันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มันเป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนานแล้ว แต่ว่ามันต้องการเผยตัวหรือถูกทำให้เผยตัวขึ้นมาอย่างโจ่งแจ้ง และอย่างชัดเจน และมีความมั่นใจ จากปรากฏการณ์ในทศวรรษ 2550 ซึ่งมันคงไม่ออกมาถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีตัวกระตุ้นในการทำให้มีปฏิกิริยาโดยการเข้ามาของพรรคเพื่อไทย”

ส่วนที่ผาสุกมองว่ายังขาดหายไปในงานวิจัยชิ้นนี้ คือการไม่มีการนำทฤษฎีต่างๆ มารวมกันเพื่อฉายให้เห็นลักษณะการเมืองอัตลักษณ์ของคนอีสาน รวมไปถึงการเมืองว่าด้วยเรื่องชนชั้นของคนอีสานที่ได้ก่อตัวขึ้นมาเป็นภาพที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้ที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน นำไปสู่เหตุผลว่าทำไมพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร ได้อยู่ถึง 10 ปีในช่วงพุทธทศวรรษ 2540

“ไม่ได้กำลังจะบอกว่าทักษิณเป็นคนอีสาน แต่เขาเป็นเพียง symbol ที่ทำให้การเมืองอัตลักษณ์หรือการเมืองชนชั้นของคนอีสานมันก่อตัวขึ้นมา”

ทบทวนงานวิจัยจากภูมิทัศน์ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ในส่วนของผู้วิจารณ์คนสุดท้าย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ออกตัวว่าไมได้อ่านงานวิจัยครบทั้งเจ็ดชิ้น หากแต่อ่านเพียงงานสรุปของอภิชาตที่ทำร่วมกับอนุสรณ์เท่านั้น เกษียรจึงขอเพียงตั้งข้อสังเกตแบบนี้

“เนื่องจากเมื่อหลายปีก่อนผมมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยเมื่อก่อนจะมีรัฐประหารของ คสช. ในชุด ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย คือพูดอย่างเป็นรูปธรรม งานวิจัยชุดนี้ไม่ดีเท่าชุดนั้นว่ะ มันไม่ตื่นเต้น มันไม่ชัดเจน ไม่สรุปคำตอบอย่างมีพลังเหมือนชุดนั้นเลย คืออ่านแล้วรู้สึกผิดหวัง”

เกษียรให้เหตุผลโดยย้อนกลับไปยังชุดทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทยที่มีอภิชาตเองเป็นหัวหน้าคณะวิจัยเช่นกัน เป็นเพราะงานวิจัยชุดนั้นพาผู้อ่านเข้าไปในพื้นที่ของคนเสื้อแดงที่ยังไม่เคยมีเข้าไปสำรวจหรือวิจัยมาก่อน

“และพอผมเข้าไปอ่านสิ่งที่มันสะท้อนออกมาในงานวิจัยของคนเสื้อแดงว่าพวกเขาเป็นยังไง พวกเขาคิดยังไง มันสะท้อนออกมาผ่านวิธีการวิจัยเอง คือวิจัยแล้วมันเหมือนกับว่า กูดีใจฉิบหายเลยว่ะ ตื่นเต้นกับเรื่องนี้ มันมีพลังมากเลย และเนื่องจากมันเริ่มจากผู้วิจัยอยากหาคำตอบ ไม่ว่าคำตอบจะถูกหรือผิดนะ แต่มันชัดเจนพอสมควรเลยว่าทำไมคนเสื้อแดงถึงเกิดขึ้น อันนี้ไม่ใช่”

ทำไมถึงไม่ใช่? เกษียรอธิบายว่าขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ถูกสำรวจวิจัยมาเยอะแล้ว อุดมการณ์ของชนชั้นกลาง อุดมการณ์ของราชาชาตินิยมต่างๆ ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะคาดหวังจากงานวิจัยในพื้นที่ที่มีการวิจัยมาเยอะแล้ว สะสมองค์ความรู้ไว้เยอะแล้ว ควรจะเป็นเรื่องที่ลึกยิ่งขึ้น แต่งานวิจัยชิ้นนี้ทำเพียงนำความรู้ที่มีอยู่แล้วมาอัพเดทอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอธิบายได้บางส่วน ในขณะที่บางส่วนอธิบายไม่ได้ ซึ่งสะท้อนอยู่ในงานวิจัยย่อยแต่ละชิ้น

แต่ที่น่าสังเกตคือมีข้อความหนึ่งที่ผมมองว่ามันสะท้อนภาพรวมของงานวิจัยชิ้นนี้ได้ดี อยู่ดีๆ ผู้เขียน ผมไม่รู้ว่าคนไหนนะ อภิชาตหรืออนุสรณ์ แกแบบ ‘ยูเรก้า’ ขึ้นมา แล้วเขียนประโยคนี้ ประชาธิปไตยแบบไทยคือการเมืองคนดี ซึ่งมีกษัตริย์อยู่บนยอด เออ! อันนี้ใช่ว่ะ! หัวข้อวิจัยคือเรื่องการเมืองคนดี แต่คุณจะวางมันไว้ตรงไหน ในแง่ภาพรวมทางความคิดอุดมการณ์ อยู่ดีๆ มีประโยคนี้ขึ้นมา และผมคิดว่า อันนี้แหละใช่เลย นี่แหละคือที่ตั้งของการเมืองคนดี แต่อยู่ที่จะเชื่อมโยงมันได้อย่างไร

ตรรกะเชิงซ้อนของการเมืองคนดี

ประเด็นต่อมาที่เกษียรมองคือ ประเด็นในเรื่องความดีสาธารณะของคนไทยที่มีไม่เท่ากัน และการมีความดีสาธารณะที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนชั้นทางเศรษฐกิจที่คุณสังกัด

“ใครจะมีมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ชนชั้นเว้ย ถ้ามึงเป็นชนชั้นกลางระดับบนจนถึงระดับสูง มึงจะมีความดีสาธารณะสูง มึงจะเป็นผู้ดี ถ้ามึงเป็นชนชั้นล่าง โทษทีว่ะ มึงจะไม่มีความดีสาธารณะเลย มึงจะเป็นแค่คนดีเฉยๆ เพราะ…”

เมื่อความดีสาธารณะกลายเป็นเรื่องของชนชั้น ไม่ได้ครอบคลุมในความหมายของคำว่ามนุษย์ที่เท่าเทียมโดยไม่ขึ้นกับชนชั้น ประเด็นต่อมาคือการทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของคุณธรรม โดยลำดับจะเริ่มต้นจากชนชั้นเป็นตัวกำหนดความดีสาธารณะ ซึ่งส่งผลต่อไปยังการกำหนดผู้ที่จะทำหน้าที่ควบคุมกิจการสาธารณะต่างๆ ให้มีคุณธรรมและความดีมากำกับ

“คนไทยควรมีอำนาจแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเขามีความเป็นคนดีสาธารณะมากน้อยแค่ไหน แต่ความเป็นคนดีสาธารณะมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ชนชั้น ถ้าคุณเป็นคนชนชั้นนี้ คุณควรจะมีความดีสาธารณะประมาณนี้ และเหตุนั้นคุณควรจะมีอำนาจ หรือพูดอีกแบบในภาษาผมก็คือ เรื่องนี้เราเห็นมาแล้ว เราอยู่กับมันมาทั้งชีวิต ไอ้ห่าเอ๊ย เราพอเข้าใจอยู่ และผมก็คิดเรื่องพวกนี้มาจนตอนนี้ผมรู้สึกว่าโมเมนต์ยูเรก้า คนไทยไม่ควรมีอำนาจเท่ากัน คนไทยบางคนควรมีอำนาจมากกว่าคนไทยคนอื่น เพราะพวกเขามีความเป็นไทยมากกว่า มีความเป็นคนดีมีศีลธรรมยิ่งกว่าคนไทยคนอื่น และเมืองไทยควรเป็นแบบนี้ดีกว่า นี่คือความเป็นจริง”

เมื่อมองจากปัจจัยที่ขาดหายไปแล้ว เกษียรเสนอในเชิงคาดเดาสิ่งที่คณะผู้วิจัยพยายามปีนป่ายไปให้ถึง ผ่านประเด็นหลักๆ สามประเด็นคือ การก่อตัวทางชนชั้น การก่อตัวทางชาติพันธุ์และภูมิประเทศ และการก่อตัวทางอุดมการณ์ความเป็นคนดีเพื่อเชื่อมทั้งสามประเด็นนี้เข้าด้วยกัน เพื่อไปอธิบายปรากฏการณ์รวมหมู่ของ กปปส. ของพันธมิตร

คนดี ศาสนา และสถาบัน

ประเด็นวิจารณ์ต่อมา เกษียรมองว่างานวิจัยชิ้นนี้มีแต่เรื่องความเป็นสมัยใหม่ แต่ไม่พูดถึงทฤษฎีมาร์กซิสม์ ทั้งที่มีงานมากมายที่จำเป็นต้องได้รับการพูด มากกว่านั้นยังคิดไปไม่ตกเรื่องผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นกับอุดมการณ์ทางการเมือง

ขณะที่ในประเด็นทางศาสนาที่นำมาใช้อธิบายการถือครองนิยามความเป็นคนดีในหมู่ กปปส. ไว้แต่เพียงพวกพ้องตนนั้น เกษียรแนะนำให้กลับไปศึกษางานของ สมบัติ จันทรวงศ์ ในเรื่องธรรมวิทยาของพลเมืองแบบนิยมกษัตริย์ ซึ่งเสนอเรื่องการถือครองธรรมะของพลเมืองที่นิยมกษัตริย์ในสังคมไทย หรือกระทั่งในงานของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ไว้ว่า

“สถาบันกษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 ทำหน้าที่แทนสถาบันสงฆ์ ในการเปลี่ยนหน้าที่กัน สฤษดิ์ทำหน้าที่ผู้มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์แทนกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์ทำหน้าที่สถาบันสงฆ์ ในแง่ประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ชอบธรรมของอำนาจต่างๆ ที่เป็นที่สถิตของ virtue เป็นแหล่งอบรม public morality คือง่ายๆ เลยนะ ผมขอเสนอให้ท่านทั้งหมดเอาพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่แล้วมานั่งอ่านว่าท่านพูดเรื่องอะไร ท่านพูดเรื่องเดียว public virtue public morality ท่านไม่พูดเรื่อง private morality ศีลห้า สิ่งที่ท่านพูดคือในเรื่องกิจการการมีส่วนร่วมของบ้านเมือง ศีลธรรมคืออะไร ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร พูดง่ายๆ ในช่วงเวลาอันยาวนานตลอดรัชกาล สถาบันสงฆ์ไม่พูดเรื่อง public morality พูดแต่ private morality สถาบันที่ผลิต public morality เยอะที่สุดคือสถาบันกษัตริย์ ตลอดรัชกาลท่านพูดเรื่องนี้ คือในความหมายนี้มันเมคเซนส์กว่าที่จะคิดถึงมันในแง่ที่ว่า เป็นกษัตริย์นิยมแบบศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 โดยการแสดงบทบาทที่เฉพาะเจาะจงมากของกษัตริย์พระองค์นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า tradition ตรงนั้นต่างหากที่สำคัญมากกว่าจะไปสำรวจดิ่งลึกลงไปในฐานศาสนา”

ขณะที่ประเด็นทางชนชั้น เกษียรยกตัวอย่างประโยคหนึ่งจากงานวิจัยขึ้นมากล่าวว่า “ชนชั้นกลางระดับบนที่สนับสนุน กปปส. ปราศจากการยึดโยงและขาดสายสัมพันธ์ร่วมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือชนชั้น มองตัวเองในฐานะปัจเจก กลายเป็นฐานการเมืองฟาสซิสต์ โห…ผมไม่กล้าหาญที่จะพูดแบบนี้นะ เพราะการที่จะพูดแบบนี้ได้ คุณต้องวิจัยฉิบหายเลย คุณสัมภาษณ์ 15 คนแล้วคุณสรุปแบบนี้ คุณพูดได้ไง และคุณไม่ได้บอกว่านี่เป็นความเห็นอัตวิสัยของคน 15 คน คุณเขียนแบบนี้เท่ากับคุณเคลมว่าชนชั้นกลางประเทศไทยหลุดจากเรื่องชนชั้น ทั้งๆ ที่ภาพรวมของงานวิจัยชิ้นนี้ถูกถึงเรื่องเดียว ชนชั้นกลางระดับบน ถ้าประโยคนี้จริง โครงการวิจัยนี้ไม่ต้องทำเลย ถ้าประโยคนี้จริง ลูกจีนรักชาติของสนธิ ลิ้มฯ ไม่มีหรอกครับ”

ข้อสรุปของเกษียรจากงานวิจัยที่พยายามเสนอแนวคิดว่าชนชั้นกลางเป็นฐานอำนาจนิยมและมีความเป็นอำนาจนิยมในตัวเองนั้นเป็นข้อสรุปที่ยากต่อการเชื่อ เพราะชนชั้นกลางไทยเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจไม่ได้ ทั้งกับเผด็จการและประชาธิปไตย

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า