ความจริงอันกลับตาลปัตร: 10 ปีหลังการปราบคนเสื้อแดง

ใครเลยจะคิดว่า ณ ปี 2563 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดง 10 เมษายน และ 14-19 พฤษภาคม 2553 ช่างแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์-สุเทพ และกองทัพเคยร่วมกันกล่าวหา แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภายหลังนี้จะไม่สามารถลบล้างความทรงจำที่ฝังอยู่ในตัวตนของสื่อและผู้คนที่เกลียดชังทักษิณและคนเสื้อแดงก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่ยืนยันเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อจากการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐ การชำระประวัติศาสตร์และทำความเข้าใจของสังคมต่อกรณีนี้ ถือเป็นภารกิจเบื้องต้นที่ไม่อาจละเลยได้ บทความนี้จึงขอทำหน้าที่บันทึกข้อเท็จจริงอันกลับตาลปัตรที่ปรากฏขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

คนเสื้อแดงคือผู้ก่อการร้าย

จุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหา ‘ผู้ก่อการร้าย’ เริ่มเมื่อ ‘ชายชุดดำ’ ปรากฏตัวขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน และข้อกล่าวหานี้เองจะกลายเป็นฐานรองรับข้อกล่าวหาอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ผู้ชุมนุมเสื้อแดงภายใต้การนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มมุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 มีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นผู้นำรัฐบาลเพราะมีกองทัพกดดันให้พรรคการเมืองอื่นสนับสนุน แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ปฏิเสธที่จะทำตาม พวกเขาเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนิน และขยายไปราชประสงค์ในเวลาต่อมา รัฐบาลจึงใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ

ปฏิบัติการสลายการชุมนุมเริ่มขึ้นในบ่ายวันที่ 10 เมษายน ศอฉ. อ้างว่าตนแค่พยายามกดดัน ‘ขอคืนพื้นที่’ ถนนราชดำเนิน ปราศจากการใช้กระสุนจริง แต่ในความเป็นจริง ศอฉ. ใช้ทั้งแก๊สน้ำตา ปืนเอ็ม 16 และรถหุ้มเกราะสายพานลำเลียงเข้าล้อมผู้ชุมนุม พวกเขาประสบกับการต่อต้านจากโล่มนุษย์ของผู้ชุมนุมที่คิดค้นอาวุธที่พอจะใช้ได้จากข้างถนน ก็ยังไม่สามารถยึดพื้นที่ได้ เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลงจนยากแก่การมองเห็นและสุ่มเสี่ยงให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรง ศอฉ. ยังไม่ยอมถอนกำลังของตน ทั้งนี้ พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ที่ได้กล่าวในบ่ายวันที่ 10 เมษายน ว่า “เราไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่า ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จะเสร็จภายในเมื่อไร ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่อาจใช้เวลานานเพราะผู้ชุมนุมต่อต้าน แม้จะใช้เวลานานก็คุ้ม ถ้ายืดเยื้อถึงค่ำเราก็ต้องทำให้เสร็จ”1

แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 1-2 ทุ่ม เมื่อจู่ๆ ก็ปรากฏชายชุดดำพร้อมอาวุธสงครามบริเวณถนนตะนาว ใกล้สี่แยกคอกวัว กราดยิงเข้าใส่กองทหารที่ตั้งอยู่ท้ายถนนตะนาว จนทหารบาดเจ็บและต้องถอยร่นไป

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น บนถนนดินสอ ที่ห่างจากถนนตะนาวราว 300 เมตร ศูนย์บัญชาการทหารที่ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ก็ถูกปาระเบิดเข้าใส่โดยไม่มีใครเห็นตัวผู้กระทำ ส่งผลให้มีทหารเสียชีวิตทันที 5 ราย หนึ่งในนั้นคือ พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ขณะที่พลตรีวลิต โรจนภักดี บาดเจ็บสาหัส ความสูญเสียของฝ่ายทหาร ส่งผลให้พวกเขาต้องยุติปฏิบัติการในทันที

ผลของปฏิบัติการในครั้งนี้ พลเรือนเสียชีวิต 22 ราย เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงกลางวัน 3 ราย ที่เหลือ 19 รายเสียชีวิตบริเวณสี่แยกคอกวัวด้วยอาวุธปืน ถูกยิงที่ศีรษะ 8 ราย ที่ลำตัวเหนือหัวเข่า 11 ราย และที่ศีรษะและขา 11 ราย หนึ่งในนั้นคือผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ จากสำนักข่าวรอยเตอร์2

วันรุ่งขึ้นสื่อมวลชนพากันพาดหัวข่าวตามข้อกล่าวหาของรัฐบาลว่า คนเสื้อแดงคือผู้ก่อการร้าย คนเสื้อแดงฆ่ากันเองแล้วโยนความผิดให้รัฐบาล คนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ

นับจากนี้ข้อหาผู้ก่อการร้ายจะถูกใช้อย่างกว้างขวาง จนมันกลายเป็นเสียงเชียร์ให้รัฐบาลรีบเร่งปราบผู้ชุมนุม กลายเป็นความชอบธรรมที่ทำให้ ศอฉ. กล้าประกาศใช้ ‘กระสุนจริง’ กับผู้ชุมนุม และนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงวันที่ 14-19 พฤษภาคม ผลคือมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มอีก 72 คน (รวม 84 คน) บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตอีก 5 ราย (รวมเป็น 10 ราย)

ข้อหาก่อการร้ายถูกใช้หนักหน่วงขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เผาเซ็นทรัลเวิลด์ โรงหนังสยาม ตลาดหลักทรัพย์ ห้างเซ็นเตอร์วัน และศาลากลางในบางจังหวัดของภาคอีสานในวันที่ 19 พฤษภาคม

ข้อกล่าวหา ‘ผู้ก่อการร้าย’ ส่งผลให้บริษัทประกันภัยปฏิเสธที่จะจ่ายค่าชดใช้ให้กับเอกชนที่เป็นเจ้าของอาคาร แต่ในที่สุด ในเดือนพฤษภาคม 2562 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้บริษัทประกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนด้วยเหตุผลว่าการเผาเหล่านั้นไม่ใช่การกระทำของกลุ่ม นปช. แต่เป็นการกระทำของกลุ่มคนที่ปิดบังใบหน้า หวังผลให้เกิดความเสียหาย ที่สำคัญการก่อเหตุเป็นช่วงหลังจากการชุมนุมได้ยุติลงและแกนนำ นปช. ถูกจับกุมแล้ว3

คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง

หลังเหตุการณ์เผาสถานที่ต่างๆ ‘ไอ้พวกเผาบ้านเผาเมือง’ ได้กลายเป็นวาทกรรมสำหรับทำลายความชอบธรรมของคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. แม้แต่ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในปี 2556 ในช่วงโค้งสุดท้ายที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำท่าจะพ่ายแพ้ พรรคประชาธิปัตย์ยังงัดข้อหานี้โจมตีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ทำนองว่าถ้าไม่เลือกสุขุมพันธุ์ พวกเผาบ้านเผาเมืองมาแน่ ข้อกล่าวหาทำนองเดียวกันยังถูกใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 โดยพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารอีกด้วย

กลุ่มอนุรักษนิยมที่เกลียดชังทักษิณ-คนเสื้อแดงยังคงใช้ข้อหา ‘เผาบ้านเผาเมือง’ ไม่เลิกรา แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีคำพิพากษาของศาลหลายกรณีที่ยกฟ้องข้อหาดังกล่าวต่อคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. ได้แก่

1. กรณีเซ็นทรัลเวิลด์

คนจำนวนมากเชื่ออย่างสนิทใจว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้เผา แต่ในวันที่ 4 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นข้อหาวางเพลิงกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง 2 คนคือ นายสายชล แพบัว และ นายพินิจ จันทร์ณรงค์ หลักฐานสำคัญคือพยานบุคคล พลตำรวจโทชุมพล บุญประยูร ที่ปรึกษาด้านการป้องกันอัคคีภัยของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาที่ระบุว่า

“ตลอดเวลา 2 เดือนเต็มๆ เราได้ประสานไมตรีกับผู้ชุมนุมมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพวกการ์ดแทบจะรู้จักกันทุกคน แต่ในวันเกิดเหตุเผาเซ็นทรัลเวิลด์ขอบอกว่าไม่เห็นหน้าคนเหล่านั้นเลย มีแต่พวกที่เรียกตัวเองว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่าย กลุ่มนี้แหละที่เขาบอกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ก่อการร้ายที่แม้แต่ตำรวจและทหารก็ไม่กล้าแตะ ถ้าแตะมันก็ต้องมีศพกันบ้างล่ะ แต่นี่ไม่ คนกลุ่มนี้เข้าออกในที่เกิดเหตุโดยไม่มีใครกล้าทำอะไรพวกเขา เจ้าหน้าที่มีข้อมูลทุกอย่างแต่ทำไมถึงจับคนร้ายไม่ได้”4

พลตำรวจโทชุมพลยังยืนยันว่า เมื่อแกนนำ นปช. ประกาศสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่ของห้างและบริเวณรอบเซ็นทรัลเวิลด์ไว้หมดแล้ว และเขาปิดท้ายว่า “ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่เขาไม่เคลียร์พื้นที่ให้กับทีมดับเพลิง ตั้งแต่เย็นไม่มีใครเคลียร์พื้นที่ให้ ปล่อยให้มันไหม้ได้อย่างนั้น”5

2. ยกฟ้องแกนนำ นปช.

วันที่ 14 สิงหาคม 2562 ศาลอาญาชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง 22 แกนนำ นปช. ทุกข้อกล่าวหา ทั้งก่อการร้าย-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ทำให้เสียทรัพย์ ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ว่า

  • การชุมนุมของ นปช. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา-จัดการเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
  • ไม่มีหลักฐานว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือของฝ่ายใด, ไม่ปรากฏว่าชายชุดดำเป็นกองกำลังของฝ่ายใด
  • แกนนำ นปช. ประกาศแนวทางการต่อสู้โดยสันติวิธี และปฏิเสธไม่ยอมรับการดำเนินการของ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง กับพวก ซึ่งมีแนวทางคนละแนวกับตนตลอดมา และการดำเนินการของ เสธ.แดง ไม่ใช่กิจกรรมของ นปช.
  • การปราศรัยของแกนนำบนเวทีว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุม หรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมาและให้เผานั้น เป็นการปราศรัยก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่ปราศรัยแต่อย่างใด และการวางเพลิงในวันที่ 19 พฤษภาคม เกิดขึ้นหลัง นปช. ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว6

แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ แม้ว่าจะไม่สามารถจับมือเผาได้ แต่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ศาลฎีกาของศาลแพ่งกลับมีคำสั่งให้แกนนำ นปช. 3 คน คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายแพทย์เหวง โตจิราการ ชดใช้ค่าเสียหาย 21 ล้านบาทให้กับเจ้าของตึกเซ็นเตอร์วัน แต่ยกฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องร่วม

มีความเป็นไปได้ที่การวางเพลิงในบางกรณีอาจเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม แต่ไม่ใช่ในทุกกรณีอย่างแน่นอน ในหลายกรณีในภาคอีสาน ผู้ชุมนุมถูกตัดสินให้มีความผิดด้วยหลักฐานจากภาพถ่ายที่เพียงแค่แสดงว่าพวกเขาอยู่บริเวณรอบศาลากลางเท่านั้น บางกรณีแม้จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้การยืนยันว่าผู้ชุมนุมได้ช่วยตนดับไฟ แต่ก็ยังถูกตัดสินให้มีความผิด7

ชายชุดดำกับ 6 ศพวัดปทุมฯ

ในเวลาที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต รัฐบาลและ ศอฉ. มักรีบโยนว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมหรือชายชุดดำที่ยิงกันเองเพื่อให้ร้ายรัฐบาล กรณีสำคัญคือ 6 ศพในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ในจำนวนคนที่เสียชีวิตเป็นอาสาสมัครพยาบาล 2 คน คือ นางสาวกมนเกด อัคฮาด และ นายอัครเดช ขันแก้ว และเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ 1 คน คือ นายมงคล เข็มทอง คนที่ถูกยิงมากที่สุดคือ นางสาวกมนเกด พบร่องรอยกระสุนบนร่างร่วม 10 แห่ง ทั้งที่หลังทะลุกล้ามเนื้อคอผ่านฐานกะโหลกไปทำลายสมอง แขน สีข้าง ชายโครง และขา8 คลิปวิดีโอชี้ว่าแม้เธอจะล้มลงไปแล้ว แต่ก็ถูกยิงซ้ำอีกหลายนัด

รายงานของคณะกรรมการไต่สวนความจริงเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ (คอป.) ที่นำโดย นายคณิต ณ นคร และ นายสมชาย หอมลออ ก็รับเอาเรื่องชายชุดดำมาอธิบายความรุนแรงตลอดทั้งเล่ม โดยย้ำว่าทหารจำเป็นต้องตอบโต้และปกป้องตนเองจากการกระทำของชายชุดดำ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมต้องเคราะห์ร้ายไปด้วย ในกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ คอป. อธิบายว่า ในบริเวณรอบวัดปทุมฯ มีชายชุดดำและการ์ดเสื้อแดงพร้อมอาวุธในบริเวณนั้นยิงใส่เจ้าหน้าที่ และมีซ่อนตัวอยู่ในวัดปทุมฯ ด้วย อีกทั้งทหารได้ค้นพบอาวุธจำนวนมากภายในวัด9 คอป. ยังอ้างหลักฐานที่ไม่มีการพิสูจน์ เพื่อจะชี้ว่ามีชายชุดดำยิงมาจากวัดปทุมฯ ใส่ทหารที่ประจำอยู่บนรถไฟฟ้า จนทำให้ทหารยิงเข้าใส่ประชาชนในวัดปทุมฯ โดย คอป. อ้างว่า:

พบรอยแตกกะเทาะคล้ายรอยกระสุนปืนที่ผนังคอนกรีตและใต้คานรองรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้านหน้าวัดปทุมวนาราม จำนวน 4 รอย โดยมีทิศทางการยิงขึ้นไปจากพื้นด้านหน้าหรือในวัดปทุมวนาราม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกลางแจ้งว่าไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นรอยกระสุนปืนหรือไม่ เนื่องจากอยู่สูงไม่สามารถขึ้นไปตรวจได้ ซึ่งหากเป็นรอยกระสุนจริงก็มีความเป็นไปได้ว่ามีการยิงมาจากด้านในวัดปทุมวนารามไปยังกำแพงรางรถไฟฟ้าซึ่งมีทหารอยู่10

แต่ในที่สุด คำอธิบายของ คอป. ได้ถูกหักล้างทุกประเด็นจากการไต่สวนการตาย ของศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โดยศาลชี้ว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำยิงอยู่ภายในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก:

  • ในขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันและบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ปรากฏภาพถ่ายของชายชุดดำมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้
  • จากคำให้การของพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายที่ประจำอยู่อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าเห็นทหารบนรางรถไฟฟ้ากำลังเล็งอาวุธปืนเข้าไปในวัด โดยไม่ปรากฏว่ากำลังต่อสู้กับบุคคลใด พยานได้ยินเสียงปืนดังจากจุดที่ทหารประจำอยู่ แต่ทหารไม่ได้แสดงท่าทีหลบกระสุนแต่ประการใด
  • มีหลักฐานและพยานที่ชี้ชัดว่าตั้งแต่เวลา 15.00 น. ทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่รอบแยกราชประสงค์ไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณถนนพระรามที่ 1 (ที่ตั้งของวัดปทุมฯ)
  • สำหรับการกล่าวอ้างว่าได้พบอาวุธจำนวนมากในวัดปทุมฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ศาลเห็นว่าไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมฯ และพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1 เพราะไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหาลายนิ้วมือแฝงและดีเอ็นเอ อีกทั้งของกลางดังกล่าวก็ไม่ได้ตรวจยึดในวันเกิดเหตุทันที อีกทั้งการตรวจยึดของกลางได้กระทำหลังเกิดเหตุแล้วเป็นเวลาหลายเดือน การตรวจยึดของกลางดังกล่าวจึงมีข้อพิรุธ
  • ศาลจึงวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คน เป็นผลจากการกระทำของทหาร11

คอป. ค้นหาความจริง หรือออกใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด (Impunity)12

คอป. เปิดตัวรายงานความยาว 275 หน้า ในวันที่ 17 กันยายน 2555 ประเด็นที่โดดเด่นในการแถลงข่าวและในตัวรายงานของ คอป. ก็คือความรุนแรงที่เกิดจากชายชุดดำ ด้วยเหตุนี้ในเช้าวันรุ่งขึ้น สื่อมวลชนต่างพากันพาดหัวข่าวเรื่องชายชุดดำ ขณะที่กล่าวถึงความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐน้อยมาก ทั้งๆ ที่ในหลายกรณี คอป. ไม่สามารถเสนอหลักฐานการปรากฏตัวของชายชุดดำได้เลย

ผู้เขียนและเพื่อนๆ ที่ร่วมงานใน ศปช.13 ไม่เคยปฏิเสธว่ามีชายชุดดำอยู่จริง แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถแสดงหลักฐานการปรากฏตัวของชายชุดดำได้เฉพาะในคืนวันที่ 10 เมษายน ที่สี่แยกคอกวัวเท่านั้น รัฐบาลไม่สามารถยืนยันได้ว่าชายชุดดำเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในที่อื่นๆ หรือแม้แต่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ก็ไม่มีหลักฐานว่าชายชุดดำปรากฏตัวในบริเวณดังกล่าว

ศอฉ. มักอ้างตัวเลขการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้รุนแรง รายงานของ ศปช. ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 10 คน (ทหาร 7 ราย และตำรวจ 3 ราย) ดังนี้คือ

  1. ทหาร 5 รายเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เมษายน ดังที่กล่าวไปแล้ว
  2. ทหาร 1 รายเสียชีวิตในวันที่ 28 เมษายน จากกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ ซึ่ง คอป. ก็ยอมรับว่าเป็นการยิงกันเองของทหารบนถนนวิภาวดีรังสิต เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ชุมนุม
  3. ตำรวจ 2 นายเสียชีวิตในวันที่ 7 พฤษภาคม จากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายยิงปืนเอ็ม 16 ใส่เจ้าหน้าที่และกลุ่มประชาชนที่หน้าธนาคารกรุงไทยบริเวณแยกศาลาแดง ถนนสีลม และจากเหตุการณ์ยิงระเบิดชนิดเอ็ม 79 ใส่ด่านตรวจของเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าประตู 4 สวนลุมพินี
  4. หากมีชายชุดดำในทุกที่ในระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่คงไม่เสียชีวิตเพียง 2 ราย แถมหนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เสียชีวิตเพราะทหารเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 16 พฤษภาคม ส่วนทหารอีก 1 รายถูกระเบิดบริเวณแยกสารสิน

ต่อให้มีชายชุดดำจริงและผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องติดตามนำพวกเขามาลงโทษตามกฎหมาย ชายชุดดำไม่สามารถเป็นข้ออ้างในการยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธได้อย่างไม่จำกัด การมีอาวุธของผู้ชุมนุมบางคน ซึ่งน่าจะเป็นส่วนน้อยนิด ไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดกลายเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างให้รัฐบาลใช้กระสุนจริงกว่า 100,000 นัด และกระสุนสไนเปอร์อีกกว่า 2,000 นัดเพื่อสลายการชุมนุมได้

นอกจากกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รายงานของ คอป. มีปัญหาอื่นอีกมากมาย เช่น

ในขณะที่ คอป. เน้นย้ำว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ แต่ คอป. กลับละเลยไม่เอ่ยถึงตัวเลขสรรพกำลังและอาวุธที่ ศอฉ. อนุมัติสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกกระสุนจริง 479,577 นัด กระสุนสไนเปอร์ 3,000 นัด และกำลังพล 67,000 นาย ทั้งๆ ที่นี่เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในรัฐสภา และฝ่ายทหารไม่เคยปฏิเสธว่าไม่จริง คอป. ไม่สนใจตั้งคำถามว่าการใช้กำลังทางทหารขนาดมหึมาขนาดนี้มีจุดประสงค์อะไร นอกจากนี้ คอป. ยังบกพร่องที่จะนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าพลเรือนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงบริเวณศีรษะและช่วงบนของร่างกาย ทั้งๆ ที่ คอป. มีข้อมูลการชันสูตรพลิกศพที่ครบถ้วน

คำถามคือ การไม่นำเสนอจำนวนจริงของกำลังและอาวุธที่ระดมออกมา เป็นความจงใจลดภาพการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐใช่หรือไม่? เพื่อเบี่ยงเบนว่านี่คือการใช้ยุทธการทางทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนใช่หรือไม่?

ตลอดรายงาน คอป. เลือกใช้คำว่า ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ ‘ปฏิบัติการกระชับวงล้อม’ ของทหาร แต่ไม่ใช้คำว่า ‘การสลายการชุมนุม’ หรือ ‘ยุทธการทางทหาร’ ทั้งๆ ที่บทความของฝ่ายทหารที่วิเคราะห์อย่างภาคภูมิใจถึงความสำเร็จของปฏิบัติการนี้ได้ชี้ชัดว่า การใช้กำลังพลและอาวุธมากขนาดนี้เพราะ ‘เป็นแผนการปฏิบัติการรบเต็มรูปแบบเสมือนการทำสงครามรบในเมือง’ และ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม ว่า “การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (เวลา 03.30-13.30 น.) ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง”14

คอป. ละเลยคำให้สัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวไทยและเทศที่อยู่ในที่เกิดเหตุที่ระบุว่าทหารยิงอย่างไม่เลือกหน้า เช่น คำให้สัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวต่างชาติที่ปรากฏในรายงานขององค์กร Reporters Without Borders:

เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่ากฎการใช้กำลังของกองทัพไทยอนุญาตให้ทหารยิงพลเรือนคนไหนก็ตามที่อยู่ในเขตพื้นที่ของคนเสื้อแดง ไม่ใช่แค่คนที่ติดอาวุธ ผมเห็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงไร้อาวุธจำนวนมากถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บจากกระสุนที่ทหารเป็นผู้ยิง เราไม่สามารถถามความคิดเห็นใดๆ จากเจ้าหน้าที่ทหารในประเด็นเรื่องกฎการใช้กำลังนี้ได้เลย… ใครก็ตามที่อยู่ในเขตเสื้อแดง รวมทั้งนักข่าว เสี่ยงที่จะถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บ สิ่งนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกในวันสุดท้าย15

ช่างภาพของ นสพ.เดอะเนชั่น ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภในช่วงบ่ายของวันที่ 15 พฤษภาคม เชื่อว่าเขาถูกยิงโดยทหาร “ผมอยู่กับผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน ซึ่งพยายามจะเคลื่อนเข้าไปใกล้ทหาร คนเสื้อแดงใช้ยางรถยนต์เป็นเกราะป้องกัน แต่พวกเขาไม่มีอาวุธ จู่ๆ ทหารก็ยิงกระสุนจริงเข้ามา ทีแรกผมคิดว่าเป็นแค่การยิงขู่ แต่พวกเขายังคงใช้อาวุธอัตโนมัติระดมยิงไม่หยุด ผมเริ่มออกวิ่งเพื่อหาที่หลบ แต่ถูกยิงก่อนจะถึงที่หลบภัยไม่กี่เซนติเมตร… ผมสามารถพูดได้ว่าผมถูกยิงอย่างจงใจ ตอนที่ทหารบุกโจมตี ผมอยู่ไกลจากกลุ่มผู้ชุมนุมเกินกว่าที่ใครจะสามารถอ้างได้ว่ามันเป็นอุบัติเหตุ เป็นไปได้ว่าทหารไม่ต้องการให้ผมถ่ายภาพ”16

แม้แต่กรณีเซ็นทรัลเวิลด์ คอป. ก็ย้ำว่าพบผู้ชุมนุมและชายใส่ชุดสีดำอยู่ในตัวอาคารถึง 4 จุด17 โดยเห็นว่าเป็นผลจากการปลุกปั่นยั่วยุของแกนนำ นปช. ที่ให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงและเผาสถานที่หลายครั้งหลายหน18 คอป. จึงสรุปว่า “ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กระทำหรือเกี่ยวข้อง” คอป. ยังย้ำข้อมูลจากฝ่ายทหารว่า ในระหว่างที่อาคารเซ็นทรัลเวิลด์กำลังลุกไหม้ “เจ้าหน้าที่ทหารได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับทันทีเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย” ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ในเวลาหลัง 21.00 น.” ข้อความนี้ของ คอป. ได้ถูกล้มล้างโดยศาล ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งคือ คอป. ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการวางเพลิงสถานที่ราชการในต่างจังหวัด แต่ก็สามารถเขียนในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม ซึ่งอยู่ในอารมณ์โกรธแค้นเพราะการยั่วยุของแกนนำ นปช. และวิทยุชุมชน19

ในขณะที่ชื่อของ คอป. ระบุว่าพวกเขามีภารกิจค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองของสังคม แต่บทวิเคราะห์ของ ดันแคน แม็คคาร์โก (Duncan McCargo) และ นฤมล ทับจุมพล20 กลับชี้ว่า คอป. ขาดความเป็นกลางและอิสระในการทำหน้าที่ค้นหาความจริง พวกเขาไม่พยายามที่จะปิดบังอคติและความไม่ชอบทักษิณ ซ้ำร้ายผลงานของ คอป. ไม่เข้านิยามมาตรฐานคณะกรรมการค้นหาความจริงด้วยซ้ำ รวมทั้งการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะผู้ที่ก่อตั้ง คอป. คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งโดยตรง และทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ยังคงมีอำนาจต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ที่จะเอื้ออำนวยให้การทำงานของคณะกรรมการเป็นอิสระและเอื้อให้เกิดความยุติธรรมแก่เหยื่อได้จริง

แมคคาร์โกและนฤมลสรุปว่า ความผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ของ คอป. ที่ไม่วิพากษ์ปฏิบัติการของทหาร เท่ากับช่วยแผ้วถางทางให้กับการรัฐประหารในปี 2557 นั่นเอง กล่าวคือ ในขณะที่ คอป. มีข้อเสนอแนะให้มีการนิรโทษกรรม โดยเตือนว่าต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษแบบเหมาเข่ง แต่เมื่อ คอป. ไม่ได้เรียกร้องอย่างหนักแน่นเพียงพอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต้องรับผิด (accountability) จึงส่งผลให้ในด้านหนึ่ง คอป. ได้เปิดทางให้กับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง คอป. ล้มเหลวในการท้าทายการไม่ต้องรับผิดของทหาร จึงเท่ากับ คอป. ช่วยแผ้วทางให้ประเทศไทยกลับคืนสู่การปกครองของทหารอีกครั้ง ข้ออ้างของทหารที่ว่าตนเป็นเพียงคนกลางที่ทำหน้าที่รักษากฎระเบียบของบ้านเมืองจึงไม่ได้ถูกตั้งคำถามเลย คอป. ไม่เพียงล้มเหลวในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่ผู้กระทำผิดต้องรับผิด แต่ยังสนับสนุนวัฒนธรรมที่ผู้กระทำผิดลอยนวลและการนิรโทษกรรมด้วย เมื่อคณะกรรมการค้นหาความจริง ไม่สามารถให้คำอธิบายที่น่าเชื่อถือแก่สังคมได้ ก็เท่ากับได้ทำลายจุดมุ่งหมายของตนเอง (counterproductive)

รัฐประหาร 2557 กับกรณีเมษา-พฤษภา 2553

หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยในการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมอย่างน้อย 17 ราย ว่าประชาชนเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งทหาร ในเดือนตุลาคม 2556 อัยการสูงสุดจึงได้สั่งฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่า อย่างไรก็ตาม เพียง 3 เดือนหลังรัฐประหารโดย คสช. ศาลอาญาได้กลับคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคน ด้วยเหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นการใช้อำนาจ ตำแหน่ง หน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ. ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ฉะนั้น จึงเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และหาก ปปช. ชี้มูลความผิดก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คำพิพากษาดังกล่าวส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นเพียง ‘ข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ’ เท่านั้น ซึ่งในที่สุด ปปช. ก็มีมติไม่ยื่นฟ้องต่อทั้งสองคน นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจเลยสักนิดเมื่อเราได้ประจักษ์ถึงการกระทำหน้าที่ของ ปปช. ตลอดช่วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา

ก่อนหน้าการรัฐประหาร ผู้นำทหารดูจะวิตกกังวลกับข้อกล่าวหาว่ากองทัพเกี่ยวข้องกับการตายของผู้ชุมนุมไม่น้อย ในการไต่สวนการตายกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ เมื่อพยานหลักฐานชี้ชัดว่ากระสุนที่พบในร่างของผู้เสียชีวิตตรงกับกระสุนที่กองทัพใช้ กองทัพได้ออกคำแถลงในทันทีว่ากระสุนเหล่านั้นอาจเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมที่ขโมยลูกกระสุนและปืนจากกองทัพไปก่อนหน้านี้ก็เป็นได้21 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ถึงกับเอ่ยปากว่าต้องการให้การไต่สวนการตายกระทำแบบลับ22

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังการรัฐประหารโดย คสช. กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงปี 2553 จึงเกิดการพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนกล่าวได้ว่าการจัดการกับความจริงของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ให้เรียบร้อยเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ของการรัฐประหาร โดยเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ‘ความจริง’ ‘ความยุติธรรม’ ‘การรับผิด’ ยังสามารถหลอกหลอนพวกเขาได้ต่อไปตราบเท่าที่เราไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เงียบหายไปกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

เชิงอรรถ

  1. ‘ตาย 9 ศพ เจ็บร่วม 500 มิคสัญญี,’ ไทยรัฐ, 11 เมษายน 2553 และคำให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันใน ‘ปืน-ระเบิด ระงมจลาจล! ตาย-เจ็บครึ่งพัน,’ ข่าวสด, 11 เมษายน 2553.
  2. เกษม เพ็ญภินันท์. ‘ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 53’, ใน ศปช. ความจริงเพื่อความยุติธรรม. 2557: 54.
  3. ‘เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ชี้ชัด นปช. ไม่ได้เผาเมือง สั่งบริษัทประกันชดใช้ ตามรอยคดีเซ็นทรัลเวิลด์’, มติชนสุดสัปดาห์. 10-16 พฤษภาคม 2562.
  4. ‘ที่ปรึกษาอัคคีภัยเซ็นทรัลฯ ยันจำเลยคดีเผา CTW ไม่สามารถวางเพลิงได้,’ ประชาไท, 30 มกราคม 2556, http://prachatai.com/journal/2013/01/45013
  5. เพิ่งอ้าง.
  6. ‘คำพิพากษาละเอียด!!! ยกฟ้อง 22 แกนนำ นปช. คดี ‘เผาบ้านเผาเมือง-ก่อการร้าย’ โพสต์ทูเดย์. 14 สิงหาคม 2562.
  7. ศปช. ความจริงเพื่อความยุติธรรม. 2555: บทที่ 5.
  8. กฤตยา อาชวนิจกุล และ ชัยธวัช ตุลาธน, ‘เชิงอรรถความตาย…,’ ใน ศปช. ความจริงเพื่อความยุติธรรม: 420.
  9. คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), รายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง กรกฎาคม 2553-กรกฎาคม 2555: 152-153
  10. เพิ่งอ้าง.: 152.
  11. เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม ‘6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร’ ประชาไท, 7 สิงหาคม 2555, http://prachatai.com/journal/2013/08/48057
  12. สรุปจาก พวงทอง ภวัครพันธุ์. ‘ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553’, ฟ้าเดียวกัน. ตุลาคม-ธันวาคม 2559.
  13. ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ก่อตั้งขึ้นหลังการสลายการชุมนุมเสื้อแดง โดยกลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมที่ไม่ไว้วางใจการทำงานอย่างอิสระของ คอป. ซึ่งเราได้ตีพิมพ์รายงานค้นหาความจริงที่คู่ขนานไปกับของ คอป.
  14. หัวหน้าควง ‘บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553,” เสนาธิปัตย์, ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2553) หน้า 57-68.
  15. Vincent Brossel and Nalinee Udomsinn, Thailand Licence to Kill: Reporters Without Borders Calls for Independent Inquiry into Crimes against Media. Reporters Without Borders, July 2010. ดูฉบับแปลได้ที่ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน, ‘รายงานการสืบหาข้อเท็จจริง ประเทศไทย: ใบอนุญาตสั่งฆ่า’ แปลโดย อัญชลี มณีโรจน์, ใน ศปช., อ้างแล้ว, หน้า 1382-1383.
  16. เพิ่งอ้าง.: 1384-1385.
  17. คอป., อ้างแล้ว: 154-155.
  18. คอป., อ้างแล้ว.: 155, 162-167.
  19. คอป., อ้างแล้ว.: 156-157.
  20. Duncan McCargo and Naruemon Thapchumpol. “Wreck/Conciliation?: The Politics of Truth Commissions in Thailand,” Journal of East Asian Studies, 14 (2014).
  21. ‘Army rebuttals deaths at Wat Prathum’, The Nation, 20 June 2012.
  22. ‘Prayuth wants temple testimony kept secret’, Bangkok Post, 23 June 2012.

Author

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้ประสานงาน 'ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53' (ศปช.) อันเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่ง จุดมุ่งหมายของ ศปช. คือจัดทำรายงานค้นหาความจริงเกี่ยวกับล้อมปราบในปี 53 ซึ่งถือเป็นการทำงานคู่ขนานและตรวจสอบการทำงานของ คอป. ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งดังกล่าว

Photographer

ปฏิภัทร จันทร์ทอง
เคยทำงานภาพข่าวที่ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นสมาชิก Realframe และ TNP ยังคงทำงานถ่ายภาพและรับจ้างทั่วไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า