กิจการพลเรือนภายใต้การแทรกซึมของกองทัพ

บทบาทของทหารที่เราคุ้นเคยมักจะหนีไม่พ้นภาพของการต่อสู้ การปกป้องอธิปไตยทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ รวมไปถึงบทบาทของการช่วยเหลือประชาชนในช่วงประสบภัยทางธรรมชาติต่างๆ ทหารเป็นทั้งผู้ปกป้อง ผู้ให้การคุ้มครอง เป็นรั้วของชาติ เป็นทหารของประชาชน และเป็นผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์ สมดั่งคำขวัญ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ หากแต่นั่นเป็นบทบาทเพียงด้านที่เราคุ้นเคย ขณะที่บทบาทอีกด้าน ในส่วนที่เรียกว่า ‘กิจการพลเรือน’ กลับไม่ค่อยมีการกล่าวถึง กระทั่งบางคนไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า กิจกรรมที่ว่านั้นล้วนอยู่ภายใต้การ ‘กำกับ’ ‘ชี้นำ’ และ ‘วางแผน’ มาโดยทหารแทบทั้งสิ้น

พูดตรงๆ ล้วนอยู่ภายใต้การบัญชาการของกองทัพบกแห่งประเทศไทย

ในงานรัฐศาสตร์เสวนา ชุด ไทยคดีศึกษากับการเมืองและสังคมไทย รองศาสตรจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำส่วนหนึ่งของงานวิจัยมาร่วมพูดคุย โดยมี ศาสตรจารย์สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาในฐานะผู้คร่ำหวอดในเรื่องของแวดวงทหาร และเป็นผู้ที่เคยผ่านยุคสมัยของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงประเทศนับตั้งแต่เมื่อเสียงปืนดังขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2508

เนื้อหาในวงวิชาการครั้งนี้เน้นไปยังการศึกษาที่มาที่ไปของกิจการพลเรือนภายใต้การกำกับของหน่วยงานที่ไม่ใช่พลเรือนอย่างทหารบก นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อสะสางที่มาที่ไปต่อบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. ซึ่งก่อตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อต่อต้านภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อนจะลดบทบาทลงเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยพ่ายแพ้ในสงครามประชาชน ปี 2525-2526

จนกระทั่งเมื่อมีการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ในยุคสมัยของรัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2543 คำตอบของการมีอยู่ของ กอ.รมน. ได้มาถึงทางเลือกของการยุบหน่วยงาน หรือมองหาภัยใหม่ๆ ของประเทศ เพื่อหาโจทย์ที่จะตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมเมื่อสิ้นสุดยุคสงครามเย็นแล้ว หน่วยงานซึ่งมีที่มาจากการปกป้องอธิปไตยจากลัทธิคอมมิวนิสต์จึงยังอยู่ และคงอยู่เรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน

 

ไทม์ไลน์ต้านคอมมิวนิสต์

รศ.พวงทอง เริ่มเวทีเสวนาด้วยการฉายภาพสไลด์ของกองกำลังอาสารักษาดินแดน ก่อนจะเอ่ยถามวงเสวนาที่คับคั่งภายในห้องว่า เมื่อแรกเห็นภาพนี้ คุณคิดว่าเจ้าหน้าที่ในภาพเป็นทหารหรือไม่เป็น?

เพียงภาพแรกก็เป็นการเปิดนำการเสวนาที่ตั้งคำถามสู่ความเข้าใจอันกลวงเปล่าของสังคมแล้วว่า เราไม่ได้เข้าใจ กระทั่งแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่า ภายใต้ชุดพราง สวมรองเท้าบูท และถือปืน M16 นั้น ไม่ได้หมายความว่า ‘พวกเขา’ จะเป็น ‘ทหาร’ เสมอไป เจ้าหน้าที่ในชุดพรางทั้งหมดนั้นล้วนเป็นอาสาสมัครประเภทต่างๆ ตามแต่บทบาทหน้าที่ภายใต้การจัดตั้งและอำนวยการของ กอ.รมน.ที่ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ในชื่อ ‘กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์’ หรือ บก.ปค. ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2508 – สี่เดือนหลัง ‘เสียงปืนแตก’

2476-2495

ประเทศไทยรู้จักคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรกราวปี 2476 เมื่อมีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ จนเป็นเหตุให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยออกไปนอกประเทศจากการนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘สมุดปกเหลือง’ ซึ่งเป็นเค้าโครงเศรษฐกิจที่มีเนื้อหาว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการ กาลเวลาเปลี่ยนผ่านมาถึงยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ที่นำไปสู่การจับกุมนักคิด นักเขียน ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมาก ก่อนที่กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ หรือ บก.ปค. จะก่อตั้งขึ้นในอีก 13 ปีต่อมา

จากนั้น บก.ปค. ได้เปลี่ยนเป็น กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2512 และเปลี่ยนมาเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ในปี 2516

ภารกิจครั้งสำคัญของ กอ.รมน. ที่ต้องจารึกไว้คือ มีการจัดตั้งกลุ่ม ‘นวพล’ ขึ้นในปี 2517 เพื่อทำงานในฐานะกองกำลังจัดตั้งของ กอ.รมน. ควบคู่กับกลุ่ม ‘กระทิงแดง’ ที่ก่อตั้งขึ้นในปีเดียวกัน และ ‘กองอาสารักษาดินแดน’ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2497 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 รู้จักดีในชื่อ ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหาร

2500-2519

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ความร่วมมือระหว่างไทยกับอเมริกาจึงเกิดขึ้นจากแนวคิดที่อิงมาจาก ‘ทฤษฎีโดมิโน’ แต่กว่าสาธารณะชนจะรู้ว่าอเมริกาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะกับเวียดนาม ก็ล่วงมาถึงวันที่ 9 มีนาคม ปี 2510 แล้ว เมื่อมีการเปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2507 กองทัพไทยได้ดำเนินการจัดส่งอาวุธไปให้กองทัพเวียดนามใต้ โดยได้รับทุนสนับสนุนมาจากอเมริกา [1] ซึ่งได้สร้างสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้ทำการรัฐประการจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี 2500 ก่อนจะทำการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2501 จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 เปิดทางให้จอมพลถนอม กิตติขจร รับช่วงอำนาจเผด็จการอย่างต่อเนื่องและยาวนานในห้วงเวลาที่รัฐไทยพยามสร้างความปึกแผ่น จนกระทั่งจอมพลถนอมทำการรัฐประหารตัวเองในปี 2514 นำไปสู่กระแสเรียกร้องทวงคืนรัฐธรรมนูญและให้มีการเลือกตั้งจากนักศึกษา นักวิชาการ รวมไปถึงแรงงาน จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ 2500 จนมาถึง 2516 ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้เขียนไว้ในหนังสือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ว่า “…รัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นความพยายามที่จะรื้อฟื้นและดำรงไว้ซึ่งระบบทางการเมืองที่จอมพลสฤษดิ์ได้สร้างขึ้นมา…”

 

บ้านเมืองของเราลงแดง

ในหนังสือ บ้านเมืองของเราลงแดง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้เขียนไว้ว่า “กลุ่มคนที่กำลังมีบทบาทและฐานะทางสังคมในยุคอเมริกา (ช่วงจากรัฐบาลสฤษดิ์ถึงถนอม) มากเป็นพิเศษ นั่นคือ คนชั้นกลางที่กำลังสร้างความมั่นคงและเป็นสถาบันให้แก่ชนชั้นของตนผ่านครอบครัว หากเจาะจงเฉพาะแค่บทบาทของคนชั้นกลางในการเมืองไทยในช่วงหลังกรณี 6 ตุลาฯ จนถึงปัจจุบัน (ปี 2559) ก็น่าจะได้คำตอบว่า การเมืองไทยไม่ได้หยุดอยู่กับที่ หรือเดินวนเวียนและถอยหลังเข้าคลองแต่ประการใด หากแต่คนชั้นกลางได้เข้ามามีบทบาทและฐานะสำคัญอย่างมีนัยในวิกฤติและความขัดแย้งอันนำไปสู่รัฐประหารถึง 2 ครั้งในทศวรรษเดียว ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ฝืนและตรงข้ามกับกระแสการเมืองโลกและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [2]

ห้วงเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษที่เกิดการรัฐประหารขึ้น 2 ครั้ง ภายใต้บริบทที่ภัยคอมมิวนิสต์ได้หายไปหมดสิ้นแล้ว นับตั้งแต่นโยบาย 66/23 ประกาศใช้ภายใต้รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่ออภัยโทษให้กับผู้ที่เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนมาถึงนโยบาย 66/25 ในปี 2525 เมื่อมีการหยุดยิงระหว่างสองฝ่าย บทบาทของ กอ.รมน. ที่มีมาตั้งแต่ปี 2508 ผ่านการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง กระทั่งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในห้วงปี 2516-2519 จึงได้เริ่มเปลี่ยนบทบาทในเชิงรุกทางการทหารไปเป็นบทบาทที่ ดร.พวงทอง อธิบายว่า เป็นการปลูกฝังความรักชาติ รักสามัคคี ถือเป็น Priority ของชาติในรัฐบาลของพลเอกเปรม ทำให้ กอ.รมน.มีอำนาจในการเข้าไปจัดตั้งมวลชนที่เพิ่งออกจากป่าให้กลับมาเป็นพลเมือง ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ ภายหลังการประกาศยุติการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

 

บทบาทที่เปลี่ยนไปหลังกำแพงอุดมการณ์พังทลาย

ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้า คสช. ได้กล่าวถึงนโยบาย 66/23 ไว้ในฐานะของกรอบการทำงานเพื่อแผนการปรองดองแห่งชาติ ที่กินระยะเวลา 20 ปี โดยมี กอ.รมน.เป็นตัวขับเคลื่อน นั่นนำมาสู่หัวข้อต่อมาเพื่อจะหาคำตอบว่า เหตุใดเมื่อสิ้นสุดยุคคอมมิวนิสต์หลังนโยบาย 66/23 และ 66/25 แล้ว แทนที่ กอ.รมน.จะยุติบทบาทตัวเองลง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงปี 2543

คำตอบของคำถามนั้น รศ.พวงทอง อภิปรายว่า เมื่อรัฐบาลชวนประกาศยกเลิกกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์ในปี 2543 ไปแล้ว กอ.รมน.ก็ควรยุบไป แต่กลับกลายเป็นว่า ชวน หลีกภัย ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของ กอ.รมน.โดยตำแหน่ง กลับยังคงหน่วยงานนี้ไว้ แล้วโยกย้ายบทบาทของ กอ.รมน. ไปเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการปราบปรามยาเสพติด พิทักษ์สิ่งแวดล้อมแทน

กอ.รมน.ภายใต้โครงสร้างของกองทัพจึงขานรับแนวคิดที่นำมาสู่คำตอบสำคัญประการหนึ่งต่อบทบาทของ คสช. ในปัจจุบันที่พยายามผลักดันชาวบ้านให้ออกจากป่า ทั้งนโยบายโครงการทวงคืนพื้นที่ป่าสองล้านไร่ โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงลุ่มน้ำน่าน ซึ่งชาวบ้านเหล่านั้น ล้วนถูกผลักเข้าไปอยู่ในป่าในห้วงเวลาต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภายใต้การจัดตั้งของ กอ.รมน. เพื่อเป็น ‘แนวกันชน’ ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นเอง

บทบาทของ กอ.รมน.ที่เคยเกือบจะหายไปเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดหลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ และแผ่ขยายภารกิจในลักษณะของการจัดตั้งกองกำลังทหาร ตำรวจ ผสมพลเรือนต่างๆ ทั้งกองกำลังอาสาหมู่บ้าน กองกำลังรักษาดินแดน ฯลฯ จนกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า กอ.รมน.ได้แปรสภาพไปเป็น ‘รัฐ’ ในอีกรูปแบบที่มีกฎ มีข้อกำหนด มีการลงโทษของตัวเอง แยกขาดจากรัฐในสถานะของชาติ กลายเป็น ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ขึ้นมา ยิ่งกว่าในยุคคอมมิวนิสต์

2523-2544

นโยบาย 66/23 คืนสถานะนักรบปลดแอกประชาชนให้กลายมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้ได้ออกจากป่ามาสู่บทบาททางการเมือง นักเขียน และปัญญาชน ที่มีทั้งที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ และกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่พวกเขาเคยต่อสู้ หากแต่นั่นมาถึงทีหลังการรัฐประหารของ รสช.ในปี 2534 นำไปสู่การลุกขึ้นต่อสู้ของกลุ่มคนชั้นกลางในทัศนะของธเนศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ในขณะที่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์พุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อต้นปี 2537 นักธุรกิจคนหนึ่งเดินเข้าสู่เวทีการเมืองภายใต้การชักชวนของพลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตผู้นำประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก่อนจะลาออกมาก่อตั้งพรรคการเมืองของตัวเองในปี 2541 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2476 หรือปีของการเริ่มต้น พ.รบ.คอมมิวนิสต์

9 พฤศจิกายน 2543 รัฐบาลชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภา

6 มกราคม 2544 อดีตนักธุรกิจผู้ผันตัวมาเป็นนักการเมือง นำพรรคของตนเองในชื่อ ‘ไทยรักไทย’ เข้าสู่สนามการเลือกตั้ง และได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540

อดีตนักธุรกิจผู้นั้น ชื่อ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

ทางด้าน ศ.สุรชาติ อธิบายว่า การจะเข้าใจบทบาทของ กอ.รมน.ต่อกิจการที่พร่าเลือนในนามของกิจกรรมพลเรือนที่ไม่อาจแยกชัดได้อย่างเด็ดขาดจากกิจกรรมด้านการทหารนั้น  เหตุการณ์ที่นับเนื่องได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในขึ้นนั้น มาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ที่นับว่าเป็นชัยชนะของประชาชนนั่นเอง

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ศ.สุรชาติ อธิบายว่า เพราะก่อนหน้า 14 ตุลาฯ บทบาทของ กอ.ปค.ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2508 (ภายใต้รัฐบาลจอมพลถนอมที่พยายามรักษาสิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ได้ริเริ่มไว้) พยายามรุกเข้าไปในพื้นที่ชนบทผ่านการผลักดันชาวบ้านให้เป็นแนวกันชนต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งเกิดการลุกฮือภายใต้การนำของนักศึกษานี่เองที่ทำให้ กอ.ปค. จึงตระหนักเป็นครั้งแรกว่า ‘สนามของการต่อสู้’ ได้ขยายเข้ามาสู่พื้นที่เขตเมืองแล้ว

กอ.ปค.จึงยุบและเปลี่ยนโฉมหน้าเป็น กอ.รมน. และเริ่มจัดตั้งกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดงขึ้นในปี 2517 ในฐานะของสงครามตัวแทน จากนั้นอีก 3 ปีต่อมา สงครามตัวแทนในทัศนะของ ศ.สุรชาติ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นสนามรบอันแท้จริงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 เมื่อนักศึกษาถูกผลักเข้าป่า-จับปืน

โดมิโนตัวที่ 4 กับการถอดสลักสงคราม

การต่อสู้ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ดำเนินอยู่ตลอดห้วงปี 2520-2522 ซึ่งในห้วงเวลานี้เอง กลุ่มทหารสายเสนาธิการ กระทั่งกลุ่มทหารยังเติร์กที่มักมีแนวทางไปในทางการเมืองมากกว่าการทหาร เริ่มคิดว่าหากยังดำเนินยุทธวิธีทางทหารเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยอาจต้องกลายเป็นโดมิโนตัวที่ 4 ที่ล้มลงตามเวียดนาม ลาว และกัมพูชาอย่างแน่นอน

แรงผลักดันที่ทำให้กองทัพและ กอ.รมน.คิดเช่นนั้น ในทัศนะของ ศ.สุรชาติ คือ การเข้ายึดกรุงพนมเปญจากกองทัพเขมรแดงโดยกองทัพเวียดนาม ในปี 2522 ซึ่งมองกองทัพเขมรแดงเป็นเพียงแค่สาขาหนึ่งของตนในฐานะของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเท่านั้น

ผลจากกรุงพนมเปญแตกนี่เอง ผู้นำทหารภายใต้การนำของพลเอกเปรมจึงได้ปรับเปลี่ยนท่าทีที่นำไปสู่การประกาศใช้นโยบาย 66/23 และ 66/25 อันเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้อย่างเด็ดขาด

การพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในปี 2525-2526 ตามด้วยความพ่ายแพ้ของระบอบคอมมิวนิสต์ระดับโลกในปี 2532 [3] ส่งผลให้เกิดคำถามใหญ่ว่า เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นแล้ว ศัตรูใหม่ของรัฐไทยจะเป็นอะไร?”

 

ศัตรูที่ชื่อว่า ประชาธิปไตย

นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกที่อยู่จนครบวาระ 4 ปี ก่อนจะได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 2548 ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ตลอด 4 ปีของการปกครองประเทศ รัฐบาลทักษิณได้รับข้อกล่าวหามากมาย ทั้งในฐานะเผด็จการรัฐสภา ผลประโยชน์ทับซ้อน ละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตากใบ จนกระทั่งก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงภายใต้การนำของสนธิ ลิ้มทองกุล ช่วงปลายปี 2548 ต่อเนื่องมาถึงปี 2549 จนกระทั่งเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดจะเกิดขึ้นอีกครั้งในห้วงสมัยปัจจุบันก็เกิดขึ้น เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ทำการรัฐประหาร และต่อมาได้แปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

2549-2557

หลังรัฐประหาร แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 ขณะที่ในปี 2551 ทักษิณกลับคืนสู่เมืองไทยเป็นระยะสั้นๆ หลังพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง

ช่วงมีนาคมถึงเมษายน 2552 กลุ่ม นปก. ที่ยกระดับขึ้นเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และมวลชนคนเสื้อแดงรุกเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นำไปสู่การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับทหาร

พฤษภาคม 2553 เกิดเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมภายใต้คำจำกัดความของรัฐว่าเป็นการ ‘กระชับพื้นที่’ ขณะที่ในสายตามวลชนคนเสื้อแดง คือ เหตุการณ์ล้อมปราบประชาชน มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน ขณะที่ศาลตัดสินยกฟ้องอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเวลานั้น

8 สิงหาคม 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศไทย ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 9 ธันวาคม 2556

22 พฤษภาคม 2557 “หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศทำการรัฐประหารอีกครั้ง

 

ศัตรูที่ชื่อว่า ‘คนเสื้อแดง’

ถ้าทุกคนยังจำได้ ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร 2 วัน มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในพื้นที่อีสานและภาคเหนือ กองกำลังของ กอ.รมน.ได้เข้าบุกค้นบ้านของมวลชนคนเสื้อแดงแล้วพาแกนนำออกไป”

ภายใต้ดอกกุหลาบและเสียงชื่นชมจากประชาชนที่มอบให้แก่คณะรัฐประหาร รศ.พวงทอง อธิบายว่า บทบาทของ กอ.รมน.ที่ซบเซาไปค่อยๆ กลับคืนมาใหม่ในรูปของกองทุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง หรือ อปพร. ซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 และปัจจุบันนี้ยังคงมีอยู่ รวมถึงกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย หากแต่ กอ.รมน.สามารถเข้าไป ‘ล้วงลูก’ สายบังคับบัญชาไว้ได้ในฐานะของความมั่นคงแห่งรัฐ ปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยได้รับอนุญาตให้สามารถติดอาวุธให้กองกำลังกลุ่มนี้ได้ นอกจากนั้นยังมีเงินเดือน และมีตำแหน่งที่เรียกว่า ‘นายกอง’

ไม่เพียงเท่านั้น บทบาทของกลุ่มกองกำลังเหล่านี้ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับศัตรูใหม่ของรัฐที่เริ่มเผยอุดมการณ์ขึ้นมาในชื่อที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ ภายใต้เสื้อสีแดงนั้น ยังรวมไปถึงการรื้อฟื้นกลุ่มลูกเสือชาวบ้านขึ้นมาใหม่ และการเกิดขึ้นของกลุ่มที่จับมือเป็นพันธมิตรร่วมกัน อาทิ ‘โครงการประชาชนมีส่วนร่วม’ ดังเช่นนักพูดสาวชื่อดังที่เคยเป็นข่าวโด่งดังต่อคำพูดที่ส่อนัยยะเหยียดชนชั้นอย่างชัดเจน ซึ่งภายหลัง กอ.รมน.ได้ออกมายอมรับว่า นักพูดสาวผู้นั้นเป็นผู้ที่เคยผ่านหลักสูตรของ กอ.รมน.

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทที่ขยายไปยังเยาวชนในชื่อของ ‘โครงการเพชรในตม’ ซึ่งล้วนแต่เป็นลูกหลานของคนใน กอ.รมน.เอง รวมไปถึงกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่รวมตัวกันในชื่อ ‘บิ๊กไบค์รักษ์แผ่นดิน’

กล่าวได้ว่าบทบาทของมวลชนกลุ่มต่างๆ ภายใต้การนำของ กอ.รมน.ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปเป็นมวลชนยุคใหม่ที่ไม่ใช่ชาวบ้านแบบที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็นอีกต่อไป หากแต่เป็นมวลชนแบบ ‘ชิคๆ คูลๆ’ มีภาพลักษณ์ที่เรียกได้ว่า ชิดใกล้กับคนเมืองอย่างเราๆ

อนาคตของ กอ.รมน.

ถึงจุดนี้ คำถามอาจมี หรือให้ดีที่สุดอาจไม่มีคำถามเลยน่าจะดีกว่า คือ ศ.สุรชาติ มองว่า ในอนาคตหากจะมีการกลับมาของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเรือนแล้ว การหวังให้เกิดการปฏิรูปกองทัพเพื่อนำไปสู่การตัดวงจรไม่ให้กองทัพขึ้นมาเป็นใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้น และกำลังเกิดขึ้นอยู่ภายใต้การนำผ่านกิจกรรมพลเรือนต่างๆ ของ กอ.รมน. อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะฝันถึง เพราะบทบาทของ กอ.รมน. ผูกพันอยู่กับงบประมาณ รวมไปถึงบทบาทที่ผูกโยงกับกองทัพต่างๆ ทั้งสี่เหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก

พูดง่ายๆ ว่าหากฝันของเราในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของกองทัพ ดูแล้วเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน”

คำพูดปิดท้ายวงเสวนาอาจเรียกเสียงหัวเราะได้พอสมควร เป็นเสียงหัวเราะขันขื่นที่จะทำให้ไม่ต้องนึกไปถึงอดีตที่กองทัพไทยได้นำพาประเทศมายังจุดที่นิยามใดๆ อาจไม่เพียงพอที่จะบรรจุลงไปให้ครบถ้วนทุกความรู้สึก และการขีดเส้นแบ่ง กีดกันผู้คน ให้ออกไปจากพื้นที่เพียงเพราะคำว่า ‘การพัฒนา’ และ ‘ความมั่นคง’ ก็เปรียบได้ดั่งการเดินเข้าไปในบ้านของใครสักคนพร้อมด้วยปืน และเสียงคำรามใหญ่โตไล่เจ้าของออกไปจากบ้าน ทั้งที่เป็นเจ้าของบ้านแต่เดิมเองที่ร่วมช่วยกันสร้างความมั่นคงแข็งแรงนั้นให้เกิดขึ้น

หากบทบาทที่เคยคุ้นของทหาร คือ ภาพลักษณ์ของความกล้าหาญในการสู้รบ บทบาทที่ซ้อนทับลงไปภายใต้ภาพลักษณ์ของความกล้าหาญนั้นก็คือ การพยายามแฝงฝังอุดมการณ์บางอย่างให้เกิดขึ้นในหมู่มวลชน เพื่อผลักให้คนที่คิดเห็นต่างกลายเป็นอื่น

อาจจะเป็นความฝันอย่างที่ ศ.สุรชาติ ว่าไว้ แต่คงไม่ขอมากไปที่จะฝันว่า สักวันประชาชนจะได้ความสุขกลับคืนมาด้วยการเลือกของพวกเขาเอง


[1] หนังสือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ พ.ศ.2509-2559
[2] หนังสือ บ้านเมืองของเราลงแดง แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน สนพ.มติชน
[3] เหตุการณ์กำแพงเบอร์ลินแตก วันที่ 9 พฤศจิกายน

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า