วิธีลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ ?

weight-loss
ไขมันต่ำ? คาร์โบไฮเดรตต่ำ? มังสวิรัติ? เครื่องดื่มชนิดไดเอ็ท? ออกกำลังกาย? อะไรคือวิธีลดน้ำหนักที่ได้ผลดีที่สุดกันแน่ และนี่คือสิ่งที่ผลการศึกษาเรื่องการลดน้ำหนักในปี 2014 แสดงให้เราเห็น รวมถึงข้อควรระวังสำหรับผู้ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักทั้งหลายด้วย

 

1.สมรภูมิลดน้ำหนักแห่งปี

อะไรจะดีกว่ากัน ระหว่างการลดน้ำหนักด้วยการลดคาร์โบไฮเดรตหรือลดไขมัน บทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (Journal of the American Medical Association: JAMA) ประจำเดือนกันยายนได้ให้คำแนะนำว่า เพียงแค่ทำตามกฎเกณฑ์การกินและการออกกำลังกาย แม้ว่าภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน การกินแบบลดคาร์โบไฮเดรตหรือโลว์คาร์บจะลดน้ำหนักได้มากกว่ากินแบบไขมันต่ำหรือโลว์แฟต แต่ความแตกต่างที่ว่าก็มีเพียงเล็กน้อย แถมยังได้ผลเหมือนกันทั้งคู่

 

 

lowcarb 02

 

2.นักคุมอาหารแบบโลว์คาร์บเหนือกว่านักกินแบบโลว์แฟต…อย่างน้อยก็ในงานวิจัยชิ้นนี้

แต่สำหรับการศึกษาอื่นๆ ที่เผยแพร่ในวารสารอายุรศาสตร์การแพทย์ในเดือนเดียวกันพบว่า ผู้ควบคุมน้ำหนักแบบลดคาร์โบไฮเดรตรับประทานอาหารดีกว่ากลุ่มที่เลือกลดไขมันและมีผลตรวจเลือดที่ดีกว่า บ่งบอกถึงสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาผลงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทูเลนชิ้นนี้เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่ง เพราะแตกต่างจากการศึกษาด้านการลดน้ำหนักส่วนใหญ่ งานวิจัยชิ้นนี้สุ่มเลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยตัดตัวแปรอื่นๆ เว้นแต่การควบคุมน้ำหนักที่อธิบายถึงการลดน้ำหนักได้มากกว่า

 

3.รักคาร์โบไฮเดรตและบรรดาสัตว์ (มีชีวิต)?

เผื่อว่าระดับความสับสนจะยังไม่สูงไปกว่าปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่บริโภคมาจนถึงตอนนี้ ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาธ์แคโรไลนาได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ประยุกต์และโภชนาการพื้นฐาน (International Journal of Applied and Basic Nutritional Sciences) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค้นพบการลดน้ำหนักที่ยอดเยี่ยมที่สุดจากอาหารมังสวิรัติคาร์โบไฮเดรตสูง โดยเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมดรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนมด้วย เช่นเดียวกัน กลุ่มทดลองที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งหมดถูกสุ่มวางโปรแกรมการกินอาหารในการทดลองนี้ด้วย แต่กลุ่มสนับสนุนที่ถูกกดดันจากคนรอบข้างให้ปฏิบัติได้ดี ก็มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้ด้วย

 

4.ปรับปรุงภาพลักษณ์การอดอาหาร

คุณจะเห็นสิ่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่านักวิทยาศาสตร์จะค้นพบอะไรความเชื่อนี้ก็ยังคงอยู่ แต่อีกครั้งหนึ่งในปีนี้ งานวิจัยเชิงความสัมพันธ์ได้แนะนำว่า การอดอาหารอาจประสบความสำเร็จมากกว่าวิธีแบบช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม การศึกษาในเดือนตุลาคมในวารสารมีดหมอ เบาหวาน และต่อมไร้ท่อ (Lancet Diabetes & Endocrinology) พบว่า เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ควบคุมน้ำหนักทั้งสองประเภทต่างลดน้ำหนักได้เฉลี่ย 17 เปอร์เซ็นต์ แต่คนที่อดอาหารดูจะไปถึงเป้าหมายเป็นคนแรก

 

aerobic

 

5.ลดน้ำหนักสำคัญกว่าเต้นแอโรบิก?

การศึกษาชิ้นอื่นๆ กลับตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการลดน้ำหนักว่า การออกกำลังแบบเต้นแอโรบิกมีความสำคัญมาก งานวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนาในเมืองฟินิกส์ ตีพิมพ์ในวารสารผลงานวิจัยด้านความแข็งแรงและสุขภาพ (Journal of Strength and Conditioning Research) ฉบับเดือนตุลาคม พบว่า ผู้หญิงที่อยู่ในโปรแกรมควบคุมอาหารและออกกำลังกายบนลู่วิ่งเป็นปกติ โดยไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินของพวกเธอก่อนหน้านี้ มีแนวโน้มจะเพิ่มน้ำหนัก โดยมากได้มาในรูปของไขมัน แทนที่จะลดมันลงอย่างที่หวังไว้ แม้ว่าสิ่งสำคัญที่น่าสังเกตคือ พวกเธอยังมีสภาพร่างกายแข็งแรงและได้สัดส่วนก็ตาม

ขณะที่ผู้ร่วมวิจัยบางคนลดได้ทั้งน้ำหนักและไขมัน และบรรดานักวิทยาศาสตร์ก็คิดว่า การสังเกตการณ์ผลกระทบจากระบบการควบคุมอาหารและออกกำลังกายหลังจากช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ สามารถช่วยให้คาดการณ์ได้ว่า ผู้หญิงคนไหนจะลดน้ำหนักได้มากที่สุดด้วยการออกกำลังกายแบบเต้นแอโรบิกเป็นประจำ การศึกษาดังกล่าวได้ติดตามกลุ่มคนจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ได้พบว่า การเต้นแอโรบิกไม่ได้ทำให้น้ำหนักลดลง แต่เป็นการเผาผลาญแคลอรีต่างหาก

 

6.ข่าวร้าย(กว่า)ของโรคอ้วน

สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ทุกคนประหลาดใจ รายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในอเมริกาเมื่อเดือนตุลาคมระบุว่า ความสะเทือนใจและความอ้วนเกี่ยวข้องกันอย่างรุนแรง และยิ่งสะเทือนใจมากเท่าใด ก็ยิ่งอ้วนมากขึ้นเท่านั้น (หรือในทางกลับกันด้วย)

 

7.ข่าวดีและข่าวร้ายของการผ่าตัดเย็บกระเพาะ

สำหรับคนที่เลือกทางดุดันยิ่งกว่าการลดน้ำหนัก การศึกษาของวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกันด้านศัลยกรรม (JAMA Surgery) ประจำเดือนตุลาคมได้พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหารสูญเสียน้ำหนักไปมากกว่าการรัดกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ผ่าตัดเย็บกระเพาะต้องทนทุกข์ทรมานกับความยากลำบากต่างๆ รวมถึงการที่เลือดจับตัวเป็นลิ่มในขาและปอด

 

breakfast

 

8.อาหารเช้าอาจไม่ใช่มื้อสำคัญที่สุดของวัน

ถือเป็นการหักล้างความเชื่อยอดนิยมและการบรรยายของบรรดาแม่ๆ ทั้งหลาย มื้อเช้าไม่ได้เป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน อย่างน้อยก็เมื่อเข้าสู่การลดน้ำหนัก จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอลาบามา นักวิทยาศาสตร์ได้สุ่มเลือกให้เป้าหมายกินและไม่กินมื้อเช้า และพวกเขาพบว่า ไม่ทำให้เกิดความแตกต่างใดๆ ในการลดน้ำหนักหากผู้ลดน้ำหนักข้ามมื้อเช้าไป แต่พวกเขายังไม่ได้พิจารณาถึงสิ่งที่ผู้คนกินเป็นมื้อเช้า และกล่าวว่า อาจต้องใช้งานวิจัยจำนวนมากกว่านี้ในการค้นหาว่า การกินอาหารแบบเดียวกันตลอดในมื้อเช้าอาจทำให้เกิดความแตกต่าง พวกเขาตีพิมพ์การค้นพบครั้งนี้ในวารสารโภชนศาสตร์คลินิกอเมริกา (American Journal of Clinical Nutrition) ฉบับเดือนสิงหาคม ขณะที่ในเวลาเดียวกัน มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบาธที่ค้นพบผลการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน

 

9.เครื่องดื่มไดเอ็ทก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดของผู้ควบคุมน้ำหนักทั้งหลาย

ช่วงระหว่างปี 2014 เราได้ยินมามากเกี่ยวกับอาหารแคลอรีต่ำหรือเท่ากับ0 แต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการในเครื่องดื่มโซดาผสมน้ำตาลที่ไม่ทำให้รู้สึกถึงน้ำตาลที่ได้บริโภคไปทั้งหมด แต่หนึ่งในคำถามที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งมากกว่านั้นคือ เครื่องดื่มไดเอ็ทดีต่อสุขภาพผู้คนมากกว่าหรือไม่ มีการงานวิจัยออกมารองรับผลทั้งสองด้าน แต่หนึ่งในงานวิจัยที่สร้างความสนใจมากที่สุด ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทดลองกับหนู ระบุว่า มันอาจขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การศึกษาดังกล่าวพบว่า สารให้ความหวานได้เปลี่ยนแบคทีเรียในลำไส้ในแนวทางที่ส่งผลต่อวิธีการย่อยและเผาผลาญอาหารของเรา และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจทำให้น้ำหนักของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและเป็นโรคเบาหวานได้

ขอให้จำไว้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการทดลองให้สารให้ความหวานกับหนูเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่กับมนุษย์ที่ดื่มเครื่องดื่มไดเอ็ทวันละ 1-2 กระป๋อง แต่นักวิจัยก็ได้กล่าวไว้ว่า ผลการทดลองดังกล่าวเรียกร้องให้มีการตรวจสอบปฏิกิริยาของสารให้ความหวานทั้งต่อร่างกายมนุษย์และการลดน้ำหนัก

 

 

diet1

 

10.ข่าวงานวิจัยด้านการลดน้ำหนักที่สำคัญที่สุด

บางครั้ง ข่าวงานวิจัยด้านการลดน้ำหนักที่สำคัญที่สุดคือ ข่าวที่เตือนให้เราสงสัยผลการศึกษาเหล่านั้น ในการมองหาผลการศึกษาที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับ จงระวังถึงผู้สนับสนุนเงินทุนแก่การศึกษานั้นๆ และสิ่งที่พวกเขาอาจได้รับจากมัน และแม้ว่ามันจะเป็นงานวิจัยที่มีการจัดการดีเยี่ยม แต่ก็ขอให้จำไว้ว่า โดยปกติแล้ว การศึกษาด้านการลดน้ำหนักจะเพิ่มเติมบทความให้ภาพของแนวทางการเพิ่มหรือลดน้ำหนักซับซ้อนและไม่สมบูรณ์

ยกตัวอย่าง ในเดือนตุลาคม เหล่านักวิจัยได้ถอนคำพูดก่อนหน้าที่ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่อ้างถึงการพบว่า เม็ดยาที่ผลิตขึ้นจากเมล็ดกาแฟสีเขียวเหล่านั้นทำให้น้ำหนักลดได้อย่างน่าทึ่ง

การศึกษาดังกล่าวถูกจัดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยได้บริษัท แอพพลาย ฟู้ด ไซเอนส์ (Applied Food Sciences) บริษัทจำหน่ายยาเม็ด เป็นผู้จัดหาเงินทุน แต่การศึกษาชิ้นนี้เขียนและตีพิมพ์โดยศาสตราจารย์ 2 คนจากมหาวิทยาลัยสแครนตัน ที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทดังกล่าว ปรากฏการณ์เมล็ดกาแฟจบลงอย่างไม่เป็นท่า หลังจากคณะกรรมการการค้าแห่งสหพันธรัฐได้นำหลักฐาน 4 อย่างที่แสดงให้เห็นว่าข้อมูลในการศึกษานั้นไม่เป็นความจริง และหลังจากผู้บริโภคชาวอเมริกาจ่ายเงินมากเกินความจำเป็นให้กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์ในการลดน้ำหนักหรือไม่

ถือเป็นความน่าละอายของบริษัท นักวิจัย และศาสตราจารย์ที่ปล่อยให้ชื่อเสียงของพวกเขาและของมหาวิทยาลัยถูกเช่าซื้อไปได้

***********************************************

(ที่มา : latimes.com)

 

logo

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า