หลากปัจจัยฉุดรั้งประเทศไทย…ไปไม่ถึงเศรษฐกิจดิจิทัล

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ดัชนีพื้นฐานหลายตัว อาทิ การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบติดตั้ง (Fixed Broadband Internet) การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่ (Active Mobile-broadband Subscription) และความเร็วในการส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (International Bandwidth) ของประเทศไทยมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการเข้าถึงเครือข่ายของประชากรในประเทศ (ข้อมูลจาก International Telecommunication Union: ITU) ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยในหลายมิติมีการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน 

ตามรายงานการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.5 ในปี 2560 เป็นประมาณร้อยละ 12 ในปี 2562 โดยเฉพาะในส่วนของการให้บริการดิจิทัล เช่น การค้าปลีกแบบออนไลน์ ทั้งนี้ สัดส่วนดังกล่าวคาดว่าจะมีการขยายตัวถึงร้อยละ 25 ในปี 2570 ตามการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[1]

เหมือนในหลายๆ ประเทศ ประเทศไทยมีการออกนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และการเลือกกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมดิจิทัล การสร้างเมืองอัจฉริยะที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่มุ่งเน้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคโนโลยีและลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก การออกนโยบายทางด้านยุทธศาสตร์ดิจิทัล ผ่านยุทธศาสตร์แผนพัฒนาดิจิทัล 20 ปี (2561-2580) และแผนย่อยต่างๆ ผ่านหน่วยงานภาครัฐ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับดิจิทัลได้มีการปรับปรุงแก้ไขตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวก ป้องกัน และสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบนิเวศทางดิจิทัลทั้งในส่วนของผู้บริโภคและผู้ให้บริการด้านดิจิทัล เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เช่นเดียวกับการจัดตั้งแพลตฟอร์มการระงับข้อพิพาทผ่านออนไลน์ (Talk DD) เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการยุติข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายออนไลน์ภายนอกศาล

แม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการพัฒนาดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงมีปัจจัยหลายด้านที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการผลักให้ประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะสถานการณ์การลงทุนภาคเอกชนที่ยังต่ำ และกระจุกอยู่ในบางกิจกรรมและพื้นที่ การขาดทักษะแรงงานทางด้านดิจิทัล ความเชื่องช้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า

จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนของการลงทุนภาคเอกชนในเศรษฐกิจดิจิทัล มีเพียงแค่ร้อยละ 4 เท่านั้นในช่วง 2561-2562 ในขณะที่การบริโภค การส่งออก และการนำเข้า มีสัดส่วนถึงร้อยละ 13 ร้อยละ 43 และร้อยละ 40 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละภาคส่วนจะพบว่าเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลมีการกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ เช่น การค้าส่งและค้าปลีกออนไลน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่และการให้บริการอินเทอร์เน็ต และการให้บริการทางด้านการเงิน ในขณะที่การใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรยังคงมีอยู่อย่างจำกัด 

หากพิจารณาการขยายตัวของการลงทุนรายพื้นที่ จะพบว่าการขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลใน 3 จังหวัดของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีการขยายตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 30 ของการลงทุนรวม เป็นร้อยละ 60 ของการลงทุนรวม ระหว่างปี 2560-2563 อีกทั้งในปัจจุบันแผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล รวมถึงแผนงานที่เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกกับพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้มีการชะลอตัว เช่นเดียวกับแผนงานนวัตกรรม 5G เองก็ยังไม่มีความชัดเจนเพิ่มขึ้นในขณะนี้

การจัดสรรงบประมาณที่จำกัดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอีกปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรที่ค่อนข้างน้อยและการถูกตัดลดงบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล นวัตกรรม ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (สัดส่วนงบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คิดเป็นร้อยละ 0.2 ของงบประมาณรวมในปี 2565 ลดลงจากร้อยละ 0.7 ในปี 2560) เช่นเดียวกันกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเสริมสร้างทักษะทางด้านดิจิทัล และพื้นฐานความรู้ทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่นักศึกษาและแรงงานภายในประเทศ ก็เผชิญสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน (สัดส่วนงบประมาณรวมของทั้ง 2 กระทรวงข้างต้น คิดเป็นร้อยละ 15 ของงบประมาณรวมในปี 2565 ลดลงจากร้อยละ 20 ในปี 2560)

รูปแบบนโยบายที่ทับซ้อนกันและการประสานงานที่ไม่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดรั้งการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตัวอย่างเช่น หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งมีการออกนโยบายในการส่งเสริมสร้างทักษะแรงงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กับหลายหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มาตรการจำนวนมากจากหน่วยงานภาครัฐทั้งหลายเหล่านี้มีความทับซ้อนกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเสนอหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ 

ภายใต้สถานการณ์ความทับซ้อนกันของนโยบายเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และยังสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาหน่วยงานหลักที่มีความเป็นเอกเทศในการรับผิดชอบทางด้านการพัฒนานวัตกรรมอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนสามารถนึกถึงได้เป็นลำดับแรกหากต้องการความช่วยเหลือ

ข้อมูลในหลายส่วนสะท้อนถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะในส่วนของการขาดทรัพยากรบุคคลทางด้านดิจิทัล โครงสร้างพื้นที่ทางดิจิทัลที่ไม่มีประสิทธิภาพและกระจายตัวอย่างไม่ทั่วถึง จากรายงานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU, 2020) ในปี 2020 มีประชากรเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีทักษะทางดิจิทัลขั้นสูง และมีประชากรเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีทักษะทางดิจิทัลในขั้นพื้นฐาน มีครัวเรือนตามชนบทเพียงร้อยละ 69 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ครัวเรือนในพื้นที่เมืองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ร้อยละ 81 ถึงแม้ค่าบริการในการติดตั้งอินเทอร์เน็ต (Fixed Broadband) อินเทอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่ (Mobile Broadband) และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Cellular) จะมีราคาที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของรายได้รวมประชาชาติ (สัดส่วนลดลงจากร้อยละ 5.7 ในปี 2551 เหลือเพียงร้อยละ 3.3 ในปี 2563) 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาราคาค่าบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศกลับพบว่า ราคาค่าบริการไม่ได้ลดลงตามที่ได้คาดการณ์ไว้ และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชีย ราคาค่าบริการของประเทศไทยยังคงสูงกว่าหลายๆ ประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย และเวียดนาม 

ราคาค่าบริการบางรายการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2020

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น การสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน นอกจากจะสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับการลงทุนแล้ว การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในลักษณะการให้สิทธิตามเทคโนโลยีที่ใช้ (Technological-based Incentives) ควรเข้ามามีบทบาทสำคัญมากกว่าการให้สิทธิประโยชน์เชิงพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของการพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งธรรมชาติของเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีพรมแดน (boundless) และเป็นพื้นฐานของนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ 

การให้สิทธิประโยชน์ที่มุ่งเน้นการให้สิทธิประโยชน์เชิงพื้นที่มากเกินไป เช่น การมุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์แก่กิจกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่เดิมของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ จะส่งผลให้การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของประเทศช้าลง เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดการไม่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และบริการต่างๆ ในประเทศได้ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวยังช่วยให้เทคโนโลยีดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือและราคาจับต้องได้เพิ่มมากขึ้น (affordable and reliable digital technologies)

แผนและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลควรต้องมีการยกระดับขึ้น ทั้งทางด้านความต่อเนื่องของนโยบาย และความร่วมมือกันอย่างชัดเจนของหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ควรเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักในการบูรณาการแนวทางของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความทับซ้อนกันของนโยบายและส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล ทั้งทางด้านกายภาพและเทคโนโลยีอย่างเพียงพอ และเพื่อรองรับความก้าวหน้าของดิจิทัลที่เป็นไปอย่างรวดเร็วนั้น ภาครัฐควรมีการติดตามและปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีการบังคับใช้อย่างใกล้ชิด ความร่วมมือในภูมิภาคทางด้านกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ (compatible regulations) เป็นสิ่งที่จำเป็นในการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค 

อีกประการที่สำคัญ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านแรงงาน รัฐบาลควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitators) เพื่อช่วยให้เกิดการถ่ายโอนแรงงานจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปอีกอุตสาหกรรมหนึ่งได้อย่างราบรื่น และช่วยสนับสนุนให้เกิดการยกระดับทักษะและการเพิ่มทักษะใหม่ให้แก่แรงงานในตลาด การร่วมมือกับภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารในตลาดแรงงาน ทั้งในส่วนของการรับสมัครและจัดหางานระหว่างบริษัทและอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดปัญหาในตลาดแรงงานน้อยที่สุด

เชิงอรรถ

[1] สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำการสำรวจโดยใช้ นิยามของเศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้างของ OECD (2020) ที่นิยามให้เศรษฐกิจดิจิทัลหมายความรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาหรือได้รับผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลทางดิจิทัล

จุฑาทิพย์ จงวนิชย์
รองศาสตราจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การค้า การลงทุน ผู้ประกอบการข้ามชาติ อัตราแลกเปลี่ยน ข้อตกลงการค้าเสรี เป็นที่ปรึกษาองค์กรนานาชาติหลายแห่ง เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารโลก และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก

ศวีระ ธรรมศิริ
นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การค้า การลงทุน และนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ กรมศุลกากร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า