10 พฤศจิกายน 2565 ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี และ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำภาควิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ หลังถูก รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง อาจารย์สาขาวิชาศิลปะไทยและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ภาควิชาศิลปะไทย และอดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ กล่าวหาในคดีบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ หรือกรณี ‘ตัดโซ่’ เพื่อเข้าไปจัดแสดงงานศิลป์ภายในหอศิลป์ มช. เมื่อเดือนตุลาคม 2564
นับแต่เหตุการณ์ที่ผู้บริหารและบุคลากรของคณะวิจิตรศิลป์เก็บกวาดผลงานนักศึกษาลงถุงดำ สู่เหตุการณ์ตัดโซ่ประตูหอศิลป์ จนกระทั่งเกิดความชุลมุนวุ่นวายหน้า สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ทั้งหมดนี้คือเรื่อราวการคัดง้างระหว่างผู้บริหารและนักศึกษาที่ยังคงดำเนินต่อไป
ประหนึ่งวลี ‘ศิลปะสั้น คดียืดยาว’ ที่นักกิจกรรมและนักศึกษาได้สะท้อนออกมาบนป้ายข้อความประท้วง
22 มีนาคม 2564
อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ในขณะนั้น พร้อมด้วยบุคลากรคณะวิจิตรศิลป์ มช. ได้เข้ารื้อและเก็บผลงานศิลปะของนักศึกษาภาควิชา Media Art and Design ที่ถูกจัดเตรียมไว้บริเวณลานหน้าตึกเรียนสำหรับส่งตรวจและประเมินผลงานในรายวิชาของคณะ ก่อนที่ ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำภาควิชา Media Art and Design จะเข้ามาเจรจาขอคืนผลงานให้กับนักศึกษา
ภายหลังเหตุการณ์ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ หนึ่งในนักศึกษาเจ้าของผลงาน รวมถึงกลุ่มนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ที่พบความเสียหายกับผลงานของตน จึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคลากรดังกล่าว
23 มีนาคม 2564
นักศึกษาวิจิตรศิลป์ออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์วันที่ 22 มีนาคม เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยระบุว่าต้องชี้แจงเรื่องการจัดสรรพื้นที่และงบประมาณภายในคณะ พร้อมทั้งให้ออกแถลงการขอโทษนักศึกษาต่อหน้าสื่อมวลชน และให้พิจารณาตนเองด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
ด้านผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ ออกแถลงการชี้แจงว่า จากการตรวจสอบผลงาน พบวัสดุบางรายการที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย คือธงชาติไทยที่ถูกดัดแปลงและมีข้อความที่ไม่เหมาะสม จึงเก็บรวบรวมผลงานไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อนักศึกษาและคณาจารย์ของคณะ
1 ตุลาคม 2564
นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design ชั้นปีที่ 4 ยื่นเรื่องขออนุญาตใช้หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม ต่อผู้อำนวยการหอศิลป์ ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ และผู้บริหาร มช. เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ ‘WHIPLASH: MADs Pre-degree Exhibition 2021’ ระหว่างวันที่ 16-22 ตุลาคม 2564
14 ตุลาคม 2564
กลุ่มนักศึกษายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บริหาร มช. เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่หอศิลป์สำหรับจัดแสดงผลงาน โดยผู้บริหารคณะอ้างว่าผลงานบางชิ้นของนักศึกษามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง
ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาชี้แจงว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้รับบันทึกข้อความจากหอศิลป์อยู่หลายครั้ง โดยระบุว่าต้องการรายละเอียดของผลงานที่จะจัดแสดง ซึ่งนักศึกษาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าใช้พื้นที่
15 ตุลาคม 2564
นักศึกษาเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เนื่องจากไม่ได้รับความคืบหน้าในการอนุมัติให้จัดแสดงผลงานที่หอศิลป์ ทั้งที่นักศึกษามีสิทธิใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษายืนยันที่จะใช้พื้นเดิมในการจัดแสดงผลงานต่อไป และได้ทยอยเข้าไปเตรียมการในหอศิลป์สำหรับปฏิบัติงาน
ช่วงค่ำของวันดังกล่าว มีการระงับการจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปาในหอศิลป์ รวมถึงล็อกประตูรั้วด้วยโซ่คล้องกุญแจ ขณะที่ภายในตึกยังมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งกำลังสำหรับเตรียมงานแสดงอยู่ จึงทำให้นักศึกษาที่อยู่ภายนอกต้องบุกเข้าไปที่หอศิลป์ในวันถัดไป
16 ตุลาคม 2564
นักศึกษาพร้อมกับคณาจารย์ส่วนหนึ่ง นำโดยทัศนัย เศรษฐเสรี และนิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มช. เข้ายึดพื้นที่บริเวณหอศิลป์ และใช้คีมตัดโซ่เพื่อเข้าไปยังพื้นที่จัดแสดงผลงาน พร้อมแขวนป้ายข้อความ ‘หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม’ ก่อนจะทำการติดตั้งผลงานให้เป็นไปตามกำหนดการโดยใช้เครื่องปั่นไฟจากภายนอก
18 ตุลาคม 2564
ทัศนัย เศรษฐเสรี พร้อมด้วยนักวิชาการและนักศึกษา ยื่นหนังสือที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก่นักศึกษา หลังจากฝ่ายผู้บริหารไม่อนุมัติให้ใช้หอศิลป์เพื่อจัดแสดงผลงานทางวิชาการ จนนักศึกษาต้องบุกเข้าไปในพื้นที่เพื่อดำเนินการทั้งหมดเอง
23 ตุลาคม 2564
วันสุดท้ายของการจัดแสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์ นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design นำโดย ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ได้ประกาศปิดงานพร้อมจัดกิจกรรมเผาโลงศพที่บรรจุหุ่นผ้า พร้อมกระดาษพิมพ์ภาพใบหน้าคล้ายผู้บริหาร มช.
ระหว่างกิจกรรมดังกล่าว ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำภาควิชา Media Art and Design ให้ความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมกับนักข่าวจากประชาไท ว่า “ถ้าคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความกล้าหาญได้สักครึ่งหนึ่งของนักศึกษา ผมคิดว่ามันคงจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่านี้”
25 ตุลาคม 2564
นักศึกษาวิจิตรศิลป์และเครือข่ายนักศึกษา มช. ยื่นหนังสือถอดถอนอธิการบดีและคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ต่อสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการการศึกษา โดยรวบรวมรายชื่อนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป 1,700 รายชื่อ พร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้บริหาร 2) ให้ประกาศข้อกำหนดสำหรับการคัดเลือกคณะผู้บริหารชุดต่อไปผ่านการเลือกตั้ง และ 3) ให้ตรวจสอบประเด็นปัญหาอื่นอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะผู้บริหารตามหลักประชาธิปไตยสากล
4 พฤศจิกายน 2564
ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษา กรณีนักศึกษาวิจิตรศิลป์ยื่นฟ้องอัศวิณีย์ หวานจริง, นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มช. และกิตติ มาลีพันธุ์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม ที่ไม่อนุญาตให้นักศึกษาใช้หอศิลป์ โดยศาลวินิจฉัยว่า กลุ่มผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรจริง แต่เนื่องจากนักศึกษาผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 ราย ได้ทำการอารยะขัดขืนเข้าใช้หอศิลป์จัดแสดงผลงาน และได้มีอาจารย์ตรวจให้คะแนนผลงานแสดงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ
8 พฤศจิกายน 2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ภาพหมายเรียกของ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ในคดีที่อัศวิณีย์ หวานจริง เป็นผู้กล่าวหา ทัศนัย เศรษฐเสรี กับพวก (ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์) ด้วยข้อกล่าวหา ‘ร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ’ หรือกรณี ‘ตัดโซ่’ เพื่อจัดแสดงงานภายในหอศิลป์ มช. เมื่อปี 2564
ในเวลาไล่เลี่ยกัน คณะวิจิตรศิลป์ มช. ได้โพสต์ภาพแสดงความยินดีกับอัศวิณีย์ หวานจริง เนื่องในโอกาสได้รับทุนอุดหนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ทั้งฝ่ายผู้สนับสนุนอัศวิณีย์ และฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มนักศึกษา
9 พฤศจิกายน 2565
กรรมาธิการสามัญคุ้มครองนักศึกษาจากการถูกคุกคามโดยรัฐในกรณีทางการเมือง สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแสดงจุดยืนรักษาเสรีภาพวิชาการ ด้วยการถอนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 3 คน และสอบวินัยอัศวิณีย์ หวานจริง รวมถึงต้องชี้แจงต่อสาธารณะในประเด็นการแจ้งดำเนินคดีครั้งนี้
10 พฤศจิกายน 2565
ทัศนัย ศรยุทธ และยศสุนทร เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามเวลานัดหมาย โดยด้านนอก สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังกว่า 40 นาย และวางรั้วเหล็กโดยรอบ ขณะที่นักกิจกรรมและนักศึกษาได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยใช้ป้ายประท้วง เช่น ‘ศิลปะสั้น คดียืดยาว’ ‘หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม’ และ ‘Coconut milk university’ นอกจากนั้นยังมี Performance Art โปรยผงสีน้ำเงินและสีแดงลงบนพื้นเพื่อแสดงสัญญะทางศิลปะ
- 13.15 น. เกิดเหตุชุลมุนบริเวณด้านหน้า สภ.ภูพิงคราชนิเวศ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกระชากป้ายและคอเสื้อผู้ชุมนุม ก่อนมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
- 16.30 น. ทัศนัย ศรยุทธ และยศสุนทร รวมถึงกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม เดินขบวนจาก สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ไปยังตึกสำนักงานอธิการบดี มช. เพื่อยื่นหนังสือทวงถามบทบาทของมหาวิทยาลัย ถึงกรณีการแจ้งข้อกล่าวหา หลังจากตัวแทนของมหาวิทยาลัยรับหนังสือ ผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกลับไป
13 ธันวาคม 2565
พนักงานสอบสวนนัดหมายให้มารับฟังผลการติดตามข้อกล่าวหาเพื่อรับฟังถึงผลการดำเนินคดีต่อไป
อ้างอิง
นศ.วิจิตรศิลป์ มช. เรียกร้องผู้บริหารคณะสอบสวนกรณีขนย้ายผลงานศิลปะของ นศ.
นศ.วิจิตรศิลป์ มช. บุกยึดพื้นที่จัดแสดงงานคืนจากผู้บริหาร
นศ. วิจิตรศิลป์ มช. รุ่นตัดโซ่ เผาโลงศพและรูปผู้บริหารมหา’ลัย ก่อนประกาศปิดงานนิทรรศการ
นักศึกษา มช. ยื่น 1,700 ชื่อ ถอดอธิการฯ และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ปมปิดกั้นเสรีภาพแสดงศิลปนิพนธ์
‘ทัศนัย’ นำนักศึกษามช. ร้องศาลปกครอง คุ้มครองขอใช้หอศิลป์
นักศึกษา Media Arts มช. ตัดโซ่เข้า ‘หอศิลป์ฯ’ สำเร็จ แต่ยังถูกตัดไฟ หลังพยายามจัดนิทรรศการ