ราษฎรกำแหง: บันทึกการกระทำเลวร้ายของเจ้าหน้าที่ และความกล้าหาญของประชาชน

ภาพ: กันต์ แสงทอง และ พูนสุข พูนสุขเจริญ

วันนี้เวลา 13.00 น. ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช. มีการแลกเปลี่ยนในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของประชาชนภายใต้ 5 ปี การครองอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช. เป็นความพยายามในการรวบรวมเรื่องราวการต่อสู้ของสามัญชนและเอกสารสำคัญในคดีบางส่วนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และติดตามความเคลื่อนไหวของคดี ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ลักษณะเด่นของระบอบเผด็จการยุคนี้คือการใช้กฎหมายและปฏิบัติการทางจิตวิทยากดปราบประชาชนต่อเนื่องยาวนาน

ผู้ร่วมเสวนา 4 คน ได้แก่ นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จาก University of Wisconsin-Madison ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ชาลินี สนพลาย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ ราษฎรกำแหง

หนังสือเล่มนี้คือภาพรวมคดีความที่ศูนย์ทนายความฯ ให้ความช่วยเหลือกว่า 200 คดี โดยชี้ให้เห็นว่าลักษณะเด่นของการรัฐประหารครั้งนี้ คือการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชน ซึ่งรัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากรัฐประหารครั้งอื่นที่เป็นการใช้อำนาจปืนโดยตรง ในทางวิชาการได้มีการอธิบายสถานการณ์นี้ว่าเป็นการฟ้องปิดปาก หรือการใช้นิติสงคราม (lawfare) เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง

ภาพรวมของคดีความจำนวนมากเช่นนี้เอง จึงทำให้ศูนย์ทนายความฯ เห็นร่วมกันว่าควรนำเสนอเรื่องราวออกมาสู่สาธารณะในรูปแบบของหนังสือ โดยเนื้อหาแบ่งเป็นสองส่วนคือ

1. เป็นความพยายามเล่าเรื่องการต่อสู้ผ่านคดีความของผู้มีอุดมการณ์ทางการเมือง ซี่งมีจุดร่วมกันคือการไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร และเมื่อถูกดำเนินคดีแล้ว ก็เลือกที่จะต่อสู้คดีความอย่างถึงที่สุด

2. คือความพยายามเผยแพร่คำวินิจฉัยคดี ซึ่งถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารที่บันทึกความเห็นและบทบาทของกระบวนการยุติธรรมที่รับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร

โครงสร้างของหนังสือถูกแบ่งออกเป็น 9 คดี โดยมี 7 คดีที่คณะรัฐประหารใช้กฎหมายเล่นงานประชาชน ขณะที่มี 2 คดีที่ประชาชนฟ้องเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของคณะรัฐประหาร ท่ามกลางการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยกับผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รับรองการรัฐประหาร ทำให้เขารู้สึกว่าการต่อสู้ของผู้คนในหนังสือคล้ายกับคำเบิกความของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ที่ว่า “สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ยังดีกว่าแพ้ทั้งที่ไม่คิดจะสู้”

 

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จาก The Department of Asian Languages and Cultures at the University of Wisconsin-Madison

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปี จาก 9 คดีความในหนังสือเล่มนี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ก่อนหน้า อาจจะสอดคล้องกับคำนิยามของ สุพจน์ ด่านตระกูล ที่เขียนขณะถูกจองจำในคุกว่า “กฎหมายเป็นเครื่องมือของชนชั้นเขียนกฎหมาย ชนชั้นเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น” ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยก็สะท้อนความคิดนั้นอย่างชัดเจน และบันทึกการต่อสู้ของ 9 คดีนี้ ก็ทำให้ได้ข้อคิดที่เปลี่ยนไป

ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงสำคัญ เพราะมันเป็นมากกว่าการเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ยังมีหลักฐานเอกสารสำคัญ รวมไปถึงบันทึกการกระทำเลวร้ายของเจ้าหน้าที่ และความกล้าหาญของประชาชน กรณีนี้ทำให้นึกถึงคำขวัญของ อันโตนิโอ กรัมชี่

“The crisis consists precisely in the fact that the old is dying and the new cannot be born; in this interregnum a great variety of morbid symptoms appear.”

นอกจากนี้ยังพบเรื่องราวที่น่าสนใจจากการอ่านหนังสืออีก 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่หนึ่ง หนังสือเล่มนี้ช่วยบันทึกและวิเคราะห์การตัดสินอรรถคดีของศาลแบบลอยนวลพ้นผิด ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องถูกกฎหมายถ้าหากกฎหมายนี้หมายถึงข้อความในกระดาษแต่มีลักษณะเอียงข้างคณะรัฐประหาร ที่ไม่เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน หรือเป็นเพียงกฎที่รักษาอำนาจคณะรัฐประหาร และโครงสร้างคณะรัฐประหารในระยะยาว

ตัวอย่างนี้เห็นได้ในกรณี คำตัดสินของศาลฎีกา เมื่อประชาชนในนาม ‘พลเมืองโต้กลับ’ ฟ้อง คสช. ในข้อหากบฏ แม้ว่าส่วนตัวจะตื่นเต้นมากกับคำพิพากษานี้ เพราะด้านหนึ่งเห็นการรับรองอำนาจคณะรัฐประหาร ขณะเดียวกันก็มีความหวังด้วย เนื่องจากคำตัดสินของศาลส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมรับว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องผิดกฎหมาย กรณีนี้ศาลในประเทศเผด็จการอื่นๆ ก็มีลักษณะเหมือนกัน ซึ่งมักจะตัดสินว่า ถ้ารัฐทหารครองอำนาจก็มีความชอบธรรม ไม่ว่าจะขึ้นมามีอำนาจอย่างไรก็ตาม

ประโยคสั้นๆ ที่น่าสนใจและมีความหวัง คือประโยคที่ศาลมักจะเขียนไว้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย…” แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็ตัดสินว่ารัฐประหารไม่ผิด ด้วยการอ้างมาตรฐานจากการนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือกระทั่งการที่ศาลเขียนไว้ว่าการทำรัฐประหารจะมีความชอบธรรมหรือไม่ เป็นกรณีที่ต้องไปพิจารณากันในด้านอื่น ส่วนตัวอาจจะคิดว่าเป็นการเขียนไม่ดี และสุดท้ายศาลยอมรับว่า “มีความชอบธรรม” กรณีนี้อาจจะมองว่าเป็นการตัดสินอรรถคดีแบบลอยนวลพ้นผิด

ประเด็นที่สอง หนังสือสะท้อนถึงความหมายของสิ่งที่เรียกว่า ‘การตัดสินของศาลแบบภาระรับผิดชอบ’ ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นในกรณีของคดี อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักกิจกรรมคนแรกๆ ที่ถูกดำเนินคดีจากการต่อต้านรัฐประหาร ขณะที่ตนเห็นคลิปที่อภิชาตถูกจับ คิดว่าเขาต้องเป็นคนที่กล้าหาญ ซึ่งในเวลานั้นมีไม่กี่คนที่มีป้าย และป้ายของอภิชาตเขียนว่า ‘ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน’ ข้อความนี้ตั้งคำถามไปยังที่มาของอำนาจคณะรัฐประหาร

อีกกรณีหนึ่งคือการต่อสู้ทางคดีของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จากการอ่านพบว่านอกจากการต่อสู้โดยตัวของไผ่ ยังมีการเคลื่อนไหวรอบๆ คดีของไผ่ด้วย  1 ใน 6 คดี ที่เป็นคดีสำคัญในทางประวัติศาสตร์ คือคดีต้านรัฐประหาร ซึ่งปรากฏให้เห็นในขั้นตอนการเบิกความของพยาน และการเคลื่อนไหวระหว่างการขึ้นศาล เช่น ทุกครั้งที่ไผ่ขึ้นศาลทหารที่ขอนแก่น ก็จะมีคนประมาณ 30-50 คน จากทั่วประเทศไปให้กำลังใจ กรณีนี้ทำให้ตนอยากจะไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ศาลเองด้วยว่ารู้สึกอย่างไรต่อปรากฏการณ์เช่นนี้

รวมไปถึงคำสาบานตนต่อศาลของไผ่ ก็ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการสาบานตนที่น่าสนใจ และขณะที่เบิกความในศาลทหารขอนแก่น การเบิกความ เจ้าหน้าที่ทหารก็มีท่าทีรับฟัง ไม่ได้ให้หยุดพูด ทำให้ข้อความเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้ ในแง่นี้ถ้าจะตัดสินคดีอรรถคดีแบบภาระรับผิดชอบ คำเบิกความของไผ่ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้นเช่นกัน

ประเด็นที่สาม หนังสือผลักให้เราคิดว่า เราจะทำอะไรต่อ เพื่อทำให้การต่อสู้ของประชาชนเป็นพื้นฐานในการต่อสู้ต่อไป กรณีนี้อาจจะคิดถึงคำตัดสินของศาลฎีกาต่อกรณีพลเมืองโต้กลับที่ไม่เหมือนที่ศาลตัดสินจริง แต่ฝันว่าหากจะเขียนจะเขียนยังไง อาจจะเปลี่ยนแค่คำบางคำ เขียนเพื่อให้รับใช้ประชาชนแทนที่จะรับใช้เผด็จการ สนับสนุนประชาธิปไตยแทนที่จะสนับสนุนผลประโยชน์ของรัฐประหาร

เช่น ปกติศาลฎีกาจะเขียนว่า จะต้องตีความเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของรัฐ ก็อาจจะเปลี่ยนว่าการตีความจะต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อศักดิ์ศรีของประชาชน

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่ควรมีหนังสือแบบนี้ในสังคมไทยอีกแล้ว อ่านไปก็ตั้งคำถามไป นี่มันเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงกันแน่ ที่มันเกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ระหว่าง พ.ศ. 2557-2562

หนังสือเล่มนี้เป็นพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นจริงและมีอยู่จริงของราษฎรสามัญ การบันทึกไว้ก่อนที่จะหายไป ทำให้เห็นว่า ‘anti-coup movement’ มีอยู่จริง ซึ่งในอนาคตอาจจะมีคนมาอ้างได้ว่ารัฐประหาร 2557 มีคนออกมาสนับสนุน คำวินิจฉัยของศาลบางกรณีก็อ้างแบบนี้ ทำให้ข้อเท็จจริงถูกลบเลือนไป

แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อเริ่มต้นคิดว่าราษฎรไม่ได้อยากจะกำแหง หรือจะปฏิวัติอะไรใหญ่โต คนเหล่านี้คือคนที่ต่อสู้ไม่ยอมรับอำนาจการรัฐประหาร และยืนยันว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งผิด หรือบางกลุ่มออกไปต่อสู้ว่าการทำประชามติ มันไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีกลุ่มที่ออกไปต่อสู้ว่าสังคมไทยต้องมีการเลือกตั้ง กลับโดนตั้งข้อหา

“ทำให้เห็นว่าการต่อสู้เหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาสามัญอย่างกล้าหาญ เพื่อเรียกคืนสามัญสำนึกให้กับสังคมไทย นับเป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ทั้งของตนเองและของผู้อื่น และถือเป็นบันทึกต้นทุนของการรัฐประหาร 2557”

บันทึกเหล่านี้ทำให้คนเห็นมากขึ้นว่าการรัฐประหารครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง นอกจากต้นทุนทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว ยังมีคนจำนวนมากสูญเสียต้นทุนสิทธิเสรีภาพ ซึ่งไม่ค่อยเป็นข่าว บันทึกชี้ให้เห็นว่ามีคนที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยเลยจากการรัฐประหารครั้งนี้

ในหนังสือมีหลายข้อความที่น่าสนใจและแสดงความหมายที่แหลมคม เช่น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ บัณฑิตอาสาสมัครที่ออกไปต่อต้านรัฐประหาร จะมีข้อความที่แสดงให้เห็นความรับรู้ของศาลว่า ‘ระบอบรัฐประหาร’ มีอยู่จริง ซึ่งนักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะถกเถียงกันว่าจะเรียกระบอบ คสช. ว่าระบอบอะไร

ศาลก็ได้นิยามให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘coup regime’ ว่ามีอยู่จริง ทั้งที่ คสช. บางทียังเรียกตัวเองว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นถัดมาจากการอ่านหนังสือคือ ประชาชนออกมาต่อสู้ปกป้องประชาธิปไตย ด้วยวิธีการสันติอหิงสา ทำให้เห็นว่าการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้ตั้งเป้าไปที่นักการเมือง พรรคการเมือง เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา แต่ครั้งนี้ขยายมาถึงคนธรรมดาสามัญ เป็นการรัฐประหารที่ใช้เครื่องมือทางกฎหมาย

สิ่งที่น่าสนใจคือประชาชนก็สู้คณะรัฐประหารกลับด้วยเครื่องมือทางกฎหมายเช่นกัน ประชาชนอาจจะรู้ว่าตัวเองเสียเปรียบและอาจจะแพ้ แต่พวกเขากลับต่อสู้เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศมันยังมีความยุติธรรมอยู่บ้าง กรณีนี้เกิดขึ้นในคดีของคุณสิรภพ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร รวมถึงคำแถลงของ ไผ่ ดาวดิน ต่อศาล ว่าการอออกมาต่อสู้ก็เพื่อไม่ต้องการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร

เรื่องที่น่าเสียดาย มีคนอย่างสิรภพและไผ่น้อยเกินไป ซึ่งศาลมักจะอ้างว่าไม่มีหลักฐาน ว่าประชาชนส่วนใหญ่ออกมาต้านรัฐประหารครั้งนี้

กรณีนี้ทำให้นึกถึงหนังสืออีกเล่มของ จีน ชาร์ป (Gene Sharp) เรื่อง คู่มือต้านรัฐประหาร  ที่เคยมีคนเอาออกมาศึกษากันในช่วงพฤษภาทมิฬ (2535) หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญเพราะว่า อธิบายวิธีการต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี และเผยแพร่และศึกษาในหมู่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รสช. ก่อนที่จะมีการประยุกต์ใช้ และในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ถูกเชิญมาพูดที่รัฐสภาของไทย โดยมี สส. ฟังการบรรยายในวันนั้น นำมาสู่การร่างมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าด้วยการต่อต้านรัฐประหาร ให้ประชาชนมีสิทธิและเป็นหน้าที่ในการต่อต้านโดยสันติต่อการรัฐประหารผิดกฎหมายและผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรานี้ยังคงอยู่ แต่ทว่า 2560 ไม่มีอยู่แล้ว หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังกลับมาเป็นประเด็น คิดว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ขาดหายไป ควรจะนำกลับมา

อีกประเด็นที่สำคัญคือ เมื่ออ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีความของนักต่อสู้ในหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว พบว่า การตีความของผู้พิพากษาส่วนใหญ่ยังเป็นความมั่นคงของรัฐมากกว่าเสรีภาพของประชาชน เราจะไม่เห็นแนวคิดแบบเสรีนิยม ที่รัฐควรจะถูกจำกัดทางอำนาจ และไม่ควรใช้อำนาจตามอำเภอใจมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนการจำกัดนั้นหากจะเกิดขึ้นต้องเป็นข้อยกเว้นจริงๆ และชั่วคราวเท่านั้น แต่กรณีของไทยเป็นการเอาความมั่นคงของรัฐมานำ ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าแนวโน้มของการเรียนการสอนเรื่องแนวคิดเสรีภาพ เป็นเรื่องที่อาจจะต้องคุยกันว่าการเรียนการสอนทางกฎหมายมากกว่าแนวคิดรัฐนิยม

ถามว่าใครควรอ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากประชาชนทั่วไปแล้วคิดว่า นักเรียนกฎหมายทั่วประเทศควรอ่าน ควรเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้กับนักเขียน แต่เอากรณีศึกษามาถกเถียงกันได้

การตีความกฎหมายแบบนี้สอดคล้องกับสถานการณ์หลังรัฐประหาร 2557 เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘securitization of the state’ หมายถึง การที่รัฐใช้เลนส์ความมั่นคงมามองทุกอย่าง มองปัญหาทุกอย่างเป็นภัยคุกคามของรัฐ อธิบายว่าประเทศไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ กระทั่งนิยามว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์สงคราม แล้วมีการจำแนกประชากรจำนวนหนึ่งเป็น ‘บุคคลเป้าหมาย’

ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขออนุญาตเรียกตัวเอง เป็นเหยื่อของการที่ถูกอำนาจรัฐละเมิด เนื่องจากถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองตามปกติ โดยแบ่งการร่วมเสวนาเป็น 3 ประเด็นคือ หนึ่ง ข้อคิดที่ได้อ่านจากการอ่านหนังสือ ราษฎรกำแหงฯ สอง ประสบการณ์ตรงที่เป็นเหยื่อจากการถูกอำนาจรัฐละเมิด และ สาม กล่าวถึงการกำแหงของราษฎร

ประเด็นแรก จากการอ่านหนังสืออาจจะมองเห็นตัวละครใหญ่ๆ อยู่ 3 ตัว คือ ราษฎร ระบอบรัฐประหาร และองค์กรประชาชน โลดแล่นในหนังสือ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในหนังสืออย่างน่าสนใจ

สิ่งที่เห็นจากบันทึก 9 คดีต้านรัฐประหาร ที่เด่นชัดคือพัฒนาการการกำแหงของราษฎร เริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่อาจจะมีความกล้าหาญในทางการเมืองมากกว่า ได้มีการต่อต้านอย่างเป็นระบบมากขึ้น เริ่มเห็นคนมากขึ้นเรื่อยๆ กระจายตัวไปเรื่อยๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ ยิ่งรัฐละเมิดประชาชนมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเชื้อเชิญให้ประชาชนออกมากำแหงมากขึ้นเท่านั้น

ตัวละครตัวที่สอง คือระบอบรัฐประหาร บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ศูนย์ทนายความฯ ได้บันทึกไว้ แสดงให้เห็นวิธีการที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพมากขึ้น มีแนวโน้มมากขึ้นจนกลายเป็นบรรทัดฐาน เหมือนเป็นสิ่งธรรมดา คำถามคือการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ เราจะปล่อยให้เป็นบรรทัดฐานไปแบบนี้หรือไม่

กรณีนี้อาจจะรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรม ที่มีการรองรับอำนาจของคณะรัฐประหารอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือไม่ เราอาจจะพูดไม่ได้ทั้งหมด แต่ภาพใหญ่เป็นลักษณะอย่างนั้น และหากสังเกตลึกลงไปในแต่ละคดีที่รัฐฟ้องประชาชน ดูว่าคดีความไหน คำพิพากษาลักษณะใดที่ดูเหมือนกับประชาชนชนะนั้น แท้จริงแล้วปกป้องประชาชนจริงหรือเปล่า มีคดีความมากน้อยแค่ไหนที่กระบวนการยุติธรรมแสดงให้เห็นถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง กรณีนี้สงสัยว่าอาจจะเท่ากับศูนย์

อย่างไรก็ตามในบรรดา 9 คดี สิ่งที่เห็นชัดคือ ความแตกต่างกันระหว่างคดีที่เกิดในศาลทหารกับศาลพลเรือน เราจะเห็นโอกาสการต่อสู้คดีที่อยู่ในศาลพลเรือนมากกว่า

ตัวละครที่สามคึอ องค์กรประชาชน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดี เห็นว่าบทบาทขององค์กรประชาชนในด้านประชาชนมีอยู่สูง คิดไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีองค์กรประชาชน เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ iLAW แล้วประชาชนจะต่อสู้อย่างไร

ในอนาคตอาจจะเห็นนักเรียนกฎหมายมาทำงานด้านนี้และอาจจะคิดว่ามันมีความเท่ที่ไปทำงานแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ มีคู่มือในการไปเดินขบวน คู่มือแสดงออกในทางการเมืองแบบถูกกฎหมาย ยังคิดว่าองค์กรนี้อย่างน้อย ต่อไปควรจะมีมากกว่านี้ที่สอดคล้องกับความกำแหงใหม่ๆ อาจจะเรียกว่า “นิติศาสตร์เพื่อประชาชนหลังยุคนิติราษฎร์”

ซึ่งนิติราษฎร์อาจจะเป็นการต่อสู้เรื่องใหญ่ๆ เรื่องนามธรรม แต่องค์กรประชาชนเหล่านี้เป็นองค์กรที่ช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งในบางฉากของหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นทนายจำเลยได้ลุกขึ้นปะทะกับผู้พิพากษาโดยการไม่ยอมอ่านคำพิพากษา และเราต้องการองค์กรประชาชนแบบนี้อีกมาก ในรัฐที่มีการใช้กฎหมายคุกคามประชาชน

ประเด็นที่สอง คือความไม่สมมาตร ระหว่างการที่รัฐเป็นโจทก์ ประชาชนเป็นจำเลย ซึ่งเสียเปรียบทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม จำเลยไม่สามารถตอบโต้อะไรได้เลยทั้งในและนอก กรณีนี้อาจจะเห็นได้ในคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ทหาร เรื่องที่น่าสังเกตคือ เจ้าหน้าที่รัฐเลี่ยงไม่ดำเนินคดีกับนักวิชาการที่อ่านแถลงการณ์ แต่เลือกดำเนินคดีกับคนทำกิจกรรมชูป้าย และเมื่อมีการสืบพยานทำให้วิธีคิดของรัฐโผล่ออกมา เช่น การระบุกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการบิดเบือนการแสดงออกว่าเป็นการต่อต้าน คสช. มีเจ้าหน้าที่ไปเดินรบกวนในงานวิชาการ ถ้ามีการตั้งศาลประชาชน อาจจะบอกว่าเป็นการมาข่มขู่คุกคามประชาชน นอกจากนั้นมีนักวิชาการต่างประเทศถูกข่มขู่ รบกวนความเป็นส่วนตัวอย่างมาก เช่น การเดินทางเข้าออกต่างประเทศที่ยากลำบากเพราะมีชื่ออยู่ในกลุ่มเป้าหมาย

ประเด็นที่สาม คือการก่อภาระทางคดี เช่น คดีคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งผมถูกดำเนินคดีทั้งที่ตั้งใจมาในฐานะสังเกตการณ์และร่วมชุมนุม ณ วินาทีที่มีคนตั้งขบวน มีคนมาถามว่าอาจารย์ไปไหม ก็มีเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูป

การตัดสินใจร่วมชุมนุมและเดินขบวน ทำให้ถูกเรียกตัวตามมา 47 คน (ARMY57) เมื่อถูกเรียกตัว การทำงานก็ยากลำบาก เช่น เมื่อได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าจำเป็นต้องเดินทางไปราชการต่างประเทศ จึงเลื่อนการรายงานตัว แต่วันหนึ่งกลับถูกหมายจับ การสร้างภาระเริ่มตั้งแต่ไม่ได้รับความยุติธรรมในการออกหมายจับ รวมไปถึงกระบวนการประจาน ไปติดหมายจับ แม้ว่าปัจจุบันคดีความนี้จะยกฟ้องไปแล้ว กระบวนการประจานนี้ใครรับผิดชอบ

ถ้าผมไม่ถูกดำเนินคดี ผมก็ไม่รู้เรื่องเลยว่ารัฐนี้ชอบประจานคน มีการใช้ social sanction นี่คือความไม่สมมาตรระหว่างการเป็นโจทก์กับจำเลยในคดี การสร้างภาระทางคดีเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปต่างประเทศ รวมไปถึงการละเมิดประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น การอ้างว่าไปเยี่ยมแต่พฤติกรรมไม่ใช่การเยี่ยม

ทำอย่างไรให้รัฐเข็ดหลาบบ้าง เราจะดำเนินคดีความกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร สิ่งที่แสดงความไม่สมมาตรสำคัญคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐแทบจะไม่ได้รับความผิดชอบอะไร หรือกว่าที่ประชาชนจะได้รับความยุติธรรมอาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเรา

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า