เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / อภิรดา มีเดช / ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
ความเดิมตอนที่แล้ว
ในส่วนของ Doc Club ที่ใช้วิธีโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทำให้ฐานคนดูเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
อืม คิดว่าน่าจะใช้คำว่า ฐานคนที่ติดตามมากกว่า ส่วนฐานคนดู จริงๆ ก็ไม่ได้แปลว่าทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จ สุดท้ายก็อยู่ที่ตัวหนัง
ถ้าดูจากยอดเฟซบุ๊ค ยอดคนที่เป็นแฟนเพจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้านที่บอกได้ว่าเป็นเรื่องดีคือ มีคนติดตาม สนใจว่าเราเอาหนังสารคดีอะไรมาฉาย พอเราโพสต์ลงไปแล้วคนให้ความสนใจ แชร์ไป ก็มีคนรู้จักสารคดีของเราแต่ละเรื่องมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นการบอกว่าหนังทุกเรื่องที่มาฉายจะมีคนมาดูเยอะแยะ อย่างเช่น พอหนังเริ่มเครียดมากหน่อย เริ่มดูยาก ก็จะเห็นเลยว่าคนเหลือนิดหนึ่ง แต่ถ้าหนังป๊อปๆ ขึ้นมา คนก็จะเยอะ
ถ้าอย่างนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเลือกหนังแบบไหนมาฉาย แล้วมีวิธีการเลือกอย่างไร
ตอนนี้ก็พยายามสร้างบาลานซ์ คือหนึ่ง ต้องมีหนังป๊อปๆ อยู่แล้ว เพราะไม่ว่าจะโอเคในเชิงความอยู่รอดทางธุรกิจ กับการที่เราก็ต้องรักษาระดับความรู้สึกของคน เพราะจริงๆ ก็เป็นเหมือนเป้าที่พยายามเอาชนะตั้งแต่ต้น ให้ทุกคนรู้สึกว่าการมาดูหนังสารคดีไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ หรือได้ยินคำว่าสารคดีแล้วอี๋
ยากขึ้นไปอีกนิดหนึ่งก็คือ การที่ต้องมาดูหนังสารคดีในโรงที่คุณต้องถ่อไปจนถึงเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วยังต้องควักตังค์จ่ายค่าตั๋วเท่า Batman เลย ทำยังไงไม่ให้รู้สึกว่า อะไร…ไร้สาระ คือให้เขารู้สึกว่า นั่นเป็นสิ่งที่โอเค และมันก็ต้องมีหนังที่ตอบสนองโจทย์แบบนี้อยู่เป็นระยะๆ
ขณะเดียวกันก็พยายามจะให้มันบาลานซ์ในแง่ของการเป็นหนังที่เปิดประเด็นทางสังคมแบบจริงจัง พูดง่ายๆ คือหนังที่มันเครียดๆ หน่อย
สารคดีมันเอื้อให้ทำอย่างนี้ ถ้าคุณไม่ทำหนังสารคดีแบบนี้ หนังทั่วไปก็ไม่มีหรอกแบบนี้ ไม่ว่าจะในเชิงอาร์ตหรือในเชิงประเด็นสังคม ปีนี้ก็พยายามจะให้มีทั้งสองแบบ หนังประเภทหลังก็ต้องทำใจไว้ว่ารายได้โรงนั้นจิ๋วมากๆ ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าต้นทุนที่เราลงทุนไปจริงๆ เท่าไหร่ จะได้ไม่เจ็บตัวกับมัน
ก็ถือว่าเป็นโครงการที่วางแผนระยะยาว หมายถึงวางแผนเป็นรายปีว่าจะมีหนังป๊อปบ้างเครียดบ้างสลับกันไปแบบนี้?
ใช่ๆ เพราะเวลาหาหนังก็ต้องหาล่วงหน้าพอสมควร แต่ถามว่ามีความมั่นใจว่ามันจะอยู่ไปยาวนานไหม จริงๆ ก็ไม่มั่นใจหรอก เพราะว่ามันก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ตั้งแต่ต้นปีมี Netflix เข้ามาแล้วในประเทศไทย ก็มีผลพอสมควร เพราะ Netflix หนังเร็วมาก และเป็นช่องทางสำคัญของคนทำหนังสารคดี เพราะปกติขายสิทธิ์อย่างอื่นเขาก็ได้ไม่เยอะอยู่แล้ว ทีนี้ Netflix กล้าซื้อหนังสารคดีมาลง อย่างของเราฉายๆ อยู่ อ้าว Netflix มา (หัวเราะ) ก็จะมีแบบนี้เยอะ อันนี้ก็เป็นปัญหาปวดหัวเหมือนกัน
แสดงว่าต้องคิดวิธีรับมือกับเว็บไซต์สตรีมมิ่งอย่าง Netflix ไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ชนกัน
ใช่ หรือว่าเรื่องที่หยิบมาแล้วก็ต้องคอยเช็คให้ดีว่าจะออนแอร์เมื่อไหร่ อยู่ดีๆ มันโผล่ Netflix เราก็ไม่ค่อยอยากจะเอาเข้าฉาย เพราะคนก็จะมีความรู้สึกว่า ดูอยู่บ้านประหยัดกว่าตั้งเยอะ
คนทุกวันนี้มีเซนส์ของการขุดคุ้ย เรารู้สึกนะ อุปกรณ์อะไรก็ตามที่มันเอื้อ แล้วคนเดี๋ยวนี้ก็มีลักษณะท้าทายโครงสร้างทางสังคมเยอะขึ้น คนประเภทนี้ที่ใช้กล้องเป็นเครื่องมือ กูจะบ้างัดกับพวกมึง คือมีคนแบบนี้เยอะขึ้น แล้วก็จะมีหนังประเภทนี้เยอะขึ้น หรือแม้แต่เรื่องที่ท้าทายแบบ The Look of Silence ซึ่งมันแบบแตะระดับประวัติศาสตร์และรัฐบาล
หนังสารคดีของเมืองนอกเขาทำกันเยอะมากเลย ทำไมของไทยเราไม่ค่อยมี
นั่นสิ จริงๆ ตอนนี้เยอะมาก คือเรื่องแบบสารพัดสารเพที่จะขุดหากันมาทำ แล้ววิธีการก็พิสดารพันลึกขึ้นเรื่อยๆ แล้วความบ้าคลั่งของคนทำก็บ้าขึ้นเรื่อยๆ ที่แบบ เรื่องประเภทนี้ก็ไปหามาทำ
มีเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องดังจากเทศกาล Sundance เรื่อง Tickled แปลว่าจั๊กจี้ หนังมันบ้ามากเลย คือคนทำเป็นนักข่าวอยู่นิวซีแลนด์ เป็นพวกชอบทำสกู๊ปข่าวแบบเจาะลึกลัทธิประหลาดๆ แล้ววันหนึ่งไปดูในคลิปยูทูบ เจอกลุ่มในยูทูบประกาศหาคนมาแข่งกิจกรรมจั๊กจี้ รับแต่ผู้ชายล่ำๆ เท่านั้น (หัวเราะ) เขาก็ตามไปดูคลิปก็เห็นว่ามีจริงๆ จับผู้ชายมาขึงพืดแล้วก็จั๊กจี้ แล้วก็หัวเราะกันชักดิ้นชักงอ
คนนี้เขาก็อยากแข่งบ้าง ก็อยากรู้ อยากทำข่าว เขาก็อีเมลไปสมัคร บอกว่าจะขอไปทำข่าว ปรากฏว่ามีผู้หญิงตอบอีเมลกลับมา บอกว่าไม่รับ มึงเป็นใครมึงไม่ต้องมาเสือก อย่างนี้เลย หยาบคายอย่างนี้เลย นักข่าวคนนี้ก็เลยอีเมลไปถามอีก อีเมลก็ตอบกลับมาแบบหยาบๆ คายๆ อีก เขาก็สงสัยว่านี่มันคืออะไร เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้สืบเสาะทำสารคดีเรื่องนี้ ไปถึงแหล่งที่เขาจั๊กจี้กัน ไปถึงเปิดประตูเข้าไปถ่ายเลย พวกนั้นแตกกระเจิง คือมันมีคนที่ทำหนังบ้าแบบนี้ขึ้นทุกวัน แล้วก็จะมีหนังตลกๆ แบบนี้ เรื่องอย่างนี้ก็เป็นหนังได้ แล้วดังด้วย
แล้วความที่คนทุกวันนี้มีเซนส์ของการขุดคุ้ย เรารู้สึกนะ อุปกรณ์อะไรก็ตามที่มันเอื้อ แล้วคนเดี๋ยวนี้ก็มีลักษณะท้าทายโครงสร้างทางสังคมเยอะขึ้น คนประเภทนี้ที่ใช้กล้องเป็นเครื่องมือ กูจะบ้างัดกับพวกมึง คือมีคนแบบนี้เยอะขึ้น แล้วก็จะมีหนังประเภทนี้เยอะขึ้น หรือแม้แต่เรื่องที่ท้าทายแบบ The Look of Silence ซึ่งมันแบบแตะระดับประวัติศาสตร์และรัฐบาล อ่านตามข่าวจะมีหนังอะไรแปลกๆ ทุกวัน
แต่ก็ยังคิดว่า ทำไมในเมืองไทย ถ้าพูดในเชิงความอยู่รอด มันก็ยังอยู่ไม่ได้ คนทำหนังอิสระทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่หนังสารคดีก็ยังอยู่ไม่ได้ คนทำสารคดียิ่งอยู่ไม่ได้ เพราะว่าการทำสารคดีมันใช้เวลาเยอะ ใช้แรงเยอะ ต้องตามเยอะ ต้องไปเจอ subject ของจริง ซึ่งยอมบ้างไม่ยอมบ้าง มีความเสี่ยงเยอะ ทั้งหมดไม่มีการซัพพอร์ตที่ครบวงจร
หมายถึงว่า เริ่มต้นแค่หาทุนนั้นเอาจากไหน ควักเงินตัวเองเหรอ มีองค์กรทางสังคมกี่องค์กรกันที่จะออกเงินให้ มันก็นานๆ โผล่มาที ทำเสร็จปั๊บ ฉายที่ไหน ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นซับซ้อนประเภทโดนฟ้อง โดนรุมทำร้าย โดนขู่ อะไรประเภทนี้ คือทั้งหมดมันไม่มีอะไรซัพพอร์ตเลย (เน้นเสียง) ที่คนทำหนังจะรู้สึกว่าเราต้องทำไปทำไม คือทำชีวิตให้ยากทำไม ทำเสร็จ ยังต้องคิดว่าจะฉายที่ไหนอีก
เหมือนหนังเรื่อง สายน้ำติดเชื้อ คุณหมู-สุภาพ เป็นคนโปรดิวซ์ ในนามบริษัท ออกไปเดิน ก็มีงบจากเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet) ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม แล้วเอาโปรเจ็คท์ไปเสนอไทยพีบีเอส ทุนมันไม่เยอะหรอก แต่ เบิ้ล (นนทวัฒน์ นำเบญจพล) ก็ทำได้ภายในงบ ทำเสร็จก็ฉายโรงอยู่นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็เงียบไป หรือ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) ยิ่งแล้วใหญ่ ทำมาปั๊บ มีปัญหาโดนแบน ตอนแรกคุยกับโรงจนได้โปรแกรมแล้ว พอมีปัญหาโดนแบน ขนาดผ่านเซ็นเซอร์แล้ว ในที่สุดโรงก็ไม่เอาแล้ว อื้อฉาวไม่อยากฉาย สุดท้ายต้องไปเดินสายฉายเองตามโรง เก็บตังค์เอง มันทรมานไปนะ
ในเมืองนอก อันหนึ่งคือ พื้นที่แบบ Netflix ก็ตาม แบบทีวีก็ตาม ทีวีมีบทบาทสูงในสารคดีเมืองนอก เคเบิล HBO NHK ญี่ปุ่น BBC อังกฤษ พวกนี้คือพื้นที่สร้างหนังสารคดี และสร้างคนทำหนังสารคดีเยอะ เพราะเขาเห็นคุณค่าของ documentary feature ที่เป็นเหมือนข่าวเชิงสืบสวนเจาะลึก แล้วมันมีความงามทางศิลปะของหนังด้วย ก็มีสล็อตสำหรับฉายของพวกนี้ต่อเนื่อง
อย่างเรื่องการทำข่าวเจาะในหนัง Spotlight ในความเป็นจริงก็เหมือนจะทำไม่ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องพับเก็บไปตั้งแต่แรก
นี่ไง พอเป็นสังคมแบบนี้เราก็ self-censor ก่อน อย่างตอนเอา The Act of Killing มาฉาย ยังมีคนเตือนเลยว่าให้ระวัง อะไรกัน เหตุการณ์ในอินโดนีเซีย 50 ปีมาแล้ว มาระวังระเวิงอะไร แต่พอส่งไปเซ็นเซอร์ ก็เกือบไม่ได้ฉายจริงๆ มีกรรมการบอกว่า เอามาฉายทำไมช่วงนี้ แบ็คกราวด์ของเรื่องมันเป็นช่วงเผด็จการทหารไง เขาก็ถามว่า ทำไมเอามาฉายช่วงนี้ จงใจหรือเปล่า หนังรุนแรง เดี๋ยวเป็นตัวอย่างไม่ดีกับเด็กนะ มีฉากฆ่าคนด้วย แล้วจะโดนคนอินโดนีเซียประท้วงหรือเปล่า เดี๋ยวจะมีปัญหา…โหย เยอะ แต่ก็ไม่มีอะไร โชคดี กรรมการคนอื่นบอกให้เรตสูงๆ ไปก็พอ
เอาเข้าจริง คนดูสารคดีของ Doc Club ก็เป็นคนเฉพาะกลุ่มเฉพาะทางหรือเปล่า
เฉพาะทาง ใช่ มันเฉพาะทางอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ถ้าเป็นหนังนอกกระแสจริงๆ คนดูก็จะเป็นคนที่ชอบหนังนอกกระแส แต่หนังสารคดีนั้น ก็อาจจะเป็นคนที่ชอบหนังนอกกระแส แต่แค่ประมาณหนึ่งเพราะประเด็นของหนังแต่ละเรื่องมันแตะไปขอบๆ ของคนอื่นๆ ด้วย
อย่างเช่น Iris ซึ่งเป็นหนังที่พูดถึง ไอริส แอพเฟิล (Iris Apfel) คุณยายที่เป็นไอคอนแฟชั่น คือคนที่แชร์ออกไปมีกระทั่งเพจขายเสื้อผ้า หรือน้องที่เขียนตาใส่บิ๊กอาย คือมันก็ไปแตะคนเหล่านี้ ซึ่งเขาก็มาดูด้วยนะ แล้วเขาก็เขียนกุ๊งกิ๊งกันในกลุ่มเพื่อนของเขา
สารคดีมันมีข้อดีตรงนี้ คือถ้าหนังมันดูโอเคประมาณหนึ่ง ไม่ใช่น่าเบื่อโคตรๆ แล้วประเด็นมันไปแตะความสนใจของคน มันก็จะได้กลุ่มคนที่ขยายออกไป คือไม่ได้จำกัดว่าทุกครั้งคือคนกลุ่มเดิม มันไม่เป็นอย่างนั้น
ต้องคิดเป็นเรื่องๆ ไป?
ใช่ เวลาเอาหนังมาฉายก็ต้องคิดเหมือนกัน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องนึกออกว่ามีใครดู แต่เรื่องใครจะดูมากหรือน้อย เราก็ต้องดูด้วยว่าสเกลของหนังเรื่องนั้นมันมาเพื่อใคร มันไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะได้คนเยอะแยะทั้งหมด แต่อย่าง The Look of Silence สำหรับเรามันเป็นหนังที่ต้องฉาย ต่อให้มีคนดูกระจิ๋วเดียว แต่มันต้องฉาย คนกระจิ๋วเดียวนั่นแหละ ที่เราอยากให้มาดูอะไรแบบนี้
หนังสารคดีส่วนใหญ่จะได้ฉายกี่สัปดาห์ แล้วเราดีลยังไง
มันก็หลากหลายเหมือนกันนะ อย่างเรื่องที่ฉายแค่สองวีคแล้วออกก็มี คือเรื่องที่มันไม่ได้จริงๆ อย่าง The Look of Silence, The Act of Killing, The Hunting Ground หนังที่เครียดๆ ก็จะได้ฉายน้อยหน่อย แต่จริงๆ คิดว่าโปรเจ็คท์แบบนี้ของ SF ค่อนข้างโอเค อาจจะเพราะว่าตอนที่เริ่มไปคุยกับเขา เราไปคุยในลักษณะที่ว่า เรารู้ว่าสเกลของโปรเจ็คท์มันประมาณไหน ไม่ได้คุยบนเงื่อนไขที่ทำให้เขารู้สึกกระอักกระอ่วน
คือไปแบบเล็กมากว่าจะเอาหนังสารคดีมาเข้านะ เป็นโปรเจ็คท์ exclusive กับคุณนะ เราคิดแค่นี้เลย แล้วตั้งชื่อโปรเจ็คท์ว่า Doc Holiday หมายความว่า ตั้งใจจะฉายแค่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เท่านั้น รอบเดียวพอ ทดลองดูก่อนสักเรื่องสองเรื่อง ฉายแค่สามรอบพอ ถ้ามีคนแล้ว อาทิตย์หน้าเพิ่มมาอีกสามรอบ อะไรแบบนี้ คือสำหรับเขามันแทบไม่แตกต่างจากที่เขาทำๆ อยู่ แถมยังมีโปรเจ็คท์ใหม่ๆ มาให้ทดลองด้วย
พอทำแล้วมันไปได้ ก็คิดว่าเขาโอเคขึ้น เขารู้สึกว่าโปรเจ็คท์นี้ร่วมทำกันมา ดังนั้นก็คิดว่าเขาให้โอกาสพอสมควร หมายถึงว่า บางทีหนังก็คนไม่เยอะแล้วล่ะ แต่เขามีความรู้สึกว่ามันก็ยังพอได้อยู่ เอาอีกวีคไหมล่ะ เพียงแต่ว่าถ้าวีคหน้าหนังใหญ่เข้าก็ทำใจหน่อยนะ รอบก็อาจจะ 3 ทุ่มครึ่ง ก็ลองดู เราก็โอเค
แต่ถ้าหนังที่มันได้ มันก็ยาวจริงๆ อย่างตอน Citizenfour, Amy, The New Rijksmuseum พวกนี้ฉายเกินเดือน
เรื่องไหนถือว่าพีคที่สุด
Amy ได้เยอะที่สุด ฉายอยู่หกอาทิตย์ แล้วก็ Citizenfour น่าจะประมาณห้าอาทิตย์
ปกติใครเป็นคนทำซับไตเติลให้
ก็มีทำเองบ้าง มีน้องที่เป็นนักแปลหนังมาทำให้บ้าง ถ้าเรื่องที่คิดว่าต้องอาศัยสำบัดสำนวน ก็มักจะให้เขาช่วยเพราะเขาเก่ง แต่ก็ทำกันเองนี่แหละ
ตอนที่เลือกหนังเข้ามาฉาย ปกติจะต้องส่งตัวอย่างหนังเต็มเรื่องมาให้ดูก่อนหรือเปล่า
อยู่ที่ดีลด้วย ถ้าเป็นหนังใหญ่ๆ ไม่ใช่หนังสารคดีนะ หนังใหญ่ๆ เขาไม่ค่อยส่งอะไรมาให้ดูหรอก
วิธีการคืออย่างนี้ สมมุติว่าค่ายหนังทำหนังออกมา มันจะมีสองแบบ หนึ่งคือหนังสตูดิโอ เช่น Warner Brothers, Sony, Walt Disney, Columbia Pictures พวกนี้มีบริษัทลูกอยู่ในประเทศไทย เขาก็ทำของเขาโดยตรง หนังออกจาก Warner ต่างประเทศ ก็มา Warner ไทย Warner ไทยจะมีวิสัยทัศน์ในการเอาเรื่องไหนมา หนังจากเทศกาล จากค่ายอะไรก็ว่าไป จากเมืองนอก ที่ไม่ใช่สังกัดสตูดิโอ
ถ้าเป็นหนังใหญ่ เขาก็จะมีวิธีการ เช่น พอไปเมืองคานส์ออกบูธ สมมุติเราเป็นตัวแทนบริษัทหนังเราก็ต้องไปแย่งชิงกับบริษัทหนังจากประเทศเดียวกัน เราก็ต้องไปดู อุ๊ย! หนังเรื่องนี้มีดาราดีกรีออสการ์เล่น แต่ไม่ใช่หนังสตูดิโอ แต่พอมีคนนี้เล่น ยังไงก็ได้ตังค์ ขี้หมูขี้หมาก็ได้ รีบเซ็นเลย ยังไม่เห็นอะไรเลย เห็นแต่มีคนนี้เล่น จบ (หัวเราะ) แบบนี้เป็นต้น
หรือประเภทแบบหนังแอ็คชั่น มี เจสัน สเตแธม เล่นกับเฉินหลง อย่างนู้นอย่างนี้ หนังจีนลงทุน ซื้อมา ผ่านไปสามปี หนังยังไม่เสร็จ เจสัน สเตแธมถอนตัว เฉินหลงถอนตัว (หัวเราะ) มันก็จะมีประเภทนี้อยู่เรื่อยๆ
แล้วก็หนังที่หน้าหนังแข็งๆ ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีโอกาสได้ดูหรอก เพราะมัวแต่รอดูก็เมื่อหนังเสร็จ เมื่อหนังเสร็จก็แปลว่าไม่ทันแล้วล่ะคนอื่นเขาซื้อไปแล้ว แต่ก็จะมีหนังประเภทอย่างนี้ หนังเล็กๆ ที่ไม่ได้แย่งชิงกันมากนัก หนังสารคดีก็ยังไม่มีใครอยู่ในภาวะนั้น มันก็จะง่ายกว่า ก็จะเป็นเหมือนกับต่อรองกันแบบเท่าเทียมมากขึ้น คือขอดูหนังก่อน เขาก็จะส่งสกรีนเนอร์มาให้ สกรีนเนอร์เป็นคำเรียกหนังที่เอาไว้ดูเฉพาะกิจ เช่นหนังจะชิงออสการ์ ก็จะส่ง screener ให้กรรมการทั้งหลายดู หรือค่ายหนังส่งให้เราดูเพื่อพิจารณาว่าเราจะซื้อหรือเปล่า
เต็มเรื่องใช่ไหม
เต็มเรื่อง แต่ว่าบางทีก็มีลายน้ำมา บางทีก็ไม่มี บางทีก็ชัดแจ๋วมาเลย
กำลังสงสัยว่าหนังที่หลุดมาให้ดาวน์โหลดในอินเทอร์เน็ตมาจากพวกนี้รึเปล่า
เขามีการสำรวจในอเมริกา หนังช่วงออสการ์หลุดลงบิต (ซอฟท์แวร์ Bit Torrent นิยมใช้ในการแชร์และอัพโหลดไฟล์ขนาดใหญ่) เร็วมาก พวกกรรมการที่เขาส่งไปให้ดูถึงบ้านนี่แหละ (หัวเราะ) ปีที่แล้ว (ธันวาคม 2558) ชัดเลย คือเรื่อง The Hateful Eight หนังของ เควนติน ทารันติโน มันหลุดลงบิตเร็วมาก แล้วมันชัดด้วย เดี๋ยวนี้เขามีการตรวจจับ คือกรรมการอาจจะไม่รู้ว่าสมาพันธ์ภาพยนตร์แอบใส่ลายน้ำซ่อนไว้ในหนัง แล้วมันรู้หมดเลยว่าลายน้ำตัวที่มันหลุดมาส่งไปให้ใคร ชื่ออะไร รู้ขนาดนี้ คนนั้นก็เป็นข่าวไปทั่วโลก แต่เขาออกมาแก้ตัวว่าเขาไม่รู้เรื่อง และยังไม่ได้รับแผ่นเลย ไม่รู้เรื่องนี้ถึงไหนแล้ว
แต่หนังที่ Doc Club เอาเข้ามามันก็มีในบิต ถือเป็นปัญหาที่ต้องทำใจเลย?
ใช่ ทำไงได้ล่ะ คือเราเข้าใจมากๆ ว่าก็หนังมันไม่มีให้ดูน่ะ นี่คือการโต้ตอบของคนที่ทนกับการต้องรอดูหนังในโรงราคาแพงไม่ได้ ช้าก็ช้า หนังที่อยากดูก็ไม่มา เราคิดว่าปรากฏการณ์แบบนี้มันคงต้องเกิดขึ้น แต่ว่าธุรกิจก็ต้องหาทางออก อย่าง Netflix ก็เป็นทางออกอย่างหนึ่ง คือสู้ด้วยสิ่งที่อยู่บนดิน ราคาไม่แพง มีของให้เลือกเยอะ จริงๆ เราโคตรชอบเลย
มันเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้หรอก เราก็ทำในสิ่งที่มันทำได้ คือหนังที่เอาเข้าโรง บางเรื่องก็มีใน Netflix บางเรื่องก็มีบิตแล้ว แล้วเราจะไปทำอะไรได้ ไม่เป็นไร เราก็คาดหวังแค่คนอื่นๆ ที่ยังต้องการประสบการณ์การมาดูร่วมกันในโรงมันก็ยังมีอยู่
ขณะเดียวกัน เราก็ต้องอยู่ในโลกความจริงว่า คุณเอาหนังเขามา คุณต้องเข้าใจว่า ทุกวันนี้โรงหนังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หรือมาฝากชะตาชีวิตไว้กับโรงหนัง คือสำหรับบางเรื่องนั้น ในโรงมันเหมือนเป็นเครื่องมือการตลาดของเรา คือฉายในโรง เรามีโอกาสพีอาร์ คนรู้ว่าเข้าฉาย แต่ไม่ไปดูนะ เซ็นทรัลเวิลด์ ไกลจะตาย (หัวเราะ)
ความตลกคือว่า ฉายมาแล้วสามสัปดาห์ โปรโมตทุกวันเลย เอ้า วันนี้วันสุดท้ายแล้วนะ…ทำไมออกเร็วจัง ยังไม่ได้ดูเลย โปรโมตทุกวันเลยนะ ฉายมาจะเดือนหนึ่งอยู่แล้ว แต่นึกออกนะ เซ็นทรัลเวิลด์ ถ้าเราไม่ได้ฉายหนัง เราเองก็ไม่ไปเหมือนกัน
แต่บางทีเราฉายโรง เราก็เข้าใจว่าต้องรู้ทันมัน ฉาย The Look of Silence มันไม่มีคนไปดูหรอก โดยตัวหนัง โดยข้อจำกัดอะไรก็แล้วแต่ แต่เราก็คิดว่าเราเอาหนังเข้ามาเพราะเราชอบมัน บางทีก็เป็นโอกาส แล้วก็คิดว่าการฉายโรงเป็นการตลาดของเรา แล้วพอเราออกดีวีดี เราก็หาช่องทางรายได้อื่นๆ ในแง่ของความคุ้มทุนของดีวีดี หาทางขายสิทธิ์ดีวีดี หาทางขายสิทธิ์ VOD (video on demand) โอเค…ก็แฮปปี้ ไม่ขาดทุน ไม่เข้าเนื้อ มีตังค์เอาหนังอื่นเข้ามาได้เรื่อยๆ ส่วนบิตอะไรก็ช่างมันเถอะ จะไปทำอะไรกับมันล่ะ มันไม่ใช่แค่ในเมืองไทยด้วยไง (หัวเราะ)
VOD มีความเป็นไปได้ไหม
ตอนนี้มันมี platform เราคงไม่ได้ทำเอง เพราะดูแล้วในเชิงเทคโนโลยีก็อันหนึ่ง มันไม่ได้ซับซ้อนมากนัก แต่การจัดการมันเหมือนเราต้องจ้างคนอีกสักห้าคนมาช่วยเราทำ ซึ่งเราว่าทำเองคงไม่ได้ ก็โชคดี ในปีนี้เริ่มมี platform ของไทยเพิ่มขึ้นมาหลายที่ มีเจ้านำเข้าของ iflix ที่เป็นของมาเลเซีย ของไทยมี Hollywood HD, Primetime หรือ MONOMAXX เขาก็เริ่มเห็นว่าจะเป็นอนาคตแน่ๆ
แม้ตอนนี้มันยังช้าและยังยาก ยอดคนที่ดูยังต่ำอยู่ แม้แต่ Netflix ก็น่าจะมีคนใช้น้อย จริงๆ แล้วคนยังไม่ค่อยคุ้นกับการดูหนัง streaming ไม่ต้องพูดถึงว่าเน็ตติดบ้างไม่ติดบ้าง แต่มันเป็นอนาคตที่ต้องมาแน่ๆ ไม่มีทางหรอกที่เราจะถอยหลังกลับไปนั่งดูวีซีดีกันอีก
ถึงได้บอกว่าการฉายหนังโรงก็มีข้อดีของมัน คือทำให้หนังดูมีมูลค่าขึ้นมา ถ้าเราไม่ได้มาในทางนี้ จนป่านนี้เราเอาหนังสารคดีเพียวๆ ไปเสนอทีวี ใครจะนึกออกว่ามันคืออะไร แต่การที่อยู่ในโรงมันดูเป็นของมีมูลค่า พูดกันตรงๆ มีกลุ่มคนที่พูดถึงหรือนึกถึง จะเปิด VOD ก็นึกถึงว่า มีเซ็คชั่นสารคดี น่าลองนะ อะไรแบบนี้ เราเองก็มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น
สำหรับเรื่อง All Things Must Pass ถือว่ามีการใช้การโปรโมตใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะใช่ไหม เช่น ไปหาพนักงานที่เคยทำงานในร้าน Tower Records มาพูดคุยกัน
ใช่ๆ รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ เหมือนกับพอเรานึกถึง Tower เราก็อยากจะนึกถึงอะไรสักอย่างที่มันเกี่ยวข้องกับ Tower คือพอดีตัวหนังพูดเรื่องนี้ด้วย ตัวหนังมันคือผู้กำกับเขาไปสัมภาษณ์ รัส โซโลมอน ที่เป็นคนก่อตั้ง ทีนี้รัสก็บอกว่า คุณต้องเข้าใจว่าความสำเร็จจริงๆ มันไม่ใช่เขา แต่ความสำเร็จจริงๆ เป็นเพราะหลักการของเขา คือการรับคนเข้ามา คนที่มีใจรักดนตรี คือเขาแทบจะไม่เคยไปสนใจนโยบายของแต่ละสาขาเลยนะ เขามีแค่ภาพใหญ่ ๆ พนักงานจะทำอะไรทำไป ดังนั้นพนักงานมีส่วนมหาศาลในการทำให้แต่ละสาขาอยู่ได้ในแต่ละชุมชนของตัวเอง ฉะนั้นเขาก็ให้เครดิตว่า ช่วงรุ่งเรืองที่สุดของ Tower เกิดจากคนทำงานพวกนี้
ฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจ เพราะความทรงจำของเราต่อ Tower มันไม่ใช่แค่ชั้นเพลง มันคือคน เรารู้สึกว่าคนพวกนั้นคือเป็นคนที่แบบ…คุณขายเพลงจริงๆ คุณไม่ใช่พ่อค้าที่จ้างมาแล้วไม่รู้เรื่อง ถามอะไรก็ผิดๆ ถูกๆ เราก็เลยนึกถึงว่า ถ้าเราทำอะไรที่มันเป็นการย้อนนึกถึงร้าน ก็ต้องนึกถึงพนักงาน
แล้วพอประกาศไปก็ตลกดี เราคิดเล็กๆ เพราะไม่ได้รู้จักใคร ทีแรกคิดไว้ว่า ขอผู้จัดการสาขาสยามคนหนึ่งแล้วกัน ชวนมางานขำๆ แต่มีพนักงานมาบอก ต้องเชิญพนักงานขายสิ แล้วก็เริ่มมา ต้องเชิญคุณคนนี้ๆ มา เขาเป็น buyer เชิญคนนี้นะ จีน กษิดิศ ดาจิม ก็เป็นพนักงาน มากันเต็มเลย ต้องบอกว่า พวกเขาช่วยเราเยอะมาก ติดต่อประสานชักชวนกันมาร่วมงาน ซึ่งทำให้งานวันนั้นมันสนุกและซึ้งมาก เราทำเองไม่มีทางได้แบบนั้น
สายหนังกับผู้จัดจำหน่ายคืออะไร บางคนที่ไม่คุ้นอาจจะงง
ผู้จัดจำหน่ายคือ distributor เหมือนพ่อค้าคนกลาง ก็เอาหนังมา แล้วก็ถือสิทธิ์ไว้ สมมุติว่าคนทำหนังดีลกับ distributor ใหญ่ระดับโลก คนที่ถือ world rights หรือ international rights ก็ได้สิทธิ์ในประเทศไทยไป ก็เป็น distributor รายย่อยในประเทศไทย มีหน้าที่จัดจำหน่าย คือการกระจายจ่ายแจกหนังเรื่องนั้นออกไปสู่ช่องทางต่างๆ ตามที่สัญญาไว้ อันนี้คือหน้าที่ของ distributor ซึ่งก็จะมีแบบที่บอก พวก Warner อะไรต่างๆ คือสตูดิโอสร้างหนังก็สร้างไป บริษัทที่เป็น distributor ก็ทำหน้าที่เอาหนังพวกนั้นมาจัดฉาย เผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ก็มีแบบนี้ทั้งค่ายใหญ่ ค่ายย่อย ค่ายอิสระ
สายหนังคือระบบของหนังไทยมาแต่โบร่ำโบราณแล้ว เมื่อก่อนเวลาจะเอาหนังไปฉายในแต่ละภูมิภาค คนทำหนังบางทีก็ไปเอง หรือมีค่ายเล็กพาไป ในแต่ละภูมิภาคก็จะมีเจ้าถิ่น หมายความว่า ทางแถบอีสานก็มีคนที่ลงทุนทำโรงต่างๆ ดังนั้นพอเขาเป็นเจ้าของโรง เขาก็ทำหน้าที่เป็นสายหนังไปในตัว คือจะเอาหนังมาฉายแถวอีสานเหรอ อยากฉายโรงฉันเหรอ อาจจะมีหลายเจ้า ส่วนฉันมีเจ็ดโรงในสามจังหวัด อะไรแบบนี้ ก็เอามาให้พิจารณา แล้วเดี๋ยวจะเลือกให้ เรื่องนี้เอา เรื่องนี้ไม่เอา เรื่องนี้ไปฉายจังหวัดไหน
นึกออกไหม คือเขาไม่ใช่เจ้าของโรงอย่างเดียว แต่เป็นผู้เลือกหนังด้วย เขาจึงใช้คำว่าสายหนัง คือคนที่ดูในพื้นที่ต่างๆ สายหนังอีสาน สายหนังภาคเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก
ในแง่การติดต่อ ก็เหมือนกับเราไปคุยกับคนนี้คนเดียว แล้วเราก็ได้ฉายในโซนนั้นๆ แยกกันไปในแต่ละโซน อันนี้คือด้านธุรกิจปกติ แต่สิ่งที่เราได้ยินมานมนานก็คือ ธุรกิจมีการ conflict กัน แล้วสายหนังก็จะมีคำประเภทหนังขายสาย อย่างหนังแอ็คชั่นระเบิดภูเขาเผากระท่อมก็เป็นหนังขายสาย คือเป็นหนังที่กรุงเทพฯไม่ฉาย คือมีความรู้สึกว่าเป็นหนังภูธร เป็นหนังที่ทำขึ้นมาเพื่อฉายต่างจังหวัดเฉพาะอีสาน นี่คือระบบสายหนังที่มันเกิดขึ้น
ทีนี้พอระบบ Multiplex เข้ามา โรงมันไม่ได้อยู่แค่ในกรุงเทพฯ เริ่มขยายไปต่างจังหวัด ก็เป็นการประสานประโยชน์กัน สมมุติมีโรงเครือใหญ่ไปเปิดที่อีสาน โดยศักดิ์และสิทธิ์เขาคือเจ้าของโรงแล้ว เขามีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะเอาหนังเรื่องไหนไปฉายที่นั่น แต่ไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวมีปัญหากัน งั้นก็ยังใช้ระบบสายหนังอยู่
คือคนที่ดูสายอีสานก็อาจจะมีโรงของตัวเองเหลืออยู่สักโรงสองโรง ที่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ แต่โรงที่เคยยิ่งใหญ่มันตายไปหมดแล้ว เพราะ Multiplex เข้ามา หรือโดยอะไรก็ตาม คนเลิกดูหนังในโรงแบบนั้นแล้ว แต่ยังให้เป็นสายอีสานอยู่ หมายความว่า แม้ว่าหนังจะฉายโรงเครือใหญ่ในอีสาน ก็ต้องมาให้สายหนังคุย ก็เหมือนกับการพยายามประสานกันอยู่ แต่การประสานนี้มันก็มี conflict เพราะมันก็มีการหาทางค่อยๆ เบียดบี้ จะโดยวิธีใดก็ตามทั้งบนดินใต้ดิน เราจะเห็นว่า เริ่มมีการเขี่ยเจ้าเก่าทิ้ง เจ้าใหม่ยึดที่ จะมีแบบนี้อยู่ตลอด
สุดท้าย Amy ได้เอาไปฉายใช่ไหม
ได้ ตอนนั้นก็คือสายหนังนี่แหละ อันนั้นคุยไม่ยากเพราะว่าหนังมันก็โอเค ได้ประมาณหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงก็ได้ไม่เยอะหรอก เพราะว่ามันแปลกที่แปลกทางเหมือนกันนะไปอยู่ตรงนั้น
แล้วถ้าทางหอภาพยนตร์มีโครงการจะทำโรงหนังชุมชน แบบนี้พอมองเห็นอนาคตไหม
จริงๆ แล้วก็คิดว่าทำได้ ตราบใดที่คุณเป็นเจ้าของหนัง แต่อย่างโมเดลของหอภาพยนตร์ก็ไม่รู้ว่าเขาทำยังไง ถ้าสมมุติเขาอิงกับพื้นที่ที่สามารถซัพพอร์ตเขาได้ เช่น สมมุติว่าทำร่วมกับมหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่ฉายอะไรบางอย่าง หรือหน่วยงานองค์กรอะไรที่ซัพพอร์ตได้ในแง่นี้ คิดว่ามันเป็นโมเดลที่ดีจะตาย แล้วถ้าคุณเป็นเจ้าของหนัง แปลว่าคุณหลุดพ้นจากระบบนี้ไปเลย ถูกไหม ซึ่งเราก็ว่าหอภาพยนตร์เขาน่าจะทำแบบนั้น เขาคงไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อจะฉาย Batman อะไรแบบนี้ เขาก็ต้องทำขึ้นมาเพื่อฉายหนังของหอภาพยนตร์ หรือเขาจัดเทศกาลหนังสารคดีศาลายาแบบนี้ มันก็คือหนังที่เขาดีลมาเอง
คืออย่างที่เราทำตอนนี้ก็ยังพยายามทำให้มันมีอะไรประเภทนี้ขึ้นมาเลย คือตอนนี้ในเฟซบุ๊คมันมีเพจประเภท คนขอนแก่น คนหาดใหญ่ คนเชียงใหม่ ที่อยากให้เราเอาหนังไปฉาย น่ารักมากเลย แล้วเราก็ทำงานกับคนกลุ่มนี้ พวกนี้เขาก็เรียกร้องอยากให้เอาหนังไปฉาย ซึ่งเวลาที่เขาอยากให้หนังค่ายใหญ่ๆ ไปฉาย เขาก็ต้องไปคุยกับสายหนัง โรงหนัง ว่าจะได้ฉายหรือไม่ได้ฉาย เรื่องที่มันควรจะได้ไปเขาก็ผลักดันจนมันได้ไป เรื่องที่มันลำบากก็ไม่ได้ไป แต่พอเพจพวกนี้มาคุยกับเรา เราก็บอก เอาไปเลย (หัวเราะ) ฉายเลยๆ เพราะเราไม่ต้องขอใคร
จริงๆ เราก็คุยกันว่า ฉายแล้วแบ่งรายได้นะ แต่ตอนต้นยังไม่เอา เพราะว่าคุณฉายมีคนดูสิบคนยี่สิบคน คุณทำไปๆ จนวันหนึ่งคุณมีคนดู 300 คนแล้วเราค่อยคุยกันอีกทีก็ได้ ก็ทำไปก่อน ก็มีแบบนี้ขึ้นมาหลายจุด อย่างน้องที่ทำที่โคราช หรืออย่าง Filmsick ที่ทำอยู่ภูเก็ต มันดีจะตาย เราอยากให้มีแบบนี้เยอะๆ คือสุดท้ายแล้วไม่ต้องเป็นโรงหนังก็ได้ ในที่สุดคือคุณกำลังทำวัฒธรรมการดูหนังจริงๆ คือการดูหนังที่มีสภาพของการดูดีพอสมควร ไม่ต้องอลังเกินเหตุ
ประเด็นคือดูหนังที่ดีๆ ด้วยกัน ดูเสร็จแล้วคุณพูดคุยกัน นี่สิวัฒนธรรมการดูหนัง
คิดว่าเราจะสร้างวัฒนธรรมการดูหนังได้อย่างไร
ตอบได้จะไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว (หัวเราะ) คือเวลาเรามองดูประเทศอื่นแบบ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี… เกาหลีใต้นี่ก็เห็นศึกษากันจังเลย หนังสารคดีที่เกาหลีใต้ทำเงินอันดับหนึ่งบนบ็อกซ์ออฟฟิศหลายเรื่องมากเลยนะ แล้วหนังที่ขึ้นอันดับหนึ่งบ็อกซ์ออฟฟิศบางทีก็ไม่ใช่หนังใหญ่ ไม่ใช่หนังเต็งเสมอไป
เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ต้องใช้องค์ประกอบอะไรบ้างในการสร้างขึ้นมา เพียงแต่ว่าผลที่เห็นคือ จริงๆ มันไม่ใช่เฉพาะหนัง แต่ทั้งเพลง หรืออะไรที่เป็นงานศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง เพียงแต่คนจะรู้สึกว่านี่มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของเขา คือไม่ใช่ดูเพื่อแบบจรรโลงอะไรลึกซึ้ง แต่มันเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน
มีคนบอกว่าในฝรั่งเศสมีโรงหนังที่มันไม่ใช่โรงหนังเครือใหญ่ผูกขาด แล้วฉายหนังไม่หมือนกันเลยแล้วคนทำหนังก็แฮปปี้ หนังตัวเองเป็นหนังอิสระที่ฉายอยู่ไม่กี่โรง แต่ฉายนาน คนมาถึงเมื่อไหร่ก็ได้ดู รายได้ไม่ได้เยอะ แต่ไม่ขาดทุนเพราะรัฐบาลสนับสนุน มันมีองค์ประกอบที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้มันดำเนินต่อไปแล้วทุกคนพอใจกับโมเดลนี้ ไม่ใช่ทุกคนเรียกร้องหาหนังใหญ่ที่จะทำเงินมหาศาล หนังเล็กเขี่ยทิ้ง มันไม่มีโมเดลแบบนั้นเกิดขึ้น
พอเราเห็นผลที่เกิดกับประเทศพวกนี้ เราจะรู้สึกว่าการบริโภคสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตของเขา ออกไปกับเพื่อน หลังกินข้าวก็ไปดูหนัง หนังอะไรก็ได้ หนังดีๆ ที่อยู่ในโรงก็ดูได้หมด หนังใหญ่มาก็ดู มีแต่หนังไม่ใหญ่ก็ดู คือเรารู้สึกว่าแค่ความรู้สึกแบบนี้เรายังสร้างไม่ได้เลย
คือเหล่านี้ทำไมมันถึงสร้างไม่ได้ แล้วไม่ใช่แค่หนัง แต่ศิลปะอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราเลย คืออย่างสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็มีความพยายามทำอะไรพวกนี้ ทำ creative economy ที่เอาคุณอภิรักษ์ (โกษะโยธิน) มาดู แล้วเราเคยไปสัมภาษณ์เขา เพราะตอนนั้นก็สนใจว่ามีทำแบบนี้ในประเทศไทยด้วย คือมันกำลังเป็นสิ่งที่ฮิตในเมืองนอก เราก็แบบ หูย น่าสนใจๆ เราก็ไปสัมภาษณ์ เขาก็ยังพูดถึงเกาหลีใต้เลย คือรัฐบาลไทยนี่อะไรก็เกาหลีใต้ (หัวเราะ) พูดถึงวงการหนังก็ไม่รู้จักอะไรนอกจากเกาหลีใต้
แต่แม้กระนั้นคุณส่งคนไปศึกษาดูงานแล้ว คุณก็ยังถอดองค์ประกอบของเขามาไม่ได้เลย คือเกาหลีใต้ จริงๆ ประกอบด้วยอะไรหลายอย่างมากเลย แต่เอาแค่อย่างเดียวเลย คือตั้งหน่วยงานที่ชื่อ Korean Film Council (ก่อตั้งปี 1973) ทำหน้าที่เหมือนองค์กรอิสระด้านภาพยนตร์ คล้ายๆ สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ แต่ไม่ได้อยู่ใต้นโยบายรัฐ เหมือนกับขึ้นตรงกับผู้นำคนเดียว เหมือนองค์กรอิสระสมัยคุณทักษิณ ซึ่งคุณรับวิชั่นที่วางมายาวๆ ว่าจะต้องทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นอุตสาหกรรมสร้างรายได้ของประเทศ
พอมีวิชั่นอันนี้ก็จะมีคำถามว่าต้องทำอะไรบ้าง คุณก็จะต้องขยายพื้นที่ฉายหนังหลายๆ แบบ ต้องมีทุนให้คนทำหนังหลายๆ แบบ คุณต้องทำเทศกาลหนังที่มีหนังหลายๆ แบบ และคุณต้องให้ทุนคนทำหนังประเทศอื่นๆ เพื่อที่คุณจะได้วางตัวเป็นเจ้าพ่อแถวนี้ คุณต้องไปเปิดตลาดหนังในต่างประเทศ เอาหนังเกาหลีออกไป คุณต้องเผยแพร่นักร้องเกาหลีออกไป อาหารเกาหลีออกไป เพราะนี่คือการใช้อุตสาหกรรมบันเทิงในการสร้างรายได้
เอาแค่นี้ คือแค่มีความคิดว่าอุตสากรรมหนังจะเป็นแหล่งรายได้ของประเทศได้ยังไงนั้น รัฐบาลไทยก็ยังตอบไม่ได้เลย ทุกวันนี้พูดเรื่องนี้ก็ยังคิดแต่เรื่องว่าประเทศไทยเป็นโลเคชั่นให้ใครเข้ามาถ่ายหนังบ้าง เวลาทำโบรชัวร์จะพีอาร์ตัวเองในเมืองคานส์ ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องแบบนี้ โลเคชั่นที่นู่นที่นี่มีหนังใครมาถ่ายบ้าง เรามี hub เรามีแล็บเสียงที่ดีที่สุด ก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องแบบนี้ ซึ่งมันก็ดี แต่ไม่เห็นมิติอื่นเลยหรือ คือทำงานเหมือนสมัยตั้งโรงงานประกอบรถยนต์เลยใช่ไหม คือมองตัวเองเป็นแหล่งแรงงานอยู่ตลอดเวลา
ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องโรงหนังผูกขาด อย่างที่คุณกรรณิการ์ (กิจติเวชกุล) พูดถึงบ่อยเรื่องกฎหมายการค้าผูกขาด ปกติถ้าทำแบบนี้ (บังคับให้ผู้จัดจำหน่ายรายย่อยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์) ก็ต้องถูกตรวจสอบแล้ว แต่ก็ไม่มีคนดูแล เราพูดก็โดนด่าอีก
วันก่อนไปคุยกับคนทำหนัง ก็มีคนพูดว่า พูดทำไม เราไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก คือเริ่มต้นแบบนี้มาก็จบเลย แล้วจะปล่อยให้ทำไปแบบนี้เหรอ…มันน่าเศร้านะ
ตอนนี้ก็ยังต้องอึดอยู่ต่อไป?
ตอนนี้มันอึดในแง่แบบทำจนเป็นรูทีนแล้วไง (หัวเราะ) เดือนนี้ก็ต้องมีหนังเข้าอีกแล้วเหรอ ขอพักหน่อยได้ไหม (หัวเราะ)
แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก คือขออย่าให้มันเจ๊งต่อเนื่องเจ็ดแปดเรื่องก็แล้วกัน อย่างนั้นน่ะจะเริ่มคิดว่านี่เราทำทำไม แต่ตอนนี้ทำแล้วได้บ้างไม่ได้บ้าง เรื่องที่ได้ก็ cover เรื่องที่ไม่ได้ ก็โอเคนะก็ยังไหวอยู่ สนุกดี
เอาเข้าจริงๆ รู้สึกว่าการฉายเดือนละเรื่องมันน้อยไปด้วยซ้ำ ถ้าพูดถึงสิ่งที่ควรจะทำจริงๆ เพราะระหว่างที่เราวางแผนไปอีกห้าเดือน แต่สัปดาห์นี้ได้ข่าวหนังสารคดีน่าดูมาใหม่อีกแปดเรื่อง เราจะทำยังไงกับมัน ในความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้เลยนะ ค่ายหนังทั่วๆ ไปเขาถึงฉายกันหูดับตับไหม้เลย
เคยคิดจะทำโรงหนังแล้วจัดฉายเองเลยไหม
ก็เป็นความสนใจนะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย โอเค ทุนก็เรื่องหนึ่ง ต่อให้มีผู้มีจิตศรัทธาระดมกันมา แล้วจะโลเคชั่นไหน คือมันมีสิ่งจุกจิกที่จะทำ ถ้าจะทำจริงๆ ก็ต้องทำจริงๆ เลย แต่ว่ายังไม่มีสติมากพอจะทำ
เห็นว่ามีไปดูที่ทางมาบ้าง?
ก็มี ผ่านไปแถวไหนก็ดูไปเรื่อยๆ แต่ความจริงคือไม่ได้อยากทำโรงหนัง อยากทำ space ที่ทำได้หลายๆ อย่าง แล้วการฉายหนังเป็นส่วนหนึ่งในนั้น
ถ้าจะทำ space ที่ว่านี้ ชั่งน้ำหนักระหว่างศิลปะกับธุรกิจอย่างไร
จริงๆ ต้องยอมรับว่ามันคือธุรกิจนั่นแหละ เพราะว่าเราทำมาโดยที่แบบ โอ้…เพื่อจรรโลงศิลปะ แล้วต้องติดหนี้เดือนละ 80,000 แบบนั้นจะทำทำไม (หัวเราะ)
คือเวลาคิด หรือแม้แต่ทำ Doc Club ก็คิดบนโจทย์นี้ก่อนเลย ว่าเรากำลังทำธุรกิจ คืออย่าปฏิเสธว่าธุรกิจเป็นด้านมืดอะไรแบบนั้น ยอมรับเถอะว่าสิ่งที่เราทำมันมีต้นทุน และมันต้องมีรายได้ และมันควรจะมีกำไรเพื่อให้อยู่ไปได้
ประเด็นคือว่า มุมมองของเราต่อต้นทุนและรายได้อยู่ตรงไหน คือมันต้องเท่าไหร่ เราต้องลงทุนมหาศาลแค่ไหน เราต้องบีบคั้นตัวเองว่าให้มีรายได้เท่าไหร่ เราต้องการกำไรขนาดไหน ถ้าชัดเจนว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วเป้าหมายของเราคือทำสิ่งที่อยากทำ คือทำสิ่งที่เป็นศิลปะให้มันอยู่รอดแบบธุรกิจ ถ้ามองเห็นสองด้านพร้อมๆ กัน ก็จะรู้ว่าบาลานซ์อยู่ตรงไหนและตัวเราเองรับได้หรือเปล่า
เราทำ Doc Club ก็รู้อยู่แล้วว่าลงทุนน้อยๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่ารายได้ประมาณไหน กำไรควรจะมี เพราะมันควรจะเลี้ยงชีวิตเราได้ประมาณหนึ่ง แล้วมันควรจะมีเงินหมุนแบบไม่ต้องทุกข์ คือทำแล้วโอเคในระดับหนึ่ง แต่เราก็คิดว่าเป้าหมายของเราไม่ใช่หนังทุกเรื่องต้องได้เงินเยอะมหาศาล ทำทุกทางเพื่อให้ได้เงิน คงไม่ใช่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าธรรมชาติของการฉายหนังสารคดีมันออกมาประมาณไหน
ดังนั้นก็จะรู้สึกว่า ก็ทำให้มันอยู่ได้ เรื่องที่มันป๊อปก็ควรจะทำให้มันได้ และมันก็ควรจะกำไรเยอะๆ จากเรื่องป๊อปๆ เพื่อที่ว่า พอมีเรื่องที่ไม่ป๊อป แล้วเราคิดว่ามันควรฉาย แล้วไม่ได้เงิน เราจะได้ไม่ต้องเครียดกับมัน ในที่สุดมันก็บาลานซ์ด้วยว่าเราเป็นคนแบบไหน และเรากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าเรารู้ มันก็จะบาลานซ์ของมันไปเอง