เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 การเลือกตั้ง นายกองค์การนักศึกษา อุปนายกองค์การนักศึกษา สมาชิกสภานักศึกษาและคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลปรากฏเป็นเอกฉันท์แล้วว่า พรรคโดมปฏิวัติ หนึ่งในพรรคที่ลงเลือกตั้งได้ชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาด้วยคะแนนเสียง 4,535 คะแนน ซึ่งมากกว่าพรรครองลงมาที่ได้คะแนน 2,713 และ 2,190 ตามลำดับ
ด้วยการแสดงออกของพรรคที่ชัดเจน และกล้าชนกับฝ่ายผู้มีอำนาจ เช่นการหยิบยกสิ่งที่น่าพิศวงภายในรั้วมหาวิทยาลัยมาใช้หาเสียง “ตอนหาเสียง พรรคเอาเอกสารที่เป็นงบประมาณการจัดทำท่ารถตู้มาแฉ” เสียงบอกเล่าจากเด็กเหลืองแดงคนหนึ่ง หรือจะเป็นการเรียกร้องถึงสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมสถาบัน อาทิ กิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง 112 นาที’ ที่จัดขึ้นในวันที่ 3 ของกิจกรรม บริเวณประตูเชียงราก 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต หรือแคมเปญ ‘ราชอยุติธรรม’ ที่ให้นักศึกษาร่วมลงชื่อเพื่อยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อยุติ ‘ราชอยุติธรรม’ ของกระบวนการยุติธรรมในคดีทางการเมือง
จากตัวอย่างเหล่านี้ถือเป็นจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคโดมปฏิวัติที่ทำให้โดนใจนักศึกษาหลายคน จนนักศึกษาส่วนใหญ่ลงคะแนนเลือกพรรคดังกล่าวขึ้นมาเป็นตัวแทนของคนในมหาวิทยาลัย
เลือกตั้งในสถานศึกษา กับนัยทางการเมืองระดับชาติ
แน่นอนว่าหนึ่งในผู้ปราศรัยคนสำคัญของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่สวมหมวกหัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติด้วยในขณะเดียวกัน อย่าง รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล คือเหตุผลหนึ่งของชัยชนะในการเลือกตั้ง
เมื่อการเลือกตั้งดังกล่าวไปไกลเกินรั้วสถานศึกษา ในช่วงของการหาเสียงนั้นได้คล้องเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง
“เลือกพรรคโดมปฏิวัติ เบอร์ 1
เลือกตั้งวันที่ 29 เมษายน 2564
อยากให้ทุกคนออกไปใช้สิทธิใช้เสียง
อย่าให้เสียสิทธิ
ถ้าได้ออกไป
จะตั้งใจทำงานในฐานะหัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติเพื่อเป็นตัวแทนและแก้ปัญหาของนักศึกษาอย่างเต็มที่ดังเช่นที่เคยเป็นมา”
รุ้ง ปนัสยา
ทัณฑสถานหญิงกลาง กทม.
(โพสต์โดยพี่สาวรุ้ง ผ่านเพจพรรคโดมปฏิวัติ)
โพสต์ดังกล่าวของรุ้งทำให้เชอรี่ (นามสมมุติ) นักศึกษาปี 3 รู้สึกว่า เธอจะไม่ออกไปเลือกตั้งไม่ได้แล้ว เมื่อเพื่อน พี่น้องร่วมสถาบันต้องเรียกร้องให้คนมาใช้สิทธิใช้เสียง ขณะที่ตัวรุ้งเองยังถูกจำกัดเสรีภาพอยู่ในทัณฑสถาน
ประกอบกับความคิดเห็นของ ชิน (นามสมมุติ) นักศึกษาปี 4 ที่มองว่า การเลือกตั้งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ และสิทธิของนักศึกษาเอง ซึ่งเหมือนการเลือกตั้งระดับประเทศ ที่ถือเป็นหน้าที่ของพลเมือง
นอกจากนี้การเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยยังเชื่อมโยงและสื่อให้เห็นถึงการแสดงตัวทางการเมืองของสถานศึกษาอีกด้วย
“มันแสดงให้เห็นถึงความท้าทายของการแสดงจุดยืน การมีกระดูกสันหลัง มหาวิทยาลัยควรจะเป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพของคนในมหาวิทยาลัยเอง รวมไปถึงการดัดนิสัยให้เลิกอยู่เป็นด้วยกระมังครับ”
“ถ้ามหา’ลัยสอนให้รักประชาชน แต่เมื่อนักศึกษาซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งกำลังไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม มหา’ลัยกลับนิ่งเฉย และปล่อยให้ประชาชนคนนั้นถูกทอดทิ้งจากสถาบันที่ตนศึกษา แบบนี้แล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะกล้าสอนให้เรารักประชาชนได้อย่างไร ขนาดผู้บริหารยังไม่รักลูกศิษย์ตัวเองเลย”
ข้างต้นคือเสียงจากบูธ (นามสมมุติ) และชิน ต่อคำถามถึงความคิดเห็นว่าชัยชนะของพรรคโดมปฏิวัติสะท้อนภาพใดของสถานการณ์บ้านเมือง
ทั้งคู่มองเห็นตรงกันว่าการที่พรรคโดมปฏิวัติชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นเพราะนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าส่วนใหญ่มีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกับหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค ที่พวกเขาหลายคนต่างเข้าร่วมเคลื่อนไหวในการชุมนุมทางการเมืองระดับชาติ ถึงแม้จะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับการแสดงออกทางการเมืองของตัวมหาวิทยาลัย นั่นจึงชี้ให้เห็นว่าเสียงของนักศึกษาส่วนใหญ่มีแนวคิดทางการเมืองเช่นไร ซึ่งนั่นหมายถึงการรองรับกับข้อเรียกร้องของประชาชน ที่สุดท้ายต่างเชื่อมโยงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของนักศึกษาอย่างพวกเขา
ไม่ใช่แค่ที่ มธ. แต่การเลือกตั้งจะไม่อยู่แค่ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป
“ไม่ใช่แค่ที่ธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นเองก็มีการแสดงออกทางการเมืองที่มากขึ้น จากการสังเกตการณ์ของ กกต. นั้น พบว่าหลายพรรคพูดถึงจุดยืนทางการเมืองของตนเองนอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วยเช่นเดียวกัน”
ธนโชต โสตเนียม ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กกต. มธ.) กล่าวถึงบรรยากาศการหาเสียงและการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ใช้ระบบออนไลน์และนำการเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษากับการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษามาเป็นครั้งเดียวกัน
“ความต้องการในการเลือกตั้งแต่ละครั้งของนักศึกษาไม่เหมือนกัน หากเป็นสมัยก่อนนักศึกษาอาจจะต้องการผู้แทนที่จะมาดูแลเรื่องสิทธิ หรือสวัสดิการต่างๆ แต่สมัยนี้พวกเขากำลังต้องการผู้ที่จะนำเสียงของพวกเขาส่งออกไปยังภายนอก”
ธนโชตตอบอย่างมั่นใจเมื่อถูกถามถึงกระแสบรรยากาศการตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษาที่ออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมากกว่าที่เคยมีมาในรอบหลายปี หนึ่งในปัจจัยที่ธนโชตมองว่าเป็นส่วนสำคัญ คือการที่เหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงระยะหลังมานี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นักศึกษาออกมามีส่วนร่วมครั้งสำคัญนอกรั้วมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่สมัยยุคคนเดือนตุลาฯ และพรรคการเมืองภายในมหาวิทยาลัยแต่ละพรรคก็เป็นช่องทางประหนึ่งสะพานเชื่อมส่งต่อความต้องการในการแก้ไขสภาพสังคมออกไปสู่โลกภายนอกได้ ธนโชตยังได้เสริมอีกว่า “การที่นักศึกษาต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาทางสังคมภายนอกนั้น พวกเขาทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ และการเลือกผู้แทนในการเลือกตั้งระดับมหาวิทยาลัย จึงเป็นหนึ่งในวิธีพัฒนากระบวนการทางประชาธิปไตยของสังคมไทยช่องทางหนึ่ง”
การออกมาลงคะแนนเสียงกันอย่างล้นหลามในการเลือกตั้งครั้งนี้ เขายังมองอีกด้วยว่าเป็นการแสดงออกถึงปัจจัยสำคัญในการพัฒนาบรรยากาศของการเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากธนโชตมองว่า หนึ่งในสิ่งที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมนั้นคือการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาในการเลือกตั้งระดับมหาวิทยาลัยไปจนถึงประชาชนในการเลือกตั้งระดับชาติ เนื่องจากผู้แทนแต่ละพรรคจะมีความชอบธรรมมากขึ้นตามคะแนนเสียงที่พวกเขาได้รับ และผู้นำทางการเมืองหรือพรรคแต่ละพรรคนั้นก็ยิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้ที่มาเลือกตนนั้นเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถทำตามเป้าหมายที่ตนเองพูดเอาไว้ได้ กระบวนการเหล่านี้จะเป็นฐานรากสำคัญฐานหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยที่ดี
“อยากให้ทุกคนมองว่านักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยต้องการพื้นที่ในการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพกันทั้งนั้น”
เพื่อนเพนกวินจากแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ
— ชิมมี่วองก้ายอดนักฉอด #ปล่อยเพื่อนเรา (@ChimmyWongka) April 30, 2021
ร่วมโกนหัวประท้วงเป็นเพื่อนแม่สุ(แม่กวิ้น) #saveเพนกวิน #ผนงรจตกม pic.twitter.com/ClBNzuR04H
ปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นต่อหมู่เยาวชนนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศในขณะนี้นั้น คือการถูกมองว่าพวกเขา ‘ก้าวร้าว’ และ ‘ไม่ประสาทางการเมืองมากพอ’ จนทำให้เกิดการลดทอนเสียงของพวกเขา ซึ่งทางธนโชตในฐานะที่ตนเองได้สังเกตการณ์และคอยดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้ในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น กล่าวต่อลักษณะดังกล่าวว่า ทุกคนในสังคมกำลังต้องการพื้นที่ในการแสดงออก และวิธีการสื่อสารหรือการแสดงออกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งส่วนตัวเขาเชื่อว่าคนทุกคนสามารถคิดได้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดีกับตนเอง
“ดังนั้นการเมืองของคนรุ่นใหม่จึงไม่ใช่ความไม่ประสาทางการเมือง แต่ทุกคนควรมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกอย่างอิสระ ตราบใดที่มันยังไม่ได้ไปทำลายเสรีภาพของผู้อื่น”