ประจักษ์ ก้องกีรติ พลวัตการเลือกตั้งในอาเซียน

หากเราเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปีหน้า และการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้จะเป็นโจทย์ยากที่สุดของพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่

ก่อนจะถึงวันนั้น ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ พาเราไปสำรวจตรวจสอบปริมณฑลของการเลือกตั้งจากสามประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในอาเซียนเพื่อตั้งคำถามต่อ ‘ผลของการเลือกตั้ง’ ผ่านโครงการวิจัยในเรื่อง พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยในอาเซียน ศึกษาเปรียบเทียบ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

“ตอนนี้การศึกษาเรื่องการเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีสมมุติฐานใหม่ เรากำลังจะได้เป็นประจักษ์พยานของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และอาจจะยิ่งมีพลวัตสูงขึ้นในอนาคตด้วยซ้ำ เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่พื้นที่ที่ชนชั้นไหนจะผูกขาดอำนาจได้ง่ายๆ อีกต่อไป”

เบื้องต้น โครงการวิจัยนี้ประจักษ์บอกเล่าว่า ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในชุดโครงการจับตาอาเซียน (Asean Watch) ซึ่ง รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ได้ชักชวนให้ประจักษ์มาทำการศึกษาเรื่องพลวัตการเลือกตั้งตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน

“เพราะว่าเราเห็นตรงกันว่าในอาเซียนมีพลวัตทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นพลวัตที่เกิดขึ้นผ่านสถาบันที่เรียกว่ากระบวนการเลือกตั้ง จากที่คนคิดว่ามันจะหยุดนิ่ง มันไม่ได้หยุดนิ่งอีกต่อไป”

โดยประจักษ์บอกเล่าว่า ตอนเริ่มต้นงานวิจัยยังพอมองเห็นทิศทางของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ผลการเลือกตั้งในมาเลเซียที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่างานวิจัยนี้มาถูกทาง เพราะเป็นสิ่งยืนยันว่ามีการเกิดพลวัตทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งขึ้นจริง

พื่นที่ที่ถูกครอบงำ

“เดิมการศึกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสมมุติฐานและคำอธิบายอยู่ เป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับทั่วไป แม้กระทั่งในงานคลาสสิคของ อาจารย์เบนเนดิค แอนเดอร์สันในปี 1996 ก็คือว่า เวลามองไปที่สถาบันและกระบวนการเลือกตั้ง นักวิชาการเห็นตรงกันว่ามันเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกควบคุมโดยชนชั้นนำ ฉะนั้นมันไม่ได้เป็นพื้นที่หรือกระบวนการที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมเสียมากกว่าในการสืบทอดอำนาจของชนชั้นกลุ่มเดิม

“ฉะนั้นเราเห็นว่าความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในมาเลเซีย ในสิงคโปร์ ในอินโดนีเซีย ในฟิลิปปินส์ เลือกตั้งแต่ละครั้งก็พอจะคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าผู้นำคนไหนจะชนะ กลุ่มตระกูลการเมืองไหนจะชนะ การเลือกตั้งจึงไม่ค่อยมีพลวัต และค่อนข้างนิ่ง”

ประจักษ์วาดภาพรวมให้พอมองเห็นตำแหน่งแห่งที่ของการเลือกตั้งที่มีลักษณะร่วมกันของอาเซียน ก่อนจะเริ่มลงรายละเอียดในแต่ละประเทศที่ทำการวิจัย

“ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ตัวการเลือกตั้งที่กลายเป็นสถาบันทางการเมืองไม่มีพิษมีภัย และเป็นสถาบันทางการเมืองที่ชนชั้นนำควบคุมได้อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันอย่างสูง มีพลวัต และกระทั่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

“ตอนนี้การศึกษาเรื่องการเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีสมมุติฐานใหม่ เรากำลังจะได้เป็นประจักษ์พยานของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และอาจจะยิ่งมีพลวัตสูงขึ้นในอนาคตด้วยซ้ำ เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่พื้นที่ที่ชนชั้นไหนจะผูกขาดอำนาจได้ง่ายๆ อีกต่อไป”

การศึกษาเปรียบเทียบ ประจักษ์บอกว่ามีประเด็นศึกษาอยู่สี่ประเด็นหลักๆ คือ

  1. ดูระบบเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองในแต่ละประเทศ เพราะก่อนจะเข้าใจพลวัต จะต้องเข้าใจความแตกต่างของระบบเลือกตั้งในแต่ละประเทศก่อน และนำไปสู่รูปแบบการหาเสียงอย่างไร
  2. เงื่อนไขของสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงอัตลักษณ์ทางสังคมว่าเข้ามามีผลต่อการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง เช่น กรณีมาเลเซีย และอินโดนีเซีย อัตลักษณ์ทางศาสนาและเชื้อชาติมีผลอย่างไรบ้าง ขณะที่ในกรณีฟิลิปปินส์ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำมีบทบาทอย่างสูงต่อการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง
  3. พิจารณาธนกิจการเมือง Money Politic หรือบทบาทของเงินในการเลือกตั้ง และในการอุปถัมภ์
  4. บทบาทของสื่อว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง เพราะจะไม่มีทางทำความเข้าใจการศึกษาและการสังเกตพลวัตที่เกิดขึ้นได้เลย หากไม่ทำความเข้าใจบทบาทของสื่อที่มีต่อการเลือกตั้ง เช่น สื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก

พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ก่อนได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี โจโก วีโดโด หรือ โจโควี นั้นเป็นแค่นักการเมืองท้องถิ่น เป็นคนที่อยู่นอกแวดวงชนชั้นนำ อีกทั้งยังประกอบธุรกิจค้าเฟอร์นิเจอร์ จัดว่าเป็นธุรกิจในระดับกลางเท่านั้น ทว่าสามารถกำชัยชนะจนเป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย คำถามตั้งต้นสำคัญของประจักษ์ต่อผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 คือ อะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของประเทศได้

“ก่อนหน้านั้นคนที่จะเป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ไม่มาจากนายพลก็มาจากชนชั้นข้าราชการ หรือมาจากตระกูลการเมืองเก่าทั้งสิ้น ฉะนั้นโจโควีถือว่าเป็นคนนอกแวดวงการเมืองอินโดนีเซีย ซึ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่น่าสนใจ”

ก่อนจะอธิบายต่อว่าทำไมโจโควีจึงชนะการเลือกตั้งทั้งที่เป็นคนนอกแวดวงชนชั้นการเมือง ประจักษ์ชวนย้อนดูการเลือกตั้งในประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2016 และผู้สมัครที่เรียกว่า ‘ม้ามืด’ เพราะเป็นผู้สมัครที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคนสุดท้าย แต่กลับได้เลือกด้วยคะแนนท่วมท้น โดยไม่มีคอการเมืองเชื่อเลยว่า โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต จะชนะการเลือกตั้ง เพราะดูแตร์เตเองก็มาจากนอกแวดวงทางการเมืองไม่ต่างจากโจโควีเช่นกัน แม้จะเคยเป็นนักการเมือง เป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา ที่ประสบความสำเร็จจากนโยบายปราบปรามอาชญากรรมอันรุนแรงจนได้รับฉายา ‘ผู้ลงทัณฑ์’ แต่ก็ยังถือว่าเป็นแค่นักการเมืองท้องถิ่นเท่านั้น

ดูแตร์เตนับเป็นคนที่อยู่นอกแวดวงทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ใช้ภาษา-อย่างที่หลายคนทราบ แหวกแนว กระทั่งหยาบคาย มีประวัติทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน ใช้มาตรการเด็ดขาดในการจัดการผู้ค้ายาเสพติด แต่ในที่สุดเขาชนะการเลือกตั้งมาได้ และเป็นการชนะการเลือกตั้งที่ถล่มทลายด้วย คือชนะขาด จนถึงปัจจุบันเขาก็ยังได้รับความนิยมสูงมาก แม้จะมีปัญหาอื้อฉาวมากมาย เป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้นำของเราดูค่อนข้างจืดไป

ดังนั้นประจักษ์จึงตั้งคำถามว่า คนอย่างดูแตร์เตและโจโควีถึงชนะการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร

เช่นเดียวกันในกรณีของมาเลเซียกับชัยชนะของ มหาธีร์ โมฮัมหมัด ที่สื่อหลายสำนักยกให้เป็นการชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ทว่าหากไปดูพื้นที่มาเลเซีย หรือติดตามการเมืองมาเลเซียมาตลอดจะรู้ว่าที่จริงแล้วผลการเลือกตั้งไม่ได้พลิกล็อคชนิดถล่มทลายอย่างที่กล่าวกัน เนื่องจากมีการคาดกันอยู่แล้วในสื่อท้องถิ่นและหมู่นักสังเกตการณ์การเลือกตั้งมาเลเซีย ว่าพรรคฝ่ายค้านมีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้ง

ความเปลี่ยนแปลงของพลวัตการเลือกตั้งในสามประเทศที่ว่านี้ นำไปสู่การทำวิจัยเพื่อตอบคำถามและเพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลง โดยประจักษ์บอกว่า ถ้าจะเข้าใจทั้งสามประเทศจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เช่น กรณีของอินโดนีเซียเป็นการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังจากระบอบซูฮาร์โตล้มลงในปี 1998 หลังจากนั้นจึงลงหลักปักฐานระบอบประชาธิปไตยจนประสบผลสำเร็จกลายเป็น role model ของระบอบประชาธิปไตยในอาเซียน

อุปลักษณ์สามประเทศ / สามการเลือกตั้ง

ภายหลังระบอบซูฮาร์โตล้มลง อินโดนีเซียผ่านการเลือกตั้งมาแล้วสี่ครั้ง คือในปี 1999, 2004, 2009 และในปี 2014 ที่โจโควีได้รับชัยชนะ และจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งในปีหน้า โดยด้านการเลือกตั้ง ประจักษ์มองว่าการเลือกตั้งในอินโดนีเซียมีพลวัตทางการแข่งขันที่สูงมากเมื่อเทียบกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพราะตลอดการเลือกตั้งทั้งสี่ครั้งที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่ครองเสียงได้อย่างต่อเนื่องเพียงพรรคเดียว

การเปลี่ยนแปลงทางพลวัตที่สำคัญคือการเปลี่ยนมาใช้ระบบการเลือกตั้งทางตรงในปี 2004 นอกจากนั้นในปี 2005 ยังให้มีการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นโดยตรงในทุกระดับ

“ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนะครับ การกระจายอำนาจ ถ้าไม่มีตรงนี้ คนอย่างโจโควีก็ไม่มีทางขึ้นมาได้ เขาโตมาจากช่องทางที่มันเปิดให้ในการเมืองท้องถิ่น ที่สำคัญอินโดฯ หลายท่านอาจไม่ทราบ มีความก้าวหน้ามากในเรื่องเพศ คือมีกฎหมายระบุไว้เลยว่าแต่ละพรรคจะต้องจัดสรรโควต้าในบัญชีผู้สมัครให้มีผู้สมัครที่เป็นเพศหญิง สัดส่วนถึง 1 ใน 3 สมมติบัญชีมี 100 คน ต้องมีเพศหญิง 33 คน เป็นมิติที่น่าสนใจ ที่สำคัญก็คือว่าในการแก้รัฐธรรมนูญแต่ละครั้งทำผ่านรัฐสภา การแก้กฎหมายต่างๆ มาจากความเห็นชอบของพรรคการเมืองต่างๆ ในแง่นี้มันทำให้ประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพเพราะในกติกาที่แข่งขันกันมันเกิดขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพรรคต่างๆ”

ดังนั้น ในมุมของประจักษ์ อินโดนีเซียจึงนับได้ว่าเป็นประเทศที่จัดการเลือกตั้งได้อย่างสงบราบรื่นเมื่อเทียบกับขนาดของประเทศที่เป็นหมู่เกาะ มีความหลากหลายสูง และยังเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในด้านประชากร แต่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสงบมาก แตกต่างจากมาเลเซียที่ยังมีปัญหาเรื่องการประท้วง การข่มขู่ต่างๆ ขณะที่ฟิลิปปินส์มีปัญหาเรื่องความรุนแรงค่อนข้างมาก

แม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็ยังได้รับคะแนนความเชื่อถือจากประชาชนในฐานะหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมาในอันดับ 2 หรือ 3 มาโดยตลอด

สำหรับระบบเลือกตั้ง อินโดนีเซียใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งประจักษ์มองว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้น สืบเนื่องจากธรรมชาติของระบบปาร์ตี้ลิสต์จะทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคเป็นระบบที่เหมาะสมที่สุด สะท้อนเสียงของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองเท่านั้น

นอกจากนี้ ในปี 2009 อินโดนีเซียยังมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจาก close list มาเป็น open list หรือระบบบัญชีเปิด โดยผลของการเปลี่ยนแปลงนี้นำมาสู่การแข่งขันกันเองในหมู่สมัครพรรคเดียวกันสูง ทำให้เสถียรภาพในพรรคอ่อนแอ นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการซื้อเสียงมากขึ้นเนื่องจากการแข่งขันเอง กลายเป็นการแข่งขันที่เน้นตัวบุคคลมากกว่านโบบาย

ประจักษ์อธิบายว่าแม้ระบบ open list จะมีข้ออ่อนในส่วนของการแข่งขันกันเอง แต่ก็ทำให้เกิดความไม่แตกต่างในทางอุดมการณ์ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปในทศวรรษ 1950 อุดมการณ์การเมืองวางอยู่บนฐานการแบ่งแยกทางสังคม ขณะที่ในปัจจุบันมุ่งเน้นอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม มุ่งเน้นการเอาใจมวลชน

กระนั้น แม้อินโดนีเซียจะมีความเข้มแข็งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาก แต่การที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีชุดนโยบายคล้ายคลึงกัน ทำให้ไม่เห็นความแตกต่าง นำมาสู่การจัดตั้งหัวคะแนนผ่านเครือข่ายเครือญาติ ส่งผลให้เกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา นำไปสู่ธนกิจทางการเมือง ซึ่งมุมของประจักษ์ เงินจึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการรับประกันชัยชนะอีกต่อไป

ประจักษ์กล่าวต่อว่าเมื่อเทียบกับอีกสองประเทศ มาเลเซียเป็นประเทศที่ระบบการเลือกตั้งไม่ค่อยบริสุทธิ์ยุติธรรม อันเป็นผลมาจากการที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคอัมโน ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

เพราะฉะนั้นในมาเลเซีย พรรคการเมืองก็คือรัฐ รัฐก็คือพรรคการเมือง อัมโนไม่ใช่แค่พรรคการเมืองธรรมดา แต่อัมโนคือรัฐทั้งหมด ประชาชนอินโดนีเซียไม่เคยนึกฝันว่าจะมีพรรคการเมืองครองอำนาจพรรคเดียว ฉะนั้นในมาเลเซียอัมโนจึงกุมกลไกรัฐไว้แทบทุกอย่าง ทั้งองค์กรตำรวจ ทหาร ระบบข้าราชการ รวมถึงองค์กรอิสระอย่าง กกต. ในมาเลเซียไม่ได้อิสระนะครับ เพราะ กกต. อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อ กกต. อยู่ในสังกัดรัฐบาล การจัดการเลือกตั้งจึงเป็นไปเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับรัฐบาลมากกว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส ทั้งในส่วนของการจัดการเลือกตั้งในวันพุธ ไม่ใช่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ การห้ามไม่ให้พรรคฝ่ายค้านใช้ภาพของ ดร.มหาธีร์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

นอกจากนี้ด้วยระบบการเลือกตั้งในมาเลเซียที่เน้นเรื่องการแบ่งเขตมากกว่าในเรื่อง popular vote ทำให้ผลการเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านควรจะได้รับชัยชนะเนื่องจากผลคะแนน popular vote มาสูงกว่ารัฐบาลตั้งแต่เมื่อห้าปีที่แล้วก็กลับพ่ายแพ้ไปด้วยผลคะแนนจากแบ่งเขต

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเขตหนึ่งมีประชากรหนึ่งแสนคน แล้วรัฐบาลรู้ว่าประชากรหนึ่งแสนนี้สนับสนุนรัฐบาล เขาก็ซอยเขตเลือกตั้งให้เป็น 10 เขต ทำให้รัฐบาลได้ ส.ส. มาแล้วอย่างแน่นอน 10 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านจะได้เขตเลือกตั้งเพียงหนึ่งเขต แม้จะมีประชากรหนึ่งแสนคนเท่ากัน ประชากรส่วนใหญ่ในโลกไม่มีใครโกงแบบนี้แล้ว เพราะว่ามันน่าเกลียดเกินไป”

และด้วยเหตุของการจัดระบบเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสนี้เองทำให้ประจักษ์มองว่าแทนที่มาเลเซียจะได้รัฐบาลที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันตั้งแต่เมื่อห้าปีที่แล้ว กลับต้องมารัฐบาลที่เหมาะสมในอีกห้าปีถัดมาก็เนื่องด้วยองคาพยพทางการเลือกตั้งอย่าง กกต. กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลไป

“ฝ่ายค้านหาเสียงแทบตายได้หนึ่งที่นั่ง ฝ่ายรัฐบาลได้ 10 ที่นั่ง”

การปฏิรูปการเลือกตั้ง

เป็นเพราะการจัดการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมนี้เอง อันวาร์ อิบราฮิม จึงริเริ่มกระบวนการปฏิรูปการเลือกตั้งเพราะมองว่าต่อให้พรรคฝ่ายค้านชนะ popular vote ก็ไม่มีวันได้จัดตั้งรัฐบาลเนื่องจากพ่ายแพ้ให้กับระบบแบ่งเขต และด้วยการทำงานทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง พรรคฝ่ายค้านและพรรคประชาสังคมในมาเลเซียจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นว่าพรรคอัมโนที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานปกครองมาเลเซียด้วยระบอบที่ไม่ยุติธรรมอย่างไรบ้าง รวมไปถึงปัญหาการคอรัปชั่น ความล้มเหลวในการบริหารงาน

ทว่านอกจากปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้งแล้ว โจทย์สำคัญของพรรคฝ่ายค้านที่จะต้องเอาชนะการเลือกตั้งรัฐบาลให้ได้คือการทำอย่างไรเพื่อจะครองใจคนส่วนใหญ่ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นคนนับถือศาสนาอิสลาม คำตอบของโจทย์นั้นคือ มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคอัมโนที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองมาเลเซียมาตลอด เนื่องจากมหาธีร์เป็นนักการเมืองที่ครองใจคนมาเลเซียมากที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนี้ ประจักษ์วิเคราะห์ไว้ว่า เพราะคนมาเลเซียส่วนใหญ่มีความกลัวในอนาคตจากการขยายตัวเข้ามาของทุนจีน รวมไปถึงคนจีนในมาเลเซีย ทำให้คนมาเลเซียยังจำเป็นต้องเลือกพรรคอัมโนเพื่อความมั่นคงของคนมาเลเซียเอง และพรรคฝ่ายค้านก็ใช้จุดนี้มาเป็นประเด็นในการหาเสียง

อันนี้เป็นสิ่งที่อัมโนประสบความสำเร็จมาโดยตลอด คือใช้เคมเปญสร้างความหวาดกลัว สร้างการแบ่งแยกของคนในชาติ

กล่าวให้ชัดก็คือพรรคฝ่ายค้านก็ยังใช้ประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนาเพื่อกรุยทางไปสู่รัฐสภาโดย มหาธีร์ โมฮัมหมัด เป็นผู้นำ โดยมีสมรภูมิระหว่างความเป็นเมืองและชนบทที่พรรคฝ่ายค้านจะต้องครองใจคนในชนบทที่เป็นคนมาเลเซียนับถือศาสนาอิสลามให้ได้ เนื่องจากผลโหวตในเมืองพรรคฝ่ายค้านเอาชนะได้หมดอยู่แล้ว

“ฉะนั้นคีย์ก็คือว่าจะต้องไปดึงเสียงคนชนบทให้ได้มากที่สุด ซึ่งฝ่ายค้านก็ทำได้ในครั้งนี้”

นอกจากการชนะใจเสียงคนชนบท สมรภูมิออนไลน์ก็เป็นอีกพื้นที่ที่พรรคฝ่ายค้านสามารถเอาชนะรัฐบาลได้ โดยประจักษ์มองว่าแม้รัฐบาลจะทำแทบทุกทางในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร กระทั่งการออกกฎหมายควบคุมผ่าน พ.ร.บ.ข่าวปลอม (fake news) กระนั้น จากกระแสของผลคะแนนความนิยมก็ทำให้พรรคอันโนรู้ดีกว่าข่าวการคอรัปชั่นในเรื่อง 1MDB ก็ส่งผลให้ประธานาธิบดีนาจีฟ ราซัค กลายเป็นจุดอ่อนที่พรรคไม่ต้องการนำเสนอแม้แต่บนป้ายหาเสียง ผิดกับพรรคฝ่ายค้านที่จะมีรูปของมหาธีร์ประกบกับผู้ลงสมัครรับเลือกในแต่ละเขตทุกเขต จนกระทั่ง กกต. ของมาเลเซียต้องออกกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างแปลกประหลาดด้วยการห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ มีรูปปรากฏบนป้ายหาเสียง

ทั้งนี้ก็เพื่อกีดกันไม่ให้มีรูปของมหาธีร์ปรากฏนั่นเอง

“ทว่าเหตุผลสำคัญในชัยชนะครั้งนี้ คือฝ่ายค้านเก็บบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างหาเสียง แข่งกันแย่งลงในเขตที่หาเสียงได้ง่ายๆ แต่ครั้งนี้เขาทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น ออกนโยบาย statement ร่วมกัน แล้วมีการประนีประนอม ในแง่ผู้นำเอามหาธีร์ขึ้นมาชู แต่ในแง่สัญลักษณ์ การหาเสียงของฝ่ายค้านครั้งนี้จะใช้สัญลักษณ์ของพรรค อันวาร์อิบราฮิม ทุกพรรคเวลาไปหาเสียงให้ใช้โลโก้ของพรรคอันวาร์ อิบราฮิม ก็เหมือนมีมหาธีร์กับอันวาร์คู่กัน อันนี้ก็เป็นการทำให้เคมเปญมันมีเอกภาพมากขึ้น”

แม้เอกภาพนี้จะดำรงอยู่ชั่วคราวเนื่องจากแรงบีบจากพรรคฝ่ายค้านส่วนใหญ่ที่ยังไม่ไว้ใจในตัวผู้นำคนใหม่ที่เคยสั่งจำคุกพวกเขาอยู่หลายคน มหาธีร์จึงต้องยอมให้คำมั่นว่า การดำรงตำแหน่งของตนจะเป็นไปเพียงชั่วคราวรอให้ อันวาร์ อิบราฮิม พ้นโทษออกมา จะประกาศให้มีการเลือกตั้งซ่อม เพื่อให้ อันวาร์ อิมราฮิม ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตามสิทธิอันชอบธรรม และ มหาธีร์ โมฮัมหมัด จะสละอำนาจให้ อันวาร์ อิบราฮิม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ของมาเลเซีย ประชาชนใช้เพื่อเป็นการเปลี่ยนระบอบการเมือง เป็นประเด็นในระดับชาติ ไม่ใช่ในระดับพื้นที่ ถ้าเราไปดูการเลือกตั้งในหลายเขต ผู้สมัครของอัมโนมีประวัติดีกว่า หาเสียงดีกว่า แต่ก็ยังแพ้ผู้สมัครจากฝ่ายค้าน ซึ่งโนเนม และไม่มีผลงาน และที่จริงหาเสียงได้แย่กว่าด้วย ก็สะท้อนว่าประชาชนใช้เสียงโหวตของตัวเองในครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนระบอบ เขาไม่ได้สนใจเรื่องผู้สมัครในแต่ละเขตว่าเป็นยังไง เขาไม่ได้ดูหน้าผู้สมัคร แต่เขาโหวตเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลง

“บทเรียนจากกรณีมาเลเซียในครั้งนี้คือการมีพรรคการเมืองพรรคเดียวครองอำนาจมาโดยตลอด มีความเปราะบางในตัวเอง เพราะมันไม่ได้หมายความว่าคุณจะอยู่ในอำนาจตลอดไป คุณสามารถแพ้ได้ ถ้าไม่ปรับตัว ผลงานไม่มี มีแต่ปัญหาคอรัปชั่น และที่สำคัญถ้าฝ่ายค้านเขาสามารถรวมตัวมีเอกภาพได้ พรรคการเมืองพรรคเดียวที่ผูกขาดครอบงำอาจจะโดนโค่นล้มลงจากอำนาจได้”

ตัวอย่างงานวิจัยสุดท้าย คือประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคสมัยอาณานิคม แต่การครองอำนาจในฟิลิปปินส์ขึ้นอยู่กับเจ้าที่ดิน ผ่านระบบอุปถัมภ์ที่มีสายสัมพันธ์แน่นหนา ทำให้ตลอดระยะเวลาหลังได้รับเอกราช เหตุใดทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมาในฟิลิปปินส์-ประจักษ์ใช้คำว่า-บรรดาพวก political dynasty หรือตระกูลทางการเมืองจึงได้รับชัยชนะทุกครั้ง

คำตอบของคำถามนี้ ประจักษ์กล่าวว่าเป็นเพราะพรรคการเมืองอ่อนแอ รัฐบาลอ่อนแอ มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนสูงมาก ทำให้บรรดา political dynasty ซึ่งก็คือบรรดาตระกูลเจ้าพ่อท้องถิ่นจึงขึ้นมามีอิทธิพลอย่างสูงเหนือประชาชน กระนั้น นักการเมืองก็ไม่ได้หายไปไหน

เพราะว่าชนชั้นนำในฟิลิปปินส์ทุกกลุ่ม ใช้พรรคการเมืองเป็นสถาบันเพื่อไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างรัฐ และทุกคนก็รักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้

ด้วยความที่มีตระกูลทางการเมืองเข้มแข็ง พรรคการเมืองในฟิลิปปินส์จึงมีหลายพรรค ขาดความเข้มแข็งด้านอุดมการณ์ พรรคส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์เป็นพรรคที่เกิดขึ้นจากบนลงล่างมากกว่าเป็นพรรคที่สะท้อนกลุ่มก้อนทางสังคมต่างๆ แบบมาเลเซียและอินโดนีเซีย

“จริงๆ ถ้าอยากเข้าใจการเมืองฟิลิปปินส์ให้นึกถึงการเมืองไทยก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เหมือนกัน พรรคการเมืองอ่อนแอ มีมุ้งการเมืองเยอะ การย้ายพรรคเป็นเรื่องปกติ เพราะแต่ละพรรคไม่ได้มีความแตกต่างในด้านนโยบายหรืออุดมการณ์ และส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยพวกเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น กระทั่งมีคนเปรียบเทียบว่าไทยกับฟิลิปปินส์ก่อนปี ’40 ก็คือฝาแฝด”

ต่อเนื่องจากเหตุผลของความอ่อนแอของสถาบันการเมืองอย่างพรรคการเมืองนั้นเอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ประจักษ์มองว่า ทำไมคนแบบดูแตร์เตจึงได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง ทั้งที่ผู้คนฟิลิปปินส์แทบไม่รู้จักพรรคของประธานาธิบดีของพวกเขาแต่อย่างใด ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนี้เพราะธรรมชาติของชาวฟิลิปปินส์คือเลือกที่ตัวบุคคลผ่านบารมีและอำนาจอิทธิพลต่างๆ มากกว่าความเป็นพรรคการเมือง

“สิ่งที่เกิดขึ้นพอดูแตร์เตได้เป็นประธานาธิบดี ส.ส.จากพรรคอื่นๆ เป็นร้อยคนย้ายออกจากพรรคตัวเองมาสังกัดพรรคพีดีพี-ลาบาน จากพรรคที่มี 10 สียงตอนนี้กลายเป็นร้อยกว่าเสียงภายในระยะชั่วข้ามคืน อันนี้เป็นลักษณะของการเมืองฟิลิปปินส์ การย้ายพรรคทำกันได้ชั่วข้ามคืนเป็นเรื่องปกติมาก”

ข้อมูลในปี 2013 ระบุว่าร้อยละ 74 ของผู้แทนราษฎรที่ถูกเลือกเข้ามาล้วนมาจากตระกูลการเมืองแทบทั้งสิ้น หากเปรียบกับสภาผู้แทนในเมืองไทยว่าเป็น ‘สภาผัว-เมีย’ เมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ ยังอยู่เพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น กระทั่งมาในระยะหลัง ผู้แทนราษฎรที่มาจากตระกูลทางการเมืองเหล่านี้เริ่มถูกท้าทายจากผู้สมัครอิสระมากขึ้น ด้วยเหตุนั้นแม้ว่าพรรคเสรีนิยมฟิลิปปินส์ ของ มานูเอล โรซาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอดีตประธานาธิบดีอากีโน จะครองเสียงข้างมากในสภา แต่สุดท้ายก็กลับสูญเสียอำนาจนั้นไปในทันทีที่สมาชิกย้ายมาสังกัดพรรคของดูแตร์เตเมื่อเขาได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง

ผู้นำคนนอก

ในส่วนของผู้นำคนนอก ประจักษ์วิเคราะห์การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของโจโควีไว้ว่าเพราะโจโควีเติบโตจากการเลือกตั้งทางตรง เป็นคนนอกแวดวงชนชั้นนำทางการเมือง ภาพลักษณ์ติดดิน เป็นผู้นำของเราจริงๆ เป็นผู้นำที่เราสัมผัสได้ เข้าถึงรากหญ้า ไปจนถึงการหาเสียงแบบ ‘blusukan’ ของโจโควีที่ปลอมตัวเป็นประชาชนธรรมดาเพื่อทดสอบการให้บริการของข้าราชการ ซึ่งเคยได้เริ่มไว้ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกรุงจาการ์ตาในปี 2012

“เหตุปัจจัยที่ทำให้โจโควีชนะการเลือกตั้งและจัดเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญมาก คือประชาชนเบื่อหน่ายกับคอรัปชั่น และการกระจุกอำนาจอยู่แต่ในชนชั้นนำ นอกจากนั้นในหมู่ชนชั้นเดิมก็ขาดแคลนผู้นำรุ่นใหม่ๆ ที่มีความรู้ความสามารถ ประชาชนก็เบื่อหน่ายต่อนักการเมืองหน้าเดิม และเหตุปัจจัยนี้เราพบในกรณีมาเลเซียเช่นกัน ก็คือประชาชนเบื่อหน่ายนักการเมืองหน้าเดิมๆ ในพรรคอัมโน ปัญหาเรื่องคอรัปชั่น เรื่องการใช้อำนาจให้พวกพ้อง คนต้องการทางเลือกใหม่ๆ และตอนนั้นโจโควีถูกมองว่าเป็นทางเลือกใหม่”

โดยการนำเสนอตัวเองแบบนี้ ประจักษ์มองว่าเป็นการนำเสนอตัวเองในฐานะผู้นำประชานิยม ซึ่งเป็นแนวโน้มล่าสุดของนักการเมืองทั้งสามประเทศที่ประจักษ์นำมาวิจัย และเป็นแนวโน้มในหลายประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงดูแตร์เต ในฟิลิปปินส์ และมหาธีร์ในมาเลเซียด้วย

“ในฟิลิปปินส์มีการต่อสู้ระหว่างการเมืองสองกระแส คือการเมืองที่เรียกว่า reformism กับ populism คือกระแสปฏิรูปนิยมกับกระแสประชานิยม ดูแตร์เตเป็นนักการเมืองในฝ่ายที่เราเรียกว่า populism แต่เขาไม่ใช่คนแรก คนแรกคือ โจเซฟ เอสตาร์ดา แต่เอสตาร์ดาเป็นประชานิยมแบบที่มีปัญหาอื้อฉาวเยอะ และตัวเขาเองก็เป็นนักแสดงมาก่อน ไม่ได้มีประสบการณ์ทางการเมือง ในขณะที่ดูแตร์เตเป็นนายกเทศมนตรีถึง 22 ปี ก็เลยมีโอกาสที่จะอยู่ในอำนาจได้ยาวนานกว่า”

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตระกูลทางการเมืองภายใต้ระบบอุปถัมภ์อย่างที่เคยเป็นมา รวมไปถึงข้อเสนอของตัวดูแตร์เตที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นสาธารณรัฐแบบเดียวสหรัฐอเมริกา ก็นับเป็นทั้งความกล้าและเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นการลิดรอนอำนาจของรัฐบาลส่วนกลาง ให้แต่ละรัฐหรือเมืองในฟิลิปปินส์กลายเป็นรัฐอิสระโดยตัวเอง

“ที่สำคัญเคมเปญของดูแตร์เตมีความคล้ายโจโควี ไม่ได้ใช้ระบบหัวคะแนน และสมาชิกพรรคการเมือง แต่ใช้อาสาสมัคร และเชื่อมโลกออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน มีสิ่งที่เรียกว่า social media trooper ที่จะสนับสนุนดูแตร์เต แต่ความสำเร็จของดูแตร์เตส่วนหนึ่งมาจากล้มเหลวของนักการเมืองชนชั้นนำเดิมที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้ปฏิรูปประเทศจริงจัง ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ล้มเหลวในการรับมือกับภัยก่อการร้ายและอาชญากรรม

คนฟิลิปปินส์สูญเสียศรัทธาต่อนักการเมืองแนวเสรีนิยม แนวปฏิรูป คนฟิลิปปินส์มองนักการเมืองเหล่านี้เป็นพวกไม่ติดดิน เป็นพวกอีลิท เป็นพวกชนชั้นนำ ชอบพูดถึงวาทกรรมสวยหรู แต่จริงๆ แล้วทำเพื่อผลประโยชน์ และพวกพ้อง ห่างเหินจากประชาชน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่หันไปฝากความหวังกับนักการเมืองที่มีความเด็ดขาดเข้มแข็ง และนำเสนอตัวเองว่าเป็นผู้นำแบบชาวบ้านอย่างดูแตร์เต

สุดท้าย ประจักษ์กล่าวว่า ผลการศึกษาจากทั้งสามประเทศนี้อาจพอบอกคร่าวๆ ถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ว่าเป็นลักษณะของการใช้สิทธิโหวตเพื่อความเปลี่ยนแปลง – เป็น vote for change

“ประเด็นสำคัญที่สุดจึงไม่ได้อยู่ที่ประเด็นย่อยๆ ทั้งหลาย การแข่งขันหาเสียงเป็นเรื่องของทิศทางของประเทศ เป็นเรื่องของวิชั่นที่มีแตกต่างกันต่ออนาคตของประเทศ และประชาชนเลือกโดยดูวิชั่นใหญ่ที่แตกต่างกันที่แต่ละพรรคหรือผู้นำ นำเสนอ ทั้งสามประเทศนี้ ประชาชนตื่นตัวกับการเลือกตั้ง เปอร์เซ็นต์การใช้สิทธิสูงมากในทั้งสามประเทศ อินโดนีเซีย 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ มาเลเซียถือว่าสูงที่สุดประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมาก ของไทยเราประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ และที่จริงเราก็เกาะไปกับกระแสนี้

“สอง-ก็คือชนชั้นเดิมถูกสั่นคลอนอำนาจทั้งสามประเทศ สาม-ก็คือการใช้สิทธิของประชาชนเป็นการใช้สิทธิเพราะเบื่อหน่ายต่อสภาพเดิม สถานะเดิม และฐานอำนาจเดิม การเลือกดูแตร์เตแทนตระกูลทางการเมืองเก่า การเลือกโจโควี หรือการโหวตให้กับฝ่ายค้านแทนที่จะเลือกอัมโน สี่-ก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำในแต่ละประเทศ และปัญหาคอรัปชั่นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดการเลือกตั้ง ห้า-ก็คือมีการพบว่าทั้งสามประเทศมีการแบ่งแยก แบ่งขั้วมากขึ้น แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นไปตามกติตา สงบสันติ ยังไม่ได้เกิดปัญหาความรุนแรง การจลาจลบนท้องถนน

“ประการที่หก-ก็คือการเมืองเชิงอัตลักษณ์มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในอินโดฯคือเรื่องศาสนา ในมาเลฯคือเรื่องเชื้อชาติ กับการเมืองเรื่องคุณภาพชีวิตในความหมายเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจก็ยังมีความหมายสำคัญต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้ง สุดทายก็คือบทบาทของสื่อใหม่ ชัดเจนนะครับในทั้งสามประเทศที่เราเห็นพลวัตของการใช้สื่อใหม่เข้ามาในเคมเปญของการเลือกตั้ง” ประจักษ์กล่าวปิดท้ายสรุปงานวิจัย

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า