เลือกตั้งท้องถิ่น 2563: การแจ้งเกิดอีกครั้งของตระกูลใหญ่และรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเ-า

จะทำความเข้าใจการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 8 ปี อย่างไร

แม้ว่าผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) จะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่แนวโน้มเบื้องต้นของการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 8 ปี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าภูมิทัศน์การเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบัน ได้เริ่มเคลื่อนไปจากทศวรรษที่ 2540-2550 ซึ่งดัชนีอย่างหนึ่ง คือการกลับมาของตระกูลการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล

ถัดจากนี้ คือตัวอย่างผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ในจังหวัดที่สำคัญ

ภาคเหนือ

ภาพรวมยังคงแสดงให้เห็นอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยที่ ทักษิณ ชินวัตร ให้การสนับสนุน แต่ทว่าในบางจังหวัดอิทธิพลของตระกูลการเมืองท้องถิ่นมีความสัมพันธ์โดดเด่นขึ้นมา เช่น ที่เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 1 สามารถเอาชนะคู่แข่งซึ่งเป็นอดีตแชมป์เก่าหลายสมัย อย่าง นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่

ที่เชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครอิสระ ที่ได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากพรรคเพื่อไทยบางส่วน ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เอาชนะ นางสาววิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ ตัวแทนทางการจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

ที่พะเยา ตระกูลการเมืองสำคัญในจังหวัดอย่าง ‘พรหมเผ่า’ คือนายอัครา พรหมเผ่าจากกลุ่มฮักพะเยา ซึ่งเป็นน้องชายของ นายธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้งแบบคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งจากคณะก้าวหน้า

ยังมีอีกหลายตระกูลการเมืองได้รับชัยชนะอย่างพร้อมเพรียง เช่น ตระกูลวงศ์วรรณ จังหวัดแพร่ ตระกูลวันไชยธนวงศ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตระกูลโล่ห์สุนทร จังหวัดลำปาง รวมถึงนักการเมืองหลายสมัยอย่าง นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ จังหวัดลำพูน

ภาคอีสาน

มีความแตกต่างออกไปแม้ว่าพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนจะได้รับชัยชนะในฐานเสียงเดิม ทว่าในหลายพื้นที่แสดงให้เห็นการยึดครองพื้นที่ได้เหนียวแน่นของพรรคการเมืองขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย

เช่นที่นครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ภรรยารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากพรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ชนะคู่แข่งจากคณะก้าวหน้า และผู้สมัครอิสระอื่นๆ หลายช่วงตัว

ที่นครพนม นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ ทายาททางการเมืองของรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคภูมิใจไทย ที่ศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล รวมถึงผู้สมัครอิสระที่เป็นตระกูลการเมืองเดิม ก็ได้รับชัยชนะเข้ามา เช่นที่กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร ที่ร้อยเอ็ด นายเอกภาพ พลซื่อ

ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งสนับสนุนตัวแทนลงแข่งขันยังได้รับชัยชนะอีกหลายจังหวัด เช่น อุดรธานี หนองคาย รวมถึงขอนแก่น ซึ่ง นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ ยังรักษาตำแหน่งนายก อบจ. เอาไว้ได้อีกสมัย มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 และที่อุบลราชธานี นายกานต์ กัลป์ตินันท์ จากพรรคเพื่อไทยสามารถเอาชนะผู้สมัครอิสระคนอื่นได้เป็นครั้งแรก

ภาคกลางและภาคตะวันออก

ภาคกลางและภาคตะวันออกยังคงเป็นพื้นที่สำคัญที่แสดงให้เห็นความนิยมของตระกูลการเมืองเก่าแก่ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายสมัย เช่น สมุทรปราการ นางนันทิดา แก้วบัวสาย จากกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า อดีตภรรยา ‘ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ชนะคะแนนมาเป็นอันดับ 1

ขณะเดียวกันตระกูลการเมืองอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลต่างได้รับชนะอย่างพร้อมเพรียง เช่น นายสุนทร รัตนากร จังหวัดกำแพงเพชร นายอนุสรณ์ นาคาศัย จังหวัดชัยนาท ที่นนทบุรี พันตำรวจเอกธงชัย เย็นประเสริฐ อดีตนายกฯ อบจ. ยังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ ได้คะแนนมาเป็นอับดับ 1 โดยเอาชนะคู่แข่งจากคณะก้าวหน้า

รวมถึงอีก 4 จังหวัดที่ตระกูลการเมืองใหญ่มีอิทธิพลสูงมาโดยตลอด ต่างได้รับการเลือกตั้งมา อาทิ ที่สระแก้ว นางขวัญเรือน เทียนทอง ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ที่นครปฐม นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ ผู้สมัครทายาทบ้านใหญ่ ที่มีเครือข่ายการเมืองทุกระดับ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ที่จังหวัดระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ชนะตัวแทนจากคณะก้าวหน้า

รวมถึงจังหวัดที่มีงบประมาณบริหารองค์กรส่วนจังหวัดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่าง ชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม ทายาทตระกูลการเมืองดังของจังหวัดชลบุรี ยังคงได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เอาชนะตัวแทนจากคณะก้าวหน้าหลายหมื่นคะแนน

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งในภาคกลางมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยที่ปทุมธานี พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง จากกลุ่มคนรักปทุม และเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย สามารถเอาชนะอดีตนายกฯ อบจ. 3 สมัย อย่าง นายชาญ พวงเพ็ชร์ จากกลุ่มปทุมรักไทย (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย) ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

ภาคใต้

ที่ภาคใต้การเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ครั้งนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง เช่นที่สงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ ทีมพรรคประชาธิปัตย์สามารถเอาชนะ พันเอกสุชาติ จันทรโชติกุล ทีมสงขลาประชารัฐ ที่ชูภาพลักษณ์การเป็นเพื่อนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

รวมถึงตระกูลการเมืองในหลายจังหวัดต่างได้รับการเลือกตั้งเข้ามา เช่น นราธิวาส นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายก อบจ.นราธิวาส 4 สมัย ซึ่งเป็นแชมป์เก่า ยังคงได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 รวมถึงนครศรีธรรมราช นางกนกพร เดชเดโช ทายาทการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนมาเป็นอับดับ 1 ที่ตรัง นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ จังหวัดยะลา ‘ตระกูลมะทา’ หนึ่งในตระกูลการเมืองสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ได้รับชัยชนะมาเป็นอันดับ 1 คือ นายมุขตาร์ มะทา

รูปแบบการเลือกตั้งที่มีส่วนกำหนดชัยชนะ

สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. พร้อมกันทั่วประเทศครั้งนี้ มีรูปแบบทั้งที่เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป คือ เป็นการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศในครั้งเดียว โดยตำแหน่งนายกฯ อบจ. จะมีการใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนสมาชิก อบจ. ใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562

อย่างไรก็ตามมีความแตกต่างอยู่บางประการที่เกิดขึ้น นั่นคือ จากเดิมที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Time Voter) 7.3 ล้านคนทั่วประเทศ ได้ออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 นั้นมีจำนวนลดลง โดยเบื้องต้นแม้ว่าในการเลือกตั้ง อบจ. ที่นับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี กกต.กลาง คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ แต่จากการรายงานของไทยรัฐออนไลน์พบว่า จำนวนดังกล่าวสูงเกินไป เพราะมีผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่เพียง 57.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งที่การเลือกตั้งทั่วไปในปีที่ผ่านมามีคนออกมาใช้สิทธิถึง 72.3 เปอร์เซ็นต์

รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการใช้สิทธิไว้พอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก และผู้ที่เคลื่อนย้ายตัวเองออกจากภูมิลำเนา อาทิ กลุ่มที่เดินทางไปเรียนต่างพื้นที่ กลุ่มที่เดินทางไปทำงานต่างพื้นที่ เป็นต้น

เงื่อนไขเหล่านั้น ได้แก่ การเลื่อนวันเลือกตั้งมาวันที่ 20 ธันวาคม (อยู่ระหว่างวันหยุดยาว 2 ครั้ง คือหยุดช่วงต้นเดือนและหยุดช่วงปีใหม่) การไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต การเลือกตั้งล่วงหน้า เหตุผลมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 17.00 น. เพียงวันเดียวเท่านั้น เงื่อนไขเหล่านี้ยังไม่รวมไปถึงปัญหาใหญ่ คือ เศรษฐกิจ

เงื่อนไขข้างต้น มีส่วนสำคัญในการทำให้การทำงานเพื่อสร้างความนิยมในหมู่ผู้สมัคร มาจากปัจจัยของการทำงานอย่างแข็งขันในท้องถิ่นของผู้สมัครที่เคยได้รับชัยชนะมาก่อน และมีเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ดังที่เราจะเห็นชัยชนะอย่างขาดลอยในพื้นที่ตระกูลการเมืองที่สำคัญ เช่น สระแก้ว นครปฐม ระยอง ชลบุรี พะเยา นครราชสีมา สงขลา และอีกนับไม่ถ้วน

การเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเลือกตั้งท้องถิ่น

ก่อนการรัฐประหาร 2557 การเมืองแบบตระกูลการเมืองถูกสั่นคลอนอยู่พอสมควรหลังจากที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ในงาน ‘Bosses, Bullets, and Ballots: Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011 (2013)’ ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจและมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2530 ถึงกลางทศวรรษที่ 2550 ประชาชนมีความคาดหวังสูงจากนักการเมืองท้องถิ่น และพิจารณาตัวแทนของพวกเขาจากนโยบาย ความสามารถ และผลงานมากขึ้น มากกว่าจะตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวหรือการบีบบังคับเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตามหลังกติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ลดอิทธิพลของพรรคการเมืองใหญ่ ได้ส่งผลถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย เช่น ในบทวิเคราะห์ของ พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ ในงานเรื่อง Faction Politics in an Interrupted Democracy: The Case of Thailand (2020) เสนอว่าการเมืองแบบกลุ่มก๊ก เป็นสิ่งหนึ่งที่กลับมาอย่างเด่นชัดในการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557

อันที่จริงการเมืองกลุ่มก๊กเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในการเลือกตั้งไทยมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ลดความสำคัญลงในช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยขึ้นครองอำนาจ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เท่านั้น โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ทำให้การเมืองกลุ่มก๊กจากบ้านใหญ่ลดความสำคัญลงคือ

  1. รัฐธรรมนูญ 2540
  2. การเงินของพรรคการเมือง
  3. ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ การขึ้นมาของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ทำให้การเมืองแบบกลุ่มก๊กต้องจนมุม และต้องเดินตามกติกาของพรรค และผู้นำของพรรค

ฉะนั้นเมื่อนำกรอบคิดข้างต้นมามองการต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงแสดงให้เห็นในหลายพื้นที่ว่า มีการแข่งขันของผู้สมัครอิสระที่ได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากพรรคการเมืองมากกว่าจะเป็นการสนับสนุนทางตรง และกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนทางอ้อมต่างได้รับชัยชนะ เช่นเดียวกันรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งได้กร่อนอำนาจพรรคการเมืองไม่ให้มีฐานะในเชิงสถาบัน ก็ทำให้การต่อรองอำนาจผ่านกลุ่มก๊กการเมืองเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง เมื่อ คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง กลุ่มก้อนต่างๆ แตกแขนงไปยังพรรคร่วมรัฐบาล เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พะเยา ในพลังประชารัฐ หรือกรณีนครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ในพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น แม้กระทั่งในพรรคเพื่อไทย ก็มีการแข่งขันกันเองจากกลุ่มต่างๆ ในพรรคเช่นที่เกิดขึ้นในเชียงราย เป็นต้น

การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ส่งต่อความหวังประชาธิปไตย

จากที่กล่าวมาเป็นเพียงการใช้มุมมองหนึ่งในการทำความเข้าใจผลการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ภายใต้ข้อจำกัดไม่น้อย แม้ว่าผลการเลือกตั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองกลับไปสู่การต่อรองเชิงนโยบายจากเครือข่ายการทำงานในท้องถิ่น สายสัมพันธ์ท้องถิ่นผ่านหัวคะแนน ซึ่งตระกูลการเมืองที่สำคัญในแต่ละจังหวัดที่ทำงานหนักมาอย่างยาวนานได้รับชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม ในด้านหนึ่งเราไม่ควรลดทอนการเลือกตั้ง ให้เป็นภาพเดี่ยว มองเห็นปัจจัยใดโดดเด่นมากกว่าปัจจัยอื่น เนื่องมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมีปัจจัยซับซ้อน เต็มไปด้วยพลวัตในแต่ละพื้นที่ซึ่งแตกต่างกัน รวมถึงระบบเลือกตั้งที่ใช้ระบบผู้ชนะกินรวบ (winner take all) ทำให้อาจจะมองข้ามผู้สมัครที่ได้คะแนนลำดับรองลงมา ซึ่งอาจจะได้รับคะแนนเสียงมากเช่นเดียวกัน รวมถึงการพิจารณาไปยังผลคะแนนสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด อาจจะช่วยให้เราเห็นความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้น

แต่ถึงที่สุด เรื่องที่อาจจะปฏิเสธได้ยากคือ ปัจจัยเชิงโครงสร้างทางการเมืองนั้นส่งผลต่อการพิจารณาเลือกตัวแทนท้องถิ่นด้วย ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ลดอิทธิพลของพรรคการเมืองใหญ่ ก็ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลาง และพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีศักยภาพในการดึงผลประโยชน์กลับสู่ท้องถิ่นกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

การเลือกตั้งซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตชีวาครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสของการ ‘คิดต่อ’ ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งต่อไป ที่ควรเสรีและเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นกลับมาเป็นเลือดเนื้อและหัวใจของผู้คนที่จะเข้าไปกำหนดชะตากรรมของบ้านเกิดตัวเอง แบบที่เคยเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังทศวรรษที่ 2540

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า