‘การทูตทุเรียน’ ผลผลิตไทยในตลาดจีน โอกาสหรือหลุมพรางผลประโยชน์

เรื่องฮือฮาเรื่องหนึ่งในแวดวงธุรกิจเดือนที่ผ่านมา คือ ตัวเลขการส่งออกทุเรียน (ทั้งแช่แข็ง แปรรูป และดิบ) ช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ที่ไทยส่งไปขายยังจีนผ่านทางท่าเรือแถวกวางตุ้ง และท่ารถแถวโมฮั่น-บ่อเต็น ประเมินเป็นน้ำหนักแล้วมากกว่า 500,000 ตัน หรือประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 จากปริมาณทุเรียนกว่า 800,000 ตันที่ถูกส่งเข้าไปขายในตลาดจีน อีกทั้งการเดินทางมาเยือนไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อเดือนก่อนก็ยังมีการหยิบยกเรื่องช่องทางการขนส่งทุเรียนทางรางขึ้นมาเป็นประเด็นผลักดันระหว่าง 2 รัฐบาล สะท้อนถึงความต้องการอันมหาศาลในผลไม้ดังกล่าว

ยิ่งเมื่อย้อนกลับมาดูในระดับจุลภาคก็จะเห็นกันจนชินตาว่า เวลานักท่องเที่ยวชาวจีนบินมาลงที่ไทยมักจะถามหากันแต่ทุเรียน หากเดินเล่นในย่านนิมมานเหมินทร์ที่เชียงใหม่ ก็มีร้านขายทุเรียนแปรรูปผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เกิดเป็นความเชื่อที่อันตรายขึ้นมาชุดหนึ่งว่า ตลาดทุเรียนไทยน่าจะคึกคักไปได้อีกหลายปี และคงจะมีเกษตรกรรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดทุเรียนเพิ่มขึ้นตามกระแสเป็นแน่…

แต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้จริงหรือ?

และต่อให้รูปการณ์มันเป็นเช่นนั้น จะมีสิ่งใดเป็นหลักประกันได้บ้างว่า ความเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของไทยจะยั่งยืนต่อไปเรื่อยๆ? 

ไทยอาจไม่ใช่เจ้าผู้ครองตลาดอีกต่อไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน ‘การทูตทุเรียน’ (durian diplomacy) เป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยให้ไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทหลักในตลาดจีน และสร้างรายได้อันมหาศาลมาหลายปี หรือกล่าวอย่างพื้นฐานที่สุดคือ ร้อยละ 10 ของ GDP ด้านการส่งออกอาหารของไทยมาจากการขายทุเรียนให้จีน ทว่า หากพิจารณาในรายละเอียดการทูตทุเรียนที่รัฐบาลจีนพยายามผลักดันในปัจจุบันนี้ จะเห็นว่าไม่ได้มีแค่ไทยประเทศเดียวที่จีนมีความต้องการจะค้าขายทุเรียนด้วย แต่ยังมีมาเลเซียและเวียดนามที่เป็นผู้เล่นรายใหม่ในภูมิภาค ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ส่งทุเรียนไปขายในจีนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ประเด็นนี้เป็นภัยเงียบที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในช่วง 3-4 ปีก่อน โดยที่หลายฝ่ายในไทยไม่ได้คำนึงถึง หากติดตามสถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยในช่วงที่ผ่านมา จะทราบว่าก่อนหน้านี้สัดส่วนของทุเรียนไทยในตลาดจีน ไม่ได้หยุดแค่ร้อยละ 60 แต่เป็นร้อยละ 80 ซึ่งเหตุที่ลดลงมานี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะการทูตทุเรียนที่จีนพยายามผลักดันให้มีผู้เล่นรายอื่นเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยครองสถานะความเป็นเจ้าตลาดนานเกินไป จึงได้มีการเปิดช่องทางให้รัฐบาลเวียดนามเริ่มส่งทุเรียนไปขายในจีนเมื่อเดือนก่อน แม้ว่าทั้งมาเลเซียและเวียดนามจะยังมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพียง 400,000 ไร่ และ 100,000 ไร่ (ตามลำดับ) ซึ่งยังห่างกับไทยที่มีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ดังกล่าวเกือบ 1,000,000 ไร่ แต่ในอนาคต หากมาเลเซียและเวียดนามสามารถพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้ได้ใกล้เคียงกับไทย ทั้งสองประเทศจะกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับไทยอย่างแน่นอน

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา จีนได้เริ่มทดลองปลูกทุเรียนบนแปลงเกษตรที่กวางตุ้ง ยูนนาน และทางตอนใต้ของเกาะไหหลำ ซึ่งมีการจัดพื้นที่สำหรับเพาะปลูกทุเรียนไว้รวมประมาณ 10,000 ไร่ เป็นการนำเอาพันธุ์ Sanno และมุซันคิง (Mao Shan Wang) จากมาเลเซียมาใช้ โดยมีกำหนดการเก็บเกี่ยวและนำสู่ท้องตลาดในปี 2024 ในกรณีที่ผลตอบรับเป็นไปด้วยดี รัฐบาลจีนอาจผลักดันให้มีการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการบริโภคทุเรียนในประเทศ 

ประเด็นนี้หากเกิดขึ้นในอดีตสัก 1-2 ทศวรรษก่อน คงเป็นเรื่องน่าขันสำหรับไทย เพราะจีนเป็นประเทศเขตหนาว อยู่ห่างไกลจากเส้นศูนย์สูตร สภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการเติบโตของทุเรียนซึ่งจะเติบโตได้ดีเฉพาะในแถบไทย-มาเลเซีย แต่ปัจจุบันจีนมีเทคโนโลยีการเกษตร และเครื่องมือสนับสนุนการเพาะปลูกที่ก้าวหน้าไม่แพ้ยุโรป หากจีนต้องการจะขยายกำลังการผลิตทุเรียน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความเป็นไปได้ ประเด็นความแตกต่างเรื่องรสชาติระหว่างหมอนทองที่ปลูกในไทย และมุซันคิงที่ปลูกในจีน/มาเลเซียก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

แผนเหนือเมฆ กลเกมการทูต-การตลาดจีน

การที่จีนนำการทูตทุเรียนออกมาใช้จึงไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อไทยในระยะยาวเสียทีเดียว เพราะเมื่อมองจากมุมของรัฐบาลจีน เกมนี้ก็เป็นเพียงเกมแห่งผลประโยชน์ที่จีนต้องการจะกระจายความเสี่ยง และพยายามลดการผูกขาดของทุเรียนไทยในตลาดจีน โดยฉาบเคลือบไว้ด้วยคำกล่าวสวยหรูว่า จีนต้องการสนับสนุนทุเรียนของประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเท่านั้น 

มากไปกว่านั้น การที่จีนประกาศจะรับซื้อทุเรียนของประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น ทั้งไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ในช่วงที่ผ่านมานี้ จนจีนกลายเป็นประเทศผู้รับซื้อทุเรียนอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมทุเรียนในทุกประเทศข้างต้น (top trading partner) จะส่งผลให้กลุ่มประเทศดังกล่าวสูญเสียอำนาจต่อรองในเกมนี้ไปในท้ายที่สุด

และเมื่อใดก็ตามที่ประเทศเหล่านี้มีพฤติกรรมหรือกระทำการใดที่สร้างความไม่พอใจแก่จีน รัฐบาลจีนก็พร้อมที่จะใช้ทุเรียนเป็นเครื่องมือในการกดดันแต่ละประเทศให้ปฏิบัติตามคำร้องขอของจีนได้ทันที เพราะแต่ละประเทศไม่ได้กระจายความเสี่ยงด้วยการส่งทุเรียนไปขายยังภูมิภาคอื่นๆ (เช่น ตะวันออกกลาง) ตั้งแต่แรก ด้วยหลากหลายปัจจัย บ้างก็อ้างว่ากังวลเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง และตัวแปรเรื่องเงื่อนเวลา ที่การขนส่งทางเรือต้องกินเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ (เอาแค่เรือสินค้าจากไทยไปจีนก็กินเวลาเป็นเกือบสัปดาห์แล้ว)

จริงๆ แล้วประเด็นดังว่านี้ไม่จำเป็นต้องหันไปมองที่ไหนไกล ถ้าหากต้องการดูว่าจีนมีอำนาจเหนืออุตสาหกรรมการค้าขายทุเรียนไทยมากแค่ไหน ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ช่วงไวรัส COVID-19 กำลังระบาด การขนส่งทุเรียนด้วยช่องทางบกผ่านรถบรรทุกจากไทยข้ามไปลาวเพื่อจะออกไปจีนนั้นได้เสียหายไปไม่น้อยจากนโยบายเจ้ากรรม ‘Zero-Covid Policy’ ที่ทำให้การคัดกรองและการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนลาว-จีนมีความเข้มข้นมากขึ้น มีการเปิดด่านตรวจค้นมากมาย หากรถบรรทุกคันใดถูกตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัส COVID-19 เจือปนมา ทุเรียนจำนวนมากกว่า 7,000 ลูกที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ของรถคันนั้นจะถูกปิดกั้นไม่ให้เดินทางเข้าประเทศจีนในทันที มิพักกล่าวถึงทุเรียนในรถบรรทุกที่ต้องจอดต่อแถวรอเข้ารับการตรวจคัดกรองบริเวณด่านทางเข้าประเทศบางแห่งที่การจราจรมีความหนาแน่น รวมแล้วก่อนที่ทุเรียนไทยจะสามารถเข้าไปทำตลาดในจีนจำนวนกว่า 500,000 ตันได้นั้น อาจเกิดความเสียหายระหว่างขนส่ง ไม่ว่าจะเน่าเสีย หรือมีเชื้อไวรัส COVID-19 ปนเปื้อนจนต้องกำจัดทิ้งไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ตัน

รัฐบาลไทยจึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยง และตัวแปรที่เกิดจากการค้าขายกับจีนให้มากขึ้น การที่จีนมีสถานะเป็นผู้รับซื้อทุเรียนรายใหญ่รายเดียวของไทยนั้น ไม่ต่างจากการที่ไทยยกอำนาจการต่อรองไปไว้ในมือของรัฐบาลจีน เทียบแล้วเหมือนเป็นการที่ไทยช่วยให้จีนมีลูกไม้ หรือเครื่องมือมาใช้กดดันบีบคั้นไทยได้มากขึ้น เมื่อใดที่ไทยมีพฤติกรรมเอนเอียงไปยังสหรัฐอเมริกามากเกินไปจนจีนรู้สึกไม่พอใจ จีนก็อาจนำเรื่องทุเรียนมาเป็นมาตรการกดดัน ไม่ว่าจะทางตรงผ่านมาตรการเชิงพาณิชย์ หรือทางอ้อมอย่างการเพิ่มขั้นตอนหรือมาตรการคัดกรองสินค้าบริเวณชายแดน 

ต้องไม่ลืมว่าในทัศนะของจีน จีนไม่ได้วางแผนจะซื้อทุเรียนไทยในปริมาณมากแบบนี้ไปตลอดในระยะยาว และที่สำคัญการทูตทุเรียนของจีนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนทุเรียนไทย แต่เป็นแผนการเพิ่มอำนาจการต่อรองของจีนในภูมิภาคเท่านั้น

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า