เช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 ผมสะดุ้งตื่นเพราะเสียงแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันไลน์ที่ดังระรัว พอเปิดอ่านข้อความก็พบว่าเหล่ามิตรสหายนักวิทยาศาสตร์กำลังถกเถียงกันเรื่องแผ่นดินไหวที่จังหวัดพิษณุโลก พอกราดตาอ่านข้อมูลอยู่ครู่หนึ่ง ผมก็พบจุดที่รู้สึกสะดุดตา เพราะบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวไม่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน!
ความเป็นไปได้ที่ผมวิเคราะห์ขณะงัวเงียอยู่บนเตียงก็คือ การรายงานตำแหน่งของแผ่นดินไหวอาจคลาดเคลื่อน แรงสั่นสะเทือนอาจมาจากแผ่นดินไหวที่อื่น บริเวณนั้นอาจมีรอยเลื่อนเกิดใหม่ที่พัฒนามาจากรอยแตกเก่า และบริเวณนั้นอาจมีรอยเลื่อนอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่เคยถูกค้นพบ
บทความนี้ ผมจึงอยากชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโครงสร้างของหินทางธรณีวิทยา ความหลากหลายของรอยเลื่อน และสาเหตุของแผ่นดินไหวที่จังหวัดพิษณุโลกกันครับ
โครงสร้างของหินทางธรณีวิทยา
ใครที่ชอบเดินทางไปภูเขา น้ำตก และเกาะ คงจะทราบดีว่าสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหล่านี้มักจะมี ‘โครงสร้างของหิน’ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน การศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของหินที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาด รูปร่าง ลักษณะ ทิศทางการวางตัว และการกระจายตัวตามแหล่งต่างๆ เนื่องจากมีแรงหรือพลังงานเข้ามากระทำ เรียกว่า ธรณีวิทยาโครงสร้าง (structural geology)
ลักษณะสำคัญของโครงสร้างทางธรณีวิทยาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- รอยสัมผัส (contact) หมายถึง โครงสร้างที่แสดงรอยต่อของหินอย่างน้อย 2 ชนิด เช่น รอยสัมผัสที่เกิดจากการตกสะสมของตะกอน รอยสัมผัสของหินอัคนี รอยสัมผัสของรอยเลื่อน
- โครงสร้างปฐมภูมิ (primary structure) หมายถึง โครงสร้างที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการก่อตัวของหิน เช่น รอยริ้วคลื่น รอยประทับจากเม็ดฝน รอยระแหงโคลน รอยที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต
- โครงสร้างทุติยภูมิ (secondary structure) หมายถึง โครงสร้างของหินที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แบ่งออกเป็นรอยแยก (joint) รอยแตกเฉือน (shear fracture) รอยเลื่อน (fault) ชั้นหินคดโค้ง (fold) แนวแตกเรียบ (cleavage) ริ้วขนาน (foliation) โครงสร้างแนวเส้น (lineation) และเขตรอยเฉือน (shear zone)
ความหลากหลายของรอยเลื่อน
เนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยามีหลายแบบจนนับนิ้วไม่หมด ผมจึงขอเล่าเฉพาะ ‘รอยเลื่อน’ ซึ่งเป็นรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ของแผ่นเปลือกโลกที่ยังมีการขยับ หรือเคยมีการขยับเมื่อครั้งอดีต แต่ปัจจุบันได้หยุดนิ่งไปแล้ว รอยเลื่อนแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- รอยเลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนที่ผ่านกัน แบ่งย่อยออกเป็นรอยเลื่อนตามแนวระดับเข้าทางซ้าย (left lateral strike-slip fault) กับรอยเลื่อนตามแนวระดับเข้าทางขวา (right lateral strike-slip fault)
- รอยเลื่อนตามแนวมุมเท (dip-slip fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่เคลื่อนที่แยกออกจากกันหรือรอยเลื่อนที่เคลื่อนที่เข้าหากัน แบ่งย่อยออกเป็นรอยเลื่อนปกติ (normal fault) กับรอยเลื่อนย้อน (reverse fault)
- รอยเลื่อนตามแนวเฉียง (oblique slip fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่มีองค์ประกอบของการเคลื่อนที่ผสมผสานกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน
- รอยเลื่อนแบบหมุน (rotational fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่มีพื้นที่บางส่วนเกิดการหมุนเป็นมุมค่าหนึ่ง มักพบในกลุ่มรอยเลื่อนที่มีความสลับซับซ้อน
การขยับตัวของรอยเลื่อนมักจะแสดง ‘ลักษณะบ่งชี้’ บนพื้นผิวโลก คล้ายกับเป็นการบอกใบ้ว่ามีรอยเลื่อนหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณนั้น ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่
- รอยเลื่อนตามแนวนอนที่เคลื่อนตัดผ่านลำธารจะทำให้แนวทางน้ำเหลื่อมออกจากกัน เรียกว่า ลำธารหัวตัด (beheaded stream) และเมื่อสายน้ำไหลมาเชื่อมต่อกันอีกครั้งก็จะเรียกว่า ลำธารเหลื่อม (offset stream)
- รอยเลื่อนที่ยกตัวสูงขึ้นจะทำให้เกิดหน้าผาขนาดเล็ก เรียกว่า ผารอยเลื่อน (fault scarp) หรืออาจกลายเป็นผาสามเหลี่ยม (triangular facet) ที่สูงตระหง่าน ก่อนจะถูกน้ำและลมกัดเซาะจนกลายเป็นหุบเขารูปแก้วไวน์ (wineglass canyon)
- รอยเลื่อนที่เคลื่อนที่เข้าหากันจะทำให้พื้นดินเบียดเกยกันและกลายเป็นสันนูน (ridge)
- รอยเลื่อนที่เคลื่อนที่ออกจากกันจะทำให้พื้นดินทรุดต่ำลงและกลายเป็นหนองน้ำยุบตัว (sag pond)
รอยเลื่อนที่มีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวภายในช่วงเวลา 10,000 ปีที่ผ่านมา จะเรียกว่า รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) โดยการตรวจสอบรอยเลื่อนมีพลังจะต้องทำการขุดร่องสำรวจ (trench) ตัดผ่านแนวรอยเลื่อนเพื่อวัดระยะการเคลื่อนที่ของรอยเลื่อนแล้วคำนวณหาขนาดของแผ่นดินไหว หลังจากนั้นจึงคำนวณหาช่วงเวลาที่รอยเลื่อนมีการขยับ โดยการนำตะกอนไปวิเคราะห์ด้วยวิธีเปล่งแสงความร้อน (thermoluminescence dating) และวิธีกระตุ้นเชิงแสง (optically stimulated luminescence)
ส่วนรอยเลื่อนไม่มีพลัง (inactive fault) จะหมายถึงรอยเลื่อนที่สงบนิ่งมานานแสนนาน แต่อาจกลับมาขยับตัวได้อีก หากแรงกระทำภายในแผ่นเปลือกโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือถูกกระตุ้นด้วยกิจกรรมบางอย่างของมนุษย์ กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า การคืนพลังของรอยเลื่อน (fault reactivation)
สาเหตุของแผ่นดินไหวที่จังหวัดพิษณุโลก
วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00.17 นาฬิกา บริเวณตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่ความลึก 5 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวทำให้คนที่กำลังนอนหลับตกใจตื่น และสิ่งก่อสร้างหลายแห่งได้รับความเสียหายเล็กน้อย หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยาก็ประกาศว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวอาจเกิดจาก ‘รอยเลื่อนแห่งใหม่’ ที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในแผนที่กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้ง 16 แห่งของประเทศไทยมาก่อน!
ความจริงแล้ว การค้นพบรอยเลื่อนแห่งใหม่ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ เพราะใต้พื้นดินมีรอยเลื่อนอยู่มากมาย แต่พื้นผิวด้านบนเกือบทั้งหมดถูกคลุมทับด้วยตะกอนที่เกิดจากการผุพังของหินผสมกับเศษซากของสิ่งมีชีวิต และมีพืชพรรณต่างๆ เติบโตอยู่บนดิน ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นรอยเลื่อนที่อยู่ด้านล่างได้ รอยเลื่อนที่ยังไม่เคยถูกสำรวจพบจึงถูกเรียกว่า รอยเลื่อนซ่อนเร้น (blind fault หรือ hidden fault)
เมื่อพิจารณาพื้นที่ตำบลไผ่ล้อมที่เป็นจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (epicenter) และพื้นที่ใกล้เคียง เราจะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีชุมชนกระจายตัวอยู่ตามแนวริมคลอง ที่ดินส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นไร่นา และเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมบ่อย ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การสังเกตลักษณะบ่งชี้ของรอยเลื่อนบนพื้นดินทำได้ยาก
แม้ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้จะไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรมากนัก แต่เนื่องจากจุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (hypocenter) อยู่ในระดับตื้นและเกิดจากรอยเลื่อนที่ไม่เคยมีใครรู้จัก หลายท่านจึงเกิดความกังวลและน่าจะมีคำถามเกี่ยวกับอันตรายของมัน โดยผมจะขออธิบายทีละประเด็น ดังนี้
1. เราควรกังวลเรื่องแผ่นดินไหวตามหลังหรือไม่?
ตอบ: ถ้าแผ่นดินไหวขนาด 4.5 คือแผ่นดินไหวหลัก (mainshock) ขนาดสูงสุดของแผ่นดินไหวตามหลัง (aftershock) จะมีค่าเพียง 3.5 และมักจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลัก หมายความว่า หากบ้านของคุณไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวหลัก แผ่นดินไหวตามหลังก็ไม่สามารถทำอันตรายบ้านของคุณได้ และเมื่อคำนวณจากสมการของเรียเซนเบิร์ก (Reasenberg – 1985) แผ่นดินไหวตามหลังของเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีรัศมีประมาณ 7 กิโลเมตร และกินระยะเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวตามหลังแต่อย่างใด
สิ่งที่ควรทราบคือ แผ่นดินไหวบางเหตุการณ์อาจมีเพียงแผ่นดินไหวหลัก โดยไม่มีแผ่นดินไหวนำหน้า (foreshock) กับแผ่นดินไหวตามหลัง ขึ้นอยู่กับลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่นั้น อีกกรณีหนึ่งคืออาจมีแผ่นดินไหวตามหลัง แต่จำนวนสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวมีน้อยเกินไป หรืออยู่ห่างจากจุดเกิดแผ่นดินไหวมากเกินไป หรือมีความไวไม่มากพอ จึงไม่สามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้
2. รอยเลื่อนดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 4.5 หรือไม่?
ตอบ: มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ผมเชื่อว่าแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นจะมีขนาดใหญ่กว่าเพียงเล็กน้อย และไม่น่าจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง เพราะขนาดของแผ่นดินไหวจะสัมพันธ์โดยตรงกับความยาวของแนวพังทลายบนรอยเลื่อน (rupture length) ยิ่งแนวพังทลายยาวเท่าไร โอกาสที่รอยเลื่อนจะหลบซ่อนก็ยิ่งยาก
การที่เราไม่ค่อยสังเกตเห็นลักษณะบ่งชี้ที่รอยเลื่อนเคยฝากเอาไว้บนพื้นดิน จึงมีแนวโน้มว่ารอยเลื่อนดังกล่าวอาจมีพลังงานไม่มากนัก หรืออาจต้องใช้เวลานานนับร้อยปีถึงจะปลดปล่อยพลังงานที่สะสมเอาไว้ออกมาสักครั้งก็เป็นได้ แต่เพื่อความไม่ประมาท ชาวพิษณุโลกกับจังหวัดข้างเคียงควรซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี ควรฝึกซ้อมการปฏิบัติตนเพื่อรับมือแผ่นดินไหวเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ควรกังวลมากเกินไปจนไม่เป็นอันกินอันนอน
3. รอยเลื่อนดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร?
ตอบ: เรายังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า รอยเลื่อนซ่อนเร้นแห่งนี้อยู่ตรงไหน มีความยาวเท่าไร มีความลึกเพียงใด ทิศทางการวางตัวเป็นอย่างไร และมีการขยับตัวแบบไหน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่ารอยเลื่อนซ่อนเร้นแห่งนี้น่าจะวางตัวพาดผ่านจังหวัดพิษณุโลกทางทิศเหนือ-ทิศใต้แบบเฉียงๆ แต่เมื่อพิจารณาด้วยทฤษฎีกลไกการเกิดแผ่นดินไหว (focal mechanism) และทฤษฎีกลศาสตร์รอยเลื่อน (fault mechanics) ผมคิดว่ารอยเลื่อนซ่อนเร้นดังกล่าวน่าจะวางตัวพาดผ่านจังหวัดพิษณุโลกทางทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกแบบเฉียงๆ มากกว่า ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีจะทำการเฝ้าระวัง ค้นหาตำแหน่งที่ชัดเจน และศึกษาลักษณะของรอยเลื่อนซ่อนเร้นแห่งนี้ต่อไป
หลายท่านอาจมีคำถามเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังมีรอยเลื่อนมีพลังที่แอบซ่อนตัวอยู่อีกไหม?
คำตอบคือ น่าจะมี เพราะใต้พื้นดินของประเทศไทยเต็มไปด้วยรอยแตกร้าวของหินยุคดึกดำบรรพ์ที่เกิดจากการปะทะกันของแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย (Shan-Thai) ทางทิศตะวันตกและแผ่นเปลือกโลกอินโดไชน่า (Indochina) ทางทิศตะวันออก แต่รอยแตกร้าวเหล่านั้นอาจฝังตัวอยู่ลึกหรือถูกตะกอนฝังกลบเอาไว้จนมองไม่เห็นจากบนพื้นดิน
สุดท้ายนี้ ผมขอเน้นย้ำว่าแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ (ยัง) ไม่สามารถทำนายได้ และประเทศไทยของเราก็มีรอยเลื่อนอยู่มากมาย แม้รอยเลื่อนส่วนใหญ่จะสิ้นฤทธิ์ไปหมดแล้ว แต่อาจมีรอยเลื่อนบางแห่งที่กำลังนอนหลับและรอวันลืมตาตื่น เราทุกคนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว เพราะความรู้และความเข้าใจคือสิ่งที่จะทำให้เราสามารถรับมือกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อาจเป็นภัยอันตรายได้ดีที่สุด
อ้างอิง:
- เพียงตา สาตรักษ์. (2009). ธรณีวิทยาโครงสร้าง.
- ไพบูลย์ นวลนิล. (2012). แผ่นดินไหว พิบัติภัยที่คนไทยต้องพร้อมรับมือ.
- กิจการ พรหมมา. (2013). ธรณีวิทยาสำหรับวิศวกร.
- แผ่นดินไหวขนาด 4.5 ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก