แผ่นดินไหวในพม่า

bagan-1

พม่ากับแรงบันดาลใจ

ใครบางคนบอกว่าผมมีพฤติกรรมซ้ำซาก คาดเดาได้ กินข้าวร้านเดิมๆ (มารีน่า สยาม) สนุกสนานกับวงน้ำหวานที่เดิมๆ (ออฟฟิศ) และยังแบกเป้เป็นทัวริสต์พม่าอยู่หลายครั้ง…ก็มันยังไม่เบื่อน่ะ

ผมไปพม่าครั้งแรกตอนปี 2009 จำได้ว่าเป็นการพลาดดูคอนเสิร์ตวงอเมริกันบลูส์ร็อค Mr.Big ไปชนิดน้ำตาซึม เพราะวันดันตรงกันเป๊ะ แต่ระหว่างนั่งเหม่ออยู่สองของเกสต์เฮาส์เมืองยองอู เพลง Goin’ Where the Wind Blows ของ Mr.Big ในเวอร์ชั่นเมียนมาร์ (เพลงก๊อป) ก็แว่วตามลม

รวมทุกครั้งที่ไปเยือนเพื่อนบ้านประเทศนี้ ผมเจอร้านดอกหญ้าปลอม (ขายเฟอร์นิเจอร์) เจอเซ็นทรัลปลอม (ขายปั๊มน้ำที่หนึ่ง กับอีกที่ขายของเด็กเล่น) เจอโฮมโปรปลอม มาบุญครองปลอม ไม่นับเพลงทำนองคุ้นหูที่ขนมาทั้งไทยเทศ ที่นี่ไม่มีใครอ้างถึง ‘แรงบันดาลใจ’ เขารับกันตรงๆ ว่า ลอกก็คือลอก เป็นสหประชาชาติบนตัวโน้ตที่ไม่มีใครอยากข้ามพรมแดนไปฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์

Inle Lake-1

วิษณุกับพุกาม

ปี 2009 แยกจากถนนใหญ่ไปหลายกิโลเมตร เมืองยองชเวซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ หลายคนอาจรู้จักทะเลสาบอินเลและคนประมงผู้ใช้เท้าแจวเรือเป็นภาพจำมากกว่าชื่อเมือง

ผมเดินทางไปพุกามจากที่นี่ด้วยวิธีพิเศษ เพราะชายคะเรน (กะเหรี่ยง) จากเกสต์เฮาส์ที่ยองชเวบอกว่ารถบัสที่เดินทางไปพุกามเต็ม ทั้งที่นั่งปกติและที่นั่งเสริม ด้วยความที่เป็นนักท่องเที่ยว ‘โยเดีย’ ผู้มีวันหยุดจำกัดจำเขี่ยและต้องยึดโปรแกรมเดินทางเป็นพระเจ้า ตอนนั้นก็จำต้องกราบกรานให้เขาหาทางช่วย

เขาปรึกษากับใครบางคน แล้วยื่นข้อสรุปมาให้ฟังว่า จริงๆ แล้วยังมีอีกทางหนึ่ง แต่เป็นการเดินทางแบบ ‘คนถิ่น’ ซึ่งเขายืนยันว่าไม่เคยมีนักท่องเที่ยวไปด้วยวิธีนี้มาก่อน นั่นก็คือนั่งรถกระบะสองแถว…ก็โอเคนี่ครับ แถวบ้านผมก็มีสองแถว ไม่เห็นจะลำบากลำบนตรงไหน

เมื่อทัวริสต์ไม่ออกอาการสะทกสะท้านต่อคำเตือน เขาจึงจัดแจงส่งเราไปที่ถนนใหญ่เพื่อรอรถไปพุกามตอนตีสี่

ทันทีที่รถมาถึง…ใช่ครับมันเป็นรถปิ๊กอัพจริง แต่ไม่ได้มีแค่ 2 แถว ถ้าจำไม่ผิดมันถูกซอยที่นั่งตามแนวขวางรถประมาณ 5 แถว ผมจำต้องปีนขึ้นไปนั่งคุดคู้อยู่บนนั้น ในสภาพขาขยับไม่ได้ หัวก็โงไม่ขึ้น

ระหว่างทาง ถนนพม่าสมัยนั้นก็ใช่ว่าจะราบเรียบ ส่วนใหญ่เป็นทางโรยหินโรยกรวดผสมลูกรัง (มีเหวด้วย) รถกระป๋องที่ผมนั่งอัดอยู่มันก็เหมือนมีก๊าซ เมื่อถูกเขย่าแรงๆ มันต้องมีพุ่ง แล้วก็มีจริงๆ คนถิ่นที่ว่าชินแล้วยังชะโงกหน้าบ้วน คาย พ่น (บางคนพุ่งจริงๆ) อาหารในกระเพาะออกมาทางปากกันตลอดทาง

สรุปว่าร่างกายบวมๆ ของผมไม่สามารถทนทานการอัดแน่นได้นาน เพื่อนสาวร่วมทริปซึ่งมีรูปร่างกะทัดรัดกว่าผมเสนอให้แลกที่กัน โดยให้ผมไปนั่งหน้ารถแทน

พอได้มานั่งที่เบาะด้านหน้า ถึงได้รู้ว่าคนขับรถสองแถวหน้าเข้มพูดไทยได้ ‘วิษณุ’ คือชื่อของเขา

พี่วิษณุเป็นพม่าเนปาลที่ทำงานร้านขายผ้าแถวสุขุมวิทอยู่ 11 ปี เขากลับมาพม่าได้นานแล้ว ในปีนั้นเขาบอกเราว่าชื่อจริงของ ‘The Lady’ ยังเป็นสิ่งต้องห้าม เช่นเดียวกับการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติขอวีซ่ายาก และการเดินทางท่องเที่ยวต่างเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องยื่นพาสปอร์ตที่จุดตรวจอยู่เป็นระยะๆ

ครั้งนั้นเรา (ทั้งสาม) แฝงตัวอยู่ในรถของคนถิ่น และด้วยหน้าตาที่ละม้ายและดูจะกลมกลืน ทำให้ไม่ถูกตรวจเลยสักครั้ง แม้แต่ด่านเข้าเมืองพุกาม ซึ่งถือเป็นเขตโบราณสถานที่นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าเมือง…เราก็ผ่านมาได้อย่างสะดวกโยธิน

มารู้เอาตอนหลังจากพี่วิษณุว่า จริงๆ แล้วเป้าหมายของสองแถวคันนี้ไม่ใช่พุกาม เป็นเพียงแค่ทางผ่าน และที่เขาขับเข้าเมืองยองอูมาส่งเรานั้นเป็นทางอ้อม ซึ่งก็หมายถึงพี่วิษณุต้องพาผู้โดยสารที่อัดแน่น (ช่วงหลังๆ มีนั่งบนหลังคาด้วย) วนมาส่งคนไทยเฉิ่มๆ 3 คนถึงหน้าโรงแรมอีเด็นจนเย็นย่ำค่ำมืด

และเมื่อลงจากรถ แบกเป้ขึ้นหลัง รัศมีทัวริสต์ก็ปรากฏ ซึ่งคนที่เห็นไม่ใช่เรากันเอง แต่เป็นบรรดาสามล้อถีบ แท็กซี่ และใครต่อใครอีกมากมายเข้ามารุมเต็มไปหมด

“ไปโรงแรมที่เราดูไว้นะ ไม่ต้องไปตามพวกนี้” พี่วิษณุตะโกนไล่หลังมา เราร่ำลากันหลังประโยคนี้

mandalay-1

กุมารกับมัณฑะเลย์

ปี 2012 มัณฑะเลย์ เมืองที่คนส่วนใหญ่เป็นพม่าจีน รถยนต์ใหม่และหรูวิ่งเกลื่อนถนน ต่างจากย่างกุ้ง ที่แม้ระบบสาธารณูปโภคจะดีกว่า แต่เพราะคนส่วนใหญ่เป็นพม่าอินเดีย สถานะทางเศรษฐกิจจึงต่างกัน รถยนต์ที่ย่างกุ้งจึงเก่าเหมือนผ่านสงครามมา และต้องประหยัดน้ำมันจนไม่มีใครกล้าเปิดแอร์

แต่สิ่งที่สองเมืองใหญ่นี้เหมือนกันเปี๊ยบ คือ ไม่ปรานีในการใช้เสียงด้วยการตะโกนและกดแตรอย่างบ้าระห่ำ

หลังจากหย่อนก้นลงบนเก้าอี้พลาสติกในร้านเบียร์คนถิ่นที่เมืองมัณฑะเลย์ เจ้าของร้าน – เฮียสายฟ้า (เขาบอกว่าเคยมีชื่อไทยแบบนี้) พม่าเชื้อสายจีนที่เคยใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ที่เยาวราช พบกับความล้มเหลวในการสื่อสารกับเรา (ทั้งสอง) ล้มเหลวขนาดสั่งข้าวเปล่าแล้วได้หมี่ผัด

เฮียเดินไปตามเพื่อนคนหนึ่งเพื่อช่วยพูดภาษาอังกฤษ เขาคนนั้นขี่มอเตอร์ไซค์มา กล่าวเฮลโหล สักพักเหมือนคิดได้ เขาเปลี่ยนโหมด “คนไทยใช่ไหมครับ ผมพูดไทยได้”

‘กุมาร’ ชายเนปาลสัญชาติพม่าเคยทำงานที่ร้านขายผ้าย่านประตูน้ำอยู่ 6 ปี ก่อนระเห็จตัวเองไปขายซิการ์ กัญชา (ถูกกฎหมาย) และบุหรี่ ที่พรมแดนเบลเยียมกับฝรั่งเศสอยู่อีก 6 ปี ปัจจุบัน ในวัย 35 เขาพูดได้เกือบ 10 ภาษา หลังจากมาเดินยิ้มอยู่ในมัณฑะเลย์ได้ 3 เดือน กุมารยืนยันว่า เขาอยากกลับมาอยู่บ้าน

“ตอนอยู่เมืองไทยผมรับ Bangkok Post ทุกวัน คนที่นี่เขาอ่านหนังสือพิมพ์กันเยอะนะ ตอนเช้าๆ ก็จะนั่งคุยเรื่องการเมือง”

ถึงจะมีร้านหนังสือไม่มาก แต่ที่พม่ามีแผงหนังสือพิมพ์กระจายไปทั่ว ส่วนใหญ่เป็นข่าวการเมือง ผมไปพม่าช่วงหลังเลือกตั้งอเมริกา บนหน้าข่าวจะมีแต่รูปโอบามา ออง ซาน ซูจี และ เต็ง เส่ง ส่วนร้านหนังสือที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็จะมีตำราการเมือง ทั้ง มาร์กซ์ เหมา เลนิน และนายพลออง ซาน หลายคนที่ไม่ปฏิเสธบทสนทนาเรื่องการเมืองในประเทศ พวกเขารู้เรื่องการเมืองไทย พอๆ กับที่รู้ว่าโอบามากำลังจะไปพบ ออง ซาน ซูจี และยังสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพม่า จีน และอินเดีย ได้อย่างละเอียดยิบ

หลังจากการเปลี่ยนแปลงในพม่าเมื่อปีที่แล้ว ไม่มีหน่วยลับมาจับตาดูนักท่องเที่ยว ชื่อของซูจีและพ่อของเธอไม่เป็นสิ่งต้องห้าม เราสามารถเห็นรูปของทั้งสองคนอยู่ทุกที่ ทั้งบนผนัง บนรถ บนเสื้อยืด มีแม้กระทั่งโปสเตอร์ ASSK – Aung San Suu Kyi

“ที่นี่ดีขึ้น 500 เปอร์เซ็นต์”

พม่าเป็นตัวอย่างที่ดีของความเป็น ‘พหุ’ และ ‘สห’ เพราะประกอบด้วยชนชาติอย่างเป็นทางการ 135 ชนชาติ กับอีกนับร้อยภาษาพูด ลำพังบนถนนเส้นหนึ่ง เราก็สามารถเจอคนได้มากกว่า 100 เชื้อชาติ

myanmar girl

“ในเมืองไทยคุณอาจจะบอกว่าเราเป็นสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย แต่ที่นี่ไม่ใช่ อย่างผมสัญชาติพม่า แต่เชื้อชาติเนปาล เป็นพม่าเนปาล” เขาอธิบายถึงหลักการที่ว่า Nation ไม่ต้องเป็นเนื้อเดียวกับ Race เพราะหลายชนชาติในพม่ามีธงชาติ มีภาษา และมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง

“อย่างบางคนที่แข็งๆ หน่อย เวลาเขาเห็นพวกสินค้าที่บอกว่าทำในพม่า เขาก็จะพูดว่า อ้อ…มันทำที่ประเทศพม่า หมายถึงไม่ใช่ประเทศของเขา เขามีประเทศของเขาเอง คนส่วนใหญ่ไม่ใช่พม่าแท้ๆ”

นายพลออง ซาน พ่อของ ออง ซาน ซูจี เคยพยายามสลายความต่างทางชนชาติที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษฝังไว้ด้วยวาทะอมตะ “ถ้าชาวพม่าได้เงิน 1 จ๊าต ทุกคนก็ต้องได้ 1 จ๊าตเหมือนกัน”

ผมถามเขาว่า ถ้า ออง ซาน ซูจี มีอำนาจ พวกเขายังอยากจะมีชาติของตัวเองอีกไหม

“ไม่แล้ว” เข้าใจว่าเขาคงสามารถอ้างอิงอุดมการณ์ของนายพลออง ซานได้

“สมัยก่อน ประมาณสี่สิบห้าสิบปีแล้ว ยังมีนายกฯไทยที่เป็นทหารเคยพูดว่า ไทยยังตามหลังพม่าอยู่หลายปี ผมจำชื่อเขาไม่ได้” เขาย้ำว่าตอนนั้นเป็นเรื่องจริง แต่เวลาผ่านไป ตรรกะจากอดีตไม่สามารถใช้การได้อีกแล้ว – ในอนาคตตรรกะที่ไทยนำหน้าพม่าอยู่ในปัจจุบันก็กำลังจะกลายเป็นอดีตเช่นกัน

อย่างน้อยที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินมัณฑะเลย์ก็มีการเปิดช่อง ASEAN Lane แล้ว แม้จะยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ขณะที่ของดอนเมืองใช้กระดาษ A4 ปรินท์คำว่า ASEAN Lane ไปแปะไว้เก๋ๆ

bagan-3

พุกามกับแผ่นดินไหว

ปี 2012 ผมเดินทางมาพุกามอีกครั้ง นักท่องเที่ยวเยอะขึ้นมากเมื่อเทียบกับครั้งก่อน จนหวิดจะหาที่นอนไม่ได้ หลังจากต้องทนนอนฟังเสียงพัดลมครางเหมือนซอมบี้อยู่ในห้องชั้น 5 ราคา 20 ยูเอสดอลลาร์ที่มัณฑะเลย์อยู่ 2 คืน ผมหวังว่าจะหาที่ซุกหัวนอนราคาถูกๆ ในพุกามเหมือนที่เคยมาครั้งก่อนได้

เรา (ทั้งสอง) ไปพักที่อีเด็นโมเต็ล ที่เดียวกับที่พี่วิษณุเคยพาเรามาส่งเมื่อ 3 ปีก่อน ครั้งนั้นเราพักห้องสำหรับ 3 คนในราคาคืนละ 12.5 ยูเอส แต่ตอนนี้ห้องพักเต็ม เหลือเพียงห้องเดียว ซึ่งก็คือห้องแบบที่เราเคยนอน…ห้อง 3 คน แต่ราคาพุ่งกระจุยไปถึงคืนละ 35 ยูเอสดอลลาร์! ผมพยายามหยิบใบเสร็จเมื่อตอนมาพักครั้งก่อนให้ดู ทางโรงแรมยิ้มแล้วส่ายหน้า

เหมือนที่พี่กุมารพูดว่า อะไรๆ เปลี่ยนไปเยอะ ที่พุกาม นักท่องเที่ยวเยอะขึ้นมาก ผิดกับตอนมาครั้งก่อนที่ผมรู้สึกเหมือนยึดเมืองได้ ตอนนี้ของแพงขึ้น ทางการเริ่มเข้ามาเล่นเรื่องการท่องเที่ยว สภาพเมืองก็เปลี่ยนไป มีธนาคาร มีเอทีเอ็ม และโรงแรมหรูเริ่มตอกเสาเข็ม

ผมไปเยือนเหล่าเจดีย์พุกามเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกไปด้วยรถม้า และไปมาเกือบครบทุกที่ ครั้งนี้เราตัดสินใจเช่าจักรยาน (สภาพย่ำแย่) ปั่นไปเรื่อยๆ

ตรงจุดชมวิวพระอาทิตย์ตก (ผมจำชื่อเจดีย์ไม่ได้) ครั้งแรกที่ผมเคยไป มันไม่มีใครเลย แต่ตอนนี้คนหลายร้อยกำลังแย่งกันปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูงเหมือนมดหนีน้ำ โดยเฉพาะบรรดาสมาคมช่างภาพที่ต่างพกสรรพอาวุธติดกล้องมาเต็มพิกัด – ผมขำ และเริ่มถ่ายรูปหัวคน

วันถัดมา ระหว่างนั่งกินข้าวเช้าบนดาดฟ้าชั้น 3 โรงแรมอีเด็น ผมรู้สึกว่าตึกโยก เก้าอี้เริ่มสั่นช้าๆ ฝรั่งโต๊ะข้างๆ ก็รู้สึก เขาลุกขึ้นยืนและมองหน้ากัน ขณะที่พนักงานโรงแรมทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผมอนุมานเอาว่าคนพม่าค่อนข้างชินกับแผ่นดินไหว ประกอบกับคำบอกเล่าของพี่กุมาร ผมคิดว่าเปลือก ‘โลก’ ของพม่ากำลังจะมีการเคลื่อนครั้งใหญ่ในไม่ช้า

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY 56 ปรับปรุงฉบับออนไลน์อีกครั้งที่นี่

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า