บ้านของฉัน ฝันของเธอ ระบายสีบนระเบียงเศรษฐกิจ EEC ในฝันเธอนั้นมีฉันอยู่บ้างไหม

บ้านของฉัน

เราถาม สายชล เจริญศรี ว่าเขาประกอบอาชีพอะไร คำตอบของคนหนุ่มวัย 51 ปี ชวนเราไล่เรียงตั้งแต่ทำนา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ทำประมงพื้นบ้าน และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ทุกตารางวาของผืนดิน และกว้างยาวของผืนน้ำ เขาสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้เลี้ยงตัวได้สบายๆ

“อาชีพของผมตั้งแต่ดั้งเดิมเลยก็คือทำนา แล้วก็เลี้ยงกุ้ง หลังจากที่เก็บเกี่ยวแล้วก็เลี้ยงปลาในนาข้าว เป็นรายได้ที่เรียกว่ามั่นคงเลย อยู่กินกันอย่างไม่เดือดร้อน แล้วก็ไม่เคยขอร้องให้ทางการเขาช่วยเหลืออะไร เพราะว่าพื้นที่แถวนี้มันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างที่เห็น ตื่นเช้ามาเนี่ยได้เป็นตังค์แล้ว ไม่เคยออกไปรับจ้างอะไรเลย หากินกันแถบบ้านเรานี่แหละ พอแล้ว”

บ้านสามขันธ์ ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นบ้านของสายชลนั้นอุดมสมบูรณ์มาก เราถามว่าอะไรที่ชี้วัดสิ่งเหล่านั้นถึงความครบพร้อมของแผ่นดินที่ตอบแทนทั้งความสุขและรายได้ เขาอธิบายผ่านกิจวัตรประจำวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ผ่านวันเดือนที่เคลื่อนผ่าน และฤดูกาลที่เอื้ออำนวยให้ชีวิตหนึ่งๆ อยู่ได้ ผ่านเศรษฐกิจระดับฐานรากที่ช่วยให้รายรับมากกว่ารายจ่ายอยู่เสมอ

“กุ้งนี่เราไปส่งแพ เขาจะเปิดตั้งแต่ประมาณตี 3-4 แล้ว เปิดรอเลย พอไปถึงเราก็ส่งเลย

“ประมาณตี 4-5 ก็จับกุ้ง ปู ไปขายได้แล้ว ส่วนปลาก็เอาไว้จับช่วงใกล้ๆ จะทำนา อย่างเมื่อเช้านี้ไปขายก็ได้เงินมา 1,600 บาท มันก็จะได้น้อยหน่อย ถ้าเกิดตอนช่วงน้ำเยอะเราก็ดักลอบ ช่วงนั้นจะได้เยอะ

“ส่วนปูไข่นี่ขายกิโลกรัมละ 600 บาท พวกปูทะเลเนี่ยเราต้องเลี้ยง ต้องซื้อลูกมาปล่อย แต่อันที่จริงสมัยก่อนมันไม่ต้องซื้อหรอก ปูทะเลเนี่ยมันเยอะแยะ แล้วตัวเล็กๆ แบบนี้ก็ไม่เอาหรอก เราปล่อยกลับลงไปเหมือนเดิม คัดแต่ตัวใหญ่ๆ ก็พอ”

ที่บ้านของ เกตุสดา ผาสุข ด้านหลังมีบ่อดิน ถัดมาเป็นบ่อปูน และหน้าบ้านมีระบบท่อต่อโยงกับถังลำเลียงน้ำให้หมุนเวียนตลอดเวลาเพื่ออนุบาลปลานิลจิตรลดาแปลงเพศ บ้านของเธอเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกปลานิลที่มีลูกค้าจากทั่วประเทศ

“การเลี้ยงปลานิลจิตรลดาแปลงเพศเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน คือปลาตัวนี้มันสร้างรายได้ให้เราดี ผลผลิตก็ดี แล้วรายได้แต่ละเดือนเลี้ยงชีพเราได้”

เกตุสุดา ผาสุข
เกตุสุดา ผาสุข เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิลจิตรลดาแปลงเพศ

3 วันหลังจากออกไข่ ปลาเหล่านี้จะเริ่มเป็นตัวและนำไปสู่การอนุบาลในถังเพาะไข่ โดยใช้ระยะเวลาในถาดฟักไข่ประมาณ 21 วันเพื่อให้ลูกปลากินฮอร์โมนกระทั่งสามารถเปลี่ยนเพศปลาให้กลายเป็นตัวผู้ได้ พอได้ขนาดเท่าใบมะขาม หรือราว 1.5-2 เซนติเมตร ก็จะถูกขายตัวละ 25 สตางค์ นั่นเท่ากับว่าพันธุ์ปลาหมื่นตัวเปลี่ยนเป็นเงินได้ 2,500 บาท นี่คือตัวอย่างรายได้เบื้องต้นที่ทำเงินให้ครอบครัว แต่หากบวกลบกลบหนี้ทั้งครัวเรือนแล้วพบว่า กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องนี้สร้างรายได้ถึงเดือนละหนึ่งแสนบาท สิ่งที่ทำให้แผ่นดินเกิดของเธอตอบแทนเป็นเงินได้ถึงเพียงนี้ก็คือน้ำ

“น้ำดี ปลาเราก็ดี เราสามารถถ่ายเทน้ำได้ น้ำเป็นจุดสำคัญของเรา ควบคู่ไปกับชีวิตเราเลย ถ้าเกิดไม่มีน้ำ น้ำเสีย เราก็ไม่สามารถหากินได้”

ถ้าน้ำไม่ดีจะสามารถเพาะพันธุ์ได้ไหม เราถามย้ำ

“ไม่ได้ๆ น้ำไม่ดีนี่ตายหมด เราต้องการน้ำที่สะอาดที่สุด” เธอตอบ

คนที่ตำบลเขาดิน รู้จัก ประสิทธิ์ ลิ้มซิน ในชื่อของ ‘ไต๋น้อง’ บ้านของเขาอยู่ริมคลอง วัดระยะจากท่าหน้าบ้าน ล่องเรือไปตามคลองจะถึงแม่น้ำบางปะกงด้วยระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที สายคลองที่เชื่อมถึงแม่น้ำกระทั่งออกสู่ท้องทะเลสร้างอาชีพให้เขาสารพัด และพาครอบครัวมาไกลจากจุดเริ่มต้นมาก

“สมัยก่อนก็ไม่มีอาชีพอะไร ก็ทำจาก หากุ้ง หาปลา สมัยนั้นนาก็ยังไม่ได้ทำ ลูกก็ยังเล็ก ต้องอาศัยกางอวนในแม่น้ำทำอาชีพประมง ทำกุ้งบ้าง กะปิบ้าง ก็ทำเรื่อยมา จนส่งลูกจบได้ 2 คน คนนึงจบเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) อีกคนจบราชภัฏแปดริ้ว (มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์) จบปริญญาทั้งคู่ก็ด้วยอาชีพในแม่น้ำเรานี่แหละ ไม่ได้มีใครมาช่วยเหลือเลยครับ กุ้งหอยปูปลาช่วยเราทั้งนั้น”

หิ่งห้อยและต้นไม้ในละแวกนี้คุ้นหน้าเขาเป็นอย่างดี เพราะนอกจากทำประมงแล้ว ไต๋น้อง ยังเป็นคนนำเที่ยวและศึกษาระบบนิเวศ แน่นอนว่าดาราประจำค่ำคืนหาใช่ใคร แต่เป็นหิ่งห้อยแห่งแม่น้ำบางปะกงที่เกาะบนต้นลำพูจนคล้ายแสงไฟบนต้นคริสต์มาส

“ช่วงฤดูหนาวจะเยอะมาก แล้วอีกอย่างนึงก็คือ ฤดูหนาวมันจะมีน้ำจืดกับน้ำเค็ม น้ำก็จะกร่อยๆ ช่วงนั้นจะมีเยอะ แล้วถ้าช่วงที่เค็มจัดจะไม่มีน้ำกิน มันก็จะบางหน่อย แต่ก็ไม่ถือว่าน้อยมาก ต้นนึงมันก็ยังมีหลายร้อยตัว แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาว พฤศจิกายน-ธันวาคม บางต้นสวยๆ ต้นหนึ่งมีเป็นพันๆ ตัวเลย”

หิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อระบบนิเวศ ไต๋น้อง อธิบายว่า ที่นี่มีแสงไฟจากชีวิตของพวกมันเยอะก็เพราะสภาพแวดล้อมยังดีอยู่ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือความเงียบ ที่เอื้อให้ความบอบบางนี้มีชีวิตรอด

“คือว่ามันเงียบไง แล้วน้ำในลำคลองมันก็ยังพออยู่ได้ ยังพอมีแร่ธาตุที่พอจะหากินได้

“ไฟสว่างก็ไม่อยู่ พวกนี้ต้องอยู่ที่มืด แล้วอีกอย่างหนึ่งก็แบบว่า ถ้าเราไปดูงี้ แล้วถ้าเราใช้แฟลชหรือใช้ไฟฉายส่องมันก็จะช็อกตาย มันจะหล่นตายเลยครับ เวลามาดู เวลาจะถ่ายรูป ต้องขอถามก่อนว่าใช้กล้องแบบไหน ไม่งั้นมันจะหมด ต่อไปเด็กรุ่นหลังมันจะไม่มีดู

“ถ้าธรรมชาติจบ ชีวิตพวกมันก็จบ เพราะพวกนี้มันจะกินพวกหอยทาก หอยอะไรพวกนี้ มันจะลงมารุมกินหลายๆ ตัว เวลานี้พวกหอยทากมันก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าเกิดโรงงานขึ้นเต็ม หรือว่าสิ่งแวดล้อมมันไม่ดีแล้ว พวกนี้ก็จะหมด”

ฝันของเธอ

“เศรษฐกิจเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นการเติบโตภายใต้โครงสร้างการพัฒนาที่เข้มแข็งเปรียบเสมือนเป็นต้นทุนของประเทศ ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยห่างหายจากการลงทุนโครงการใหญ่ๆ ไปนาน นับตั้งแต่การลงทุนในยุคอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่เปลี่ยนโฉมจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม

“ทว่า วันนี้แนวโน้มอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยต้องลุกขึ้นมายกระดับประเทศใหม่เพื่อความอยู่รอด และเพื่อเป็นการสร้างฐานความเจริญครั้งใหม่ของประเทศ ซึ่งวันนี้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้กลายเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

“เพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมายนั้น จึงต้องมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่องใน 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง อีกทั้งยังได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการลงทุน และการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการจัดระบบการสะสมเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

ข้อความเหล่านี้คือเหตุและผลที่นำมาสู่การเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่ปรากฏในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) eeco.or.th

เจตนาดีเหล่านั้นนำมาสู่แผนพัฒนาพื้นที่ EEC 8 แผนซึ่งประกอบด้วย 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2. การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3. การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี 4. การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว 5. การพัฒนาเมืองใหม่และชุมชน 6. การพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางการเงิน 7. การประชาสัมพันธ์และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และ 8. การเกษตร ชลประทาน และสิ่งแวดล้อม

หากแผนพัฒนาแห่งเจตนาดีนี้สมหวัง ภายใน 10 ปี พื้นที่เหล่านี้จะถูกฉาบด้วยสีหลายเฉด ซึ่งแทนความหมายถึงนิคมอุตสาหกรรม / ปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม / พื้นที่พัฒนายานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และดิจิทัล / การแปรรูปอาหาร การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ / การแพทย์ครบวงจร

นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก / โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ / โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 / โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 / ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ / รถไฟทางคู่

โดยทั้งหมดที่ว่ามานั้นยังรวมถึงสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุนบรรษัทข้ามชาติจากทั่วโลกมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยในระยะเวลา 5 ปี จาก พ.ศ. 2560-2564 นั้น มีแผนการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นเงินมหาศาลที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชาติ

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ทุกโครงการบนแผนที่ฉบับเดียวกันนั้นจะปลูกสร้างบนผืนดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และแหล่งน้ำสำคัญของภาคตะวันออกที่หล่อเลี้ยงคนในพื้นถิ่นมายาวนาน และแหล่งทรัพยากรเหล่านั้นโดยหลักการแล้วไม่ได้สัมพันธ์เฉพาะเพียงภูมิประเทศที่เป็นแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงท้องทะเลที่โอบล้อมผู้คนไว้ด้วย

EEC Map
(ร่าง) แผนที่แสดงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ (อนาคตใน 10 ปี) ที่มา: https://tinyurl.com/y4nbx3s4

ความฝันอันซ้อนทับ

สรายุทธ์ สนรักษา เคยทำงานในบริษัทขนาดใหญ่มาก่อน แต่วันหนึ่งเขาตัดสินใจลาออกมาประกอบอาชีพเลี้ยงไรแดงซึ่งเป็นอาหารชั้นเลิศของลูกปลาและลูกกุ้ง นอกจากนี้ยังมีบ่อปลาและต้นไม้น้อยใหญ่รายรอบบ้าน เราถามเขาว่ารายได้จากรอบสวนที่เห็นนั้นมากน้อยแค่ไหน เขาหัวเราะแล้วตอบว่า “ได้วันละหมื่น”

นอกจากเป็นเกษตรกร เขายังมีบทบาทสำคัญที่ทำงานภาคประชาชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะการสู้กับนิคมอุตสาหกรรมที่มีความฝันคนละอย่างแตกต่างจากเขาและเพื่อน

ไม่ว่าจะรู้จักเขาหรือไม่ แต่ใบหน้าของ สรายุทธ์ ถูกจดจำในวงกว้างเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อเขายกมือขึ้นถามในเวทีดีเบตของพรรคการเมืองที่กำลังพูดเรื่อง EEC อย่างออกรสออกชาติ คำถามของเขาทำให้หลายคนที่นั่งอยู่ใต้สปอตไลท์ต้องจ้องเขม็งมายังเจ้าของเสียงพูด โดยเฉพาะนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเดิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาล คสช.

“ท่านมีข้อมูลไหมว่ารถไฟความเร็วสูงที่ท่านปั้นมาด้วยความภาคภูมิใจนักหนานั้น อยู่บนพื้นที่เสี่ยงภัยท่อแก๊สระเบิดสูงสุดถึง 10 กิโลเมตร

“คำถามต่อไปก็คือพื้นที่ที่ท่านจะส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งหลายแหล่มันอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี อำเภอพานทอง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางปะกง ที่ท่านจะปั้นให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมนั้นผลิตข้าวปลาอาหารให้คนทั้งประเทศกิน ซึ่งท่านจะเอาโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมไปตั้งไว้ตรงนั้น

“ทุกวันนี้ที่ชลบุรีมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมพรุนไปหมดแล้ว โดยเฉพาะอำเภอบ้านบึง และอำเภอพนัสนิคม”

สรายุทธ์ สนรักษา
สรายุทธ์ สนรักษา

“แล้วท่านทราบหรือเปล่าว่า พื้นที่ที่ท่านจะส่งเสริมเป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งจริงๆ ท่านส่งเสริมไปแล้ว โดยเฉพาะอมตะนคร เมื่อวันที่ 26 (กุมภาพันธ์) ฝนตกชั่วโมงเดียวก็ท่วม เพราะพื้นที่ตรงนั้นอยู่ในเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วมตามข้อมูลของกรมโยธาธิการและผังเมือง ยังไม่รวมคันดินที่ทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเหล่านั้นเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ทุกวันนี้ก็ท่วม ฝนตกไม่กี่ทีก็ท่วม ชาวบ้านนอนไม่หลับ ก็ต้องมาระวังว่าจะท่วมอีกทีเมื่อไหร่

“อีกประการคือ พวกเราต่อสู้กับโครงการที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่นี้มานานนับ 10 ปี เราจะพ่ายแพ้เพราะเจอมาตรา 44 ซึ่งยกเลิกกระบวนการทำผังเมืองทั้งหมดเลย บ้านเราตอนนี้โรงงานจะไปตั้งที่ไหนก็ได้ จะเสี่ยงภัยน้ำท่วม หรือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีก็ไม่สน ขอเพียงตั้งให้ได้ เพื่อที่จะบอกว่า เศรษฐกิจจะดี ผมเชื่อว่าคนในพรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่งก็เคยไปแจกถุงยังชีพที่บ้านผม ยังไม่พออีกหรือ อมตะนครเคยท่วมท่านก็จะประกาศต่อว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ยังพังไม่พอใช่ไหม

“อีกเรื่องคือ ท่านบอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่แสมสารมีคนไม่ต่ำกว่าหกพันคน ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง ไม่ต่ำกว่าร้อยคน ตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ อาจจะถึงพันคนด้วยซ้ำ คนเหล่านี้จะไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกิน”

สิ้นคำถามของเขา คือคำตอบของ นายอุตตม สาวนายน ผู้ที่ผลักดัน EEC ในนามของรัฐบาล คสช. เพียงแต่วันนี้เปลี่ยนหมวกใบใหม่ก่อนลงสนามเลือกตั้ง

“เราน้อมรับความเห็นของท่าน เพราะเราพูดตั้งแต่ต้นแล้วว่า EEC ในมุมมองของพรรคพลังประชารัฐประโยชน์ต้องเกิดจริงในพื้นที่ แน่นอนว่าความต้องการของพื้นที่มีหลายมุม ฉะนั้นจึงต้องหาจุดที่ลงตัว ผมจึงเรียนว่าต้องมีมาตรการดูแล ถ้าจำเป็นต้องเยียวยา ก็ต้องเยียวยาอย่างเหมาะสม

“ผมเรียนเช่นนี้ว่า เรื่องสำคัญมากที่พี่น้องคนไทยทั้งประเทศสนใจมากก็คือเรื่องผังเมือง แล้วมันไม่ใช่เฉพาะ EEC กรณีผังเมืองใน EEC นั้นไม่ได้ใช้มาตรา 44 แล้ว เพราะวันนี้มี พ.ร.บ. EEC (พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561) ซึ่งกำหนดให้มีการศึกษาและวางผังเมืองในทุกพื้นที่ สำนักงาน EEC หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการ EEC เอง รวมทั้งคณะรัฐมนตรีไม่สามารถบอกได้ว่าจะเอาพื้นที่ไหนทำอะไร แล้ววันนี้ผังเมืองยังไม่ออกนะ มันต้องมาว่ากันใหม่ เขาขอใช้เวลา เขาต้องรับฟังท่าน รับฟังทุกคน เรื่องของผังเมืองทุกคนเป็นห่วง ในความเห็นผมถ้ายังไม่ใช่ก็ยังไม่ต้องออก ของเดิมมันมีอยู่

“อีกประเด็นก็คือ เรื่องของอุตสาหกรรม ต้องยอมรับว่ามันมีของเดิมตั้งอยู่ แต่ของ EEC นั้นต้องมาดูกันใหม่ ยอมรับว่ามีของเดิม แต่อย่างน้อยของใหม่ที่จะส่งเสริมต่อนั้น ไม่ใช่เปะปะที่ไหนก็สร้างได้ ต้องมาคุยกันว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมอย่างไร เหมาะสมกับเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม เกษตรถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของภาคตะวันออก ในความเห็นของพรรคพลังประชารัฐไม่ทิ้งแน่นอน เพราะถ้าเศรษฐกิจฐานรากคือเกษตรกรรมไปไม่ได้ ผมว่าของใหม่ทุกอย่างแม้กระทั่งการท่องเที่ยวก็ถูกกระทบ”

กัญจน์ ทัตติยกุล
กัญจน์ ทัตติยกุล

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

กัญจน์ ทัตติยกุล เป็นอาสาสมัครเครือข่ายเพื่อนตะวันออก เรามักเห็นเขาออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาบ่อยๆ

ในการประชุมชาวบ้านครั้งหนึ่ง เราถามเขาถึงผลกระทบจาก EEC ที่มีต่อคนตัวเล็กตัวน้อย เขายกประเด็นเรื่องการจัดการที่ดินมาอธิบาย เพราะจากการติดตามประเด็นนี้มาพักใหญ่ๆ เขาพบว่ามีชาวบ้านหลายรายที่ต้องเจอปัญหาที่ดินหลุดมือ

“ตั้งแต่ที่มีนโยบายเรื่อง EEC มา เราก็ได้ข่าวมาตลอดว่ามีการกว้านซื้อที่ดิน อาจเพราะที่ดินของฉะเชิงเทราอยู่ในมือของนายทุนส่วนหนึ่ง อยู่ในมือของคนที่ไม่ได้ทำภาคเกษตรโดยตรงเองส่วนหนึ่ง ก็คือให้คนเช่ามาก่อนอะไรแบบนี้ แล้วราคาที่ดินก็อาจจะยังไม่สูงเมื่อเทียบเท่ากับชลบุรี หรือว่าระยอง ฉะเชิงเทราก็เลยเป็นที่หมายปองพอสมควรในการเก็บสะสมที่ดิน ซึ่งอันนี้เราได้ยินมาตั้งแต่มีนโยบาย EEC มาเลย

“ถามว่ามันส่งผลอะไร เกษตรกรที่เขาอาจไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองนี่แหละที่สุ่มเสี่ยงมาก ถ้าที่ดินเปลี่ยนมือไป อาชีพที่เขาทำมาก็จะสูญไป หลายคนเช่าที่ดินมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ อันนี้เป็นเรื่องจริงในฉะเชิงเทรา มีกรณีแบบนี้เยอะมาก แล้วก็กำลังเจอเหตุการณ์ว่า เจ้าของขายที่แล้วก็ไล่เขาออกไป โดยที่เขาไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน”

เดิมที วันดี แซ่ลิ้ม หรือ ป้าม่วย มีอาชีพเกษตรกร ทั้งทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง หมุนเวียนเรื่อยไปตามแต่ฤดูกาลและเรี่ยวแรงจะเอื้ออำนวย วันดีคืนร้ายสิ่งที่ทำติดต่อกันมาหลายปีก็ต้องพังไม่เป็นท่า เพราะเจ้าของที่ดินซึ่งป้าม่วยเช่าเขาอยู่นั้นบอกเลิกสัญญา

“อ้าว สัญญายังไม่หมดเลย เหลืออีกตั้ง 2 ปี เขาก็บอกว่ายกเลิก เราก็เซ็นยกเลิกเฉยๆ เพราะว่าตอนนั้นไม่รู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้นตรงนี้ไง” เธอเล่าฉากสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต

“ไปๆ มาๆ เราก็ดูข้อมูลในโทรศัพท์ เขาบอกจะมีการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ตอนแรกก็คิดว่าดี ที่ไหนมันไม่ใช่อย่างนั้น มันมาทำโรงงาน

“เราลงทุนไปแล้วนี่ กู้ธนาคารไปแล้วตั้ง 5 แสนบาท ทีนี้จะไปทำอะไรได้ ก็ต้องนั่งมองเขา แรกๆ พอเขาซื้อเสร็จ ก็มีคนมารับจ้างถางป่าออก พอถางป่าเขาก็ถมดิน ระหว่างถมดินก็พยายามถามว่า ที่ป้าโดนหรือเปล่า? ที่ป้าเขาขายไปหรือยัง? เพราะเราลงของแล้ว เรายังไม่ได้เอาขึ้น ผ่านมาอีกทีพี่ชายของผู้ใหญ่บ้านเขาบอกว่า เขาขายแล้วนะป้า ให้ไปดูดน้ำออก เขาบอกว่าจะใช้พื้นที่ เราบอกท่อไม่มี เขาก็อาสาดูดน้ำออกให้เสร็จเรียบร้อย ทั้งๆ ที่ตรงนั้นป้าเช่า ยังมีสัญญาเหลืออีก 2 ปี ตอนนี้ไม่ได้อะไรเลยสักอย่าง

“ทุกวันนี้ไม่มีอะไรทำ ต้องมาอาศัยเขาอยู่ เขาก็ให้อยู่ สิ่งของต่างๆ ที่อยู่ที่เดิมเขาก็บอกให้รื้อออกมา ป้าก็รื้อออกมากองเอาไว้อยู่หลังบ้านที่ฝากไว้ตรงร้านนั่นแหละ”

ตรงนั้นที่เธอพูด คือริมถนนด้านนอกจุดพักรถมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ – ชลบุรี ฝั่งขาออก

วันดี แซ่ลิ้ม
วันดี แซ่ลิ้ม

วิน-วิน ซิทชุเอ๊เชิน

ฟากหนึ่งเล็งเห็นผลด้านบวก ฝั่งหนึ่งเล็งเห็นด้านลบ แต่หลายฝันของบ้านหลังเดียวกันจำเป็นต้องหาจุดสมดุล อย่างน้อยทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน เราถาม กัญจน์ ทัตติยกุล ว่า หากจะพาสถานการณ์ให้เป็นแบบ win-win situation จะต้องทำอย่างไร เขาตอบว่ายุทธศาสตร์ของคนตะวันออกต้องเดินบนเส้นแห่งความสุข

“เราได้ทำเป็นยุทธศาสตร์ทางเลือกมาแล้ว มันคือวิถีแห่งความสุข ที่จะเน้นการพัฒนาในหลายมิติไปด้วยกัน โดยจุดสำคัญคือ การที่เราจะสร้างคนให้กลับมาพัฒนาพื้นที่ ด้วยศักยภาพของพื้นที่มาต่อยอดในสิ่งที่เรามี กับเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรให้มันอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อะไรที่เสียหายไปเราก็ฟื้นฟูให้มันกลับมา เพื่อที่เราจะปรับสมดุลทางเศรษฐกิจเรา

“ที่เราสนใจเรื่องศูนย์กลางอาหารก็เพราะว่า ภาคตะวันออกนั้นมันมีศักยภาพที่มันจะเป็นศูนย์กลางอาหารมาก เพราะว่ามันมีการผลิตที่หลากหลาย มีต้นทุนที่ไม่สูง แต่มีคุณภาพดี และมันก็อยู่ในพื้นที่ที่สามารถส่งสินค้าไปได้ทั่วประเทศ ทั่วโลก

“มิติเรื่องเศรษฐกิจที่มันจะมาช่วยเราได้มากเลยคือ การท่องเที่ยว แต่เราก็ไม่ได้มองเรื่องการท่องเที่ยวสเกลใหญ่ เพราะเราคิดว่ามันเป็นเรื่องการลงทุนจากคนข้างนอกเป็นหลัก แต่เราสนใจเรื่องการท่องเที่ยวระดับชุมชน ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและเกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง แล้วมันต้องเป็นการท่องเที่ยวที่มาดูแลรักษาสิ่งดีๆ ในชุมชนให้มันยังคงอยู่ต่อไป หรือมาขับเคลื่อนให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น

“อีกเรื่องหนึ่งที่เราอาจจะคิดต่างกับแนวนโยบายของรัฐก็คือ รัฐอยากจะสร้างเมืองใหม่ แต่เราบอกว่าชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มันกระจายตัวอยู่ใน 3 จังหวัดนี้ เราควรต้องลงทุนกับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเราก่อน เพราะว่าถ้าเราลงทุนกับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของเราแล้วไม่มีขาดทุนแน่นอน มันไม่มีทางเสียเปล่า เพราะว่ามันมีคนที่อยู่อยู่แล้ว รวมถึงถ้าเราลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพชุมชน เพิ่มศักยภาพให้กับเมือง เราสามารถรองรับคนที่จะมาอยู่ใหม่ได้โดยที่เราไม่ต้องสร้างเมืองใหม่ ไปรุกล้ำพื้นที่ ไม่ต้องไปเวนคืน ไม่ต้องทำให้เกิดผลกระทบกับใครเลย เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่จะทำให้เรา win-win ไปด้วยกัน เดินไปด้วยกันจริงๆ แล้วคนท้องถิ่นก็จะได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนจริงๆ ครับ”

สนับสนุนโดย

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า