‘วิกฤต’ หรือ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ ผ่ารายงานสภาพัฒน์ฯ ไตรมาส 3 ถึงคราวกู้เงิน Digital Wallet 500,000 ล้าน แล้วหรือยัง?

เวทีดิเบตสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับฝ่ายค้านก้าวไกล เป็นการสวนหมัดทางการเมือง โดยฝ่ายค้านส่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ‘ไหม’ ศิริกัญญา ตันสกุล ขึ้นสังเวียนปะทะกับมวยมากประสบการณ์ของมุมแดงทั้ง ‘หมอเลี๊ยบ’ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ ‘หมอมิ้ง’ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กองเชียร์แต่ละฝ่ายต่างโหมปี่กลองสนั่นโลกโซเชียล โดยเฉพาะในประเด็นดีเบตว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้น ‘วิกฤต’ แล้วหรือยัง? 

หากเป็นที่ยอมรับตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ก็อาจนำไปสู่ความชอบธรรมในการกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อสนองโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (digital wallet) ตามที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้เมื่อครั้งหาเสียง

ในมุมของรัฐบาลเพื่อไทยนั้นมองว่า เศรษฐกิจปัจจุบันดำเนินมาถึงขั้นวิกฤตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ‘ตํ่ากว่าที่คาดการณ์ไว้’ แต่ทางพรรคก้าวไกลยังมองว่า ‘สูงกว่าที่คาดการณ์’ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายมองเศรษฐกิจไทยตรงกันว่า แย่และเติบโตช้า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา 

จนในที่สุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ได้เปิดตัวเลขผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ซึ่งเติบโตเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ ตํ่ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มุมแดงคาดการณ์ได้แม่นยำกว่าทางก้าวไกล และการคาดการณ์นี้ยิ่งสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในการช่วงชิงการนิยามเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต เพื่อจะบอกว่าประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องฉีดยาแรงกระตุ้น ด้วยการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินกู้นี้มาอัดฉีดเข้าระบบผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหัวละ 10,000 บาท ซึ่งเต็มไปด้วยข้อกังขาในการดำเนินนโยบายตั้งแต่ต้นถึงที่มาของงบประมาณ วิธีการบริหารจัดการ และหนี้สาธารณะ 

แม้ว่าตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 จะถูกตีความไปว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤตแล้ว จำเป็นต้องกระตุ้นขนานใหญ่ แต่เมื่อลองมองลงไปดูตัวเลขอื่นๆ ที่เป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ อาจทำให้หลายคนต้องกลับมานั่งพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ว่าเศรษฐกิจไทยโคม่าจริงหรือ

ผ่ารายงานสภาพัฒน์ฯ ส่วนไหนที่วิกฤต?

แน่นอนว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 ลงมาอยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ร้อยละ 0.3 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อพิจารณาจากส่วนต่างๆ ที่นำมาคิดเป็นผลผลิตมวลรวมพบว่า ‘การบริโภคเอกชน’ ในไตรมาสที่ 3 เติบโตถึง 8.1 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 และเป็นการขยายตัวมากที่สุดในรอบ 4 ไตรมาส อันมีปัจจัยหลักมาจากบริโภคภายในประเทศและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตในภาคบริการอีกด้วย ขณะที่อัตราการว่างงานตํ่า และภาวะเงินเฟ้อก็ลดจากไตรมาสก่อนหน้านี้ 

ด้าน ‘การลงทุนรวม’ สามารถแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนรวมภาคเอกชน ที่ขยายตัว 3.1 เปอร์เซ็นต์ แต่การลงทุนในภาครัฐมีเพียง -2.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสัมพันธ์กับ ‘การอุปโภคภาครัฐบาล’ ที่ลดลงไปที่ -4.9 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลจากการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าออกไป ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 เลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2567 

ขณะที่ ‘การส่งออกสินค้า’ อยู่ที่ -3.1 เปอร์เซ็นต์ สัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เติบโต แต่ลดลงอย่างน่าใจหายคือ -4 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ถึงแม้ว่าในทางตรงกันข้าม ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกไปยังต่างประเทศก็ตาม

สภาพัฒน์ฯ ยังได้แนะนำการบริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาคไว้ว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการคลังที่เหมาะสมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศ ควรคำนึงถึง ‘หนี้สาธารณะ’ ของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงถึง 63.8 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ขณะที่ ‘ภาระหนี้สินครัวเรือน’ ที่เรื้อรังมายาวนานก็ส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ 

ดังนั้น จากรายงานของสภาพัฒน์ฯ แม้จะไม่ได้ชี้ชัดว่า เศรษฐกิจไทย ‘วิกฤต’ หรือไม่ แต่จากตัวเลขแจกแจงรายละเอียดในแต่ละภาคส่วนชี้ให้เห็นว่า การส่งออก โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมและการอุปโภคภาครัฐบาลเข้าขั้นวิกฤตจริง

รัฐอัดฉีด 500,000 ล้าน เศรษฐกิจไทยพ้นวิกฤต แต่แข่งขันเพื่อนบ้านได้จริงหรือ?

การอัดฉีดเงิน 500,000 ล้าน ผ่านนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างน้อยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่การฉีดยาแรงนี้อาจไม่ตรงจุดฝีหนองเมื่อลองกลับไปพิจารณาตามปัจจัยต่างๆ ที่สภาพัฒน์ฯ ได้รายงานออกมา โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐนั้น ควรให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ที่ก้าวหน้า เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าหรือเทคโนโลยีชั้นสูง ที่จะทำให้งบประมาณภาครัฐกระจายออกไป ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงาน อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในอุตสาหกรรมใหม่ๆ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้เกษตรกร ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถนำเงินกู้ 500,000 ล้านบาท มาจัดสรรดำเนินการ แบ่งออกสำหรับภาคส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจไทย 

แน่นอนว่า แนวทางนี้กว่าจะเห็นผลก็คงต้องใช้เวลา แต่มีความยั่งยืนมากกว่าการทุ่มงบประมาณเพียงรอบเดียว หรือสามารถจัดสรรแยกส่วนตามความเหมาะสม จัดลำดับการอัดฉีด เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จจากนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน (dual track) ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่ปลุกเศรษฐกิจทั้งในภาคการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจฐานราก ให้กลับมาเฟื่องฟูหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง

ท้ายที่สุด ในสนามแข่งขันทางการเมืองนั้น การช่วงชิงนิยามของคำว่าวิกฤต อาจนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่จากนโยบายเงินหมื่น หากเพื่อไทยสามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ เป็นผลสำเร็จ แม้คำว่าวิกฤตจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าจริงหรือไม่ ท่ามกลางสายตาของคนอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่า นี่เป็นเพียง ‘ความถดถอยทางเศรษฐกิจ’ ที่ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง 2 ไตรมาสในปี 2566 ซึ่งหากถอยกลับไปมองจะพบว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะทรงๆ มาเป็นเวลานานแล้ว 

หากมองว่านี่คือภาวะถดถอย สิ่งสำคัญที่ไทยต้องทำมากที่สุดคือ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอย่างน้อยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มาแรงอย่างเวียดนาม ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เราพูดกันมาตั้งแต่ ‘ลมหายใจเฮือกสุดท้าย’ ของอุตสาหกรรมไทยนับตั้งแต่ EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ถือกำเนิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลประยุทธ์แล้ว

อ้างอิง     

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า