‘เอกวาดอร์’ จากประเทศต้นแบบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา สู่รัฐอาณานิคมแก๊งอาชญากรรม

ภาพกองกำลังติดอาวุธที่บุกเข้าไปในสถานีโทรทัศน์ TC Television ขณะกำลังออกอากาศ เมื่อวันที่ 9 มกราคม อาจเป็นภาพข่าวที่น่าตกใจกลัวของคนทั่วโลก แต่สำหรับชาวเอกวาดอร์ ภาพที่เห็นคืออาชญากรรมระดับเด็กๆ ที่ต้องการโชว์ผลงานให้กับบรรดาลูกพี่ในแก๊งอาชญากรรม ซึ่งภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ผู้ก่อเหตุทั้งหมดก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ต่างกับการลงมือของอาชญากรตัวจริงที่น้อยรายจะถูกทางการจัดการได้ 

หลายปีมาแล้วที่ชาวเอกวาดอร์ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสงครามนองเลือด ระหว่างองค์กรอาชญากรรมต่างๆ ที่ต้องการอวดศักยภาพของตนเองให้คู่แข่งและชาวเอกวาดอร์ได้เห็น ทั้งการตัดอวัยวะ การก่อจลาจลในเรือนจำ การลอบวางระเบิด การสังหารผู้นำ การสังหารนักข่าว ไปจนถึงผู้พิพากษา ปี 2023 เพียงปีเดียว ตัวเลขสถิติระบุว่ามีเหตุฆาตกรรมในเอกวาดอร์ 7,878 คดี มีเพียง 584 คดีที่ตำรวจสามารถจับผู้ก่อเหตุได้ 

ในเวทีระหว่างประเทศ เอกวาดอร์ยังได้รับการปฏิบัติในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่ผู้นำมาจากการเลือกตั้ง แต่ระบอบประชาธิปไตยแบบเอกวาดอร์กลับเปิดทางให้มีการลอบสังหารผู้แทนของพรรคการเมืองต่างๆ เฉพาะปี 2023 มีการสังหารคนในวงการการเมืองไปมากกว่า 10 คน เหตุส่วนใหญ่เกิดในจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องการค้ายาเสพติด การลอบสังหารบุคคลทางการเมืองที่โด่งดังที่สุดคือ การลอบสังหารเฟอร์นันโด วิลลาวิเซินซิโอ (Fernando Villavicencio) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะจับกุมตัวไว้ได้ แต่มือสังหารรายนั้นก็ถูกลอบสังหารขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ โดยรัฐไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ นอกจากนี้ยังมีการลอบสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองต่างๆ เช่น นายกเทศมนตรีเมืองมันตา (Manta) เมืองท่าสำคัญในอุตสาหกรรมค้าโคเคน ไปจนถึงที่ปรึกษาทางการเมืองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ 

เอกวาดอร์จึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่อยู่ในภาวะ ‘รัฐล้มเหลว’ ผู้คนไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ ทางเลือกหนึ่งของชาวเอกวาดอร์ที่ประสงค์จะมีชีวิตอย่างสงบคือ การเดินทางออกนอกประเทศทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย 

เดือนธันวาคม ปี 2022 เจ้าหน้าที่ศุลกากรและหน่วยลาดตระเวนตามแนวชายแดนของสหรัฐตรวจพบชาวเอกวาดอร์ที่พยายามเข้าเมืองตามแนวชายแดนตอนใต้ของสหรัฐมากถึง 16,000 คน มากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 24 เท่า และปี 2022 นี้เองที่เอกวาดอร์ถูกบันทึกว่าเป็นประเทศที่มีความรุนแรงมากที่สุดเป็นอันดับ 10 ในลาตินอเมริกา คดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2022 ทั้งปี สูงกว่าปี 2021 ถึงร้อยละ 82 

ที่สำคัญคือมีรายงานว่าแก๊งค้ายาต่างๆ ที่พบว่ามีหลายกลุ่มก้อนนั้น ต่างประสบความสำเร็จในการส่งผู้แทนของตนเองเข้าไปมีบทบาทในองค์กรภาคส่วนต่างๆ เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางการเอกวาดอร์ประกาศว่าสามารถจับกุมผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับสูงที่มีความเชื่อมโยงกับแก๊งอาชญากรรมต่างๆ ได้มากถึงกว่า 20 คน

นักวิชาการบางส่วนมองปรากฏการณ์ในเอกวาดอร์ว่า เป็นกระบวนการที่แก๊งอาชญากรรมที่เชื่อมโยงกับยาเสพติดกำลังล่าอาณานิคมหน่วยงานภาครัฐของเอกวาดอร์เอง เพื่อทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เปลี่ยนโฉมหน้าของเอกวาดอร์จากประเทศแห่งสันติที่มีเกาะกาลาปากอสเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ประเทศต้นแบบความมั่นคงที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดอลลาร์สหรัฐ ให้กลายเป็นประเทศแห่งวิกฤตและความรุนแรง 

เหยื่อทางภูมิศาสตร์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรอาชญากรรมและยาเสพติดเติบโตเบ่งบานในเอกวาดอร์คือ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ 

เอกวาดอร์เป็นประเทศที่มีประชากร 18 ล้านคน ทางเหนือติดกับโคลอมเบีย ทางตะวันออกและทางใต้ติดกับเปรู ซึ่งต่างเป็นผู้ผลิตโคเคนรายใหญ่ของโลก นอกจากนี้ยังมีแนวชายฝั่งยาวเกือบ 2,237 กิโลเมตร ทำให้เอื้อต่อการส่งผ่านยาเสพติดจากทวีปอเมริกาใต้เข้าสู่ตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 

ทศวรรษ 1980-1990 โคลอมเบียยังมีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่แล้วปี 2000 ทางการสหรัฐและโคลอมเบียได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการที่เรียกว่า ‘แผนโคลอมเบีย’ (Colombia Plan) เพื่อปราบปรามการค้าโคเคนของโคลอมเบีย สหรัฐทุ่มเทงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับโครงการนี้ ซึ่งประสบความสำเร็จได้ด้วยดี ทว่าการปราบปรามแก๊งค้ายาในโคลอมเบียทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแหล่งทำมาหากินจากโคลอมเบียไปสู่เอกวาดอร์ เข้าทำนองแก้ปัญหาที่หนึ่ง ปัญหานั้นก็ไปปูดโปนอีกทีหนึ่ง 

ความเกี่ยวข้องกับการปราบปรามการค้ายาเสพติดในโคลอมเบีย กับการเติบโตของแก๊งค้ายาเสพติดในเอกวาดอร์ เห็นได้จากรายชื่อของแก๊งอาชญากรรมในเอกวาดอร์ ที่ปัจจุบันมีกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติสำคัญ 3 กลุ่ม มีอิทธิพลอยู่ในประเทศ ได้แก่ กลุ่มซินาโล (Sinaloa) จากเม็กซิโก แก๊งเจเอ็นจีซี (Jalisco Nueva Generación Cartels) และกลุ่มมาเฟียบอลข่าน-อัลบาเนีย (Albanian-Balkan Mafia) ทั้ง 3 กลุ่ม เคยเป็นกลุ่มค้ายาที่ทรงอิทธิพลในโคลอมเบียมาก่อน และปัจจุบันกลายเป็นกระดูกสันหลังสำคัญขององค์กรอาชญากรรมและยาเสพติดในเอกวาดอร์

การเข้ามาของแก๊งค้ายาทั้ง 3 กลุ่ม ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับแก๊งค้ายาในเอกวาดอร์เอง โดยพบว่าส่วนมากผันตัวเองไปเป็นสมาชิกของทั้ง 3 แก๊งนั้น โดยมี ซินาโล จากเม็กซิโก เป็นเครือข่ายใหญ่สุด ขณะที่ปัจจุบันมีแก๊งค้ายาภายในประเทศประมาณ 22 แก๊งที่สำคัญ ได้แก่ โชเนรอส (Choneros) โลบอส (Lobos) ลาการ์ทอส (Lagartos) และไทเกอโรเนส (Tiguerones) 

ความรุนแรงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความพยายามขยายอิทธิพลของแก๊งค้ายาต่างๆ ที่นอกจากการข่มขู่รัฐและประชาชนทั่วไปแล้ว ยังต้องประกาศศักดาระหว่างแก๊งอาชญากรรมกันเองอีกด้วย เหตุฆาตกรรมที่น่าสยดสยองคือ การจงใจทิ้งศพในที่สาธารณะ การปลิดชีพนักการเมืองที่มีแนวโน้มถือหางแก๊งตรงข้าม ซึ่งการก่อเหตุทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อการสั่งสมบารมีของกลุ่มก้อนองค์กรอาชญากรรมต่างๆ

เศรษฐกิจเสรีนิยม ตัวเปลี่ยนเกมสำคัญพาเอกวาดอร์เข้าสู่วิกฤต

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักให้เอกวาดอร์เป็นสวรรค์ของขบวนการค้ายาเสพติด และช่วยเสริมจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ในการเป็นพื้นที่ค้ายาเสพติดที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ

ปี 2000 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี กุสตาโว โนโบอา (Gustavo Naboa) เอกวาดอร์เปลี่ยนสกุลเงินทางการที่ใช้ในประเทศ จากซูเกร (Sukre) เป็นดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การฟอกเงินของขบวนการค้ายาเสพติดเป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้หากค้นข้อมูลความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเอกวาดอร์จะพบว่า มีเหตุฆาตกรรมรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี เลนิน โมเรโน (Lenín Moreno) และประธานาธิบดี กิลเลอโม ราสโซ (Guillermo Lasso) ที่เน้นการพัฒนาประเทศตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ และปล่อยปละให้โครงสร้างเดิมของสังคมอ่อนแอ จนแก๊งค้ายาเสพติดเข้ามายึดครอง

แก๊งค้ายาเสพติดสามารถใช้เงินซื้อเจ้าหน้าที่รัฐในภาคส่วนต่างๆ ทั้งตำรวจที่ถูกซื้อเพื่อให้ช่วยแก๊งค้ายาสามารถเข้าถึงและครอบครองอาวุธได้ง่ายๆ การจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตุลาการ เพื่อให้คำพิพากษาที่มีสมาชิกในแก๊งตนเองตกเป็นจำเลยออกมาอย่างน่าพอใจ ปีที่แล้วสำนักอัยการสามารถบุกจับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและการดูแลความมั่นคงที่พบว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งค้ายาเสพติดได้มาถึงเกือบ 20 คน บุคคลระดับสูงที่โดนจับในครั้งนั้นรวมถึงประธานสภาตุลาการ อดีตผู้อำนวยการเรือนจำแห่งชาติ และผู้พิพากษาที่มีประวัติและผลงานน่าชื่นชมอีกถึง 10 คน สหรัฐอเมริกาเคยประกาศถอนวีซ่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอกวาดอร์มาแล้วหลายคน เพราะพบว่ามีประวัติเกี่ยวโยงกับการค้ายาเสพติด

สิ่งสำคัญที่โมเรโนปล่อยให้เกิดขึ้นจนกลายเป็นปัญหามาถึงปัจจุบันคือ การปล่อยให้กองกำลังกึ่งทหารของเครือข่ายยาเสพติด (narco-paramilitarism) เข้ามามีบทบาทในระบบความมั่นคงของประเทศ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความชอบธรรมและอาชญากรรม โดยเฉพาะด้านยาเสพติดเบลอและบางลง 

นอกจากนี้ในยุคสมัยของโมเรโน เขาได้สั่งให้รื้อระบบข่าวกรองเพื่อต่อต้านอาชญากรรม ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั่น อีกทั้งรื้อโครงสร้างกระทรวงยุติธรรม ไปจนถึงการประกาศยกเลิกกฎระเบียบทั่วไปในการค้าต่างประเทศ การสนับสนุนให้มีพื้นที่ด่านศุลกากรและท่าเรือเอกชน เพื่อสนับสนุนการค้าเสรีของประเทศ แต่ในทางกลับกันก็ไปอำนวยความสะดวกให้การลักลอบขนของผิดกฎหมายโดยเฉพาะยาเสพติดด้วย 

การปล่อยประเทศให้เติบโตแบบรัฐเสรีนิยม โดยที่ไม่มีการลงทุนทางสังคมด้านอื่นๆ เพื่อสร้างตลาดงานให้คนรุ่นใหม่ ทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทางเลือกของคนหนุ่มสาวคือการสมัครเข้าร่วมแก๊งอาญชากรรมแก๊งใดแก๊งหนึ่ง ไม่ใช่เพียงเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจที่แก๊งจะจ่ายเงินเดือนให้ หากยังรวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและครอบครัว ซึ่งหากเทียบแก๊งอาชญากรรมเป็นบริษัท ในปัจจุบันจะพบว่า ซินาโล (Sinaloa) จากเม็กซิโก เป็นบริษัทที่มีความมั่นคงสูงสุด เพราะมีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่าสามารถจ้างงานคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จนติดอันดับท็อปไฟว์ของประเทศ 

มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการ ระบุถึงการบุกยึดสถานีโทรทัศน์ TC Television ในเมืองกวายาควิล (Guayaquil) เมืองใหญ่สุดของเอกวาดอร์ และเมืองหลักเมืองหนึ่งในอุตสาหกรรมค้ายาเสพติดของประเทศ ในวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ว่าเป็นการแสดงผลงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกแก๊งค้ายาแก๊งใดแก๊งหนึ่ง 

การกลับคืนสู่รัฐภายใต้กฎหมาย

เหตุการณ์ความวุ่นวายในวันที่ 9 มกราคม 2024 นอกจากจะมีการบุกสถานีโทรทัศน์ TC Television ในระหว่างการออกอากาศสดแล้ว ยังเกิดเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธจับเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นตัวประกัน การหลบหนีจากเรือนจำของหัวหน้าแก๊งโซเนรอส ไปจนถึงการเกิดเหตุระเบิดหลายแห่งทั่วประเทศ ประธานาธิบดี ดาเนียล โนโบอา (Daniel Noboa) ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 60 วัน รวมถึง ‘ประกาศสงคราม’ กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ผู้เชี่ยวชาญพากันมองว่า เขามุ่งเอาจริงเอาจังกับการปราบอาชญากรรมโดยไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ของสังคม สุดท้ายก็อาจหนีไม่พ้นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีราสโซ เคยประสบ

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี กิลเลอโม ราสโซ เคยพยายามขั้นเด็ดขาดด้วยการใช้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุมประเทศ แต่ก็ไม่สามารถทำให้อาชญากรรมในประเทศลดลง ตรงกันข้าม สถิติอาชญากรรมกลับเพิ่มสูงขี้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น สิ่งที่ลดลงคือคะแนนนิยมของเขา จนทำให้ต้องตัดสินใจจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนเวลาที่กำหนดไว้ และกลายเป็นการเปิดทางให้โนโบอานักธุรกิจหนุ่มผู้ร่ำรวยเดินทางเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ การเลือกตั้งในปลายปีที่แล้วถูกมองว่าน่าจะเป็นจุดสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ในเอกวาดอร์อีกครั้งหนึ่ง แต่การรับน้องใหม่โนโบอา ที่เพิ่งขึ้นสู่อำนาจในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก็แสดงให้เห็นว่า ความหวังของชาวเอกวาดอร์น่าจะห่างไกลความจริง 

สุดท้ายการกลับคืนสู่รัฐภายใต้กฎหมายของเอกวดอร์ อาจไม่สามารถทำได้ด้วยระบบเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศเพียงลำพัง เพราะแรงผลักในการขับเคลื่อนให้เอกวาดอร์เดินทางมาสู่จุดวิกฤตนี้ บทบาทสำคัญอยู่ที่ปัจจัยภายนอก คือการเร่งปราบปราบการค้ายาเสพติดในโคลอมเบียของอเมริกา 

อ้างอิง

GameChangers 2023: Ecuador Loses Its Grip on Crime

Judges and Officials Fall as Ecuador Cleans House

How Ecuador went from being Latin America’s model of stability to a nation in crisis

The criminal colonization of Ecuador

Ecuador: On the Failed State and the return of the Rule of Law

How corruption and gang warfare transformed Ecuador

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า