เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
ปัญหาของระบบการศึกษาไทย จะว่าซับซ้อนก็ซับซ้อน แต่ไม่น่าเกินความสามารถที่จะแก้ หากรู้ต้นตอและรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงว่าอยู่ตรงไหน
ที่ผ่านมา มีผู้ขันอาสาเข้ามาแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยอยู่เรื่อยๆ และปัญหาส่วนหนึ่งก็ชัดเจนว่า มาจากการรวบอำนาจไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ การจะแก้ปัญหานี้ให้ลุล่วง จำเป็นต้องคลี่คลายและกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ระดับโรงเรียน และลงไปสู่หน่วยย่อยที่สุด นั่นก็คือ ห้องเรียน – นี่คือความคิดในเชิงอุดมคติที่เป็นจริงแล้วในฟินแลนด์ ประเทศที่มีมาตรฐานทางการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
นอกจากการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย เราอาจต้องกลับมาถามตัวเองด้วยว่า การเรียนรู้ของเด็กๆ ทุกวันนี้มีไปเพื่ออะไรกันแน่?
ก่อนที่ ประวิต เอราวรรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา (Institute for Research on Education System Foundation: IRES) จะตกผลึกว่า ระบบการศึกษาไทยจะแก้ไขอย่างไรดี เขาได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับแทบทุกจุดที่เป็น ‘ข้อต่อ’ ของการศึกษาไทยมาแล้ว ตั้งแต่สอบเข้าในโครงการผลิตครูแล้วไปเป็นครูประจำโรงเรียนในต่างจังหวัด เรียนต่อปริญญาโทซึ่งมีโอกาสทำวิจัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ถูกดึงตัวเข้าไปช่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะออกมาค้นหาคำตอบจากฝั่งมหาวิทยาลัย ในฐานะคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หนึ่งในนักพัฒนาการศึกษาที่ฝันอยากให้โรงเรียนทั่วประเทศเรืองแสงได้ด้วยตัวเอง เขาไม่เชื่อว่าจะมีจุดที่เรียกได้ว่าปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ
เพราะสำหรับเขา การศึกษานั้นมีชีวิต และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ทางยาวไกลสายการศึกษา
นอกจากมีคุณตาเป็นครูใหญ่ สิ่งที่หล่อหลอมให้ประวิตเลือกมาทางสายการศึกษาน่าจะเป็นการที่เขาสอบติดในโครงการคุรุทายาท (โครงการครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น) ที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี
หลังจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เขาต้องไปเป็นครูที่ต่างจังหวัด ปัญหาที่เขาเพิ่งรับรู้จากการได้สอนเด็กจริงๆ ก็คือ กรอบและข้อจำกัดของโรงเรียนที่ทำให้ครูหน้าใหม่อย่างเขาขยับตัวยาก
“พอเรียนจบ เราก็มุ่งมั่นไปทำงานที่โรงเรียนในชนบท ทำอยู่สองปี ปัญหาที่เห็นก็คือ เราเข้าไปอยู่ในโรงเรียนซึ่งเราไม่สามารถจะเปลี่ยนอะไรเขาได้เลย มันมีอะไรที่เป็นระเบียบ มีราชการ มีครูใหญ่ มีกรอบ มีทุกอย่างวางไว้แล้ว มีหนังสือหลักสูตรที่ต้องสอน มีทุกอย่างให้เดินตาม ความคิดสร้างสรรค์มันน้อยมากเลย”
แม้จะเปี่ยมไปด้วยไฟในแบบคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดเดิมๆ ประวิตพยายามคิดหาวิธีจัดการเรียนการสอนให้แตกต่าง ทว่าด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่เพียงพอ เขายอมรับว่าเป็นช่วงชีวิตที่หนักหนาเอาการ
“เราได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งตอนไปเป็นครูสองปีนั้นคือว่า เราหลงผิดมากเลย เราว่าเราเก่ง แล้วก็ไปสอนหนังสือ เราอยากจะสอนให้เด็กเขาเก่งเหมือนเรา ลืมนึกไปเลยว่า จริงๆ แล้วเรากำลังสอนหนังสือ แต่เราไม่ได้สอนคนเลย เราไม่ได้สอนเด็กเลย”
ปีแรกผ่านไป ประวิตรู้สึกว่า เขายังไม่ตกผลึกในตัวเอง และคิดว่ามีอะไรต้องเรียนรู้อีกมากก่อนจะมาเป็นครู เขาจึงตัดสินใจลาเรียนต่อปริญญาโทในช่วงปีที่สอง
“มีความรู้สึกว่า ต้องไปเพิ่มเติมโลกทัศน์ให้กับตัวเอง เพราะเรานึกว่าเราเก่งแล้ว เราจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่พอมาสอนเด็กแล้วกลายเป็นว่า เราสอนอะไรก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แล้วกลายเป็นว่าเราไปเคี่ยวเข็ญเด็กให้ท่องหนังสือ ทั้งที่ชีวิตเด็กบ้านนอกไม่ใช่ชีวิตที่เขาจะต้องมาเรียนแค่ตัวหนังสือ แต่มันคือโลกของความเป็นจริงที่เขาต้องอยู่กับท้องไร่ท้องนา อยู่แบบมีความสุขในวิถีของเขา”
ระหว่างเรียนต่อ เขาได้ไปทำวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษา มีโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้ประวิตเห็นบริบทที่แตกต่างกันของโรงเรียนในแต่ละภูมิภาค แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพบว่าทุกที่เหมือนกันหมดก็คือ
“มันมีกรอบ มี platform มีกติกา มีหลักสูตร มีหนังสือ มีอะไรก็แล้วแต่ที่สั่งการลงไปให้ครูทั้งประเทศทำเหมือนกัน ให้โรงเรียนทุกแห่งทำเหมือนกัน” ซึ่งทำให้ประวิตได้คิดว่า โรงเรียนแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องก้มหน้าทำตามจนกลายเป็นพิมพ์เดียวกันขนาดนั้น
ทางออกการศึกษาไทย ใครกำหนด
ระบบการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาทุกยุคทุกสมัย และยังไม่มีใครแก้ได้สักที กับคำถามที่ว่า เราจะหาทางออกให้การศึกษาไทยได้อย่างไร นั้นยากที่จะตอบให้ครบถ้วนและครอบคลุมทุกมิติ
“ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับระบบการศึกษาดีอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่น่าจะเคยเรียนมาในโรงเรียน หรือมีลูกหลานเรียนอยู่ พอพูดเรื่องการศึกษา ทุกคนจะพูดได้ วิจารณ์ได้ อย่างนั้นดีอย่างนี้ไม่ดี
“แต่ถามว่า ทั้งระบบเป็นอย่างไร แล้วอะไรคือรากเหง้าของปัญหา อะไรคือจุดคานงัดที่จะทำให้มันเปลี่ยนแปลงได้ ตรงนี้ไม่มีใครพูดทั้งระบบออกมา และไม่มีใครเข้าใจทั้งระบบ”
ประวิตยอมรับว่า ไม่มีใครที่จะสามารถเข้าใจทั้งระบบการศึกษาไทยด้วยตัวคนเดียวแน่ๆ
“การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำพร้อมกันทั้งสังคม หัวใจสำคัญคือ ทำอย่างไรจะระดมพลังคนทั้งสังคมมาพูดเรื่องการศึกษาในมิติที่เป็นทางออกมากกว่าจะบ่นปัญหาให้กันฟัง อันนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญ” สองงานหลักที่ประวิตมุ่งเน้นคือ หนึ่ง หาองค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาผ่านกระบวนการวิจัย นำไปสู่ชุดความรู้ที่เชื่อว่าได้ผลจากการลงมือปฏิบัติจริง และ สอง สร้างพลังเครือข่ายทางสังคมเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษา ซึ่งอย่างหลังถือเป็นงานโหดหินใช่ย่อย
เวลาพูดถึงการศึกษา จะมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ คนที่เสียประโยชน์เห็นๆ เลยก็คือคนที่มีอำนาจในการจัดการศึกษาอยู่ พูดง่ายๆ อย่างงบประมาณทางการศึกษาของประเทศไทยปีหนึ่งประมาณ 800,000 ล้านบาท รัฐจ่ายจริงๆ 500,000 กว่าล้าน ผู้ปกครองร่วมจ่ายอีก 200,000 กว่าล้าน ถ้าเกิดการกระจายอำนาจการจัดการการศึกษาจริงๆ ลงไปสู่ครอบครัว สู่ชุมชน สู่ท้องถิ่นจริงๆ คนซึ่งมีอำนาจในการใช้เงินเป็นแสนๆ ล้านเขาก็หมดอำนาจไป ตรงนี้เป็นต้น
หากยังจำกันได้ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ทั่วประเทศได้รับนโยบาย ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ (Moderate Class, More Knowledge) มาใช้ในโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น
ประวิตวิจารณ์นโยบายนี้อย่างเผ็ดร้อน เพราะไม่แน่ใจว่า การตั้งเวลาเลิกเรียนไว้ที่บ่ายสอง มีที่มาที่ไปหรือสามารถอ้างอิงจากผลการวิจัยที่เป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด
“ประเทศไทยเป็นแบบนี้มานานแล้ว บางนโยบายไม่ได้มาจากองค์ความรู้ ไม่ได้มาจากการใช้กระบวนการทางปัญญา ที่ผ่านมามีสองอย่าง คือ หนึ่ง อำนาจ กับ สอง ผลประโยชน์ ตัวอย่างของอำนาจก็คือ ประกาศไปเพราะมีอำนาจในการสั่ง ผลประโยชน์ก็คือ ฉันจะทำเรื่องนี้เพราะจะมีงบประมาณในการบริหาร”
แก้การศึกษาไทย เริ่มตรงไหนดี
หัวใจสำคัญในการจับเรื่องการศึกษา เกิดจากความเชื่อมั่นของประวิตที่ว่า ‘ถ้าการศึกษาเปลี่ยน ประเทศไทยจะเปลี่ยนได้’
เพราะไม่อยากได้รับอิทธิพลหรือถูกแทรกแซงการทำงานด้านการศึกษาจากใคร เป็นเหตุผลสำคัญให้ประวิตก่อตั้งองค์กรอิสระที่เขาจะสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
“เราตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษาขึ้นมาเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องการศึกษาอย่างเป็นระบบ ให้เห็นภาพรวมของการศึกษาว่า โครงสร้างเป็นอย่างไร ปัญหาอยู่ตรงจุดไหน และเราจะใช้คานงัดตัวไหนบ้างที่จะทำให้การศึกษาขับเคลื่อนไปได้อย่างมีคุณภาพ”
เมื่อถามถึงกระบวนการและวิธีดำเนินงาน ประวิตบอกว่า อาศัยการลงมือทำจริง และเน้นไปที่การทดลองเป็นหลัก
“เราใช้กระบวนการเชิงทดลองเลย ลงมือทำจริง เป็น interactive learning through action คือเกิดกระบวนการ เกิดองค์ความรู้ขึ้นมาจากการลงมือทำ อย่างเช่น ทดลองทำกับโรงเรียนว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วจะได้ผลไหม หรือแชร์ประสบการณ์ที่ทำจริงจากหลายๆ ภาคส่วนเข้ามา เป็นเวทีการปฏิรูปการศึกษา
“เราจะไม่ได้ไปรีเสิร์ชถามความเห็นคนว่า อย่างนี้โอเคไหม คำว่ารีเสิร์ชของเราหมายถึงทดลองก่อน พอทดลองแล้วก็ดูว่าจะขยายผลได้อย่างไร มีจุดไหนบ้างที่ต้องทำให้ชัดเจนขึ้น”
‘เวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย’ เป็นหนึ่งในโครงการที่มีการผลักดันร่วมกันระหว่าง สํานักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) และภาคีที่เกี่ยวข้อง
ระหว่างเดือนกันยายน 2558 – สิงหาคม 2559 มีการจัดเวทีรวมทั้งสิ้น 12 เวที ในหัวข้อที่ผู้จัดมองว่าน่าจะครอบคลุมการศึกษาไทยทั้งระบบ อาทิ ระบบเด็กปฐมวัย ระบบโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้ อาชีวสัมมาชีพ ฯลฯ
การลงมือทำยังปรากฏให้เห็นในหลายบริบท อาทิ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ
“บริบทการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราทดลองในโรงเรียนนำร่องการปฏิรูปด้วยวิธีคิดแบบใหม่ของเรา คือให้อิสระโรงเรียนมากขึ้น เป็นการ empower โรงเรียนให้มีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น ตอนนี้เราทำอยู่ แล้วพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
“ในระบบใหญ่ เราพยายามเชื่อมระบบการผลิตครู ระบบอุดมศึกษาของประเทศไปเชื่อมกับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระบบใหญ่กว่านั้นก็คือ เราพยายามผลักดันนโยบาย กฎเกณฑ์ กติกา ซึ่งเป็นตัวกลางที่จะทำให้เกิดการปลดล็อค จากกฎหมาย ระเบียบ หรือมาตรการที่กระทรวงฯคุมเรื่องนั้นๆ อยู่ จากองค์ความรู้ที่มี แล้วขับเคลื่อนโดยใช้สื่อมวลชนและกระแสสังคมทำให้เรื่องนี้ได้รับการยอมรับ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องเริ่มต้นจากการมีองค์ความรู้จากการทำก่อน”
คำตอบอยู่ในห้องเรียน
เพราะประวิตเคยอยู่ในเกือบทุกจุดที่เป็นปัญหาของการศึกษาไทยมาแล้ว นี่เป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เขาเห็นภาพรวมของการศึกษาไทยได้ชัดเจน แต่หากจะลงลึก เขาก็ยังสามารถวิพากษ์ได้ เพราะเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว
“ทั้งหมดทำให้เราเห็นภาพว่า แท้ที่จริงแล้ว คำตอบของระบบการศึกษาอยู่ในห้องเรียน อยู่ที่อิสรภาพของครูที่จะทำงาน อยู่ที่ความอิสระของโรงเรียนที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องเหมาะสมกับเด็กจริงๆ เหมาะกับบริบทและชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจริงๆ
“ฉะนั้น ต้องทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้ครูมีอิสรภาพทางความคิดที่จะออกแบบกระบวนการในการสอนของเขา ทำให้โรงเรียนมีอิสรภาพในการบริหารจัดการ มีทรัพยากรที่เพียงพอ ทำให้คนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียน กับสถานศึกษา อันนี้คือโจทย์ใหญ่ที่เราตกผลึก”
หลังจากประวิตตกผลึกทางความคิดกับตัวเองว่า คำตอบของปัญหาการศึกษาไทยอยู่ตรงไหนกันแน่ การได้ไปสัมผัสห้องเรียนและการเรียนการสอนในหลายประเทศก็ช่วยขมวดความคิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
Back to School. ทุกอย่างกลับไปที่โรงเรียน
Focus on Classroom. ครูสอนอย่างไรจะทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้สูงสุด
Teacher as a key success. และจะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องหาวิธีพัฒนาครู
เขามองว่าวิธีพัฒนาครูที่ดีที่สุดนั้นเป็นวิธีที่ตรงกันข้ามกับที่กระทรวงฯทำ แล้ววิธีดีที่สุดในมุมของเขาเป็นแบบไหน
“เคล็ดลับง่ายนิดเดียว พยายามให้ครูกลับไปอยู่ในเป้าหมายที่เขาอยากจะเห็นในการสอนลูกศิษย์ เวลาคุยกับครู เรามักจะถามเขาว่า อะไรคือเป้าหมายของคุณครู เป้าหมายของความเป็นครูคืออะไร ก็พยายามถกและคุยให้ครูได้คิดในส่วนนี้”
หนึ่ง เป้าหมายควรจะอยู่ที่เด็ก ว่าควรสอนเด็กอย่างไรที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้
สอง เปลี่ยนกระบวนการที่ครูชาชินอยู่ ประวิตใช้คำว่า เปลี่ยน ‘วิถี’ ของครูใหม่’ การเปลี่ยนวิถีของครูง่ายๆ คือ เปลี่ยนคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ต้องเปลี่ยนทั้งโรงเรียน และคนที่จะนำให้ทั้งโรงเรียนเปลี่ยนได้คงหนีไม่พ้นผู้อำนวยการโรงเรียน
“เริ่มต้นจากการชวนผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีใจใฝ่ปฏิรูป พูดอีกมุมหนึ่งคือเบื่อหน่ายกับระบบของกระทรวงฯ พามาลองทำอะไรใหม่ๆ แล้วเราเป็นเหมือนหลักทางวิชาการให้เขา เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำมีคนคอยยืนเป็นแบ็คให้ เราจะไม่ใช่คนไปนำหน้าว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พยายามผลักดันผู้อำนวยการที่มาร่วมกระบวนการให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนเขาเอง”
“คนที่เจ๋งสุด ไม่ใช่รัฐมนตรี ไม่ใช่ใคร แต่โรงเรียนเขาน่ะเจ๋งที่สุดแล้ว ให้เขามั่นใจในศักยภาพของตัวเอง แล้วลุกขึ้นมาทำ นี่คืองานของเรา”
ทฤษฎีของประวิตคือพยายามให้โรงเรียนเรืองแสงด้วยตัวเอง โดยการสร้างเสริมความมั่นใจและส่งแรงสนับสนุนล้วนๆ
“ถ้ามันมืดกันหมดทั่วประเทศ แล้วไม่มีใครทำอะไร เอาแต่รอรับแสงสว่างจากกรุงเทพฯ มันก็สว่างแค่สำหรับคนอยู่ใกล้ แต่คนที่อยู่ไกลออกไปมันไม่สว่าง แต่ถ้าเมื่อไหร่โรงเรียนมีแสงในตัวเอง ทุกที่มีแสงในตัวเอง เราก็จะสว่างไสวไปด้วยกัน โดยไม่ต้องรอรับแสงจากใคร”
จากนั้นค่อยลงไปสู่กระบวนการกลุ่มกับครู เมื่อเปลี่ยนครูได้ ก็ต้องทำกระบวนการสร้างโรงเรียนให้เป็นชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพที่มีเด็กเป็นตัวตั้ง
“สุดท้ายเราพบว่า จริงๆ แล้วครูนั่นแหละคือคนที่สอนเด็กเก่งที่สุด และยิ่งถ้าได้มาแลกเปลี่ยนกัน ได้มาเห็นตัวอย่างซึ่งกันและกัน เอาจุดที่เป็นจุดแข็งของแต่ละคนมาแชร์กัน เขาก็จะทำได้ดี แล้วผลจะออกมาดีมาก”
เมื่อถามถึงการจัดอันดับ หรือตัวชี้วัดความสำเร็จของโรงเรียน ประวิตปฏิเสธว่าไม่มีการจัดอันดับใดๆ ทั้งสิ้น
“ตรงนี้เราจะเลี่ยงหมดเลย โรงเรียนที่ร่วมโครงการกับเรา เราจะบอกว่า หนึ่ง ไม่มีการจัดอันดับเด็ก สอง เราไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน เราทำให้เด็กรักครู ครูรักเด็ก แม้แต่ฝาผนังห้องเรียนก็จะต้องโชว์ผลงานของเด็ก ไม่มีผลงานครู และจะไม่มีใครได้ดาว ทุกคนมีสิทธิ์ได้โชว์ผลงานตัวเอง ภาคภูมิใจในงานของตัวเอง อันนี้คือหลักการสำคัญที่พวกเรายึดถือ”
ปัจจุบัน ประวิต เอราวรรณ์ อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งไม่ได้เปิดการเรียนการสอนเฉพาะหลักสูตรระดับปริญญา แต่ยังมีการจัดการสอนหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
มีสามภาพฝันในอนาคตอันใกล้ที่เขาต้องการผลักดันให้เห็นผลในพื้นที่จังหวัดนครพนม ซึ่งมีที่มาจากความสนใจส่วนตัว นั่นก็คือ
หนึ่ง เรื่องระบบเด็กปฐมวัย ให้การดูแลตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนถึงก่อนวัยเรียน
สอง ระบบโรงเรียน ทำอย่างไรจะทำให้เกิดโรงเรียนดีๆ ครูปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนใหม่ให้เต็มพื้นที่
สาม การศึกษาเพื่อสัมมาชีพ หรือการศึกษาที่จะทำให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ในชีวิต
“มีโรงเรียนที่นครพนมจะเริ่มทำด้วยกัน 30 โรงเรียน แล้วจะขยายเป็น 60 โรงเรียนในปี 2560 ทำศูนย์เด็กเล็ก 15 ศูนย์ และขยับเรื่องอาชีวศึกษาซึ่งเราดูแลในมหาวิทยาลัยอยู่แล้วให้เชื่อมโยงกันเป็นระบบ ซึ่งทั้งหมดก็จะเชื่อมต่อกันเป็นภาพใหญ่”
ความสำเร็จของปฏิรูปการศึกษา จะมาเมื่อไหร่?
กับคำถามที่ว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยจะสำเร็จตรงจุดใด ประวิตตอบไม่ได้
บอกไม่ได้หรอกว่า ณ วันไหนเรียกว่าปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ มีแต่ว่าจะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร ทำให้เรื่องนี้ได้รับการแก้ปัญหาไปได้อย่างไร ทำให้มันขยับไปได้อย่างไร การบอกว่า เอ้า! ปฏิรูปสำเร็จแล้ว ไม่มีครับ แล้วภาพนั้นก็ไม่มีด้วย คำว่าความสำเร็จของการปฏิรูปอยู่ตรงไหน ไม่มีใครบอกได้
เพราะประวิตมองว่า การศึกษาไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หมดจากปัญหาเดิมก็เกิดปัญหาใหม่มาให้รับมืออยู่เรื่อยๆ
“การศึกษาที่ดีต้องตอบคนเรียนได้ว่า เขามาเข้าเรียนเพื่ออะไร และอยากได้อะไรกลับไปเพื่อทำให้ชีวิตพัฒนาขึ้นบ้าง”
เป้าหมายในการเรียนรู้ของประวิตจึงมีเพียงสองข้อ คือเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง และเรียนรู้เพื่อสัมมาชีพ
“การเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองก็คือ เรียนเพื่อให้รู้ว่าจะทำยังไงให้ชีวิตเราดีขึ้น สุขสงบขึ้น ค้นหาเป้าหมายของตัวเองให้ได้ การศึกษาต้องตอบโจทย์ให้คนได้ว่า คุณมาเรียนหนังสือเพื่ออะไร คุณมาเข้าโรงเรียนเพื่ออะไร อะไรคือคุณภาพชีวิตของคุณ
“สองคือ เรียนหนังสือไปแล้วคุณต้องทำมาหากินได้ คุณจบการศึกษาไปแล้ว ไม่ใช่คุณทำมาหากินไม่เป็น แบบนี้คุณก็ไม่ต้องเรียน คือคุณต้องมีอาชีพ”
สำหรับเขา ดัชนีวัดความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่สองเรื่องอันแสนเรียบง่ายเพียงเท่านี้
เพราะการศึกษาคือเรื่องของ ‘เรา’
จากเดิมเวลาทำงานเรื่องการศึกษา เรามักจะติดกรอบว่า การศึกษาเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรื่องของโรงเรียน เด็กจะต้องเข้าตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม ไปจนจบมหาวิทยาลัย แล้วก็ออกมาหางานทำ มันเป็นการมองการศึกษาแบบแท่งไซโลขึ้นมาเป็นระดับ พอเรามาเรียนรู้กระบวนการและทำงานพวกนี้มากขึ้น เราเห็นว่า การศึกษามันเปิดกว้างกว่านั้น
การศึกษาเป็นเรื่องของชีวิตคน การจะทำให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือหน้าที่ของกระทรวงเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม ที่จะต้องออกมาร่วมกันรับผิดชอบเรื่องการศึกษา
ประวิตยังยืนยันว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องคิดหรือแบกรับเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ว่าด้วยผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ พวกเขาเป็นใครหลายคน ทั้งทนายความ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสันติวิธี นักดนตรี นักการละคร ฯลฯ
พวกเขาคือคนธรรมดา แต่ความตั้งใจและเนื้องานของพวกเขา ก่อให้เกิดมรรคผลต่อสังคม ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
บนเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายนี้ พวกเขาแต่ละคนไม่ได้เดินเพียงลำพัง พวกเขามีเพื่อน เครือข่าย สหวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวน ‘มาก’
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ที่มีทั้งรูปแบบบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น สารคดี และหนังสารคดี ผลิตโดยทีมงานนิตยสาร WAY