ศิราณี: ตอบปัญหาสูงวัย

artboard-1

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อารยา คงแป้น

“จากเดิมที่เคยคิดว่าเราเข้าใจโลกของผู้สูงอายุดีที่สุด เคยคิดว่าการทำงานด้านนี้คือการพาผู้สูงอายุออกกำลังกาย ดูเรื่องอาหารโภชนาการ และคิดว่าญาติผู้ป่วยต้องเป็นกำลังหลักในการดูแลผู้สูงวัย แต่การทำงานด้วยการลงพื้นที่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 56 ได้เปลี่ยนมุมคิดของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง”

คำ ‘จากเดิม’ ของ ดร.ศิราณี ศรีหาภาค อาจารย์และพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น หมายความถึงช่วงความคิดและประสบการณ์ที่ขั้นกลางระหว่าง ‘ประสบการณ์การพยาบาล’ และ ‘การลงพื้นที่ด้านผู้สูงวัย’ ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อจบปริญญาตรีในปี 2536 และหลังจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยในหัวข้อ ‘ผลกระทบและภาระการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวภายใต้วัฒนธรรมไทย’

ซึ่งหัวข้อวิจัยดังกล่าวก็ทำให้ ‘โลกผู้สูงวัย’ ของ ดร.ศิราณี พังทลายและก่อตัวใหม่

“เราไม่ได้มองผู้สูงวัยเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องอีกต่อไป แต่การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ต้องมองไปถึงคนดูแลซึ่งเป็นคนรอบข้างคนแก่ และตัวระบบที่ต้องมาซัพพอร์ทคนกลุ่มนี้ในการดูแลผู้สูงวัยด้วย” ดร.ศิราณี กำลังหมายถึงความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับโลกของผู้สูงวัย

13 ตำบล 9 จังหวัด ครอบคลุม 5 ภูมิภาคประเทศไทย ตั้งแต่มิถุนายน 2555 – พฤษภาคม 2556 เธอพบว่า บางทีเธออาจเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกของผู้สูงวัยได้ไม่หมดทุกซอกมุม

 

ด.ช. กตัญญู ถูกสังคมทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย

บางครั้งความกตัญญูก็เป็นดาบสองคม

ศิราณีไม่ได้ต่อต้านวัฒนธรรมของสังคมไทย เธอเพียงพูดจากประสบการณ์ case by case เพราะปัญหาสุขภาพไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวมันเองเพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน

ปัญหาสุขภาพเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างและส่งผลกระทบต่อเชื่อมกันเป็นลูกโซ่ เช่น จากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเมืองโตเดี่ยว ที่ทุกคนมุ่งหน้าไปทำงานที่เมืองหลวง เพื่อตั้งใจส่งรายได้ (ที่อาจน้อยหรือไม่พอกิน) กลับมาให้คนที่บ้าน ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทมีประชากรหลักเพียงสองช่วงวัย คือ ตายาย/ปู่ย่า และหลานๆ ปัญหาที่เกิดจากตัวระบบสุขภาพเอง และอื่นๆ ที่เราอาจพออนุมานได้จากตัวอย่างไม่ใกล้ไม่ไกล หรือประสบการณ์โดยตรงจากเราเอง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ภาระของการดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ตกเป็นหน้าที่ระยะยาว และอาจหมายถึงชีวิตที่เหลือจนกว่าใครจะตายจากกัน ของลูกหลานและคนที่อยู่รอบข้าง ภายใต้ความกดดันของคำว่า ‘กตัญญู’

ไม่ใช่ว่าเขาไม่กตัญญู ไม่รัก เพราะแต่ละเคสที่เจอ เราพบว่าคนที่ดูแลเขาใช้ความพยายามอย่างมากที่จะ caring ผู้ป่วย แต่หลายๆ กรณีก็ซับซ้อนมากกว่านั้น เช่น ผู้ป่วยจิตเภทต้องเป็นผู้ดูแลแม่สามีติดบ้านติดเตียง หรือเป็นกรณีง่ายๆ แค่ภรรยาต้องดูแลสามีที่มีน้ำหนักมาก เวลาอาบน้ำต้องอุ้มยก ผู้หญิงคนนั้นก็บาดเจ็บจากการพยาบาลสามี

“ฉะนั้นโลกของผู้สูงอายุไม่ใช่แค่ตัวผู้ป่วยและคนที่ดูแล แต่เป็นเรื่องระบบ และต้องเป็นระบบที่ถูกสร้างให้เหมาะกับท้องถิ่นชุมชน” ดร.ศิราณีกล่าว

01

 

ระบบการเงินท้องถิ่น ที่หน่วยงานราชการตามไม่ทัน

เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องแต่เกี่ยวเนื่องกัน เหมือนเรื่องหนึ่งคือ ‘ความตาย’ แต่อีกเรื่องคือ ‘การอยู่’

นั่นคือคำว่า ‘กองทุนฌาปนกิจหมู่บ้าน’ กับ ‘การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว’

ในนิยามเรื่องคุณภาพของผู้สูงวัยที่ศิราณีเห็น ต้องประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุ คุณภาพชีวิตของผู้ดูแล และคุณภาพของระบบสุขภาพ ซึ่งเธอเห็นว่าการจะเข้าไปแก้ไขตัวระบบใหญ่ ต้องแก้ไขสองส่วนหลัก คือ ตัวระบบต้องถูกพัฒนามาจากระบบวัฒนธรรมของ ‘แต่ละ’ ชุมชน และระบบประกันสุขภาพใหญ่ที่ต้องมั่นคง

แต่เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า การเข้าไปแก้ระบบที่แก่นกลางเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ เธอเห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพได้เกิดอยู่ก่อนแล้วในชุมชน

นี่ไม่ใช่เรื่องที่หน่วยงานสาธารณสุขเป็นผู้คิดขึ้น เราไปค้นพบว่ามันมีอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่คนในหมู่บ้านเขาทำกันเองด้วยซ้ำ และเราก็ใช้ระบบนั้นเป็นโมเดล นั่นคือ ‘กองทุนฌาปนกิจหมู่บ้าน’ เป็นคล้ายเงินประกันว่า ถ้าเขาเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต จะมีเงินกลุ่มนี้มาจัดงานศพได้”

จากนั้นทีมพยาบาลสาธารณสุข จึงกลับไปคิดต่อในที่ประชุม แล้วหันกลับไปประชุมร่วมกับชาวบ้าน เสนอแนวคิดเรื่องการขยายกองทุนและเงินออม ให้ไม่เป็นแต่เพียงกองทุนฌาปนกิจ แต่ขยายกองทุนให้กลายเป็นกองทุนกู้ยืมฉุกเฉินยามสมาชิกป่วยไข้

ยกตัวอย่าง ‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’ และ ‘ระบบเงินออม’ ของหมู่บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะโมเดลต้นแบบที่ทีมวิทยาลัยพยาบาลใช้ศึกษาเป็นโมเดล

แลใช่…หมู่บ้านโคกเครือเขาจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงวัยกันจริงๆ

โรงเรียนก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ระเบียบปฏิบัติคือ นักเรียนผู้สูงวัยต้องมาเข้าแถวเคารพธงชาติให้ทัน 8 โมงเช้า สวดมนต์เมื่อเพลงชาติจบ เริ่มกิจกรรมวงสนทนาเพื่อถามข่าวคราวกันว่า ตอนนี้มีเพื่อนผู้สูงวัยคนใดที่ป่วย อยู่บ้านไหน ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง หลังจากนั้นคือการชวนกันเดินเท้า (หรือขี่รถเครื่อง) พากันออกไปเยี่ยมเยียน

และหากในช่วงเวลานั้นไม่มีเพื่อนร่วมห้องคนไหนเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขาจะเปิดเพลงและเริ่มร้องเล่นเต้นรำ เปิดคอร์สหรือวิชาเรียนเรื่องการดูแลสุขภาพ วิชาการจักสาน หรือวิชาใดๆ ตามที่นักเรียนจะโหวตเลือกกัน หากโมเดลของธนาคารออมเงินเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นราวปี 2557 ด้วยความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น, สำนักงานประกันสุขภาพเขต 7 ขอนแก่น และกลุ่มสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุ ธงคือ การขยายหลักประกันสุขภาพผู้สูงวัย ด้วยการใช้ฐานความเข้มแข็งชุมชนและโมเดลกองทุนฌาปนกิจหมู่บ้านที่มีอยู่เดิม

“ฉันอยากถามพ่อๆ แม่ๆ ในที่นี้” ดร.ศิราณี กล่าวกับบรรดาผู้สูงวัยที่นั่งล้อมเธออยู่ “ใครคิดบ้างคะ ว่าหากตัวเองเจ็บป่วย แต่มีเงินเพียงพอรักษาตัวเองบ้าง” นักเรียนผู้สูงวัยยกมือกันพรึ่บทั้งห้องเรียน

“โอเค พ่อๆ แม่ๆ คิดว่าตัวเองมีพอ ฉันถามต่อนะ แล้วถ้าวันหนึ่งต้องป่วยไข้แบบต้องนอนอยู่บ้านเป็นเวลานานเลย คิดว่าลูกๆ มีเงินพอที่จะดูแลไปตลอดไหม” คำถามของ ดร.ศิราณี เรียกร้องความสนใจจากผู้สูงวัย เธอรับฟังความเห็นของ ‘พ่อ’ คนนั้น ‘แม่’ คนนี้ แทบไม่ทัน

“ผู้ที่มีหลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่ก็คือคนกลุ่มข้าราชการ แต่สำหรับชาวบ้าน หรืออย่างประชากรในอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ยังไม่มีความมั่นคงมารองรับมากเท่าไร การเปลี่ยนแปลงทางระบบที่เราว่า คือการสร้าง public policy คือการสร้างหลักประกันทางสุขภาพที่มั่นคงและต้องถูกกำหนดมาจากแต่ละท้องถิ่นเอง”

คำกล่าวของ ดร.ศิราณี ทำให้มองเห็นความไม่ทั่วถึงของระบบประกันทางสุขภาพของสังคมไทย ขณะเดียวกันเธอก็ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราไม่ต้องรอ – ลงมือสร้างมันขึ้นมาเอง

04
นักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ หมู่บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์

ชาวบ้านนั่นแหละ ที่เป็นเจ้าของปัญหา

“ต้องยอมรับว่าการทำงานทางสาธารณสุข ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรามีกรอบคิดที่ครอบงำเจ้าหน้าที่ ให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจ และจากนโยบายที่กำหนดมาจากศูนย์กลาง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจชาวบ้าน ไม่เข้าใจปัญหา เพราะคิดแต่ว่า…ทำไมชาวบ้านไม่ปฏิบัติตาม โดยไม่เข้าใจธรรมชาติของชาวบ้านเลย แต่หลังๆ ที่เริ่มมีแนวคิดเรื่องการส่งเสริมแนวคิดสุขภาพชุมชน

“มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนเราจากความคิดว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหา กลายไปเป็นผู้ทำงานสนับสนุนและเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการ เข้ากับความรู้ ปัญหา และความต้องการของชาวบ้าน ทุกวันนี้พวกเราจะพูดกันว่า ‘สุขภาพเป็นของชุมชน ประชาชนเป็นเจ้าของปัญหา’ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่”

เกี่ยวพันกับความหมายของคำว่า ‘public policy’ เพราะระบบสุขภาพที่เกิดจากความต้องการของชุมชนจะเกิดขึ้นได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองว่า ไม่ใช่ผู้แนะนำวิธีการให้ชาวบ้านมีสุขภาพดี แต่เป็นผู้จัดหาทรัพยากรมาตอบสนองความต้องการของ ‘เจ้าของปัญหา’ ซึ่งก็คือตัวชาวบ้านเอง

นอกจากนี้ ดร.ศิราณี ยังเผยให้เห็นปัญหาเรื่องระบบสาธารณสุขเองที่เป็นวัฒนธรรมครอบงำความคิดของผู้ปฏิบัติงาน และทั้งเป็นนโยบาย (policy) ที่อาจกักกันไม่ให้ชาวบ้านเป็นผู้บอกปัญหาและวิธีแก้ของตัวเองได้

ปัญหาการเบิกจ่ายและให้เงินกับงบประมาณใดๆ ก็ตาม การเบิกจ่ายมันค่อนข้างยากและเป็นในเชิงอีเวนต์ไม่ใช่แพ็คเกจ เงินมันจะไปอยู่ที่อีเวนต์การออกกำลังกาย จัดงานสงกรานต์ งานปีใหม่ ถ้าไม่มีอีเวนต์ก็จบ มันไม่ยั่งยืน

ดร.ศิราณี เปรียบเทียบวิธีคิดการจัดสรรงบประมาณระหว่างการให้งบตามรายอีเวนต์อย่างไทย กับโปรแกรมคุ้มครองเป็นแพ็คเกจอย่างต่างประเทศ เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะได้โปรแกรมที่ครอบคลุมหญิงคนนั้นไปกระทั่งคลอดลูก วัคซีนเด็ก การตรวจสุขภาพ และอื่นๆ เพราะเรื่องสุขภาพคือโปรแกรมที่ต้องดูแลสนับสนุนระยะยาว ไม่ใช่การกำหนดให้ดูแลกันตามอีเวนต์

อีกหนึ่งปัญหาเชิงระบบ คือภาพการทำงานแบบราชการที่เราคุ้นชิน การทำงบเบิกจ่ายต้องเขียนรายงานอย่างละเอียด ต้องตรงกับลิสต์รายการที่มีโครงการให้เบิกจ่ายได้ (ตามอีเวนต์) และผู้ที่มีอำนาจเบิกจ่าย คือเจ้าหน้าที่ราชการที่มีโต๊ะทำงานอยู่นอกชุมชน ซึ่งอาจไม่ใช่คนที่รู้เห็นปัญหาที่ลึกซึ้ง เมื่อรวมกับระเบียบวิธีในการให้งบประมาณตามระเบียบราชการ จึงทำให้ระบบที่ชุมชนเป็นผู้ออกแบบ ถูกปัดตกออกไปเพราะเป็นวิธีที่ไม่อยู่ในกรอบที่วางไว้ของราชการ

“ไม่ได้บอกว่า สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไม่ดีนะคะ แนวคิดของเขาดีมากทีเดียว แต่มันต้องการการพัฒนาและการออกแบบระบบให้เข้าใจปัญหามากอีกนิด อาจจะต้องปรับวิธีที่ให้เข้ากับระบบที่มีอยู่ของชุมชน”

 

การเมืองเรื่องคนแก่

ในการพูดคุยเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ร้านกาแฟ เราถกกันเรื่อง ‘เป็นไปได้ไหมที่คนแก่อาจสมัครใจไปสถานดูแลคนชรา?’

เพราะถ้าที่นั่นมีเพื่อน มีคนดูแลให้บริการ อุปกรณ์สะดวกพร้อมครัน และมีเจ้าหน้าที่ที่ถูกฝึกมาเพื่อ caring ผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะ หรือในบางกรณีอาจดีกับผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีญาติและทุนทรัพย์ในการดูแลตัวเองโดยลำพัง

ความเห็นของ ดร.ศิราณี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ได้ไปดูงานทั้งในต่างประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่สถานการณ์ทางสาธารณสุขใกล้เคียงกับเมืองไทย

เธอเห็นว่าตัวเลือกแบบนั้นเป็นไปได้ แต่ย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงตาม

“ในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการก็สามารถทำได้ เพราะเขามีระบบเก็บภาษีที่มาก จัดเก็บภาษีท้องถิ่น และท้องถิ่นเป็นผู้จัดสรรเอาไปบริหารกันเอง ซึ่งทำให้เขามีอำนาจที่จะทำ public policy ได้หลากหลาย ซึ่งแตกต่างกับทั้งระบบวัฒนธรรมและระบบสวัสดิการของเรา”

02

เธอให้ความเห็นต่อว่า ยังไม่นับรวมกับปัญหาเฉพาะตัวของบ้านเรา ที่เป็นสังคมขยาย และความเจริญกระจุกตัวอยู่ในเมือง ผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเข้าไปหางานในเมืองแล้วทิ้งให้ผู้เฒ่าผู้แก่อาศัยอยู่ที่บ้าน และด้วยความจำเป็นอีกครั้งที่ต้องทิ้งลูกหลานให้ตายายเลี้ยง ทั้งหมดนี้สะท้อนระบบเศรษฐกิจทางสังคมที่ทำให้รากของปัญหายิ่งกว้างและลึกลงไปอีก

เธอยกตัวอย่างการจัดการด้านท้องถิ่นของต่างประเทศให้เห็นภาพว่า เพราะระบบการปกครองของเขาได้กระจายอำนาจไปยังระดับท้องถิ่น ให้อำนาจจัดเก็บภาษีท้องถิ่น และสามารถออกแบบการจัดการระบบด้วยตัวเองได้ ภาษีส่วนหนึ่งเขานำไปใช้กับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ไม่เฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วย หากเป็นสวนสาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน สถานที่ออกกำลังกาย

มากขึ้นไปอีก เขามีสถานพักของคนชราไว้รับรอง ซึ่งเธอย้ำว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มีราคาสูง และมีปัจจัยทางสังคมหลายอย่างเกื้อหนุนกัน ซึ่งอาจเหมาะหรือไม่เหมาะกับประเทศไทยก็ได้

คำว่า ‘เพราะอะไร’ ตัวใหญ่ๆ หลุดออกมา เราสงสัยว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้จัดสรรและเก็บภาษีเองไม่ได้เพราะอะไร

เพราะถ้ามุมมองของสาธารณสุขที่ว่า ‘สุขภาพเป็นของประชาชน’ ก็ต้องให้แต่ละท้องที่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รู้ว่าปัญหาของตัวเองคืออะไร มีอำนาจในการออกแบบการจัดการกันเอง

เธอให้คำตอบสั้นๆ ที่ไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมว่า “เพราะเขากลัวว่าท้องถิ่นจะคอร์รัปชันอย่างไร” เป็นอันจบข่าว

 

 

ศิราณีคือใคร

กลับไปตรวจสอบความฝันและอุดมการณ์ส่วนตัวของเธอ ดร.ศิราณี เล่าว่า เธอเรียนจบพยาบาลในปี 36 ด้วยตั้งใจว่าจะทำงานในหอผู้ป่วย หากสุดท้ายกลับพบว่าการจะทำงานด้านสุขภาพในระยะยาวให้เป็นจริงได้ ต้องกลับไปตั้งต้นที่ชุมชน

“สิ่งที่ทำให้เราผูกพันกับงานผู้สูงอายุจริงๆ คือตอนที่กลับไปทำงานเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยที่จังหวัดเชียงราย เพื่อทำรายงานจบปริญญาโทที่ ม.ขอนแก่น ซึ่งเป็นชมรมผู้สูงอายุที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี มากไปกว่านั้น เพื่อนที่เราผูกพันเขาก็ติดเชื้อด้วย โดยมีพ่อแม่ของเขาเป็นคนดูแล พอเขาเสียชีวิต พ่อแม่เขาก็ต้องดูแลหลานต่อไป มันเป็นความสะเทือนใจที่ยังติดอยู่ ทำให้ผูกพันและยึดติดกับงานด้านนี้ไปโดยปริยาย

“นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เป็นพยาบาล ที่สนใจงานด้านผู้สูงวัยระยะยาว”

แต่ครั้งที่ทำให้เธอรู้จักตัวเองอย่างเด็ดขาด คือครั้งที่ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน วันนั้นเธอตั้งใจว่า ตัวเองน่าจะสามารถเรียนและตัดสลับไปเข้าเวรในหอผู้ป่วยได้

แต่เธอพบว่ามันไม่ใช่ความฝันที่ทำให้จริงได้ เพราะ หนึ่ง-เป็นการยากที่จะทำงานไปด้วยและเรียนด้วยความหนักหน่วงในเวลาเดียวกันได้ และสอง-มันยากยิ่งกว่า ที่จะหาพยาบาลสลับเวรให้เธอสามารถเข้าห้องเรียนได้ทัน

ชั่วระยะเวลาหนึ่งเทอม เธอตัดสินใจกลับบ้าน บ้านที่เธอเป็นผู้เลือกว่าจะลงหลักปักฐานและทำงานที่จังหวัดขอนแก่น กลับมาทำงานด้านงานผู้สูงวัยระยะยาวอีกพัก แล้วจึงกลับมาสานต่อความฝันการเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจนสำเร็จ

“ตลอดการทำงานตั้งแต่ปี 36 จนปัจจุบัน ตอนนั้นเราคิดว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงวัยแล้ว แต่อย่างที่ได้บอกไป การทำวิจัยในปี 56 ครั้งนั้นเปลี่ยนโลกของเราไปเลย การทำงานหลังจากนั้นมา จึงไม่ได้มุ่งไปที่ตัวของผู้สูงอายุ แต่พยายามกลับไปสร้างระบบให้ครอบคลุมบริบทของผู้สูงวัยมากขึ้น

แม้จะไม่ได้ใส่ชุดกาวน์ตรวจคนไข้ในหอผู้ป่วยใน แต่เธอยังถูกระบุอยู่ในเอกสารราชการว่า เธอคือนางพยาบาล หากเป็นพยาบาลที่สวมชุดสาธารณสุขสีขาวขึ้นรถตู้เดินทางไปตามชุมชน และยังมีอีกหนึ่งบทบาทคือ การเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น

“ตอนนี้เราไม่แน่ใจว่าจะวัดความดันเป็นไหมด้วยซ้ำ (หัวเราะ) หน้าที่พยาบาลแขนงนี้คือการทำงานในชุมชน เป็น coaching และเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างข้อมูลทางวิชาการ นโยบายจากรัฐ และความต้องการของชุมชน”

สามวันเธอจะสอนที่วิทยาลัยสองวัน ต่อมาจะลงชุมชน และแอบพ่วงท้ายว่า ในบางครั้งอาจต้องอยู่ในชุมชนลากเกี่ยวไปในวันเสาร์และอาทิตย์

ครั้งที่กองบรรณาธิการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อสัมภาษณ์และตามติดชีวิต ดร.ศิราณี เพื่อดูว่าเธอทำอะไรบ้าง หนึ่งวันเธอชวนเพื่อนพยาบาลนั่งรถข้ามจังหวัดไปกาฬสินธุ์ เพื่อขอความรู้กับชาวบ้านเรื่องงานกองทุนฯ วันต่อมาเธอชวนเพื่อนพยาบาลร่วมกันจัดประชุม ทั้งจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยในตัวเมืองและโรงพยาบาลชุมชน โดยที่ทั้งหมดเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่มาจากหลายจังหวัดและอำเภอรอบๆ จังหวัดขอนแก่น

08

ในงานประชุมดังกล่าว เธอเปิดวงคุยด้วยการให้ทุกคนแนะนำตัวจนครบ โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อเปิดทางให้ทุกคนได้ย้ำกับตัวเองว่า ทุกคนต่างมีหน้าที่และเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการทำงาน”

จากนั้นเธอสร้างกิจกรรมให้ตัวแทนแต่ละอำเภอและจังหวัดจับกลุ่มเพื่อทบทวนการเปลี่ยนแปลงที่มาจากนโยบาย วัดผลจากความทรงจำย้อนหลังสี่ปี ทั้งหมดเพื่อการประเมินผลและตรวจสอบความคิดเชื่อของตัวพนักงานเอง

ในวงประชุมวิชาการนั้น ประโยคที่ได้ยินบ่อยครั้งคือประโยคที่ว่า

“ช่วงหลังมา เราเริ่มปรับเปลี่ยนความคิดและเชื่อจริงๆ ว่า สาธารณสุขประจำอำเภอหรือท้องถิ่นสามารถออกแบบการทำงานเองได้ และต้องใช้ข้อมูลจากท้องถิ่น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้การทำงานง่ายขึ้นเท่านั้น แต่จะแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพได้ตรงจุด คนไข้กับเจ้าหน้าที่เข้าใจกันมากขึ้น ไม่เป็นศัตรูกัน”

 และประโยค “เจ้าของปัญหาคือชุมชน”

ระหว่างที่แต่ละกลุ่มพรีเซนต์งาน ดร.ศิราณี อัดเทปและพิมพ์ข้อมูลให้กลายเป็นแผนผังต้นไม้ฉายขึ้นจอ

ความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขมีอยู่จริง หลักฐานคือบทสนทนาในวงประชุมนั้น (และคำบ่นจากคนใกล้ตัวในฐานะผู้ป่วย) แต่สำคัญที่เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าใจและได้กลิ่นว่าปัญหานั้นมาจากโครงสร้างและอำนาจเร้นลับที่อยู่ในตัวเจ้าหน้าที่เอง

“นี่ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ทำคือต้องสกัดและทบทวนบทเรียนจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะต้องยอมรับว่าการทำงานในพื้นที่ชุมชนไม่ใช่ทางออกเดียว แต่ต้องทำงานควบคู่กันไประหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ” – ผู้ศึกษาและให้คำปรึกษาด้านความชรากล่าว

 


%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%84%e0%b8%9b%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%81-logo-414x414

‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ว่าด้วยผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ พวกเขาเป็นใครหลายคน ทั้งทนายความ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสันติวิธี นักดนตรี นักการละคร ฯลฯ
พวกเขาคือคนธรรมดา แต่ความตั้งใจและเนื้องานของพวกเขา ก่อให้เกิดมรรคผลต่อสังคม ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
บนเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายนี้ พวกเขาแต่ละคนไม่ได้เดินเพียงลำพัง พวกเขามีเพื่อน เครือข่าย สหวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวน ‘มาก’
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ที่มีทั้งรูปแบบบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น สารคดี และหนังสารคดี ผลิตโดยทีมงานนิตยสาร WAY

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า