ครอบครัวไทยใน Aging Society

ภาพประกอบ: antizeptic

จากการทบทวนสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ในปัจจุบันพบว่า หลายประเด็นยังคงมีความอ่อนไหวและเปราะบาง

ปัจจุบันนิยามและโครงสร้างของครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก องค์ประกอบสถาบันครอบครัวแตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง อันเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดครอบครัวรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแหว่งกลาง ครอบครัวข้ามรุ่น ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อมิติความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่มีความผันแปรไป

ด้วยสภาพการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบัน ทำให้สามารถวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตได้ว่า เด็กและเยาวชนไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย ความรวดเร็วของเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารที่มีผลทั้งด้านบวกและลบ การเลื่อนไหลของสังคมไปสู่รูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น อันเกิดจากการเคลื่อนย้ายของประชากรและภูมิเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือผลพวงจากสถานการณ์ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและร่อยหรอลงไปอย่างต่อเนื่อง

นี่คือสภาพปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ


สถานการณ์สุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย

องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) คาดการณ์ว่า ในช่วง ค.ศ. 2001-2100 เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุที่หลายประเทศทั่วโลกจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความแตกต่างตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เช่น สภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาทางการแพทย์ ภาวะโภชนาการ ฯลฯ

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดนิยาม ‘ผู้สูงอายุ’ (older person) หมายถึง ประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมสูงวัยออกเป็นสามระดับ ได้แก่


สำหรับประเทศไทยกำหนดนิยาม ‘ผู้สูงอายุ’ ไว้ใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย

ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่เกณฑ์ ‘สังคมสูงวัย’ (Aging Society) โดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 10 และมีอัตราประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าร้อยละ 4 ต่อปี ขณะที่อัตราประชากรรวมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็น ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (Complete Aged Society) ภายในปี 2564 และจะเป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society) ในปี 2574


การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย ส่งผลต่อสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 โดย สศช. ประมาณการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด 20,519,400 คน

[table class=”table-condensed” colalign=”center|center|center|center|center”]
ปี; 2553; 2563; 2573; 2583

ผู้สูงอายุทั้งหมด; 8.40; 12.62; 17.57; 20.51
ผู้สูงอายุในเมือง; 3.33; 6.28; 10.42; 11.58
ผู้สูงอายุในชนบท; 5.07; 6.33; 7.15; 7.77
[/table]

(หน่วย: ล้านคน)
ที่มา: การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)


ข้อมูลประชากรปี 2558 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี แต่อัตราการเพิ่มของประชากรช้าลงอย่างต่อเนื่อง

ข้อสังเกตเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรตามกลุ่มอายุที่สำคัญคือ ประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) มีจำนวนและสัดส่วนลดลง ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) มีจำนวนและสัดส่วนลดลง และประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุมีผลต่อประชากรช่วงวัยอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กและวัยทำงาน เนื่องจากประชากรช่วงวัยทำงานต้องทำหน้าที่ในการดูแลกลุ่มประชากรวัยพึ่งพิง ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ โดยในแต่ละครอบครัวจะมีสมาชิกวัยแรงงานทำหน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็กและดูแลผู้สูงอายุน้อยลง กล่าวคือ สัดส่วนประชากรวัยแรงงาน 2 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว 1 คน และดูแลเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ปี อีก 1 คน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สูงอายุบางส่วนจะมีความสามารถในการดูแลเด็กและเยาวชนก็ตาม แต่ในมิติของการพึ่งพิง เมื่อคนวัยทำงานต้องแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อคุณภาพที่ลดน้อยลงในการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน


สถานการณ์ครอบครัวไทย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสถานการณ์ครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะลักษณะของครอบครัวที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รวมถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ‘ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว’ หมายถึง ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เป็นผู้ดูแลบุตรฝ่ายเดียว ‘ครอบครัวข้ามรุ่น’ หมายถึง ครอบครัวที่ผู้สูงอายุอยู่กับหลาน โดยขาดพ่อแม่ในการร่วมดูแล เนื่องจากต้องไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งเห็นได้ชัดในสังคมชนบทที่ผู้สูงอายุทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็ก

ขณะเดียวกัน เมื่อพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่นเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีเวลาในการดูแลเด็กและเยาวชน ทำให้มิติความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกขาดหายไป ซึ่งมิติความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อเด็กและเยาวชนในการดำเนินชีวิตที่ต้องเผชิญกับภาวะความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันและอนาคต

ด้วยลักษณะและโครงสร้างความเป็นครอบครัวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ครอบครัวจำนวนหนึ่งมีความเปราะบางมากขึ้น เช่น ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุเลี้ยงดูเด็กตามลำพัง ครอบครัวที่มีเฉพาะเด็กอยู่ตามลำพัง ครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกที่เจ็บป่วย พิการ ต้องขัง ครอบครัวแหว่งกลางซึ่งเป็นครอบครัวที่เด็กอยู่กับผู้สูงอายุ ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวที่ไม่มีลูกเลย เป็นต้น

จากสภาพการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชน สะท้อนให้เห็นภาวะขาดความเชื่อมร้อยสัมพันธภาพภายในครอบครัว โดยเฉพาะการขาดองค์ประกอบของสมาชิกครอบครัวที่ครบถ้วน รวมถึงพ่อแม่ขาดทักษะและความรู้ในการเลี้ยงลูก ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เด็กเข้าสู่ความเสี่ยงจากภัยทางสังคม รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว


ที่มา: หนังสือ seedtizen เมล็ดพันธุ์พลเมือง: สถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ประจำปี 2650 จัดทำโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า