Plan 75: เกษียณลมหายใจ เลือกความตายตามปรารถนา

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

“ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงอายุ รัฐบาลต้องแบ่งเงินในคลังไปดูแลคนชรา ส่วนคนที่ต้องแบกรับภาระในประเทศที่ตามมา ก็คือคนหนุ่มสาวอย่างพวกเรา”

คำพูดจากตัวละครวัยหนุ่มไม่ทราบชื่อในช่วงไม่กี่นาทีแรกของภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเรื่อง Plan 75 วันเลือกตาย ที่กำกับโดยฮายาคาวะ จิเอะ (Hayakawa Chie) สะท้อนภาพความจริงของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในประเทศญี่ปุ่น ฉากดังกล่าวมีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างการสังหารหมู่ผู้พิการในบ้านผู้สูงอายุเมื่อปี 2016 โดยมีแรงจูงใจเพื่อกำจัดผู้พิการให้หมดไปจากสังคม

Plan 75 วันเลือกตาย ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์นานาชาติเวทีออสการ์ปี 2023 โดยก่อนหน้านั้น ฮายาคาวะ จิเอะ ก็ได้รับรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ (Caméra d’Or – Special Distinction) จาก 2022 Cannes Film Festival ในผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันโหดร้ายต่อผู้สูงอายุขึ้นอีกดังที่ปรากฏในฉากเริ่มต้นของภาพยนตร์ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงประกาศใช้ ‘Plan 75’ โดยทันที หากแต่โครงการดังกล่าวไม่ใช่ทางเลือกหนึ่ง แต่เป็นการเชื้อเชิญให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมเพื่อเดินหน้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคม

ทางออกของสังคมสูงอายุ คือการลดจำนวนคนแก่

‘Plan 75’ คือโครงการของรัฐบาลภายใต้กฎหมายญี่ปุ่นซึ่งเปิดรับสมัครประชาชนชาวญี่ปุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ให้เข้ารับการการุณยฆาต (Euthanasia) โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดการตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครไปจนถึงการฌาปนกิจ ด้วยเป้าหมายสูงสุดเพื่อลดจำนวนประชากรผู้สูงอายุและพาประเทศเข้าสู่สมดุลทางทรัพยากรอีกครั้ง

เงื่อนไขของการสมัครเข้าร่วม Plan 75 นั้นแสนสะดวกและง่ายดาย เพียงยื่นความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมระบุรูปแบบการจัดการศพที่ต้องการภายหลังเสียชีวิต ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้บัตรประชาชน ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากตัวผู้สมัครเอง

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วผู้สมัครยังจะได้รับเงินอีก 1 แสนเยนไปใช้ฟรีๆ พร้อมบริการพูดคุยรับฟังจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นเวลา 15 นาทีในทุกๆ วันจนถึงวันสุดท้ายก่อนลาจากโลก แถมสิทธิเข้าพักในโรงแรมห้าดาวฟรีสำหรับผู้ที่อยากดื่มด่ำกับความหรูหราสุขสบายในช่วงวาระสุดท้าย

“อย่างกับถูกรางวัลแน่ะ”

มิจิ แม่บ้านโรงแรมวัย 78 ปี รับบทโดยจิเอโกะ ไบโช (Chieko Baisho) อุทานขึ้นหลังได้ฟังข้อเสนอในโครงการ Plan 75 ที่อาจช่วยพยุงให้ชีวิตโดดเดี่ยวและขัดสนของเธอได้พบกับปลายทางที่เหมาะสม

Plan 75 ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการลดจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่น เนื่องด้วยมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่สนใจและเข้าร่วมโครงการ จนถูกยกย่องเป็นโครงการที่จุดประกายความหวังใหม่ให้กับประเทศ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง ซึ่งมิจิเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วม Plan 75 แม้ว่าตนจะยังไม่เกษียณจากงานที่ทำอยู่ก็ตาม

สำหรับหญิงชราวัยใกล้ 80 มีเพียงไม่กี่อาชีพที่พอจะยึดเป็นหลักในการเลี้ยงชีพได้ หากไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยของอายุขัยร่างกายที่เสื่อมถอย แต่เป็นเพราะไม่มีบริษัทใดอยากรับพนักงานที่เป็นผู้สูงอายุเข้าทำงาน การมองหาความมั่นคงในช่วงบั้นปลายของมิจิจึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ในขณะที่การเข้าถึงความตายภายใต้โครงการการุณยฆาตของรัฐบาลกลับสะดวกสบายราวกับเส้นทางที่ปูพรมแล้วโรยทับด้วยกลีบกุหลาบ

เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านหนัง คือข้อมูลบนพื้นฐานความจริงของสังคมประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ซึ่งต้องรับมือความเสี่ยงของภาวะขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณกองกลางเพื่อสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมการทำงานให้กับผู้สูงวัยด้วยการขยายอายุเกษียณเพื่อให้สามารถทำงานได้ต่อไปแม้จะอายุเกิน 60 ปี และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยดูแลสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

แม้ญี่ปุ่นในโลกความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้น แต่งบประมาณที่ถูกนำมาแบ่งจ่ายให้ประชากรสูงอายุจำนวนมากย่อมทำให้เกิดข้อจำกัด นำมาซึ่งการขาดแคลนและตกหล่น สิ่งนั้นกลายมาปมสำคัญที่ทำให้โครงการ Plan 75 ในภาพยนตร์ดูเป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงและไม่ห่างไกลจากสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่ความตาย แต่คือการอยู่ต่อไปโดยปราศจากความหวัง

ตลอดความยาว 113 นาทีของภาพยนตร์ มักปรากฏข้อความย้ำเตือนถึงคุณค่าแห่งการตายจากไปเพื่อรักษาอนาคตของประเทศ คล้ายว่าการอุทิศชีวิตของคนแก่เพื่อขยายโอกาสแห่งความก้าวหน้าให้เด็กและคนหนุ่มสาวกลายเป็นแนวทางที่ถูกสร้างขึ้นร่วมกันในสังคม 

‘คนญี่ปุ่น ตายเพื่อชาติน่าภูมิใจจะตาย’

‘มันเป็นสิ่งที่ฉันควรจะทำ เพื่ออนาคตของหลานฉัน’

บทสนทนาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างสนุกสนาน ในระหว่างที่กลุ่มเพื่อนหญิงชราของมิจิกำลังเลือกเพลงที่จะร้องในห้องคาราโอเกะซึ่งถูกจัดเตรียมไว้เพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

แม้ภาพยนตร์ Plan 75 จะมีชื่อไทยว่า วันเลือกตาย แต่ความตายในเรื่องนี้ไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้น่ากลัว สะเทือนขวัญ หรือสิ้นหวัง แต่กลับเรียบง่าย ร่มเย็น และเป็นธรรมดา ราวกับเรื่องเล่าทั่วไปในชีวิตประจำวัน นั่นอาจเป็นเพราะความตายภายใต้ Plan 75 เกิดขึ้นอย่างละมุนละม่อมกับผู้ที่มีอายุขัยอยู่บนโลกมาเป็นเวลานานจนสามารถตัดสินใจดับชีวิตลงด้วยตัวเองได้

นอกเหนือจากการขีดเส้นตายอันอ่อนโยน Plan 75 ยังมีทางเลือกพิเศษสำหรับผู้ที่ไม่อยากจากโลกนี้ไปเพียงลำพัง นั่นคือ ‘แผนแบบกลุ่ม’ (Group plan) ซึ่งหากเลือกสมัครแผนนี้ ร่างกายของผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝังรวมกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ภายหลังเสียชีวิต

แม้จะรู้ดีว่าสมองและการรับรู้ของมนุษย์ไม่อาจทำงานได้ในสภาวะไร้ลมหายใจ แต่แผนแบบกลุ่มก็ยังได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุผลว่าจะได้ไม่เป็นศพที่เหงาจนเกินไป 

และนั่นทำให้มิจิซึ่งไม่มีญาติพี่น้องและครอบครัวเลือกสมัครเข้าร่วมแผนแบบกลุ่มโดยไม่ลังเล

ถึงอย่างนั้น ทางเลือกสำหรับมิจิอาจไม่ใช่การตายเพื่อช่วยชาติหรือเพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นหนทางเพื่อเยียวยาชีวิตที่เปลี่ยวเหงาในช่วงบั้นปลายของตัวเอง

เรื่องราวของตัวละครหลักวัย 78 ปี เต็มไปด้วยความผิดพลาดและไม่สมหวังตั้งแต่ยังสาว กระทั่งมาถึงวัยชราที่ไม่อาจหาความมั่นคงให้กับชีวิตได้ ชี้ชัดถึงภาวะของการไม่ประสบความสำเร็จดั่งใจหวังแม้จะผ่านชีวิตมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

ไม่เพียงแต่มิจิเท่านั้น ในสังคมปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่แก่ตัวลงด้วยความรู้สึกที่ไม่ถูกเติมเต็ม ความชราภาพที่มาเยือนยังย้ำเตือนว่าหมดเวลาที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองและสังคมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อนั้นความรู้สึกไร้คุณค่าจึงค่อยๆ เติบโตขึ้น

ความโดดเดี่ยวสิ้นหวังในใจของผู้สูงอายุ คือหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการช่วยเหลือไปพร้อมๆ กับการบริหารจัดการประเทศในภาวะสังคมสูงวัย หากพิจารณาถึงข้อเสนอที่ใกล้เคียงและอาจใช้เป็นแนวทางได้ คงต้องกล่าวถึงทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ (Hierarchy of Needs) ของมาสโลว์ (Abraham H. Maslow) นักจิตวิทยากลุ่มและนักปรัชญาชาวอเมริกัน ซึ่งเสนอว่ามนุษย์จะมีพฤติกรรมและการแสดงออกจากความต้องการตามลำดับขั้น โดยมนุษย์จะถูกกระตุ้นให้เติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานในลำดับต้นก่อนจะไปสู่ลำดับถัดไป 

ความต้องการทั้ง 5 ลำดับ ประกอบด้วย กายภาพ (Physiological) ความปลอดภัย ความมั่นคง (Safety) ความรัก-การเป็นเจ้าของ (Sense of Belongings) ความเคารพ (Esteem) และการบรรลุความหมายหรือความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-actualization) ซึ่งแม้ทฤษฎีข้างต้นจะถูกวิจารณ์ด้วยเหตุผลว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องพัฒนาไต่ไปตามลำดับขั้น แต่ความสัมพันธ์ของความต้องการแต่ละด้านยังคงเชื่อมโยงและมีผลต่อกันและกัน

สำหรับผู้สูงอายุ ความต้องการในความสมบูรณ์ของปัจจัยกายภาพ เช่น ที่อยู่ อาหาร สวัสดิการด้านสุขภาพ ความปลอดภัยมั่นคง การรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และการได้รับความเคารพจากทั้งผู้อื่นและจากตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นใจ และเป็นเส้นทางไปสู่ความรู้สึกถึงความสมบูรณ์ของชีวิตในช่วงบั้นปลาย ดังนั้นนอกจากการปรับตัวของผู้สูงอายุเองแล้ว การออกแบบนโยบายที่ใช้ดูแลคนสูงวัยให้สอดคล้องกับความต้องการเหล่านี้โดยอยู่บนพื้นฐานการดูแลของอำนาจรัฐก็เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักไม่แพ้กัน

ไม่ว่าโดยเหตุผลใดที่ทำให้ Plan 75 ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชนสูงอายุ ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์คือ แนวคิดของโครงการนี้ยังไม่ถูกยอมรับจากคนทุกกลุ่มในสังคม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ถูกปฏิเสธจนถึงขั้นต้องล้มเลิก นโยบายลดจำนวนคนแก่ด้วยการชวนมาดับลมหายใจจึงยังสามารถดำเนินการมาได้ยาวนานกว่า 10 ปี ทั้งยังวางแผนจะปรับลดเกณฑ์ให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่อายุ 65 ปี ในอนาคตอันใกล้

ตัวเลขอายุที่ถูกลดลงถึง 10 ปี สะท้อนถึงความเป็นไปบางอย่างในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งนอกเหนือจากการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาภาวะสังคมสูงวัยแล้ว ความสำเร็จของการอนุญาตให้ประชาชนเข้ารับการการุณยฆาตยังย้ำเตือนว่า การมีชีวิตที่ยืนยาวไม่ใช่ความต้องการของคนในปัจจุบันอีกต่อไป

Plan 75 ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่คือผลจากปัจจุบัน

นอกจากตัวละครหลักวัยชราที่เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินเรื่อง ยังปรากฏตัวละครวัยหนุ่มสาวที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Plan75 อย่างฮิโรมุ พนักงานฝ่ายบริการ รับบทโดยฮายาโตะ อิโซมุระ (Hayato Isomura) โยโกะ พนักงานคอลเซ็นเตอร์ฝ่ายดูแลผู้สูงอายุ รับบทโดยยูมิ คาวาอิ (Yuumi Kawai) และมาเรีย พนักงานจัดการศพ ซึ่งรับบทโดยสเตฟานี อาเรียน (Stefanie Arianne) อันเป็นตัวแทนหนุ่มสาวในสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ เพียงแต่การพบกันภายใต้ Plan75 ทำให้ทั้งสามต้องเข้าร่วมในกระบวนการที่มีปลายทางไปสู่การจบชีวิตของคนชรา

ความผูกพันและความสะเทือนใจบางประการที่ก่อตัวขึ้นในระหว่างการทำงานกับผู้สูงอายุ ทำให้ทั้งสามคนตัดสินใจทำผิดกฎการทำงานเพื่อนำตัวเองเข้าไปแก้ไขการตัดสินใจของผู้ร่วมโครงการ แม้จะทราบดีว่าไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ โดยที่ภาพยนตร์ไม่ได้บอกเล่าเหตุผลของทั้งสามออกมาตรงๆ แต่ให้ผู้ชมค้นหาคำตอบเหล่านั้นผ่านการกระทำของตัวละคร

ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ เราทุกคนก็จะเป็นผู้สูงอายุคนหนึ่งในอนาคต (หากมีอายุยืนยาวมากพอ) แม้ในวันนี้จะยังดำรงอยู่ในสถานะเด็ก วัยรุ่น หรือคนหนุ่มสาว แต่การมองเห็นตัวแทนภาพอนาคตของตัวเองจบชีวิตลงโดยไม่อาจบอกได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่ ก็สั่นคลอนความรู้สึกของปัจจุบันได้พอสมควร

Plan 75 อาจเป็นเพียงนโยบายที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่ความรู้สึก ‘จริง’ กลับมากกว่าแค่การเล่าเรื่องผ่านตัวละครสมมุติ โดยเฉพาะในโมงยามที่การแสวงหาความมั่นคงและความสำเร็จเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน การสร้างตัวตนและคุณค่าก็เกิดขึ้นท่ามกลางการผันเปลี่ยนของช่วงวัย 

เมื่อถึงเวลา เราทุกคนก็คงมีคำตอบให้ตัวเองว่าจะเลือกมีชีวิตอยู่ต่อหรือตายจากไป

อ้างอิง

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า