ขีดเส้นใต้บางประโยคมีชีวิตในหนังสือที่ว่าด้วยการตายสมัยใหม่

    ตาย-เป็น: การแพทย์สมัยใหม่ ความตาย และความหมายของปลายทางชีวิต / อาทูล กาวานดี เขียน / บวรศม สีระพันธ์ แปล / สำนักพิมพ์ openworlds

 

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย อาทูล กาวานดี ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย Being Mortal: Medicine and What Matters in the End หรือ ‘ตาย-เป็น’ ในชื่อภาษาไทย ประกอบด้วยสิ่งละเล็กละน้อยที่รวมเข้ากันเป็นคุณค่าและเป้าหมายของช่วงท้ายชีวิต ประวัติการก่อเกิดสถานพยาบาล, งานศึกษาวิจัยทั้งเกี่ยวทางตรงและอ้อมกับเรื่องความตาย, ประสบการณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เขาเคยรักษา, ความปรารถนาของผู้คนใกล้ตาย, ศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุและคนใกล้ตาย หรือ อิสรชน คำที่เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ค้นพบว่าคือปรารถนาของวัยชราและผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

 

หน้า 25

 

ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายในโรงเรียนแพทย์ แต่กลับไม่ได้เรียนรู้เรื่องความตาย…

 

ข้อความบนรอยขีดปากกาแรกคือประโยคเปิดในหนังสือเล่มนี้ของ อาทูล กาวานดี ประสบการณ์การเป็นศัลยแพทย์ผู้คลุกคลีความป่วยไข้และใกล้ชิดความตายบอกเขาว่า วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์คือสอนให้รู้จักวิธีช่วยชีวิตคน แต่ “ไม่ใช่สอนวิธีเฝ้าดูการตายของพวกเขา”

หมออาทูลวิจารณ์วิธีคิดและการปฏิบัติทางการแพทย์ที่มีต่อคนชรา คนป่วยระยะท้าย และความตาย วิทยาศาสตร์การแพทย์ผลิตองค์ความรู้ต่อกรกับความเสื่อมถอยของร่างกาย ในระดับเซลล์ ยีน เราอาจเรียกสิ่งนี้ได้ว่า ‘โอกาส’ โอกาสขยายเวลาในชีวิตมนุษย์

แต่สิ่งที่มาพร้อมกับโอกาสคืออะไร ถ้าเราจะหาคำที่เป็นขั้วตรงข้ามของคำ ‘โอกาส’ คำนั้นควรเป็นคำว่าอะไร เราพอจะเรียกสิ่งนั้นว่า ‘อุปสรรค’ ได้หรือไม่

อุปสรรคที่จะได้เป็นอิสรชน การตัดสินใจเลือกโอกาสให้ชีวิตคล้องจองกับคุณค่าที่ตนยึดถือ  หมออาทูลมองว่า ในบางกรณีการแพทย์สมัยใหม่ยื้อโอกาสให้บางชีวิตถอยห่างออกจากคุณค่าหรือการเป็นอิสรชน

 

หน้า 122

 

เราจะมีชีวิตอย่างมีคุณค่าได้อย่างไรเมื่อเราอ่อนแอ เปราะบาง และไม่สามารถดูแลปกป้องตัวเองได้อีกต่อไป

 

ประวัติศาสตร์ความทรมานของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโลกการแพทย์สมัยใหม่ได้ตั้งคำถามกับบทบาททางการแพทย์ หน้าที่ของโรงพยาบาล (ระบบบริการสุขภาพ) และคุณค่าของชีวิต

การแพทย์ โรงพยาบาล และคุณค่าของชีวิต สามสิ่งนี้เกาะเกี่ยวกันอย่างน่าสนใจ

หมออาทูลเล่าว่านักวิชาการแบ่งพัฒนาการทางการแพทย์คู่ขนานไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจได้สามระยะ ดังนี้

ระยะแรก – เมื่อประเทศยากจน การตายจะเกิดขึ้นที่บ้าน เพราะประชาชนไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรคจากแพทย์มืออาชีพ

ระยะที่สอง – เมื่อเศรษฐกิจของประเทศพัฒนา ประชาชนมีระดับรายได้สูงขึ้น สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ผู้คนใช้ระบบบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย พวกเขามักจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

ระยะที่สาม – เมื่อรายได้ของประเทศสูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุด การเสียชีวิตที่บ้านจึงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

การศึกษาพัฒนาการทางการแพทย์นี้ สอดคล้องกับสถิติการตายที่บ้านและโรงพยาบาลของชาวอเมริกัน

ในปี 1945 ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ตายที่บ้าน ก่อนจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 17 ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 การใช้บริการ ‘การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2010 ร้อยละ 45 ของชาวอเมริกันเสียชีวิตในสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (hospice) มากกว่าครึ่งของจำนวนร้อยละ 45 พวกเขาตายที่บ้าน

ก่อนที่สังคมจะผลิตนวัตกรรมอย่าง ‘สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เพิ่งจะมีโรงพยาบาลใกล้บ้านเมื่อปี 1946 เมื่อรัฐสภาผ่านกฎหมายฮิลล์-เบอร์ตัน (Hill-Burton Act) กำหนดให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณก่อสร้างโรงพยาบาล กฎหมายฮิลล์-เบอร์ตันทำให้มีสถาบันทางการแพทย์สมัยใหม่เกิดทั่วสหรัฐมากกว่า 9,000 แห่ง

สหรัฐ – ดินแดนแห่งภาพเหมารวมเกี่ยวกับการผลักไสผู้สูงอายุไปสู่บ้านพักคนชรา ก่อนที่จะเกิดภาพเหมารวมนี้ คนจนหรือคนอ่อนแอเปราะบางคือปัญหาใหญ่ สวัสดิการจากรัฐอย่าง ‘บ้านพักคนจน’ ก็คือเสาเข็มต้นแรกๆ ของสถานที่อย่าง ‘บ้านพักคนชรา’ รวมไปถึง ‘สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย’

เรื่องนี้มีอยู่ว่า ผู้กำหนดนโยบายต่างหาวิธีที่จะลดจำนวนบ้านพักคนจนลง และคนสูงอายุคือสมาชิกส่วนใหญ่ในบ้านพักคนจน ระบบบำนาญจึงเป็นความหวังให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในบั้นปลายของชีวิต แต่เรื่องนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเสมอไปหากจะใช้ระบบบำนาญในการลดจำนวนบ้านพักคนจน เพราะหลังจากที่สหรัฐมีกฎหมายประกันสังคมปี 1935 จำนวนบ้านพักคนจนก็ไม่ได้ลดลง

หมออาทูลบอกว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องย้ายออกจาก ‘บ้าน’ ไปอยู่บ้านพักคนจน เพราะพวกเขา “อ่อนแอ ป่วย แก่ชรา หรือเปราะบางเกินกว่าจะดูแลตัวเองได้อีกต่อไป”

ขณะที่โรงพยาบาลกำลังขยายไปทั่วสหรัฐในช่วงกลางทศวรรษ 1940  โรงพยาบาลถูกมอบบทบาทให้เป็นที่พึ่งพิงของเหล่าคนอ่อนแอ ป่วย และมีความเปราะบางในชีวิต จำนวนบ้านพักคนจนลดลงอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วงทศวรรษที่ 1950 ก่อนที่ความอ่อนแอ เปราะบาง ป่วยไข้ และชรา จะล้นโรงพยาบาล

กระทั่งปี 1954 ฝ่ายนิติบัญญัติสนับสนุนเงินทุนให้สร้างสิ่งที่หมออาทูลเรียกว่า “หน่วยคุมขังที่แยกออกมาต่างหากสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสภาพ” และนี่คือจุดเริ่มต้นของสถานดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) จนถึงปี 1970 มีสถานดูแลผู้สูงอายุประมาณ 1,300 แห่งทั่วสหรัฐ

ภาพลักษณ์ของสถานดูแลผู้สูงอายุเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ผู้สูงอายุไม่ชอบอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ เหมือนที่นักสังคมวิทยาสังเกตเห็นความคล้ายกันระหว่างสถานดูแลผู้สูงอายุกับเรือนจำ

ผู้ป่วยของหมออาทูลหลายรายมีความต้องการควบคุมชีวิตของตนเอง และพวกเขาเหล่านั้นต่างก็มีความคิดร่วมกันว่า “บ้านเป็นสถานที่หนึ่งเดียวที่การจัดลำดับความสำคัญของคุณมีพลังอำนาจ เมื่ออยู่ที่บ้าน คุณเป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้เวลาของคุณอย่างไร คุณจะแบ่งปันการใช้พื้นที่ของคุณกับคนอื่นอย่างไร”

ตอนเรายังเด็กบ้านคือเรือนจำ แต่เมื่อแก่ตัวลงบ้านคืออิสรภาพ

แต่เมื่อเราแก่ตัวลง ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองเสื่อมถอย และในภาวะเช่นนี้มันคือข้อจำกัดทางกายภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการมีอิสรภาพในชีวิต

 

หน้า 288

 

ถ้าอาการแย่ลง เป้าหมายในชีวิตคืออะไร

 

ชายชราอายุ 100 ปี ยังคงขี่ม้าออกไปดูแลไร่นาทุกวัน แต่การขี่ม้าของชายชราอายุ 100 ปี ไม่ได้ราบรื่นเหมือนคนหนุ่มอายุ 20 แต่เขายืนยันที่จะทำกิจกรรมเดิมเช่นที่เคยทำมาตั้งแต่หนุ่ม โดยมีคนในครอบครัวคอยดูแลชายชราอายุ 100 ปีคนนี้

ชายชราอายุ 100 ปีคนนี้ชื่อ สิตาราม กาวานดี ชายชาวอินเดียผู้เป็นปู่ของหมออาทูล โลกของการดูแลผู้สูงอายุของโลกตะวันออกอาจจะแตกต่างจากโลกตะวันตกเล็กน้อย เพราะระบบครอบครัวที่ต่างกัน อย่างน้อยในครอบครัวกาวานดีที่ประเทศอินเดียก็มีคนสามรุ่นอยู่ร่วมกัน

การขี่ม้าของสิตาราม แม้ดูเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อและฟังดูแฟนตาซี แต่มันเป็นเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ยืนยันว่า บ้านยังเป็นอิสรภาพของวัยชรา อย่างน้อยๆ ก็ในกรณีของสิตาราม

อัตมาราม กาวานดี พ่อของหมออาทูลมีชีวิตที่ต่างไปจากปู่ของเขา เนื่องจากอัตมารามเป็นพลเมืองอเมริกันคนแรกของตระกูลกาวานดี เขาเป็นชาวฮินดูที่บอกรับเป็นสมาชิกสังกัดวัฒนธรรมแบบอเมริกันตลอดชีพ และเขาก็เป็นแพทย์เหมือนลูกชาย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับพ่อของหมออาทูลในหนังสือเล่มนี้ได้ฉายภาพนายแพทย์วัย 70 คนหนึ่งที่กำลังป่วยและมีแนวโน้มจะเป็นอัมพาต เขาไม่ได้กล้าหาญต่อความป่วยไข้อะไรเลย เขาก็เหมือนคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เป็นมิตรกับข่าวความเจ็บป่วยและข้อจำกัดของชีวิต

ที่สหรัฐ อัตมารามไม่มีม้าขี่เหมือนปู่ของลูกชาย แต่เขามีหน้าที่และการงานที่เขารักและต้องการที่จะทำมันต่อไปในฐานะแพทย์ เพียงแต่ตอนนั้นเขาเป็นแพทย์ที่มีเนื้องอกในไขสันหลัง

“ถ้าอาการแย่ลง เป้าหมายในชีวิตคืออะไร” อาทูลถามพ่อ

สิ่งที่เขาตอบลูกชายคือปรารถนาที่จะ “ทำงานจนครบวาระ” สิ่งนี้คือคุณค่าในชีวิตที่เขายึดถือ พวกเขาแลกเปลี่ยนกันระหว่างพ่อกับลูก การเลือกที่จะรักษาด้วยวิธีหนึ่งอาจส่งผลต่อความเจ็บป่วยอีกแบบหนึ่ง สิ่งไหนที่เขาสามารถรับได้ สิ่งไหนไม่อาจยอมรับ สองพ่อลูกพูดคุยกันอย่างเปิดใจถึงฉากจบของชีวิต

ก่อนที่พ่อของผมจะตายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ช่วงหนึ่งเดือนสุดท้ายที่พ่อมีชีวิต ผมไม่เคยถามพ่อเลยว่า “ถ้าอาการของพ่อแย่ลง เป้าหมายในชีวิตพ่อคืออะไร” เหมือนที่หมออาทูลถามพ่อของเขา

พวกเราตั้งโจทย์ผิด เราไม่ได้คาดหวังว่าอาการของพ่อจะแย่ลง เราต้องการให้เขาดีขึ้น แต่ข้อเท็จจริงไม่อนุญาตให้เป็นเช่นนั้น เราจึงไม่คุยกันเรื่องแบบนี้ เราขลาดกลัวเกินกว่าจะพูดคุยกันตรงๆ และเมื่อเราไม่ถาม พ่อก็ไม่ตอบ

เมื่อย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำเรื่องนี้ ผมพบว่าพ่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย จากการได้ยินหมอบอกแก่น้องๆ พ่อนั่งอยู่ในห้องด้วย วัฒนธรรมที่เรามองคนป่วยระยะสุดท้ายเหมือนเด็กที่ตัดสินใจเองไม่ได้ ทำให้ข่าวความตายของตนเองลอยมาเข้าหูของตนเอง ทำไมหมอไม่จ้องตาพ่อและบอกถึงสถานการณ์ที่เขาต้องเผชิญและจำนวนเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนัก

เราเลือกรักษาพ่อแบบเยียวยาตามอาการ เพราะร่างกายของเขาไม่แข็งแรงพอต่อเคมีบำบัดและแสงรังสี

หนึ่งเดือนสุดท้ายเป็นช่วงที่ใช้เวลากับพ่อแทบจะ 24 ชั่วโมง นอกจากคำร้องขอประเภท “หิวน้ำ” “อยากเข้าห้องน้ำ” “ช่วยพ่อเอนหลังหน่อย” ผมไม่ได้พูดคุยอะไรกับพ่อที่เป็นเรื่องราวที่ควรจะพูดคุยกันเลย – ไม่มีเลย

“พ่อจะหายมั้ย” ด้วยน้ำเสียงอ่อนเพลีย พ่อเอ่ยถามขึ้นมาในบ่ายวันหนึ่งที่เราอยู่ด้วยกัน แน่นอนผมโกหกพ่อ และพ่อก็น่าจะรู้ว่าผมโกหกเขา เราต่างแสดงออกต่อกันว่าอีกไม่นานปัญหานี้ก็จะถูกคลี่คลายเหมือนทุกปัญหาที่ผ่านมา

 

หน้า 290

 

พ่อกลัวการเป็นอัมพาตมากกว่าความตาย เมื่อถามหมอว่าระหว่างการหยุดกับการผ่าตัดต่อไป อะไรที่จะทำให้พ่อมีความเสี่ยงเป็นอัมพาต หยุดผ่าตัด เขาบอก เราจึงบอกให้เขาทำการผ่าตัดต่อไป

 

เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีการพูดคุยกัน ‘ตาย-เป็น’ บอกว่า เพราะนี่คือสิ่งจำเป็นในการนำข้อมูลจากเจ้าของเวลาตัวจริงไปสู่การเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่เพื่อให้เขาหายและกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้เหมือนเดิม เพราะโอกาสแบบนี้มีไม่มากหรือแทบไม่มี แต่เพื่อให้เขาได้มีชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณค่า

เมื่อใครสักคนในครอบครัวเจ็บป่วยระยะสุดท้าย การตัดสินใจเลือกคือสิ่งยากลำบาก และชวนเจ็บปวดเสมอ

หมออาทูลเล่าถึงบทความที่เขาเคยเรียนสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ บทความนั้นแบ่งความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนป่วยไว้สามรูปแบบ

ความสัมพันธ์แบบพ่อดูแลลูก – หมอจะเป็นผู้ตัดสินใจให้ว่าคุณต้องกินยาตัวไหน หรือรับการรักษาแบบใด

ความสัมพันธ์เชิงข้อมูล – ตรงข้ามกับแบบแรก หมอจะอธิบายคุณสมบัติของยาและวิธีรับการรักษาแต่ละแบบ ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงแบบนี้ ส่วนการตัดสินใจเลือกรับการรักษาแบบไหนหรือยาตัวใดคืออิสระที่หมอมอบให้คุณ

ความสัมพันธ์เชิงแปลความหมาย – คือบทบาทของแพทย์ในการช่วยให้ผู้ป่วยได้กำหนดชีวิตในแบบที่ต้องการ แพทย์จะถามคุณด้วยคำถามทำนองว่า “อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคุณ คุณกังวลเรื่องอะไร” หรือ “ถ้าอาการของคุณแย่ลง เป้าหมายในชีวิตคืออะไร”

เมื่อรู้คำตอบว่าสิ่งสำคัญหรือเป้าหมายในชีวิตคุณคืออะไร แพทย์จึงจะอธิบายให้คุณฟังถึงปฏิกิริยาของยาที่ส่งผลกระทบต่อคุณ และยาชนิดใดหรือวิธีการรักษาแบบไหนที่สอดคล้องและไปด้วยกันได้กับสิ่งสำคัญในชีวิตที่คุณต้องการ

หมออาทูลเลือก ‘ความสัมพันธ์เชิงแปลความหมาย’ ในการพูดคุยกับพ่อของเขา แม้ในที่สุดหมออัตมารามจะตาย แต่ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ชีวิตของเขาก็เป็นชีวิตที่คล้องจองกับสิ่งที่เจ้าตัวได้บอกลูกชายในการพูดคุยกันแบบเปิดใจครั้งนั้น

 

หน้า 328

 

ผมระมัดระวังที่จะเสนอความคิดที่ว่าเราสามารถควบคุมตอนจบได้ เพราะไม่มีใครเคยควบคุมตอนจบได้

 

เราใช้เวลาทั้งชีวิตแสวงหาอิสรภาพ อิสรภาพในบ้านของเราเอง เรามีเวลาและพื้นที่ของตัวเอง เราใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อไขว่คว้าหามัน แต่เมื่อเราได้มันมาครอบครอง (ในกรณีที่คุณได้มันมาน่ะนะ) เราก็แก่ชรา และค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองในทางกายภาพ และนั่นคือสัญญาณของการสูญเสียอิสรภาพที่คุณสั่งสม ยึดมั่น และไล่คว้ามาทั้งชีวิต

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ‘สถานที่ใช้ชีวิตโดยได้รับความช่วยเหลือ’ หรือ assisted living facility จึงเป็นการสร้างพื้นที่ที่มีความต่างออกไปจากสถานดูแลผู้ป่วยแบบเดิม หมออาทูลเรียก ‘สถานที่ใช้ชีวิตโดยได้รับความช่วยเหลือ’ ว่า เป็นพื้นที่กลางทางระหว่าง “การใช้ชีวิตอิสระ” กับ “การใช้ชีวิตในสถานดูแลผู้สูงอายุ”

แม้จะฟังดูดี แต่ก็มีคนตั้งคำถามกับ ‘สถานที่ใช้ชีวิตโดยได้รับความช่วยเหลือ’ ซึ่งส่วนมากกังวลกับความปลอดภัยที่กลุ่มคนสูงอายุที่มีความเปราะบางในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นคำถามที่ดีและเปิดโอกาสให้แนวคิดได้ถูกปรับปรุง และก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าชีวิตอิสระและได้รับความช่วยเหลือกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้าย และเติบโตได้ในเชิงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

หน้า 65

 

ไผ่บางชนิดยืนต้นอย่างแน่นหนา งอกงามหลายร้อยปี ออกดอกเพียงครั้งเดียว แล้วก็ตาย

 

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบเดือนมกราคม ที่พักชั้นที่อาศัยอยู่มีคนทยอยออกจนทั้งชั้นเหลือผู้อาศัยไม่กี่ห้อง และผมก็ได้พบกับลุงอ๋อย

ลุงอ๋อยเป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์ร่มรื่นหลังนี้ ผมแอบเรียกแกเงียบๆ ด้วยรสนิยมทางการเมืองที่แสดงให้เห็นจากหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์บนชั้นหนังสือ สติกเกอร์รณรงค์ทางการเมืองตรงประตูห้องสำนักงาน ลำโพง และเรื่องราวที่เราเคยคุยกัน

ลุงอ๋อยเป็นวิศวกร แกมีส่วนร่วมในการสร้างสนามบินภูเก็ต และอพาร์ตเมนต์หลังนี้ก็เป็นฝีมือของแก ในช่วงที่แกอยู่ดูแลอพาร์ตเมนต์จะมีเสียงเพลงคลาสสิกบรรเลงคลอให้ต้นไม้ดอกไม้ที่ปลูกประดับอยู่ฟัง แต่บางวันก็เปิดแจ๊ส

เป็นเวลากว่า 2-3 ปีที่แกถอยตัวเองออกจากการบริหารดูแลอพาร์ตเมนต์ ปล่อยให้รุ่นลูกขึ้นมาแทน รสนิยมเพลงของพวกเขาต่างจากลุงอ๋อยและช่วงหลังๆ เพลงเงียบหายไป

คืนนั้นแกเข้าไปซ่อมแซมห้องพักที่ว่างอยู่ แกทำงานสารพัดช่างได้ทั้งหมด ท่อประปา เดินสายไฟ ซ่อมแอร์ เดินเข้าไปทักทายจึงพบว่า ลุงอ๋อยเป็นมะเร็งลำไส้ สีหน้าซูบผอมลงเห็นได้ชัด แกเล่าอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาต้องขับถ่ายผ่านช่องท้อง “นี่ลุงเพิ่งฟื้นนะนี่” แกบอก และจากการตรวจร่างกายครั้งล่าสุดพบว่าตับอาจจะมีปัญหาใหญ่ตามมา

ระหว่างเล่า แกทำนู่นทำนี่ไปด้วย เล่าเรื่องราวมะเร็งลำไส้ราวกับเพียงว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา

‘กล้าหาญ’ ผมคิดว่าลุงอ๋อยกล้าหาญ แกรักงาน เสียงเพลง และหมาอีกราวสิบตัว แกทำให้นึกถึง ‘ตาย-เป็น’ และ ‘ความกล้าหาญ’ คือชื่อบทสุดท้ายของ ‘ตาย-เป็น’ ส่วน ‘อิสรชน’ คือบทแรก.

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า