เมื่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเครื่องมือรับใช้ทุน

เรื่อง: เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

ปมด้อยของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ก็คือไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก นอกจากการเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเรื่องประชาธิปไตยที่ต้องประกาศให้แจ้งชัดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วได้เมื่อไหร่แล้ว ยังมีวิธีกลบปมด้อยอยู่อีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้ในสภาวะที่บ้านเมืองปกครองด้วยระบอบเผด็จการ

ทั้งสองเรื่องเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไขว้ไปมา จากความไม่ชัดเจนของประชาคมโลกเองว่าจะจัดลำดับความสำคัญให้เรื่องไหนมาก่อน เรื่องไหนมาทีหลัง มันจึงทำให้ คสช. ตอบสนองในเรื่องที่ง่ายกว่าก่อน นั่นก็คือ การสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ส่วนเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ คสช. ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ (ซึ่งระยะเวลาสามปีกว่านับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็เลยช่วงระยะเวลาอันใกล้มามากแล้ว)

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากรัฐประหารผ่านมาได้สองสัปดาห์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ออก ประกาศ คสช. ฉบับที่ 55/2557 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพราะเล็งเห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตให้ได้

นอกจากหน่วยงาน/องค์กรและกลไกทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ คสช. ควบคุมไว้ทั้งหมดในฐานะที่เป็นรัฐบาลแล้ว อุปสรรคสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในการกลั่นกรองและพิจารณาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ประเภทต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของภาครัฐและเอกชนเพื่อการลงทุนในกิจการสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน ภาคอุตสาหกรรมและบริการมากนัก ก่อนหน้าที่หัวหน้า คสช. จะลงนามแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานกรรมการ BOI หนึ่งสัปดาห์ แนวคิดเรื่อง EIA Fast Track ก็ผุดขึ้นมา เพื่อต้องการให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA สร้างช่องทางลัดพิเศษขึ้นมา เพื่อทำให้ระยะเวลาการพิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อย่างมากที่สุดต้องไม่เกิน 105 วัน) สำหรับโครงการนำร่องในการก้าวขึ้นสู่การเป็นรัฐบาลของ คสช. อันได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ 5 สาย รถไฟฟ้าหลายเส้นทาง และมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด เป็นต้น

กลางปี 2558 แนวคิดเรื่อง EIA Bypass ก็เกิดขึ้นตามมาจากข้อเสนอของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ตามคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษประกาศ ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ที่ลงนามแต่งตั้งตัวเองเป็นประธาน ได้เสนอให้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบ และเงื่อนไข ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำและพิจารณา EIA บางขั้นตอนให้มีระยะเวลาสั้นลง เพื่อผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีผลเชิงรูปธรรมเร็วขึ้น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือจัดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA ด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค (คชก.) ระดับจังหวัด [1] ที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถเป็นผู้อนุมัติ/อนุญาต EIA ได้เอง ไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณา EIA แบบเดิมที่ใช้ระยะเวลายาวนานในการพิจารณาผ่านความเห็นชอบอีกต่อไป

ปลายปี 2558 ความพยายามที่จะทำ EIA Fast Track และ EIA Bypass ยิ่งชัดเจนขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ขั้นตอนในการดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดเตรียมโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน และการคัดเลือกโครงการ สามารถจัดทำไปพร้อมกับการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study: FS) และการจัดทำ EIA โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ FS หรือ EIA ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ที่แต่เดิมหน่วยงานต่างๆ จะต้องศึกษา พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ เรียงลำดับดังนี้ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดเตรียมโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน และการคัดเลือกโครงการ ฯลฯ ตามลำดับก่อนหลัง แต่มติ ครม. ดังกล่าวสามารถให้หน่วยงานต่างๆ ศึกษา พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตัวเองไปพร้อมๆ กันหรือคู่ขนานกันไปได้เลย ไม่ต้องรอลำดับก่อนหลังอีกต่อไป ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่สามารถย่นระยะเวลาให้กับโครงการที่เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ จากระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี 10 เดือน เหลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น

เบื้องต้น คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track จำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 334,207 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มูลค่าโครงการ 82,600 ล้านบาท โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าโครงการ 55,620 ล้านบาท

การปูทางเพื่อการนี้มีมาเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 เพื่อขยายอำนาจ ม.44 ตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ที่กำหนดให้ที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ 3 จังหวัด คือ บริเวณตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายผังเมือง เปลี่ยนเป็นยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด [2] หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี [3]

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 เพื่อขยายอำนาจ ม.44 ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในโรงงานบางประเภทเพิ่มขึ้นอีก เช่น โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ โรงงานกำจัดขยะและของเสียต่างๆ เป็นต้น

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 7 มีนาคม 2559 เพื่อยกเว้นโครงการด้านคมนาคมขนส่ง การสร้างเขื่อนและชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน

คำสั่งว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนา EEC คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา EEC และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ EEC โดยรวมทั้งสามคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นมาเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา EEC และคณะกรรมการบริหารการพัฒนา EEC ให้มีอำนาจและหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนเป็นหลักด้วยการ (1) กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุน (2) ให้ผู้ลงทุนเช่าที่ดินระยะยาว (3) ยกเว้นบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและยกเลิกผังเมืองรวมสามจังหวัดที่ไม่สอดคล้องกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง (4) ให้มี คชก. พิจารณา EIA/EHIA ของโครงการหรือกิจการในพื้นที่ EEC เป็นการเฉพาะ โดยว่าจ้างจากผู้ชำนาญการต่างประเทศที่ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทยก็ได้ และให้มีค่าตอบแทนพิเศษแก่ คชก. เฉพาะพื้นที่ EEC ด้วย และ (5) ต้องเร่งรัดให้การพิจารณา EIA/EHIA สำหรับโครงการหรือกิจการในพื้นที่ EEC แล้วเสร็จให้ได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับรายงาน

รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ให้ยุบคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ที่เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพื่อยึดอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EHIA กลับมาอยู่ในมือของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA/EHIA (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เช่นเดิม หลังจากที่ถูก กอสส. แย่งชิง แทรกแซงและลดทอนอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EHIA ไปนานกว่าเจ็ดปีนับแต่เดือนมิถุนายน 2553

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ลำดับการก่อตัวเพื่อสร้างเหตุผลและความชอบธรรมในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิ่งแวดล้อมเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงส่วนเดียว แทนที่จะแก้ไขทั้งฉบับเพื่อทำให้มิติการพัฒนาตระหนักถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชนเกิดความสมดุลและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แม้โดยรวมจะไม่ดีมากนัก แต่ก็มีพัฒนาการในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนดีขึ้นมาเป็นลำดับ

ดังนั้น หากจะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ควรแก้ไขปรับปรุงให้การมีส่วนร่วมของประชาชนทันสมัยขึ้นด้วยการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือสิทธิชุมชน หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติที่ประชาคมโลกรวมทั้งประเทศไทยตกลงร่วมกันที่จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาใส่ลงไปในกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ รวมถึงการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) เข้ามาเพื่อประเมินศักยภาพพื้นที่และความต้องการใช้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์สำหรับนโยบาย โครงการหรือกิจการที่การจัดทำ EIA/EHIA ไม่สามารถตอบสนองการประเมินผลกระทบได้รอบด้านและครบถ้วน และปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำและพิจารณา EIA/EHIA ด้วยการให้มีองค์กรอิสระที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของเจ้าของโครงการและหน่วยงานผูกขาดอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA ของรัฐ คือ สผ. คชก. และ กกวล. ฝ่ายเดียวอีกต่อไป

แต่ปัจจุบัน ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …’ หรือร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอโดย ครม. ชุดที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกส่งต่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาอยู่ในขณะนี้กลับทำตรงกันข้าม โดยมุ่งแก้ไขเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อต้องการทำให้ระยะเวลาในการจัดทำและพิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA มีขั้นตอนและกระบวนการที่ลัดสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นเสมือนการสร้างช่องทางด่วนหรือช่องทางลัด เพื่อมุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่การลงทุนมากเกินไป จนละเลยคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 มาขยายความให้ครอบคลุมโครงการหรือกิจการมากขึ้นกว่าเดิมใส่ลงไปในมาตรา 50 วรรคสี่ ที่แต่เดิมยกเว้นเฉพาะโครงการด้านคมนาคมขนส่ง การสร้างเขื่อน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย ให้สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน โดยเพิ่มโครงการหรือกิจการด้านความมั่นคงทางพลังงานเข้ามาอีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือ โครงการหรือกิจการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ โดยเฉพาะถ่านหินที่รัฐกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ที่เพิ่งถูกสลายการชุมนุมและฟ้องคดีโดยรัฐเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นต้น รวมถึงโครงการหรือกิจการจากสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งทะเลและบนบก ก็จะถูกยกเว้นด้วยการสามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อนได้เช่นเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการหรือกิจการเหล่านี้ตาม มาตรา 50 วรรคสี่ ยังถูกบังคับให้ คชก. ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA อย่างเร่งรีบภายใน 120 วัน หาก คชก. ไม่มีความเห็นภายในกำหนดเวลาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้ กกวล. ทำหน้าที่แทน โดยพิจารณาเสนอความเห็นต่อ ครม. ได้โดยไม่ต้องรอความเห็นจาก คชก. อีกต่อไปได้เลย

ประเด็นต่อมา มาตรา 48 ของร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ที่เหมือนกับมาตรา 46 วรรคสามของกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันตรงที่สามารถให้โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใด หรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใดมี EIA ไว้แล้ว (ไม่รวม EHIA เข้ามาในกรณีนี้) และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกัน หรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันได้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำ EIA ซ้ำอีก หมายถึง สามารถนำสำเนา EIA โครงการหนึ่งมาใช้กับอีกโครงการหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่ต่างพื้นที่ได้เลย

และที่เพิ่มเข้ามาก็คือ มาตรา 49 ในกรณีโครงการหรือกิจการใดได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำ EIA มีการดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้จัดทำ EIA ขึ้นมาเสนอต่อ สผ. หรือ ‘หน่วยงานของรัฐแห่งอื่น’ ตามที่ กกวล. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการเหมืองแร่ชนิดหนึ่งใช้สำเนา EIA จากโครงการเหมืองแร่ชนิดเดียวกันที่มีขนาดและพื้นที่คล้ายคลึงกันต้องการเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองและเพิ่มเติมชนิดแร่ที่จะผลิต ก็จัดทำ EIA ขึ้นมาโดยเสนอต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตามกฎหมายแร่แทนการเสนอต่อ สผ. และ คชก. ได้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ EIA ที่จัดทำขึ้นมาผ่านความเห็นชอบได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. แต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติที่เพิ่มเข้ามาค่อนข้างอันตราย เนื่องจากว่าอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA ของ สผ. คชก. และ กกวล. ซึ่งปรากฏอยู่ในร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้และคำสั่งหัวหน้า คสช. ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ EEC อาจจะนำมาซึ่งโครงการหรือกิจการที่ทำสำเนา EIA เต็มไปหมดในพื้นที่ EEC มิหนำซ้ำ การดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงโครงการหรือกิจการไปจากเดิมก็อาจไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ได้

ไม่เว้นแม้แต่โครงการหรือกิจการโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะและของเสียต่างๆ ที่อยู่อาศัยตึกสูงที่ผุดขึ้นเต็มกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันทั้งในด้านขนาดและพื้นที่ ก็คงจะมีการทำสำเนา EIA เต็มไปหมด และก็เช่นเดียวกัน การดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงโครงการหรือกิจการไปจากเดิมก็อาจไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ได้

อีกประเด็นหนึ่ง มาตรา 51 เปิดโอกาสให้โครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำ EIA/EHIA สามารถเสนอต่อ สผ. หรือ ‘หน่วยงานของรัฐแห่งอื่น’ ตามที่ กกวล. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้ หมายความว่า EIA/EHIA สำหรับโครงการหรือกิจการประเภทใดที่ยากและใช้เวลานานในการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ก็ให้หน่วยงานที่มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนั้นทำหน้าที่เป็น สผ. และ คชก. แทน ยกตัวอย่างเช่น โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าประเภทหนึ่งก็ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เป็นผู้พิจารณาใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า ทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA เพิ่มเติมอีกหน้าที่หนึ่ง เป็นต้น

หน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ก็คือมีหน้าที่เป็นตาข่ายคอยดักและกลั่นกรองการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความสมดุลในการใช้และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการมองมิติความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายชั่วอายุคน และคำนึงถึงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์สุขของประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายเกินไปจากมลพิษในภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รายรอบที่อยู่อาศัย แต่สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. กระทำคือ ตัดตาข่ายของกฎหมายสิ่งแวดล้อมทิ้ง ซึ่งจะทำให้การกลั่นกรองเพื่อรับประกันให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาวะอนามัย อ่อนแอลง จากการเปลี่ยนกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง


[1] แนวคิดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระดับจังหวัด ถูกผลักดันจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ข้อ 4.2 ที่สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณากำหนดแนวทางให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการลงทุน หรือพื้นที่ที่ต้องเร่งพัฒนาหรือดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้โครงการและกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาลสามารถเริ่มดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
[2] 5 จังหวัดแรก ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่ 1/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 19 มกราคม 2558
[3] อีก 5 จังหวัดหลัง ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ลงวันที่ 24 เมษายน 2558

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า