เลือกตั้งเร็ว จบเร็ว เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชุมร่วมกับ กกต. และพรรคการเมืองรวม 75 พรรค ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 พร้อมกับประกาศโรดแมปว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากนั้น วันที่ 9 ธันวาคม 2561 ก็มีประกาศยกเลิกคำสั่ง คสช. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ประชาชนทุกคนต่างเข้าใจได้ว่า เรากำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในเร็ววัน

แต่เมื่อพ้นปีใหม่มาได้ไม่กี่วัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็อ้างถึงประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 มาเป็นเหตุว่า ควรเลื่อนการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้กระทบกับงานพระราชพิธี โดยเสนอให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม และประกาศผลในอีก 60 วันต่อมา คือในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งจะพ้นช่วงพระราชพิธีไปแล้ว (อ้างอิงจาก: ข่าวสด 4 มกราคม 2562)

การเปิดประเด็นของนายวิษณุทำให้โรดแมปที่ถูกวางไว้ต้องถูกเลื่อนออกไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่ผ่านมารัฐบาล คสช. ได้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างน้อยสี่ครั้งแล้ว ทั้งๆ ที่มีโรดแมปออกมาชัดเจนแล้ว การเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้ย่อมกระทบกับความเชื่อมั่นของหลายฝ่าย จนเป็นห่วงว่ารัฐบาลไทยจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะในสายตาชาวโลก เพราะที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ก็เคยกล่าวกับทั้งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่าจะมีการเลือกตั้ง เดือนนั้น ปีนั้น แต่ก็เลื่อนมาแล้วถึงสี่ครั้ง

ข้ออ้างที่ว่า ไม่ควรเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะหากประกาศผลใน 60 วันต่อมา คือวันที่ 24 เมษายน 2562 นั้น จะใกล้กับพระราชพิธี วางอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า กกต. จะต้องใช้เวลาถึง 60 วัน ซึ่งเป็นเวลาสูงสุดที่ กกต. ใช้ตรวจสอบคำร้องต่างๆ และประกาศรับรองผลให้ได้ร้อยละ 95 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาร่วมกับวุฒิสภาและเลือกนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราต่างทราบดีว่า ประชาชนจะทราบผลการเลือกตั้งเบื้องต้นภายในค่ำวันเดียวกันของวันเลือกตั้ง สถานีโทรทัศน์ต่างแข่งขันกันรายงานอย่างเร่งด่วน แต่ที่การประกาศผลต้องยืดเวลาออกไปเพราะบางเขต (ไม่ใช่ทุกเขต) มีการร้องคัดค้าน จากสถิติย้อนหลังพบว่า ในการเลือกตั้งสามครั้งหลังสุด ในปี 2548, 2550 และ 2554 กกต. ใช้เวลา 16, 29 และ 24 วันตามลำดับ หรือเฉลี่ย 23 วัน สำหรับการประกาศผลได้ร้อยละ 95 และสามารถเปิดประชุมสภาภายใน 15 วัน หลังจากนั้น ทั้งหมดนี้ก็น่าจะแล้วเสร็จได้ภายในต้นเดือนเมษายน หรือก่อนงานพระราชพิธีได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่รองนายกรัฐมนตรีจะต้องคาดการณ์ไปในทางที่ต้องใช้เวลาสูงสุดถึง 60 วัน

ที่สำคัญ การร้องคัดค้านการเลือกตั้งจะมีมากหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กกต. และกลไกของรัฐเป็นสำคัญ หาก กกต. ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนจัดการเลือกตั้งอย่างรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ด้านกลไกของรัฐก็ใช้อำนาจอย่างยุติธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างพรรคใด โดยเฉพาะพรรคที่ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป การทำผิดกฎหมายย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เช่นเดียวกับการร้องคัดค้านที่จะเกิดขึ้นน้อย

ประการสำคัญ รัฐบาล คสช. ควรตระหนักว่า สถานการณ์ที่ทำให้ดูเหมือนวันเลือกตั้งกระชั้นใกล้กับวันพระราชพิธีนั้น มีต้นเหตุมาจากรัฐบาลเองที่ตุกติกหาเหตุขยายเวลาโดยไม่มีความจำเป็น โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนออกมาจากปลายปีที่แล้ว ก็เพราะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้มีผลหลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษา 90 วัน แทนที่จะให้มีผลนับแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษาทันทีเหมือนกฎหมายอื่นๆ ทั่วไป ทำให้กว่าจะนับวันทำการต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด เช่น วันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สส. ก็ต้องถูกยืดออกไป

สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้าขณะนี้ รัฐบาลควรเร่งดำเนินการใกล้เคียงโรดแมปเดิมมากที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อยก่อนงานพระราชพิธีฯ เพราะตามกำหนดการเดิมคือ รัฐบาลจะประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สส. ในวันที่ 2 มกราคม 2562 และ กกต. จะเป็นผู้ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งหลังจากนั้น 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งได้มีการหารือตามโรดแมปไปแล้วว่าคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์

แต่เมื่อรัฐบาลไม่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สส. กกต. ย่อมไม่สามารถประกาศกำหนดวันเลือกตั้งได้ ดังนั้น หากรัฐบาลอยากกอบกู้ความน่าเชื่อถือของตัวเอง ก็ควรรีบประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สส. กกต. จึงจะกำหนดวันได้ ไม่ต้องโยนเรื่องไปให้ใคร ยิ่งรัฐบาลประกาศช้า ก็ยิ่งทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งล่าช้า และจะยิ่งทำให้การประกาศผลยิ่งใกล้กับวันพระราชพิธีฯ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย

โดยเฉพาะข้อเสนอที่ว่า ให้เลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม และให้ประกาศผลหลังพระราชพิธีฯ จะยิ่งทำให้เกิดความไม่สง่างาม หากผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ใช่พรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พลเอกประยุทธ์ยังทำหน้าที่ในพระราชพิธีฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงควรให้การเลือกตั้งและประกาศผลเสร็จเรียบร้อยก่อน นายกรัฐมนตรีที่เข้าร่วมพระราชพิธีฯ จึงมีความเหมาะสมและสง่างาม

หากรัฐบาลและ กกต. จะเสี่ยงกับการถูกตีความว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้วันเลือกตั้งเลื่อนออกไปหลังพระราชพิธีฯ ซึ่งจะใกล้กับเส้นตายที่รัฐธรรมนูญมาตรา 268 กำหนดไว้ว่า

“ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับ”

โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสี่ฉบับมีผลบังคับในเดือนธันวาคม 2561 และกำหนดเส้นตาย 150 วัน คือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

ประเด็นที่ถกเถียงขณะนี้มีอยู่ว่า คำว่า “ดำเนินการการเลือกตั้ง…ให้แล้วเสร็จ” นั้นหมายถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง หรือหมายความรวมถึงกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการประกาศรับรองผลด้วย นักกฎหมายบางท่านอธิบายคำว่า “ดำเนินการ…แล้วเสร็จ” น่าจะเป็นทั้งกระบวนการ เพราะหากหมายถึงวันเลือกตั้ง ก็น่าจะใช้คำที่กระชับชัดเจนไปแล้วว่า จัดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ไม่มีใครสามารถชี้ขาดประเด็นนี้ได้ การวินิจฉัยสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีการกระทำการที่อาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญและมีผู้ร้องเรียน หาก กกต. จะทำให้การประกาศผลเลือกตั้งมีขึ้นหลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แล้วมีการร้องเรียน และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กกต. ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด กกต. ย่อมมีความผิด จึงต้องถามว่า กกต. ยอมเสี่ยงแบกรับความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นไว้เองหรือ

ดังนั้น เพื่อความสง่างามที่รัฐบาลจะได้ไม่ต้องได้ชื่อว่า ‘เสียคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับคนไทยและประชาคมโลก’ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ได้นายกรัฐมนตรีที่อย่างน้อยก็มาจากการเลือกตั้งเข้าประกอบพระราชพิธีฯ ด้วยความสง่างาม

และเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว เพราะรัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศยาวนานกว่ารัฐบาลปกติที่ต้องหมดวาระภายในสี่ปี จนปัจจุบันเกือบจะครบปีที่ห้าแล้ว รัฐบาลควรประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สส. โดยเร็ว และ กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดตามเงื่อนไขของกฎหมาย เช่นนี้แล้วจึงจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

หากจะมีผลเสีย ก็มีอยู่ฝ่ายเดียว คือฝ่ายที่อยากสืบทอดอำนาจ

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า