ปรากฏการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฎบัตรเสียมากถึง 40,017 ใบ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.50 พร้อมๆ กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ถึงข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดจึงไม่มีโลโก้และชื่อพรรคการเมืองของผู้สมัครปรากฏในบัตรเลือกตั้ง ส่งผลให้ประชาชนสับสน หรือลงคะแนนผิดพลาดกระทั่งกลายเป็นบัตรเสีย หลายคนถึงขั้นต้องท่องจำหมายเลขของผู้สมัครเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหน้าคูหา เพราะนอกจากพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. จะมีหลายเลขที่แตกต่างกัน ประชาชนยังต้องเผชิญกับบัตรเลือกตั้งขนาดเล็ก ที่มีเพียงชื่อประเภทหัวบัตร หมายเลข และช่องกากบาทเท่านั้น ไม่มีทั้งโลโก้หรือชื่อพรรคการเมืองที่จะช่วยลดความสับสนให้กับผู้คนแต่อย่างใด
เหตุใดโลโก้และชื่อพรรคการเมืองถึงถูกตัดออกไปจากบัตรเลือกตั้ง เรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ณ ที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในที่ประชุมครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เสนอให้ใช้ชื่อกับหมายเลขของผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ต้องมีโลโก้ของพรรคการเมืองและชื่อพรรคปรากฏอยู่ โดยมอบหมายให้ กกต. ปฏิบัติตามข้อเสนอดังกล่าว
ด้าน ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. เห็นด้วยกับข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยเหตุผลว่า “การใส่ชื่อและโลโก้พรรคอาจจะทำให้เกิดปัญหาสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์ขึ้นจะถูกใช้ในการเลือกตั้งทั้งในและต่างประเทศ จึงกังวลเรื่องการขนส่งบัตร หากเกิดปัญหาผู้ที่ลงทะเบียนไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง กกต. จะไม่สามารถจัดส่งบัตรเลือกตั้งสำรองให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะจะต้องส่งบัตรเลือกตั้งของเขตที่ผู้ลงทะเบียนมีสิทธิ ดังนั้น บัตรเลือกตั้งจึงจะเหลือแค่หมายเลขและช่องกาบัตรเท่านั้น และยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แทรกแซงการทำงาน กกต.”
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงวามคิดเห็นไว้ว่า “การที่ กกต. กำหนดให้บัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคการเมือง เป็นเรื่องประหลาดและขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลเรื่องจะแก้ปัญหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ มีวิธีจะแก้ปัญหาได้ตั้งมากมายหลายวิธี ที่ไม่ใช่การเอาชื่อพรรคการเมืองออกไปอย่างนี้”
การที่บัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้และชื่อพรรคการเมืองของผู้สมัครนั้น นอกจากสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนแล้ว ปริญญายังมองว่า ประชาชนจะเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นตัวของตัวเองของ กกต. ในฐานะองค์กรอิสระ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแต่ประการใด
สดศรี สัตยธรรม ในฐานะอดีตกรรมการการเลือกตั้ง แสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าวไว้ว่า เดิมทีรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุให้ผู้สมัครในพรรคเดียวกันมีหมายเลขเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ การไม่มีโลโก้และชื่อพรรคการเมืองอาจไม่สร้างปัญหาต่อประชาชนมากนัก ทว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และมาตรา 48 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ระบุให้ผู้สมัครแต่ละพรรคมีหมายเลขแตกต่างกันออกไปในแต่ละเขตเลือกตั้ง
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าในบัตรเลือกตั้งตัดชื่อและโลโก้พรรคเชื่อว่าประชาชนเกิดความสับสนแน่นอน ความคิดของประชาชนคือเขาตั้งใจจะเข้าคูหาเลือกพรรคนี้แต่พรรคดันไม่มีชื่อ หรือโลโก้พรรคในบัตรก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร นอกจากใช้ความจำในการจำเบอร์แต่บางครั้งก็จำกันไม่ได้”
ที่มา
- “บิ๊กตู่” ชง บัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ต้องไม่มีโลโก้พรรค
- ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แนะกกต. ยกเลิกแนวคิดบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคและโลโก้ ชี้สร้างปัญหาและภาระให้ประชาชน เดินหน้าต่อไม่มีผลดี
- ต้องมี-โลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง : รายงานพิเศษ
- รุมต้านตัดโลโก้ชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง