#เลือกตั้ง66 ประจักษ์ ก้องกีรติ ถามหาความสุจริต-เที่ยงธรรมของ กกต. เอะอะก็ยุบพรรค

#เลือกตั้ง66 ที่กำลังจะมาถึง หลายฝ่ายต่างหวาดวิตกว่าจะเกิดปัญหาความไม่โปร่งใสเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 ด้วยเหตุนี้ รองศาสตราจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ จาก 3 ข้อเรียกร้องเดิมของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ณ งานเสวนา ‘ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ทางออกสู่ประชาธิปไตย’ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566

“สังคมต้องเรียกร้องให้ กกต. เป็นกลาง มืออาชีพ เที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพ” ประจักษ์ กล่าว

นี่คือข้อเรียกร้องแรกที่ส่งตรงถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีข้อครหาจำนวนมากถึงความเป็นกลางของ กกต. เพราะ กกต. เหล่านี้มีที่มาจากการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

อย่างไรก็ตาม ประจักษ์เน้นย้ำว่า ความเที่ยงธรรมและความเป็นกลางเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้องมีประสิทธิภาพด้วย เพราะในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านั้น มีข้อกังขาเรื่องการจัดการเลือกตั้งและการรายงานผลการเลือกตั้งที่สับสน ซึ่งหลายกลุ่มมองว่าไม่ชอบมาพากล

“เลิกได้แล้ว การเอาวิธียุบพรรคมาใช้เพื่อเปลี่ยนสมดุลอำนาจ”

ข้อเสนอต่อมา คือ ให้หยุดการใช้วิธียุบพรรคในการลงโทษพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่รวมความฝันและความหวังของประชาชน ประจักษ์กล่าวว่า ปัจจุบันนี้แทบทุกพรรคการเมืองล้วนมีคดีติดตัวที่ทำให้เสี่ยงจะถูกยุบพรรคได้ทั้งสิ้น พร้อมเสนอทางออกว่า หากมีผู้สมัครของพรรคใดกระทำผิด ควรจัดการลงโทษเป็นรายบุคคลมากกว่าการยุบพรรค

นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยถึงหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ใช้รูปแบบรัฐสภา โดยเน้นย้ำว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ควรเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควรใช้ระบบ Popular Votes แบบระบอบประธานาธิบดี เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายตามมา

ทั้งนี้ ข้อเสนอหลัก 3 ข้อของ iLaw เพื่อพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง 2566 ประกอบไปด้วย

  1. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.
  2. พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด ควรได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน
  3. ส.ว. ต้องเคารพเจตจำนงของเสียงข้างมาก ต้องยกมือให้นายกรัฐมนตรีจากพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากของ ส.ส. ได้เท่านั้น ห้ามงดออกเสียงเพื่อเปิดทางสู่ ‘นายกฯ คนนอก’

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า