ไม่ใช่ 1,300 ล้าน! กกต. แก้ข่าว ใช้งบเลือก สว. แค่ 463 ล้านบาทเท่านั้น

หลังตกเป็นข่าวมาพักใหญ่ๆ สำหรับการใช้งบประมาณเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งที่ผ่านมาด้วยเงินถึง 1,300 ล้านบาท ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกมาชี้แจงว่า ตัวเลขดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง

โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายจริงที่มีขึ้นจากการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ในส่วนของสำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งส่วนกลาง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จำนวน 77 แห่ง รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนบางหน่วยแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 463,216,080.05 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อการดำเนินการตามกระบวนการและวิธีเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ตามลำดับ

กล่าวถึงข้อมูลเดิมที่ปรากฏในหน้าสื่อนั้น มีการเปิดเผยว่าโดยอ้างข้อมูลจากคณะกรรมการเลือกตั้งราวปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่ามีการจัดสรรงบประมาณเอาไว้กว่า 1,300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1,176 ล้านบาทสำหรับการดำเนินการของ กกต. เพื่อให้ได้มาซึ่ง สว. และอีก 126 ล้านบาท เป็นงบฯ สำหรับหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ ที่ผ่านมา พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้ออกมาเปิดเผยด้วยตนเองว่า ไม่อยากให้มองว่าการดำเนินการด้วยงบประมาณ 1,300 ล้านบาทนั้นไม่คุ้มค่า เพราะเสียงของ สว. แต่ละคนมีความหมายต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 7 เดือน กลับมีการออกมาแก้ข่าวผ่านเว็บไซต์ของ กกต. เองเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ว่า ข้อมูลที่ปรากฎว่ามีการใช้งบฯ สำหรับเลือกตั้ง สว. ด้วยเงิน 1,300 ล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง โดยตัวเลขที่ถูกต้องคือ 463 ล้านบาทเท่านั้น

สำหรับที่มาของ สว. 250 คนนั้น มีที่มา 3 ทางคือ หนึ่ง – ผู้บัญชาการเหล่าทัพและตำรวจ 6 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก , ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็น สว. โดยตำแหน่ง

สอง – มาจาก คสช. ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดหนึ่ง เพื่อมาคัดเลือกบุคคลไม่เกิน 400 คน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อ คสช. ก่อนคัดเลือกให้เหลือ 194 คน

และสาม – สว. กลุ่มอาชีพ 50 คน ซึ่งมาจากการดำเนินการของ กกต. เปิดให้ประชาชนสมัครตามกลุ่มอาชีพ 10 กลุ่ม ก่อนให้ผู้สมัคร ส.ว. แต่ละกลุ่มเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ คัดเหลือ 200 คน ก่อนนำรายชื่อเหล่านั้นเสนอต่อ คสช. คัดเลือกในขั้นสุดท้ายเหลือ 50 คน ซึ่งการดำเนินการส่วนนี้เองที่ปรากฎเป็นข่าวเรื่อยมาว่ามีการใช้เงินถึง 1,300 ล้านบาท

สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา สว. ทั้งสิ้น 250 คน โหวตเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 249 คน งดออกเสียง 1 คน คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา สุดท้ายพลเอกประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยคะแนนเสียงทั้งสิ้น 500 ต่อ 244 เสียง

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า