ในตำราจิตเวชศาสตร์ Kaplan & Sadock’s Synopsis of Psychiatry: Behavioral Sciences/Clinical Psychiatry กล่าวไว้ว่า Pyromania หรือ ‘โรคชอบจุดไฟ’ เป็นโรคที่มีความพยายามและตั้งใจในการก่อไฟซ้ำๆ ผู้เผาจะรู้สึกตึงเครียด หรือมีอารมณ์ตื่นตัวก่อนที่จะเผา ผู้เผาอาจจะมีความหลงใหลใคร่รู้ สนใจ และรู้สึกถูกดึงดูดโดยไฟ รวมไปถึงนักดับเพลิงหรืออุปกรณ์ดับเพลิง ผู้ก่อไฟจะรู้สึกพึงพอใจ หรือรู้สึกผ่อนคลาย หลังจากที่มีคนเห็นหรือมีผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อไฟนั้น
ผู้เผาอาจจะมีการเตรียมการเป็นอย่างดีก่อนจะเผา โรคชอบจุดไฟมีความแตกต่างกับการก่อเพลิงวินาศภัยตรงที่นักลอบวางเพลิงมีเหตุผลทางด้านอื่นๆ เช่น ต้องการเงิน ผลประโยชน์ด้านการเงิน หรือการแก้แค้น หลังจากที่พวกเขาเผาแล้ว พวกเขามักจะไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกเสียใจกับผลที่เกิดขึ้นจากไฟไหม้เลย
แทบไม่มีการเก็บข้อมูลด้านระบาดวิทยาของโรคชอบจุดไฟ มีผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนน้อยมากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคชอบจุดไฟ โรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 8 เท่า และมากกว่าร้อยละ 40 พบในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
โรคชอบจุดไฟ มักพบร่วมกับการใช้สุรา หรือเสพติดสุรา รวมไปถึงโรคทางอารมณ์เช่นซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคชอบขโมยของ (Kleptomania) ซึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่า รวมไปถึงโรคด้านบุคลิกภาพอย่าง ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) หรือแม้แต่โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ถ้าเด็กคนหนึ่งเป็นโรคชอบจุดไฟ เขาก็มักจะเป็นโรคสมาธิสั้นด้วย ภาวะบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ เด็กที่เป็นโรคชอบจุดไฟมักมีสติปัญญาด้อยกว่าเด็กทั่วไปเล็กน้อย มักมีประวัติขับถ่ายรดที่นอน หนีโรงเรียน ประพฤติผิดระเบียบ หรือมีบุคลิกต่อต้านสังคม
ในทางด้านจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์เชื่อว่า ดวงไฟเป็นสัญลักษณ์ทางเพศ เขาเชื่อว่าอุณหภูมิความร้อนจากไฟจะกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ เขายังบอกอีกว่าลักษณะของเปลวไฟคล้ายกับองคชาต นักจิตวิเคราะห์บางคนบอกว่าโรคชอบจุดไฟมักเกี่ยวข้องกับความต้องการอำนาจหรือการได้รับการยอมรับทางสังคมที่ผิดปกติ ผู้ป่วยบางคนก็ทำอาชีพเป็นนักดับเพลิงเพื่อพิสูจน์และแสดงความกล้าหาญของตนที่สามารถดับเปลวไฟได้ หรือสั่งให้นักดับเพลิงคนอื่นไปลุยไฟได้ ซึ่งพวกเขาทำลงไปเพื่อการระบายหรือบรรเทาเปลวไฟในใจและความกดดันของสังคมรอบข้างที่ทำให้เขาอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า
มีรายงานหลายชิ้นกล่าวว่าผู้ป่วยมักขาดบิดาในครอบครัว จึงมีคนพยายามอธิบายว่าการจุดไฟจึงเป็นความปรารถนาว่าพ่อที่หายไปจะมาช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิตจากเปลวไฟนั้น หรือรอดจากการเป็นอยู่ที่ลำบาก สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคชอบจุดไฟมักไม่ได้จุดไฟเพื่อให้นักดับเพลิงมาดับเพลิงเหมือนผู้ชาย แต่ผู้หญิงมักเกี่ยวข้องกับการสำส่อนทางเพศ (promiscuity) แต่ก็ยังไม่พึงพอใจ รวมไปถึงพฤติกรรมชอบขโมยของ
Ema ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ ปาโบล ลาร์เรน (Pablo Larraín) ผู้กำกับชาวชิลี เล่าเรื่องความรักที่กำลังล่มสลายระหว่าง Ema นักเต้น และ Gastón ผู้ออกแบบท่าเต้นในคณะการแสดง perfomance art แห่งหนึ่งในชิลี จุดแตกหักที่สำคัญคือเมื่อ Polo ลูกชายที่คู่รักไปรับมาเป็นบุตรบุญธรรม (เพราะ Gastón เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) จุดไฟเผาใบหน้าพี่สาวของ Ema จนเสียโฉม
Valparaíso บ้านเกิดของเผด็จการ ออกุสโต ปิโนเชต์
Ema พยายามทุกวิถีทางในการกลับไปทำหน้าที่แม่ให้ Polo แม้ตามกฎหมายแล้วเธอสิ้นสภาพความเป็นแม่ตลอดไป เจ้าหน้าที่ศูนย์ดูแลเด็กถึงกับบอกกับเธอว่า เธอควรไปหาตุ๊กตามาเล่นมากกว่าจะมีลูก เรื่องราวความรักที่ล่มสลายนี้มีฉากหลังคือเมืองบัลพาไรโซ (Valparaíso) ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นท่าเรือสำคัญแห่งหนึ่งในอเมริกาใต้ นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นจุดพักเรือที่เดินทางจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปมหาสมุทรแอตแลนติก ในยุคทองของเมืองนี้มีผู้อพยพชาวยุโรปจำนวนมาก จนได้รับฉายาว่า Little San Francisco แต่หลังจากครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีการเปิดคลองปานามา นักธุรกิจก็อพยพหนีเมืองไปลงทุนที่อื่น เมืองนี้จึงกลายเป็นที่อยู่ของคนจนและสลัม แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามปรับปรุงให้เป็นเมืองแห่งการศึกษาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้วก็ตาม
บัลพาไรโซ ยังเป็นบ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตผู้นำกองทัพกองทัพชิลีในการทำรัฐประหารในปี 1973 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ นายซัลบาดอร์ อาเยนเด ผู้ฝักใฝ่ลัทธิมาร์กซ์ที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้นรัฐสภาถูกยุบและการเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ในขณะที่ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลถูกทรมานราว 40,000 คน และถูกฆ่าหรือถูกทำให้สาบสูญถึง 3,200 คน
เป็นที่รู้กันดีว่าสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาหรือซีไอเอลงทุนกว่าหลายล้านเหรียญในการบ่อนทำลายรัฐบาลของอาเยนเดผ่านการสนับสนุนปิโนเชต์ ด้วยการใช้อำนาจพิเศษทางการเมือง และมีบทบาทในการใช้กองทัพควบคุมให้บ้านเมืองมีความสงบกว่า 17 ปี แม้เศรษฐกิจก้าวหน้าผ่านกลไกเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ที่แม้คนจนอาจจะมีฐานะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ตามมาด้วยช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ถีบห่างออกไปอย่างกู่ไม่กลับ คนชนชั้นกลางและคนรวยต่างชอบอกชอบใจกับการปกครองของเขา พวกเขาเลือกที่จะเมินเฉยต่อความตายของผู้ต่อต้านรัฐบาล
แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างรุนแรง บั้นปลายชีวิตของเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับการทุจริต ถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ก่อนจะเสียชีวิตในปี 2006 ในวัย 91 ปี โดยมีคดีติดตัวอยู่ถึงกว่า 300 คดี ซึ่งคดีเหล่านี้กว่าจะได้รับการตัดสินก็ล่วงเลยเวลา มีรายงานว่ามีผู้ถูกเผาทั้งเป็นในปี 1968 เช่น การเผาทั้งเป็นนักศึกษาชาวอเมริกัน โรดริโก โรจาส์ (Rodrigo Rojas) ใช้เวลากว่า 30 ปีกว่าจะมีการดำเนินคดี
ในช่วงเผด็จการปิโนเชต์ มีการตั้งค่ายทรมานกว่า 17 แห่งในชิลี กล่าวกันว่าวิธีการที่นิยมใช้กันในค่ายคือการย่าง หรือ La Parrilla เป็นภาษาสเปนที่หมายถึงการย่างบาร์บีคิว ในการทรมานฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะถูกจับแก้ผ้ามัดกับเตียงเหล็กแล้วใช้ไฟฟ้าช็อตไปตรงตำแหน่งอวัยวะเพศหรือแผลเปิด
ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ของ ลาร์เรน คือการจับเอาประวัติศาสตร์ในพื้นที่มาเล่าอีกครั้งผ่านเรื่องราวของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์บาดแผลนั้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม หลังจากที่ Ema เสียลูกชายให้กับระบบกฎหมายตะวันตก Ema ออกจากคณะเต้นรำศิลปะชั้นสูงของสามีจอมบงการชีวิต เธอออกไปเต้นดนตรี Reggaeton ข้างถนนกับกลุ่มเพื่อน เธอแอบเอาอุปกรณ์การแสดงของสามีเธอ ซึ่งนั่นคือเครื่องสร้างเปลวไฟที่ใช้น้ำมันชื่อ Napalm ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับระเบิดของอเมริกาสมัยสงครามเวียดนาม เครื่องพ่นไฟที่ใช้ในสงคราม (flamethrower) แบบเดียวกันนี้ที่ทหารนาซีใช้เผาชาวบ้านทั้งเป็นในภาพยนตร์สงคราม Come and See (1985) ของ อีเลม คลิมอฟ (Elem Klimov)
Ema เอาเครื่องพ่นไฟไปเผาสิ่งต่างๆ ทั่วเมืองที่เป็นวัตถุที่เป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ เช่น ไฟสัญญาณจราจร และอนุสาวรีย์ของบุรุษคนหนึ่งไม่ทราบชื่อ เธอยังเผาเครื่องเล่นของเด็กประหนึ่งว่าเครื่องเล่นเหล่านั้นคือสิ่งที่หลอกล่อเยาวชนให้หลงใหลไปกับเศรษฐกิจเสรีนิยมตะวันตก จุดที่น่าสังเกตคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจับกุมเธอได้เลย แถมยังไปคบชู้กับ Ema เสียด้วยซ้ำ
วัฒนธรรมบูชาเทพไฟเหนือเทพอื่นในอียิปต์โบราณ
ไฟกลายเป็นเสมือนสิ่งที่เป็นใจกลางของเรื่องนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ Ema เผาสัญญาณไฟ ต่อมาเธอร่ายรำในชุดการแสดงของสามีที่มีดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ สามีเธอวางแผนว่าจะเอาเครื่องพ่นไฟมาใช้ในการแสดงโดยให้คนเอาเครื่องพ่นไฟไว้บนเรือแล้วเผาเรืออีกลำในระหว่างที่นักเต้นร่ายรำอยู่ที่ท่าเรือ จุดนี้เองทำให้นึกถึง solar barge หรือเรือพระอาทิตย์ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ และได้รับการชำระอีกครั้งในยุคอียิปต์โบราณ เรือพระอาทิตย์เป็นของเทพ Re ซึ่งการเดินทางของเรือ ทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน
ความคิดของกรีกโบราณพัฒนามาจากอียิปต์โบราณและเอเชีย มีข้อถกเถียงมากมายว่าโมเสสเป็นชาวอียิปต์หรือไม่ วัฒนธรรมแอฟริกาเหนือมีผลต่อแนวความคิดของยิวและเอกเทวนิยม แม้แต่เดิมดินแดนอียิปต์โบราณจะนับถือเทพเจ้าหลายพระองค์ (polytheism) เหมือนแถบเอเชียโบราณ โดยยึดเอาแนวคิดที่ว่าอำนาจของการสร้างและรักษาสรรพสิ่งมาจากอำนาจของคำพูดของพระเจ้า
กรอบคิดเอกเทวนิยมกับเอกราชาเป็นสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี เพราะสุดท้ายเทพที่มีมากมายก็แย่งกันพูดและจะต้องมีเทพเพียงองค์เดียวที่ยิ่งใหญ่ มีสิทธิจะพูดได้มากกว่าและเทพอื่นๆ ต้องเคารพและเชื่อฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอมาร์นา (Amarna religion) แห่งราชวงศ์ที่ 18 ของฟาโรห์ Akhenaten (c. 1353–1336 BC) ซึ่งเน้นการปกครองและขยายอำนาจที่ผูกขาด ล้มล้างแนวคิดพหุเทวนิยมและสรรเสริญ Amun พระเจ้าแห่งฟากฟ้าเป็นราชาแห่งเทพผสานรวมเข้ากับเทพ Re เกิดเป็น Amun-Re นำมาซึ่งการทำลายเทพอื่นๆ
แม้การปฏิวัติทางศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัย Akhenaten จะไม่อาจนิยามได้ว่าเป็นเอกเทวนิยมเพราะยังไม่มีสำนึกเวลาแบบเส้นตรงแบบยิวและยังมีเอกเทวรูปบูชา (monolatry) อยู่ แต่ก็นับได้ว่านี่เป็นพัฒนาการแรกเริ่มของแนวคิดแบบก่อนโสคราตีส (pre-Socratic) ของอารยธรรมกรีก รวมไปถึงการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางเชิงปรัชญา (philosophical anthropocentrism)
การแสดงของ Gastón ที่หวังจะเผาเรืออีกลำ จึงอุปมาคล้ายกับการต่อสู้ของเทพและสำนึกของเพศชายเป็นใหญ่ผ่านสัญลักษณ์ของเทพแห่งฟากฟ้าและดวงอาทิตย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลอีกส่วนจากตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน (Proto-Indo-Europeans) ซึ่งเป็นที่มาของภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน ไปจนถึงภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี และภาษาเบงกอล ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นเมืองท่าบัลพาไรโซ ที่เจริญเติบโตพร้อมการล่าอาณานิคมของสเปนในศตวรรษที่ 19 สงครามเย็น เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ของอเมริกัน หรือแม้กระทั่ง Ema เองที่เป็นเสมือนภาพจำลองของเจ้าแม่กาลีในศาสนาฮินดู
วัฒนธรรมของคนกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียนคือการเลี้ยงวัว ม้า และสุนัข การทำเกษตรด้วยการไถพรวน การบูชาเทพแห่งฟากฟ้า เช่น ในพระทโยส สวามีของพระแม่ปฤถวี หรือ พระธรณี ในศาสนาฮินดู หรือเทพซุสในตำนานกรีก และที่สำคัญคือวัฒนธรรมการนับถือตระกูลฝั่งพ่อ (patrilineal kinship-system)
การกลับไปหาพระแม่ธรณีที่ไม่ได้ปรานี และความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร
ชีวิตของ Ema ก่อนหน้าที่เธอจะตัดสินใจออกจากคณะละครของสามี จึงเปรียบเสมือนชีวิตที่แหงนหน้ามองไปบนฟากฟ้า เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ ตรงข้ามกับชีวิตหลังจากแหกกฎระเบียบของสาขาวิชา (displine) ของการเต้นรำ นั่นคือการกลับไปเต้นจังหวะดนตรีข้างถนนของคนจนมากกว่าจะไปเต้นแบบศิลปะของชนชั้นสูง การขบถต่อกฎหมายข้อปฏิบัติของรัฐสมัยใหม่ (ซึ่งเข้ามาแทนที่คำสั่งสอนของพระเจ้า) เช่น การเผาอนุสาวรีย์ หรือการมีความสัมพันธ์นอกสมรส หรือความสัมพันธ์แบบหลายผัวหลายเมีย รวมไปถึงการก้าวข้ามพ้นเพศสภาพที่ยึดตรึงอยู่เพียงเพศใดเพศหนึ่ง
เหล่านี้จึงเท่ากับเป็นการกลับหัวกลับหางและยึดเอาเปลวไฟซึ่งเพศชายได้ยึดความหมายไปเป็นของตนเอง (ด้วยคำอธิบายแบบฟรอยด์ที่มองว่าไฟคือองคชาต) การครอบครองไฟของ Ema จึงเป็นการทวงคืนอำนาจของการสร้างความหวาดกลัวจากเดิมที่เป็นของเพศชาย (นั่นรวมไปถึงอำนาจรัฐประชาชาติ) กลับมาไว้เป็นของเพศหญิง เช่นเดียวกับเจ้าแม่อุมาเทวีเมื่อยามโกรธแม้แต่พระอิศวรก็ไม่กล้าเข้าใกล้
ทำให้นึกถึงฉากการเผาทำลายอาคารพีระมิดใน Midsommar (2019) โดย แอรี แอสเตอร์ (Ari Aster) พีระมิดแบบอียิปต์โบราณซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจนิยมจากฐานสู่ยอดที่มักอ้างอิงในระบอบการปกครองแบบชายเป็นใหญ่ นี่จึงเท่ากับเป็นการหวนคืนไปสู่ความเป็นเพศแม่ที่ร้ายกาจ ของ ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway) ที่ท้าทายตัวตนของมนุษย์ (figure of man) ในยุค Anthropocene ซึ่งเชื่อมโยงกับปมอิดิปุส เมื่อวัย 3-6 ปี เพศชายจะมีการหนีจากแม่และไปสร้างตัวตนกับพ่อเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามปรารถนา เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านในหมู่บ้าน Hårga ใน Midsommar แต่งกายในระหว่างพิธีกรรมแบบกะเทย (hermaphrodite) คล้ายกับความสัมพันธ์นอกรีตคริสต์ศาสนาแบบหลายผัวหลากเมียของ Ema
ดอนนา ฮาราเวย์ เสนอให้เราย้อนกลับไปหา Gaia (เทพเจ้าแห่งดินของกรีก) ตามตำนานเธอเกิดจากความวุ่นวายและพายุหมุน เธอได้ให้กำเนิด Uranus ซึ่งเป็นทั้งลูกและสามี (เทพเจ้าท้องฟ้า) ฮาราเวย์ เสนอว่า ที่ผ่านมาเราถอนตัวจากเทพเจ้าแห่งแม่เพื่อมองท้องฟ้า หรือปมอิดิปุส เรากำลังพรากจากแม่เข้าสู่สังคมชายเป็นใหญ่ และสิ่งที่เราควรทำคือการกลับไปหา Gaia ซึ่งสิ่งที่น่ากลัว มิใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์ เป็นทั้งการรบพุ่งที่เราต้องเข้าใจศัตรูของเราไปด้วย และความกราดเกรี้ยว เทพเจ้าผู้ดูแลโลกเป็นทั้งแม่ที่ใจร้าย และก็ทั้งใจดี ไม่ใช่ทั้งเป็นทรัพยากรและไม่ใช่สิ่งที่ต้องการการทะนุถนอม และไม่ใช่แม่ที่จะมาป้อนข้าวป้อนน้ำเรา และโลกของ Gaia เต็มไปด้วยความโหดร้าย มีการเกิดและการตาย ไม่ได้เป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต่างจากพระอุมาที่มีทั้งภาคใจดีและใจร้าย
คำว่ายุคสมัยแห่งมนุษย์หรือ Anthropocene ก็ยังยึดโยงกับการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางทางปรัชญาและละเลยผู้กระทำการอื่นๆ นอกเหนือจากมนุษย์ นี่เองจึงนำไปสู่การหาคำอธิบายใหม่ที่เรียกว่า Chthulucene ซึ่งเป็นการล้อเลียน Cthulhu สัตว์ประหลาดในนิยายของ H.P. Lovecrafts ที่สำหรับฮาราเวย์เป็นตัวละครที่เหยียดเพศหญิงและเชื้อชาติ เธอสลับตัวอักษรให้ล้อไปกับคำว่า Chthon ซึ่งเป็นอีกคำของพระแม่ธรณี หรือความเชื่อกรีกเรียกว่า Gaia
Ema จึงเป็นแม่ที่ทั้งใจร้ายและใจดี ทั้งหญิงแย่งสามีชาวบ้านและยังทำให้ความสัมพันธ์ของคู่รักที่รับเลี้ยง Polo ไปอยู่ด้วยไม่จืดชืด ฮาราเวย์เน้นย้ำถึงการสร้างญาติมิตรมากกว่าการสร้างลูก หรือ ‘make kin not babies’ ความเป็นญาติมิตรที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในแนวราบมากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์แนวดิ่งจากบนลงล่าง เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ยึดติดหนาแน่นกันตลอดเวลา (attachment and detachment) คือเป็นทั้งการเชื่อมกันและพรากจากกันไปพร้อมๆ กัน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่น่าเข้าไปหา เป็นความแตกต่างหลากหลายที่เราไม่มีวันเข้าใจได้
การกลายเป็นอื่น การสร้างเรื่องเล่าเพื่อเชื่อมต่อกัน และผัสสะอื่นๆ
ฮาราเวย์เสนอว่า การสร้างญาติมิตรก็เป็นเรื่องยากมาก น่าหวาดระแวง หลอกหลอน ท้าทาย และไม่รู้สึกสนิทสนม คำว่า companion มาจาก cum panis ซึ่งแปลว่าขนมปัง สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องกิน เราต่างกินกันเอง การกลับไปหาแม่ไม่ต่างจากการที่เราต้องไปอยู่ในถังของเน่าที่ยุ่งเหยิง น่ารังเกียจ ไม่น่าไปอยู่ มีความเป็นความตาย เรากำลังถูกกัดกิน น่าสยดสยอง เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต หรือนั่นก็คือ composed ที่แปลว่าปุ๋ยหมัก และแปลว่า การสร้างเรื่องเล่า decomposed ก็แปลว่าเน่าเปื่อย แต่หากแยกคำแล้วก็คือ de-composed ที่หมายถึงการรื้อสร้างเรื่องเล่าหรือการเล่าใหม่
ความสัมพันธ์ของ Ema กับเพื่อนคณะเต้น Raggaeton ที่เสมือนการสร้างญาติมิตร เหมือนกับตอนที่ Ema พา Raquel ทนายชู้รักของ Ema มาปาร์ตี้ที่ห้องพักของเพื่อน ก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่หมิ่นเหม่ศีลธรรมสังคมในมุมมองของนักกฎหมาย และขัดแย้งกับค่านิยมที่ทนายยึดถือ แต่สุดท้าย Raquel ก็ยอมกลายไปเป็นสิ่งอื่น (becoming) ไปในอาณาบริเวณที่เธอไม่เคยไปและเปิดเผยศักยภาพในตัวของเธอเอง เหมือนที่ ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) เรียกว่าความหลากเลื่อน (différance) ที่เป็นทั้งโครงสร้างและการเคลื่อนไหว และไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานการคิดแบบคู่ตรงกันข้าม (binary opposition) เช่น การปรากฏที่ไม่ได้ปรากฏ หรือจุดศูนย์กลางที่ปราศจากจุดศูนย์กลาง
Ema ยังเสนอให้มองเห็นถึงผัสสะอื่นๆ ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่เพียงการใช้สายตาจ้องมอง (occularcentrism) ซึ่งเริ่มมีอิทธิพลเหนือผัสสะอื่นๆ ในช่วงชาติตะวันตกล่าอาณานิคมราวศตวรรษที่ 19 เช่น การที่เธอออกจากคณะแสดงศิลปะที่มีคนจ่ายเงินเพื่อเข้ามา ‘ดู’ การแสดงที่มีสามีของเธอเป็นผู้ออกคำสั่งควบคุมเรือนร่างนักแสดง แต่เธอออกไปใช้ผัสสะอื่นๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์กับญาติมิตร ทั้งการเต้น การเคลื่อนไหว การดม และรับรส โดยรวมนี่จึงเป็นการใช้การสัมผัส (touch) ระหว่างเครือข่ายญาติมิตรในรูปแบบที่ ฮาราเวย์ ยกตัวอย่างเทพเจ้าหรือมารร้ายที่มี tentacles หรือหนวดซึ่งแท้จริงแล้วอาจกินความถึงความเป็นโครงข่ายหรือ web เชื่อมโยงยุคสมัย หนวดหรือมือและส่วนอื่นๆ ที่สัมผัสแตะต้องและผละออกจากกันได้อย่างง่ายดาย ไม่ได้ยึดติดแน่นหนา
Ema ยังคงจะยืนยันที่จะเผาเศษซากอารยธรรมชายเป็นใหญ่และเอกเทวนิยมต่อไป เธอเติมน้ำมันที่เกิดจากการขุดเอาซากฟอสซิลของแผ่นดินแม่มาเผาผลาญ น้ำมันที่เหมือนเป็นเลือดเนื้อและน้ำตาของมารดา น้ำมันที่อารยธรรมเพศชายแก่งแย่งเพื่อครอบครองและสร้างมูลค่า Ema ยึดเอาอำนาจของเธอในความเป็นแม่ที่ถูกพลัดพรากมาสร้างความรุนแรง พร้อมกับตั้งคำถามว่าเราจะอยู่กับความรุนแรงนั้นได้อย่างไร (live dangerously) เราจะอยู่กับปัญหาและความเน่าเปื่อย เราจะเผชิญหน้ากับความเป็นแม่ที่ดุร้ายและใจดีได้อย่างไร
ใบหน้าของ Ema เมื่อเธอโอบกอดลูกของเธอ (ควรจะเรียกว่า kin เสียมากกว่า) กับ Aníbal พร้อมๆ กับที่ Aníbal จ้องหน้า Gastón ชายทั้งสองทำตัวไม่ถูกกับความสัมพันธ์นี้ Raquel ก็ยิ้มอย่างโล่งใจ นี่ทำให้นึกถึงใบหน้าของ Dani ใน Midsommar (2019) หลังจากที่เธอจุดไฟเผาพีระมิดที่มีคนรักในร่างหมีที่ความเป็นชายอ่อนเปลี้ยเสียขาอยู่ในกองเพลิงนั้นด้วย
ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มนั้นคือความสุขที่เราในฐานะคนดูไม่เคยเห็นใบหน้าแบบนั้นมาก่อน เมื่อเปลวไฟไม่ได้อยู่ในมือของเพศชายอีกต่อไป เพศชายมีหน้าที่ฉีดน้ำเชื้อเท่านั้น เพศหญิงกลับมามีอำนาจในการควบคุมความปรารถนาทางเพศ ในยุคสมัยที่ความป่วยไข้ไร้น้ำยาของสังคมชายเป็นใหญ่ออกอาการเต็มที่ที่จะทนแล้ว
อ้างอิง
|