- ราชวงศ์ยามาโตะ เป็นราชวงศ์เก่าแก่ที่สืบสายครองราชย์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก โดยไม่มีกลุ่มอำนาจใดสามารถล้มล้างจักรพรรดิได้ แม้อำนาจในการปกครองจะตกอยู่กับกลุ่มอำนาจอื่น แต่จักรพรรดิก็ยังคงดำรงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ
- ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บทบาทของจักรพรรดิกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่สมมุติเทพดังเดิม
- หลักสำคัญของจักรพรรดิในปัจจุบันคือ การอยู่เคียงข้างประชาชน ถึงแม้จะมีกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านการดำรงอยู่ของจักรพรรดิ แต่ก็ทรงได้รับความรักจากประชาชนอีกจำนวนมากเช่นกัน
“ความผูกพันของเรากับอาณาประชาราษฎร์ของเรานั้น ตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจและความรักใคร่ปรองดองซึ่งกันและกันเสมอมา จะได้อาศัยแต่เรื่องปรัมปราและตำนานดึกดำบรรพ์ก็หาไม่ ความผูกพันเหล่านี้มิได้ปรากฏขึ้นเพราะมิจฉาทิฐิที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทวะ และที่ว่าปวงชนชาวญี่ปุ่นนั้นประเสริฐเลิศล้ำกว่าเผ่าพันธุ์อื่นและถูกลิขิตมาให้ครองโลก”[1]
ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งของพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะประกาศเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1946 หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และอยู่ภายใต้การปฏิรูประเทศโดยผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร
จักรพรรดิในตำนาน และการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจในประวัติศาสตร์
เชื้อสายของจักรพรรดิญี่ปุ่นสามารถสืบย้อนได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เปรียบเสมือนกับพงศาวดารชื่อว่า ‘โคจิกิ’ และ ‘นิฮงโชกิ’ ซึ่งระบุเอาไว้ว่าจักรพรรดิหรือ ‘เท็นโน’ ในภาษาญี่ปุ่นเริ่มนับจากจักรพรรดิจิมมุตั้งแต่ 660 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้สืบสายของเทพเจ้าอามาเตราซุหรือเทพแห่งดวงอาทิตย์ แต่ตัวตนของจักรพรรดิ 9 องค์แรกในประวัติศาสตร์ยังคงเป็นที่กังขาว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ หรืออาจเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกันมา เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานข้อมูลที่ชัดเจน
จักรพรรดิในสมัยโบราณมีสถานะเป็นผู้นำทัพและผู้นำทางพิธีกรรมต่างๆ จึงมีอำนาจสูงสุดทางการปกครองในช่วงแรกๆ โดยภาพรวมในสมัยของจักรพรรดิองค์ที่ 1-49 (660 ปีก่อนคริสต์ศักราช-781) สถานะของจักรพรรดิได้รับการขับเน้นจากพิธีกรรมเกี่ยวกับเทพเจ้า ทำให้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง แล้วจึงมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจไปสู่ขุนนางตระกูลฟูจิวาระที่เข้ามามีอิทธิพลในราชสำนักผ่านการแต่งงานของลูกสาวในตระกูลกับองค์จักรพรรดิตั้งแต่สมัยจักรพรรดิองค์ที่ 16
ระบบที่ทำให้สถานะของจักรพรรดิมั่นคงคือ พิธีกรรมทางศาสนาและระบบการถือครองที่ดิน โครงสร้างการปกครองในสมัยนั้นเป็นระบบศักดินาชนชั้น มีลำดับชั้นคือ นักรบ ชาวนา ช่างฝืมือ และพ่อค้า ตามลำดับ นักรบซึ่งถือเป็นชนชั้นสูงสุดก็พัฒนามาจากระบบการถือครองที่ดิน เนื่องจากผู้เช่าที่ดินและเจ้าของที่ดินรายเล็กต้องรับใช้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ด้วยการเป็นทหาร คนเหล่านี้จึงพัฒนากลายเป็นซามูไรหรือนักรบที่รับใช้ตระกูลขุนนาง และมีอำนาจเกี่ยวข้องกันจากที่ดินซึ่งเป็นฐานการผลิตจำนวนมากนั่นเอง
ในสมัยเฮอัน (781-1068) สถานะของจักรพรรดิถูกลดทอนกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ไม่มีอำนาจในการปกครอง เนื่องด้วยบ้านเมืองสงบสุข ไม่มีศึกสงครามให้จักรพรรดิมีบทบาทเป็นผู้นำทัพ และขุนนางที่มีอำนาจในขณะนั้นยังคงเป็นตระกูลฟูจิวาระ มีอำนาจในการกำหนดผู้ขึ้นครองราชย์และการสละราชบัลลังก์ แต่แล้วอำนาจของขุนนางตระกูลนี้ก็หยุดชะงักลงเมื่อบุตรสาวของตระกูลผู้หนึ่งไม่มีพระโอรสสืบต่อ รูปแบบการปกครองจึงเปลี่ยนไปเป็นแบบอินเซ กล่าวคือ การปกครองโดยจักรพรรดิที่สละราชสมบัติที่มีชื่อตำแหน่งว่า ‘โจโก’ และจักรพรรดิหรือพระโอรสที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก็ถือเป็นผู้สืบทอดไปตลอดปลายสมัยเฮอัน (1068-1184)
เวลาล่วงเลยมาจนถึงสมัยคามาคุระ (1184-1318) เริ่มมีระบบการปกครองโดยรัฐบาลทหารคามาคุระ ถึงแม้จักรพรรดิจะไม่ได้มีอำนาจในการปกครองทางการเมือง แต่มีอำนาจในการออกคำสั่งให้ทำสงครามและแต่งตั้งทหารผู้นำทัพ โดยตำแหน่งทหารที่เป็นผู้นำทัพสูงสุดคือ ‘โชกุน’ ในขณะที่รัฐบาลเองก็มีอำนาจในการกำหนดผู้ขึ้นครองราชย์ ด้วยอำนาจในการเลือกผู้ขึ้นครองราชย์นี้เองจึงเกิดความขัดแย้งจนทำให้มีการแบ่งขั้วการปกครองออกเป็นราชสำนักเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นการลดอำนาจการปกครองของโจโกลง ในสมัยมุโรมะจิ (1318-1464) จึงเป็นการปกครองโดยราชวงศ์ 2 สาย โดยราชสำนักเหนือ จักรพรรดิได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในขณะที่ราชสำนักใต้ปกครองโดยโชกุน ซึ่งท้ายที่สุดได้กลับมารวมราชสำนักอีกครั้งในปี 1392
ในช่วงคาบเกี่ยวสมัยเซ็งโงะกุกับต้นสมัยเอโดะ (1465-1611) สถานะทางการเงินของรัฐบาลย่ำแย่เนื่องจากสงครามการสู้รบระหว่างซามูไรตระกูลต่างๆ ทำให้จักรพรรดิและราชสำนักได้รับผลกระทบไปด้วย
จนกระทั่งในสมัยเอโดะ (1611-1863) รัฐบาลทหารตระกูลโทกุงาวะได้ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในการควบคุมและปกครองทุกระดับ ตั้งแต่จักรพรรดิในราชสำนักไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป เนื่องจากโชกุนโทกุงาวะ อิเอยาซุ ได้ทำสงครามชนะดินแดนต่างๆ จนรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางได้ตั้งแต่ในปี 1600 แล้วได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปี 1603 โชกุนโทกุงาวะ อิเอยาซุ ได้ทำการควบรวมอำนาจโดยใช้ระบบการปกครองที่เรียกว่า ‘บากุฮัน’ เป็นการปกครองแบบกึ่งรวมกึ่งกระจายอำนาจ โดยมีโครงสร้างคือจักรพรรดิดำรงอยู่ในตำแหน่งประมุข โชกุนเป็นผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดอยู่ที่ส่วนกลาง และมีไดเมียวเป็นขุนนางที่มีอำนาจสูงสุดในแต่ละแคว้นต่างๆ อยู่ภายใต้อำนาจของโชกุนอีกที
โชกุนจำกัดพระราชอำนาจของจักรพรรดิโดยการยึดที่ดิน จำกัดการใช้จ่ายภายในราชสำนัก และออกกฎควบคุมให้จักรพรรดิเป็นเพียงผู้นำทางศาสนาเท่านั้น ไม่มีอำนาจใดๆ ในการปกครองประเทศ เอโดะกลายเป็นสมัยที่ประเทศปราศจากสงครามเป็นเวลาถึง 265 ปี
แต่แล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากซามูไรผู้ยังจงรักภักดีต่อระบอบกษัตริย์ และนักศึกษาลัทธิชินโตที่ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจักรพรรดิในสมัยโบราณและพยายามฟื้นฟูสถานะของจักรพรรดิขึ้นมา ด้วยการฟื้นฟูราชพิธีในราชสำนักเพื่อให้จักรพรรดิในฐานะผู้นำพิธีกรรมตามหลักศาสนาชินโตมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน อีกทั้งมีความพยายามในการส่งเสริมการศึกษาให้กับลูกหลานราชนิกุลและขุนนาง เพื่อให้เกิดแนวร่วมเชิดชูจักรพรรดิมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เกิดลัทธิต่อต้านชาวต่างชาติอีกด้วย
ชนชั้นนักรบได้เสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ปลายสมัยเอโดะ ในขณะที่ชนชั้นพ่อค้าขึ้นมามีอำนาจแทนในสมัยเมจิ (1868-1912) เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจจากการปฏิรูปประเทศในสมัยเมจิ ญี่ปุ่นถูกชาติตะวันตกบีบบังคับให้เปิดประเทศ เมื่อมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามา ระบบศักดินาจึงค่อยๆ เสื่อมสลายไป ทว่าองค์จักรพรรดิกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง และเป็นประมุขของประเทศตามแบบตะวันตก รัฐบาลเมจิพยายามฟื้นฟูอำนาจของจักรพรรดิในฐานะผู้นำทางทหารผ่านการสอดแทรกในแบบเรียน ประกาศกฎหมายให้เคารพเชิดชูจักรพรรดิและศาสนาชินโต การสร้างชาติในสมัยเมจิจึงถือเป็นการสร้างชาติในสมัยใหม่ โดยอาศัยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่ทำให้จักรพรรดิมีอำนาจมั่นคงยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา
สถานะหลังสงคราม จากสมมุติเทพสู่สัญลักษณ์แห่งสมัยใหม่
ในยุคสมัยโชวะ (1901-1989) เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อทั้งสถานะของจักรพรรดิและสังคมญี่ปุ่น ด้วยอิทธิพลของรัฐบาลทหารมีส่วนทำให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะตัดสินใจนำพาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1940 หลังจากที่กลายเป็นมหาอำนาจในดินแดนเอเชียบูรพาได้ไม่นาน ญี่ปุ่นก็เปิดฉากสงครามกับสหรัฐอเมริกาด้วยการโจมตีฐานทัพกองเรือแปซิฟิก ณ ท่าเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ บนหมู่เกาะฮาวาย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941
ถึงแม้ทหารระดับนายพลจะเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการเข้ายึดครองและโจมตีประเทศต่างๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการประกาศสงครามล้วนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบในนามของจักรพรรดิ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ไม่สู้ดีและเห็นว่าหากดึงดันทำสงครามยืดเยื้อต่อไปจะไม่เกิดผลดี องค์จักรพรรดิจึงประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในที่สุด ด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างคลุมเครือต่อการตีความผ่านวิทยุกระจายเสียง อาทิ “สถานการณ์สงครามไม่ได้พัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของเราเสมอไป” ขอให้ประชาชน “อดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้”[2]
นายพลแมคอาเธอร์และจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ
นายพลแมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นให้เป็นประเทศประชาธิปไตย อีกทั้งยังทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ หรือ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะอาชญากรสงคราม ในขณะที่อังกฤษ รัสเซีย และประเทศสัมพันธมิตรอื่นๆ เห็นว่าจักรพรรดิควรถูกสอบสวน แต่นายพลแมคอาเธอร์มองว่าการจะทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น จำเป็นต้องรักษาองค์จักรพรรดิที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของประชาชนไว้ หากลงโทษจักรพรรดิในฐานะอาชญากรสงครามอาจทำให้เกิดความวุ่นวายจากการแก้แค้นและจะไม่อาจนำมาสู่สันติภาพในประเทศนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้สถาบันจักรพรรดิจึงคงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ แต่ยังคงมีการลงโทษผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดสงคราม รวมถึงยุติกิจการต่างๆ ทางการทหารทั้งหมด
ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1946 พระบรมราชโองการที่สำคัญของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ถูกถ่ายทอดผ่านทางวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ร่วมกันว่า องค์จักรพรรดิทรงเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่สมมุติเทพดังที่เคยเข้าใจกันมา และหลังจากนั้นก็ทรงตอกย้ำพระราชดำรัสด้วยการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อพบปะกับประชาชนในฐานะคนธรรมดาที่สวมใส่เสื้อผ้าแบบธรรมดาไม่ต่างจากคนทั่วไป
รัฐธรรมนูญโชวะ หรือรัฐธรรมนูญสันติภาพ จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เกิดขึ้นหลังสงคราม โดยชำระใหม่จากรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เกิดขึ้นในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองยุคเมจิ รัฐธรรมนูญสันติภาพนี้มีมาตรา 1 ที่ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานะของจักรพรรดิไว้ว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชน พระองค์ทรงมีฐานะเช่นนั้นด้วยเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย”[3] ซึ่งผ่านรัฐสภาในเดือนตุลาคม 1946 แล้วประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 1947 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ การยุบสถาบันทางศาสนาก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถานะของจักรพรรดิใกล้เคียงความเป็นคนธรรมดามากยิ่งขึ้น เนื่องจากชาติตะวันตกเข้าใจว่าแนวคิดของศาสนาทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ ว่าชนชาติญี่ปุ่นเป็นลูกหลานเทพเจ้า มีความสูงส่งเหนือชนชาติอื่น และจักรพรรดิเป็นผู้ปกครองสูงสุด จึงมีสิทธิชอบธรรมที่จะปกครองชาติอื่นๆ ภายใต้การปฏิรูปด้านศาสนาโดยผู้บัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตร ได้มีคำสั่งยุติการสนับสนุนลัทธิชินโต ยกเลิกศาสนาชินโตจากการเป็นศาสนาประจำชาติ ยกเลิกการสอนศาสนาในสถาบันการศึกษา ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับลัทธิชินโตแยกขาดจากกัน
ในการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีซึเดฮาระ, พลเอกคอทนีย์ วิทนีย์, พันเอกชาร์ลส์ แอล เคตส์, พันโทมิโล อี. โรเวล และผู้บัญชาการอัลเฟรด อาร์ ฮัสชี ซึ่งร่างโดยคำนึงถึงหลักพื้นฐานที่ว่าต้องดำรงสถาบันจักรพรรดิต่อไปโดยให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และญี่ปุ่นต้องไม่นำพาประเทศเข้าสู่สงครามในอนาคต
เคียงข้างประชาชน ศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญของประเทศ
เจ้าชายสึงุ ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายอากิฮิโตะ พระราชโอรสองค์โตของจักรพรรดิโชวะกับจักรพรรดินีโคจุง เป็นเจ้าชายที่เติบโตมาพร้อมกับสถาบันจักรพรรดิที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและตัวแทนแห่งสันติภาพ ในช่วงทศวรรษ 1950 พระองค์ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีภาพลักษณ์ในสื่อเป็นคนหนุ่มที่สดใส และถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่นำพาสาธารณชนไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น ต่อมาว่าที่จักรพรรดิรุ่นใหม่ก็ได้กลายเป็นกระแสในสังคมมากยิ่งขึ้น จากการแต่งงานกับหญิงสามัญชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น โชดะ มิชิโกะ ในปี 1958
การแต่งงานครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสที่เรียกว่า ‘มิชิโกะบูม’ (Mitchi Boom) ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าสถาบันจักรพรรดิปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่ ทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับสถาบันมากยิ่งขึ้น ผ่านเรื่องราวสุดแสนโรแมนติกที่ว่าการแต่งงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากความรักของทั้งสองฝ่าย ทั้งสองพบรักกันที่สนามเทนนิส มีอุปสรรคมากมายขวางกั้น เพราะถึงแม้มิชิโกะจะมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย แต่ด้วยเชื้อสายสามัญชนและความเป็นคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิก จึงต้องเผชิญกับการต่อต้านของจักรพรรดินีโคจุงและข้าราชสำนักหัวเก่าอย่างหนัก
เรื่องราวของทั้งสองถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางท่ามกลางการเติบโตของสื่อสมัยใหม่ มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีอภิเษกสมรสออกอากาศทั่วประเทศ ประชาชนหลายแสนคนออกมาร่วมแสดงความยินดีเนืองแน่นทั้งสองฝั่งถนน และกระแสดังกล่าวก็ค่อยๆ ลดความนิยมลงตามกาลเวลา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแต่งงานระหว่างเจ้าชายอากิฮิโตะกับเจ้าหญิงสามัญชนมิชิโกะมีส่วนสำคัญที่ช่วยปลดล็อคทางความคิดให้คนรุ่นต่อมาเลือกที่จะรักษาสัญลักษณ์ของประเทศอันเต็มไปด้วยความหมายนี้ต่อไป
สิ่งที่เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งยุคประชาธิปไตยเลือกทำคือ การมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์ให้กับกลุ่มเปราะบางในสังคม ทั้งสองมีความกระตือรือร้นในการเยี่ยมเยียนประชาชนตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ แม้หลังจากเจ้าชายขึ้นครองราชย์กลายเป็นจักรพรรดิอากิฮิโตะใน ค.ศ. 1989 ก็ยังคงถือเป็นพระราชกรณียกิจที่กระทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นต้นแบบด้านภาพลักษณ์ในอุดมคติของจักรพรรดิสมัยใหม่ตามแนวคิดที่ว่า ‘จักรพรรดิควรร่วมแบ่งปันทุกข์สุขกับประชาชน’ ให้กับจักรพรรดิองค์ต่อๆ ไป
ตลอดรัชสมัยที่เรียกว่า ยุคเฮเซ (1989-2019) ประชาชนประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง จักรพรรดิและจักรพรรดินีได้พยายามมีส่วนร่วมโดยการเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดการครองราชย์ 30 ปี จนกระทั่งจักรพรรดิอากิฮิโตะได้ประกาศสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายน 2019 ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและวัยชราซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยมีพระราชดำรัสไว้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2016 ว่า
“ข้าพเจ้าอายุ 80 ปีแล้ว และโชคดีที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาถึงสุขภาพที่ค่อยๆ เสื่อมถอย ข้าพเจ้ากังวลว่าสิ่งนี้จะทำให้ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศอย่างเต็มที่ทั้งกายและใจดังเช่นที่เคยทำมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันได้อย่างลำบาก”
ในสมัยโบราณจักรพรรดิมีธรรมเนียมการสละราชสมบัติเพื่อให้รัชทายาทครองราชย์ต่อโดยไม่ต้องครองราชย์จนสิ้นพระชนมายุ กระทั่งสมัยเอโดะก็ไม่มีธรรมเนียมการสละราชสมบัติอีกต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 200 ปี จักรพรรดิอากิฮิโตะจึงเป็นจักรพรรดิองค์แรกที่สละราชสมบัติในรอบ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา
วิกฤติผู้สืบทอดบัลลังก์ เปิดประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศ
การแต่งงานของอดีตเจ้าหญิงมาโกะ พระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะกับสามีสามัญชน เค โคมุโระ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2021 สะท้อนให้เห็นว่าราชวงศ์ญี่ปุ่นกำลังประสบกับข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกที่เริ่มลดน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อจำนวนรัชทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ต่อไปด้วย โดยรัชทายาทในปัจจุบัน (2021) เหลืออยู่ 2 พระองค์ คือ เจ้าชายฟุมิฮิโตะ พระอนุชาของสมเด็จพระจักรพรรดิฯ ซึ่งเป็นพระบิดาของเจ้าหญิงมาโกะ และ เจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของเจ้าชายฟุมิฮิโตะ ในขณะที่องค์จักรพรรดิมีพระราชธิดาเพียงองค์เดียวคือ เจ้าหญิงไอโกะ ภายใต้ข้อกำหนดที่องค์รัชทายาทต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น จำนวนผู้สืบทอดราชบัลลังก์จึงค่อนข้างน่าวิตกกังวล
ในขณะเดียวกันก็มีกระแสเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในราชวงศ์อยู่บ้าง จากผลสำรวจของ Kyodo News ในปี 2019 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องกับการสืบราชบัลลังก์ของจักรพรรดินี รวมถึงการส่งต่อไปยังลูกหลานของเธอด้วย แต่ทางราชวงศ์เองไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากกฎการขึ้นครองราชย์ถูกกำหนดภายใต้กฎหมายของรัฐบาล ซึ่งเคยมีความพยายามเปลี่ยนแปลงกฎการสืบทอดโดยรัชทายาทหญิงในสมัยของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกปัดตกไปในสมัยของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ รวมถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ฟูมิโอะ คิชิดะ ก็ถือเป็นชนชั้นนำที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมที่ต้องการให้จักรพรรดิสืบเชื้อสายผ่านทางฝ่ายชายเท่านั้น
เจฟฟรีย์ คิงส์ตัน ผู้อำนวยการเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยเทมเปิลในโตเกียว อธิบายว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมเชื่อว่าการสืบเชื้อสายจากฝ่ายชายโดยไม่ขาดสายเป็นความชอบธรรมในการครองราชบัลลังก์ แนวคิดนี้เป็นอุดมการณ์บนพื้นฐานของปิตาธิปไตย ซึ่งมองว่าผู้หญิงไม่เหมาะสมที่จะเป็นจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ
ขบวนการต่อต้านที่เบาบาง คู่ขนานกับกลุ่มรักชาติที่เชิดชู
แนวการปฏิบัติตนในฐานะสัญลักษณ์แห่งญี่ปุ่นและศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ถูกส่งต่อมายังยุคเรวะ (2019-ปัจจุบัน) ซึ่งก็คือรัชสมัยของพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทรงแสดงความห่วงใยต่อประชาชนในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 และความห่วงกังวลในการจัดโอลิมปิก พระจักรพรรดิได้ทรงกล่าวเปิดงานโอลิมปิกในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชน กระนั้นการดำรงอยู่ของราชวงศ์ก็ไม่ได้มีความราบรื่นเสมอไป
ประเด็นหนึ่งที่สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นถูกพูดถึงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมคือ งบประมาณเกี่ยวกับราชวงศ์ที่ยังคงต้องใช้จากภาษีประชนจำนวนมาก ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวไปจนถึงเงินเดือนของพนักงานในพระราชวังกว่าพันคน ในปี 2019 ต้องใช้งบประมาณทั้งสำหรับสมาชิกและภายในราชวังรวมทั้งหมด 25,000 ล้านเยน ในปี 2021 สมาชิกของราชวงศ์ทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ใช้งบประมาณภายใต้การดำเนินงานของสำนักพระราชวังได้ถึง[4] 12.59 ล้านเยน แบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวสำหรับจักรพรรดิและสมาชิกราชวงศ์รวม 324 ล้านเยน เบี้ยเลี้ยงสำหรับมกุฏราชกุมารหรือเจ้าหญิงที่แยกตัวออกจากราชวงศ์ 269 ล้านเยน และค่าใช้จ่ายสำหรับหน้าที่ทางการ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพระราชวัง 11,830 ล้านเยน
แม้แต่การสละราชบัลลังก์ของอดีตพระจักรพรรดิอากิฮิโตะก็ยังใช้งบประมาณสูงถึง 16,800 ล้านเยน ซึ่งทางราชสำนักชี้แจงว่าได้พยายามลดค่าใช้จ่ายแล้ว โดยการลดจำนวนแขกที่จะเชิญมาร่วมงาน และการนำสิ่งของในพระราชพิธีกลับมาวนใช้ใหม่แทนที่จะเผาทิ้งเหมือนที่เคยทำมา
อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายต่อต้านระบอบจักรพรรดิของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Han-Tennōsei Undō Renraku Kai หรือชื่อย่อ ‘Hantenren’ ได้ก่อกำเนิดขบวนการขึ้นมานับตั้งแต่การประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในสมัยนั้นจากการประท้วงเรื่องการแปลงฐานทัพอากาศของสหรัฐให้กลายเป็นสวนหย่อมที่ชื่อ ‘อุทยานุสรณ์โชวะ’ เพื่อเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิ ทั้งที่จักรพรรดิโชวะเป็นผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามแล้วจบลงด้วยความพ่ายแพ้ อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์องค์จักรพรรดิและราชวงศ์ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
กฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดจักรพรรดิถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 1947 โดยคดีที่เกี่ยวข้องครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1946 กลุ่มคนงานประท้วงเรื่องการขาดแคลนอาหาร โชทาโร่ มัตสึชิมะ คนงานที่ฝักใฝ่แนวคิดคอมมิวนิสต์คนหนึ่งได้ชูป้ายระบุข้อความว่า “ข้า, สมเด็จพระจักรพรรดิ, ได้กินจนอิ่มแล้ว, แต่เจ้า, ผู้อยู่ใต้ปกครองของข้า, ควรอดตาย!”[5] ทำให้เขาถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน แต่ได้รับอภัยโทษจากพระจักรพรรดิทันที สิ่งนี้เองที่อาจทำให้ในปัจจุบันมีกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์การแต่งงานของเจ้าหญิงมาโกะกับคู่หมั้นสามัญชนที่มีเรื่องอื้อฉาวจนเจ้าหญิงป่วยเป็นโรคทางจิตใจที่เรียกว่า PTSD โดยที่ราชสำนักก็ไม่อาจดำเนินการใดๆ ได้ ถึงขนาดที่เจ้าชายฟุมิฮิโตะผู้เป็นพระบิดาต้องออกมาแถลงในงานวันเกิดครบรอบ 56 ปีของพระองค์ว่า ความคิดเห็นบางส่วนที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์นั้นเลวร้ายเป็นอย่างมาก ทางราชวงศ์ควรมีการพัฒนาระเบียบบางอย่างเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องในอนาคต
โนะมุระ ผู้ประสานงานของเครือข่าย Hantenren ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า รัฐบาลในสมัยโชวะพยายามแก้ไขประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับจักรพรรดิที่ถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม หลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามสร้างภาพที่ว่า “จักรพรรดิทรงเป็นคนดี ทรงรักสันติสุข” “พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ” ให้คงอยู่เพื่อรักษาระบอบจักรพรรดิต่อไป สำหรับโนะมุระเองมองว่าจักรพรรดินั้นรักสันติภาพ แต่ถูกหลอกใช้โดยรัฐบาลทหาร เขาจึงต้องการให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป[6]
ทั้งนี้ ในอดีตขบวนการต้านระบอบจักรพรรดิมีแนวร่วมจำนวน 2,000-3,000 คน แต่ปัจจุบันลดจำนวนลงมาก มีการรณรงค์ร่วมลงชื่อคัดค้านการเปลี่ยนศักราชใหม่ราย 2 เดือน เมื่อปี 2018 มีผู้ร่วมลงชื่อในแต่ละครั้งประมาณ 1,400-6,800 คน โดยการเปลี่ยนศักราชนี้ ศาสตราจารย์เคนเนธ รูฟ จากมหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์ ซึ่งศึกษาระบบจักรวรรดิญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ให้ความเห็นว่า ระบบการกำหนดชื่อศักราชเป็นการย้ำเตือนว่ามีระบอบราชาธิปไตยคงอยู่ในประเทศ เนื่องจากชื่อศักราชเกี่ยวเนื่องกับจักรพรรดิโดยตรง ถือเป็นการใช้อำนาจแฝง (soft power) ในการสร้างความเป็นชาตินิยมอย่างหนึ่ง ชื่อศักราชจะปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นทุกที่ ตั้งแต่ปฏิทิน หนังสือพิมพ์ ไปจนถึงธนบัตรเงินตรา การเปลี่ยนชื่อศักราชจึงถือเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับชาวญี่ปุ่นพอๆ กับการไปเยือนดวงจันทร์สำหรับชาวอเมริกันเลยทีเดียว
เครือข่าย Hantenren ให้เหตุผลในการต่อต้านการสละราชบัลลังก์ว่าเป็นเรื่องที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะส่งผลให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรามาตราพิเศษขึ้นมารองรับการสละราชบัลลังก์ แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มไม่ส่งผลใดๆ ต่อการตัดสินใจของรัฐบาล
ยาซุฮิโตะ อาซามิ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโฮเซ มองว่า กระแสการต่อต้านจักรพรรดิลดน้อยลงเนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้สึกในเชิงลบต่อจักรพรรดิยุคเฮเซ ซึ่งแตกต่างจากพระจักรพรรดิโชวะที่มีบทบาทในการสงคราม ด้วยเหตุนี้จึงมีกลุ่มคนที่สนับสนุนระบอบจักรพรรดิเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า ‘Shoukonjuku’ จุดประสงค์ของคนกลุ่มนี้คือ การเชิดชูสถาบันจักรพรรดิในฐานะของสัญลักษณ์ของประเทศที่มีคุณค่า เป็นการปกป้องชาติ ธำรงรักษาซึ่งความเป็นญี่ปุ่นเอาไว้ ผ่านกิจกรรมของกลุ่มที่คู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย
ถึงแม้กลุ่ม Shoukonjuku จะมีสมาชิกอยู่เพียงประมาณ 50 คน แต่เมื่อรวมกับสมาชิกที่มีแนวคิดแบบฝ่ายขวากลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศแล้วมีอยู่ถึงประมาณนับหมื่นคน วาตานาเบะ แกนนำของกลุ่มเผยว่า การต่อต้านจักรพรรดิเป็นเรื่องไร้สาระ กลุ่มคนที่ต่อต้านจักรพรรดิเป็นพวกที่ไม่เข้าใจคุณค่าของความเป็นญี่ปุ่น การไม่ยอมรับจักรพรรดิก็เหมือนเป็นการปฏิเสธความเป็นญี่ปุ่น เขาได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “คนเหล่านี้ไม่เข้าใจคุณค่าของความเป็นญี่ปุ่น และไม่ควรจะอยู่ในประเทศนี้”[7]
เชิงอรรถ
[1] หลักฐานของพระราชหัตถเลขาถูกเก็บรักษาไว้ที่ National Diet Library สืบค้นได้จาก https://www.ndl.go.jp/constitution/e/shiryo/03/056shoshi.html อ้างอิงคำแปลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/ประกาศความเป็นมนุษย์
[2] “the war situation has developed not necessarily to our advantage” และ “endure the unendurable” จาก The new york time, 1989
[3] ไชยวัฒน์ ค้ำชู, 2549: 522 อ้างถึงใน นิพัทธพงศ์ พุมมา, 2554: 163
[4] ที่มา: เว็บไซต์ The Imperial Household Agency https://www.kunaicho.go.jp/e-kunaicho/yosan.html
[5] สำนักข่าว Voice online, 2564
[6] https://www.youtube.com/watch?v=hRIYQC51BFM
[7] บทสัมภาษณ์จากบทความ “จักรพรรดิญี่ปุ่น: 35 ปีแห่งการต่อต้าน กับขบวนการที่ถดถอย”
อ้างอิง
- รศ.ยุพา คลังสุวรรณ์ และคณะ. (2548). การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของสังคมญี่ปุ่น. วารสารญี่ปุ่นศึกษา, 22 (1), 77-100.
- นิพัทธพงศ์ พุมมา. (2554). สหรัฐอเมริกากับการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นในช่วงยึดครอง (ค.ศ. 1945-1952): นโยบายและผลกระทบ. วารสารเอเชียตะวันออกศึกษา, 15 (2), 159-176.
- พวงทิพย์ เกียรติสหกุล. (2560). โชกุนกับการควบคุมอำนาจทางการเมืองการปกครองสมัยโทกุงะวะตอนต้น ค.ศ.1603-1651. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 39 (1), 64-85.
- เบญจางค์ ใจใส แดร์ อาร์สลานิออง. (2564). การเปลี่ยนแปลงของสถานะและบทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่นที่ส่งผลต่อการสละราชสมบัติ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น. มนุษยศาสตร์สาร, 22 (2), 30-53.
- 80 พรรษา สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ผู้ค้ำราชบัลลังก์อิมพิเรียลยุคใหม่
- จักรพรรดิญี่ปุ่น: ความเป็นมา ความหมาย และหมายกำหนดการ พระราชพิธีขึ้นครองราชย์
- จักรพรรดิญี่ปุ่น: 35 ปีแห่งการต่อต้าน กับขบวนการที่ถดถอย
- ราชวงศ์ญี่ปุ่นเผชิญภาวะหดตัว เสี่ยงไร้รัชทายาทสำรองในอนาคต
- “สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น” ทรงประกาศสละราชสมบัติแล้ว
- เปิดโทษ กม.หมิ่นประมุข ไทยสูงกว่ารัสเซีย-กัมพูชา เป็นรองแค่ซาอุฯ
- The world’s oldest monarchy is running out of royals
- The Emperor as a Symbol: The Meaning of the Unity of the People Has Evolved with Time
- A Leader Who Took Japan to War, to Surrender, and Finally to Peace
- Over 82% feel affection for new emperor, 79% support woman on throne
- Princess Mako’s Wedding to Commoner Kei Komuro Puts a Spotlight on the Japanese Monarchy’s Succession Problem
- Japan’s prince decries ‘terrible’ comments about daughter’s decision to marry commoner
- An expert’s view: Significance of era names in Japan