‘พิพิธภัณฑ์ฮิโรชิมะ’ ความสั่นไหวระดับ 9 ริกเตอร์ในอกด้านซ้าย

Exif_JPEG_PICTURE

 

เรื่องและภาพ : จันทร์เคียว

 

นี่หรือเมืองที่เคยมอดไหม้แตกสลายเป็นผง ยากยิ่งจะเชื่อว่าเมืองอันทันสมัยใหญ่โตตรงหน้านี้จะเป็นเมืองที่คุ้นตาด้วยภาพพวยควันไฟรูปเห็ดยักษ์เหนือเมืองอันแตกป่นตรมเศร้า

หญิงชราคนหนึ่งเดินช้าๆ หลังงอโก่งด้วยวัย มือข้างขวาจับมั่นอยู่บนหัวไม้เท้า ดูจากการแต่งกายและสัมภาระอันน้อยนิดคุณยายน่าจะเป็นคนแถวนี้ เดาจากวัยแล้วคุณยายน่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ในวันที่ลิตเติลบอย (Little Boy) ถูกปล่อยออกจากเครื่องบิน B-29 โดย พันเอกพอล ทิบเบ็ตส์ ผู้ที่ภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำตราบจนสิ้นชีพ

คุณยายเดินช้าๆ ไปหยุดยืนหน้าอนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมะ โดมเล็กหลังคาโค้งคล้ายอุโมงค์ มองทะลุไปเห็นคบไฟสันติภาพที่จุดสว่างตลอดเวลาอยู่กลางน้ำเป็นแนวตรงไปจนถึงอะตอมมิคโดม ซากตึกสูง 3 ชั้น หลังคาโครงเหล็กโค้งกลม การจัดเรียงกันของอนุสรณ์สถานสันติภาพ โคมไฟสันติภาพ และอะตอมมิคบอมบ์ ทั้งสามสถานเป็นแนวเป็นเส้นตรงอย่างจงใจ

 

Exif_JPEG_PICTURE

 

ช่อดอกลิลลีสีขาวส่งกลิ่นหอมเย็นประหลาด ฉันยืนอยู่ด้านหลังห่างจากคุณยาย กะระยะไม่ให้ความเป็นคนอื่นเข้าไปรบกวนถ้อยคำของคุณยายที่อาจจะกำลังสื่อสารในใจกับ ‘คนข้างล่าง’ ด้านล่างตรงพื้นของโดมหลังคาโค้งเล็กๆ ขุดลงไปเป็นเหมือนสระเล็กๆ ลึกแค่ครึ่งแข้งหล่อน้ำตลอดเวลา ด้านล่างของพื้นจารึกชื่อเหยื่อของลิตเติลบอยราว 150,000 คนที่เสียชีวิตภายในเดือนธันวาคม 1945

 

หญิงชรายืนนิ่งอยู่ราว 7 นาที ก็ค่อยๆ เดินจากไปช้าๆ

 

Exif_JPEG_PICTURE

 

เด็กนักเรียนหลายรถบัสทยอยลงมารอคิวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ คนชราอีกหลายคันรถ ผู้คนกระจายตัวเดินเล่นในสวนสันติภาพฮิโรชิมะอันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโรชิมะ รูปปั้นเด็กหญิงซาดาโกะ ผู้มีนกกระเรียนนับหมื่นนับแสนตัวเป็นบริวารยืนเด่น เหล่านักเรียนชั้นประถมวัยไม่เกินสิบขวบกำลังอ่านข้อความ อาจจะเป็นบทกวีหรือจดหมายถึงซาดาโกะ จากนั้นพวกเขาก็นำนกกระเรียนกระดาษหลากสีที่ร้อยเป็นพวงไปใส่ตู้ให้อยู่กับฝูงนกกระเรียนของซาดาโกะ

 

Exif_JPEG_PICTURE

ค่าบัตรผ่านประตูเข้าพิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโรชิมะ 50 เยน ฉันจ่ายเพิ่มไปอีก 300 เยนเพื่อรับหูฟังมาหนึ่งอัน เริ่มต้นเดินไปตามหมายเลขเพื่อรับฟังเสียงบรรยายภาษาไทยจากไกด์หูฟังส่วนตัว เริ่มจากบูธหมายเลข 1 ในหูฟังเริ่มบรรยายจากความเป็นอยู่ของเมืองฮิโรชิมะ

การเป็นเมืองท่ามีท่าเรือขนาดใหญ่ติดทะเลทำให้มีเขตโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก เป็นเมืองที่รุ่งเรืองที่สุดเมืองหนึ่ง และที่สำคัญคือเป็นเมืองที่ไม่เคยโดนฝ่ายพันธมิตรเข้าทิ้งระเบิดปูพรมเลยสักครั้ง ความสมบูรณ์ในแง่ความเป็นเมืองยังมีอยู่เต็มที่ แต่ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็แร้นแค้น ประชาชนยอมอดอยากกินเผือกกินมันแทนข้าวเพื่อส่งอาหารดีๆ ไปให้ทหารในสนามรบ รวมไปถึงนำหม้อกระทะอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กไปมอบให้รัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในการผลิตอาวุธ

เพราะความสมบูรณ์ในแง่เมืองที่ยังไม่โดนถล่มเองทำให้ฮิโรชิมะเป็นเป้าหมายของระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก หากระเบิดไปทิ้งลงเมืองที่โดนปูพรมไปแล้ว พวกเขาย่อมไม่ได้เห็นอำนาจทำลายล้างของ ‘ไอ้ตัวเล็ก’ หรือ Little Boy อย่างเต็มประสิทธิภาพ

จดหมายของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถึง ประธานาธิบดีรูธเวลส์ แห่งอเมริกา บอกเล่าเรื่องความสำเร็จของการทดลองนิวเคลียร์ ประสิทธิภาพของแร่ยูเรเนียมและระเบิดอันทรงอานุภาพร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย นำโดย ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน แห่งสหรัฐอเมริกา ในข้อตกลงเกี่ยวกับสงครามที่กำลังสู้รบกับญี่ปุ่น

 

Exif_JPEG_PICTURE

 

 

นาฬิกาเก่าคร่ำ หน้าปัดแตกร้าวตัวเรือนวิ่นเหวอะกระดำกระด่าง มีรอยไหม้ราวกับมาจากสุดขอบนรก เข็มสั้นชี้ระหว่างเลข 8 และเลข 9 ยาวยาวชี้ที่เลข 3 นาฬิกาตายบอกเวลาว่ามันเป็นเคยมีชีวิตที่หยุดเดินไปเมื่อ 69 ปีก่อนตอน 8 โมงเช้า 15 นาที หลังจากนั้นมันหยุดนิ่งเพื่อจะบอกเล่าห้วงยามอันเจ็บปวดต่อคนรุ่นหลัง

จนกระทั่งมาถึงภาพถ่ายของเหยื่อผู้รอดชีวิตจากพิษสงของ ‘ไอ้ตัวเล็ก’ เป็นภาพผู้คนกลุ่มหนึ่ง บ้างนั่ง บ้างยืน บ้างนอนตัวงอ เนื้อตัวมอมแมม เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง บรรยากาศภาพเต็มไปด้วยความโกลาหล และหน่วงแน่นไปด้วยความเจ็บปวด ฉากหลังคือบ้านหักพังฝุ่นควันคลุ้ง ช่างภาพชื่อ โยชิโตะ มัทสึชิเกะ บรรยายใต้ภาพว่าเขาต้องต่อสู้กับความรู้สึกอื้ออึงข้างในอยู่ราว 30 นาทีถึงทำใจเดินเข้าไปถ่ายภาพแรกได้ จากนั้นก็เดินเข้าไปใกล้อีก 10 ก้าวแต่แล้วเขาก็พบว่าวิวไฟน์เดอร์ของกล้องถ่ายรูปฝ้ามัวไปด้วยน้ำตาของเขาเองทำให้ต้องถอยออกมา เขาถ่ายภาพตอน 11 โมงในวันเกิดเหตุ ห่างจากจุดศูนย์กลางระเบิดหรือที่เรียกว่า Hypocenter ไปราว 2.27 กิโลเมตร

 

 

Exif_JPEG_PICTURE

 

ไม่ต้องนึกถึงว่าคนที่อยู่ในรัศมีการระเบิดจะตกอยู่ในสภาพไหน ประมวลจากข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ขวดสาเกเหลวหงิกงอ พระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ส่วนหน้าท้องหายไปเหมือนโดนมีดตัดขาด จินตนาการถึงความร้อนสามพันองศาเซลเซียส ร้อนขนาดสิ่งปลูกสร้างระเบิดลุกไหม้เป็นจุล ต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตายแห้งเกรียมต้นไม้เล็กสลายวับไปกับความร้อน กัมมันตภาพรังสีฟุ้งกระจายห่อหุ้มเมือง เนื้อหนังของมนุษย์ละลายไหลย้อย เลือดหยดไหลเป็นทาง เสียงกรีดร้องดังระงม ผู้คนเจ็บป่วยและเจ็บปวดกับบาดแผลที่เจาะลึกลงในเนื้อจนถึงกระดูก

ถ้าคุณเป็นคนร้องไห้ยาก คุณจะพบว่าต่อมน้ำตาตัวเองอยู่ตื้นขึ้นมามาก ขณะที่เดินชมภาพแต่ละภาพ ข้าวของจาก 68 ปีก่อนโน้น ทีละชิ้น…ทีละชิ้น

รถจักรยานสามล้อคันเล็กๆ เก่าคร่ำเขรอะสนิม (ใต้ภาพบรรยายว่าเป็นจักรยานของเด็กชายอายุ 3 ปี 11 เดือน บ้านของเขาอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางระเบิด 1,500 เมตร เมื่อเกิดระเบิด ร่างของเด็กชายและรถสามล้อถูกเผาในพริบตา พ่อของเขาฝังร่างของเขาและจักรยานสามล้อไว้ที่สวนหลังบ้าน อีก 40 ปีต่อมา พ่อของเขาจึงขุดร่างที่ยังหลงเหลือของเด็กชายไปรวมไว้ที่สุสานของครอบครัว และมอบจักรยานคันนี้ให้พิพิธภัณฑ์)

กล่องข้าวบุบบิ่น (กล่องอาหารกลางวันของเด็กชายคนหนึ่งเพิ่งเข้าเรียนปีแรกในโรงเรียนมัธยม) กระเป๋าสะพายของนักเรียนหญิง (เธอเรียนชั้นมัธยม หลังเกิดระเบิดไม่มีใครพบร่างของเธอ พบแต่กระเป๋าของเธอเท่านั้น) ชุดนักเรียนขาดวิ่นมีรอยไหม้เกรียมหลายชุด รูปภาพของเด็กๆ ผู้รอดชีวิตแต่ทุกข์ทรมานเพราะผิวหนังที่พุพองน้ำเหลืองไหลเยิ้มทั่วร่าง บางคนแก้มโหว่เป็นรู บางคนหลังเปื่อยยุ่ย
ฯลฯ

ช่องคอตีบตันไปด้วยความรู้สึกอันยากจะบรรยาย เหมือนถูกดูดกลืนเข้าไปในวงวนของความหดหู่ เศร้าสร้อย โกรธแค้น จมดิ่งลงไป ลงไป กระทั่งกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเต็มนัยน์ตา

 

Exif_JPEG_PICTURE

 

ฤดูใบไม้ร่วง ต้นแปะก๊วย หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าต้นอิโจว เริ่มผลัดสีเขียวออกไปเหลือแต่สีเหลืองสว่างจ้าทั้งสวน แม่น้ำโอตะแยกออกเป็น 2 สายที่บริเวณทางเข้าสวนสันติภาพซึ่งเป็นเกาะปากแม่น้ำ สายหนึ่งคือแม่น้ำเทงหมะและอีกหนึ่งคือแม่น้ำโมโตยาสุ ไหลผ่านหน้าอะตอมมิคโดมลงสู่ทะเล สะพานไอโออิรูปตัว T ทอดข้ามแม่น้ำโอตะและแยกเข้าสวนสันติภาพ

ม้ายาวเรียงตัวกระจายอยู่รายรอบสวนให้ผู้คนได้นั่งเล่นพักผ่อน ด้านที่หันหน้าไปทางอะตอมมิคโดมมีเด็กนักเรียนหญิงนั่งวาดรูปโดมท่าทีตั้งใจมีไม่วอกแวก ชายชราคนหนึ่งนั่งมองแม่น้ำนิ่งเงียบเพียงลำพัง ถัดไปอีกม้านั่งหนึ่งมีหญิงสาว 2 คนนั่งคุยกัน คนถือกล้องถ่ายทำรายการโทรทัศน์เดินเข้าไปขอใช้ฉากด้านหลังของสองสาว คนไร้บ้านนอนคว่ำหน้านิ่งอยู่บนเก้าอี้ยาวอีกตัว ใกล้ตัวมีจักรยานอันรุงรังไปด้วยถุงพลาสติกใส่ข้าวของประดามี ถัดไปอีกฟาก ชายชราท่วงท่าแจ่มใสกำลังเล่นลูกข่างขั้นเทพอวดคนเดินผ่านไปผ่านมา หากมีใครสักคนหยุดดูและปรบมือให้ แกก็ยิ้มเบิกบานจนตาหยี บรรยากาศรายรอบตัวทั้งสดใสและหมองหม่นระคนกัน ฉันนั่งพักอยู่บนเก้าอี้ยาวที่มีป้ายเขียนว่า มอบให้เพื่อความหวังในสันติภาพ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีอะตอมมิคบอมบ์จากรัฐบาลอเมริกัน

6 สิงหาคม 1945 ไอ้ตัวเล็ก Little Boy ถล่มฮิโรชิมะ

9 สิงหาคม 1945 ชายอ้วน Fat Man ถล่มนางาซากิ

15 สิงหาคม 1945 สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ ประกาศแพ้สงคราม ทรงแถลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ สิ้นอำนาจราบคาบ ชาวญี่ปุ่นร้องไห้ระงมทั้งแผ่นดิน บ้างกระโดดลงหน้าผาเพราะไม่อยากถูกจับเป็นเชลยสงคราม เหล่าทหารบางส่วนคว้านท้องทำฮาราคีรีแล้วเฉือดคอตัวเองตาย เพราะการทำฮาราคีรีแบบคว้านท้องไม่ได้เสียชีวิตในทันที ต้องเชือดอีกครั้งเพื่อยุติความทรมาน

สำหรับสายเลือดบูชิโดวิถีแห่งนักรบแล้ว สงครามไม่มีคำว่าแพ้ ถ้าไม่ชนะก็ตายมีแค่นั้น พวกเขาถือว่าความตายเบาบางกว่าขนนก ความตายนำมาซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี มีแต่ความตายเท่านั้นที่สามารถล้างความอัปยศของนักรบได้

ในอีกด้าน ก่อนหน้าที่เมืองฮิโรชิมะกับนางาซากิจะโดนถล่มด้วยระเบิดปรมาณู การสังหารหมู่ที่นานกิงในประเทศจีน ความโหดเหี้ยมป่าเถื่อนสุดขีดของทหารญี่ปุ่นที่กระทำทารุณต่อประชาชนชาวจีนเมื่อราวปี 1937 ก็ทำให้หลายคนมองว่านี่เป็นวิธีเดียวที่จะหยุดทัพอันดุดันและเหี้ยมเกรียมของเหล่านักรบญี่ปุ่นไว้ได้

โลกใบนี้เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง

เราหยุดยั้งสงครามด้วยสงครามที่โหดเหี้ยมอำมหิตยิ่งกว่า.

Exif_JPEG_PICTURE

 

************************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ All way นิตยสาร Way ฉบับ 61 )

Author

จันทร์เคียว
เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ 10 กว่าปี ในวัย 30 ต้นๆ ลาออกจากงานหวังไปผจญภัยหาหนทางใหม่ที่ออสเตรเลียแต่กลับได้ล้างจานอยู่เมลเบิร์นสามเดือน แบกเป้ไปวิจัยฝุ่นในอินเดียเกือบปี ยังชีพโดยเขียนเรื่องเดินทางเสนอนิตยสาร ผลคือได้งานผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารท่องเที่ยว ปัจจุบันเป็นแม่บ้านอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแม่ของเด็กชายหนึ่งคนที่ยังอยากเดินทางไปสถานที่ที่ยังไม่เคยเหยียบย่าง และยังอยากเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนบนโลกใบเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า