ข่าวการบุกเข้าไปจับตัว Jimmy Lai เศรษฐีเจ้าพ่อสื่อชื่อดัง เจ้าของหนังสือพิมพ์ Apple Daily แห่งฮ่องกง ผู้มีทรัพย์สินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วง 2-3 วันก่อน พร้อมๆกับผู้บริหารคนอื่นๆ และนักกิจกรรมทางการเมืองร่วม 10 ชีวิต (รวม Agnes Chow ด้วย) นั้นสร้างความหวาดผวา และความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนชาวฮ่องกงโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะการบุกไปจับตัว Jimmy Lai และพรรคพวกในครั้งนี้ มีการขนเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มใหญ่มาในปริมาณมากกว่า 1 กองร้อย เพื่อบุกค้นสำนักงานแล้วทำการเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ เอาไว้ใช้ในการเอาผิดผู้บริหารของหนังสือพิมพ์ Apple Daily โดยที่ทางตำรวจตั้งข้อสงสัยว่าผู้บริหารของหนังสือพิมพ์อย่าง Jimmy Lai นั้นอาจเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการดึงเอารัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของจีนและเกาะฮ่องกง เนื่องจากมีผู้พบเห็น Jimmy Lai ติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลของวอชิงตันบ่อยครั้ง
การบุก Apple Daily แล้วจับตัวผู้บริหารถือเป็นภารกิจการปราบปรามฝ่ายต่อต้านครั้งใหญ่ครั้งแรกของรัฐบาลจีน หลังจากได้นำเอาบทบัญญัติฉบับใหม่ของกฎหมายความมั่นคงยัดไส้ไว้ในรัฐธรรมนูญ (Basic Law) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงลงมือจัดการกลุ่มต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งได้ในทันทีหากเห็นว่ามีความจำเป็น จากนั้นก็มีการตามล้างตามเช็ดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยกันทีละกลุ่ม ทีละคน
ไล่เรียงตั้งแต่การออกหมายจับ Nathan Law และพรรคพวกที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ การลาก Agnes Chow ไปขึ้นให้การต่อศาล การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของ Joshua Wong ไม่ให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาลูนได้ จนมาถึงกรณีล่าสุดคือ Jimmy Lai แห่งหนังสือพิมพ์ Apple Daily นี้
Apple Daily ถือเป็นสื่อใหญ่ระดับนานาชาติของฮ่องกง เขียนข่าวในเชิงที่สวนทางกับแนวคิดของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนอย่างสันติ ไม่ได้มีพฤติกรรมคิดร้ายต่อใคร แต่ยังถูกตำรวจจำนวนกว่า 200 นายเข้ามาทำการบุกค้นข้าวของภายในสำนักงานอย่างอุกอาจ จากนั้นยังมีการตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลต่างชาติจนอาจถึงขั้นต้องถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว นับประสาอะไรกับสื่อขนาดเล็ก และประชาชนตาดำๆกลุ่มอื่นๆ ที่มีอิทธิพลน้อยกว่า และเป็นที่รู้จักในวงกว้างน้อยกว่า Jimmy Lai ก็คงจะไม่สามารถรอดพ้นจากอำนาจนอกระบบที่รัฐบาลจีนแผ่เข้ามาในฮ่องกงนี้ไปได้ง่ายๆ
ก่อนการทลาย Apple Daily
สำนักข่าวหลายแห่งในต่างประเทศทั้ง BBC, Voice of America, หรือ Hong Kong Free Press ต่างตั้งข้อสังเกตว่าบทบัญญัติทางกฎหมายด้านความมั่นคงที่รัฐบาลจีนนำมายัดไส้ไว้นี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการลดลงของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อมวลชน เนื่องจากบทบัญญัติทางด้านความมั่นคงฉบับใหม่นั้นเปิดทางให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตีความจากตัวบทแบบกว้างๆ แล้วตั้งข้อหาแก่กลุ่มที่อยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาลฮ่องกงและจีนได้อย่างอิสระ กรณีการจับตัว Jimmy Lai นี้เป็นตัวอย่างที่ทำลายภาพลักษณ์เดิมของฮ่องกงที่เคยเป็นพื้นที่ของเสรีภาพ ศูนย์กลางของข่าวสาร และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของสื่อฮ่องกงไม่ได้เพิ่งจะมาลดลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจากการปรับแก้บทบัญญัติทางกฎหมายความ แต่ประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อนั้นเป็นประเด็นถกเถียงภายในการเมืองของฮ่องกงมาตลอดหลายปีแล้ว ย้อนไปยังช่วงปี 2007 ที่มีการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มนักข่าวในสมาคมสื่อมวลชนฮ่องกง นักข่าวส่วนใหญ่ในสมาคมก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เสรีภาพของสื่อภายในฮ่องกงค่อยๆ หายไปทีละน้อยมาตลอด ตั้งแต่ช่วงปี 1997 เป็นต้นมาแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นในยุคหลังๆนี้ นักข่าวหลายคนรู้สึกกันได้เลยว่าหลังจากที่อังกฤษได้มีการส่งเกาะฮ่องกงคืนให้แก่ประเทศจีนในปี 1997 นั้นสื่อมวลชนมีความระแวดระวัง และนำเสนอข่าวแบบรักษาความปลอดภัยของตัวเองมากขึ้น (self-censorship)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น การลอบทำร้าย Kevin Lau บรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์ Ming Pao ในปี 2014 และการหายตัวไปอย่างลึกลับของคนขายหนังสือที่อ่าวคอสเวย์จำนวน 5 คน ในช่วงระหว่างปี 2015 และ 2016 ยิ่งเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาจากการจัดอันดับเสรีภาพสื่อของฮ่องกงก็จะยิ่งเห็นภาพที่กว้างชัดขึ้น จากตัวชี้วัดที่จัดทำโดย Reports Without Borders จะเห็นว่าเสรีภาพสื่อของฮ่องกงนั้นอยู่ในจุดที่ตกต่ำลงมาเรื่อยๆ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จากที่เคยมีชื่ออยู่ใน 20 อันดับแรกในช่วงก่อนปี 2005 ก็ถูกดีดให้ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 70 กว่าในปี 2019 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุณหภูมิและพลวัตทางการเมือง ความเคลื่อนไหวของฮ่องกงผ่านมิติของสื่อได้เป็นอย่างดี
ไม่ใช่แค่เสรีภาพ แต่คือการอยู่รอดทางธุรกิจ
กรณี Jimmy Lai นี้ไม่ใช่เพิ่งจะถูกเพ่งเล็งเป็นครั้งแรก เมื่อช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาบริษัทของ Jimmy Lai ก็เคยถูกลอบโจมตีด้วยระเบิดขวด (Molotov) นักข่าวหลายๆ คนที่เคยเปิดตัววิจารณ์รัฐบาลจีนถูกไล่ออกจากงาน เพราะสื่อฮ่องกงหลายๆ หัวนั้นมีการถือหุ้นของนายทุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีการส่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลของจีนเข้ามานั่งรวมอยู่ในบอร์ดบริหารด้วย
สื่อหลายๆ หัวภายในฮ่องกงเองต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากการเป็นสื่อภาษาจีนในการขยายฐานลูกค้าเข้าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ สื่อเหล่านี้จึงต้องปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมและกติกาทางการเมืองแบบจีน นั่นคือ ต้องยอมให้คนจากทางฝั่งจีนเข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายการบริหารสำนักพิมพ์และสำนักข่าว เพื่อแลกกับการเข้าถึงฐานลูกค้าภายในจีน
เสรีภาพสื่อภายในฮ่องกงนั้นนั้นลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา จากพลวัตทางการเมืองตั้งแต่ช่วงหลังปี 1997 ที่รัฐบาลอังกฤษส่งเกาะคืนให้แก่รัฐบาลจีน แล้วเปิดทางให้มีการนำเอาแนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบเข้ามาใช้ในการปกครองบริหารฮ่องกงแล้ว การนำเสนอข่าวสาร และการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่อ่อนไหว หรือสุ่มเสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งกับรัฐบาลมีแต่จะเพิ่มความเป็นไปได้ในการถูกเพ่งเล็งให้แก่สำนักข่าวหัวนั้นๆ มาโดยตลอด
การเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้เป็นแค่จุดสะท้อนให้เห็นถึงการกระชับอำนาจ และขยายอิทธิพลของตนเองเข้ามายังฮ่องกงอย่างเป็นระบบมากขึ้น เช่น การตั้งคณะกรรมการ และหน่วยงานพิเศษขึ้นมาในการตรวจสอบความโปร่งใสจริยธรรมสื่อ ที่จะเอาไว้ใช้ในการกลั่นกรองนักข่าว หรือสื่อมวลชนจากต่างประเทศที่อาจจะเข้ามาทำข่าวในฮ่องกง หากนักข่าวคนไหนไม่ผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการเหล่านี้ ก็จะถูกกีดกัน และขัดขวางไม่ให้สามารถเดินทางเข้าฮ่องกงได้ หรือไม่ก็จะโดนเพิกถอนวีซ่า (ในบางกรณีก็อาจมีการกลั่นแกล้งแล้วถ่วงเวลาไม่ให้เดินทางเข้าประเทศได้) และในอนาคตอันใกล้ ด้วยความที่บทบัญญัติทางกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวนี้มีความกำกวมสูง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า หากสำนักข่าว หรือหนังสือพิมพ์หัวใดมีความประสงค์อยากจะทำกิจการข่าวต่อ หรือนำเสนอข่าวใดๆออกสู่สาธารณะ ก็อาจจะต้องมีการติดต่อประสานงานไปทางกรมตำรวจของฮ่องกง และหน่วยงานทางด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นได้ทำการตรวจสอบเนื้อหาก่อนทำการเผยแพร่ด้วย
กรณี Apple Daily นี้จึงมีความหมายไม่ต่างอะไรจากการเชือดไก่ให้ลิงดู บวกกับเป็นการประกาศให้สังคมทั่วโลกได้เห็นว่าฮ่องกงนั้นได้ตกอยู่ภายใต้สิทธิขาดของรัฐบาลจีนอย่างเต็มที่แล้ว นี่จึงเป็นการส่งสาร และสร้างมาตรฐานใหม่แก่สื่อมวลชนภายในฮ่องกงด้วย ว่าถ้าไม่อยากมีชะตากรรมแบบเดียวกันกับ Jimmy Lai และพรรคพวก ก็จะต้องมีความระมัดระวัง และมีการควบคุมเนื้อหาของสื่อตนเองให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกจู่โจมด้วยเครื่องมือเชิงสถาบันและกลไกที่สร้างขึ้นจากบทบัญญัติทางกฎหมายฉบับนั้น
สร้างความกลัวจากข้อกฎหมายที่กำกวม
ความน่ากลัวของบทบัญญัติฯฉบับดังกล่าว คือ ช่องว่างที่เปิดขึ้นโดยตัวบทกฎหมาย ว่าผู้ที่ได้รับการสันนิษฐานว่ากระทำผิด หรือเป็นอาชญากรตามบทบัญญัตินั้น จะมีสิทธิถูกรวบตัวเมื่อใดก็ได้ตามที่เจ้าหน้าที่ของทางฝ่ายความมั่นคงเห็นสมควร และจะถูกลากตัวไปดำเนินคดีภายในประเทศจีน หรือจำคุกภายในประเทศจีนอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องรอมีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบสถานการณ์เมื่อปี 2019 อีกทั้งบทบัญญัติฯดังกล่าวยังให้อำนาจรัฐบาลจีนสามารถแทรกแซงเข้ามาจิ้มเลือกแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาที่มีหน้าที่พิจารณาคดีความมั่นคงได้อย่างอิสระอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือการกดดันให้ขบวนการประชาธิปไตยและกลุ่มสื่อมวลชนติดกับดักของเผด็จการ จนจำต้องลดบทบาททางการเมืองของตนเองลง หรือไม่ก็ต้องทำการลดทอนเนื้อหาของสื่อที่จะนำเสนอ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของบทบัญญัติฯฉบับดังกล่าว
บทบัญญัติฯฉบับนี้อาจจะไม่ได้สลายขบวนการประชาธิปไตยภายในฮ่องกงโดยทันที แต่นี่คือกลไกที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มแต้มต่อให้แก่ภาครัฐอย่าง Carrie Lam และ Xi Jinping ให้สามารถปฏิบัติการป้องปราม และสร้าง “ความกลัว” ที่เขาเหล่านั้นจะถูกส่งตัวไปขึ้นศาลภายในประเทศจีน เช่น Nathan Law ที่ประกาศตัวว่า “ไม่กลัว” มาโดยตลอด ยังตัดสินใจลี้ภัยไปอาศัยอยู่ ณ กรุงลอนดอน