เจ้าหน้าที่สรรพากรบุกค้นสำนักงาน BBC อินเดีย หลังเผยแพร่สารคดีวิจารณ์นายกฯ เมื่อเดือนก่อน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่สรรพากรของอินเดียบุกเข้าตรวจสอบสำนักงานของ BBC ทั้งในกรุงนิวเดลีและมุมไบ หลังสารคดีเกี่ยวกับ นเรนทรา โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรี ออกอากาศในช่วงเดือนมกราคม โดย BBC ระบุว่า ทางสำนักงานให้ความร่วมกับเจ้าหน้าที่ในปฏิบัติการตรวจค้นครั้งนี้อย่างเต็มที่ 

“เราหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน” แถลงการณ์สั้นๆ จาก BBC

พรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party-BJP) ของโมทีกล่าวว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการกระทำตามกฎหมาย เพื่อเข้าตรวจสอบเรื่องการจ่ายภาษี และอินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย 

การาฟ บาเตีย (Gaurav Bhatia) โฆษกพรรคภารตียชนตา ยังกล่าวว่า BBC เป็นองค์กรที่ฉ้อฉลที่สุดในโลก พร้อมระบุว่า “อินเดียเป็นประเทศที่ให้โอกาสแก่ทุกองค์กร ตราบใดที่คุณไม่พ่นพิษใส่เรา”

ขณะเดียวกัน บรรดาพรรคฝ่ายค้านในสภาต่างก็ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่สรรพากรครั้งนี้ เคซี เวนุโกปาล (KC Venugopal) แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ทวีตข้อความว่า “สัมผัสได้ถึงกลิ่นของความสิ้นหวัง และยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของโมทีหวาดกลัวการวิพากษ์วิจารณ์มากแค่ไหน”

ทั้งนี้ รัฐบาลของโมทีเคยใช้วิธีบุกตรวจค้นเพื่อจัดการกับองค์กรต่างๆ ที่คอยวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว นอกจาก BBC ที่เพิ่งถูกบุกค้นสำนักงานด้วยข้ออ้างข้อตรวจสอบการจัดเก็บภาษี องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) สาขาอินเดียก็เคยถูกระงับบัญชีธนาคาร หลังเจ้าหน้าที่สรรพากรใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงเพื่อตรวจค้นสำนักงานใหญ่ในบังคาลอร์ 

ปฏิบัติการเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกันคือ ในระหว่างปฏิบัติการตรวจค้น พนักงานและเจ้าหน้าที่จะถูกสั่งให้อยู่ภายในออฟฟิศเท่านั้น  ต้องปิดคอมพิวเตอร์ และห้ามใช้โทรศัพท์มือถือเด็ดขาด

สารคดีที่สร้างปัญหาให้ BBC ชื่อว่า India: The Modi Question มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของโมทีในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมชาวมุสลิมในรัฐคุชราต (Gujarat) เมื่อปี 2002 จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งขณะนั้นโมทีดำรงตำแหน่งมุขมนตรีของรัฐคุชราต 

แม้สารคดีเรื่องนี้จะออกอากาศเฉพาะทางสถานีโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่รัฐบาลอินเดียก็พยายามบล็อกไม่ให้ประชาชนเข้าถึงผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมประกาศว่า สารคดีดังกล่าวเป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความเกลียดชัง และสร้างทัศนคติต่อต้านอินเดีย โดยมีวิธีคิดแบบเจ้าอาณานิคม

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจของอินเดียได้ควบคุมตัวกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเดลี ที่รวมตัวกันเพื่อจะดูสารดคีเรื่องนี้ จากสถานการณ์ที่ไร้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ ทำให้อินเดียถูกจัดอันดับจาก World Press Freedom ให้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อต่ำมาก โดยอยู่ที่อันดับ 150 จาก 180 ประเทศ ซึ่งตกลงมา 10 อันดับ นับตั้งแต่โมทีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2014

อ้างอิง

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า