“ฟัคยู กูมิลวอลล์” หรือประโยคจริง “Fuck You, I’m Millwall” เป็นที่จดจำในเหตุก่อการร้ายที่สะพานลอนดอนบริดจ์และโบโรมาร์เก็ต เมื่อวันที่ 3 มีนาคม หลัง รอย ลาร์เนอร์ (Roy Larner) ฮูลิแกนแฟนบอลเดนตายวัย 47 ของมิลวอลล์ สโมสรฟุตบอลจากลอนดอนใต้ กลายเป็นฮีโร่หลังจากวางแก้วเบียร์ ลุกจากโต๊ะในบาร์ เดินเข้าไปตะลุมบอนกับผู้ก่อการร้ายที่ถือมีดสามคนด้วยมือเปล่า พร้อมตะโกนประโยค “ฟัคยู” ประกาศศักดาข้างต้น
แม้จะช่วยคนที่เหลือในบาร์ให้หนีออกจากร้านไปได้ แต่ลาร์เนอร์ก็ถูกฟันแทงเหวอะหลายแผล ข่าวจากอังกฤษอ้างว่า หลังตำรวจวิสามัญผู้ก่อการร้ายทั้งสามแล้ว ลาร์เนอร์ยังพาร่างโชกเลือดของเขามากระดกเบียร์ต่อ ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างด่วน
ลาร์เนอร์ถูกส่งไปรักษาตัวที่แผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลเซนต์โธมัส (St Thomas’ Hospital) เขาปลอดภัย มีอาการคงที่ ชาวลอนดอนส่วนหนึ่งต้องขอบคุณเขา ขณะที่ตัวลาร์เนอร์เองต้องขอบคุณ NHS
ระบบสวัสดิการสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบประกันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ (National Health Service: NHS) คือหนึ่งในฮีโร่ตัวจริงของเหตุก่อการร้ายครั้งนี้ NHS ช่วยชีวิตเหยื่อผู้บาดเจ็บทั้ง 48 คนไว้ได้ ทั้งผู้บาดเจ็บเล็กน้อยและฉุกเฉินเร่งด่วน ทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเซนต์โธมัส โรงพยาบาลคิงส์คอลเลจ (Kings College Hospital) โรงพยาบาล University College London Hospital และ Imperial College Healthcare NHS Trust
NHS เปรียบเสมือนบัตรทองของอังกฤษ ที่ทำให้การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขเป็นสวัสดิการสำหรับประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[1]
นอกจากเหตุฉุกเฉิน NHS ยังมี GP (General Practice) เป็นศูนย์การแพทย์ทั่วไปที่มีอยู่ในหลายพื้นที่ ประชาชนจะลงทะเบียนไว้กับ GP ใกล้บ้าน โดย GP จะทำการรักษาพื้นฐานกับโรคทั่วไปแบบจบในตัว หรือไม่ก็พิจารณาเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่
หลังเกิดเหตุนาน NHS เปิดเผยว่า ภายใต้การทำงานหนักของแพทย์ ศัลยแพทย์ และพยาบาล ผู้บาดเจ็บที่ถูกส่งโรงพยาบาลทุกคนอยู่ในอาการที่ปลอดภัยแล้ว
เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตแปดราย แต่บรรดาแพทย์ก็สามารถทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตไม่เพิ่มไปกว่านี้ เพราะพวกเขาค่อนข้างชินกับการรับมือผู้บาดเจ็บจากการถูกแทงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในลอนดอน โดยครั้งนี้มีผู้ถูกแทงสาหัสถึง 21 คน
ก่อนหน้านี้กับการระเบิดที่เมืองแมนเชสเตอร์ NHS ก็สามารถรุดส่งผู้บาดเจ็บ 75 คนกระจายไปยังโรงพยาบาลแปดแห่ง รวมถึงส่งผู้บาดเจ็บสาหัส 23 คนถึงหน่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว
นายกเทศมนตรีลอนดอน ซาดิก ข่าน ชื่นชมการทำงานของ NHS ผ่านทวิตเตอร์ สำหรับการทำงานที่เขายกให้เป็นระดับ ‘เวิลด์คลาส’ ขณะที่ ดันแคน บูว (Duncan Bew) จากโรงพยาบาลคิงส์คอลเลจ ยกย่องหน่วยฉุกเฉินว่า สามารถรับมือการโจมตีครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะการเข้าถึงที่เกิดเหตุทันท่วงทีคือกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตคน
[1] ยกเว้นการรักษาเฉพาะทาง เช่น ทันตกรรม จักษุ และใบสั่งยาที่ราคาครั้งละ 8.60 ปอนด์ หากผู้ป่วยมีแนวโน้มว่าต้องรับยาหลายครั้งในหนึ่งปี ก็สามารถจ่ายเงินล่วงหน้าเข้าระบบ Prescription Prepayment Certificate (PPC) เพื่อทำให้ได้รับยาในราคาที่ถูกลง ซึ่งถือว่าคุ้มค่าหากจำเป็นต้องใช้ยาจำนวนมากในรอบปี เช่น ระบบ PPC 12 เดือน จะต้องจ่าย 104 ปอนด์ หรือราว 4,500 บาท หารในหนึ่งปีก็ตกประมาณเดือนละ 375 บาทเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก: independent.co.uk
nhs.uk