1
พรมแดนขีดเขียนขึ้นบนแผนที่เท่านั้น!
ชายวัย 48 เป็นเจ้าของประโยคนี้ เขาไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นักชาติพันธุ์วิทยา ไม่ใช่นักวิชาการแผนที่ภาพถ่าย
“สำหรับผม งานการแพทย์และสาธารณสุขไม่สามารถใช้หลักการแบ่งเส้นพรมแดนบนแผนที่ได้”
ใช่…โดยอาชีพ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ เป็นแพทย์
“พื้นที่แถบนี้ โรคมาลาเรียระบาดมาก” นพ.วรวิทย์ หมายถึงพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก “ยุงก้นปล่องบินจากฝั่งไทยไปฝั่งพม่า บินจากฝั่งพม่ามาฝั่งไทย ยุงก้นปล่องไม่ต้องขอวีซ่าเลยนะ”
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผางผู้นี้กำลังจะบอกว่า โรคภัยไข้เจ็บไม่เลือกสัญชาติผู้คน ไม่เลือกระบาดบนดินแดนฝั่งไหน ไม่ได้เลือกว่าคุณเป็นคนไทย เมียนมาร์ อาเซอร์ไบจาน สวิตเซอร์แลนด์ คิวบา อาร์เจนตินา ไม่ได้เจาะจงว่าคุณคือพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม
ถ้าเรายึดหลักเกณฑ์ที่มนุษย์สมัยใหม่กำหนดว่า เขาเป็นพม่า เขาไม่มีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ฝั่งไทย ผมคิดว่ามันขัดกับหลักการที่เป็นสากลมากกว่า นั่นคือหลักมนุษยธรรม ต่อให้ไม่มีศาสนาก็ตามเถอะ หลักของมนุษยธรรมก็เป็นหลักที่พึงกระทำต่อกัน นพ.วรวิทย์ บอก
2
แผ่นดินลอยฟ้า เป็นนิกเนมของอําเภออุ้มผาง
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ที่ตั้งของอุ้มผางทำให้การเดินทางยากลำบาก เราเดินทางจากอำเภอแม่สอดด้วยรถยนต์ ผ่านทางหลวงหมายเลข 1090 คดโค้งขึ้นสู่เทือกเขาถนนธงชัย หากต้องการไปให้ถึงที่หมาย เราจำเป็นต้องผ่านโค้งคดเคี้ยวจำนวน 1,219 โค้ง…ไม่มีทางอื่น เราใช้เวลาเดินทางกว่าห้าชั่วโมงด้วยระยะทาง 164 กิโลเมตร
รถยนต์คันที่เรานั่งมา มีสติกเกอร์ตรงประตู สติกเกอร์พยายามสื่อความในเชิงอ้อนวอนกึ่งบังคับว่า: ‘คุณอย่าอาเจียนบนรถ’
แนวเทือกเขาถนนธงชัย กั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับเมียนมาร์ อําเภออุ้มผางมีแนวพรมแดนยาวประมาณ 180 กิโลเมตร
ในปี 2432 อุ้มผางเคยเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันตก เป็นจุดตรวจหนังสือเดินทางชาวเมียนมาร์ที่เข้ามาค้าขายในเขตไทย สมัยก่อนชาวพม่าจะนําเอกสารใส่กระบอกไม้ไผ่มีฝาปิด เพื่อป้องกันฝนและการฉีกขาดระหว่างเดินทาง เมื่อมาถึงอุ้มผางก็จะเปิดกระบอกไม้ไผ่ที่เก็บเอกสารเพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ในเขตไทยตรวจประทับตรา กระบอกไม้ไผ่ที่ว่านี้ ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “อุมผะ”
กาลเวลาและผู้คนช่วยกันทำให้ อุมผะ เพี้ยนเสียงเป็น อุ้มผาง
3
เหงาและเงียบ
นพ.วรวิทย์ ให้คำนิยามความรู้สึกภายในของเขาในปี 2534 ปีแรกที่เดินทางมาเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ปีนั้นเขาบอกตัวเองว่าจะอยู่ที่อุ้มผางหนึ่งปี แล้วจะทำเรื่องขอย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ถึงวันนี้ ณ เวลาของปี 2559 เขาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง มีบ้านพักอยู่ในโรงพยาบาล ตื่นตีห้า วิ่งออกกำลังกายตอนเช้า อาบน้ำ และไปทำงาน
4
ถ้าเราจะควานหาหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในแวดวงสาธารณสุข ก็ต้องถือว่าการกำเนิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2544 เป็นหลักไมล์สำคัญ มันคือการบอกว่า ประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ไม่ควรมีใครล้มละลายเพราะความเจ็บป่วย
ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลอุ้มผางให้บริการทางการแพทย์แก่ทุกคนที่เจ็บป่วย ใครเจ็บไข้ได้ป่วยมาโรงพยาบาล “เราก็รักษาหมด เราไม่เคยสนใจว่าเขามีบัตรประชาชนหรือไม่ เราไม่เคยสนใจเลย เรารักษาหมด” นพ.วรวิทย์ บอก
ภายหลังประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้เกิดปัญหาการให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ชายแดนอย่างอุ้มผาง เพราะประชากรกว่าครึ่งในอำเภออุ้มผาง เป็นผู้ที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคล
“คนที่มารักษาในโรงพยาบาลของประเทศไทย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีบัตรประชาชน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยึดฐานการเหมาจ่ายตามรายหัวประชากรที่ขึ้นทะเบียนตามทะเบียนราษฎร์ ปรากฏว่าตอนนั้นโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลก็ต้องดูประชากรที่ขึ้นทะเบียนราษฎร์”
ผู้มารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลอุ้มผางจำนวนกว่าครึ่งของประชากรในอำเภออุ้มผาง ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีหมายเลขแสดงสถานะบุคคล ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง…เสียงที่หมายถึงความรับรู้จากรัฐว่าพวกเขามีตัวตนอยู่บนโลกนี้
ไม่ว่าจะมองมาจากรัฐฝั่งไหน พวกเขาก็ไม่มีตัวตน
5
เหงาและเงียบ
นายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งชั่งน้ำหนักของความเหงาและความเงียบที่ตัวเองเผชิญกับความเหงาและความเงียบ ที่เกิดจากปัญหาสถานะบุคคลของชาวบ้านในเมืองเล็กๆ ที่เขาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง
นายแพทย์หนุ่มไกลบ้านกับชาวบ้านที่ไม่มีตัวตน
ในปี 2544 นพ.วรวิทย์ มีนโยบายจัดทํา ‘บัตรขาว’ เพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนที่มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับบัตรประกันสุขภาพ สามารถใช้ในสถานบริการสาธารณสุขเฉพาะเขตอําเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
วัตถุประสงค์หลักๆ คือ สร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ทุกคน เนื่องจากเมืองติดชายแดนอย่างอุ้มผาง การเข้าออกของผู้คนทําให้การสกัดกั้นโรคระบาดไม่อาจทําได้ หากผู้ป่วยไร้สิทธิไม่สามารถเข้าถึงการบริการและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โอกาสของการแพร่กระจายเชื้อโรคเข้าสู่ประชากรชั้นในคงเป็นไปได้ง่าย
อีกประการ ความต้องการทราบจํานวนของประชากรที่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพ เพราะที่ผ่านมา ผู้คนที่เข้ารับการรักษามีจํานวนมาก แต่ไม่เคยมีการรวบรวมอย่างเป็นระบบ ทําให้เมื่อมีการสํารวจเพื่อให้ความช่วยเหลือ ไม่ทราบจํานวนที่แท้จริง
“ชาวบ้านที่นี่บังเอิญเป็นชาวบ้านยากจน ผมก็เลยทำง่ายๆ แจกบัตรเลย เป็นบัตรที่โรงพยาบาลทำขึ้นมา เป็นบัตรสีขาว…ฟรีหมด ข้อดีคือเราจะได้รู้จำนวนคนเท่าไหร่กันแน่ที่ไม่มีหลักประกัน แต่เรานับเฉพาะคนที่มาโรงพยาบาล แต่ความจริงอาจจะมากกว่านี้ก็ได้ เพราะบางคนก็ไม่ได้มาโรงพยาบาล” นพ.วรวิทย์ บอก
ประชากรของอําเภออุ้มผางที่อยู่ในพื้นที่รับบริการของโรงพยาบาลอุ้มผาง มีจํานวนสูงถึง 84,875 คน ในจํานวนดังกล่าว มีเพียง 32,606 คนที่มีหลักประกันสุขภาพ ส่วนที่เหลือคือ 52,273 คน เป็นกลุ่มคนไร้หลักประกันสุขภาพ
6
ปี 2553 นพ.วรวิทย์ ได้พบกับ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านที่ต่างต้องการแก้ปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ
ตอนนั้น นพ.วรวิทย์ มีความคิดว่า อยากจะให้คนไทยที่ตกสำรวจหรือคนไทยที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ได้รับการสำรวจและได้รับบัตรประจำตัวประชาชน พวกเขาจะได้มีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งก็จะทำให้โรงพยาบาลดำเนินการต่อได้ ตอนนั้น “ผมคิดแค่นี้เอง” นพ.วรวิทย์ เล่า
“แต่เมื่อเราได้ศึกษาได้ทำเรื่องสิทธิในสถานะบุคคล เราเข้าใจมากขึ้น คนต้องไม่ไร้รัฐ ต้องมีรัฐอยู่ และเขาควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ เช่น เจ็บป่วยต้องได้รับการรักษา คลอดลูกไม่ใช่ปล่อยให้เขาคลอดตามยถากรรม ลูกต้องได้เรียนหนังสือ ต้องมีสิทธิในการประกอบอาชีพ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ผมพูดได้เลยว่า อาจารย์พันธุ์ทิพย์เป็นคนจิตใจกว้างขวางมาก อาจารย์พันธุ์ทิพย์บอกว่า เราไม่ได้ทำให้ทุกคนเป็นคนไทยนะ แต่ทำให้คนทุกคนเป็นมนุษย์ ส่วนสัญชาติก็ว่ากันตามการกำเนิดของเขา เขากำเนิดที่ไหนก็ต้องได้สัญชาติตามนั้น แต่เขาต้องไม่ไร้รัฐ เขาต้องมีหมายเลข การมีหมายเลขประจำตัวยังป้องกันการค้ามนุษย์ หมายเลขประจำตัวเป็นสิ่งบอกว่า คนคนนี้มีตัวตนอยู่บนโลกนี้ ดังนั้น เขาจึงมีสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ นพ.วรวิทย์ บอก
7
ในเมืองเล็กๆ อย่างอุ้มผางมีผู้ป่วยด้วยโรคสถานะบุคคลสูงถึง 52,273 คน
ปี 2555 คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงกำเนิดขึ้น เพื่อรักษาโรคสถานะบุคคล
แน่ใจได้เลยว่า ตลอดระยะเวลาการเป็นนักศึกษาแพทย์ของ นพ.วรวิทย์ เขาไม่เคยได้เรียนเกี่ยวกับโรคนี้
จันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลอุ้มผาง ได้กล่าวว่า คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นการเปิดมิติใหม่ของมุมมองการทํางานด้านสาธารณสุขจากที่เป็นเพียงฝ่ายตั้งรับรอการมาของคนไข้ ที่แม้จะดําเนินการมาไม่นาน แต่เนื้องานที่เกิดขึ้นส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วยให้มีโอกาสเข้าถึงหลักประกันสุขภาพตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ รวมถึงทําให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นจากสถานะบุคคลที่พัฒนาแล้ว
ถ้าเลือดออกเราต้องหยุดเลือดก่อน – นพ.วรวิทย์ อุปมาอุปไมยถึงเนื้องานของคลินิกกฎหมายอุ้มผางฯ
“ถ้าเลือดออกเราต้องหยุดเลือดก่อน แล้วเลือดที่ออกเราต้องค่อยๆ ไปแก้ เช่น หาเลือดมาเติม แต่ถ้าเลือดไหลไม่หยุด ก็แก้ปัญหาไม่ได้”
การหยุดเลือดในความหมายของ นพ.วรวิทย์ ก็คือ เด็กทุกคนที่เกิดในโรงพยาบาลอุ้มผาง จะได้รับการจดทะเบียนเกิดทันที เป็นการจดทะเบียนเกิดแบบออนไลน์
“จดทะเบียนการเกิดก็เป็นการหยุดแล้ว” นพ.วรวิทย์ กล่าวต่อ “หยุดไม่ให้มีภาวะไร้รัฐในเด็กที่เกิดใหม่ ส่วนคนที่เกิดมาแล้วเราก็ไล่ตามไปสำรวจไปเก็บให้หมด ก็ค่อยๆ ทำแบบนี้ วันหนึ่งก็น่าจะหมด แต่บางเคสของสถานะบุคคลมันก็เหมือนการรักษาคนไข้ คนไข้คนหนึ่งเขามีเรื่องราวของเขา จะทำแบบแมสไม่ได้ ทำแบบโรงงานไม่ได้ ต้องทำทีละเคส หนึ่งต่อหนึ่ง มันสั่งตัดไม่ได้ มันไม่ใช่ไซส์มาตรฐาน แต่ละคนมีเรื่องราวเฉพาะ มีวิธีแก้ปัญหาเฉพาะ ต้องใช้เวลา เราต้องใช้นักกฎหมายด้วย”
ในโรงพยาบาลอุ้มผางจึงไม่ได้มีแต่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่มีนักกฎหมายและอาสาสมัครทางกฎหมายด้วย
8
เนาะดา เรียนจบสัตวศาสตร์ แต่ทำงานเป็นผู้ช่วยนักกฎหมาย คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก เธอเกิดเมื่อปี 2533 ที่อำเภอแม่ระมาด แต่พ่อและแม่อพยพหนีภัยสงครามมาจากประเทศเมียนมาร์ ทั้งสองพบรักกันในประเทศไทย และมีลูกสาวที่ทั้งสองตั้งชื่อในภาษาปกาเกอญอที่มีความหมายว่า ลูกสาว
วันที่เราพบกับเนาะดาในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เธอมีหมายเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7 ซึ่งหมายความว่า เธอคือบุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย ซึ่งบุคคลประเภทที่ 6 คือผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย
“ปีนี้ฉันอายุ 25” เนาะดา เริ่มเรื่องของเธอ “ตอนแรกฉันเหมือนเด็กทั่วไป อายุครบ 5 ขวบก็เข้าโรงเรียน แต่พอถึงช่วงวัยหนึ่งที่เรากำลังเติบโต เริ่มรับรู้ เมื่ออายุ 15 ปี เพื่อนของฉันต่างก็ไปทำบัตรประจำตัวใช่มั้ยคะ แต่ทำไมฉันจึงไม่ได้ไปทำบัตรเหมือนเพื่อน ก็เกิดข้อสงสัย ฉันก็ไปถามพ่อแม่ พ่อแม่ก็อ้ำอึ้ง ไม่มีคำตอบให้ลูก พอเราเติบโต เราก็เริ่มรู้ด้วยตัวเอง เราก็เริ่มรู้สึกมีปมด้อย ก็คิดอยู่เสมอว่าอยากจะเรียนให้สูงที่สุด เพื่อวันหนึ่งจะได้ถือบัตรประชาชนไทย”
ถามเธอว่า การมีหมายเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7 มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคอะไรบ้าง เธอตอบว่า เกือบจะทุกอย่าง
“อย่างเช่นการศึกษาสามารถเรียนได้แต่ไม่สามารถกู้เงิน กยศ.ได้ค่ะ บางสถาบันเด็กเรียนจบแล้วไม่ออกวุฒิการศึกษาให้ก็มี แต่โชคดีที่โรงเรียนปฏิบัติต่อฉันเหมือนกับคนอื่นที่ถือบัตรประชาชนไทยค่ะ” เนาะดาเล่า เธอเรียนจนจบ ระหว่างที่หางานทำ เธอก็พบว่า หมายเลข 7 ที่ระบุสถานะของเธอทำให้ทางเลือกในชีวิตหดแคบ เมื่อสถานประกอบการบางแห่งปฏิเสธเธอ
9
นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด เป็นผู้ชักชวนเนาะดาให้เข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลแม่ระมาด
“ฉันเรียนสาขาสัตวศาสตร์ รักษาสัตว์ จะให้มารักษาคนมันคงไม่ใช่มั้ง ก็คิดเหมือนกัน คิดอีกแง่ หรือคุณหมอจะให้เรามาเข็นคนไข้ ก็สับสน แต่ตอนนั้นเราเลือกไม่ได้ เราไม่สามารถเลือกเหมือนเพื่อนคนอื่นได้” เนาะดาเล่า
งานที่ นพ.จิรพงศ์ ชักชวนเนาะดาทำ คือ การเป็นผู้ช่วยนักกฎหมายใน คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลแม่ระมาด เนื้องานก็เช่นเดียวกับงานในคลินิกกฎหมายที่โรงพยาบาลอุ้มผาง เพราะอำเภอแม่ระมาดก็มีผู้รับการรักษาที่ป่วยทั้งโรคภัยไข้เจ็บและโรคสถานะบุคคล
“หน้าที่แรกๆ ของฉันคือแจ้งเกิดเด็กที่เกิดในโรงพยาบาล เด็กที่เกิดในโรงพยาบาลซึ่งพ่อแม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ ฉันได้รับหมอบหมายจากผู้อำนวยการให้ไปแจ้งเกิดแทนผู้ปกครอง รวมถึงแนะนำให้ผู้ปกครองซื้อหลักประกันสุขภาพ แล้วโรงพยาบาลจะออกบัตรที่เป็นบัตรหลักประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวให้เขา คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการ ก็เลยต้องซื้อหลักประกันที่โรงพยาบาลพยายามแก้ปัญหาในจุดนี้ให้ งานนอกโรงพยาบาลจะลงพื้นที่ เก็บข้อเท็จจริง เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานะบุคคล เพื่อให้พวกเขามีสถานะ”
วันที่เราพบกับเนาะดาในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เธอมีหมายเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7 แต่วันนั้น…ด้วยความบกพร่อง เราลืมถามนามสกุลของเธอ เมื่อติดต่อเนาะดาเพื่อขอทราบนามสกุลเพื่องานเขียนสารคดีชิ้นนี้ เราจึงพบว่า เธอได้ถือบัตรประจำตัวประชาชนไทยแล้ว หมายความว่า เธอมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่รัฐไทยพึงจัดให้แก่ประชาชน
ตอนนี้ฉันมีบัตรประชาชน ถามว่าเลือกงานที่อยากทำได้มั้ย ก็เลือกได้ แต่พอเรามาทำงานตรงนี้ ฉันมีความรู้สึกอยากทำงานนี้อยู่ ฉันยังทำงานไม่สมบูรณ์ ฉันได้บัตรประจำตัวก็จริง แต่คนอื่นๆ ล่ะ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวฉันเอง เพื่อนบ้านที่ตกหล่นจากการสำรวจ พวกเขายังต้องการตัวตน ฉันก็เลยคิดว่างานฉันยังไม่เสร็จสมบูรณ์
เราถามเธอว่า งานของเธอ เมื่อไรจึงจะเรียกว่าเสร็จสมบูรณ์
“ตราบใดที่พวกเขาไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ ฉันคิดว่างานของฉันยังไม่สำเร็จ ถ้าเคสที่ฉันลงสำรวจ แล้วอย่างน้อยเขามีสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาสมควรจะได้ อันนั้นถือว่าสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วค่ะ
เหล่ารัตนเจริญ คือนามสกุลของ เนาะดา
10
ปัญหาที่โรงพยาบาลแม่ระมาด ไม่ต่างจากปัญหาของโรงพยาบาลอุ้มผาง และยังไม่ต่างไปจากปัญหาของอีกสองโรงพยาบาลแนวชายแดนในจังหวัดตาก คือ โรงพยาบาลท่าสองยาง และโรงพยาบาลพบพระ ทั้งสี่โรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ พวกเขาประสบปัญหาคล้ายกัน ผู้เข้ารับบริการด้านการแพทย์ประสบปัญหาสถานะบุคคลเหมือนกัน และพวกเขาแก้ปัญหาด้วยการรักษาโรคสถานะบุคคลนี้ ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จัดหลักประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว ฯลฯ
นี่คือการแพทย์ที่มีมิติไปไกลกว่าเรื่องสาธารณสุข
รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เคยเขียนไว้ว่า เราจะสังเกตว่าปัญหาสุขภาวะในการตีความของ นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ และเหล่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลชายแดนของรัฐ (นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง นพ.ศักดิ์บัญชา สมชัยมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพบพระ และ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง) ไม่ได้หมายถึงสุขภาพกายและสุขภาพจิตเท่านั้น ยังหมายความร่วมถึงสุขภาพจิตวิญญาณและสุขภาพสังคมอีกด้วย ความเสี่ยงอันเกิดจากความเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติก็คือความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การจัดการทำให้คนได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติไทยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
“คุณหมอผู้อำนวยการโรงพยาบาลแนวชายแดนก็จะมีปัญหาคล้ายๆ กัน” นพ.วรวิทย์ หมายถึง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอีกสามแห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแม่ระมาด โรงพยาบาลท่าสองยาง และโรงพยาบาลพบพระ
“คุณหมอทั้งสามท่านก็อยากช่วยชาวบ้านเหมือนกัน ตอนแรกก็ยังไม่มีแนวทาง เพราะต่างคนต่างไม่รู้ว่ามีองค์ความรู้ด้านอื่นด้วย แต่ทุกคนรู้ว่าชาวบ้านมีปัญหา พอรู้ว่ามีแนวทางแก้ไข โรงพยาบาลอีกสามแห่งก็ตื่นตัวด้วย และโรงพยาบาลทั้งสี่แห่งที่อยู่แนวชายแดนจังหวัดตากก็ร่วมกันแก้ไขปัญหา ตอนนี้โรงพยาบาลอย่างพบพระก็ก้าวหน้าไปอีก คุณหมอศักดิ์บัญชาเอาจริงเอาจัง หมอธวัชชัยที่ท่าสองยางก็ใช้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเยอะ พี่จิรพงศ์ก็มุ่งมั่นมากที่จะทำให้ชาวบ้านได้รับการบริการที่ดี” นพ.วรวิทย์ เล่า
โรคระบาดไม่เลือกว่ามันจะเข้าไปกัดกินร่างกายของคนชาติไหน การร่วมมือกันแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคลินิกกฎหมาย การจัดทำหลักประกันสุขภาพสำหรับคนที่มีปัญหาด้านสถานะ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่โรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้ระบาดไปทั้งสี่โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่แนวชายแดนจังหวัดตาก
11
“พรมแดนมันขีดบนแผนที่เท่านั้น บนดินจริงๆ มันไม่มีเส้นอะไรบอกหรอกครับ” นพ.วรวิทย์ บอกในวันที่เราเดินก้าวข้ามพรมแดนไทยไปประเทศเมียนมาร์ เพื่อไปยัง สุขศาลาข้ามแดน ที่หมู่บ้านพอบือละทะและหมู่บ้านกะหล่อหว่อ
42.46 เปอร์เซ็นต์ คือตัวเลขของคนนอกทะเบียนราษฎร์ในห้าอำเภอจังหวัดตาก ประกอบด้วยอุ้มผาง ท่าสองยาง พบพระ แม่ระมาด และแม่สอด
งานสาธารณสุขข้ามแดนจึงเป็นการแพทย์เชิงรุก
“หลักการก็คือ เราไปช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ เราไม่ได้ช่วยเพื่อให้เขามาพึ่งพาเราตลอด ส่วนที่เขาช่วยตัวเองได้เต็มที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน เราก็จะเติมให้ เช่น เขาไม่มีความรู้ เราก็จะเติมความรู้ เขาขาดยา เราจะหายาสนับสนุนไปให้
“การปฏิบัติงาน เราจะฝึกอบรมให้เขาสามารถไปทำงานด้านสาธารณสุขช่วยเหลือชาวบ้านของเขาเองได้ ก็จะลดต้นทุนระยะยาวไป ลดการพึ่งพาในระยะยาว เพราะเขาพึ่งตัวเองได้มากขึ้นใช่มั้ยครับ เป็นการให้แบบยั่งยืน เป็นการให้ระยะยาว เป็นงานสาธารณสุขข้ามแดน ที่เราต้องการควบคุมโรคต่างๆ ไม่ให้แพร่กระจาย” นพ.วรวิทย์ บอก
มากกว่าหนึ่งครั้งที่ นพ.วรวิทย์ บอกว่า “งานของเราไม่ได้ทำให้คนได้สัญชาติไทย หรือเพื่อจะได้เงินเข้าโรงพยาบาล ไม่ใช่อย่างนั้น เราคิดไปไกลกว่านั้น เราทำให้ทุกคนบนโลกนี้มีรัฐอยู่ และได้รับสวัสดิการเบื้องต้นที่รัฐพึงกำหนดให้ เคารพความเป็นมนุษย์ของเขา อาจารย์พันธุ์ทิพย์มาสอนผม ทำให้ผมเข้าใจตรงนี้ พี่น้องที่ทำงานเรื่องนี้ก็เข้าใจหมดแล้ว เราเติบโตทางความคิดมากขึ้น”
เป็นเรื่องปกติที่ นพ.วรวิทย์และเจ้าหน้าสาธารณสุขโรงพยาบาลอุ้มผาง จะเดินทางข้ามแดนไปมาระหว่างไทยกับเมียนมาร์ การเดินทางข้ามแดนไปมาทำให้เรานึกถึงยุงก้นปล่องที่ นพ.วรวิทย์ พูดถึงตอนต้น
ยุงก้นปล่องตัวนั้นที่ไม่ต้องใช้วีซ่าหรือพาสปอร์ต
ยุงก้นปล่องตัวนั้นนำโรคมาสู่คน แต่ นพ.วรวิทย์และเพื่อนๆ ทำในสิ่งตรงข้าม
ถ้าเรามีปีก บินสูงขึ้นไปบนฟ้า แล้วก้มหน้าลงมา เราจะเห็นแนวชายแดนตั้งแต่อำเภอท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง ไล่เรียงติดกันจากเหนือลงใต้ ฝั่งตะวันตกคือประเทศเมียนมาร์
ตอนนี้สถานการณ์การระบาดได้แพร่จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก จากฝั่งไทยไปฝั่งเมียนมาร์ และในขณะเดียวกัน สถานการณ์การระบาดได้แพร่จากทิศเหนือลงทิศใต้ ทิศใต้ขึ้นไปทิศเหนือ จากอุ้มผางขึ้นไปพบพระ แม่ระมาด และท่าสองยาง
เมล็ดพันธุ์ในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแพร่ระบาดในโรงพยาบาล.
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ว่าด้วยผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ พวกเขาเป็นใครหลายคน ทั้งทนายความ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสันติวิธี นักดนตรี นักการละคร ฯลฯ
พวกเขาคือคนธรรมดา แต่ความตั้งใจและเนื้องานของพวกเขา ก่อให้เกิดมรรคผลต่อสังคม ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
บนเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายนี้ พวกเขาแต่ละคนไม่ได้เดินเพียงลำพัง พวกเขามีเพื่อน เครือข่าย สหวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวน ‘มาก’
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีส์เรื่องเล่า ที่มีทั้งรูปแบบบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น สารคดี และหนังสารคดี ผลิตโดยทีมงานนิตยสาร WAY