ภาพประกอบ: shhhh
ท่ามกลางกระแสต่อต้านมุสลิมและผู้อพยพในยุโรป รวมถึงพรรคการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวาในหลายๆ ประเทศกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น อังคารที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (European Court of Justice: ECJ) มีคำตัดสินว่า นายจ้างมีสิทธิ์ห้ามลูกจ้างไม่ให้แสดงออกถึงสัญลักษณ์และสวมเครื่องแต่งกาย ซึ่งแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนา และแนวคิดทางการเมือง เช่น การสวมฮิญาบในที่ทำงาน หรือการสวมกางเขนที่สังเกตเห็นได้ชัด และการกระทำนี้ไม่ถือว่าเป็นการกีดกันทางตรง ตราบที่เป็นข้อห้ามหรือนโยบายของบริษัทผู้จ้างงาน
เรื่องนี้มาจากกรณีพนักงานหญิงสองคนถูกไล่ออกเพราะปฏิเสธการถอดฮิญาบในที่ทำงาน หนึ่งคือที่เบลเยียม ซามิรา อัชบิตา (Samira Achbita) พนักงานต้อนรับในสังกัดบริษัทรักษาความปลอดภัย G4S สองคือ Asma Bougnaoui วิศวกรนักออกแบบซอฟท์แวร์ฝรั่งเศสที่ตกงานเพราะต้นสังกัดได้รับการร้องขอจากลูกค้าว่า พวกเขารู้สึกไม่สบายใจกับพนักงานสวมฮิญาบ
ทั้งสองขอต่อสู้ในชั้นศาล กระทั่งข้อขัดแย้งนี้มาถึง ECJ หนึ่งในคำแถลงของศาลคือ ถือเป็นสิทธิ์ของนายจ้างและบริษัทผู้จ้างงาน “กฎเกณฑ์ภายในองค์กรที่ระบุว่า ห้ามสวมเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงแนวคิดทางการเมือง แนวคิดความเชื่อ หรือสัญลักษณ์ทางศาสนา ไม่ถือว่าเป็นการแบ่งแยกกีดกันทางตรง”
อย่างไรก็ตาม ศาลยังระบุว่า ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการไม่สามารถขอให้พนักงานถอดสัญลักษณ์หรือเครื่องแต่งกายดังกล่าวออกได้ หากไม่ผิดข้อห้ามของบริษัทต้นสังกัด
“อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นของกฎนี้คือ หากนายจ้างทำตามคำขอของลูกค้าที่ว่า ไม่ขอรับบริการจากพนักงานสวมเครื่องแต่งกายแบบมุสลิม กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการกำหนดคุณสมบัติการจ้างงาน และไม่นับเป็นการกีดกันทางอาชีพ”
คำตัดสินนี้ครอบคลุมเพียงธุรกิจเอกชน ซึ่ง ECJ ยืนยันว่า นายจ้างมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะรักษาภาพความเป็นกลาง โดยห้ามไม่ให้แสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ความเชื่อและศาสนาทุกชนิดในที่ทำงาน และนโยบายนี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ
ไม่ใช่แค่มุสลิม ปี 2013 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Rights: ECHR) ก็เคยต้องตัดสินกรณีสำคัญของ นาเดีย อีไวดา (Nadia Eweida) พนักงานสายการบิน British Airway (BA) ที่ถูกต้นสังกัดสั่งให้ถอดไม้กางเขนที่ห้อยไว้ออก แต่คำตัดสินของ ECHR ลงเอยว่า การกระทำของ BA นั้นไม่เป็นธรรม ทำให้เธอสามารถสวมสัญลักษณ์แสดงถึงความเชื่อของตัวเองต่อไปได้ แถมรัฐบาลอังกฤษยังสั่งให้ BA จ่ายค่าเสียหายให้อีไวดา 2,000 ยูโร บวกเงินชดเชยอีก 30,000 ยูโร
และผลต่อเนื่องจากการตัดสินล่าสุดของ ECJ ทำให้ Church of England ออกมาแสดงความไม่พอใจที่นายจ้างมีสิทธิ์ห้ามไม่ให้พนักงานแสดงสัญลักษณ์ของคริสเตียน เพราะกางเขนถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางศาสนาเหมือนกัน โดย Church of England บอกว่า จะหาทางเพื่อปกป้องสิทธิ์ของคริสเตียนให้มีเสรีภาพในการแสดงออกถึงความศรัทธาตามที่ควรจะเป็น
ใครแบนการแต่งกายมิดชิดของสตรีมุสลิม?
เนเธอร์แลนด์
มีการโหวตให้แบนการสวมบุรกาคลุมทั้งใบหน้าในระบบขนส่งสาธารณะ และสถานที่สำคัญ เช่น สถานที่ราชการ โรงพยาบาล
ฝรั่งเศส
ปี 2011 ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในยุโรปที่แบนผ้าคลุมปิดใบหน้าของมุสลิมในที่สาธารณะ ทั้งนิกอบ และบุรกา หากหญิงคนใดฝ่าฝืนจะถูกปรับ และผู้ใดบังคับข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงเพื่อให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุม จะถูกปรับ 30,000 ยูโร และอาจต้องติดคุกหนึ่งปี ไม่กี่ปีต่อมา การแต่งกายแบบมุสลิมอื่นๆ อย่างการสวมชุดว่ายน้ำเบอร์กินีก็เป็นเรื่องต้องห้ามในเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง
เบลเยียม
ชาติที่สองในยุโรปที่ห้ามไม่ให้สวมผ้าคลุมหน้ามิดชิดออกนอกบ้านตั้งแต่ปี 2011 ทำให้บุรกาและนิกอบผิดกฎหมายในที่สาธารณะ หากใครคลุมหน้าเดินบนถนนและสวนสาธารณะจะถูกปรับและจำคุกได้ถึงเจ็ดวัน
บัลแกเรีย
บัลแกเรียแบนบุรกาในปี 2016 เพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยจากการโจมตีของ IS ในยุโรป กฎหมายใหม่ซึ่งแบนการคลุมหน้าของสตรีในที่สาธารณะนี้เกิดจากการนำของกลุ่มพรรคชาตินิยมอย่าง Patriotic Front โดย คราซิเมียร์ คาราคาชานอฟ (Krasimir Karakachanov) แกนนำ Patriotic Front บอกว่า บุรกาเป็นเหมือนเครื่องแบบมากกว่าเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา
อียิปต์
ชาติมุสลิมอย่างอียิปต์ก็มีการแบนเช่นกัน กฎหมายแบนนิกอบและบุรกาถูกร่างขึ้นมาเพื่อควบคุมการสวมใส่ในที่สาธารณะและสถานที่ราชการ หลังจากก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยไคโร (Cairo University) ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่สวมนิกอบในห้องเรียน เหตุผลคือ เพื่อทำให้สามารถสื่อสารกับนักศึกษาได้ง่ายขึ้น
สวิตเซอร์แลนด์
เริ่มต้นจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนในติชิโน (Ticino) โหวตให้แบนการคลุมหน้าในที่สาธารณะเมื่อปี 2013 การแบนนี้บังคับใช้เต็มรูปแบบเมื่อปีที่แล้ว หญิงมุสลิมที่ปิดหน้าในร้านค้า ร้านอาหาร หรืออาคารสาธารณะต่างๆ จะถูกปรับ 9,200 ยูโร
อิตาลี
ลอมบาร์ดี (Lombardy) แคว้นที่ร่ำรวยที่สุดในอิตาลี รับรองการแบนไม่ให้ผู้หญิงสวมบุรกาในโรงพยาบาล และอาคารสถานที่ราชการท้องถิ่นเมื่อปี 2015 นับเป็นครั้งแรกที่อิตาลีออกกฎหมายห้ามการคลุมหน้าของมุสลิม ยกระดับจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เช่น ห้ามสวมหมวกกันน็อคหรือชุดคลุมมิดชิดจนสังเกตได้ยากในที่สาธารณะ
ชาด
ชาดแบนการคลุมใบหน้าทั้งหมดของมุสลิมหลังเหตุระเบิดพลีชีพเมื่อมิถุนายน 2015 เช่นเดียวกับแคเมรูน ไนเจอร์ คองโก และกาบอง ที่ใช้มาตรการคล้ายๆ กัน